มรรคสามัคคี-สมาธิแบบลักขณูปนิชฌาน

วรรคทอง…วรรคธรรม #๒๕

#มรรคสามัคคี-#สมาธิแบบลักขณูปนิชฌาน

ตัวสำคัญเลยก็คือ ตัวตั้งมั่น
ตัวจิตตั้งมั่นเนี่ย! จึงจะเป็นศูนย์กลางรวบรวมเอามรรคองค์อื่นๆ ทั้งเจ็ดมารวมกัน
ถ้าไม่มีสมาธิที่ตั้งมั่นนะ..มันไม่มีจุดรวม!
บางทีท่านจึงเรียกมรรคที่เหลือทั้งเจ็ดว่าเป็น ‘บริขารของสมาธิ’
สมาธินี่เป็นองค์มรรคที่เป็นตัวแกนกลางเลยนะ!
นอกนั้นเป็นบริขาร หรือเป็นบริวารรอบล้อม
องค์มรรคที่เหลือทั้งเจ็ดนี่เป็นบริขาร.. หรือบริวารรอบล้อมสมาธิ
แต่สมาธินั้น.. ต้องเป็นสมาธิที่เป็น‘ลักขณูปนิชฌาน’นะ จึงจะเป็นแกนกลางตัวนี้ได้

ถ้าทำตรงนี้ได้ ธรรมทั้งหลายจะมารวมสามัคคีกัน
คราวนี้เป็นความสามัคคีในเรื่องของกุศลธรรม
เป็นเรื่องความสามัคคีขององค์มรรคต่างๆ เข้ามารวมกัน

ถ้าไม่มีจุดรวมคือ ไม่มีสมาธิที่เป็น’ลักขณูปนิชฌาน’นะ
มันจะไม่มีห้องประชุม.. ไม่มีที่ประชุมของสิ่งดีๆทั้งหลาย
สิ่งดีๆหรือกุศลธรรมทั้งหลายก็ยังกระจัดกระจายกันอยู่
คือมีอยู่! .. แต่กระจัดกระจาย ไม่มีที่รวม
มันกระจายกันอยู่..ก็เลยไม่มีกำลังพอ
ฉะนั้น ต้องมีสัมมาสมาธิเป็นจุดรวม
ตัวนี้สำคัญนะ! เป็นจุดสำคัญ
เป็นตัวตัดสินเลยว่า…จะได้มรรคผลกันหรือเปล่า?

อยู่ตรงที่ว่า..
ทำ’ลักขณูปนิชฌาน’ ตัวนี้เป็นกันมั๊ย?
ทำได้มั๊ย?
ถ้ายังทำไม่ได้นะ.. ให้ไปฝึก!!
โดยหาที่อยู่..ให้ใจมีที่อยู่ไว้สักที่หนึ่ง
แล้วพอเผลอ..ก็รู้ทันว่า’เผลอไป’
… รู้ทันว่า’ไหลไป’
ทุกครั้งที่รู้…ใช้ได้
ทุกครั้งที่รู้ว่า’เผลอ’..ใช้ได้…ได้สติ
ทุกครั้งที่รู้ว่า’ไหลไป’…ได้ทั้งสติ และสมาธิ
และเป็นสมาธิที่เป็น’ลักขณูปนิชฌาน’ด้วย
…ไปหัดตรงนี้กันนะ!

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล
เรียบเรียงจากการบรรยายธรรม ณ บ้านจิตสบาย
วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๘