#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๑๖ ?? #ถาม​ : เวลาที่เราไหว้พระ ควรจะอธิษฐาน​ขอ​พร​หรือขอสิ่งต่างๆไหมครับ? ถ้าควร…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๑๖
??

#ถาม​ : เวลาที่เราไหว้พระ ควรจะอธิษฐาน​ขอ​พร​หรือขอสิ่งต่างๆไหมครับ? ถ้าควร ควรจะอธิษฐาน​ขอ​พร​ใด​หรือสิ่งใดครับ​ เพื่อไม่เป็นไปเพื่อกิเลส?

#ตอบ​ : “อธิษฐาน” แปล​ว่า​ ความ​ตั้งใจ​มั่น

“พร”​
– โดย​ทั่วไป​ แปล​ว่า​ สิ่ง​ประเสริฐ​ สิ่ง​ดี​เยี่ยม
– ใน​ทาง​พุทธศาสนา​ มี​อีกความ​หมาย​ว่า​ สิ่ง​ที่​อนุญาต​หรือ​ให้​ตาม​ที่​ขอ

“ให้พร”
– โดยทั่วไป​ หมายถึง​ คำ​แสดง​ความ​ปรารถนาดี​ ปรารถนา​ให้​ประสบ​สิ่ง​ที่​เป็น​สิริมงคล​
– ใน​ทาง​พุทธศาสนา​ หมาย​ถึง​ การ​อนุญาต​หรือ​ให้​โอกาส​ที่​จะ​ขอ​ ยอม​ที่​จะ​ให้​ หน่อ​เอื้อ​อำนวย​ให้​เป็น​ข้อ​อนุญาต​พิเศษ​ เป็น​รางวัล​

“ขอ​พร​”
– โดย​ทั่วไป​ กลับ​รู้สึก​ไป​ใน​ทาง​ขอ​อำนาจ​สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์​ดลบันดาล
– ใน​ทาง​พุทธศาสนา​ หมายถึง​ การ​ขอ​อนุญาต​เลือก​เอา​ตาม​ประสงค์

เช่น
นาง​วิสาขา​ อาศัย​เหตุ​ที่พระ​ภิกษุ​ทั้งหลาย​ไม่มี​ผ้า​อาบน้ำ​ฝน​ ต้อง​เปลือยกาย​อาบน้ำ​ใน​คราว​ฝนตก​ จึง​กราบ​ทูล​ขอ​พร​ ๘​ ประการ​ กับ​พระ​พุทธ​เจ้า
พร​เหล่านั้น​ได้​แก่​
๑. ขอ​อนุญาต​ถวาย​ผ้า​อาบน้ำ​ฝน
๒. อาหาร​สำหรับ​ภิกษุ​อาคันตุกะ
๓. อาหาร​สำหรับ​ภิกษุ​ผู้​เตรียม​จะ​เดินทาง
๔. อาหาร​สำหรับ​ภิกษุ​ไข้
๕. อาการ​สำหรับ​ภิกษุ​ผู้​พยาบาล​ภิกษุ​ไข้
๖. เภสัช​สำหรับ​ภิกษุ​ไข้
๗.​ ขอ​อนุญาต​ถวายข้าวต้ม​ยาคู​เป็น​ประจำ​
๘.​ ​ขอ​ถวาย​ผ้า​อาบน้ำ​แก่​ภิกษุณี​สงฆ์​จน​ตลอดชีวิต

พระพุทธเจ้า​ตรัส​ถามว่า​นาง​เห็น​อำนาจ​ประโยชน์​อะไร​ และ​เห็น​อานิสงส์​อะไร​ จึง​ขอ​พร​เหล่านั้น​ เมื่อ​นาง​ตอบ​แล้ว​ พระองค์​ก็​ทรง​อนุญาต

อย่างนี้​ ขอ​พร​ ก็​ชัด​ว่า​เป็น​การ​ขอ​อนุญาต​หรือ​ขอ​โอกาส​ที่​จะ​ทำ​บุญ

พระ​อานนท์​ ก่อน​ที่จะ​รับ​หน้าที่​เป็น​พุทธ​อุปัฏฐาก​ ท่าน​ก็​ได้​ทูล​ขอ​พร​ ๘​ ประการ​ คือ
๑.​ ขอ​อย่า​ประทาน​จีวร​อัน​ประณีต​แก่​ข้าพระ​องค์
๒.​ ขอ​อย่า​ประทาน​บิณฑบาต​อัน​ประณีต​แก่​ข้าพระ​องค์
๓.​ ขอ​ได้​โปรด​อย่า​ให้​ข้า​พระองค์​อยู่​ใน​ที่​ประทับ​ของ​พระองค์
๔.​ ขอ​ได้​โปรด​อย่า​พาข้า​พระองค์​ไป​ใน​ที่​นิมนต์
๕.​ ขอ​พระองค์​จง​เสด็จ​ไป​สู่​ที่​นิมนต์​ที่​ข้า​พระองค์​รับ​ไว้
๖.​ ขอ​ให้​ข้า​พระ​องค์​พาบริษัท​ที่​มา​จาก​แดน​ไกล​เข้า​เป้า​พระองค์​ได้​ในขณะที่​มาถึง​แล้ว​
๗.​ ถ้า​ข้า​พระองค์​เกิด​ความ​สงสัย​ขึ้น​เมื่อใด​ ขอ​ให้​ข้า​พระองค์​เข้า​เฝ้า​ทูล​ถาม​ความ​สงสัย​ได้​เมื่อ​นั้น​
๘.​ ถ้า​พระองค์​แสดง​พระ​ธรรม​เทศนา​เรื่อง​ใด​ใน​ที่​ลับหลัง​ข้า​พระองค์​ ขอ​ได้​โปรด​ตรัส​พระ​ธรรม​เทศนา​เรื่อง​นั้น​แก่​ข้า​พระองค์​อีก​ครั้ง

