ขันธ์ ๕ กับ เรา

ถาม : เมื่อไม่มีเรา มันเป็นการรวมกันของขันธ์ทั้ง ๕ แล้วบทสวดที่ว่า เราเป็นทายาทแห่งกรรม เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น อยากทราบว่า เมื่อเรามองว่าไม่มีเราแล้ว มันเป็นแค่ธาตุขันธ์มารวมกัน แล้วในแง่กฎแห่งกรรม ทำไมยังมีเราครับ ต้องมองในแง่ไหนครับ

ตอบ : คำถามลักษณะนี้ แม้ในครั้งพุทธกาลก็เคยมีมาแล้ว ครั้งหนึ่ง พระภิกษุรูปหนึ่ง ได้ฟังธรรมเกี่ยวกับขันธ์ ๕ แล้วก็สงสัยว่า “เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นอนัตตา, แล้วอย่างนี้ กรรมทั้งหลายที่อนัตตาทำ จะถูกต้องตนได้อย่างไร ? ”

พระพุทธเจ้าทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของภิกษุนั้น จึงตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่คนเขลาบางคนในธรรมวินัยนี้ มีใจตกอยู่ในอวิชชา ถูกตัณหาครอบงำ อาจสำคัญว่า คำสอนของพระศาสดาเป็นสิ่งที่พึงคิดไกล ล้ำเลยไปได้ว่า

‘เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นอนัตตา, แล้วอย่างนี้ กรรมทั้งหลายที่อนัตตาทำ จะถูกต้องตนได้อย่างไร ? ‘

“เธอทั้งหลาย อันเราแนะนำอย่างถี่ถ้วนด้วยการทวนถาม ในข้อธรรมทั้งหลาย ในเรื่องราวทั้งหลายแล้ว จะสำคัญเห็นเป็นไฉน : รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ? ”
“ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”

“เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ? ”
“ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”

“สิ่งใดไม่เที่ยง, สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข ? ”
“เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”

“สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา, ควรหรือจะมองสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา, นั่นเป็นเรา, นั่นตัวตนของเรา ? ”
“ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

“เพราะเหตุนั้นแล รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ฯลฯ ก็เป็นแค่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เธอทั้งหลายพึงมองเห็นตามที่มันเป็น ด้วยสัมมาปัญญาอย่างนี้, อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้มองเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติดในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ฯลฯ ย่อมหลุดพ้น ฯลฯ
กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ ย่อมไม่มี”

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสจบ พระภิกษุนั้น พร้อมทั้งภิกษุอีกประมาณ ๖๐ รูป ที่ฟังอยู่ด้วยกัน ก็บรรลุพระอรหัตตผลในที่นั้น

(มหาปุณณมสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์)

จากเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่า เมื่อเห็นแจ้งอยู่ว่าขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอนัตตา ความสงสัยเรื่องตัวตนที่จะมารับผลกรรมก็หมดไป

ที่เรียกกันว่า เรา เขา ชื่อนั้น ชื่อนี้ เป็นเพียงถ้อยคำสมมติ เรียกกันว่า สมมติบัญญัติ สมมติบัญญัติมีอยู่จริง แต่เป็นความจริงที่ถือตามความกำหนดหมายตกลงกันไว้ของชาวโลก
ความจริงอย่างนี้เรียกว่า สมมติสัจจะ

ส่วนขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ไม่ใช่เรา นี้เป็นความจริงโดยปรมัตถ์ เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ

สภาวะปรมัตถ์เกิดดับเปลี่ยนแปลงไปตามกฎไตรลักษณ์ การเกิดขึ้นและดับไปของสภาวะเหล่านั้น ก็เป็นไปตามปัจจัยต่าง ๆ ตามหลักปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท เป็นหลักธรรมใหญ่ที่แสดงความเป็นไปของชีวิตทั้งหมด ซึ่งลึกซึ้ง เข้าใจยาก และอธิบายยาก เมื่อจะอธิบายให้คนทั่วไปได้เข้าถึงง่ายขึ้น ก็นำเอาหลักธรรมส่วนย่อย
ของปฏิจจสมุปบาทมากล่าว นั่นคือหลักกรรม ที่นิยมเรียกกันว่า กฎแห่งกรรม ซึ่งเข้าใจง่าย อธิบายง่าย แยกกระบวนการออกเป็น ๓ วัฏฏะ คือ กิเลส กรรม และวิบาก

ที่ว่าอธิบายง่าย เพราะสามารถยกเอาเหตุการณ์หรือบทบาทของบุคคลมาเป็นตัวอย่างได้

เช่น เด็กหญิงหวึ่ง ติดเกมด้วยความมัวเมา แม่ห้ามก็โกรธ เถียงแม่ด้วยเสียงดัง เล่นที่บ้านแล้วถูกดุ ก็ขโมยเงินแม่จะไปเล่นที่ร้าน ป้าเห็นพิรุธ นำตัวมาสอบสวน ในที่สุด เด็กหญิงหวึ่ง
ก็ถูกตี…

เรื่องที่เล่ามา จะบอกว่า “เด็กหญิงหวึ่งทำกรรมชั่ว และได้รับวิบากที่ชั่ว” ก็ได้
ถ้าจะไปสอนเด็กหญิงหวึ่ง ก็อาจจะบอกว่า “เราเป็นทายาทแห่งกรรม เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น” ก็ได้

แต่ถ้าพูดโดยปรมัตถ์ ก็เป็นเรื่องของกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ ชุดหนึ่ง จิตที่ไม่มีปัญญา ประกอบด้วยโมหะ มีเสียงกระทบหู หมายรู้ว่าถูกตำหนิ ก็โกรธ จิตเริ่มแปรคุณภาพปรุงอุปกิเลสอื่นมาอีก เป็นหัวดื้อ กระด้าง แสดงออกมาเป็นวาจาก้าวร้าว ฯลฯ

คำสมมติต่าง ๆ จะมีจะใช้หรือไม่ ก็ไม่มีผลกระทบต่อสภาวะปรมัตถ์

๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