All posts by admin

วันจันทร์ที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด(๑๑) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #นี่ไม่ใช่บ้านที่แท้จริง ในส่วนที่ละเอียดที่สุดของการภาวนา ที่จะมีบ้านของนักภาวนา ก็คือ “จิตผู้รู้” อันนี้เป็นบ้านละเอียดที่สุด แต่.. ก็ไม่เที่ยง! ก็ยังมี.. “แต่” ซ้อน “แต่” ก็คือว่า.. ควรสร้างบ้านอันนี้ ให้เกิดขึ้นมาด้วย! “จิตผู้รู้” ไม่ได้มีในคนทั่วๆไป บ้านระดับพรีเมี่ยมเนี่ย อันนี้นะ ไม่ได้มีในคนทั่วๆ ไป ต้องสร้างขึ้นมา แต่อาศัยชั่วคราว ถ้ายังยึดตัวจิตผู้รู้อยู่ ก็ไปไม่รอด ไปไม่พ้น จิตผู้รู้เนี่ย สร้างมาแสนยาก คือ ฝึกมา กว่าจะได้จิตผู้รู้นั้นแสนยาก แต่ถ้ายึดจิตผู้รู้ต่อไป ก็ยังไปไหนไม่ได้ แม้จะได้บรรลุมรรคผลไปแล้วเป็นลำดับๆ แต่ถ้ายังยึดจิตผู้รู้อยู่ ยังไม่ถึงขั้นสุดท้าย คือเป็นพระอรหันต์ บ้านที่แท้จริง ครูบาอาจารย์เคยบอกไว้ว่า.. คือ พระนิพพาน “จิตผู้รู้” ยังเป็นบ้านแบบชั่วคราว! ถ้านับว่า.. ยังไม่ใช่บ้านที่แท้จริง แล้วมันเป็นบ้านของอะไร? จิตผู้รู้แม้จะดูดีเลิศ แล้วควรจะฝึก ควรจะทำให้มันเกิดขึ้น แต่อย่าไปยึด! ถ้าไปยึดปุ๊บ! มันจะเป็นบ้านของ”อวิชชา” …. แต่พวกเราต้องฝึกให้ได้ “จิตผู้รู้” ขึ้นมาก่อน! ไม่ใช่คิดว่า “จิตผู้รู้ เป็นบ้านของอวิชชา เพราะฉะนั้น ทิ้งบ้านไปก่อน ทิ้งผู้รู้ไปก่อน” นะ !! เรายังไม่มี(จิตผู้รู้)เลย! อย่าเพิ่งทิ้ง! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก รายการ “คลิกใจให้ธรรม” ตอน “นี่ไม่ใช่บ้านที่แท้จริง” รับชมและฟังคลิปรายการที่ลิงค์ https://youtu.be/mmSJ7jxQBQ0 (นาทีที่ 25:01-27.27)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #จิตสุดท้ายก่อนตาย #อาสันนกรรม #ถาม : “จิตสุดท้ายก่อนตาย” สำคัญที่สุดที่จะไปเกิดที่ไหน แล้วผลของกรรมที่กระทำตอนมีชีวิตอยู่จะไปให้ผลตอนไหน? #ตอบ : คือกรรมที่ว่า “จิตสุดท้าย” เนี่ย เรียกว่า “อาสันนกรรม” “อาสันนกรรม” เป็นกรรมข้อที่ ๓ ในกลุ่ม..ในชุดที่จำแนกตามความรุนแรง หรือความแรง (๑) ข้อแรกในกลุ่มนี้ เรียกว่า “ครุกรรม” กรรมหนัก ก็จะมีทั้งในแง่ดี และแง่ร้าย ก็คือ ในแง่ดีก็เป็น “สมาบัติ ๘” ในแง่ร้ายก็เป็น “อนันตริยกรรม” อันนี้คือแรงสุด.. ให้ผลก่อน ลำดับถัดมาก็คือ (๒) “อาจิณณกรรม” คือ กรรมที่ทำจนชิน เรียกว่า.. ถ้าไม่มีครุกรรม กรรมอันนี้จึงจะให้ผลก่อน กรรมที่ทำจนชิน ก็มีทั้งในแง่ดี-แง่ร้าย ถ้าไม่มีอะไรชิน.. ก็คือว่าชีวิตไม่มีดีเด่น ไม่มีเลวเด่น ชีวิตเรื่อยๆ เปื่อยๆ ก็มาตัดสินเอาตอนใกล้ตาย (๓) กรรมตอนใกล้ตาย เรียก “อาสันนกรรม” เรียกได้ว่า.. เมื่อไม่มีสองข้อแรกเนี่ย “อาสันนกรรม” ก็จะให้ผลก่อน หมายความว่า ถ้ามี “ครุกรรม” คือทำอะไรที่ร้ายแรงเอาไว้ ..เป็น “อนันตริยกรรม” เอาไว้นะ ก็ไม่ต้องมารอดูจิตตอนใกล้ตาย เพราะตัว “ครุกรรม” เนี่ยจะเป็นตัวตัดสินไปแล้ว คือตัดสินว่าให้ผลก่อนไปแล้ว หรือว่ามี “อาจิณณกรรม” ทำบาปมาตลอดชีวิต จะมาบอกทางสวรรค์ตอนใกล้ตาย..ไม่ไป! เพราะจิตไม่ชินที่จะคิดเรื่องดี ๆ ถึงเราจะพยายามบอก “สัมมาอะระหัง” นะ หรือว่า “ไปไหว้พระเกศแก้วจุฬามณีนะ” เขาก็จะถามกลับมาว่า “มันเป็นยังไง?!? คืออะไร? ไม่รู้จัก!!” เข้าใจไหม? มันช่วยไม่ได้! เพราะมันเคยชินที่จะคิดไม่ดีไปแล้ว บางทีมาโกรธเราด้วยนะ! “บอกอะไร? ฟุ้งซ่าน..! เพ้อเจ้อ!” อะไรอย่างนี้.. จิตสุดท้ายเนี่ย มันจะใช้ตอนที่ว่าไม่มีสองข้อแรก เรียกว่า “อาสันนกรรม” เนี่ย จะใช้ตอนไม่มีสองข้อแรก เป็นกรรมใกล้ตาย ซึ่งก็มีพุทธพจน์ที่เราเคยได้ยิน คุ้นๆ ก็คือ “ถ้าจิตเศร้าหมองแล้ว ก็เป็นอันหวังได้ว่า จะไปทุคติ ถ้าจิตไม่เศร้าหมอง ก็เป็นอันหวังว่าจะไปสุคติ” ก็คือจะมาใช้ในกรณีนี้ นี่คือเป็น “อาสันนกรรม” ทีนี้ ถ้าสมมติว่า.. เขาทำจิตตอนใกล้ตายได้ดี ไปเกิดในสุคติ แต่อกุศลกรรมที่ทำเอาไว้ ก็ยังให้ผลอยู่ เช่น มาเป็นคนแล้วสุขภาพไม่ดี อันนี้เป็นวิบากจากกรรมที่ทำในแง่ “ปาณาติบาต” หรือว่า ต้องมาผิดหวังในเรื่องของความรัก ก็เพราะว่า.. เป็นวิบากของการผิดศีลข้อ ๓ หรือว่าเกิดมายากจน หากินเท่าไหร่ มีเงินมาเป็นครั้งคราว ถูกเค้าโกงไป ถูกเค้าขโมยไป เนี่ยนะ เป็นวิบากจากข้อ “อทินนาทาน” เป็นคนมาแล้ว แต่ก็ภาวนาทีไรเนี่ยนะ ไม่รู้สึกตัวเลย เหม่อ.. หรือไม่ก็หลับไปเลย หรือว่ามานั่งแล้วก็มึนๆ ฟังอะไรไม่รู้เรื่อง แต่พอหลวงพ่อแสดงธรรมเสร็จ หรือว่าครูบาอาจารย์แสดงธรรมเสร็จ.. ตื่น!! อันนี้น่ามาจากวิบาก จากที่ไปเสพสิ่งมึนเมาในอดีตมา เรียกว่า ไม่ใช่ว่ามาเกิดในสุคติแล้ว วิบากที่ไม่ดีจะไม่ตามมาให้ผล …ไม่ใช่อย่างนั้น วิบากที่ไม่ดีก็ยังให้ผลอยู่ ก็เป็นเหตุให้ต้องระวังนั่นเอง! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/HBcRYGDYZlg?t=5669 (นาทีที่ 1:34:29 – 1:39:29)

อ่านต่อ

