#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๓๑ ?? #ถาม​ : ช่วยอธิบายคำว่า อุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นหน่อยนะ ครับ คือผมสงสัยว่า…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๓๑
??

#ถาม​ : ช่วยอธิบายคำว่า อุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นหน่อยนะ ครับ คือผมสงสัยว่า มียึดมั่น​ไม่ดี​ แล้วมียึดมั่นดี ไหมครับ?

#ตอบ​ : ถ้า​เป็น​ภาษา​ไทย​ คำ​ว่า​ “ยึดมั่น” ที่​มี​ความหมาย​ใน​ทาง​ที่​ดี​ก็​มี​นะ​ เช่น​ ยึดมั่น​ใน​ชาติ​-ศาสนา​-พระ​มหากษัตริย์, ยึดมั่น​ใน​คุณงามความดี​ เป็นต้น

แต่​ถ้า​ใช้​คำ​ว่า​ “อุปาทาน” จะ​เป็น​ความ​ยึดมั่น​ที่​ไม่ดี​ เพราะ​หมายถึง​ความ​ยึดมั่น​ด้วย​อำนาจ​กิเลส​ เป็น​ความ​ยึดติด​อัน​เนื่อง​มา​แต่​ตัณหา​ ผูกพัน​เอา​ตัวตน​เป็น​ที่ตั้ง

อุปาทาน​ มี​ ๔​ ได้แก่

๑.​ กามุปาทาน​ ความ​ยึดมั่น​ใน​กาม​ คือ​ รูป​ เสียง​ กลิ่น​ รส​ โผฏฐัพพะ​ ที่​น่า​ใคร่​ น่า​พอใจ

๒.​ ทิฏฐุปาทาน​ ความ​ยึดมั่น​ใน​ทิฏ​ฐิ​ คือ​ ความ​เห็น​ ลัทธิ​ หรือ​หลัก​คำ​สอน​ต่าง​ๆ​

๓.​ สีลัพพตุ​ปาทาน​ ความ​ยึดมั่น​ใน​ศีล​และ​พรต​ คือ​ ถือ​ว่า​จะ​บริสุทธิ์​หลุดพ้น​ได้​เพียง​ด้วย​ศีล​และ​วัตร​ หลัก​ความ​ประพฤติ​ ข้อ​ปฏิบัติ​ แบบแผน​ ระเบียบ​ วิธี​ ขนบ​ธรรมเนียม​ประเพณี​ ลัทธิ​พิธี​ต่าง​ๆ​ ถือ​ว่า​ต้อง​เป็น​อย่าง​นั้น​ๆ​ โดย​สัก​ว่า​ทำ​สืบ​ๆ​กัน​มา​ ทำ​อย่าง​งมงาย​ โดย​ไม่​เป็นไป​ด้วย​ความรู้​ความ​เข้าใจ​ตาม​หลัก​ความ​สัมพันธ์​ของ​เหตุ​และ​ผล

๔.​ อัตตวาทุ​ปาทาน​ ความ​ยึดมั่น​ใน​วาทะว่า​ตัวตน​ คือ​ ความ​ถือ​สำคัญ​หมาย​ว่า​มี​ตัวตน​ ที่​จะ​ได้​ จะ​มี​ จะ​เป็น​ จะ​สูญ​สลาย​ หรือ​เป็น​เจ้าของ​ เป็น​นาย​บังคับบัญชา​สิ่ง​ต่าง​ๆ​ได้

ตาม​หลัก​ปฏิจจ​สมุป​บาท​ อุปาทาน​เป็น​กิเลส​ที่​สืบ​เนื่อง​มา​จาก​ตัณหา​ ต่อ​จาก​อุปาทาน​ก็​มี​กระบวนการ​ต่อไป​ถึง​มี​ภพ​ ชาติ​ ชรา​มรณะ​ ความ​โศก​เศร้า​ คร่ำครวญ​ มี​ทุกข์​นานัปการ​ อุปาทาน​จึง​เป็น​สภาวะ​ที่​ควร​รู้จัก​และ​ละ​ไป​เสีย

อุปาทาน​ก็​เกิด​สืบเนื่อง​มา​จาก​อวิชชา​ ที่​ไม่​รู้จัก​สิ่ง​ต่าง​ๆ​ตาม​สภาวะ​ที่​แท้จริง​ จึง​เปิด​โอกาส​ให้​เกิด​ตัณหา​ อยากได้​อยาก​เอา​มา​เสพ​มา​ครอบครอง​ และ​ด้วย​มี​ความ​เห็น​ผิด​ว่า​มี​ตัวตน​แฝง​อยู่​ ก็​เอา​ตัวตน​เข้า​มา​ผูกพัน​ถือ​มั่น​ อยาก​ได้​มา​ก็​เพื่อ​ตัวตน​ที่​ยึด​มั่น​อยู่​นั้น​ พา​ให้​ทำ​กรรม​ประการ​ต่าง​ๆ​ ตาม​มา​อีก​มากมาย

