#นิมฺมโลตอบโจทย์#๑๑๘ ??? ถาม : อ่านที่พระอาจารย์ตอบโจทย์ อ่านไปซ้ำ ๆ ก็พอจะเข้าใจบ้าง แต่เหมือนจะตายตอนจบ ตรง “มีที่อยู่ให้จิต” น่ะค่ะ โยมยังหาไม่เจอค่ะ

นิมฺมโลตอบโจทย์#๑๑๘

ถาม : อ่านที่พระอาจารย์ตอบโจทย์ อ่านไปซ้ำ ๆ ก็พอจะเข้าใจบ้าง แต่เหมือนจะตายตอนจบ ตรง “มีที่อยู่ให้จิต” น่ะค่ะ โยมยังหาไม่เจอค่ะ

ตอบ : คำว่า “มีที่อยู่ให้จิต” ในที่นี้ ก็มีความหมายเดียวกับคำว่า “ทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง”
คือ อะไรก็ได้ มีข้อแม้เพียงว่า ที่อยู่นั้น หรือกรรมฐานนั้น ต้องไม่ยั่วกิเลส และอยู่กับที่อยู่นั้นด้วยจิตสบาย ๆ

จะเริ่มที่ “สวดมนต์” ก็ได้ ท่อง “พุทโธ” ก็ได้ หรือ “หายใจ” ก็ได้ หรือ “กายที่เคลื่อนไหว” ก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น ใช้ “สวดมนต์” เป็นที่อยู่
๑. จิตรับรู้อยู่ที่บทสวดมนต์ ก็เรียกว่า จิตอยู่กับที่อยู่

๒. ถ้าจิตไปรับรู้เรื่องอื่น ที่นอกจากบทสวดมนต์ ก็เรียกว่า จิตเผลอ (จะเผลอไปมีราคะ, โทสะ, โมหะ, ฟุ้งซ่าน, หดหู่ ในที่นี้รวมเรียกว่า ‘เผลอ’ ทั้งหมด คือเผลอจากที่อยู่)

๓. ถ้าจิตเผลอ แล้วรู้สึกได้ว่าเมื่อกี้เผลอ ก็เรียกว่า มีสติเห็นจิตที่เผลอ

๔. มีสติเห็นจิตที่เผลอแล้ว จิตก็ได้เรียนรู้แล้วว่า ‘สภาวะเผลอ’ เป็นอย่างไร ก็ไม่ต้องแก้ไขอะไรกับความเผลอนั้น การเรียนรู้สภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อกี้นี้ก็สิ้นสุดลงแล้ว

จิตจำสภาวะได้ครั้งหนึ่งแล้ว เรียนรู้ความไม่เที่ยงของสภาวะไปครั้งหนึ่งด้วย

แล้วก็กลับไปทำข้อ ๑. ใหม่ เพื่อเรียนรู้อีก

๕. ถ้าเห็นว่าเผลอ แล้วไม่ชอบใจ ไม่อยากเผลอ แล้วรีบดึงจิตกลับมา หรือบังคับให้จิตนิ่ง ๆ หรือเพ่งเอาไว้..ฯลฯ.. ก็เรียกว่า มีการแทรกแซงจิต
แล้วก็กลับไปทำข้อ ๑ ใหม่ เพื่อเรียนรู้อีก

๖. ถ้ามีการแทรกแซงแบบบังคับจิต แล้วไม่รู้ว่าบังคับจิตอยู่ จิตก็จะเครียด แข็ง กระด้าง ตรงนี้เรียกว่า เป็นผลจากการแทรกแซง ก็ให้รู้ทัน โดยไม่ต้องไปแก้มัน ถ้าอยากแก้ ให้รู้ว่าอยาก คือมีตัณหาแล้ว !
แล้วก็กลับไปทำข้อ ๑ ใหม่ เพื่อเรียนรู้อีก

๗. ถ้ามีการแทรกแซงแบบโน้มน้อมให้จิตเคลิ้ม จิตก็จะซึม ๆ ทื่อ ๆ บางทีอาจจะรู้สึกไปเองว่า ‘จิตนิ่งดีจัง !’ ตรงนี้ก็เรียกว่า เป็นผลจากการแทรกแซง ก็ให้รู้ทัน เช่นเดียวกับข้อ ๖

ถ้านั่งอยู่ ก็ใช้ “กายนั่งหายใจ” เป็นที่อยู่
ถ้าเดินอยู่ ก็ใช้ “กายเคลื่อนไหวในท่าเดิน” เป็นที่อยู่

ถ้าทำงานที่ไม่ต้องใช้ความคิดมาก เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างจาน รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น ทำงานอะไรก็ใช้ “กายที่เคลื่อนไหวทำงานนั้น ๆ” เป็นที่อยู่

มีที่อยู่แล้ว.. ก็ดูจิตที่ออกจากที่อยู่
เผลอ.. แล้วรู้
เพ่ง.. แล้ว

ที่ว่า “ยังหา (ที่อยู่) ไม่เจอ” น่าจะเป็นเพราะโยมคิดว่า ‘ได้ที่อยู่แล้วต้องสงบ ต้องนิ่งได้นาน’ อย่างนั้นคิดผิดนะ

ที่จริงคือ
มีที่อยู่ เพื่อให้มีโอกาสได้เรียนรู้สภาวะต่าง ๆ ที่เกิดกับจิต
สภาวะนั้น.. จะดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้

จะอาศัยที่อยู่.. เพื่อให้เห็นสภาวะเหล่านั้นง่ายขึ้น
เพื่อเรียนรู้ว่า มีสภาวะเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง ๆ

หน้าที่เราคือเรียนรู้นะ
เรียนจากของจริง ดูจากของจริง ดูสภาวะจริง ๆ
จิตมันเผลอก็รู้ จิตมันแทรกแซงก็รู้

รู้เพื่อให้เกิดปัญญา
ปัญญาเข้าใจในแง่ที่ว่า จิตไม่เที่ยง เกิดดับเร็ว
จิตไม่ใช่เรา เป็นไปตามเหตุปัจจัย บังคับไม่ได้

๔ มิถุนายน ๒๕๖๑

อ่านบน Facebook