#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๓๓ ?? #ถาม : คาถา “ศราทธพรต” สวดในบ้านได้หรือไม่? #ตอบ : “ศราทธพรต” อ่านว่า…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๓๓
??

#ถาม : คาถา “ศราทธพรต” สวดในบ้านได้หรือไม่?

#ตอบ : “ศราทธพรต” อ่านว่า สาด-ทะ-พฺรด แปลว่า พิธีทำบุญให้แก่ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
“พรต” มาจากภาษาสันสกฤตว่า วฺรต บาลีเป็น วตฺต แปลว่า ข้อที่ควรประพฤติ

ศราทธ์ เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า การทำบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
มีคำคล้ายๆกันอีกคำหนึ่ง คือ “สารท” (ถ้าเขียนแบบสันสกฤตก็เป็น ศารท อ่านว่า สาด) ซึ่งมีความหมายต่างกัน

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของคำว่า “สารท” ไว้ว่า –
๑. “อันเกิดมีหรือเป็นไปในสารทสมัย”, เช่น ดวงจันทร์ในฤดูใบไม้ร่วง อันนวลแจ่มสดใส
๒. เทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบ เดิมเป็นฤดูทำบุญด้วยเอาข้าวที่กำลังท้อง (ข้าวรวงเป็นน้ำนม) มาทำยาคูและกวนข้าวปายาสเลี้ยงพราหมณ์ เรียกว่ากวนข้าวทิพย์ ส่วนผู้นับถือพระพุทธศาสนานำคตินั้นมาใช้ แต่เปลี่ยนเป็นถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ อุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติในปรโลก สำหรับชาวบ้านทั่วไปมักทำแต่กระยาสารท เป็นต้น (ต่างจาก ศราทธ์)

“คาถาศราทธพรต” หรือ “ศราทธพรตคาถา” หมายถึง คาถาหมวดหนึ่ง ที่พระสงฆ์ใช้สวดรับเทศน์ ในงานพระราชพิธีเผาศพเจ้านาย คือมีเทศน์ก่อน เรียกว่า “เทศน์ศราทธพรต” และมีบทสวดรับเทศน์เป็นการเฉพาะ คือบท “ศราทธพรตคาถา” ในปัจจุบันก็นิยมนำมาเทศน์มาสวดในงานพระราชเพลิงศพของพระเถระผู้ใหญ่หรือศพชาวบ้านที่เป็นผู้ใหญ่มีผู้คนนับถือมากๆ ซึ่งมักจะจัดเป็นพิธีใหญ่อยู่สักหน่อย ชาวบ้านทั่วไปจึงหาโอกาสฟังยาก อย่าว่าแต่ชาวบ้านเลย พระทั่วๆไปก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสสวดกัน

ฉะนั้น ถ้าถามว่าสวดในบ้านได้ไหม?
ก็ต้องตอบว่า ไม่มีข้อห้ามเป็นทางการนะ

๒๘ กันยายน ๒๕๖๑


อ่านบน Facebook