วันอังคารที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๓ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ??? พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ ๒๖๑ #จิตดีเป็นยังไง? โดยมนุษย์ทั่ว ๆ ไปเนี่ย จิตมีดีบ้าง ไม่ดีบ้าง จิตดี จะเป็นจิตที่มีคุณภาพ แต่คุณภาพที่เราต้องการจริง ๆ คือ ให้กลายเป็นจิตที่ดี ที่พร้อมจะเจริญปัญญา จิตที่พร้อมจะเจริญปัญญา ก็คือ จิตที่มีคุณสมบัติสำคัญ ๆ สองตัว คือ มีสติ และ มีสมาธิ สติที่ต้องการ คือ สติปัฏฐาน สติทั่ว ๆ ไป ก็ดีเหมือนกัน แต่ก็ต้องการพัฒนาไปถึงสติปัฎฐานด้วย สติปัฎฐาน มีฐานอยู่ ๔ อย่าง คือ กาย, เวทนา, จิต, ธรรม สติทั่ว ๆ ไป ตัวอย่างเช่น ขับรถมีสติ ไม่ตกถนน ไม่แหกโค้ง หรือมีสติก่อนสตาร์ท อันนี้คือสติทั่ว ๆ ไป ส่วนสติที่เรียกว่าเป็น สติปัฏฐาน ก็คือ รู้กาย, รู้เวทนา, รู้จิต หรือรู้ธรรม สี่อย่างนี้เท่านั้น ถ้าเห็นดวงไฟ รู้ว่าดวงไฟ อย่างนี้ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน เห็นพัดลม รู้ว่าพัดลม ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน นึกออกไหม? เห็นกาแฟ รู้ว่ากาแฟ อย่างนี้ก็ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน เห็นกาแฟ แล้วอยากกิน รู้ว่าอยาก อันนี้คือสติปัฏฐาน คือรู้จิต เห็นมือเคลื่อนมาจะถึงหน้าแล้ว..อ่ะ! อื่ม! เห็นมือเคลื่อนมา เรียกว่ามีสติปัฏฐาน คือเห็นกาย พอมือจะถึงหน้า ตกใจ! เห็นความตกใจ นี่มีสติดูจิต คือมันต้องอยู่ในขอบเขตนี้ กาย, เวทนา, จิต, ธรรม พูดสั้น ๆ ก็คือ รู้กาย รู้ใจ นี่คือ “สติ” ที่ต้องการ ส่วนสมาธิก็คือ จิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่นก็คือ จิตไม่ไหลไป ไม่เคลื่อนไป วิธีทำจิตตั้งมั่นง่าย ๆ สำหรับคนสมาธิยังไม่ดี ก็คือ รู้ทันว่า..จิตเคลื่อนไป รู้ทันว่า..จิตไหลไป รู้ทันว่า..จิตมันอินอยู่กับอารมณ์นี้ อย่างโกรธเนี่ย จิตก็เข้าไปอินได้นะ! อินอยู่ในความโกรธ มีราคะ ก็อินอยู่ในราคะ ใจลอย ก็อินอยู่กับเรื่องราว ในความคิด ขณะที่จิตอินนั้นน่ะ คือจิตไม่ตั้งมั่น วิธีฝึกจิตตั้งมั่น ก็คือ หากรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วพอจิตมันเผลอให้รู้ทัน ตอนเผลอเนี่ย มันจะมีอาการเคลื่อนของจิต ถ้าเห็นจิตเคลื่อนได้ ก็จะได้จิตที่ไม่เคลื่อน ถ้าไม่เห็นจิตเคลื่อน มันเผลอไปแล้ว รู้ทันว่าเผลอ และรู้ด้วยใจที่เป็นกลาง จิตก็จะตั้งมั่นได้ทันที รู้ด้วยใจที่เป็นกลาง ก็คือ รู้แล้วไม่แทรกแซง รู้เฉยๆ รู้เฉย ๆ จะเห็นว่าไอ้ตัวเผลอเนี่ย ถูกรู้ แล้วมีจิตผู้รู้อยู่ต่างหาก เห็นตัวเผลอเป็นสิ่ง ๆ หนึ่ง มีผู้รู้อยู่ต่างหาก ไอ้เนี่ยคือ อาการของจิตตั่งมั่น จิตตั้งมั่น คือไม่อินไปกับอารมณ์ เห็นอารมณ์นั้น แล้วจิตไม่เข้าไปยุ่งกับอารมณ์ รู้อยู่ว่ามีมัน แต่ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมัน เรียกว่า “จิตตั้งมั่น” ทำ ๒ ตัวนี้ คือ ๑. มีสติ รู้ทันกาย รู้ทันใจ ๒. รู้ทันอารมณ์ว่าสิ่ง ๆ หนึ่ง ถูกรู้ แล้วมีจิตผู้รู้อยู่ต่างหาก ทำจิตตั้งมั่นขึ้นมา ให้จิตมีคุณสมบัติ ๒ อย่างนี้มาได้ ก็เรียกว่า “จิตดี” พร้อมจะเจริญปัญญา แล้วก็จะบรรลุมรรคผลพ้นทุกข์ไปได้ ด้วยจิตที่ดีนี่แหละ ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากธรรมบรรยายเรื่อง “จิตดี” ลิงค์ไฟล์เสียงธรรม https://bit.ly/2RgFufZ (นาทีที่ 40.29-44.18)

อ่านต่อ