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ(๑๐) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #วิปัสสนาเป็นบุญใหญ่ “วิปัสสนา” ทำให้เห็นความจริงของชีวิตนี้ ว่า.. มันเป็นไปแบบนี้ และ ยอมรับ ชีวิตก็ยังมีอยู่.. แต่ใจไม่ทุกข์! ไม่มีตัณหาอะไรไปขัดแย้งกับกระแสแห่งความเป็นจริง “วิปัสสนา” จึงเป็น “บุญใหญ่” เพราะทำให้.. ทุกข์น้อยลง.. น้อยลง.. น้อยลง! ยิ่งเห็นความจริง.. มากเท่าไหร่? ยอมรับความจริง.. ได้มากเท่าไหร่? ทุกข์ก็ยิ่งน้อยลง.. น้อยลง.. น้อยลง “พระโสดาบัน” เห็นแล้วว่า.. กายนี้.. ไม่ใช่เรา! ใจนี้.. ไม่ใช่เรา! ทุกข์น้อยลงมากเลย ไม่ใช่ว่า.. ๑ ใน ๔ นะ ไม่ใช่บัญญัติไตรยางค์ พระพุทธเจ้าเปรียบเอาไว้ว่า.. เหมือนแผ่นดินทั้งแผ่นดิน แล้วพระองค์ก็ใช้เล็บสะกิดฝุ่นดินขึ้นมาหน่อยหนึ่ง แล้วพระองค์ก็เปรียบเทียบ ถามพระว่า.. “ดินทั้งแผ่นดิน” กับ “ดินในเล็บนี้” อันไหนมากกว่ากัน? พระภิกษุทั้งหลายก็ตอบว่า.. “ดินในเล็บนั้นเทียบไม่ได้เลยกับดินบนแผ่นดิน ดินบนแผ่นดินมีมากมายเหลือเกิน เทียบกันไม่ได้เลย” พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า.. “นั่นแหละ! ทุกข์ของพระโสดาบัน มีอยู่ก็จริง แต่เท่าขี้เล็บ..เท่าดินในเล็บนี้” ให้เล็บยาวแค่ไหน ก็เทียบกันไม่ได้เลย แค่นี้เท่านั้นเอง! “ส่วนทุกข์ของปุถุชน นั่นคือเท่าแผ่นดิน” เพราะว่า.. ปุถุชน ยังเกิด-ตาย อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และเกิดทุกครั้งก็จะมี”ทุกข์” อยู่ทุกครั้ง แล้วไม่ใช่ทุกข์ครั้งเดียวนะ มีทุกข์อยู่เสมอ!! ทุกข์! จากการ..แสวงหาอาหาร ทุกข์! จากการ.. ที่ต้องมีปวดถ่ายหนัก ถ่ายเบา ต้องชำระล้างร่างกาย ทุกข์! ที่ต้องกิน ต้องถ่าย ทุกข์! ที่ต้องมีโรคเบียดเบียน ทุกข์! ที่ปรารถนาสิ่งใด..ไม่ได้สิ่งนั้น มีทุกข์รบกวนอยู่เสมอ! แทบตลอดชีวิตเลย ทุกข์เหล่านี้ยังเบียดเบียนอยู่ และยังไม่มีสิ้นสุดเลย แต่”พระโสดาบัน” แม้ยังมีทุกข์อยู่ แต่อีกไม่เกินเจ็ดชาติ ไม่มีชาติที่แปด! เพราะฉะนั้น ถ้าเทียบแล้ว.. “แม้จะมีทุกข์อยู่.. ก็เพียงแค่เศษดิน” เศษดินในเล็บนี้เท่านั้นเอง! ดังนั้น “การเจริญวิปัสสนา” จนกระทั่งบรรลุมรรคผล จึงเป็น “บุญใหญ่”! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ “ธรรมะสว่างใจ” ออกอากาศ วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๕ ลิงค์คลิปวีดีโอ https://youtu.be/4nFdbFbyZBY (นาที 01:28:33 – 01:31:07)

อ่านต่อ

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนสิบ(๑๐) ปีขาล #พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ศรัทธาพาแล่นไปหาปัญญา “เปรียบน้ำที่ขุ่น มีสิ่งที่เจือปนในน้ำ” เอาสารส้มไปแกว่ง ตะกอนที่เคยขุ่นมัวก็ตกลงไปนอนก้น ตัว”ศรัทธา” ก็คือ สารส้ม มาทำหน้าที่ให้ความขุ่นมัวนั้น.. ตกตะกอน จิตก็เลยใส! ลักษณะของจิตที่มีศรัทธาประกอบอยู่เนี่ย.. จะผ่องใส ถ้าไม่มีศรัทธานะ.. ก็จะขุ่นมัว อีกแง่หนึ่งของการบรรยายคำว่า “ศรัทธา” คือ..แล่นไป “แล่นไป” หมายความว่า.. “ศรัทธาเหมือนมีจุดหมาย” จุดหมายในนั้น คือ “เราศรัทธาอะไร สิ่งนั้น..นั่นเป็นจุดหมาย” ..แล่นไปหาจุดหมาย เมื่อศรัทธาในบุคคล บุคคลนั้นเหมือนเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ศรัทธาในพระธรรม พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ผู้ตรัสรู้เอง พระธรรม ก็คือความบริสุทธิ์ พระสงฆ์ก็คือ ผู้ที่ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วบริสุทธิ์ คือปฏิบัติตาม.. แล้วบริสุทธิ์ ศรัทธาในข้อใดข้อหนึ่งในสามข้อนี่ก็ได้ หรือทั้งสามข้อเลยก็ได้ แล้วก็มีเป้าหมายว่า.. “จะไป!” ก็คล้ายๆ กับมีจุดหมายที่จะ “แล่นไป!” แล้วมันมีความเชื่อมั่นในตนเองด้วย ไม่ได้เชื่อแค่พระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ นะ มันยังเชื่อในศักยภาพของตัวเองว่า.. “เราก็ฝึกได้” อันนี้นี่สำคัญมากนะ ไม่ใช่เพียงศรัทธาแบบฝากใจของเราไปแอบอิงสิ่งอื่นบุคคลอื่น หรือว่า “ช่วยฉันที..” “ครูบาอาจารย์ช่วยผมที” “หลวงปู่ช่วยผมที” ..ไม่ใช่แค่นั้น ตอนนี้เรายังพึ่งตัวเองไม่ได้ ก็ไปฟังธรรมจากท่าน.. แล้วมาฝึก ฝึกจนเราเข้มแข็งพอ แล้วก็.. เดินทางไป แล้วก็.. ไปอย่างมีจุดหมาย ตัวศรัทธาก็พาแล่นไป ให้ตรงเป้าหมาย! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากธรรมบรรยาย จากรายการคลิกใจให้ธรรมเข้าใจเรื่องศรัทธาพาพ้นทุกข์ (T.295) ๔ กันยายน ๒๕๖๕ ลิงค์วีดีโอ https://www.youtube.com/watch?v=fFm1CY888HQ&t=3349s (ระหว่าง นาทีที่ 7:52-10:25)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #เดินจงกรม #เดินรู้สึกตัว #ถาม: “เดินจงกรมไม่เป็น” กำลังเริ่มฝึกเดินจงกรม เรายังใช้ลมหายใจ เป็นวิหารธรรมหรือไม่? หรือควรดูแค่กายเคลื่อนไหวเท่านั้น? #ตอบ : “จงกรม” แปลว่า “เดินไป-เดินมา” ภาษาบาลี ใช้คำว่า “จงฺกม” (อ่านว่า จัง-กะ-มะ) การเดินไป-เดินมา เดินด้วยความรู้สึกตัว ก็รู้ว่า.. ร่างกายนี้กำลังมีอิริยาบถ “เดิน” มีความเคลื่อนไหวในอิริยาบถ “เดิน” การที่จะดู“ลมหายใจ”ในตอนเดินเนี่ย แรกๆ มักจะไม่ค่อยมาดูลมหายใจกันหรอก เพราะว่า.. มันไม่เด่น! ความเด่น มันอยู่ที่.. การเคลื่อนไหวในท่าเดิน ที่เหมาะเลย ก็คือ เวลาเดิน.. ก็รู้ว่า ร่างกายนี้กำลังเดิน เห็นกายเคลื่อนไหวในท่าเดิน มันจะมารู้”ลมหายใจ” ประกอบเข้าไปด้วย ก็ตอนที่เดินทางไกล.. เดินทางไกลแล้ว เริ่มหายใจแรง.. บางที อาตมาใช้ตอนที่เดินทางไกล เดินป่าเนี่ยนะ เดินขึ้นเขาเนี่ย ก็จะใช้ทั้งความเคลื่อนไหวและลมหายใจประกอบกัน ซ้าย-หายใจเข้า, ขวา-หายใจออก มันจะมีอาการ ต้องการอากาศมาก การหายใจก็ชัดขึ้นมา ประมาณนี้ แต่ถ้าเดินธรรมดา ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน หรืออยู่ที่วัด ความเด่นมันอยู่ที่ “การเคลื่อนไหว” มันไม่ได้เด่นที่ “ลมหายใจ” เพราะฉะนั้น.. ถ้าเราจะมาดูลมหายใจ ตอนร่างกายกำลังเคลื่อนไหวในท่าเดินเนี่ย มันจะรู้สึก”ฝืน” ถ้าเอาที่มันเด่น ก็จะไม่ฝืน การเคลื่อนไหวของร่างกาย คือ มันมีความเคลื่อนไหวแบบนี้ ( พระอาจารย์ ใช้ท่าทางประกอบ ใช้นิ้วเดิน) รู้ไป! เห็นกายเดิน เอาง่ายๆ “เห็นกายเดิน” ระหว่างเห็นกายเดินเนี่ย บางทีมันไปสนใจว่า.. ไปเหยียบแล้ว! เจออะไร? หรือว่า เห็นเฉพาะที่ฝ่าเท้า ให้รู้ว่า.. จิตไหลไปแล้ว จิตเคลื่อนแล้ว แล้วก็มารู้กาย โดยภาพรวมต่อ บางทีก็.. เผลอไปเลย! เผลอไป.. ชมนก ชมไม้ ก็รู้ทันว่า เผลอ! ก็เห็นกายที่เดินต่อ ประมาณอย่างนี้ เผลอแล้วรู้! .. เผลอแล้วรู้! มันมี “เผลอ”สองแบบ ๑. เผลอออกไปข้างนอก ออกจากกายนี้ ไปเลย กับ ๒. เหมือนอยู่ในกายเนี่ย เช่นว่า.. ไปจดจ่ออยู่ที่ฝ่าเท้า อย่างนี้ก็คือ “จิตเคลื่อนแล้ว” จิตไปจดจ่อ จิตเคลื่อนแล้ว จิตเพ่งแล้ว มันมี “เผลอเพลิน” กับ “เผลอเพ่ง” ก็รู้ทันทั้งหมด แล้วก็.. พอรู้แล้วเนี่ย! กลับมาสู่.. การรู้เห็นกายในท่าเดินต่อ “วิหารธรรม” ก็คือ เห็นกายเดิน ส่วนที่เราจะรู้ แล้วเกิดเป็น “วิปัสนา” ก็คือ เห็น “จิตเผลอ” สองแบบ “เผลอเพลิน” กับ “เผลอเพ่ง” พอเห็นแล้วมันจะแสดง “ไตรลักษณ์” ที่ว่า.. เมื่อกี้ “มีอยู่จริง” และ “ดับแล้ว” คือ แสดงความไม่เที่ยงให้ดู หรือ.. บางทีก็ “มันทำงานเอง มันเผลอไปเอง” นกร้องปุ๊ป! จิตมันไปเลย ไปฟังเลย ไก่ขันปุ๊ป! ไปฟังเลย มันไปเอง มันทำงานเอง จะเห็นว่า มันแสดง “อนัตตา” ให้ดู อย่างนี้ก็ได้! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการ “ธรรมะสว่างใจ” ออกอากาศวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๕ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/09RxyDVqD7A (นาทีที่ 01:2:11-01:27:36)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #อิทธิบาท ๔ กับการทำงาน #ถาม: กราบเรียนถามพระอาจารย์ว่า.. “การทำงาน หรือ ชีวิตประจำวัน ถ้านำเอาอิทธิบาท ๔ มาใช้ จะเป็นประโยชน์ไหมครับ?” #ตอบ: เป็นสิ! โอ้!..ทำไมจะไม่เป็นประโยชน์ “อิทธิบาท” เป็นธรรมที่ “ทำให้การงานสำเร็จ” เพราะฉะนั้น “การทำงาน หรือชีวิตประจำวัน ควรเจริญอิทธิบาท” ไม่ว่าเราทำอะไร อิทธิบาท มีอะไรบ้าง? มี :- ฉันทะ, วิริยะ, จิตตะ, วิมังสา “ฉันทะ” คือ ความพอใจ พอใจใฝ่ใจที่จะทำสิ่งนั้น อยากจะทำให้ดี “วิริยะ” คือ มีความเพียร พอมีความพอใจ มีความเพียรแล้ว ก็มีความหมั่น ขยันทำ ก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้น..ใช่ไหม? “จิตตะ” คือ จิตจดจ่อฝักใฝ่ไม่ฟุ้งซ่าน “วิมังสา” คือ ใช้ปัญญาตรวจสอบ ไตร่ตรอง อาจมีการทดลอง ไม่ใช่ว่าจะทำแล้วได้ผลตามที่ต้องการทุกครั้งไป อาจจะมีการทำแล้วพลาด พลาดก็รู้ว่า.. พลาด! แล้วจะได้ไม่ทำอย่างนั้นอีก คิดปรับปรุงแก้ไข สมมุติว่า.. เราจะประดิษฐ์อะไรสักอย่างหนึ่ง ส่วนผสมตรงนี้ไม่ได้ ไม่ได้ก็อย่าผสมอย่างนี้อีก! ก็ลองทำอย่างอื่นต่อ มันอาจจะผิดร้อยครั้ง.. ก็ไม่เป็นไร ก็จะได้รู้ว่า วิธีทำผิดทั้งร้อยครั้งนั้น เราจะไม่ทำอย่างนั้นอีก มันจะทำผิดพันครั้ง ก็ไม่เป็นไร ก็ได้เรียนรู้ว่า.. ทำอย่างนี้ไม่ได้..ทำอย่างนี้ไม่ได้นะ! นักวิทยาศาสตร์ เวลาเขาจะทำอะไร ประสบความสำเร็จสักอย่าง ก็ใช้ “วิธีวิมังสา” นี่แหละ ทดลองไปเรื่อยๆ ได้ความรู้ไปเรื่อยๆ ยังไม่สำเร็จ ก็ไม่เป็นไร ก็ลองไป.. ลองต่อไป พอสำเร็จขึ้นมา ถ้าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ ก็จะเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั่วไป ก็ควรทำ ควรเจริญอิทธิบาทนะ ควรมี “ฉันทะ” ที่จะทำงานนั้น ถ้าเริ่มด้วยฉันทะได้ คือ มีความพอใจ เห็นประโยชน์ของงานนั้น มันก็จะมีฉันทะที่จะทำ ถ้ายังไม่เห็นประโยชน์ จะใช้ “วิธี ท้าทาย” ก็ได้นะ ท้าทายก็คือ เริ่มจาก”วิริยะ”ก่อน วิริยะนี้เป็นความกล้าทางใจ อาจใช้วิธีท้าทายว่า.. “เคยทำไหม? กล้าไหมล่ะ?!” ประมาณนี้ กล้าทำสิ่งนี้ไหมล่ะ?! กล้าในสิ่งที่ดีนะ ลองทำ! น่าจะเป็นตัว..แบบคล้ายๆ เป็นลักษณะท้าทาย “ท้าทายตัวเอง” “จิตตะ” คือใจจดจ่อ บางทียังไม่ได้เริ่มด้วยฉันทะ ยังไม่ได้เริ่มด้วยวิริยะ แต่สถานการณ์บังคับ งานนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย! จำเป็นต้องทำ และต้องจดจ่อ พลาดไม่ได้ อย่างนี้นี่นะ มันก็กลายเป็น”จิตตะ” เหมือนประมาณเจ้าหน้าที่ ที่เขาต้องไปปลดชนวนระเบิดประมาณนี้ ถามว่า..ชอบไหม? ที่ต้องไปทำ.. คงไม่ชอบหรอก ถามว่า.. กล้าไหม? ก็กล้านะ! กลัวไหม? ก็คงกลัวเหมือนกัน แต่ว่าต้องทำ! แล้วระหว่างทำเนี่ย ก็ใจจดจ่อ ความรู้ที่มีมาทั้งหมด ก็จดจ่ออยู่ตรงนั้น สติก็อยู่ตรงนั้น ปัญญาก็อยู่ตรงนั้น กับงานนั้น แบบนี้เรียกว่า “จิตตะ” จะตัดเส้นสีดำ หรือเส้นสีขาว หรือจะตัดเส้นสีแดง ประมาณนี้ จิตจดจ่ออยู่กับงานนะ มันจะเริ่มด้วยตัวไหนก่อนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มที่ “ฉันทะ” “อิทธิบาท ๔” นำมาใช้ประโยชน์ได้แน่นอน! มีประโยชน์แน่นอน!! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ลิงค์วีดีโอ URL: https://youtu.be/K1KruWusYRM” (นาทีที่ 40:58 – 45:30)

อ่านต่อ

