#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๐๙ ??? #ถาม : เท่าที่ฟังธรรมมาหลายครั้ง ก็จะมีแต่ให้ “ละโลภ โกรธ หลง” น่าจะให้ความสำคัญกับเรื่อง…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๐๙
???
#ถาม : เท่าที่ฟังธรรมมาหลายครั้ง ก็จะมีแต่ให้ “ละโลภ โกรธ หลง”
น่าจะให้ความสำคัญกับเรื่อง “อย่าทำให้ผู้อื่นโลภ โกรธ หลง” ด้วยนะคะ

#ตอบ : น่าสนใจนะ
ทีนี้เราลองมาดูกันว่า การทำให้ผู้อื่นโลภ โกรธ หลง หรือพูดสั้นๆ ว่า ทำให้ผู้อื่นเกิดมีกิเลสขึ้นมานั้น มีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง

๑. ตนเองมีกิเลส แล้วไม่มีสติ จึงไปสร้างกายกรรม-วจีกรรม ที่ยั่วกิเลสผู้อื่น
โดยทั่วๆไป ก็จะเป็นลักษณะอย่างนี้ใช่ไหม?
กรณีอย่างนี้ การสอนให้ฝึกเจริญสติ รู้สึกตัวถึงกิเลสที่ปรากฏในใจของตน ก็ช่วยแก้ปัญหาการทำให้ผู้อื่นเกิดกิเลสได้ไปด้วยในตัว

๒. ขณะนั้นไม่ได้มีกิเลสอะไร หรือพูดให้ชัดขึ้นคือ ขณะนั้นไม่ได้มีเจตนายั่วกิเลสใคร แต่คนที่มาพบเห็น หรือได้ยินได้ฟัง หรือได้สัมผัสในแง่ต่างๆ เขาเกิดกิเลสไปเอง
กรณีอย่างนี้ ถ้าเกิดกับพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ใช้วิธีวางอุเบกขา
แต่กับพวกเราที่ยังเป็นปุถุชน ก็ต้องค่อยๆเรียนรู้กันไป ว่าเราทำอย่างนี้ แม้เจตนาดี แต่มีผลเสียอย่างนี้
เมื่อเรียนรู้แล้ว ก็ควรแก้ไขปรับปรุงวิธีพูด-วิธีแสดงออกของตน ให้เหมาะสมยิ่งๆขึ้นไป
ถ้าขอโทษ-ขอขมากับคู่กรณีได้ ก็ควรทำ
บางทีดูเหมือนว่าเราไม่มีกิเลส แต่จริงๆมี เป็นเพราะความเขลา คือเราไม่รู้
พระพุทธเจ้าจึงให้มีการปวารณา คือเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือน ด้วยคำว่า
“ข้าพเจ้าขอปวารณากับท่าน จะด้วยได้เห็นก็ตาม ด้วยได้ยินก็ตาม หรือด้วยน่าระแวงสงสัยก็ตาม ว่าข้าพเจ้ามีความผิด ขอให้ท่านกรุณาว่ากล่าวตักเตือน เมื่อข้าพเจ้าเห็นความผิดนั้น จะได้ปรับปรุงแก้ไขตนเองต่อไป”

๓. ตั้งใจยั่วกิเลส เพื่อสอน
ตัวอย่างเช่น

๓.๑ โยมคนหนึ่ง เข้าใจว่าตนปฏิบัติธรรมได้ถึงขั้นอนาคามีแล้ว ไปกราบเรียนพระเถระว่า
“ท่านเจ้าคะ ดิฉันไม่มีความโกรธแล้ว”
พระเถระหันขวับมาพูดว่า “อีตอแหล!”
โยมคนนั้นโกรธทันที ลุกพรวด “พระปากจัด ไม่นับถือแล้ว” เดินกระทืบเท้าตึงตังออกไป
พอถึงหน้าวัดจึงรู้ตัวว่าโกรธ ไม่ใช่พระอนาคามีเสียแล้ว

๓.๒ ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ท่านหนึ่ง ปฏิบัติธรรมอยู่บนเขาพนมรุ้ง สำคัญผิดว่าตนบรรลุอรหัตผล อุตส่าห์เดินทางดั้นด้นมาวัดบูรพาราม ตะโกนถามหาหลวงปู่ดูลย์แบบไม่เคารพว่า “หลวงตาดูลย์ ออกมาเดี๋ยวนี้ พระอรหันต์มาแล้ว”
หลวงปู่ดูลย์เห็นว่าอาการรุนแรงมาก ก็ให้เณรพาไปพักที่โบสถ์ก่อน
แต่พอถึงโบสถ์ แทนที่จะพัก กลับเที่ยวไปเรียกพระเณรในวัดให้มาฟังธรรมของตนตลอดทั้งคืน
หลวงปู่พยายามแก้ไขด้วยอุบายต่างๆ เป็นเวลา ๓ วัน ก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายท่านก็ใช้วิธีพูดให้โกรธ ด้วยการด่าว่า
“เออ ! สัตว์นรก สัตว์นรก ไปเดี๋ยวนี้ ออกจากกุฏิเดี๋ยวนี้”
ได้ผล ลูกศิษย์ท่านนั้นโกรธจนมือไม้สั่น หยิบของผิดๆ ถูกๆ คว้าเอาไต้สำหรับจุดไฟไปดุ้นหนึ่ง คงนึกว่าเป็นกลด เปล่งวาจาออกมาอย่างน่าขำว่า “เออ ! กูจะไปเดี๋ยวนี้ หลวงตาดูลย์ไม่ใช่แม่กู”
กว่าจะรู้สึกตัว ก็เดนไปถึงวัดป่าโยธาประสิทธิ์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป ๓-๔ กิโลเมตร
และในที่สุดก็กลับมาขอขมา

