#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๖๑ #ไม่ชอบแม่สามีพูดเรื่องคนอื่น ?? #ถาม​ : โยมอยู่บ้านแม่สามีนะคะ​ ทีนี้แม่สามีชอบเอาเรื่องข้างนอก​ เรื่องคนอื่นมาพูด แล้วใจโยม​ก็รู้สึกว่าโยมไม่ค่อยชอบ​ เราจะแก้ยังไงดีคะ? แบบใจเรามันจะค้านว่า​ “ทำไมเอาเรื่องคนโน้นมาพูด? ทำไมต้องพูดโกหก? ทำไม..? อะไรอย่างนี้น่ะค่ะ​ ..แต่โยมไม่ได้เถียงนะคะ​ ยังไม่ได้พูดอะไรนะคะ #ตอบ​ : ชักสีหน้าไหม? สีหน้าเปลี่ยนไหม? #ถาม : ไม่เปลี่ยนค่ะ​ โยมก็แบบ​.. “อุ้ย! เอาอีกแล้ว” พอเอาอีกแล้วนี่..โยมจะเงียบไปเล​ย แล้วบางทีโยมก็สงสารแกนะ​ เพราะว่าอย่างแกทานข้าวอย่างนี้​ แกก็ทานคนเดียวโยมก็ไปนั่งคุย​ พอโยมคุยได้ซัก ๒​ – ๓ คำ​ แกก็เอาคนอื่นมาอีกแล้วนะคะ​ แล้วโยมจะแก้อย่างไรดีคะ? #ตอบ​ : ไม่ได้แก้ที่แม่นะ! แม่เนี่ย​ ยังไม่ต้องแก้​ ให้รู้ทันจิตใจเรา​ เราได้ยินคำนี้..แล้วไม่ชอบใจ​ ให้รู้ทันว่า..มีโทสะ​เกิดขึ้นในใจ​ นึกออกไหม? แม่จะพูดอะไรมา​ เราก็ไม่เติมเรื่อง​ อาจจะพยักหน้าหงึก​ ๆ​ ไป​ ไอ้พยักหน้าเนี่ยนะ​ ไม่ได้เห็นด้วยอะไรกับเขาหรอก แค่ “อืม..เรื่องมันเป็นอย่างนี้” แล้วเราอาศัยกายเคลื่อนไหวเนี่ย..เจริญกรรมฐานรู้กาย​ เอาจิต..รู้กาย​ ฟัง..แล้วก็ยิ้ม​ ยิ้มแล้ว..มีความสุข เราก็รู้ว่า​ขณะนี้​ กาย..ยิ้ม​ ใจ..มีความสุข​ นึกออกไหม? เราไม่ได้สนับสนุนในสิ่งที่แม่พูดมา แต่เราก็ไม่ทำร้ายน้ำใจแม่​ นึกออกไหม? เราอาศัยอยู่กับเขาน่ะ จะไปดักคอแม่​ แม่ก็โกรธเราน่ะสิ​ ใช่ไหม? ไม่ต้องดักคอนะ ฟัง​ ๆ​ ไปก่อน ตอนนี้เราไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะมาสอนแม่​ เราก็ฟัง​ ๆ​ ไป​ แล้วดูจังหวะดี​ ๆ ถ้ามีจังหวะอะไรที่ดี​ ๆ​ หน่อย​ คือ​พอจะบอกกันได้..ก็บอก “แม่อย่าพูดเลย​ ไม่มีประโยชน์หรอก​ ตรงนี้นะ!” “พูดไป​นะ! เราได้ยินกัน​ ๒​ คน​ พูดทีไรนะ..เราก็โกรธทุกที​ โกรธทีไรนะ..กินอาหารไม่อร่อยสักที” อย่างนี้นะ! ใจเราเนี่ย​ พอนึกถึงเรื่องนี้ คุยเรื่องนี้​ แล้วเราไม่ชอบใจ​ ใจเราเสียทันที อาหารยังไม่เสีย..แต่ใจเราเสีย เริ่มต้นทำใจตัวเองให้ได้ก่อน​ เพียงแค่.. รู้ทัน​ ความโกรธที่เกิดขึ้น ใจเป็นปกติแล้ว..รอดูจังหวะ​ ถ้าจังหวะนี้​ ยังไม่ควรพูด..ก็ยังไม่ต้องพูด​ นึกออกไหม? มันไม่ใช่ว่าจะเตือนกันได้ตลอดเวลา​นะ เราต้องดูจังหวะ​ ดู​ว่าเตือนไปแล้วเนี่ย.. ถ้าเตือนในขณะที่เขากำลังหงุดหงิดจัด​ ๆ​ เนี่ยนะ..