จิตตั้งมั่น กับ จิตถึงฐาน

ถาม : ช่วงนี้มีน้อง ๆ ที่ฝึกด้วยกัน (ฝึกกันเอง) สงสัยเรื่องสภาวะที่
1. จิตตั้งมั่น 2. จิตถึงฐาน
ผมก็ตอบน้องได้ไม่ชัดเจน เลยขอโอกาสกราบเรียนพระอาจารย์ อยากขอคำแนะนำเรื่องนี้ด้วยครับ (ชมรมพวกขี้สงสัย สงสัยพอรู้ว่าสงสัย แต่ก็ยังสงสัยกันครับ ^_^ )

ตอบ : จิตตั้งมั่น กับ จิตถึงฐาน สองคำนี้ใช้แทนกันได้

ที่ว่า “จิตถึงฐาน” คือถึงที่ “จิต”

เวลาเราเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติรู้กาย จิตไม่ไหลไปที่กาย มีจิตตั้งมั่นเป็นผู้ดู อย่างนี้ก็เรียกว่า “จิตถึงฐาน”

เวลาเราเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติรู้เวทนา จิตไม่ไหลไปที่เวทนา มีจิตตั้งมั่นเป็นผู้ดู สุขทุกข์ทั้งหลายเป็นของถูกรู้ถูกดู อย่างนี้ก็เรียกว่า “จิตถึงฐาน”

เวลาเราเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติรู้จิต จิตไม่ไหลไปที่อารมณ์ มีจิตตั้งมั่นเป็นผู้ดู กิเลสทั้งหลายเป็นของถูกรู้ถูกดู อย่างนี้ก็เรียกว่า “จิตถึงฐาน”

“จิตตั้งมั่น” คือจิตที่รู้เนื้อรู้ตัว ไม่เผลอไม่เพ่ง นุ่มนวล ว่องไว ไม่หนัก ไม่แน่น ไม่แข็ง ไม่ซึม ไม่ทื่อ

เวลาที่จิตตั้งมั่น จิตจะเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ต่างหาก ไม่ถลำไปที่อารมณ์ ก็จะเกิดปัญญาแยกรูปแยกนาม เช่น เห็นกายเคลื่อนไหว ใจเป็นคนดู

ผลจากการที่จิตตั้งมั่น มันจะเห็นสภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาตามความเป็นจริง คือเห็นว่าเป็นเพียงสภาวะ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา คือเห็นอนัตตลักษณะ

บางทีก็จะเห็นว่า กิเลสที่เห็น มันไม่เที่ยง เมื่อกี้มี ขณะนี้ไม่มี เห็นบ่อย ๆ ก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาว่า ทุกอย่างล้วนชั่วคราวทั้งหมด คือเห็นอนิจจลักษณะ

รวมแล้วคือ เมื่อมีจิตตั้งมั่น ก็จะเห็นไตรลักษณ์แง่ใดแง่หนึ่งได้ และเป็นการเห็นเองจริง ๆ ไม่ใช่คิดเอา

จิตตั้งมั่น กับ จิตถึงฐาน จะเรียกอีกอย่างว่า “สัมมาสมาธิ” ก็ได้

๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๐