สติกับจิต ต่างกันยังไง ?

ถาม : เคยได้ยินบางท่าน สอนว่า “ให้สติกับจิตอยู่ด้วยกัน อย่าให้แยกจากกัน” สติกับจิต มันต่างกันยังไงครับ ?

ตอบ : ถ้าเทียบในขันธ์ ๕ สติอยู่ในสังขารขันธ์ ส่วนจิตคือวิญญาณขันธ์

จิตเป็นนามธรรม ที่มีลักษณะ คือ รู้อารมณ์ เกิดดับสืบเนื่องกันไม่ขาดสาย

สติ ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิก คือเป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นกุศล ไม่เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลเลย

สติ แปลว่า ระลึกได้, ไม่เผลอ, ไม่หลงลืม

สติโดยทั่วไป จะหมายในแง่ว่า รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ ใช้รถใช้ถนนอย่าขาดสติ เป็นต้น

แต่สติที่ครูบาอาจารย์สายกรรมฐานสอน จะเน้นไปที่สติปัฏฐาน คือ การที่มีสติอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยมีฐานที่จะใช้สติไปคอยระลึกรู้อยู่ ๔ แห่ง (คือกาย, เวทนา, จิต, ธรรม) โดยรู้เท่าทันตามสภาวะของมัน โดยไม่ถูกครอบงำด้วยความยินดียินร้าย

ถ้าเทียบในไตรสิกขา สติที่ครูบาอาจารย์สอนก็จัดเข้าในอธิจิตตสิกขา ถ้าเทียบในมรรคมีองค์ ๘ ก็จะจัดเข้ามาที่สัมมาสติ

ในมหาสติปัฏฐานสูตร มีพุทธพจน์ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสติเป็นไฉน ? นี้เรียกว่าสัมมาสติ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. ตามเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ปลอดไร้อภิชฌาและโทมนัสในโลก
๒. ตามเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ปลอดไร้อภิชฌาและโทมนัสในโลก

๓. ตามเห็นจิตในจิต มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ปลอดไร้อภิชฌาและโทมนัสในโลก
๔. ตามเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ปลอดไร้อภิชฌาและโทมนัสในโลก”

ในคัมภีร์อภิธรรม มีอธิบายอีกว่า
“สัมมาสติ เป็นไฉน ?

สติ คือ การคอยระลึกถึงอยู่เนือง ๆ การหวนระลึก (ก็ดี) สติ คือ ภาวะที่ระลึกได้ ภาวะที่ทรงจำไว้ ภาวะที่ไม่เลือนหาย ภาวะที่ไม่ลืม (ก็ดี) สติ คือ สติที่เป็นอินทรีย์ สติที่เป็นพละ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ ที่เป็นองค์มรรค นับเนื่องในมรรค นี้เรียกว่า สัมมาสติ”

จิตที่ขาดสติ มีได้ (และมีมากด้วย) แต่สติต้องเกิดดับพร้อมกับจิตเท่านั้น มีสติโดยไม่มีจิตไม่ได้

เพราะสติเป็นเจตสิก คือเป็นธรรมที่ประกอบกับจิต เป็นคุณสมบัติของจิต ซึ่งเป็นคุณสมบัติฝ่ายดี คือเกิดกับจิตที่ดีงาม

ที่ว่า “จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์” นั้น อารมณ์ ในที่นี้หมายถึง สิ่งที่ถูกรู้โดยจิต มีทั้งที่เป็นบัญญัติ และที่เป็นปรมัตถ์ หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า รูป – นาม

จิตที่ขาดสติ ก็คือจิตรับรู้อารมณ์บัญญัติ คือที่เป็นเรื่องราว เช่น “ไอ้ปื้ด.. แกมันเลวมาก”

จิตที่มีสติ จะมารู้อารมณ์ที่เป็นรูป – นาม หรือเรียกง่าย ๆ ว่า กาย – ใจ เช่น โกรธไอ้ปื้ด แล้วเห็นความโกรธในจิต

คือมีโกรธเกิดขึ้นมาก่อน แล้วค่อยตามรู้ความโกรธ จิตขณะที่โกรธ ไม่มีสติ จิตขณะที่รู้ว่าโกรธ ขณะนั้นมีสติ

ที่อธิบายมา ไม่ทราบว่าจะทำให้ยิ่งงงหรือเปล่า ?

ถ้างง ก็เอาแค่สั้น ๆ คือ

สติ เป็นเจตสิก สติ อยู่ในสังขารขันธ์ จิต คือวิญญาณขันธ์

๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๐