เราอาจจะโดนโกรธไปด้วย​ แม่อาจจะโกรธเราไปด้วย​ นึกออกไหม? ก็ดูจังหวะดี​ ๆ​ ว่า​ คือ​แต่ละคน​ ๆ​ ก็จะมีจังหวะที่ดีไม่เหมือนกัน โยมอยู่ด้วยกันกับคุณแม่มานานเนี่ยนะ​ ก็น่าจะพอจับจังหวะได้​ว่า​ ควรจะพูดเวลาไหน? ถ้าเห็นว่าพูดแล้วไม่ได้ผล​ ก็รอนาน​ ๆ​ รอไปก่อน​ อย่างน้อย​ ๆ​ ใจเราเนี่ย..อย่าเสียไปด้วย วิธีที่จะรักษาจิต..ก็คือ​ใช้​สติ​รักษา​ “สติ” เป็นเครื่องรักษาจิต เราไม่ต้องทำอะไรมาก..แค่​รู้ทัน​ เนี่ยนะ ตอน​ รู้ทัน..มีสติขึ้นมาแล้ว สติ..ที่รู้ทันกิเลสนั่นน่ะ​ สติ..เป็นตัวรักษาจิต​ เพราะตอนรู้ทันเนี่ย..ไม่มีกิเลส​ แล้วเราก็กินต่อไป​ เสพรสชาติอาหารได้เต็มที่​ ตอนเสพรสชาติอาหารนะ! จิตอยู่กับรสชาติเนี่ยนะ..มันไม่ได้ฟัง จิตเนี่ย..ทำงานทีละขณะ เวลาเสพรสชาติอาหารเนี่ยนะ..มันจะไม่ได้ดู​ ไม่ได้ฟัง​ ตอนดู..ก็ไม่ได้ฟัง​ ไม่ได้กิน​ ไม่ได้เสพรสชาติ ตอนโกรธนะ! อาหารอร่อยอยู่กับปากนะ ก็ไม่รับรู้เลยว่ามันอร่อย..มันกำลังโกรธ​ จิตเนี่ย​ เกิด-ดับทีละขณะ​ และทำงานได้ขณะละอย่างเดียว ฉะนั้นถ้าคุณแม่เอาเรื่องคนอื่นมาคุยบนโต๊ะอาหารเนี่ยนะ เราก็กิน..แล้วเสพรสอาหารของเราไปเรื่อย​ ๆ​ มีความสุขกับน้ำพริกไปเรื่อย​ ๆ​ เนี่ยนะ​ นี่นะ! มีรสน้ำพริกอยู่ในปากเนี่ยนะ.. พอจิตไหวไปหาเสียงที่แม่กำลังคุยนะ! จิตแว๊ปไป..รู้ทัน อย่างนี้​ ได้ทำกรรมฐานบนโต๊ะอาหาร​เลย แว๊ปไป​ ๆ​ เผลอเนี่ยนะ! เห็นความเผลอ..ใช้ได้ ถ้าเผลอไป..ไม่รู้ทัน เห็นความโกรธ..ก็ยังใช้ได้ เห็นความไม่พอใจ..ใช้ได้ เห็นตอนไหน..เอาตอนนั้น เรียกว่าเราได้ทำกรรมฐานบนโต๊ะอาหารเนี่ยนะ ได้สติหลายตัวเลย บางทีก็อาจจะได้สมาธิจิตตั้งมั่นด้วยซ้ำไป เห็นจิตไหลไป​ เห็นจิตเผลอไปกับเรื่องราว​ที่แม่พูด​ โดยตั้งต้นจิตที่ว่า​ เรากินข้าว.. มีสติอยู่ตรงปากเราเนี่ย แล้วเผลอไป.. รู้ทัน เผลอไป.. รู้ทัน เวลาเผลอเนี่ยนะ.. คือจิตเปลี่ยนช่องทางรับรู้​ เปลี่ยนช่องทางทำงาน​ แทนที่จะรับรู้อยู่ที่ลิ้น​ ที่ปากเนี่ยนะ​ มันใช้ช่องหูแล้ว..ไปฟัง​ แล้วใช้มโนด้วย..ใช้ความคิดนึก​ ทำงานหลายช่อง​ บางทีเราอาจจะเห็นการทำงาน​ของจิต​หลากหลายรูปแบบ ในขณะที่กำลังกินข้าว..แล้วแม่กำลังคุยอยู่นี่แหละ เข้าใจเรื่องจิตไปเลย เข้าใจตรงนั้นเลย​ พระอาจารย์กฤช​ นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ​ “ธรรมะสว่างใจ” วันที่​ 18 ธันวาคม ๒๕๖๒ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/9aFxtIfV5PQ (นาทีที่​ 1:09:50​ -​ 1:16:50)

อ่านต่อ