วันเสาร์ที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ(๑๐) ปีขาล #พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #วิหารธรรม..เครื่องอยู่ของจิต ตอนภาวนานี้นะ! ถ้าไม่มีเครื่องอยู่เลย หรือว่า.. ไม่ได้ใส่ใจในเครื่องอยู่ “ใจมันจะลอย” เหมือนจะได้”สติ” เหมือนจะมี”ตัวรู้” แต่ว่า.. มันก็ไม่รู้จริง! แล้วก็..ไม่เกิดสติ ในลักษณะที่จะพัฒนาต่อไป ดังนั้น เมื่อรู้สภาวะอะไรขึ้นมาแล้วเนี่ย ให้ “กลับมาที่เครื่องอยู่” คำว่า”กลับมา” เนี่ย! ไม่ใช่ “ดึง” กลับมานะ!! “กลับมา” หมายถึงว่า.. มาเริ่มต้นใหม่ คือคำว่า”กลับมา” บางทีก็พูดง่ายๆ นะ แต่บางคนอาจจะไปเข้าใจผิดว่า.. “กลับมา” นี่คือ “ดึง”! “กลับมา” หมายถึงว่า “มาเริ่มใหม่” ใครใช้”กาย”เป็นเครื่องอยู่ เมื่อรู้ว่าเผลอแล้ว ก็ให้กลับมาอยู่กับ”กาย” ใครใช้”ลมหายใจ” เมื่อรู้ว่าเผลอแล้ว ก็กลับมาเริ่มที่”ลมหายใจ” ใครมี”คำบริกรรม” เมื่อรู้ว่าเผลอแล้ว ก็กลับมาที่”บริกรรม” แต่ให้เข้าใจคำว่า”กลับมา” ในที่นี้ หมายถึงว่า “เริ่มใหม่” ถ้าไม่กลับมา มันจะไม่มีการนับคะแนนใหม่ จะเหมือนกับ เวลาเราเล่นเกมน่ะ ถ้าไม่กลับฐาน หรือไม่กลับมาเครื่องอยู่ ก็จะไม่มีการเก็บคะแนนครั้งใหม่ ไม่กลับมา”ฐาน” ก็เลยไม่มีการเห็นเผลอใหม่ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากสนทนาธรรมออนไลน์ จัดโดยบ้านสติ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ลิงค์วีดีโอ https://www.youtube.com/watch?v=B9LdRtcNQdQ (ระหว่าง นาทีที่ 1.07-2.43)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #โทสะซ้อนโทสะ #หนีไม่ใช่ว่าแพ้ #ถาม : เวลาโกรธ ก็จะรู้ตัวว่า ตอนนี้จิตมีโทสะ รู้สภาวะร่างกายว่าหัวใจเต้นแรง หน้าชา แต่โทสะไม่ยอมดับง่ายๆ หรือใช้เวลานาน กว่าจะระงับได้ ควรฝึกอย่างไรคะ? #ตอบ : คือ.. ต้องแยกให้ออก ระหว่าง”สภาวะที่เกิดกับกาย” กับสภาวะที่เป็นโทสะที่เป็นนามธรรม คือ “สภาวะทางจิต” เนี่ย สภาวะทางจิตเนี่ย คือ ความโกรธ ถ้ารู้ด้วยใจเป็นกลางนะ.. ดับเลย! ความโกรธดับเลย! แต่ไอ้ใจเต้นตึ้กๆ เนี่ยนะ มันเป็นรูปธรรม เป็นสภาวะทางกาย เป็นวิบาก ! มันไม่ใช่ว่าพอโกรธดับ! แล้วมันจะกลายเป็นปกติทันที ไม่!!.. หัวใจมันจะตึ้กๆ อยู่สักพักนึง มันเป็นวิบาก มันไม่เกิดดับเร็วเหมือนนามธรรม ต้องแยกให้ออก ฉะนั้น ไม่ใช่ว่ารู้ปุ๊บ! จิตที่เป็นโทสะดับไปแล้ว หัวใจต้องปกติทันที ไม่!!.. มันใช้เวลาหน่อยนะ กว่าจะปรับตัวให้เป็นปกติเนี่ย.. ช้า! แต่ถ้าโทสะไม่ดับด้วย อาจจะเป็นไปได้ว่า.. อยากให้มันดับ! ไม่ชอบโทสะนั้น มีโทสะซ้อนโทสะเข้าไปอีกที เช่น เห็นคนนี้แล้วโกรธ.. ดับไป! จิตดวงใหม่มาเห็นโทสะ แล้วไม่ชอบไอ้ความโกรธอันนี้ ไม่ชอบโทสะนี้ “เราไม่ควรมีโทสะนี้เลย” หรือ “โทสะนี้ไม่ควรเกิดเลย” เห็นโทสะ.. แต่ไม่ได้เห็นด้วยใจเป็นกลาง เห็นแล้ว.. มีโทสะกับโทสะอีกทีนึง เรียกว่า “มีโทสะซ้อนโทสะ” มันก็รู้สึกว่า.. ทำไมโทสะไม่ดับ? จริงๆ โทสะเดิมดับไปแล้ว แต่มีโทสะใหม่ คือ ไม่ชอบไอ้โทสะเมื่อกี้นี้ ไปลองสังเกตุดูนะ ส่วนร่างกายเนี่ยมันจะตึ้กๆ อยู่นานกว่าจิต ไม่ใช่ฝึกระงับโทสะ แต่ฝึกรู้ทันโทสะ รู้ด้วยใจเป็นกลาง อันนี้ในแง่ของวิปัสสนานะ แต่ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่บางทีเรารู้ทัน ประมาณว่า.. ถ้ารู้ทันได้มันดับไปได้.. ก็โอเค ผ่าน! แต่ถ้าตอนนั้นเจริญวิปัสสนาไม่ทัน คือ แค่รู้เนี่ย.. ไม่ไหว มันไม่ดับ โทสะยังค้างคาอยู่ แสดงว่าเมื่อกี้เนี่ยเจริญวิปัสสนาไม่สำเร็จ คือ ไม่ได้รู้ด้วยใจเป็นกลาง แล้วสถานการณ์มันคือ อันตราย! คือ เราอาจจะผิดศีลแล้ว ก็ควรจะเจริญสมถะ “สมถะ” คือ จิตไม่ดีทำให้มันดี (แก้ไข) ไม่เหมือนวิปัสสนานะ “วิปัสสนา” แค่รู้ (ไม่แก้) ถ้าแก้มันจะไม่ใช่วิปัสสนา แต่ถ้าสถานการณ์มันบีบบังคับแล้วว่า ถ้าตอนเนี่ยมันอันตรายแล้ว ถ้ายังมีโทสะอยู่เดี๋ยวจะไปผิดศีลแล้ว ก็แก้ไขได้ แต่ให้รู้ว่า.. ขณะนี้กำลังทำ”สมถกรรมฐาน” เช่นว่า ‘อย่าไปทำเค้าเลย จริงๆ เค้าก็มีข้อดีนะ’ หรือว่า ‘อย่าไปทำเค้าเลย ถ้าเราทำผิดศีลเรามีผลเสียเองนะ’ อะไรอย่างนี้นะ คิดอะไรก็ได้ คิดแล้วให้โทสะมันดับไป หรือว่า.. ระงับยับยั้ง ด้วยการเอาศีลมาข่มเอาไว้ ก็เป็นการตั้งใจป้องกันตัวเอง แก้ไขสถานการณ์ให้โทสะนั้นไม่มีอำนาจมา จนกระทั่งเราแสดงออกทางกาย-ทางวาจาผิดไป แล้วถ้าแย่ที่สุดเลย ก็คือว่า พยายามเต็มที่แล้วมันก็ไม่ไหวเนี่ยนะ ให้ออกจากสถานการณ์นั้น หลีกออกไปซะ! หลีกออกไปเนี่ย ไม่ใช่ว่า”แพ้” ถ้าอยู่แล้วทำผิดศีลเนี่ย..แพ้! ..แพ้กิเลส !! แต่ถ้าเราหลีกออกมาจากสถานการณ์นั้น คนอื่นอาจจะเห็นว่า เอ้ย! เราหนี หรือว่า เราแพ้! แต่เรารู้ตัวเองว่า.. “เราไม่แพ้หรอก” ก็คือ “เราไม่แพ้กิเลส” คือถ้าอยู่แล้วมันผิด อยู่แล้วต้องทำผิด อย่าไปอยู่เลยดีกว่า ก็ถอยออกมา ใครจะมองอย่างไรก็ช่างเขานะ เรารู้ตัวเองว่า “เรารักษาศีลได้” ก็พอแล้ว ไม่ถูกกิเลสครอบงำนะ! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/rGNtxlhiZ3c?t=2634 (นาทีที่ 43:54 – 48:51)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #คนเสียสละช่วยงานกับคนนั่งสมาธิ #ถาม: ได้ฟังหลวงพ่อ…ท่านสอนว่า.. “คนที่เสียสละช่วยงาน ก็ไม่ต้องน้อยใจว่า.. ไม่ได้นั่งสมาธิ เพราะผลก็ได้ เท่ากับคนที่นั่งสมาธิ..” โยมค้านในใจว่า.. น่าจะผลไม่เท่ากัน! เพราะส่วนตัวโยม การทำงานเสียสละนั้นมีผลน้อยกว่าการนั่งสมาธิ คำถามคือ ความคิดค้านในใจของโยมที่มีต่อหลวงพ่อ (ที่ลูกศิษย์ต่างบอกว่า เป็นพระอรหันต์แล้ว) ความค้านนั้น.. จะบาปหรือไม่? # ตอบ : ถ้าเพียงแค่ “ค้าน” คือไม่เห็นด้วย! ความรู้สึกไม่เห็นด้วย..แค่ไม่เห็นด้วยเนี่ย..ยังไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดโทสะ ..