วันพุธที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๒ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนอ้าย ??? พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ ๒๓๔ #คนส่วนใหญ่มักจะทำสมถะเพื่อสมถะ จะเจริญวิปัสสนาได้ต้องมีสมถะรองรับ หรือมีสมถะเป็นบาทฐาน ที่เป็นห่วงอย่างเดียวคือ.. คนส่วนใหญ่มักจะ..”ทำสมถะเพื่อสมถะ” พอไม่สงบก็พยายามทำให้สงบ มันฟุ้งไป ก็ไม่เรียนรู้ว่า มีความฟุ้งซ่านเกิด-ดับ แต่ฟุ้งซ่านไป รีบทำให้มันสงบ ทั้ง ๆ ที่เมื่อกี้นี้มีสิ่งหนึ่งที่ปรากฏแล้วให้ดู คือ ฟุ้งซ่าน แทนที่จะรู้ว่าฟุ้งซ่านเฉย ๆ เห็นฟุ้งซ่านเกิด-ดับ กลับไปแก้ไขฟุ้งซ่านให้มันสงบ เมื่อกี้นี้มีราคะเกิดขึ้น แทนที่จะเห็นราคะเฉย ๆ แล้วเห็นมันเกิด-ดับ กลับไปทำให้มันสงบ..นึกออกมั้ย? ไปติดอยู่ตรงที่ว่า มัวแต่ทำความสงบ! แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ทำความสงบ.. ยังต้องทำความสงบนะ.. แต่ทำความสงบเพื่อให้เห็นจิตที่มันฟุ้งซ่านไป เห็นจิตที่มันเผลอไป เห็น..ให้มันแสดงไตรลักษณ์ให้ดู! มันจะเข้าสู่ทางแห่งความพ้นทุกข์ คือทางสายกลางนี้ให้ได้ ที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงมา มันมีทางสุดโต่งสองด้านเนี่ย ก็ต้องเรียนรู้ว่าเราผิดแบบไหน! ตอนรู้ว่าผิด..จะถูกพอดี ตอนตามใจกิเลสเนี่ย คือคิดเรื่องนี้มันส์เหลือเกินนะ คิดยาว ๆ นี่ก็ตามใจกิเลส เป็น “กามสุขัลลิกานุโยค” ถ้าทำไป ก็เป็นของคนผู้มีกิเลสหนาเป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน อย่างนี้เรียกว่า ตามแบบสุดโต่งไปด้านหนึ่ง ด้านตามใจกิเลส ไม่อยากให้เผลอ..บังคับให้มันอยู่นิ่ง ๆ เครียด ๆ ไม่มีความสุข ไม่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิที่ถูกต้อง เมื่อไม่มีสมาธิที่ถูกต้องก็ไม่เกิดปัญญา ฉะนั้น เพียงแค่ทำสมถะตามกำลังของเรา เราอาจจะเป็นพวกสมถยานิก หรือวิปัสสนายานิก อาจจะไม่ต้องสนใจตรงนั้นก็ได้ แค่ทำสมถะตามกำลังของเรา สมถะนั้นจะเอื้อให้เห็นเลยว่า เดี๋ยวก็เผลอ เดี๋ยวจิตนี้ก็จะทำงาน ต่าง ๆ นา ๆ ให้ดู เราจะศึกษาให้เห็นความจริงของจิต ว่ามันไม่เที่ยงอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็เกิด-ดับ เดี๋ยวก็เผลอไป เผลอไปแล้วรู้ทัน..เผลอดับ ไอ้ตัวรู้ก็ดับด้วย ดับแบบไล่ตามกันไป ไม่ใช่ดับพร้อมกันด้วยนะ! ไอ้ “เผลอ” ดับก่อน แล้ว “รู้” ดับตามกันไป เห็นอย่างนี้ ไม่มีเราในที่ไหนเลย! กายนี้ไม่ใช่เรา ใจนี้ก็ไม่ใช่เราด้วย เนี่ย..ถ้าได้อย่างนี้เรียกว่า “มีดวงตาเห็นธรรม” ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล ??? เรียบเรียงจากการแสดงธรรมเรื่อง “ทางสายกลาง” แสดงธรรม ณ เรือนไทยริมน้ำ วัดสังฆทาน เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๒ ลิงค์ไฟล์เสียง 620822 ทางสายกลาง-วัดสังฆทาน http://bit.ly/2roHFnv (ระหว่างเวลา ๔๘.๓๑- ๕๑.๐๓)

อ่านต่อ