พระพุทธเจ้า​ตรัส​ถาม​ว่า​เห็น​คุณ​และ​โทษ​อย่างไร​ จึง​ขอ​อย่างนั้น​
พระ​อานนท์​ทูล​ตอบ​ว่า​
ข้อ​ ๑​ – ๔​ ขอ​เพื่อ​ป้องกัน​คำ​ครหา​ ว่ามาทำ​หน้าที่​เพราะป๋า​ลาภ​สักการะ
ข้อ​ ๕​ -​ ๗​ ขอ​เพื่อ​ป้องกัน​คำ​ครหา​ ว่าต่าง​ทำ​หน้าที่​นี้​ไป​ทำไม​ เรื่อง​เพียง​เท่านี้​พระ​พุทธ​องค์​ก็​ไม่​ทรง​อนุเคราะห์
ข้อ​ ๘​ ขอ​เพราะ​ หาก​เมื่อ​มี​ผู้​มา​ถาม​ว่า​ ธรรม​ขอ​นี้​พระ​ทรง​แสดง​ที่ไหน​ ถ้า​ไม่​ทราบ​ ก็​จะ​ถูก​ตำหนิ​ได้​ว่า​ พระ​อานนท์​ติดตาม​พระ​ศาสดา​ไป​ทุก​แห่ง​ แต่​เหตุ​ไฉ​น​จึง​ไม่รู้​แม้​แต่​เรื่อง​เพียง​เท่านี้
แล้ว​พระองค์​ก็​ทรง​อนุญาต​

นี่​เป็น​ตัวอย่าง​ที่ดี​สำหรับ​พุทธบริษัท​ เพราะ​เป็น​พัน​ที่​ขอ​โดย​พระ​เสข​บุคคล​ พรที่​ขอ​ ก็เพื่อ​แสดง​ความ​ประสงค์​ หรือ​ขอ​อนุญาต​ทำ​ความ​ดี​ ทำ​เรื่อง​ที่​ดี​ ไม่มี​เรื่อง​สนอง​กิเลส​ตัณหา​เลย

มี​ข้อ​สังเกต​ว่า​ ใน​ภาษา​ไทย​ การ​ขอ​พร​จะ​หวัง​ให้​สิ่งศักดิ์สิทธิ์​ เทพ​ผู้​มี​ฤทธิ์​มี​อำนาจ​ บันดาล​ให้​ ผู้​ขอ​ไม่ต้อง​ทำ​ แต่​พระ​อริย​สาวก​ขอ​พร​ เพื่อ​ขอ​โอกาสที่จะ​ทำ​ และ​สิ่ง​ที่​จะ​ทำ​นั้น​เป็น​สิ่ง​ที่​ดี

ฉะนั้น​ ถ้า​จะ​ไหว้​พระ​ขอ​พร​ ก็​ควร​จะ​ถือโอกาส​ขอ​นำ​ธรรม​มา​ปฏิบัติ​

หาก​ยัง​ปรารถนา​ “พร” ใน​ลักษณะ​ที่​บันดาล​ให้​อายุ​ยืน​ ผิวพรรณ​งาม​ผ่องใส​ มี​ทรัพย์​สิน​เหลือ​ใช้​ มี​สุขภาพ​แข็งแรง​ดี​ เป็นต้น​อย่างนี้​ ก็​ขอ​แนะนำ​ธรรม​ชุด​หนึ่ง​ไป​ปฏิบัติ

ครั้ง​หนึ่ง​ พระพุทธเจ้า​ตรัส​ว่า​
“ภิกษุ​ทั้งหลาย​ เธอ​ทั้งหลาย​จง​เที่ยว​ไป​ใน​โคจร​ ซึ่ง​เป็น​วิสัย​อัน​สืบ​มา​จาก​บิดา​ตน​
ภิกษุ​ทั้งหลาย​ เมื่อ​เธอ​ทั้งหลาย​เที่ยว​ไป​ใน​โคจร​ ซึ่ง​เป็น​วิสัย​อัน​สืบ​มา​จาก​บิดา​ตน​ จัก​เจริญ​ทั้ง​ด้วย​อายุ​ จัก​เจริญ​ทั้ง​ด้วย​วรรณะ​ จัก​เจริญ​ทั้ง​ด้วย​สุข​ จัก​เจริญ​ทั้ง​ด้วย​โภคะ​ จัก​เจริญ​ทั้ง​ด้วย​พละ​ ฯ”

คำ​ว่า​” โคจร​ ซึ่ง​เป็น​วิสัย​อัน​สืบ​มา​จาก​บิดา​ตน​” ก็​คือ​ สติปัฏฐาน​ ๔​ นั่นเอง

กล่าว​อย่าง​ง่าย​ก็​คือ​ ฝึก​หัด​ปฏิบัติ​ไป​ตามคำ​ของ​ครูบาอาจาร​ย์ที่​ว่า​
“มี​สติ​ รู้​กาย​ รู้​ใจ​ ตาม​ความ​เป็น​จริง​ ด้วย​จิต​ที่​ตั้งมั่น​และ​เป็นกลาง​”

แล้ว​จะ​ได้​ “เบญจ​พิธ​พร​” คือ​พร​ ๕​ ประการ​ ดัง​กล่าว
ซึ่ง​ได้​มา​จาก​”พร”ที่​เรา​มี​ จาก​การ”​ทำ”ของ​เรา​เอง

๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑


อ่านบน Facebook