วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ ??? พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ ๒๒๒ #ชวนศึกษา”#อธิษฐานธรรม…

วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๒
วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙
???
พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ ๒๒๒

#ชวนศึกษา“#อธิษฐานธรรม ๔ ข้อ”

มีคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงกับ’ปุกกุสาติกุลบุตร’
อันนี้ มีเกร็ดน่าสนใจตรงที่ว่า..
พระองค์สอนให้ปุกกุสาติกุลบุตร มีธรรมะ ๔ ข้อ
เพื่อให้เป็นที่ตั้งของใจ หรือเป็นที่มั่นของใจ
ภาษาบาลีเรียกว่าเป็น’อธิษฐานธรรม’

อธิษฐานธรรม ๔ ประการ
ข้อแรก ให้มี ‘ปัญญา’
ข้อที่ ๒ ให้มี ‘สัจจะ’
ข้อที่ ๓ ให้มี ‘จาคะ
ข้อที่ ๔ ให้มี ‘อุปสมะ’

“อุปสมะ” นี้ก็เรียกว่า เป็นความสงบ

ในแต่ละข้อเนี่ย!
“ปัญญา” คือให้มีความรู้จริงในสิ่งที่ปรากฏ
พระองค์สอนให้พระเจ้าปุกกุสาติ
จริงๆ ตอนนั้นออกบวชแล้ว ก็เรียกว่า ‘ปุกกุสาติกุลบุตร’
พระองค์สอนให้ปุกกุสาติกุลบุตรเนี่ย ให้มีปัญญาเห็นความจริง

โดยพระองค์สอนให้เห็นเวทนา
เวทนาที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับ มันไม่เที่ยง
แล้วก็มันเป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่นอกเหนือการบังคับควบคุม
อยากให้สุข ก็สุขได้ไม่นาน
มีทุกข์อยู่ อยากให้ทุกข์ดับไปเร็วๆ ก็ไม่เป็นไปตามอยาก
การเห็นสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงของปุกกุสาติกุลบุตร เนี่ย
ท่านต้องมีอะไร? ท่านต้องมีสมถะที่แก่กล้าพอที่จะมาดูเวทนา แสดงไตรลักษณ์ได้
พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงธรรมที่เหมาะสมกับผู้ฟัง
ก็คือแสดงธรรมให้ท่านดูเวทนา ให้เวทนาแสดงไตรลักษณ์ ก็เกิดวิปัสสนาปัญญา

แล้วให้เห็น “สัจจะ” คือความจริง
ความจริงที่เห็นจะเห็นว่า มันเกิด มันดับ
มันเปลี่ยนแปลงไปเนี่ยนะ!
แล้วเข้าถึงสัจจะตัวสุดท้ายเลย คือเข้าถึงพระนิพพาน

‘ความจริง’ที่มันเป็นเรื่องปรุงแต่ง ก็รู้จัก
‘ความจริง’ที่พ้นความปรุงแต่ง ก็รู้จักมันด้วย
เรียกว่าเข้าถึง “สัจจะ” ให้ถึงพร้อม
มีศึกษาให้เห็นความจริงอันนี้

แล้วก็ “จาคะ”
เริ่มตั้งแต่จาคะ คือเสียสละวัตถุสิ่งของ สละสิ่งของภายนอก
จนสละไปถึงกิเลสเลย
สละราคะ สละโทสะ สละโมหะ สละไปหมดสิ้น
เรียกว่าเมื่อเข้าใจถึงนิพพานแล้ว ก็จะสละพวกกิเลสเหล่านี้ออกไปจากจิตใจ

เมื่อสละกิเลสออกไปจากจิตใจแล้ว ก็เข้าถึงความสงบ
เพราะว่าสิ่งที่มารบกวนให้จิตใจไม่สงบนั้น ถูกสละทิ้งไปแล้ว
ก็ถึงความสงบ เรียกว่าถึง “อุปสมะ”
หรืออีกคำก็เรียกได้ว่า ถึงสันติ

สันติในที่นี้หมายถึงว่า ไม่เกิดอีกแล้ว
เหตุแห่งความเกิดทั้งหลายหมดไปแล้ว
ไอ้ที่ยังวุ่นวายวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารก็เป็นอันสงบลงไป

อันนี้เป็นคำสอนที่พระองค์เคยสอนเอาไว้
พวกเราชาวพุทธก็นำมาพฤติปฏิบัติได้
๑. ให้อย่าประมาทในปัญญา
๒. ศึกษาให้เห็นความจริงถึงสัจจะ
๓. แล้วก็จาคะ สละสิ่งของได้ คือเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของชั่วคราว เรามีอยู่มากเกินพอ ก็สละให้กับคนที่เขาต้องการ หรือว่ามีความด้อยโอกาสมากกว่าเรา สละไปแล้ว คนอื่นเขามีความสุข เราเห็นเขามีความสุข เราก็มีความสุขด้วย
แล้วสละไปนั้นน่ะ ที่สละจริงๆ คือสละความตระหนี่ในใจ
สละกิเลสต่างๆในใจ
๔. แล้วก็เข้าถึงความสงบ
เรียนรู้ถึงความสงบไล่ระดับไปเรื่อยๆ
จากสงบในแง่ของสมถะ จนถึงความสงบในแง่ของกิเลสดับไป

ก็ชวนกันมาศึกษามี ๔ อย่างนี้
เรียกว่า “อธิษฐานธรรม ๔ ข้อ”

พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล
???
เรียบเรียงจากรายการ’ธรรมะสว่างใจ’
ออกอากาศเมื่อ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ที่ลิงค์วีดีโอhttps://youtu.be/ScJaTwQiiyg
(ระหว่างนาที ๒.๔๓-๖.๕๒)

อ่านเพิ่มเติมจากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
ลิงค์ http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=8748&Z=9019


อ่านบน Facebook