อันนี้ชักมีปัญหา !! ไม่ว่าท่านจะเป็นพระอรหันต์หรือเปล่านี่นะ มันขึ้นอยู่กับว่า.. เรามีกิเลสหรือเปล่าในการมีความคิดเห็นนั้นๆ? เช่นว่า ไม่เห็นด้วย! แต่ลองทำความเข้าใจท่านดูสิว่า.. ที่ท่านว่า “คนเสียสละช่วยงานไม่ต้องน้อยใจ” เจตนาในการพูดของท่านคืออะไร? แล้วก็ความหมายจริงๆ เป็นอย่างนั้นจริง หรือเป็นจริงได้ไหม? ถ้าเราจะลองทำความเข้าใจ มองภาพผ่านๆ ทั่วๆไปเนี่ย คนเสียสละไปช่วยงาน ไม่ได้นั่งสมาธิไปกับเขา.. สมมุติว่า.. ระหว่างที่เขานั่งสมาธิกันอยู่ เราเป็นผู้เสียสละมาช่วยในด้านอื่น ในด้านการงาน แล้วท่านว่า.. “เราผลได้เท่ากับคนนั่งสมาธิ” ทีนี้ถ้าจะทำความเข้าใจ ก็คือ ในความรู้สึกของเรา จะรู้สึกว่า..” ไม่เท่า” ใช่ไหม? คนทั่วไปก็ว่า.. น่าจะไม่เท่า! “คนนั่งสมาธิ”กับ”คนช่วยงาน” ไม่น่าจะได้เท่าใช่ไหม? ซึ่งก็เป็นไปได้สำหรับคนทั่วๆไป คนนั่งสมาธิกับคนช่วยงาน ผลน่าจะได้ไม่เท่ากัน แต่ถ้ามันจะได้ผลด้วย บางทีไม่เท่ากันในแง่ที่ว่า.. บางทีนะ ถ้าคนช่วยงานเขาทำการช่วยงานด้วยใจที่เป็นกุศล ไม่ได้คิดอยากได้อะไร เสียสละจริงๆ อยากให้คนที่นั่งสมาธินั้น ได้มีโอกาสภาวนา เขาเองขอเสียสละ ใช้แรงกายแรงใจ ไม่มีเวลาไปนั่งนิ่งๆ อย่างเขา ที่ว่าได้ไม่เท่ากันน่ะ! บางที่คนช่วยงานได้มากกว่า ถ้าหากคนที่นั่งนิ่ง ๆ นั่นน่ะ.. ยังไม่รู้หลัก! แต่คนที่ช่วยงานเนี่ย ใจเสียสละ อย่างน้อยเขา”ได้บุญ” เขาได้บุญในแง่ที่ว่า”เวยยาวัจจมัย” เป็นบุญในการขวนขวายช่วยเหลือ เอาแรงกาย แรงใจเข้าไปช่วยเหลือ นั่งนิ่งเนี่ย บางทีก็นั่งเครียดก็มีนะ เป็นไปได้ไหม? คือมันบอกไม่ได้ คือเหมารวมไม่ได้ เอาอย่างนี้ดีกว่า เหมารวมไม่ได้ว่า”คนที่นั่งสมาธินิ่งๆ” กันน่ะ กับ “คนที่ช่วยงาน” ใครจะได้บุญมากกว่ากัน? มันพูดเหมารวมไม่ได้ !! มันต้องไปดูเป็นกรณีๆไป คนช่วยงาน ถ้าเขาเดินไปเดินมาได้อย่างรู้สึกตัว ใจก็เสียสละอยู่แล้ว และแถมมีสติรู้สึกตัว ไม่หลับแน่ๆ คนช่วยงานไม่หลับแน่ๆ เนี่ยนะ ช่วยงานอยู่แถมมีสติรู้สึกตัว เกิดกิเลสขึ้นมา..ก็รู้ทัน! ถ้ามีสติรู้ด้วยใจที่เป็นกลาง มีความรู้สึกตัวอย่างดีนี่นะ ดีไม่ดี..ได้มากกว่าคนที่นั่ง ด้วยใจที่เสียสละนั่นแหละ บารมีก็ได้ กรรมฐานก็ได้ แต่ถ้า”คนที่จะเอา” คิดจะเอาบุญไม่ต้องการเสียสละ คิดจะเอา!! ฉันจะไปนั่งสมาธิ ใครให้ไปช่วยอะไร..ไม่เอา! ฉันจะนั่ง..อย่างนี้นะ มันเห็นแก่ตัวไหม? ถ้าคิดเห็นแก่ตัว ก็คงได้น้อยกว่าคนเสียสละใช่ไหม? ​ที่ท่านบอกว่า “อย่าไปน้อยใจ” คือถ้าคนที่ทำงานเหนื่อยก็เหนื่อย แล้วแถมยังน้อยใจด้วย อันนี้ก็.. เสียเปรียบ! เหนื่อยก็เหนื่อย แล้วก็แถมน้อยใจ.. ไอ้ตัวน้อยใจนั่นแหละ ที่ทำให้เสียเปรียบ !! แต่ถ้าไม่น้อยใจ.. ดีใจที่เราเสียสละ ให้โอกาสคนที่เขานานๆ มาทีหนึ่ง ให้เขาไปนั่ง เราอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ไว้ใจ ให้ช่วยงาน ดีใจที่ได้ช่วย ดีใจที่คนได้มาฝึก มาเรียนรู้กับครูบาอาจารย์ ช่วยบริการ ช่วยเสียสละ.. บุญก็ได้ ! บารมีก็ได้ !! สติก็มี !!! แล้วการบรรลุมรรคผลนั้น มันไม่จำเป็นว่า.. ต้องอยู่ในท่านั่ง มันอยู่ในอิริยาบถปกตินี้ก็ได้ อยู่ในชีวิตประจำวันนี้ก็ได้ และส่วนใหญ่เท่าที่ได้ยินมา.. จะอยู่ในชีวิตประจำวันนี่แหละ เกิดกระทบกันมีกิเลส รู้ทันกิเลส แต่ถ้านั่งแล้วเขาซึม, หลับ, เคลิ้ม หรือเครียดอย่างนี้นะ มันอาจจะได้ไม่เท่ากับคนเสียสละก็ได้ อันนี้ท่านก็ให้กำลังใจกับคนที่เสียสละว่า.. ก็ได้ผล อันนี้โยมอาจจะได้ยินมาว่า ท่านบอกว่า “ได้ผลเท่ากัน เท่ากับคนที่นั่ง สมาธิ” อันนี้อาจเท่ากันก็ได้ หรืออาจจะมากกว่าก็ได้ ! อาจจะน้อยกว่าก็ได้ ! มันแล้วแต่คน ถ้าคนที่นั่งสมาธิ.. ทุกคนคิดว่า.. ‘ฉันจะนั่งสมาธิ’! ไม่มีใครเสียสละมาทำงานส่วนรวม มันจะไปได้ไหม? จะมีงานนี้เกิดขึ้นได้ไหม? สมมุตินะ! สมมุติว่า.. งานนี้ อาตมามานั่งอยู่ตรงนี้ ทุกคนอยากฟังทั้งหมด ไม่มีคนเสียสละมาเป็นทีมงานเลย ทั้งที่สวนธรรมฯ และที่วัดสังฆทาน คิดว่าโยมจะได้เห็นภาพไหม? จะได้ยินไหม? รายการนี้จะเกิดขึ้นได้ไหม? นึกออกไหม? ถ้าไม่มีคนเสียสละแล้ว ไม่ใช่ว่าคนเสียสละนั้นจะไม่ได้ยินได้ฟังอะไรด้วย เขาก็ได้ฟัง และก็ได้ยินได้ฟังอยู่ทุกครั้งเลย ความเสียสละนั่นเองได้บารมี และการที่ฟังไปเรื่อยๆ บางทีครูบาอาจารย์พูดมา “มันสะกิดใจ!” บางทีเกิดความเข้าใจเลยว่า ‘อือ..ใช่! อย่างนี้นี่เอง’ ประมาณนี้ งานก็ทำ ธรรมะก็ได้ ​ดังนั้น “คนที่เสียสละ” ถ้าเสียสละเป็น เขาจะได้สองทาง เขาจะได้สองทางเลย.. 1. งานเสียสละคือได้อยู่แล้ว คือได้เสียสละ 2. ธรรมะก็ได้ ถ้ารู้หลักในการภาวนา ทำด้วยความรู้สึกตัว กิเลสอาจจะเกิดขึ้น ยิ่งทำงานกับคนมาก เนื้องานมีมากปัญหามาเยอะนี่นะ ยิ่งได้สร้างบารมีมาก และมีการกระทบกระทั่งกัน หรือมีกิเลสเกิดขึ้นมาในระหว่างทำงาน กิเลสเกิดขึ้น ก็เจริญสติ ปัญหามา มีปัญญาเข้าไปแก้ด้วยปัญญาก็ได้เจริญ แม้จะเป็นปัญญาทางโลกก็ยังดี บางทีก็ได้ปัญญาในทางวิปัสสนาด้วย คือเห็นว่ามันเกิด-มันดับ เห็นกิเลสในใจตัวเองน่ะเกิด-ดับ เกิด-ดับ ​ฉะนั้น ‘ความคิดค้านในใจ’ ถ้าเป็นความคิดค้านในใจเฉยๆ ในแง่ที่ว่า.. ‘อือ ไม่แน่นะ หลวงพ่อนะ บางทีคนที่เสียสละเนี่ย บางทีได้มากกว่านะ บางทีก็อาจจะได้น้อยกว่า หรือบางทีอาจได้เสมอกันก็ได้ มันไม่แน่’ แล้วเราก็คิดในแง่แบบนี้ ก็ไม่ได้เป็นอะไร เราก็ไม่ได้ไปปรามาสท่าน แล้วก็ไม่ได้ไปคิดน้อยใจ ว่าเราเสียสละแล้วท่านมาพูดอย่างนี้ เพื่อหลอกเราให้ทำงาน อะไรอย่างนี้นะ ถ้าคิดว่า.. ท่านหลอกเราให้ทำงาน ก็อาจเป็นอกุศล แต่ถ้าคิดค้านในแง่นี้ ‘ก็ไม่แน่นะ บางทีคนเสียสละอาจได้มากกว่า หรืออาจจะได้น้อยกว่า มันแล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัยของคนที่ทำงานนนั้น มีความเข้าใจในการภาวนาแค่ไหน’ การภาวนาไม่ใช่ว่าต้องมานั่งนิ่งๆ หรือว่ามาเดินจงกรมเสมอไป ไม่จำเป็น! แต่ถ้ามีเวลา.. มีโอกาสก็ทำในรูปแบบ แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มคนทำงาน ทำงานจริงๆเลย คือ ทำงานบริษัท หรือกับหน่วยงานต่างๆ เราจะมานั่งสมาธิในโต๊ะทำงาน ก็ผิดเวลาใช่ไหม? เราก็ทำงานไปเจริญสติไป ระหว่างที่คุยงานกับลูกค้า ลูกค้าพูดดี..