#นิมฺมโลตอบโจทย์ #๑๐๕ ??? #ถาม : การบรรยายธรรมของพระอาจารย์กฤช จะมีทั้งเรื่องเล่า นิทาน เรื่องทาน…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #๑๐๕
???

#ถาม : การบรรยายธรรมของพระอาจารย์กฤช จะมีทั้งเรื่องเล่า นิทาน เรื่องทาน ศีล สมาธิ รวมทั้งภาวนารวมอยู่ด้วย อยากถามว่าเรามีแนวทางในการฟังธรรมอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติ?

#ตอบ : ถามแบบนี้ ทำให้นึกถึงเรื่องๆ หนึ่ง ในธรรมบท

ครั้งหนึ่ง อุบาสก ๕ คนไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ที่วัดเชตวัน
คนที่ ๑ นั่งหลับ
คนที่ ๒ นั่งเอานิ้วมือขีดเขียนแผ่นดิน
คนที่ ๓ นั่งเขย่าต้นไม้
คนที่ ๔ นั่งแหงนหน้าดูท้องฟ้า
คนที่ ๕ นั่งฟังธรรมโดยเคารพ

พระอานนท์ได้เห็นพฤติกรรมของอุบาสกทั้ง ๕ คนนั้นแล้ว จึงกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงแสดงธรรมแก่อุบาสกเหล่านี้ ดุจหยาดฝนเม็ดใหญ่ตกลงมาจากฟากฟ้า แต่อุบาสกเหล่านั้น กลับแสดงพฤติกรรมประหลาดๆ อย่างนี้”

พระศาสดาตรัสว่า “อานนท์ เธอไม่รู้จักอุบาสกเหล่านั้น
อุบาสกคนที่นั่งหลับอยู่นั้น ได้เกิดในกำเนิดแห่งงู คือเป็นงูบ้างนาคบ้าง มา ๕๐๐ ชาติ โดยลำดับ ชอบพาดหัวไว้บนขนดแล้วหลับ ยังไม่อิ่มในความหลับ จึงยังไม่ยอมตื่นมารับฟังธรรมจากเรา

อุบาสกคนที่ชอบเอานิ้วมือขีดเขียนแผ่นดินนั้น ได้เกิดเป็นไส้เดือนในอดีตชาติมาแล้ว ๕๐๐ ชาติ โดยลำดับ จึงได้ติดนิสัยชอบคุ้ยแผ่นดินมาจนถึงปัจจุบันชาติ ไม่สนใจฟังเสียงเรา

อุบาสกคนที่ชอบเอามือเขย่าต้นไม้นั้น ได้เกิดเป็นลิงมาแล้ว ๕๐๐ ชาติ โดยลำดับ จึงติดนิสัยชอบเขย่าต้นไม้มาจนถึงปัจจุบันชาติ ไม่สนใจฟังเสียงเรา

อุบาสกคนที่ชอบแหงนหน้าดูท้องฟ้า ได้เกิดเป็นหมอดูผู้บอกฤกษ์มาแล้ว ๕๐๐ ชาติ โดยลำดับ จึงติดนิสัยชอบแหงนหน้าดูท้องฟ้าเพื่อดูดาวมาจนถึงปัจจุบันชาติ ไม่สนใจฟังเสียงเรา

ส่วนอุบาสกคนที่นั่งฟังธรรมโดยคารพนั้น เคยเกิดเป็นพราหมณ์ผู้ชอบท่องมนต์มาแล้ว ๕๐๐ชาติ โดยลำดับ จึงติดนิสัยชอบฟังธรรมเพื่อนำไปเทียบเคียงกับมนต์ที่ตนเคยท่องมา แม้ปัจจุบันก็ฟังธรรมโดยเคารพ”

พระอานนท์กราบทูลถามต่อไปว่า “พระธรรมของพระองค์ เหมือนดังแทรกผิวข้าพระพุทธเจ้าไปจนถึงเยื่อในกระดูก ทำไมคนเหล่านี้กลับไม่ฟังโดยเคารพ พระเจ้าข้า”