๓.๓ พระธัมมทินนะ เป็นพระอรหันต์ผู้มีปัญญาแตกฉานในปฏิสัมภิทา นั่งพักในที่พักในเวลากลางวัน นึกถึงอาจารย์ของท่าน คือพระมหานาคเถระ ว่า “กิจแห่งสมณะอาจารย์ของเราถึงที่สุดแล้ว หรือไม่หนอ?”
ก็ทราบว่าอาจารย์ของตนนั้นยังเป็นปุถุชน และทราบอีกว่า ถ้าท่านไม่ไปช่วย อาจารย์ของท่านก็จะเป็นปุถุชนจนมรณภาพ
ท่านจึงเหาะไปหาพระมหานาคเถระ ซึ่งขณะนั้นกำลังนั่งพักอยู่ ก็เข้าไปกราบไหว้
อาจารย์ถามว่า “ดูก่อนธัมมทินนะ เพราะเหตุไรเธอจึงมาในเวลาอันไม่สมควรอย่างนี้”
ท่านจึงกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านอาจารย์ผู้เจริญ กระผมมาเพื่อจะถามปัญหาขอรับ”
พระธัมมทินนะถามปัญหาประมาณ ๑,๐๐๐ ข้อ อาจารย์ก็ตอบได้ทุกข้อ
ท่านจึงกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านอาจารย์ผู้เจริญ ญาณของท่านคมยิ่งนัก ท่านบรรลุธรรมนี้ตั้งแต่เมื่อไรครับ?”
อาจารย์ตอบว่า “บรรลุมา ๖๐ พรรษาแล้ว”
พระธัมมทินนะถามว่า “ท่านอาจารย์ยังใช้อิทธิฤทธิ์ได้อยู่หรือไม่ครับ?”
อาจารย์ตอบว่า “เรื่องนี้ ไม่หนักใจเลย”
พระธัมมทินนะจึงกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น ขอท่านอาจารย์ช่วยนิรมิตช้างให้ดูสักเชือกหนึ่ง ได้ไหมครับ?”
ท่านก็เนรมิตช้างเผือกมาให้ดู
พระธัมมทินนะก็กล่าวว่า “ท่านอาจารย์ ให้ช้างนี้มีหูกางออกแล้ว มีหางเหยียดออกแล้ว เอางวงใส่ในปาก แล้วส่งเสียงร้องให้ดังลั่น วิ่งมาหาท่านอาจารย์ ได้ไหมครับ?”
อาจารย์ก็เนรมิตขึ้นมาได้อย่างนั้น ครั้นเห็นอาการกิริยาและเสียงร้องของช้างนิรมิตอย่างนั้นแล้ว อาจารย์ก็ขยับลุกขึ้นเพื่อจะหนีไป พระธัมมทินนะจึงเหยียดมือออกไปจับชายจีวรของพระอาจารย์แล้วกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านอาจารย์ผู้เจริญ ความกลัวย่อมมีแก่พระอรหันต์ด้วยหรือครับ?”
พระอาจารย์จึงรู้ทันทีว่าตนยังเป็นปุถุชนอยู่ จึงกล่าวว่า “ดูก่อนธัมมทินนะผู้มีอายุ ท่านจงเป็นที่พึ่งแก่กระผมด้วยเถิด”
พระธัมมทินนะเถระกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านอาจารย์ผู้เจริญ กระผมมาด้วยประสงค์ว่าจะเป็นที่พึ่งแก่ท่านนี่แหละครับ ขอท่านอาจารย์อย่าได้วิตกเลยครับ” แล้วบอกกรรมฐาน
พระเถระผู้อาจารย์เรียนกรรมฐานแล้ว ก็ก้าวขึ้นสู่ที่จงกรม ในก้าวที่สาม ท่านก็บรรลุพระอรหัตผล
…………

ฉะนั้น สรุปได้ว่า
๑. ถ้าตนเองมีกิเลส แล้วไปสร้างกายกรรม-วจีกรรม ที่ยั่วกิเลสผู้อื่น ก็ควรฝึกสติ เพื่อประโยชนตนและผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง
๒. ถ้าตนเองไม่ได้มีเจตนายั่วกิเลส แต่ทำให้ผู้อื่นเกิดกิเลส ก็ควรเรียนรู้ข้อผิดพลาดในการแสดงออกนั้น และหลีกเลี่ยงเสีย
๓. ถ้าจะยั่วกิเลสเพื่อสอนผู้อื่น ตนเองก็ต้องซื่อตรงต่อธรรมด้วย อย่าให้กลายไปเป็นว่า ตนเองก็มีกิเลส แล้วอ้างว่า “ฉันทำไปเพื่อสอนเขา” มิฉะนั้นจะกลับไปเข้าเกณฑ์ข้อ ๑ ไป
…………

อีกอย่างหนึ่ง ที่บอกว่า เท่าที่ฟังธรรมมาหลายครั้ง ก็จะมีแต่ให้ “ละโลภ โกรธ หลง” นั้น
อันที่จริงก็ไม่ได้ให้ทำอย่างนั้นนะ !
แต่ให้พยายามฝึกให้มีสติ กิเลสอะไรเกิดขึ้น.. รู้ทัน
กิเลสเกิดขึ้น.. รู้ทัน
ไม่ต้องไปหาทางละหรือดับกิเลสนะ
เพราะเราฝึกสติรู้ทันกิเลส กิเลสจะดับไปเองโดยอัตโนมัติ
สิ่งที่ละไปคือ มันจะค่อยๆ ละความเคยชินที่จะตามใจกิเลสนะ

๑๓ มีนาคม ๒๕๖๑


อ่านบน Facebook