#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๖๑ ?? #ถาม : เราจะรู้ได้อย่างไรครับ ว่าสิ่งที่เรารู้อยู่ เข้าใจอยู่ หรือสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเล่าเรียนมา…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๖๑
??
#ถาม : เราจะรู้ได้อย่างไรครับ ว่าสิ่งที่เรารู้อยู่ เข้าใจอยู่ หรือสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเล่าเรียนมา เป็น“สัมมาทิฏฐิ”หรือเปล่าครับ?
อีกเรื่องหนึ่ง ที่ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกัน ก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรครับ ว่าข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ เป็น“สีลัพพตปรามาส”หรือไม่ครับ?

#ตอบ : ก่อนอื่น ถ้ารู้ว่า “มิจฉาทิฏฐิ” เป็นอย่างไร ก็น่าจะทำให้เข้าใจสัมมาทิฏฐิได้ง่ายขึ้น
มิจฉาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นผิด
คือ ความเห็นดังนี้ เช่น ทานที่ให้แล้วไม่มีผล, ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล, สังเวยที่บวงสรวงแล้วไม่มีผล, ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี, โลกนี้ไม่มี, โลกหน้าไม่มี, คุณมารดาไม่มี, คุณบิดาไม่มี, สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะ(สัตว์ที่ผุดขึ้นมาและโตเต็มตัวในทันใด เช่น เทวดาและสัตว์นรก เป็นต้น)ไม่มี, พระพุทธเจ้าผู้รู้ยิ่งด้วยตนเอง ซึ่งประกาศโลกนี้และปรโลกให้แจ่มแจ้ง ในโลกนี้ไม่มี เป็นต้น

ส่วน สัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบ แยกเป็น ๒ ระดับ คือ
๑. โลกิยสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบระดับโลกีย์ จัดเป็นฝ่ายบุญ ซึ่งอำนวยวิบากแก่ขันธ์(ยังต้องเกิดอีก) เป็นความเห็นที่ถูกต้องตามหลักความดี สอดคล้องกับศีลธรรม เช่นความเห็นว่า ทานที่ให้แล้วมีผล, การบำเพ็ญทานมีผล, การบูชามีผล, กรรมที่ทำไว้ดีและชั่วมีผล, มีวิบาก, โลกนี้มี, ปรโลกมี, คุณมารดามี, คุณบิดามี, สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะ(สัตว์ที่ผุดขึ้นมาและโตเต็มตัวในทันใด เช่น เทวดาและสัตว์นรก เป็นต้น)มี, พระพุทธเจ้าผู้รู้ยิ่งด้วยตนเองในโลก ซึ่งประกาศโลกนี้และปรโลกให้แจ่มแจ้ง มีอยู่ เป็นต้น
๒. โลกุตรสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบระดับโลกุตระ และเป็นสัมมาทิฏฐิในขั้นมรรคผล เป็นตัวปัญญาที่ทำให้เป็นอริยบุคคล เป็นปัญญาในระดับที่ตัดกิเลส ไม่ใช่เพียงกดข่ม เช่นพระโสดาบันโลกุตรสัมมาทิฏฐิเบื้องต้น ก็สามารถตัดกิเลสที่เรียกว่าสังโยชน์ได้ ๓ ข้อ เป็นต้น

คำจำกัดความของ สัมมาทิฏฐิ จึงมีได้ตั้งแต่
– รู้ว่ากุศลคืออะไร อกุศลคืออะไร และรู้มูลเหตุของกุศลและอกุศลนั้นด้วย
– เห็นไตรลักษณ์
– เห็นปฏิจจสมุปบาท
– เห็นอริยสัจ

โดยสรุป สัมมาทิฏฐิ ก็คือ ความเห็นถูกต้องตามที่เป็นจริง เห็นตรงตามสภาวะ

สัมมาทิฏฐิ ถ้ายังไม่ถึงขั้นโลกุตระ ก็สามารถเสื่อมได้ ฉะนั้น ก็ต้องมีองค์ประกอบมาคอยหนุน เพื่อให้เจริญสู่เป้าหมาย
องค์ประกอบเหล่านั้น ได้แก่
๑. ศีล คือ มีความประพฤติดีงาม
๒. สุตะ คือ การฟังธรรม รวมทั้งการเล่าเรียน การอ่านตำรา
๓. สากัจฉา คือ การสนทนาธรรม
๔. สมถะ คือ การฝึกทำใจให้สงบ
๕. วิปัสสนา คือ การมีปัญญาเห็นแจ้ง เห็นไตรลักษณ์ของสภาวธรรมทั้งหลาย ถอนความหลงผิดในสังขารเสียได้
(ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ อนุคคหสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต)

เมื่อมีโลกิยสัมมาทิฏฐิก็เป็นประโยชน์สุขกับชีวิตตนและสังคม ทั้งยังมีส่วนช่วยหนุนให้เจริญในธรรมที่เป็นองค์แห่งมรรคทั้งหลาย โลกิยสัมมาทิฏฐินี้จึงเป็นเหตุให้ก้าวต่อไปสู่โลกุตรสัมมาทิฏฐิได้ด้วย

