ตั้งสัจจะเข้าพรรษา

ถาม​ : ขอกราบเรียนถามว่าพุทธศาสนิกชนควรจะตั้งสัจจะเข้าพรรษาหรือไม่คะ ? แล้วถ้าจะตั้ง เราควรจะตั้งอย่างไรถึงจะเป็นไปเพื่อความก้าวหน้าและพัฒนาทางธรรมค่ะ ?

ตอบ​ : เรื่อง​เข้า​พรรษา​ จริง ​ๆ ​แล้ว​เป็น​เรื่อง​ของ​พระ​ภิกษุ​ คือ​มีพระ​วินัย​ที่​ให้​พระ​ภิกษุ​อยู่​จำ​พรรษา​ใน​ที่​ที่​เหมาะสม​
ตลอด​สาม​เดือน​ใน​ฤดูฝน​ คือ​ตั้งแต่​ แรม​ ๑​ ค่ำ​ เดือน​ ๘​ ถึง​ ขึ้น​ ๑๕​ ค่ำ​ เดือน​ ๑๑

เมื่อ​ท่าน​อยู่​ประจำ​ใน​อาวาส​นาน​เช่น​นี้​ ท่าน​ก็​ใช้​เป็น​โอกาส​ใน​การ​ศึกษา​และ​ปฏิบัติ​ธรรม​ เพื่อ​ความ​เจริญ​ใน​ไตร​สิกขา​ยิ่ง​ ๆ ​ขึ้นไป​

ฆราวาส​ญาติ​โยม​ผู้​เป็น​พุทธ​ศาสนิกชน​ทั้งหลาย​ เมื่อ​เห็น​ว่า​พระ​ภิกษุ​ท่าน​ใช้​เวลา​สาม​เดือน​นี้​ไป​เพื่อ​ความ​เจริญ​ทั้ง​ด้าน​ปริยัติ​และ​ปฏิบัติ​เช่นนี้​ ถ้า​คิดว่า​ เรา​ควร​จะ​ใช้​เวลา​สาม​เดือน​นี้​เพื่อ​ความ​เจริญ​ใน​กุศล​ธรรม​ของ​เรา​บ้าง​ ก็​น่า​อนุโมทนา

อย่าง​เช่น​ที่​มี​การ​รณรงค์​ให้ ​”งด​เหล้า​เข้าพรรษา” ก็​เห็น​ว่า​เป็น​เรื่อง​ที่​ดี​ ทราบ​มา​ว่า​หลาย​ท่าน​ก็​ทำ​ได้​จริง​
และ​ยัง​งดอยู่​อย่าง​ต่อเนื่อง

แต่​ชาว​พุทธ​หลาย​ท่าน​ก็​ไม่ได้​ดื่ม​เหล้า​อยู่​แล้ว​ ก็​ต้อง​หา​เรื่อง​ดี ​ๆ ​อย่างอื่น​มา​ทำ

หลัก​ก็​มี​อยู่​ว่า​ ใน​สาม​เดือน​นี้
– กุศล​อะไร​ที่​ไม่​เคย​ทำ​ ก็​ลอง​ตั้งใจ​ทำ​ดู​ ทำให้​กุศล​นั้น​เจริญ​ขึ้นมา
– กุศล​อะไร​ที่​เคย​ทำ​แล้ว​ แต่​ไม่​มั่นคง​ ก็​ทำ​ให้​จริงจัง​มั่นคง​ รักษา​กุศล​นั้นไม่ให้​เสื่อม

– อกุศล​อะไร​ที่​อยู่​ เลิก​ไม่ได้​สักที​ ก็​ลอง​ตั้งใจ​ละ​เลิก​อกุศล​นั้น​เสีย
– อกุศล​อะไร​ที่​เคย​เลิก​ได้​ แต่​ไม่​เด็ดขาด​ เผลอ​ ๆ ​ก็​หวน​กลับ​ไป​ทำ​อีก​ ก็​ลอง​ตั้งใจ​พากเพียร​ระวัง​ไม่​ให้​พลาด​อีก

เช่น​
– ไม่เคย​ไหว้พระ​สวดมนต์​ ไม่เคย​ทำ​กรรมฐาน​ใน​รูปแบบ​ที่​บ้าน​เลย​ ก็​ตั้งใจ​ทำ​ใน​ ๓​ เดือน​นี้​ให้ได้
– เคย​ไหว้พระ​สวดมนต์​ และ​ทำ​กรรมฐาน​ใน​รูป​แบบ​ที่​บ้าน​อยู่​เหมือนกัน​ แต่​ไม่​ประจำ​ ก็​ตั้งใจ​ทำ​ให้​เป็น​ประจำ​ทุกวัน​
ตลอด​ ๓​ เดือน​นี้​

– เคย​ใช้​โทรศัพท์มือถือ​ไป​ใน​เรื่อง​ไร้สาระ​วันละ​หลาย​ชั่วโมง​ ก็​ตั้งใจ​ ๓​ เดือน​นี้​ จะละ​พฤติกรรม​นั้น​
จะ​ใช้​เฉพาะ​ใน​เรื่อง​ธุระ​การงาน​จริง ๆ​

– เคย​ขึ้นเสียง​ เถียง​พ่อ​เถียง​แม่​ หรือ​ใช้​คำพูด​ที่​ทำให้​กระทบกระเทือน​จิตใจ​พ่อแม่​ ก็​ตั้งใจ​ ๓​ ​เดือน​นี้​ แม้​จะ​ไม่ชอบ ไม่พอใจ​ หงุดหงิด​มาก​แค่ไหน ก็​จะ​ไม่​หลุด​คำพูด​เหล่านั้น​ออกมา​ จะ​เจริญ​สติ​ดู​ความ​ร้ายกาจ​ของ​ใจ​เรา​เอง

