ปลิโพธ สำหรับฆราวาส

ถาม : อยากได้ข้อแนะนำเรื่อง ปลิโพธ สำหรับฆราวาส ควรทำอย่างไรครับ ?

ตอบ : ปลิโพธ แปลว่า เครื่องผูกพันหรือหน่วงเหนี่ยว เป็นเหตุให้ใจติดข้อง เป็นห่วง กังวล

ปลิโพธ มี ๑๐ อย่าง คือ

๑. อาวาสปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับที่อยู่ ว่าจะต้องซ่อมต้องสร้าง แต่ถ้าอยู่แบบใจไม่ผูกพันก็ไม่เป็นไร

๒. กุลปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับตระกูล ถ้าเป็นพระก็หมายถึงตระกูลอุปัฏฐาก ถ้าเป็นฆราวาสก็หมายถึงคนในครอบครัว ก็ควรวางใจให้ได้

๓. ลาภปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับลาภ มีคนเลื่อมใสมาก ก็มีคนเอาของมาให้มาก มัววุ่นจัดของ หรือกังวลว่าจะรักษาของเหล่านั้น จนไม่มีเวลาเจริญกรรมฐาน ก็ควรหาโอกาสปลีกวิเวกบ้าง

๔. คณปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับหมู่คณะ มีบริวารมาก ต้องกังวลในความประพฤติ หรือยุ่งกับงานสอน ต้องคอยตอบคำถาม ก็ควรมีผู้แบ่งเบาภาระบ้าง ให้มีหน้าที่กันเป็นลำดับชั้น ฝึกรุ่นพี่ให้มีความสามารถในการดูแลรุ่นน้อง อย่างนี้เป็นต้น

๕. กรรมปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการงาน เช่นงานก่อสร้าง ก็ควรทำให้เสร็จ หรือมอบหมายให้ผู้ที่มีความสามารถช่วยรับงานไป หรือวางใจได้ว่า “เสร็จเท่าที่ทำได้”

๖. อัทธานปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางไกล เพราะมีธุระต้องไปทำ ก็ทำให้เสร็จ ให้หมดกังวล

๗. ญาติปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับญาติ ข้อนี้เน้นในแง่เจ็บป่วย ก็ควรไปช่วยขวนขวายรักษา จนกว่าจะหมดห่วง

๘. อาพาธปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับความเจ็บไข้ของตนเอง ก็ควรรักษาไปตามโอกาส ถ้าไม่หาย ก็ควรระลึกไว้ว่า กายป่วยได้แต่ใจจะไม่ป่วยด้วย

๙. คันถปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน วุ่นวายอยู่กับการท่องจำหรือค้นคว้าตำรา แต่ถ้าเรียนแบบไม่วุ่นก็ไม่เป็นไร เพราะปริยัติที่จำเป็นเพื่อความพ้นทุกข์สำหรับแต่ละคนนั้นมีไม่มาก

๑๐. อิทธิปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับฤทธิ์ ข้อนี้สำหรับผู้ที่มีฤทธิ์ ฤทธิ์ของปุถุชนเป็นของเสื่อมได้ ถ้ามัวแต่กังวลหรือยุ่งอยู่กับการรักษาฤทธิ์ ก็กลายเป็นปลิโพธ เจริญวิปัสสนาต่อไปไม่ได้

๙ ข้อแรก เป็นเครื่องกั้นต่อการเจริญสมถะเท่านั้น ไม่เป็นเครื่องกั้นต่อวิปัสสนา เพราะการทำสมถะ ต้องอาศัยสัปปายะต่าง ๆ หลายข้อ รวมทั้งต้องปลอดจากปลิโพธเหล่านี้ด้วย จิตจึงสงบ

ส่วนข้อสุดท้าย เป็นเครื่องกั้นต่อการเจริญวิปัสสนา ไม่เป็นเครื่องกั้นต่อสมถะ เพราะก่อนจะได้ฤทธิ์ ก็ต้องเจริญสมถะจนได้ฌานมาอย่างชำนาญแล้ว

สำหรับผู้ที่ยังไม่มีฤทธิ์ ดูเหมือนว่าไม่มีฤทธิ์ให้ห่วง แต่ก็อาจจะห่วงในแง่ที่ว่า อยากจะมีฤทธิ์ก่อน ก็เลยไม่ได้เจริญวิปัสสนาเสียที

ปลิโพธเหล่านี้ มีได้ทั้งพระและฆราวาส ตราบใดที่ยังมีกิเลส ยังมีโลภะ ก็เป็นธรรมดาที่จะมีความติดข้องในสิ่งใดสิ่งหนึ่งบ้าง มากบ้างน้อยบ้าง มีแล้วใจไม่ปลอดโปร่ง ทำให้ปฏิบัติก้าวหน้าต่อไปได้ยาก ก็เพียงทำความรู้จักมัน แล้วละไปเสีย และไม่ต้องกังวลว่า “เรามีปลิโพธ ทำอย่างไรดี ? ” กลายเป็น “กังวลเรื่องความกังวล” ! แค่รู้ว่าจิตเมื่อกี้กังวล ก็ใช้ได้

๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๐