สังโยชน์ ๓ ข้อ ที่ละได้เมื่อมีโลกุตรสัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ๑. สักกายทิฏฐิ ๒. วิจิกิจฉา ๓. สีลัพพตปรามาส

ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) แสดงความหมายของสีลัพพตปรามาส ไว้ดังนี้
สีลัพพตปรามาส ความยึดถือว่าบุคคลจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและวัตร (คือถือว่าเพียงประพฤติศีลและวัตรให้เคร่งครัดก็พอที่จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ไม่ต้องอาศัยสมาธิและปัญญาก็ตาม ถือศีลและวัตรที่งมงามหรืออย่างงมงายก็ตาม), ความถือศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลังว่าศักดิ์สิทธิ์ไม่เข้าใจความหมายและความมุ่งหมายที่แท้จริง, ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ด้วยเข้าใจว่าจะมีได้ด้วยศีลหรือพรตอย่างนั้นอย่างนี้ล่วงธรรมดาวิสัย (ข้อ ๓ ในสังโยชน์ ๑๐)

สีลัพพตปรามาส อ่านว่า สี-ลับ-พะ-ตะ-ปะ-รา-มาด
แยกศัพท์เป็น สีล(ศีล) + วต(พรต) + ปรามาส(การถือเลยเถิด)
ที่ว่า “ถือเลยเถิด” ก็คือ “จับฉวยเอาเกินเลยสภาวะเป็นอย่างอื่นไป” คือคลาดจากที่ควรจะเป็น กลายเป็นอย่างอื่นไปเสีย
ศีลและพรตที่มีไว้เพื่อฝึกหัดขัดเกลา เพื่อไม่ให้เกิดวิปฏิสาร(คือความเดือดร้อนใจ) และเพื่อเป็นบาทฐานของการภาวนา ก็กลับ“ถือเลยเถิด”เป็นอย่างอื่นไป เช่น ถือว่าหรือเห็นว่าเพียงแค่บำเพ็ญศีลพรตอย่างนี้ๆ ก็สามารถจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้

การ“ถือเลยเถิด” ก็นับว่าเป็นทิฏฐิอย่างหนึ่งที่ผิด เมื่อนำมาปฏิบัติก็กลายเป็นอัตตกิลมถานุโยค(การประกอบตนให้ลำบากเปล่า) ซึ่งเป็นหนึ่งในที่สุดสองด้านที่ชาวพุทธพึงเว้น

นอกจากนี้ ควรเข้าใจอีกว่า ศีลและพรตที่ถูกก็มี ที่ผิดก็มี
ศีลและพรตที่ผิด ก็ไม่ควรถือปฏิบัติเลย เช่น ถือปฏิบัติอย่างสุนัข อย่างโค อย่างม้า ถือการไหว้ทิศ
ศีลและพรตที่ถูก เช่น พระวินัยของพระภิกษุ หรือข้อวัตรในเรื่องธุดงค์ทั้งหลาย ก็ระวัง อย่าให้เป็นการ“ถือเลยเถิด”เพราะจะเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทถกเถียงกัน ว่าใครดีใครเลว ใครถูกใครผิด หรือเอาข้อวัตรมาข่มกัน ว่าฉันหรือพวกฉันเคร่ง เธอหรือพวกเธอไม่เคร่ง สู้พวกเราไม่ได้

ศีลและพรตที่ถูก ก็ควรถือปฏิบัติในแนวทางสายกลางด้วย ไม่ถือโดยงมงาย ถือโดยเข้าใจจุดมุ่งหมาย รู้อยู่แก่ใจว่า ปฏิบัติไปเพื่อขัดเกลา เพื่อเป็นบามฐานของสมาธิ เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม เพื่อพัฒนาตนไปในมรรค เพื่อความพ้นทุกข์

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
“กุศลศีล มีความไม่มีวิปฏิสารเป็นอรรถเป็นอานิสงส์,
ความไม่วิปฏิสาร มีปราโมทย์เป็นอรรถเป็นอานิสงส์,
ปราโมทย์ มีปีติเป็นอรรถเป็นอานิสงส์,
ปีติ มีปัสสัทธิเป็นอรรถเป็นอานิสงส์,
ปัสสัทธิ มีสุขเป็นอรรถเป็นอานิสงส์,
สุข มีสมาธิเป็นอรรถเป็นอานิสงส์,
สมาธิ มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอรรถเป็นอานิสงส์,
ยถาภูตญาณทัสสนะ มีนิพพิทาเป็นอรรถเป็นอานิสงส์,
นิพพิทา มีวิราคะเป็นอรรถเป็นอานิสงส์,
วิราคะ มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นอรรถเป็นอานิสงส์;
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลาย ย่อมหลั่งไหลสู่ธรรมทั้งหลาย ธรรมทั้งหลาย ย่อมยังธรรม
ทั้งหลายให้บริบูรณ์ เพื่อการไปจากภาวะอันมิใช่ฝั่ง สู่ภาวะที่เป็นฝั่ง โดยประการดังนี้แล”
(จาก เจตนาสูตร อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต)

๒๖ เมษายน ๒๕๖๒


อ่านบน Facebook