#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๑๑ ??? #ถาม​ : เคยได้ยินมาว่า พระอรหันต์จะไม่หัวเราะเสียงดังหรือยิ้มแฉ่งจนเห็นฟัน…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๑๑
???
#ถาม​ : เคยได้ยินมาว่า พระอรหันต์จะไม่หัวเราะเสียงดังหรือยิ้มแฉ่งจนเห็นฟัน อันนี้จริงไหมครับ?

#ตอบ​ : ​ ขึ้นอยู่กับ “วาสนา” ของแต่ละท่านนะ
​“วาสนา” ในพุทธศาสนามีความหมายว่า ..
อาการกายวาจา ที่เป็นลักษณะพิเศษของบุคคล ซึ่งเกิดจากกิเลสบางอย่าง และได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานานจนเคยชินติดเป็นพื้นประจำตัว แม้จะละกิเลสนั้นได้แล้ว แต่ก็อาจจะละอาการกายวาจาที่เคยชินไม่ได้ เช่น คำพูดติดปาก อาการเดินที่เร็ว หรือเดินต้วมเตี้ยม เป็นต้น
ท่านขยายความว่า วาสนา ที่เป็นกุศล ก็มี เป็นอกุศล ก็มี เป็นอัพยากฤต คือ เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ก็มี
ที่เป็นกุศลกับอัพยากฤตนั้น ไม่ต้องละ
แต่ที่เป็นอกุศลซึ่งควรจะละนั้น แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่จะเป็นเหตุให้เข้าถึงอบายกับส่วนที่เป็นเหตุให้เกิดอาการแสดงออกทางกายวาจาแปลกๆ ต่างๆ ส่วนแรก พระอรหันต์ทุกองค์ละได้ แต่ส่วนหลัง พระพุทธเจ้าเท่านั้นละได้ พระอรหันต์อื่นละไม่ได้
จึงมีคำกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้นละกิเลสทั้งหมดได้ พร้อมทั้งวาสนา
[จาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)]
ในคัมภีร์อรรถกถา มักบรรยายถึงการแย้มยิ้มของพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นเหตุให้ทรงแสดงธรรม เช่น ในอรรถกถาฆฏิการสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ มีข้อความว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำเนินไปโดยมหามรรคา ทรงตรวจดูภูมิประเทศแห่งหนึ่ง แล้วทรงรำพึงว่า
“เมื่อเราประพฤติจริยาอยู่ เคยอยู่ในที่นี้บ้างหรือหนอ” ดังนี้
ทรงเห็นว่า “เมื่อศาสนาพระกัสสปพุทธเจ้า ที่นี้เป็นนิคมชื่อว่า เวภัลลิคะ ในกาลนั้น เราเป็นมาณพชื่อ โชติปาละ เรามีสหายเป็นช่างหม้อชื่อ ฆฏิการะ เรากับนายฆฏิการะนั้นได้กระทำเหตุอันดีไว้อย่างหนึ่งในที่นี้ ความดีนั้นยังปกปิดอยู่ ยังไม่ปรากฏแก่ภิกษุสงฆ์ เอาเถิด เราจะกระทำเรื่องนั้นให้ปรากฏแก่ภิกษุสงฆ์” ทรงดำริดังนี้แล้ว ทรงหลีกออกจากทางประทับยืนอยู่ ณ ประเทศหนึ่งเทียว ทรงกระทำความแย้มพระโอษฐ์ให้ปรากฏ ทรงแย้มพระโอษฐ์.

พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงพระสรวล เหมือนอย่างพวกมนุษย์ชาวโลกีย์ ย่อมตีท้องหัวเราะว่า ที่ไหน ที่ไหน ดังนี้.
ส่วนการยิ้มแย้มของพระพุทธเจ้าทั้งหลายปรากฏเพียงอาการยินดีร่าเริงเท่านั้น.
…..
อนึ่ง ความแย้มนี้นั้น ถึงมีประมาณเล็กน้อยอย่างนี้ ก็ได้ปรากฏแก่พระเถระ.
ถามว่า ปรากฏอย่างไร?
ตอบว่า ธรรมดาในกาลเช่นนั้น เกลียวรัศมีมีประมาณเท่าต้นตาลใหญ่ รุ่งเรืองแปลบปลาบประดุจสายฟ้ามีช่อตั้ง ๑๐๐ จากพระโอษฐ์ ประหนึ่งมหาเมฆที่จะยังฝนให้ตกในทวิปทั้ง ๔ ตั้งขึ้นจาก
พระเขี้ยวแก้วทั้ง ๔ กระทำประทักษิณพระเศียรอันประเสริฐ ๓ รอบ แล้วก็อันตรธานหายไป ณ ปลายพระเขี้ยวแก้วนั่นแล.
เพราะเหตุนั้นท่านพระอานนท์ถึงจะเดินตามไปข้างพระปฤษฎางค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทราบถึงความแย้มพระโอษฐ์ด้วยสัญญานั้น.
…..
การยิ้มแย้มและการหัวเราะนั้น ในคัมภีร์อลังการ ได้จำแนกไว้ ๖ ระดับ คือ
๑. สิตะ ยิ้มอยู่ในหน้า ไม่เห็นไรฟัน
๒. หสิตะ ยิ้มแย้มพอเห็นไรฟัน
๓. วิหสิตะ หัวเราะเบาๆ
๔. อุปหสิตะ หัวเราะจนกายไหว
๕. อปหสิตะ หัวเราะจนน้ำตาไหล
๖. อติหสิตะ หัวเราะจนสั่นพลิ้วและโยกโคลงไปทั้งตัว
แล้วระบุว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย จะยิ้มแย้มอยู่เพียงระดับ ๑ กับ ๒ เท่านั้น
พระเสขบุคคลจะยิ้มแย้มและหัวเราะได้ถึงระดับ ๔
ระดับ ๕ และ ๖ เฉพาะของปุถุชน
อันนี้ว่าตามคัมภีร์

แต่ครูบาอาจารย์ท่านชี้แจงว่า มัน​อยู่​ที่​วาสนา​ของพระอรหันต์แต่ละท่านนะ
พระอรหันต์จะยิ้มด้วยกิริยาจิต ​บางท่าน​ก็​ไม่​ยิ้ม​อะไร​มาก บางท่านก็ยิ้มน้อยๆ ยิ้ม​งาม​ บางท่านก็​ยิ้มกว้าง​ เป็น​วาสนาของ​แต่ละท่านนะ​ เพราะท่าน​ไม่มี​มารยา​ว่า​จะ​ทำ​อย่างไร​ให้​ดู​ดี​หรือให้​คน​นับถือ​ แต่​มัน​เป็น​กริยา​ที่​แสดง​ออก​ไป​เพื่อ​สื่อสาร​เท่านั้นเอง​
ที่​ว่า​ พระ​อรหันต์​ยิ้ม​ไม่ได้​ ถ้ายิ้ม​แล้วแสดงว่า​จิต​มี​โลภะ​ หน้า​บึ้ง​ก็​ไม่ได้​ ถ้าหน้า​บึ้ง​ก็แสดงว่าจิต​มี​โทสะ​ อันนี้น่าจะเป็นเพราะเอามาเทียบกับมาตรฐานของจิตปุถุชน
บางที ปุถุชนก็ยิ้มด้วยจิตที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา ที่เป็นกามาวจรกุศลจิตก็ได้ เช่น เบิกบานในกุศลที่กำลังทำอยู่ หรือ ฟังธรรมด้วยความซาบซึ้งผ่องใส เป็นต้น
บางที ปุถุชนก็ยิ้มด้วยจิตที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา ที่เป็นอกุศลจิต เป็นโลภมูลจิตก็ได้ เช่น เพลิดเพลินไปกับการแสดงที่สนุกสนาน หรือ ดีใจที่มีคนชม เป็นต้น
เวลาพระอรหันต์​ท่าน​ยิ้มด้วยกิริยาจิต ซึ่งจะเป็นอย่างไรแน่ ก็ดูจะเป็นเรื่องไกลเกินไปที่จะทำความเข้าใจ
สำหรับปุถุชนแบบเราๆ หรือผู้ฝึกภาวนาทั้งหลาย มาหัดเจริญสติทำความรู้สึกตัวกันดีกว่า ว่าในแต่ละครั้งที่เรายิ้มหรือหัวเราะนั้น เรายิ้มหรือหัวเราะด้วยจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศล
ถ้าแยกไม่ออก งง..ก็รู้ว่า งง !
หรือจะดูกายที่มันขยับไหวในขณะที่ยิ้มหรือหัวเราะก็ได้
หรือจะให้ง่ายกว่านั้น มาหัดเจริญสติดูโสมนัสเวทนา คือความสุขใจ ที่เกิดในขณะที่ยิ้มหรือหัวเราะนั้นก็ได้
ดูไป.. ทั้งกายที่ยิ้ม ที่เคลื่อนไหว ทั้งจิตที่สุข ทั้งปรุงกุศลหรืออกุศลนั้น ก็แสดงไตรลักษณ์ทั้งสิ้น

สุดท้ายของคำตอบนี้ ขอฝากภาพพระเถระที่ยิ้มบ้าง หัวเราะบ้าง มาเป็นสังฆานุสสติ

๑๐ เมษายน ๒๕๖๑


อ่านบน Facebook