#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๔๓ ?? #ถาม : มงคล 38 ประการ ห้ามคบคนพาล คนพาลในที่นี้คือใคร #ตอบ : คนพาล คือ…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๔๓
??
#ถาม : มงคล 38 ประการ ห้ามคบคนพาล คนพาลในที่นี้คือใคร

#ตอบ : คนพาล คือ ผู้ที่มักทำอกุศลกรรม มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นผู้ที่สักแต่ว่าหายใจไปวันๆ เพราะไม่รู้ประโยชน์ของชาตินี้และชาติหน้า

คนที่ไม่ทำประโยชน์ของชาตินี้ ได้แก่
1. เป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ไม่ทำงาน ไม่หาวิชาความรู้ที่จะนำมาหาเลี้ยงชีพ (ไม่หาทรัพย์ใหม่)
2. ไม่รักษาทรัพย์ของตนด้วยปัญญา (ไม่รักษาทรัพย์เก่า)
3. เป็นอยู่ด้วยความประมาท ฟุ่มเฟือย (ไม่ทำบุญ)
4. เป็นคนพาลสันดานบาป (ทำบาป)

คนที่ไม่ทำประโยชน์สำหรับชาติหน้า ได้แก่
1. ไม่มีศรัทธาในพระรัตนตรัย (สัทธา)
2. ไม่มีศีล (สีล)
3. ไม่ฟังธรรม (สุตะ)
4. ไม่บริจาคทาน (จาคะ)

เมื่อไม่รู้ประโยชน์ของชาตินี้และชาติหน้า ก็จึงไม่ประกอบกุศลกรรม ไม่อบรมปัญญา รวมทั้งเป็นผู้ที่เห็นผิด คิดผิด พูดผิด เลี้ยงชีพผิด เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องแสดงความเป็นคนพาล

ส่วน บัณฑิต ย่อมเป็นผู้มักกระทำกุศลกรรม มีชีวิตที่เป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่น และทำประโยชน์สำหรับชาตินี้และชาติหน้า เป็นผู้มีความเห็นถูก คิดถูก พูดถูก มีอาชีพที่ถูก เป็นต้น

ในธรรมบท เรื่องโจรผู้ทำลายปม (คือ ชอบขโมยทรัพย์ที่ผู้อื่นขอดรัดเป็นห่อไว้ตามชายผ้า เป็นต้น) ได้กล่าวถึงโจร ๒ คน มุ่งที่จะไปขโมยทรัพย์ของคนที่มานั่งฟังธรรมที่พระวิหารเชตวัน

โจรคนหนึ่งมุ่งแต่จะหาทางขโมย แอบแก้ห่อลักเอาทรัพย์ของผู้อื่น โจรอีกคนหนึ่งแม้เดิมคิดจะมาขโมยแต่ด้วยความที่เคยสะสมบุญมาดี จึงเห็นว่า ในเมื่อพระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงพระธรรมก็ควรที่จะได้ฟังพระธรรมเสียก่อน จึงตั้งใจฟังพระธรรมด้วยความเคารพ

ผลก็คือ ทำให้โจรคนที่ตั้งใจฟังพระธรรมได้บรรลุธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน แต่โจรคนที่มุ่งแต่จะลักทรัพย์ของผู้อื่น ก็กระทำบาปด้วยการลักขโมยโดยไม่สนใจว่าพระพุทธเจ้าตรัสอะไร
เมื่อการแสดงธรรมจบลง โจรที่มุ่งแต่ขโมยก็ดีใจในทรัพย์สินที่ลักมา พร้อมกับดูหมิ่นเย้ยหยันเพื่อนที่บรรลุเป็นพระโสดาบันว่าไม่สามารถหาทรัพย์ได้ มาเสียเวลาเปล่า

สหายผู้บรรลุเป็นพระโสดาบัน คิดว่าโจรคนนี้สำคัญว่าตนเองเป็นบัณฑิต ทั้งๆ เป็นคนพาลแท้ๆ จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลความเป็นไปทั้งหมด เป็นเหตุให้พระองค์ตรัสพระคาถาว่า
“คนพาลที่รู้ตัวว่าเป็นคนพาล
ยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง
แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต
นั่นแหละ เรียกว่า คนพาลแท้”