บาง​ท่าน​อาจ​กล่าว​ว่า​ “อย่า​ไป​ยึดมั่น​เสีย​เท่านั้น​ ก็​หมด​เรื่อง” ก็​ง่าย​ดี​ แต่​จะ​ทำ​ได้​จริง​หรือ? เพราะ​การ​ที่​จะ​ทำ​ได้​จริง​มัน​ต้อง​มี​การ​ฝึก​ให้​ถูกต้อง​ตาม​กระบวน​ธรรม​ หาก​เอา​แต่​พูด​ย้ำ​อยู่​แค่​นี้​ อาจจะ​หลาย​เป็น​ “ความ​ยึดมั่น​ ใน​ความ​ไม่​ยึดมั่น” ไป​เสีย

กระบวน​ธรรม​ที่​ว่า​ ก็​คือ​ ใน​เมื่อ​มีอุปาทาน​ยึดมั่น​กาย​ใจ​นี้​ว่า​เป็น​ตัวตน​เป็น​เรา​ ก็​มา​เจริญ​สติ​เรียนรู้​กาย​ใจ​นี้​ไป​ตาม​สภาวะ​ที่​มัน​เป็น​ ก็​จะ​เกิด​ความ​รู้​ความ​เข้าใจ​ใน​สิ่ง​ที่​เคย​ยึดมั่น​นั้น​ตาม​ความ​เป็น​จริง​ เห็น​โทษ​เห็น​ภัย​ เห็น​ไตรลักษณ์​ เห็น​ข้อ​เสีย​ข้อ​บกพร่อง​ของ​กาย​และ​ใจ​ ก็​เกิด​นิพพิทา​คือ​ความ​หน่าย​ หมด​ความ​ความ​เพลิดเพลิน​ติดใจ​ อุปาทาน​จึง​จะ​หมด​ไป​ได้​จริง

เช่น​ สมมุติ​ว่า​ นาย​ดำ​กับ​นาย​แดง​ไป​เที่ยว​งาน​วัด​ ผ่าน​ซุ้ม​การเล่น​ซุ้ม​หนึ่ง​ มี​คน​ตะโกน​เชิญ​ชวน​ว่า​ “เชิญ​ครับ! จิ้ม​ห้า​ล้าง​สิบ​ครับ​ จิ้ม​ห้า​ล้าง​สิบ!”
นาย​ดำ​อยาก​เข้า​ไป​ดู​ เพราะเชื่อ​อย่าง​สนิท​ใจ​ว่า​มัน​ต้อง​เป็น​ของ​พิเศษ​ที่​หา​ดู​ยาก แต่​นาย​แดง​ก็​บอก​ว่า​ “ไม่​เอา​น่า​ เสีย​เวลา​ มัน​ไม่มี​อะไร​น่าสนใจ​หรอก​ มัน​แค่​จะ​หลอก​เอา​เงิน​เรา​เท่านั้น​แหละ”
นาย​ดำ​เห็นด้วย​ว่า​มัน​น่าจะ​หลอก​เอา​เงิน​เรา​ ก็​เดิน​ผ่าน​ซุ้ม​นั้น​ไป​แบบเหมือน​จะ​ไม่​สนใจ​แล้ว​ แต่​ในใจ​ยัง​มี​อุปาทาน​อยู่​ว่า​มัน​น่า​จะ​เป็น​ของ​ดี​ ก็​ยัง​ตัดใจ​ไม่ได้​ แม้​จะ​พยายาม​ข่ม​ใจ​เพียงใด​ก็​ตาม​
จน​กว่า​เขา​จะ​เข้า​ไป​ลอง​เสีย​เงิน​ ๕​ บาทจิ้ม​ดู​
พอ​รู้​ว่า​เป็น​”ขี้​หมา” ก็​ต้อง​เสีย​เงิน​อีก​ ๑๐​ บาท​เพื่อ​ล้าง​มือ
จาก​นั้น​ ถึง​ใคร​จะ​ให้​จิ้ม​ฟรี​ นาย​ดำ​ก็​ไม่​เอา​ด้วย​แล้ว​ เพราะ​ได้​รู้​แน่​ประจักษ์​แก่​ใจ​แล้ว​ว่า​ไม่​ควร​เข้า​ไป​เกี่ยวข้อง​ด้วย​ อยาก​จะ​พ้น​ไป​ทันที​ ใจ​ไม่​เกาะเกี่ยว​กับ​”ขี้​หมา”นั้น​อีก​ต่อไป

๑๔ กันยายน ๒๕๖๑


อ่านบน Facebook