อัตตา กับ มานะ

ถาม : อัตตาคือความมีตัวตน แต่มานะคือความถือตัวว่าเป็นคนเก่งและอวดดี ใช่มั้ยคะ ?

ตอบ : อัตตา กับ มานะ สองคำนี้มักจะมีความเข้าใจและใช้สับสนกันอยู่บ้าง

อัตตา แปลว่า ตน, ตัวตน

มานะ แปลว่า ความถือตัว, ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่

“อัตตา” ไม่มีอยู่จริง ที่กล่าวว่า “ตน” ก็เป็นเพียงคำที่สมมติกันขึ้น เพื่อให้สะดวกในการสื่อสารกันในหมู่มนุษย์ ปัญหามันเกิดขึ้นก็ตรงที่ พอสมมติกันแล้วก็หลงยึดถือว่ามีตัวตนจริง ๆ
เรียกว่า “หลงสมมติ”

อัตตาไม่ใช่กิเลส ไม่ต้องละอัตตา เพราะอัตตาไม่มีอยู่จริง สิ่งที่จะต้องทำก็คือ รู้เท่าทันตามความเป็นจริงว่าไม่มีอัตตา นั่นคือมีปัญญารู้ความเป็นอนัตตาของธรรมทั้งปวง
เมื่อรู้อย่างนี้ก็เรียกว่า มีสัมมาทิฐิ สิ่งที่ละจริง ๆ คือละมิจฉาทิฐิ

ส่วน “มานะ” เป็นการถือเทียบเคียง ถือแบบเเข่งกัน ถือตัวทะนงตน สำคัญตนว่าเด่นว่าด้อยกว่าเขา มานะเป็นกิเลส ซึ่งเป็นตัวการทำให้ไม่ยอมกัน กดข่มกัน มานะจึงเป็นสิ่งที่ควรละไปเสีย

มานะเป็นปัญหาของจิตใจ เกิดขึ้นเมื่อใดก็มักจะรู้สึกเบ่งป่องพองตัว แต่แท้ที่จริงจิตกำลังมัวหมอง ไม่ผ่องใส มีสติรู้สึกตัวขึ้นมาครั้งใด จะรู้สึกว่าน่าละอายใจ

ส่วนอัตตาเป็นปัญหาของปัญญา ถ้ารู้ความจริงว่า สิ่งที่เรียกกันเป็นสัตว์ เป็นคน เป็นตัวตน เป็นต้นนั้น เมื่อแยกแยะออกมาก็เป็นเพียงขันธ์ ๕ ตัวตนแท้ ๆ นั้นไม่มี ปัญหาเรื่องอัตตาก็หมดไป

เพราะเข้าใจแล้วว่า สิ่งทั้งหลายเป็นเพียงสภาวธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นต่อเนื่องกันมา อย่างนี้ จะเรียกว่า “เห็นอนัตตา” ก็ได้

เมื่อเข้าใจแล้วว่าอัตตาไม่มี แต่ก็พูดเรื่อง “ตน” ในระดับสมมติได้ เช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อตฺตา หิ อตฺตโนนาโถ – ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ก็เป็นการหยิบเอาสมมติบัญญัติ
มาใช้สอนจริยธรรมเท่านั้น

หรือที่สอนกันว่า “อย่าไปถือตัวถือตน” ก็เป็นคำสอนด้านจริยธรรม เพื่อไม่ให้มานะครอบงำจิตใจมากเกินไป แต่ถ้าว่าโดยสัจธรรมแล้วก็คือ “ไม่มีตัวตนที่จะถือ”

๑๔ เมษายน ๒๕๖๐