#นิมฺมโลตอบโจทย์ #๑๐๒ ??? #ถาม : คุณพ่อของโยมป่วย คุณหมอวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ลูกๆทราบกันแล้ว แต่ไม่กล้าบอกท่าน…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #๑๐๒
???

#ถาม : คุณพ่อของโยมป่วย คุณหมอวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ลูกๆทราบกันแล้ว แต่ไม่กล้าบอกท่าน เกรงว่าท่านทราบแล้วจะยิ่งทรุด ถ้าคุณพ่อถามถึงผลการตรวจ ก็อาจจะจำเป็นต้องโกหก กรณีอย่างนี้ลูกๆจะบาปหรือไม่คะ?

#ตอบ : การพูดโกหก ยังไงๆก็ผิดอยู่แล้ว
เพราะศีลข้อมุสาวาท มีองค์ประกอบดังนี้
๑. เรื่องไม่จริง
๒. มีจิตเจตนาจะพูดให้คลาดเคลื่อนตัวความจริง
๓. ความพยายามอันเกิดจากจิตนั้น
๔. ผู้ฟังรู้เรื่อง

แต่จะบาปมากหรือน้อยก็มีเกณฑ์บ่งชี้ ดังนี้คือ
มุสาวาทนั้น มีโทษน้อย เพราะประโยชน์ที่ทำลายนั้นน้อย
มีโทษมาก เพราะประโยชน์ที่ทำลายนั้นมาก
ถ้าลูกอาศัยความกรุณา เกรงว่าพ่อจะทำใจไม่ได้ อาจจะทำให้โรคที่เป็นอยู่นั้นรุนแรงยิ่งขึ้น จึงโกหก
อย่างนี้ เราไม่ได้มุ่งร้ายกับพ่อ โทษก็ไม่มาก เมื่อเทียบกับการโกหกด้วยเจตนาร้าย

แต่แม้จะโกหกด้วยกรุณา ก็มีวิบากนะ
ต่อไปถึงคราวเราป่วย ลูกหลานก็เราก็อาจจะพูดคำโกหกมาปลอบใจเรา
แทนที่เราจะรู้ความจริงเพื่อที่จะเตรียมตัวเตรียมใจให้ทันก่อนตาย
เรากลับปล่อยเวลาผ่านไปอย่างประมาท ลั้นลาไปวันๆ มารู้ตัวอีกทีก็ใกล้ตายเต็มที
เราอาจจะโกรธหรือน้อยใจลูกหลานของเรา ว่าพวกนี้ไม่รักเราจริง ไม่ยอมบอกความจริงกับเรา
ถ้าเจริญสติไม่ทัน ก็ตายไปพร้อมกับใจที่เศร้าหมอง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อริยสาวกยอมพิจารณาดังนี้ว่า
ก็ถ้าใครทำลายประโยชน์ของเราด้วยการกล่าวเท็จ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา
ก็ถ้าเราจะทำลายประโยชน์ของคนอื่นด้วยการกล่าวเท็จ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่นเหมือนกัน.. “

ประโยชน์ที่ถูกทำลายในกรณีนี้ คือ
เมื่อไม่รู้ความจริง แล้วตกอยู่ในความประมาท

ทางที่ดีในกรณีนี้ก็คือ ไม่พูดโกหก
ถ้าสามารถใช้ปัญญาหาคำพูดให้ท่านยอมรับความจริง และโยงมาถึงการเตรียมความพร้อมที่จะใช้เวลาที่เหลือเพื่อสั่งสมบุญกุศล จนถึงภาวนาพัฒนาจิตใจได้ก็ยิ่งดี
และควรแสดงออกให้ท่านมั่นใจว่า เราจะอยู่เคียงข้างท่าน และให้เวลาปรนนิบัติท่านด้วย ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก

เท่าที่ทราบ มะเร็งในยุคนี้ก็ไม่น่ากลัวเหมือนเมื่อก่อน คุณหมอก็มีความรู้ความสามารถ มียา มีเครื่องไม้เครื่องมือแพทย์ ที่จะช่วยให้การบำบัดโรคได้ผลดี บางกรณีก็หายขาดได้
เราก็พูดให้ท่านสบายใจ หรืออย่างน้อยก็ไม่ตกใจเกินไป ด้วยการให้ข้อมูลอีกด้านที่ท่านควรทราบ

ลองศึกษาอุบายของพระสารีบุตรก็ได้
ครั้งหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรออกจากสมาบัติ พิจารณาอยู่ว่า วันนี้จะไปโปรดใคร
ก็เห็นว่า จะไปโปรด “นายเพชฌฆาตเคราแดง”