– ไม่​เคย​ออกกำลังกาย​ตอนเช้า​ ก็​ตั้งใจ​ ๓​ เดือน​นี้​จะ​ตื่น​เช้า​ขึ้น​เพื่อ​มา​ออกกำลังกาย​ เจริญ​สติ​ไป​ด้วย​ กาย​เคลื่อนไหว​
มี​ใจ​รู้​ อย่างนี้เป็นต้น

การ​ทำ​อย่างนี้​ บางคน​ใช้​คำ​ว่า​ “ตั้ง​สัจจะ” แต่​อาตมา​ชอบ​ใช้​คำว่า ​”อธิษฐาน” มากกว่า

อธิษฐาน​ ไม่ได้​หมายถึง​ขอ​ให้​สำเร็จ​ผล​อย่างใดอย่างหนึ่ง​ หรือ​ขอ​เพื่อ​จะ​ได้​จะ​เอา แบบ​ที่​คน​ไทย​ทั่วไป​ใช้​กัน

แต่​อธิษฐาน​ ใน​ทาง​พุทธศาสนา​ หมายถึง​ ความ​ตั้งใจ​มั่น​ แน่วแน่​ที่จะ​ทำการ​ให้​สำเร็จ​ตาม​จุด​มุ่งหมาย​ ซึ่ง​เป็น​บารมี​อย่าง​หนึ่ง
​ใน​บารมี​ ๑๐​ เรียกว่า​ อธิษฐาน​บารมี

ใน​กรณี​นี้​ก็​จะ​ใช้​คำ​ว่า​ “สาม​เดือน​นี้​ ขอ​อธิษฐาน​ (คือ​ตั้งใจ​ที่​จะ)…” จะ​ทำ​ จะ​เจริญ​ หรือ​จะ​ละ​เลิก​อะไร​ ก็​เติม​ลง​ไป

ปี​นี้​ผ่าน​วัน​เข้า​พรรษา​มา​แล้ว​ จะ​ทัน​ไหม ?

ถ้า​ถือ​ตาม​พระ​วินัย​ ถ้า​มี​เหตุ​จำเป็น​ อธิษฐาน​พรรษา​ใน​วัน​แรม​ ๑​ ค่ำ​ เดือน​ ๘​ ไม่ทัน​ ก็​ให้​เวลา​อีก​ ๑​ เดือน​ มา​อธิษฐาน
“พรรษา​หลัง​” ใน​วัน​แรม​ ๑​ ค่ำ​ เดือน​ ๙​ ก็​ได้​ แล้ว​อยู่​จำ​พรรษา​ไป​จน​ถึง​ ขึ้น​ ๑๕​ ค่ำ​ เดือน​ ๑๒

โยม​ไม่ทัน​ได้อธิษฐาน​เจริญ​กุศล​ใน​คราว​ “พรรษา​ต้น” จะ​มา​อธิษฐาน​ใน​คราว​ “พรรษา​หลัง” ก็​ยัง​ได้ ระหว่าง​นี้​ก็​ซ้อม ​ๆ​ ไป​ก่อน

สำหรับ​คน​เริ่ม​ใหม่​ ไม่​เคย​ทำ​ และ​ไม่แน่ใจ​ว่า​จะ​ทำ​ได้​ไหม​ รู้สึก​ว่า​สาม​เดือน​นี่​นาน​จัง​ ก็​ขอ​แนะนำ​ว่า​ ให้​อธิษฐาน​เป็น​ชุด​
ชุดละ​ ๓​ วัน ครบ​ ๓​ วัน​ ก็​อธิษฐาน​ใหม่

ทำ​อย่างนี้​ง่าย​ดี​ ทำให้​มี​กำลังใจ​ อธิษฐาน​ ๒​ ชุด​ ก็​จะ​ครบ​สัปดาห์​แล้ว ไม่กี่​สัปดาห์​ก็​จะ​ครบ​เดือน​แล้ว แปบเดียว​ก็​ทำ​สำเร็จ
​ครบ​ ๓​ เดือน

ทำ​อย่างนี้​ ถ้า​พลาด​ ก็​พลาด​แค่​วัน​เดียว​ รุ่งขึ้น​ก็​อธิษฐาน​ใหม่ สมมุติ​ว่า​ ทำ​ได้​ ๓​ วัน​แรก​ พอ​วันที่​ ๔​ พลาด​ วันที่​ ๕​ ก็​เริ่ม​ใหม่​ อย่างไร​ ๆ​ ๓​ วัน​แรก​ก็​สำเร็จ​ไป​แล้ว​ ได้​กุศล​ตุน​ไว้​แล้ว​ ๓​ วัน​ และ​เดี๋ยว​จะ​มี​ความ​สำเร็จ​เพิ่ม​ขึ้น​มา​อีก​ที​ละ​ชุด

ถ้า​อธิษฐาน​ที​เดียว​ ๓​ เดือน​ ถ้า​ทำ​ได้​เป็น​เดือน​แล้วพลาด​วันเดียว​ ก็​อาจ​จะ​ใจ​ฝ่อ​ห่อเหี่ยว​ไป​เลย​
และ​อาจจะรู้สึก​ว่า​สาม​เดือน​นี้​สูญ​เปล่า

หมายเหตุ​ : วัน​แรม​ ๑​ ค่ำ​ เดือน​ ๙​ ปี​นี้ ตรงกับ​วัน​อังคาร​ที่​ ๘​ สิงหาคม​ พุทธ​ศักราช​ ๒๕๖๐​

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