#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๓๖ #ประสบการณ์ทุกข์แบบนิมฺมโล ?? #ถาม : เคยได้ยินพระอาจารย์เทศน์ไว้ว่า ของพระอาจารย์น่ะต้องภาวนาแบบสบาย…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๓๖
#ประสบการณ์ทุกข์แบบนิมฺมโล
??
#ถาม : เคยได้ยินพระอาจารย์เทศน์ไว้ว่า ของพระอาจารย์น่ะต้องภาวนาแบบสบาย ใช่หรือปล่าวคะ?

#ตอบ : ก็อยากสบายทุกคนแหละ

#ถาม : ที่ถามนี่อยากก๊อปปี้ (Copy) พระอาจารย์เจ้าค่ะ ทุกคนจะเห็นลักษณะของพระอาจารย์น่ะ ยิ้มแย้มแจ่มใส เบิกบานใครเห็นก็มีความสุขแล้ว ในความรู้สึกของตัวโยมเองก็รู้สึกว่า พระอาจารย์คงไม่มีความทุกข์น่ะค่ะ

#ตอบ : ฮื่อ! ไม่ใช่นะ ยังทุกข์อยู่

#ถาม : อยากให้พระอาจารย์แชร์เรื่องความทุกข์ของพระอาจารย์ในขณะที่ภาวนา เพราะไม่เคยเห็นพระอาจารย์เทศน์เรื่องทุกข์ของพระอาจารย์เลยน่ะค่ะ

#ตอบ : ( หัวเราะ ) โอ้โห… ถ้าพูดเรื่องนี้นะ อีกยาวเลยนะ
คือยังไงดี เอาในแง่ของอาตมาก่อนนะ
มีคำสอนอยู่อันหนึ่งบอกว่า “ความฟุ้งซ่านแสดงถึงความต่อภพต่อชาติ” เคยได้ยินคำนี้ไหม?
ความฟุ้งซ่านเนี่ย..ยิ่งฟุ้งซ่านมากแสดงว่ายังต้องมีภพชาติอีกเยอะ!
พอได้ยินแบบนี้แล้วฟุ้งซ่านมากขึ้นหรือปล่าว? มันอดไม่ได้นะ

ทีนี้..เมื่อก่อนอาตมาก็จะบังคับไม่ให้ฟุ้งซ่านด้วยการบังคับใจตัวเองให้อยู่กับที่นิ่งๆ ซึ่งทำผิดจริต จึงทำไม่ได้ผล
แต่พอรู้ว่าจริตอย่างเราเนี่ยเป็นพวกที่ทิฏฐิจริต พวกทิฏฐิจริตไม่ใช่ไปห้ำหั่นกับความฟุ้งซ่านในลักษณะนั้น ก็ให้มาทำความรู้สึกตัวด้วยการเจริญสติ รู้ทันความฟุ้งซ่าน ให้ฟุ้งไป..แล้วก็จะรู้ ฟุ้งไป..แล้วก็จะรู้
ตอนที่ทำผิดเนี่ยจะมีความทุกข์ กำลังฟุ้งไปก็ทุกข์ ห้ามความฟุ้งก็ทุกข์ เพราะมันห้ามไม่ได้ มันน่าสงสารมากเลย
เพลินฟุ้งอยู่พักหนึ่ง..ฟุ้งๆไปเดี๋ยวก็ทุกข์อีกแล้ว เพราะฟุ้งซ่านจะต่อด้วยรำคาญใจ รำคาญใจทีไรจะทุกข์ทุกที ใช่มั้ย?
แล้วก็พอจะบังคับไม่ให้ฟุ้งซ่านก็ทุกข์ เพราะบังคับไม่ได้

มีความสุขหน่อยเดียว ตอนที่ว่ามันหมดแรงแล้วหลับ!
ที่มันทนได้อยู่เนี่ยก็เพราะหลับ อาศัยหลับ
นี่..ทุกข์ในแนวอาตมา