เราดีใจ.. ดีใจ..รู้ทันว่าดีใจ ลูกค้างี่เง่า..เราไม่ชอบใจ..รู้ทันว่าไม่ชอบใจ อย่างนี้ได้บุญ ได้บุญในแง่ของการภาวนา เดินไปเข้าห้องน้ำ เห็นกายเดิน เห็นความทุกข์ในร่างกายบีบคั้น พอเข้าห้องน้ำรู้สึกเกิดสุขขึ้นมา ได้ระบายเอาของเสียออกไป อย่างนี้ได้เจริญสติ แล้ว ไม่ต้องทำในรูปแบบ เขาจ้างให้เราไปทำงาน ไม่ได้จ้างให้เราไปนั่งสมาธิ ไม่ได้จ้างให้เราไปเดินจงกรม อย่างนี้ แม้ไม่ได้ทำในรูปแบบ ถามว่า.. ได้ผลไหม?.. ได้ผล! แล้วไอ้คนที่นั่งอยู่ในที่ทำงาน แล้วไปนั่งสมาธิ.. ไอ้นั่น..กลับกลายเป็นว่าทำผิดเวลา นึกออกไหม? การนั่งนิ่งๆ ถ้านั่งผิดที่ผิดเวลา แทนที่จะได้บุญ กลับไม่ได้บุญ ฉะนั้นไอ้คนที่นั่งสมาธิ กับ คนที่ช่วยงาน มันไม่ได้แปลว่า.. คนที่นั่งสมาธิได้บุญมากกว่า หรือคนทำงานจะได้บุญน้อยกว่า หรือมากกว่า มันขึ้นอยู่กับว่า.. ทำเป็นหรือเปล่า?! ทำเป็นไหม?!! แต่คนเสียสละเนี่ย.. ได้อยู่แล้ว! ถ้าเขาคิดเสียสละ!! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ 650817 ออกอากาศวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ นาทีที่ 53.58-1.06.11 คลิกลิงค์วีดีโอ 650817_ธรรมะสว่างใจ.mp4 https://youtu.be/rGNtxlhiZ3c

อ่านต่อ

วันเสาร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนสิบ(๑๐) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ฝึกรู้ ไม่ได้ฝึกปัด ที่จริง เราไม่ได้ “ฝึกปัด” แต่ “ฝึกรู้” ฝึกรู้ คือ มีอะไรเกิดขึ้น.. ก็รู้.. รู้! รู้ก่อน!.. มันต้องรู้ว่า.. มีอะไรเกิดขึ้นในใจของเรา รู้ไปตรงๆ เลย เรียกว่า.. ยอมรับว่ามีอะไรเกิดขึ้น ถ้าแค่รู้นะ! มันดับแล้ว! แล้วตอนรู้เนี่ย จะเป็นตัววัดว่า เรา “รู้” จริงไหม? “แค่..รู้” หรือเปล่า? ถ้าตอนรู้.. มันไม่ใช่ “แค่.. รู้”เนี่ยนะ! มันจะเป็นการแก้ไข เช่น.. มีความโกรธขึ้นมา! ‘อืม..! โกรธนี่ ไม่ดีเลย.. อย่าไปโกรธเขาเลย.. เมตตาเขาดีกว่า’ อย่างนี้คือ.. การคิดแก้ไข แก้จิตที่มันไม่ดีเมื่อกี้นี้ ให้มันดีขึ้นมา อย่างนี้ เรียกว่า “ทำสมถะ” ถ้าทำสำเร็จ ก็รู้สึกว่า.. “อืม..! เราก็ใช้ได้เหมือนกัน” ประมาณนี้เนี่ยนะ แต่ถ้า “วิปัสสนา” ก็คือว่า รู้ว่ามีไอ้นี่เกิดขึ้น พอรู้ปุ๊ป! มันดับ แล้วทำสมถะต่อ ไม่มีธุระอะไรกับ “ไอ้สภาวะโกรธ” เมื่อกี้อีกแล้ว เพราะได้รู้แล้ว และมันดับแล้ว ไม่ได้จัดการอะไรกับมันแล้ว “แค่..รู้” แค่เนี่ย! คือ ต้องมีการรู้ เพื่อที่จะเห็นว่ามันแสดง “ไตรลักษณ์” นั่นเอง! พระอาจารย์กฤช นิมมโล เรียบเรียงจากสนทนาธรรมออนไลน์ จัดโดย บ้านสติ วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/pdg_bm3ojuk (นาที 01:14:12 – 01:16:46)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ก่อนตายจิตเศร้าหมอง #ถาม: ถ้าเราถือศีล ทำบุญสม่ำเสมอ (ตอนมีชีวิต) แต่โชคร้าย ก่อนตายจิตเศร้าหมอง ถูกฆ่า หรือ อุบัติเหตุ ไม่มีญาติทำบุญให้นี้ บุญที่เราทำมาจะช่วยให้เราพ้นจากอบายด้วยตนเองไหมค่ะ? #ตอบ : คำสำคัญอยู่ที่ว่า “ก่อนตายจิตเศร้าหมอง” มีพุทธพจน์อยู่ว่า.. “จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงดขา” จิตเศร้าหมองแล้วอบายคือ”ทุคติ” เป็นอันหวังได้ “จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา” ถ้าจิตไม่เศร้าหมอง “สุคติ”เป็นอันหวังได้ อันนี้โยมกำกับเงื่อนไขเอาไว้ว่า “ก่อนตายจิตเศร้าหมอง!” แล้วแถมมีคำว่า “โชคร้าย!!” ด้วย โชคร้าย.. ก่อนตายจิตเศร้าหมอง จะถูกฆ่าหรืออุบัติเหตุก็ตาม ก็คือไปอบาย ทีนี้บุญที่เราทำอย่างสม่ำเสมอ หรือ ถือศีลมาอย่างสม่ำเสมอ แต่เศร้าหมองตอนใกล้ตาย จิตก่อนตาย มันทำให้เป็นตัวตัดสินว่า จะไป”สุคติ”หรือไป”ทุคติ” “อาสันนกรรม” เป็นกรรมในตอนใกล้ตาย เป็นตัวที่ชี้ว่าจะไปอบาย หรือจะไปสุคติ จิตเศร้าหมองก็จะไปที่ที่เรียกว่า”ทุคติ” ทุคตินี่ก็มีตั้งแต่ เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย และสัตว์นรก ทีนี้มีเงื่อนไขอีกว่า.. “ไม่มีญาติทำบุญให้” แหม.. รู้สึกว่าปิดกั้นหมดเลยนะ!! ไม่มีญาติทำบุญให้ บุญของเราที่ทำมาจะช่วยให้เราพ้นจากอบายด้วยตนเองได้ไหม? ปกติแล้วเนี่ย.. ถ้าบุญที่เราทำสม่ำเสมอนั้น เป็นบุญเล็กๆ น้อยๆ ไม่เป็นตัวกระตุ้นอะไรมากเนี่ยนะ มันก็ไม่ถึงกับว่าจะช่วยให้พ้นอบายได้ไวนัก ไม่ถึงขนาดที่ว่าไม่รอให้ถึงอายุขัย ก็อยู่ไปตามอายุขัยของสัตว์ในอบายนั้น แต่อาจจะดีกว่าสัตว์อื่น เช่น สมมติว่ามาเกิดเป็นสุนัข แต่ในอดีตเคยถือศีลไว้ดี ก็กลายเป็นสุนัขสวย น่ารัก ใครๆ ก็อยากเลี้ยง ไปอยู่บ้านเศรษฐี หรืออยู่บ้านไหนเขาก็เลี้ยงดูอย่างดี เอาไปนอนบนเตียงด้วย เรียกเป็นลูก หรือเป็นทาสก็ได้ อาจจะเป็นแมว แล้วคนยอมเป็นทาส อย่างนี้เรียกว่า.. มีบุญจากการถือศีล หรือให้ทานในสมัยยังเป็นมนุษย์ให้ผล แม้ตนจะเกิดในอบายภูมิ ก็บุญนั่นแหละ บุญที่ทำไว้เองนั่นแหละ ช่วยให้สบายในอบาย ทีนี้ถ้าจะให้พ้นอบายอย่างเร็ว บุญที่ทำตอนเป็นมนุษย์ต้องบุญใหญ่สักหน่อย ประมาณว่าช่วยกระตุ้นเตือนตนเองได้ในอบาย คือบุญต้องรุนแรง กุศลนั้นต้องรุนแรง มีน้ำหนักมากพอ เช่น เรื่องพระนางมัลลิกา พระนางมัลลิกาก่อนตายใจเศร้าหมอง เพราะว่าไปประพฤติไม่ดี แล้วก็โกหกพระเจ้าปเสนทิโกศลไว้ ก่อนตายก็คิดถึงกรรมที่ตัวเองทำอันนั้น จิตเศร้าหมอง ก็ไปอบาย ตกนรกอเวจี ตกนรกไปแล้วเนี่ย ก็นึกถึงตัวเองว่า ‘เราก็ทำบุญเยอะนะ’ โดยเฉพาะบุญที่ไม่มีใครชนะได้ ไม่มีใครสามารถทำเทียมเท่าได้อีก เรียกว่า “อสมิสทาน” คือทำบุญแข่งกับชาวเมือง แล้วก็ตนเองหาอุบายช่วยพระเจ้าปเสนทิโกศลทำบุญในลักษณะที่ว่าชาวเมืองไม่สามารถสู้ได้ เป็นบุญใหญ่มาก แล้วก็เป็นที่โจษขานของชาวเมือง พอตกอบาย ไปนึกถึงบุญอันนั้นที่ทำ ก็พ้นจากอบายทันทีเลย คือตกไปเพียง ๗ วัน ก็พ้นจากอบายไป ขึ้นสวรรค์ชั้นดุสิตเลย เรื่องนี้เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบคำถามของพระเจ้าปเสนทิโกศล คือไม่ประสงค์จะตอบ คือพระเจ้าปเสนทิโกศลเนี่ย พอพระนางมัลลิกาสิ้นพระชนม์ ก็อยากจะรู้ว่าพระนางมัลลิกานั้นไปเกิดที่ไหน? ทีนี้ถ้าจะมาถามพระพุทธเจ้าตอนที่พระนางมัลลิกายังอยู่ในนรกเนี่ย จะบอกว่าไปนรก หรือตกนรกเนี่ย จะทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลหมดศรัทธา และกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิเลย ในความรู้สึกของพระเจ้าปเสนทิโกศลมีแต่ภาพดีๆ ของพระนางมัลลิกา ไอ้ที่พระนางมัลลิกาทำอะไรไม่ดีเนี่ยนะพระองค์ไม่รู้ แล้วที่พระนางมัลลิกาโกหกไว้ก็เชื่อพระนางมัลลิกาไปแล้ว ไม่มีภาพจำ ไม่มีความจำอะไรเกี่ยวกับพระนางมัลลิกาในแง่ไม่ดีเลย แต่พระนางมัลลิการู้ดีว่าตัวเองโกหกและทำไม่ดีเอาไว้ แล้วพระพุทธเจ้าก็ไม่ประสงค์จะมาแฉไอ้ความไม่ดีตรงนี้ ที่จะไปบอกว่าพระนางมัลลิกานะตกนรกเพราะว่าทำไม่ดีอย่างงี้ ซึ่งจะยิ่งไปใหญ่ จะทำให้ใจของพระเจ้าปเสนทิโกศลยิ่งแย่ไปใหญ่ ก็ทรงเลือกที่จะไม่ตอบ วิธีที่จะไม่ตอบ ก็คือว่า พอพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จมา พระองค์ก็บันดาลให้ลืม พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จมาถึงพระพุทธเจ้า ก็ตรัสถามเรื่องนู้นเรื่องนี้ คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้ แล้วก็..’เอ๊ะ!..จะถามอะไรนะ? ลืมไป ไม่เป็นไรนะ เดี๋ยวกลับไปก่อน’ กลับถึงวังก็นึกได้ว่า.. จะถามพระนางมัลลิกาสิ้นพระชนม์แล้วไปเกิดที่ไหน? วันรุ่งขึ้นไปถามอีก พอเข้าเขตวัดก็ลืม ไปคุยเรื่องนู้นเรื่องนี้ ‘เอ..เราจะถามอะไรนะ? ลืมไปแล้ว ไม่เป็นไร เดี๋ยวพรุ่งนี้มาถาม’ เป็นอย่างนี้อยู่หลายวัน จนพระพุทธเจ้าเห็นว่า พระนางมัลลิกาขึ้นสวรรค์แล้ว วันนี้พระเจ้าปเสนทิโกศลมา พระองค์ไม่ใช้ฤทธิ์บันดาลให้ลืมแล้ว มาถึงพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ตรัสกับพระพุทธเจ้าว่า “เนี่ย.. กระหม่อมฉันว่าจะมาถามอยู่เรื่องนี้ มาทีไรลืมทุกที วันนี้ไม่ลืม จะถามว่า.. พระนางมัลลิกาสิ้นพระชนม์แล้ว ตอนนี้ไปอยู่ไหน?” พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า “อยู่ขึ้นสวรรค์ชั้นดุสิต” พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ “ว่าแล้วเลย พระนางมัลลิกาเนี่ยเป็นผู้หญิงที่ดีมาก ใจบุญ ช่วยกระหม่อมฉันทำบุญเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เป็นผู้ออกความคิดอะไรต่างๆ นานา ช่วยกระหม่อมฉันทุกๆ อย่าง สมควรแล้วที่พระนางจะไปอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต” มีความปลื้มใจปีติใจ เกิดศรัทธาในบุญมากยิ่งขึ้น มีกำลังใจในการประพฤติปฎิบัติมากยิ่งขึ้น เหมือนเป็นคำตรัสรับรองของพระพุทธเจ้าว่าพระนางอยู่บนสวรรค์อะไรประมาณนี้ ฉะนั้น.. ถ้าจิตเศร้าหมองแล้วไปนรกเนี่ยนะ ก็ต้องมีบุญเก่าๆ ที่ทำแล้วสามารถที่จะระลึกขึ้นมาเองได้ ในนรกนั้น แล้วจึงจะพ้นนรกขึ้นมา โดยไม่ต้องรอให้ครบอายุขัยของสัตว์นรกนั้น อันนี้เรียกว่า “บุญที่เราทำมานั้นช่วยให้พ้นจากอบายได้ด้วยตนเอง” ก็มี พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศ วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/IaZuA5EEnhc?t=5407 (นาทีที่ 1:30:07 – 1:39:23)

อ่านต่อ

วันศุกร์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนเก้า(๙) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #กัลยาณมิตร การได้กัลยาณมิตรที่ทำได้จริง จะมีประโยชน์ตรงที่ว่า.. ท่านมีประสบการณ์เองจริง ! เวลาสอนเนี่ย โอกาสผิดเพี้ยนน้อยมาก แต่ถ้าผู้สอนที่ยังไม่รู้จริง เวลามาบอกสอนเนี่ย มีโอกาสที่จะตีความเอาเอง ซึ่งจะทำให้ผิดเพี้ยน ก็เป็นไปได้อยู่! ดังนั้น ประเมินตัวเองว่า.. เรายังไม่ได้พระอริยะขั้นใดขั้นหนึ่ง สิ่งสำคัญคือ “ซื่อตรง”! ซื่อตรงต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้แต่ผู้พูดจะเป็นผู้วิกลจริต.. อย่าว่าแต่ปุถุชนธรรมดานะ เป็นผู้วิกลจริต! แต่เอา “คำภาษิต” ของพระพุทธเจ้ามาบอกต่อ.. ก็ยังเป็นประโยชน์กับเรา ขอให้เราได้มี “โยนิโสมนสิการ” คือ รู้จักจับเอาประเด็นขึ้นมา ตรงนี้ท่านเปรียบเหมือนว่า.. คนตาบอดจุดตะเกียง ยังเป็นประโยชน์กับคนตาดี ..ได้เห็นทาง! คนตาบอดนั้น..ก็ยังบอดอยู่นั่นเอง ไม่เห็นแสงสว่าง แต่แสงสว่างนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว จากที่เขาได้จุด ถึงแม้เขาจะไม่เห็น! ฉะนั้น เราเองต้องทำหน้าที่ของเราด้วย คือ.. รู้จักมอง รู้จักมอง คือ คุณธรรมที่เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” ซึ่งเป็นปัจจัยอีกอันหนึ่ง ที่จะทำให้เกิด “สัมมาทิฎฐิ” นอกจากจะมีศรัทธาแล้ว จะต้องมีโยนิโสมนสิการ และศรัทธาที่ดีคือ.. พาให้เราไปหากัลยาณมิตร แล้วเกิดศรัทธา แล้วไปนั่งใกล้ เข้าไปฟังธรรม แล้วต้องให้ถึง”โยนิโสมนสิการ” ถ้าเอาแต่ศรัทธา.. ไม่พอ! เพราะยังศรัทธาอยู่ ก็แสดงว่า.. ยังเชื่อ! ยังเชื่อ แสดงว่า.. ยังไม่ถึง! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก รายการ “คลิกใจให้ธรรม” ตอน “วิธีดูใครเป็นกัลยาณมิตร” ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ ลิงค์วีดีโอ https://www.youtube.com/watch?v=eeHZCl5iBgw นาทีที่ 49.28-51.33