พระศาสดาตรัสว่า
“อานนท์ เธอคิดว่าธรรมของเรานี้ บุคคลจะฟังโดยง่ายหรือ?”
พระอานนทเถระกราบทูลว่า “ธรรมของพระองค์ บุคคลฟังโดยยากหรือ พระเจ้าข้า?”
“ถูกแล้ว อานนท์”
“เพราะเหตุใด พระเจ้าข้า?”
พระศาสดาตรัสว่า “อานนท์ เพราะในแสนกัลป์ที่ผ่านมา เขาเหล่านั้นไม่เคยได้ยินแม้คำว่า ‘พุทโธ’ หรือ ‘ธัมโม’ หรือ ‘สังโฆ’ มาก่อนเลย ได้ยินได้ฟังแต่ดิรัจฉานกถามีประการต่าง ๆ แล้วเที่ยวฟ้อนรำขับร้องอยู่ในที่ทั้งหลาย มีโรงดื่มสุราและสนามเป็นที่เล่นเป็นต้น . จึงไม่สามารถจะฟังธรรมโดยเคารพได้”
แล้วพระองค์ก็แสดงธรรมต่อไปว่า เพราะ ราคะ โทสะ โมหะ และตัณหา นั่นแหละ เป็นตัวกั้นขวาง ทำให้ไม่สามารถฟังธรรมโดยเคารพได้

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง อุบาสกผู้ฟังธรรมอยู่โดยเคารพนั้น บรรลุโสดาปัตติผล
(ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค ๗ มลวรรควรรณา เรื่องที่ ๙ เรื่องอุบาสก ๕ คน)

ถ้าแบ่งคนฟังธรรมตามเกณฑ์ของพระพุทธองค์ ก็น่าจะแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑. ฟังโดยไม่เคารพ
๒. ฟังโดยเคารพ
ผู้ฟังธรรมโดยเคารพเท่านั้น จึงจะได้รับประโยชน์จากการฟังธรรม

ประโยชน์จากการฟังธรรมก็มีหลายประการ เช่น
๑. รู้เป้าหมายของชีวิตที่ควรเข้าถึง ว่าคือภาวะที่ไม่มีทุกข์ มีระดับขั้นตอนที่จะเข้าถึงได้ตั้งแต่ละความเห็นผิดว่ามีตัวตนเป็นต้น รู้ว่าเป้าหมายดังกล่าวนี้ควรประจักษ์แจ้ง ควรได้ควรถึง ควรบรรลุ
๒. รู้จักสภาวธรรมที่กำลังเป็นอยู่ รู้ว่าชีวิตคืออะไร แยกแยะได้ว่าสิ่งไหนเป็นรูปเป็นนาม แยกได้ระหว่างกายกับใจ ยิ่งฟังยิ่งเห็นตาม และยอมรับว่าชีวิตก็เป็นเพียงความประกอบกันของสภาวะต่างๆ เป็นต้น รู้ว่าสภาวธรรมดังกล่าวนี้ควรรู้ ควรทำความเข้าใจ
๓. รู้จักต้นเหตุของปัญหา รู้ว่าชีวิตเป็นอย่างไร มีปกติธรรมดาเป็นไปอย่าง ทำไมจึงทุกข์ ที่มาของทุกข์คืออะไร รู้กระบวนการของธรรมชาติที่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น เชื่อในเรื่องของกรรมและวิบาก รู้ว่าทุกสิ่งที่ประสบเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อรู้เหตุของทุกข์อย่างนี้แล้ว ก็รู้ว่าควรละเหตุเหล่านั้นเสียด้วย
๔. รู้วิธีปฏิบัติที่จะนำพาชีวิตให้บรรลุเป้าหมาย รู้ว่าชีวิตควรเป็นอยู่อย่างไร มีวิธีที่จะฝึกฝนอบรมตนอย่างไร เพื่อจะนำพาชีวิตให้พ้นทุกข์ได้จริง และรู้ว่าต้องลงมือปฏิบัติเองจริงๆ