ถ้ายังทำอย่างนี้ต่อไปนะ..ก็ปฏิบัติเป็นทุกข์ ชาตินี้จะบรรลุหรือปล่าวก็ไม่รู้ แต่คิดว่าคงไม่บรรลุหรอก เพราะว่าปฏิบัติผิดจริตผิดแนว ทำแล้วไม่ได้ผล เพราะว่าทำแล้วก็ทุกข์
ฟุ้งซ่านไปเนี่ย..ไม่มีสติก็ทุกข์ พยายามจะปฏิบัติด้วยการบังคับไม่ให้มันฟุ้งซ่านก็ทุกข์
พอรู้ว่าจริตเราเป็นแบบนี้ (คือทิฏฐิจริต) แล้วรู้ว่ามีแนวทางปฏิบัติของคนจริตแบบนี้ คือ เจริญสติดูจิตไปเลย แค่รู้ตัวนี้นะ..ทุกข์หายไปเยอะเลย เพราะโล่งใจ โปร่งใจว่า “เฮ้ย! เรามีทางแล้ว!”
เมื่อก่อนนี่นะ..กูไม่มีทางเลย! ทำมาสิบกว่าปีจะยี่สิบปียังไม่ได้อะไรเลย ท้อถอย..ทำไปทุกข์ไป ทำไปทุกข์ไป แต่ก็ทนทำ!
ที่จะชมคุณธรรมตัวเองได้เนี่ยนะ..คือทน ทนอยู่ได้ไงไม่รู้นะ..สิบกว่าปี

แต่พอรู้ทางนะ..โปร่งเลย โล่งเลย แต่ที่โล่งเนี่ยก็โล่งชั่วคราวนะ อุปสรรคยังมีอีกเยอะ
อุปสรรคที่ว่าก็คือ คิดว่า “ทำยังไงกูจะรู้บ่อยๆ?” อยากมีสติรู้ไอ้ฟุ้งซ่านนี่แหละถี่ๆ บ่อยๆ เพราะฟุ้งซ่านมันจะยาวใช่มั้ย? กว่ามันจะเรียกว่าฟุ้งซ่านได้ก็คือมันจะเผลอไปคิดยาว ถ้าแว้บนึงเนี่ย..มันยังไม่ถือว่าเป็นฟุ้งซ่านในระดับอาตมานะ อาตมาฟุ้งคือต้องยาว ให้เวลามันสักรอบนึงน่ะ
ฉะนั้น พอรู้ตัวทีไรมันก็จะหงุดหงิดใจตัวเองทุกทีว่า “กูฟุ้งมายาว!”
ทั้งๆที่เจริญสติแล้วนะ มีสติแล้ว แต่ก็ยังมีทัศนคติที่ผิด โล่งใจตรงที่ว่า “กูมีแนวทางของกูแล้วล่ะ กูจะไปอย่างนี้ล่ะ” คือจะเจริญสติดูจิต แต่เจริญสติด้วยทัศนคติที่ผิด คือเข้าใจว่า ถ้ารู้แล้ว..ฟุ้งซ่านมันต้องดับหายไปเลย หรือว่าควรจะสงบมากกว่านี้ นี่เป็นทัศนคติผิด คือคิดว่า ยังไงๆ จิตก็ต้องสงบก่อน นิ่งก่อน ก็วนกลับมาที่เก่า คือบังคับจิต
เจริญสติรู้จิตก็จริงนะ แต่ยังอยากสงบด้วย อยากนิ่งด้วย
ทั้งๆที่คนที่เจริญสติดูจิตเนี่ย ถ้าฟุ้งแล้วรู้ว่าฟุ้ง..ไม่บังคับจิต จิตจะเจริญเร็ว เพราะจะเห็นสภาวะเกิดดับได้ง่าย แต่เรากลับไม่ยอม ไปยั้งจิตตัวเองไม่ให้เจริญด้วยความเข้าใจผิดว่า “เฮ้ย! ต้องสงบ ต้องนิ่ง!” นี่ก็เป็นทุกข์อีกแบบหนึ่ง
พอมีทัศนคติว่าต้องสงบก่อน เวลาเห็นฟุ้งซ่านก็ไม่พอใจ “ฟุ้งจัง”.. ไม่ชอบความฟุ้ง แล้วดึงจิตตัวเอง นี่ก็เป็นความทุกข์แบบหนึ่ง เป็นความทุกข์ที่สร้างเอง เพราะไปสร้างเงื่อนไขให้ตัวเองว่าอย่าฟุ้งซ่าน..ต้องสงบ นี่ก็ทุกข์อีกขั้นหนึ่ง จนมันเรียนรู้ ค่อยๆ เรียนรู้ไป

