#นิมฺมโลตอบโจทย์ #๑๒๑ ??? #ถาม : หากว่าเราเคยได้พลาดพลั้งตำหนิติเตียน หรือพูดไม่ดีถึงพระอริยสงฆ์…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #๑๒๐
???

#ถาม : หากว่าเราเคยได้พลาดพลั้งตำหนิติเตียน หรือพูดไม่ดีถึงพระอริยสงฆ์ ครูบาอาจารย์ ด้วยความโฉดเขลา จะมีผลอย่างไร? และเราควรทำเช่นไรเจ้าคะ?

#ตอบ : พระอริยะในที่นี้ ก็นับตั้งแต่ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอริยสาวกทั้งหลาย โดยที่สุด แม้พระโสดาบันที่เป็นคฤหัสถ์
ผู้ใดมีเจตนาไม่ดี เป็นอกุศล แล้วว่าร้าย, พูดตำหนิติเตียน, กล่าวตู่ในเรื่องที่ไม่เป็นจริง อันเป็นเหตุกำจัดคุณความดีของพระอริยะ ท่านจัดเป็นวจีทุจริตที่มีโทษมาก มีชื่อเฉพาะว่า “อริยุปวาท”

พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสไว้ว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้เห็นสัตว์ผู้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดมั่นการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก”
พระอรรถกถาจารย์ท่านอธิบายว่า อริยุปวาทมีโทษมากเท่ากับอนันตริยกรรม
น่ากลัวทีเดียว !

หากพลาดพลั้งไปแล้ว …
– ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ควรหาโอกาสไปขอขมาท่าน
– ถ้าท่านจาริกไป ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ก็ไปหาพระภิกษุที่เป็นบัณฑิตสักรูปหนึ่ง ปรึกษาท่านว่า “กระผม/ดิฉัน ได้กล่าวติเตียนท่าน…(ระบุชื่อ) แล้วเกิดความไม่สบายใจ กระผม/ดิฉันควรทำอย่างไรดี ครับ/คะ?”
พระภิกษุผู้เป็นบัณฑิตนั้นก็จะตอบในทำนองว่า “คุณอย่าคิดมากไปเลย พระเถระ/พระอริยะ/ครูบาอาจารย์ ท่านย่อมอดโทษให้แก่คุณ คุณจงทำจิตให้ระงับจากความเดือดร้อนใจนั้นเถิด”
จากนั้น ก็พึงหันหน้าไปทิศทางที่สมมุติว่าเป็นทางที่พระอริยะท่านนั้นไป แล้วประนมมือ กล่าวคำขอขมา
– ถ้าพระอริยะนั้นปรินิพพาน หรือสิ้นชีวิตไปแล้ว ก็ไปสู่ที่ที่ท่านปรินิพพาน หรือสิ้นชีวิต, หรือสถานที่ที่ท่านได้เคยอยู่อาศัย, หรือสถูปเจดีย์ที่บรรจุอัฐิธาตุ หรือบริขาร, หรือที่ฝังศพ เพื่อกล่าวคำขอขมา
– ถ้าไม่สามารถทำตาม ๓ ข้อต้นนั้นได้ ก็สามารถขอขมาต่อหน้าพระพุทธรูปก็ได้

คำขอขมา ที่นิยมใช้กัน มีหลายแบบ ขอยกมาเป็นตัวอย่าง ดังนี้
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)
รัตตะนัตตะเย ปะมาเทนะ ทวารัตตะเยนะ กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต (กราบ 3 ครั้ง)
(ถ้าขอพร้อมกันหลายคน เปลี่ยน ขะมะถะ เม เป็น ขะมะตุ โน)

ที่สำคัญคือ ผู้ขอขมามีใจสำนึกในความผิดของตน เป็นผู้เห็นโทษในอกุศลที่ได้ทำไป รู้สึกละอายใจและเสียใจต่อการกระทำนั้น แล้วมีใจนอบน้อม เคารพในพระรัตนตรัย รวมทั้งพระอริยะที่เราเคยล่วงเกินนั้นด้วย

ทีนี้เราก็ไม่ทราบว่าใครบ้างที่เป็นพระอริยะ ก็เป็นไปได้ที่เราอาจจะพลาดไปล่วงเกินท่าน นักปราชญ์ตั้งแต่ครั้งโบราณจึงให้ขอขมาบ่อยๆ อย่างน้อยก็เป็นการฝึกใจให้ไม่ประมาท และระมัดระวังการแสดงออกทางกายวาจาใจอยู่เสมอ ดังปรากฏในคำสวดทำวัตรเย็น ดังนี้ว่า

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา – ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี
พุทเธ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง – กรรมน่าติเตียนอันใดที่ข้าพเจ้ากระทำแล้วในพระพุทธเจ้า
พุทโธ ปะฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง – ขอพระพุทธเจ้าจงงดซึ่งโทษล่วงเกินอันนั้น
กาลันตะเร สังวะริตุง วะ พุทเธ – เพื่อสำรวมระวังในพระพุทธเจ้าในกาลต่อไป.

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา – ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี
ธัมเม กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง – กรรมน่าติเตียนอันใดที่ข้าพเจ้ากระทำแล้วในพระธรรม
ธัมโม ปะฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง – ขอพระธรรมจงงดซึ่งโทษล่วงเกินอันนั้น
กาลันตะเร สังวะริตุง วะ ธัมเม – เพื่อสำรวมระวังในพระธรรมในกาลต่อไป.

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา – ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี
สังเฆ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง – กรรมน่าติเตียนอันใดที่ข้าพเจ้ากระทำแล้วในพระสงฆ์
สังโฆ ปะฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง – ขอพระสงฆ์จงงดซึ่งโทษล่วงเกินอันนั้น
กาลันตะเร สังวะริตุง วะ สังเฆ – เพื่อสำรวมระวังในพระสงฆ์ในกาลต่อไป.

สวดอย่างนี้ทุกวัน ก็ได้มีโอกาสขอขมาทุกวัน
โทษถ้าแม้มี ก็ได้รับการปลดเปลื้องไปโดยไม่ทันข้ามวัน

๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๑


อ่านบน Facebook