เมื่อบุคคลเสพคุ้นกับคนพาล-แม้ด้วยใจ คือยินดีพอใจในอกุศล ขณะนั้นชื่อว่ายินดีพอใจในความเป็นพาล และเสพคุ้นกับคนพาลแล้ว เพราะใจตนเองนั่นแหละเป็นพาล
เมื่อใจเป็นอกุศล ก็ทำให้ในขณะนั้นอกุศลเจริญขึ้น ความเห็นผิดและอกุศลประการต่างๆ ก็หยั่งรากลึกขึ้น เพราะการเสพคุ้นกับความเป็นคนพาล

ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อยังเป็นปุถุชน..จิตใจก็มักไหลไปสู่ที่ต่ำ เมื่อเสพคุ้นคุ้นกับคนพาลผู้มากไปด้วยอกุศล คนพาลก็ย่อมแนะนำแต่สิ่งที่ไม่ดีไม่ประเสริฐ ก็ทำให้จิตใจของผู้ที่อยู่ใกล้ก็คล้อยไปตามสิ่งเหล่านั้นได้ง่าย เพราะใจของคนที่ฝึกมาไม่ดีก็น้อมไปในทางอกุศลทางกิเลสได้ง่ายอยู่แล้ว

ต้นมะม่วง ที่ปลูกโดยมีต้นสะเดาล้อมรอบใกล้ชิด นานวันเข้า ผลมะม่วงก็ยังขมได้

ข้อสำคัญที่อยากจะเตือนก็คือ เรามักคิดว่าคนพาลเป็นคนอื่น และคิดที่จะปฏิบัติกับคนพาลภายนอกที่เป็นคนอื่น
แต่ในความเป็นจริง ความเป็นคนพาล..ก็คือสภาพธรรมที่เป็นอกุศล ดังนั้น ควรปฏิบัติกับความเป็นคนพาล คือใจของเรานี่แหละ ใจที่เป็นพาลอยู่บ่อยๆ ทุกๆขณะที่เป็นอกุศลกำลังเกิดขึ้น

มาฝึกพัฒนาจิตใจด้วยข้อปฏิบัติที่ละความเป็นคนพาล โดยมีสติรู้ทันความเป็นอกุศล เมื่อเห็นความพาลในใจบ่อยๆ จิตจะเรียนรู้ได้ว่าลักษณะของสภาวะพาลนั้นเป็นอย่างไร เมื่อพาลแล้วมีผลอย่างไร และอะไรเป็นเหตุให้พาล
ผลที่ได้จากการฝึกรู้ทันความพาล คือการเจริญขึ้นของกุศลธรรม
เมื่อเห็นว่าใจพาลไปมีกิเลส กุศลก็เกิด เพราะขณะนั้นมีสติ
เมื่อเห็นว่าใจพาลในลักษณะไม่ยอมนิ่ง เคลื่อนไหวอยู่เรื่อย แต่ทันทีที่เห็นมันกลับตั้งมั่นชั่วขณะ ได้สมาธิ
เมื่อมีกำลังของสติและสมาธิ ปัญญาก็เกิด เห็นว่าความพาลก็เกิดดับ

ศีล-ค่อยๆ ข่มความเป็นพาลในจิตใจที่เป็นส่วนหยาบ
สมาธิ-ก็ค่อยๆ ข่มความพาลของใจในส่วนที่ละเอียดขึ้นมา
ปัญญา-จะเป็นความเข้าใจโลกตามความเป็นจริง ถ้าบรรลุมรรคผลก็ละความพาลได้เด็ดขาดตามชั้นตามภูมิ
ความพาลสำคัญที่จะดับไปด้วยมรรค คือความเห็นผิด คิดว่ากายใจนี้เป็นเรา

การดับความเห็นผิดที่เป็นพาล สำคัญยิ่งกว่าไปดับความพาลของบุคคลอื่น ด้วยเหตุว่า ที่สัตว์ทั้งหลายทุกข์เจียนตายในอบายนั้น ก็เป็นผลจากความพาลในอดีตของตนทั้งสิ้น ความพาลของผู้อื่นไม่สามารถเป็นเหตุให้เราไปอบายได้เลย
ในทางตรงข้าม แม้สัตว์ทั้งโลกนี้ต่างมุ่งดี ทำแต่บุญกุศล มีเราผู้เดียวที่เป็นพาล กุศลของสัตว์ทั้งโลกนี้ก็ไม่อาจป้องกันเราจากอบายได้
คนพาลยอมได้รับผลความเป็นคนพาลนั้นเอง นอกเสียจากว่าคนพาลนั้นเริ่มรู้สึกตัวว่าตนเป็นคนพาลจริงๆ ก็ยังมีโอกาสพัฒนาให้พ้นจากความเป็นคนพาลนั้นได้

๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑


อ่านบน Facebook