#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๕๗ ?? #ถาม : วิธีที่จะทำให้ฝุ่นในดวงตาน้อยลง ที่จะเข้าคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะบรรลุธรรมมีกี่วิธี?…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๕๗
??

#ถาม : วิธีที่จะทำให้ฝุ่นในดวงตาน้อยลง ที่จะเข้าคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะบรรลุธรรมมีกี่วิธี? วิธีที่ง่ายสุดคือทำอย่างไร? พระพุทธเจ้าเคยตรัสบอกหรือไม่?

ตอบ : คำว่า “ฝุ่น” หรือ “ธุลีในดวงตา” หมายถึง กิเลส คือ ราคะ โทสะ และโมหะ
คำนี้ปรากฏในพุทธประวัติ ช่วงที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับใต้ต้นอชปาลนิโครธ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงดำริว่า “ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต” แล้วทรงดำริถึงสัตว์ทั้งหลาย ว่ายังติดอยู่ในกามคุณ ยากที่จะมาเห็นปฏิจจสมุปบาทตามพระองค์ได้ ถ้าสัตว์ทั้งหลายรู้ตามไม่ได้ การแสดงธรรมก็จะเป็นการลำบากเปล่า จึงน้อมพระทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อการแสดงธรรม

ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมได้ทราบพุทธดำริ ก็คิดว่า “โลกจะฉิบหายหนอ โลกจะพินาศหนอ เพราะพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงน้อมพระหฤทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่ทรงน้อมพระหฤทัยไปเพื่อทรงแสดงธรรม” จึงรีบมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ขอร้องให้พระองค์ทรงแสดงธรรม ด้วยเหตุผลว่า “สัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อยเป็นปรกติก็มีอยู่ หากมิได้สดับย่อมเสื่อมจากธรรม สัตว์ทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมีเป็นแน่แท้”

พระพุทธเจ้าทรงทราบการอาราธนาของพระพรหม และทรงอาศัยพระกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงสอดส่องดูโลกด้วยพุทธจักษุ ทรงเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายบางพวกมีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อย บางพวกมีกิเลสดุจธุลีในดวงตามาก บางพวกมีอินทรีย์กล้า บางพวกมีอินทรีย์อ่อน บางพวกมีอาการดี บางพวกมีอาการเลว บางพวกจะพึงสอนให้รู้ได้โดยง่าย บางพวกจะพึงสอนให้รู้ได้โดยยาก บางพวกมีปรกติเห็นโทษในปรโลกว่าเป็นภัยอยู่
เปรียบเหมือนกอบัวและดอกบัวชนิดต่างๆ เกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ บางเหล่ายังจมอยู่ในน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าพ้นน้ำขึ้นมาแล้ว

พระพุทธองค์จึงได้ตรัสตอบท้าวสหัมบดีพรหมว่า
“ประตูอมตะ เราเปิดแล้วเพราะท่าน ชนผู้ฟังจงปล่อยศรัทธามาเถิด ดูกรพรหม เราจะไม่มีความสำคัญในความลำบาก แสดงธรรมอันประณีตที่ชำนิชำนาญในหมู่มนุษย์”

(ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ อายาจนสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค)

และด้วยพุทธประวัติตอนนี้ ชาวพุทธทั้งหลายจึงนำมาเป็นคำอาราธนาธรรมว่า
“พ๎รัห๎มา จะ โลกาธิปะตี สะหัมปะติ ,
กัตอัญชะลี อันธิวะรัง อะยาจะถะ ,
สันตีธะ สัตตาปปะระชักขะชาติกา ,
เทเสตุ ธัมมัง อะนุกัมปิมัง ปะชัง”
แปลว่า “ก็ท้าวสหัมบดีพรหมผู้เป็นใหญ่แห่งโลก กระทำอัญชลีแล้วกราบอาราธนาพระพุทธเจ้า ผู้กำจัดความมืดแก่โลกว่า หมู่สัตว์ผู้มีธุลีในจักษุน้อยในโลกนี้มีอยู่ ขอพระองค์ผู้ทรงอนุเคราะห์สัตว์โลก จงทรงแสดงธรรมเถิด พระเจ้าข้า”

ทรงดำริพิจารณาหาบุคคลผู้สมควรจะรับฟังพระปฐมเทศนา ในชั้นแรกพระองค์ทรงระลึกถึงอาจารย์ทั้งสองที่พระองค์เคยเข้าไปศึกษา ท่านแรกคือ อาฬารดาบส แต่ได้ทราบว่าท่านได้ถึงแก่กรรมไปได้ ๗ วันแล้ว และอีกท่านหนึ่ง คือ อุทกดาบส แต่ก็ได้ทราบด้วยพระญาณว่าท่านเพิ่งจะสิ้นชีพไปเมื่อวันวานนี้เอง ทั้งสองท่านไปเกิดในอรูปภพ ไม่อาจฟังธรรมได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงดำริถึงทั้งสองท่านนี้ว่า เป็นผู้มีความเสื่อมใหญ่ เพราะเป็นผู้เสื่อมเสียจากมรรคผลที่จะพึงบรรลุ

ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ ผู้ซึ่งเคยมีอุปการคุณแก่พระองค์เมื่อสมัยทำทุกรกิริยา ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นปฐมเทศนา ท่านโกณฑัญญะได้มีดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุเป็นพระโสดาบัน อีก ๔ ท่านที่เหลือก็ได้บรรลุเป็นพพระโสดาบันในวันต่อๆมา ด้วยปกิณกธรรมของพระพุทธองค์ จากนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมมาตลอด ๔๕ พรรษา แม้ในวันสุดท้ายของพระชนม์ชีพ ก็ยังตอบคำถามให้กับสุภัททปริพาชกว่า “ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้ มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ (ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ตามลำดับ) ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย”
ท่านสุภัททะได้บรรพชาอุปสมบทในคืนนั้น และบรรลุอรหัตตผลเมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่

ก่อนจะปรินิพพาน พระองค์มีพระปัจฉิมวาจาว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

ถ้าถามว่า “คำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะบรรลุธรรมมีกี่วิธี?”
ก็ต้องเข้าใจว่า ตลอดพระชนม์ชีพ พระองค์ทรงแสดงธรรมไว้มากมาย ให้กับบุคคลทุกประเภท ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ คำสอนก็มีหลายระดับ แยกแยะไปตามความเหมาะสมของผู้ฟัง คำสอนของพระองค์จึงมีมากมาย ดังมีสำนวนว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ บางท่านฟังเพียงคาถาเดียวก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ บางท่านฟังเพียงสองสามพระสูตรก็บรรลุ บางท่านฟังแล้วต้องมาปฏิบัติด้วยความเพียรจึงบรรลุ ก็เหมือนบัว ๓ เหล่า ตรงตามที่พระองค์ทรงเปรียบเทียบไว้เมื่อครั้งรับอาราธนาจากพระพรหม

วิธีปฏิบัติให้บรรลุธรรม จะสรุปลงเป็น
– ไตรสิกขา (อธิสีลสิกขา, อธิจิตตสิกขา, อธิปัญญาสิกขา) ก็ได้
– ภาวนา ๒ (สมถภาวนา, วิปัสสนาภาวนา) ก็ได้
– มรรคมีองค์ ๘ ก็ได้
– สติปัฏฐาน ๔ ก็ได้
– โพชฌงค์ ๗ ก็ได้
หรือธรรมหมวดอื่นที่จัดอยู่ในประเภท “ภาเวตัพพธรรม”(ธรรมที่พึงปฏิบัติ) ก็ใช้ได้ทั้งหมด

ถ้าถามว่า “วิธีที่ง่ายสุดคือทำอย่างไร?”
สำหรับอาตมา ตอบว่า วิธีที่ตรงกับจริต

เช่นใน สติปัฏฐานสูตร ท่านแบ่งผู้ฝึกหัดปฏิบัติธรรมเป็น ๒ ประเภท คือ ตัณหาจริต กับ ทิฏฐิจริต และแบ่งเป็น ผู้เป็นสมถยานิก (ผู้มีสมถะเป็นยาน) กับ วิปัสสนายานิก (ผู้มีวิปัสสนาเป็นยาน) ที่เป็นไปโดยส่วนทั้งสอง คือ ปัญญาน้อย และปัญญามาก โดยแบ่งดังนี้
– กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอารมณ์หยาบ เป็นทางหมดจด สำหรับเวไนยสัตว์ผู้มีตัณหาจริต มีปัญญาน้อย
– เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอารมณ์ละเอียด เป็นทางหมดจด สำหรับเวไนยสัตว์ผู้มีตัณหาจริต มีปัญญามาก
– จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอารมณ์ไม่แยกออกมากนักเป็นทางหมดจด สำหรับเวไนยสัตว์ผู้มีทิฏฐิจริต มีปัญญาน้อย
– ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอารมณ์แยกออกมาก เป็นทางหมดจด สำหรับเวไนยสัตว์ ผู้มีทิฏฐิจริต มีปัญญามาก

เปรียบเหมือนประตูเมือง ๔ ทิศ จะเข้าประตูไหนก็ถึงเมืองเหมือนกัน
เมือง หมายถึง นิพพาน
ประตูทั้ง ๔ หมายถึง กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน, เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน, จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
จะเข้าประตูไหน ก็ดูที่จริต

ตัณหาจริต คือ ผู้มีพื้นจิตหนักไปทางตัณหา พวกนี้จะรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม จริตแบบนี้ก็เหมาะที่จะดูกายกับเวทนา ซึ่งแล้วแต่ว่ามีปัญญามากหรือน้อย
ทิฏฐิจริต คือ ผู้มีพื้นจิตหนักไปทางทิฏฐิ พวกนี้จะคิดมาก เจ้าความคิดเจ้าความเห็น ชอบหาเหตุหาผล ชอบวิจัยวิจารณ์ จริตแบบนี้ก็เหมาะที่จะดูจิตกับธรรม ซึ่งก็แล้วแต่ว่ามีปัญญามากหรือน้อย

ถ้าภาวนาตรงกับจริต การภาวนาก็จะได้ผลง่าย

๓๐ มีนาคม ๒๕๖๒

หมายเหตุ : คำถามต่อเนื่องจาก โพสต์ #ฝากคิด #ฝากคำ ๒๐๓
ลิงค์โพสต์ https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1128988423950864&id=354448708071510


อ่านบน Facebook