#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๑๓ ??? #ถาม​ : การ​ที่​เรา​แกล้ง​ทำ​เป็น​ไม่รู้​ หรือ​ไม่​ตอบ​คำ​ถาม​ธรรมะ​กับ​ผู้​ที่​เข้า​มา​ถาม​นั้น​…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๑๓
???

#ถาม​ : การ​ที่​เรา​แกล้ง​ทำ​เป็น​ไม่รู้​ หรือ​ไม่​ตอบ​คำ​ถาม​ธรรมะ​กับ​ผู้​ที่​เข้า​มา​ถาม​นั้น​ ด้วย​ความ​รู้สึก​ว่า​ผู้​ถาม​ไม่ได้​มี​เจตนา​ที่​อยาก​รู้​ใน​สิ่ง​ที่​ถาม​จริง​ๆ​ ถือ​ว่า​เรา​ทำ​ผิด​หรือ​ไม่​ครับ? อยาก​ได้​คำ​แนะนำ​ใน​การ​วางตัว​ใน​สถานการณ์​แบบ​นี้​ครับ

#ตอบ​ : ที่​ว่า​ “รู้สึก​ว่า​ผู้​ถาม​ไม่ได้​มี​เจตนา​ที่​อยาก​รู้​ใน​สิ่ง​ที่​ถาม​จริง​ๆ​” นั้น​ มัน​เป็น​อย่างนั้น​จริง​หรือ?
ลองประเมิน​ตนเอง​สัก​นิด​ว่า​มี​อคติ​บ้าง​หรือ​ไม่​
ถ้า​มี​ ก็อย่า​เพิ่ง​ด่วน​ตัดสิน​ผู้อื่น​ด้วย​อคติ​นั้น

เป็นไปได้​ไหมว่า​ ที่​ว่า​ “รู้สึก​ว่า​ผู้​ถาม​ไม่ได้​มี​เจตนา​ที่​อยาก​รู้​ใน​สิ่ง​ที่​ถาม​จริง​ๆ​” นั้น​ เป็นแค่​ไม่​ชอบใจ​คำถาม​หรือ​คน​ถาม​นั้น?
และ​หาก​เป็น​เช่นนั้น​ ก็ควร​รู้​ทัน​ความ​ไม่​ชอบใจ​นั้น​ก่อน
ให้​ความ​ไม่​ชอบใจ​ดับ​ไป​ แล้ว​จึง​ตัดสินใจ​ว่า​จะ​ตอบ​หรือ​ไม่​ และ​อย่างไร​

สมมุติ​ว่า​ เขาไม่ได้​มี​เจตนา​ที่​อยาก​รู้​ใน​สิ่ง​ที่​ถาม​จริง​ๆ​ และ​เรา​ก็​รู้​ด้วย​ เมื่อ​ปราศจาก​อคติ​และ​ความ​ขัด​ใจ​ใน​ขณะนั้น​แล้ว ก็เลือก​ว่า​จะ..

๑.​ ไม่​ตอบ​อะไร​
แต่​การเงียบ​ไป​เช่นนี้​ ก็​อาจจะ​ทำให้​ผู้​ถาม​ไม่พอใจ และ​อาจจะ​เป็น​การ​สร้าง​ศัตรู​ด้วย​ เพราะ​เหมือน​เป็น​การ​ไม่​สนทนา​ด้วย​ ซึ่งอาจจะ​ถูก​มอง​ได้​ว่า​ไม่สน​ใจ​และ​ไม่​ให้​เกียรติ​ผู้​ถาม

๒.​ ไม่​ตอบ​คำถาม​นั้น​ แต่​สอน​ให้​เขา​เห็น​ความจริงที่​เป็น​อยู่​
เหมือน​ตอบ​ไม่ตรงคำถาม​ แต่​มุ่ง​สอน​ให้​เกิด​สติ​ปัญญา​
ซึ่ง​การที่จะ​ทำ​อย่างนี้​ได้​ ผู้​สอน​ก็​ต้อง​รู้​จริงเห็น​จริง​ และ​ผู้​ถาม​นั้น​ก็​ควร​มี​ศรัทธา​กับ​ผู้​สอน​เป็น​พื้นฐาน​อยู่​บ้าง