รวมแล้วก็คือ รู้อริยสัจ ๔ นั่นเอง คือ รู้ทุกข์ รู้สมุทัย รู้นิโรธ และรู้มรรค รวมทั้งรู้กิจในอริยสัจด้วย เพียงแต่ในที่นี้เรียงสลับข้อไปบ้าง
ในการฟังแต่ละครั้ง ผู้ฟังอาจได้รับประโยชน์ทั้ง ๔ นี้ มากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ
– ความสามารถของผู้แสดงธรรม
– ความพร้อมของผู้ฟังธรรม
– สภาพแวดล้อมของสถานที่

เนื้อหาที่แสดง มักจะอยู่ในข้อที่ ๔ คือวิธีปฏิบัติ เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยมาก มีหลายหมวด เช่น บุญกิริยาวัตถุ, ไตรสิกขา, สติปัฏฐาน ๔, มรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น แต่ผู้ฟังสามารถเลือกปฏิบัติเฉพาะที่ตรงจริตของตนก็พอ

ส่วนที่มีการเล่านิทานบ้างนั้น เป็นเพียงวิธีการนำเสนอ หรือที่เรียกกันว่า สำนวนโวหาร ซึ่งมีอยู่ ๕ อย่าง คือ
๑. บรรยายโวหาร คือ อธิบายไปเรื่อยๆ ตามลำดับ มุ่งความชัดเจนในสาระ
๒. พรรณนาโวหาร คือ แสดงรายละเอียดด้วยสำนวนไพเราะน่าฟัง มุ่งความซาบซึ้งเพลิดเพลิน
๓. เทศนาโวหาร คือ แสดงให้แจ่มแจ้ง จนผู้ฟังยอมรับ
๔. สาธกโวหาร คือ ยกเรื่องตัวอย่าง เพื่อความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น การเล่านิทานก็อยู่ในข้อนี้
๕. อุปมาโวหาร คือ ยกตัวอย่างในแง่เปรียบเทียบ เป็นอีกวิธีที่ช่วยเสริมความเข้าใจ
ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถและความถนัดของผู้แสดงด้วย

แต่สิ่งที่ผู้แสดงธรรมควรใส่ใจ คือ พุทธลีลาในการสอน ซึ่งในการสอนแต่ละครั้ง การสอนของพระองค์นั้นจะมีองค์ประกอบที่เป็นคุณลักษณะ ๔ ประการ ขอยกคำอธิบายในหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ “ป. อ. ปยุตฺโต” มาบางส่วน ดังนี้
๑. สันทัสสนา ชี้แจงให้เห็นชัด คือ จะสอนอะไร ก็ชี้แจงจำแนกแยกแยะอธิบายและแสดงเหตุผลให้ชัดเจน จนผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้ง เห็นจริงเห็นจัง ดังจูงมือไปดูเห็นกับตา
๒. สมาทปนา ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ คือ สิ่งใดควรปฏิบัติหรือหัดทำ ก็แนะนำหรือบรรยายให้ซาบซึ้งในคุณค่า มองเห็นความสำคัญที่จะต้องฝึกฝนบำเพ็ญ จนใจยอมรับ อยากลงมือทำ หรือนำไปปฏิบัติ
๓. สมุตเตชนา เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า คือ ปลุกเร้าใจให้กระตือรือร้น เกิดความอุตสาหะ มีกำลังใจแข็งขัน มั่นใจที่จะทำให้สำเร็จจงได้ สู้งาน ไม่หวั่นระย่อไม่กลัวเหนื่อย ไม่กลัวยาก
๔. สัมปหังสนา ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง คือ บำรุงจิตให้แช่มชื่นเบิกบาน โดยชี้ให้เห็นผลดีหรือคุณประโยชน์ที่จะได้รับและทางที่จะก้าวหน้าบรรลุผลสำเร็จยิ่งขึ้นไป ทำให้ผู้ฟังมีความหวังและร่าเริงเบิกบานใจ
ข้อ ๑ ปลดเปลื้องความเขลาหรือความมืดมัว
ข้อ ๒ ปลดเปลื้องความประมาท
ข้อ ๓ ปลดเปลื้องความอืดคร้าน
ข้อ ๔ สัมฤทธิ์ การปฏิบัติ
จำสั้นๆ ว่า “แจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า ร่าเริง”

๑๙ มกราคม ๒๕๖๐


อ่านบน Facebook