นายเพชฌฆาตเคราแดงเมื่อก่อนคือ “โจรเคราแดง” ร่วมแก๊งอยู่ในกลุ่มโจรห้าร้อย
ภายหลังถูกจับได้ และถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการใช้ขวานฟันคอ แต่หาเพชฌฆาตไม่ได้
อำมาตย์ผู้วินิจฉัยคดีจึงพูดกับหัวหน้าโจรว่า “ถ้าเจ้ายอมเป็นเพชฌฆาตฆ่าโจรเหล่านี้ เราจะไว้ชีวิตเจ้า พร้อมกับได้ตำแหน่งหน้าที่ที่คนทั้งหลายนับถือ”
หัวหน้าโจรปฏิเสธ เพราะฆ่าลูกน้องไม่ลง ถามโจรอื่นๆ ก็ปฏิเสธ
แต่พอถามนายเคราแดง ก็ได้รับคำตอบว่า “สาธุ!” แล้วก็ฆ่าโจรทั้งหมดนั้น
นับแต่นั้นมา ก็รับหน้าที่เป็นเพชฌฆาตอยู่นานถึง ๕๕ ปี จนแก่ ไม่มีแรง ฟันคอโจรฉับเดียวไม่ขาด ต้องฟันอยู่หลายครั้ง ชาวเมืองทั้งหลายเห็นความลำบาก จึงถอดจากตำแหน่ง
ตลอดเวลาที่รับหน้าที่เพชฌฆาต นายเคราแดง มีนักโทษมาให้ฆ่าทุกวัน ไม่มีโอกาสได้แต่งตัวสวยๆ กินอาหารหรูๆ เลย
พอเกษียณแล้ว รุ่งเช้าก็อาบน้ำ ชำระกาย ทาแป้งหอม นุ่งผ้าใหม่ สั่งบริวารให้หุงข้าวยาคูปรุงด้วยน้ำนมและเนยใส
แต่งตัวเสร็จ มานั่งรอกิน อาหารก็หอมฟุ้งมาเชียว แต่ตาเหลือบเห็นพระสารีบุตรเสียก่อน จึงคิดว่า ‘เราทำการฆ่าคนมานาน ตอนนี้เรามีอาหารอย่างดีเลิศ มีพระมาอยู่หน้าบ้านเราแล้ว เราถวายอาหารนี้กับพระดีกว่า’
เมื่อถวายอาหารแด่พระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรก็กล่าวอนุโมทนา แต่ใจนายเคราแดงก็ฟุ้งซ่านมาก ฟังไม่รู้เรื่องเลย ท่านพระสารีบุตรจึงถามว่า “ทำไมโยมจึงไม่สามารถทำใจมาตามคำเทศนาล่ะ?”
นายเคราแดงตอบว่า “ผมทำกรรมชั่วหยาบมานาน คนเป็นอันมากถูกผมฆ่าตาย ผมได้แต่กังวลถึงกรรมของผมครับ”

ท่านพระสารีบุตรคิดจะช่วย จึงถามว่า “ที่ท่านฆ่าน่ะ ท่านอยากฆ่าเอง หรือมีใครใช้ให้ทำล่ะ?”
นายเคราแดงตอบว่า “พระราชาให้ทำครับ”
ท่านพระสารีบุตรจึงถามว่า “เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว บาปจะมีแก่ท่านหรืออย่างไร?”
นายเคราแดงได้ฟังอย่างนั้น ก็คิดเอาเองว่า บาปไม่มีแก่เรา แต่เป็นบาปของพระราชา ก็สบายใจ พระสารีบุตรสอนกรรมฐานให้ก็ทำตาม จนบรรลุเป็นพระโสดาบันในที่นั้นเลย

ท่านพระสารีบุตรไม่ได้พูดโกหกเลยนะ โยมก็ลองปรับใช้ไปในกรณีของโยม ว่าเราควรจะพูดอย่างไร
ที่สำคัญคือ ไม่ใช่เพียงพูดให้ท่านสบายใจ แต่ควรโยงไปให้ถึงการภาวนาด้วย จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด
และเราก็ได้ทำหน้าที่ของลูกหลานที่ดี เป็นกัลยาณมิตรในทางธรรมอีกด้วย
สมกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
“หากวาจาแม้ตั้งพัน ไม่ประกอบด้วยบทที่เป็นประโยชน์ไซร้
บทที่เป็นประโยชน์บทเดียว ซึ่งบุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ประเสริฐกว่า”

๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๐


อ่านบน Facebook