เรื่องการเรียนรู้เนี่ย อาตมามีบุญนิดหนึ่งตรงที่ว่ามีครูบาอาจารย์คอยช่วยดูให้ ครูบาอาจารย์คอยแนะนำว่า “ที่ทำอยู่เนี่ย มันบังคับตัวเองเกินไป มันมีฟอร์มนักปฏิบัติ แล้วของเก่าที่ทำมามันทำจนชิน ให้เลิกๆ ไปซะ”
“เอ้า! เลิกก็เลิก!” พอดีเป็นคนหัวอ่อน ว่าง่าย (ฮา..)
เลิกก็เลิก เลิกคือเลิกทำแบบเดิม พอเลิกทำแบบเดิมไปแล้ว คราวนี้มันเอาคืน! กิเลสที่เรากดเอาไว้ข่มเอาไว้เนี่ยนะ..พอเลิกกดข่ม..มันก็ขึ้นมาเลย
อาตมาเป็นคนขี้โกรธนะ จริงๆ แล้วขี้โกรธ อย่ายั่วนะ!
ที่มันขี้โกรธเพราะอะไรรู้มั้ย? ที่มันขี้โกรธเพราะว่าชอบวิจารณ์!
มันมีมาตรฐานของตัวเองอยู่อย่างหนึ่ง เวลาเขาทำอะไรเนี่ยเราจะมีมาตรฐานของเราไปเทียบ ว่ามันน่าจะเป็นอย่างนี้ มันน่าจะเป็นอย่างนั้น แล้วเราก็วิจารณ์ ที่วิจารณ์ไปก็คือว่ามันยังไม่เป็นตามมาตรฐานของเรา โยมเคยเป็นมั้ย? เรามีมาตรฐานของเราอย่างหนึ่ง เห็นอะไรเราก็ “แหม..น่าจะอย่างนี้” เห็นอย่างนี้ก็ “แหม..มันน่าจะอย่างนั้น” ด้วยความปรารถนาดีนะ ประมาณว่า.. “เราเนี่ยฉลาดมากเลย ความเห็นของเราเนี่ยดีมากนะ มันจะมีประโยชน์ต่อเขามากเลยนะ ที่เราเสนอไปเนี่ย ถ้าเขาทำตามนะมันจะเป็นประโยชน์มากเลย”
เสนอไปแล้วถ้าเขาไม่ทำตามก็โกรธ! แค่เสนอไปแล้วเขาไม่ตั้งใจฟังก็โกรธแล้ว เคยเป็นมั้ย? นี่ก็เป็นทุกข์อีกแบบหนึ่ง

ทั้งๆ ที่ก็รู้เหมือนกันนะว่า เรานี่เป็นทิฏฐิจริต..ต้องเจริญสติดูจิต แต่ก็มีไอ้พวกนี้เป็นอุปสรรคขัดขวางไปเรื่อยๆ อุปสรรคขัดขวางเนี่ยนะใครทำ?.. เราทำเอง! สร้างขึ้นมาเอง! จิตเนี่ยสร้างความเคยชินอย่างนี้ขึ้นมา

ทำไมเราจึงเป็นทิฏฐิจริต?
ก็มันคิดมานานแล้ว ช่างคิดมานานแล้ว สั่งสมมาเอง จิตเนี่ยสั่งสมมาเอง เราเลือกจริตไม่ได้..จิตมันทำมา จิตมันเลือกเองมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มันสั่งสมนิสัยสันดานมามันจึงกลายเป็นคนช่างคิด มีความเห็นและยึดในความเห็นตัวเอง

การมีความเห็นอย่างเดียวไม่ค่อยมีปัญหาอะไรเท่าไหร่ แต่ตัวปัญหาใหญ่คือการยึดในความเห็น
เคยเป็นมั้ย? เถียงกันในห้องประชุมน่ะมีมั้ย? ยึดในความเห็นของตัวเอง..ตรงนี้คือปัญหา เราก็รู้ไปเลยว่า..นี่เรายึดในความเห็นอีกแล้ว

มันจะค่อยๆ ฉลาดขึ้นนะ ค่อยๆ เห็นเบื้องหลังความเลวร้ายของตัวเองมากขึ้น
มันแปลกตรงที่ว่า ถ้าเห็นเบื้องหลังความเลวร้ายของตัวเองทีไร..มันสบายทุกทีเลย! มันโล่งนะ
แต่ถ้าเห็นความร้ายกาจของคนอื่นนะ “ฮึ่ม.. !” มันเหมือนกับว่า “กูจะไปปราบมัน!”
แต่เห็นความเลวร้ายของตัวเองเนี่ยนะ เห็นทีไรมันจะโล่งขึ้น
ฉะนั้น งานของเราไม่ใช่ว่าจะไปปราบมารให้ราบคาบ
นั่นมันมารข้างนอก ให้มาปราบมารในใจของตัวเองนะ
พอได้มั้ย? แนวทุกข์แบบนิมฺมโล …

??

เรียบเรียงจากการตอบคำถาม
โดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล
ณ บ้านจิตสบาย
วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๙

แผ่น CD บ้านจิตสบาย ๑๐
ไฟล์ ธรรมะรับกาลเวลา 591225
Track 04.ประสบการณ์ทุกข์แบบนิมฺมโล
https://wp.me/p5bBOI-25M


อ่านบน Facebook