๓.​ ตอบ​ทำนองว่า​ “รู้​ไม่มาก​พอ​ที่​จะ​ตอบ”
โปรด​สังเกต​ว่า​ไม่​ใช่​”แกล้ง”ทำ​เป็น​ไม่รู้​ เพราะ​จะ​กลาย​เป็น​พูด​เท็จ​
ขอ​ให้​ศึกษา​การ​ตอบ​ของ​พระ​อัสสชิ​ เมื่อ​ครั้ง​อุปติสสะ​ปริพาชก​ถามว่า​ “พระศาสดาของท่านสอนอย่างไร แนะนำอย่างไร?”
พระ​อัสสชิ​ทั้ง​ๆที่​บรรลุ​ธรรม​ขึ้น​สูงสุด​แล้ว​ ก็ตอบว่า​ ​”เราเป็นคนใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ไม่อาจแสดงธรรมแก่ท่านได้กว้างขวาง แต่จักกล่าวใจความแก่ท่านโดยย่อ”
อย่างนี้​ท่าน​ไม่ได้​โกหก​ เพราะ​ท่าน​ก็​เพิ่ง​บวช​จริง​ๆ​ คือ​บวช​ยัง​ไม่ถึง​ปี
และ​เมื่อ​เทียบ​กับ​พระพุทธเจ้า​แล้ว​ ท่าน​ก็​ไม่​อาจ​แสดง​ธรรม​ได้​กว้างขวาง​เท่า​ เพราะ​ท่าน​เป็น​เพียง​สาวก​ ย่อมรู้​ไม่​ทั่วถึง​อย่าง​ที่​พระพุทธ​เจ้า​ทรง​รู้​แน่นอน

๔.​ ตอบ​คำถาม​ไป​ เท่าที่​จะ​ตอบ​ได้​ ด้วย​ใจ​เมตตา​และ​กรุณา​
อย่างน้อย​คำตอบ​นั้น​อาจจะ​เป็น​ประโยชน์​กับ​คนอื่น​ที่​ร่วม​ฟัง​อยู่​ด้วย​
หลวง​พ่อ​ปราโมทย์​เคย​เล่า​ว่า​ สมัย​ที่​ยัง​เป็น​ฆราวาส​ ท่าน​มี​โอกาส​ได้​ไป​เรียน​ธรรมะ​กับ​หลวง​ปู่​เทสก์​บ่อยๆ​ ครั้ง​หนึ่ง​ เห็น​หลวง​ปู่​ตอบ​คำถาม​โยม​คน​หนึ่ง​เป็น​เวลา​นาน​ ใจ​ก็​สงสาร​หลวง​ปู่​ว่า​ต้อง​มา​เหนื่อย​กับ​การ​ตอบ​นั้น​
พอ​เห็น​ว่า​หลวง​ปู่​ไม่​หยุด​ตอบ​สัก​ที​ ใจ​ก็​พลิก​มา​ต่อว่า​หลวง​ปู่​ โดย​พูด​ในใจ​ว่า​ ‘หลวง​ปู่​ไป​ตอบ​มัน​ทำไม​ มัน​ไม่ได้​ตั้งใจ​ถาม​เพราะ​อยาก​รู้​หรอก​ มัน​ชวน​คุย​ไป​เรื่อย​ๆ​ เท่านั้นเอง​ เสียเวลา​เปล่า​ๆ’​
แต่​หลวง​ปู่​ก็​ตอบ​ไป​ จน​เขา​พอใจ​ และลา​กลับ​ไป
พอ​คน​นั้น​คล้อย​หลัง​ หลวง​ปู่​เทสก์​ก็​หัน​มา​พูด​กับ​ท่าน​ว่า​ “ต้อง​ตอบ​คำถาม​เขา​หน่อย​นะ​ ไม่​อย่างนั้น​เดี๋ยว​เขา​จะ​โกรธ​ เดี๋ยว​จะ​ตก​นรก”

ฯลฯ​

ที่​ใส่​ ฯลฯ​ ไว้​ด้วย​ เพราะ​ใน​โจทย์​ระบุ​ว่า​ “คำถาม​ธรรมะ​” ฉะนั้น​ผู้​ที่​จะตอบ​โจทย์​นี้​ได้​ดี​ก็​ควร​เป็น​ผู้​รู้​ธรรมะ​ แต่​อาตมา​ยัง​ต้อง​เรียน​ธรรมะ​อีก​มาก​ เชื่อ​ว่า​วิธี​รับมือ​กับ​สถานการณ์​อย่างนี้​น่าจะ​ไม่​จำกัด​อยู่​เพียง​เท่านี้​ จึง​เผื่อ​ไว้​ด้วย​หวังว่าผู้​รู้​ทั้ง​หลาย​จะมา​ช่วย​เติม​ หรือ​จะ​ช่วย​ตอบ​ใหม่​เลย​ ก็​จะ​เป็น​พระคุณ​ยิ่ง

๒๕ เมษายน ๒๕๖๑


อ่านบน Facebook