อ่านต่อ

วันเสาร์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนเก้า(๙) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #กรรมเพื่อความพ้นทุกข์ #ขันธ์ห้านี้เป็นทุกข์ “กรรมไม่ดำ-ไม่ขาว” มีผลคือ พ้นจากวัฏฏสังสาร คือ พ้นทุกข์ กรรมไม่ดำ-ไม่ขาว ก็คือ ทำกรรมฐานก่อน ต้องทำกรรมฐานก่อน! “กรรม” คือ เจตนา มีเจตนาเมื่อไหร่ ก็เรียกว่า “มีการทำกรรม” แรกๆ จะต้องมีเจตนาในการทำกรรม ทั้งๆ ที่ว่า.. ต้องการจะพ้นจากวัฏฏะสงสาร เนี่ยนะ! ก็มีการทำกรรม คือ “ทำกรรมฐาน” คือ “สมถกรรมฐาน” และ “วิปัสสนากรรมฐาน” ทำ “สมถกรรมฐาน” ก็คือ ทำกรรม.. ที่ทำให้จิตสงบ ทำ “วิปัสสนากรรมฐาน” คือ ทำกรรม.. ให้จิตฉลาด มีปัญญา ‘เห็น’ ‘รู้’ เข้าใจความเป็นจริงของโลก และพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ก็มี “ปัญญา” สำคัญๆ อยู่ ๔ ระดับ ระดับแรก.. ก็คือ เห็นความจริงว่า “กายนี้-ใจนี้ ไม่ใช่เรา” เป็น “พระโสดาบัน” ครั้งแรก.. ที่มีปัญญาระดับโลกุตตระคือ พ้น! แต่ยัง.. พ้นไม่เด็ดขาด!! ต้องมีอีก ขั้นที่สอง.. ก็เป็น “พระสกิทาคามี” มีปัญญาใกล้เคียงกับพระโสดาบัน แต่มีสมาธิมากขึ้น ปัญญาขั้นที่สาม.. คือ เห็นแล้วว่า “กายนี้.. เป็นทุกข์” กามนี้เป็นเรื่องที่มีแต่โทษ! จึงไม่หวังเรื่อง “กาม” ก็จะกลายเป็นผู้ที่มีสมาธิสมบูรณ์ เพราะว่า.. “กาม” เป็นตัวทำให้สมาธิไม่ค่อยได้ ฟุ้งซ่าน! ไปในเรื่องของกาม ฟุ้งซ่าน! ไปในเรื่องต่างๆ ทำให้ไม่มีสมาธิ พอเว้นจากกามได้ เห็นโทษของกาม เป็นผู้สมบูรณ์ด้านสมาธิ ก็กลายเป็น “พระอนาคามี” ปัญญาขั้นที่สี่.. เห็นความจริง ทั้งรูป ทั้งนาม โดยเฉพาะ เรื่องของนาม เรื่องของจิต เห็นจิตเนี่ย เป็นทุกข์ล้วนๆ ! เรื่องราวต่างๆ ที่เป็นอยู่ มีชีวิตอยู่เนี่ย “เป็นเรื่องของทุกข์ล้วนๆ” เข้าใจถึงว่า.. “ขันธ์ห้านี้เป็นทุกข์” เหตุแห่งทุกข์ ก็คือ มีตัณหา สภาวะที่พ้นทุกข์มีอยู่ และทางพ้นทุกข์ ก็คือ “มรรคมีองค์แปด” เข้าใจในเรื่องของ “ทุกข์” และ “เหตุแห่งทุกข์” แล้วก็ “ทางพ้นทุกข์” “สภาวะที่พ้นทุกข์ ” เข้าใจแบบนี้ก็เป็น “พระอรหันต์” พอเป็นพระอรหันต์ได้ ก็เรียกว่า จะมีทุกข์แค่เพียง.. ร่างกาย แต่จิตใจไม่ทุกข์แล้ว ถ้าดับไปแล้ว..ก็ขันธ์ห้าดับ! เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน “กรรมกำหนด” ออกอากาศวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๒ ลิงค์รายการ https://youtu.be/wJmLT2R-jRg (นาที 09:55 –12:10)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #รักษาศีลถือพรหมจรรย์ #เกิดกามราคะ #อันตรายต่อพรหมจรรย์ #ถาม: เป็นฆราวาส ตั้งใจจะถือ”พรหมจรรย์” ช่วงเข้าพรรษานี้ ครับ.. เมื่อมีกามราคะเกิดขึ้น ควรทำอย่างไรดีครับ? #ตอบ: มีกามราคะเกิดขึ้นให้รู้ทัน.. แล้วอย่าไปคิดต่อ! “อย่าไปต่อเรื่องกับมัน” กามราคะเนี่ย.. ที่มันจะเกิดขึ้นนี่ มันมีเหตุ ก็คือ มันไปคิดถึง.. ‘สิ่งน่าใคร่’ คิดถึง.. ‘บุคคลน่าใคร่’ คิดถึง.. ‘เหตุการณ์น่าใคร่’ ประมาณนี้นะ! “กามราคะ” คิดถึงสิ่งที่น่าพอใจเป็น “กามวิตก” ภาษบาลีจะชัดเจน “กามวิตก” คิดถึงกาม เราก็อย่าไปคิดต่อ! มันคิดแล้ว.. เกิดกามราคะ รู้ทันกามราคะ แล้วอย่าไปคิดต่อ!! อย่าไปอาลัยอาวรณ์ อย่าไปเสียดาย เราคล้ายๆ ตั้งใจ “ถือพรหมจรรย์” แล้วเนี่ยนะ ไอ้การคิดถึงกามราคะเนี่ย “เป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์” ที่เราคิดถืออยู่นี่ ที่เราตั้งใจถืออยู่! ก็หางานทำ หาอะไรทำ อย่าอยู่นิ่งๆ และคิดถึงกามยาวนาน แล้วก็ตั้งใจไว้ให้ดี ตัวกามราคะ มันมีเหตุจากกามวิตกนี่แหละ! คือ อย่าปล่อยให้คิดถึงกามนาน แล้วก็.. หมั่นทำสมถะบ่อยๆ นะ! ให้มันมีความสุข จากการทำสมถะ มาทดแทนการคิดอาลัยอาวรณ์ในสุขของกาม ที่มันคิดถึงกามบ่อยๆ เพราะมันคิดถึงสุขนั้นเอง คิดถึง “สุขในกาม” แต่ “สุข” มันไม่ได้มีแค่เรื่องของกาม! “กามสุข” มันเป็นเรื่องของคนทั่วไป ที่คิดถึง แต่คนที่ภาวนา ทำสมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนาเนี่ย มีสุขที่เหนือกว่า !! ที่จะทำให้ไม่อาลัยอาวรณ์กับสุขในกาม ก็ทำสมถะให้เกิด ทำสมถะแล้ว ก็ทำวิปัสสนาให้เกิดด้วย ทำวิปัสสนาให้เกิด ก็จะมีสุขที่เหนือกว่าสมถะอีก คือ “สุข.. เวลาได้บรรลุมรรคผล” สุขในการเห็นว่า.. แค่เห็นว่า.. “กายไม่ใช่เรา” นี่ก็สุขมากแล้วนะ! บางทีเห็นว่า.. กายไม่ใช่เรา แล้วเห็นจิต เกิด-ดับ เปลี่ยนแปลง เจริญวิปัสสนา ก็เริ่มมีความสุขในการภาวนามากขึ้นๆ จะสุขอีกทีอย่างมากๆ เลย ตอนบรรลุมรรคผล ก็จะทำให้ค่อยๆ คลาย จากความสุขในกามนั้นได้ แต่ยังไม่หมดอยู่ดีนะ! จะหมดอีกทีตอนเป็น”พระอนาคามี” นั่นแหละ แต่ว่า.. อย่างน้อยๆ ให้มีสุขอื่นมาเทียบบ้าง จะได้ตัดใจได้ง่าย คือ เห็นความอาลัยอาวรณ์ในกามนั้น.. ตัด! จะตัดไปได้โดยง่ายๆ ก็ต้องมีสุขอื่นมาเทียบ นั่นคือ.. “สุขจากการทำสมถะ” เรียกว่า”สมาธิสุข” และสุขจากการบรรลุมรรคผล เรียกว่า “นิพพานสุข” ต้องมีสุขอีกสองอย่างมาเทียบ ถึงจะพออุ่นใจนะ! แล้วก็ทำให้การภาวนาของเราราบรื่นขึ้น อย่างน้อยๆ ในพรรษานี้.. “หมั่นทำสมถะบ่อยๆ!” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ นาทีที่ 1:05:05 – 1:08:48 URL : https://youtu.be/IaZuA5EEnhc

อ่านต่อ