#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๖๙ #การเห็นไตรลักษณ์ ?? #ถาม : โยมทำในรูปแบบทุกวันเช้า-เย็น ทุกวันตั้งใจรักษาศีล ๕ ทำในรูปแบบ มีเครี่องอยู่กับพุธโธ แล้วดูจิตที่ไหลไป คิดก็รู้ เพ่งก็รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ โกรธเองก็รู้ เห็นการเกิดดับของสภาวะ อยากทราบว่าโยมได้เห็นไตรลักษณ์รึยัง? และตอนระหว่างวันก็ได้มีเครื่องอยู่ ยืน-นั่ง-นอน-เดิน แล้วดูจิตที่ไหลไปคิด ในระหว่างวันก็ได้ ฝึกสติได้เนืองๆ หลงบ้าง รู้บ้าง บางวันหลงไม่ยาว บางวันหลงยาว และระหว่างวันบางครั้งได้เห็นจิตที่ไหลไปอยู่กับความคิด และเหมือนมีอีกตัวเห็นมันทำงานของมันเอง อันนี้คือการเห็นไตรลักษณ์รึยังเจ้าค่ะ? ปัญหาคือไม่เข้าใจการเห็นไตรลักษณ์เจ้าค่ะ! #ตอบ : ไตรลักษณ์ แปลว่า ลักษณะ ๓ อย่าง หมายถึง ลักษณะที่เป็นเครื่องกำหนดหมายให้รู้ถึงความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ที่เป็นอย่างนั้นๆ ได้แก่ 1. อนิจจลักษณะ ความเป็นของไม่เที่ยง 2. ทุกขลักษณะ ความเป็นทุกข์ เป็นของคงทนอยู่ไม่ได้ 3. อนัตตลักษณะ ความเป็นของไม่ใช่ตัวตน คนไทยนิยมพูดสั้นๆ ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และแปลกันง่ายๆ ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ซึ่งความเป็นไปลักษณะนี้พระพุทธองค์ทรงค้นพบ แล้วนำมาเปิดเผยต่อชาวโลก ดังมีพุทธพจน์ว่า “ตถาคต (พระพุทธเจ้า) ทั้งหลาย จะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ (หลัก) นั้นก็ดำรงอยู่ เป็นธรรมฐิติ (ภาวะที่ตั้งอยู่ หรือยืนตัวเป็นหลักแน่นอนอยู่โดยธรรมดา) เป็นธรรมนิยาม (ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน) ว่า (๑) สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง … (๒) สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์ … (๓) ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา … ตถาคตตรัสรู้ เข้าถึงหลักนั้นแล้ว จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผย แจกแจง ทำให้เข้าใจง่าย ว่า ‘สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง … สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์ … ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา” “สังขาร” ในที่นี้ หมายถึงสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม นั่นก็คือ ขันธ์ ๕ ทั้งหมด “ธรรมทั้งปวง” ในที่นี้ หมายถึงสิ่งที่เป็นสังขารและไม่ใช่สังขาร คือรวมมาถึงพระนิพพานด้วย ผู้ที่มีปัญญาเห็นความจริงของสภาวธรรม พูดอีกอย่างว่าเห็นไตรลักษณ์ จึงจะเรียกได้ว่า “เจริญวิปัสสนา” ผู้ที่ยังไม่เห็นไตรลักษณ์ หรือยังเห็นไม่มากพอ ก็ยังมีความเห็นผิดว่า มีตัวตนเป็นเรา เราเป็นนั่น นั่นของเรา ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรมีอยู่ เพราะอาศัยอะไร เพราะยึดถืออะไร จึงเกิดทิฏฐิขึ้นว่า นั่นของเรา, เราเป็นนั่น, นั่นเป็นอัตตา/ตัวตนของเรา ภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูป…เมื่อเวทนา…เมื่อสัญญา…เมื่อสังขาร…เมื่อวิญญาณมีอยู่ เพราะอาศัย (รูป…เวทนา…สัญญา…สังขาร) วิญญาณ เพราะยึดมั่น (รูป…เวทนา…สัญญา…สังขาร) วิญญาณ จึงเกิดทิฏฐิว่า นั่นของเรา, เราเป็นนั่น, นั่นเป็นอัตตา/ตัวตนของเรา” การเห็นอนิจจลักษณะ หรือลักษณะที่ไม่เที่ยงนี้ จะเห็นได้ ๔ แง่ คือ 1. เห็นการเกิดและการสลาย คือ เกิดดับ-เกิดดับ มีแล้วก็ไม่มี 2. เห็นเป็นของแปรปรวน คือ เปลี่ยนแปลง แปรสภาพไปเรื่อยๆ 3. เห็นเป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะ 4. แย้งต่อความเที่ยง คือสภาวะที่เห็นนั้นมันปฏิเสธความเที่ยงอยู่เอง ไม่พบความเที่ยงเลย การเห็นทุกขลักษณะ หรือลักษณะที่เป็นทุกข์ ก็เห็นได้ ๔ แง่ คือ 1. เห็นว่ามีความบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา 2. เห็นว่าเป็นสภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้ จะต้องเปลี่ยนไป กลายไป หมดสภาพไป 3. เห็นว่าเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ คือเมื่อโยงมาถึงคน ก็เป็นที่ก่อให้เกิดทุกข์ 4. แย้งต่อสุข คือ ความขัดแย้งบีบคั้นนั้น มันทำให้ไม่คล่อง ไม่สะดวก ไม่ราบรื่น การเห็นอนัตตลักษณะ หรือลักษณะที่เป็นอนัตตา ก็เห็นได้ ๖ แง่ คือ 1. เห็นเป็นสภาพว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ความเป็นนั่นเป็นนี่ ไม่มีแก่นสารสาระที่เป็นตัวแท้ที่ยืนยงอยู่ตลอดไป 2. เห็นเป็นสภาพไร้เจ้าของ ไม่เป็นของใคร ไม่มีตัวตนใดๆ ที่จะเป็นเจ้าของครอบครอง 3. เห็นเป็นสภาพที่ไม่อยู่ในอำนาจใคร ไม่มีตัวตนที่ไหนจะมามีอำนาจสั่งบังคับได้ ไม่ขึ้นต่ออำนาจหรือความปรารถนาของใคร 4. เห็นเป็นสภาพเป็นกองแห่งธรรมล้วนๆ เป็นเพียงรูปธรรม-นามธรรม ที่เกิดจากองค์ประกอบรูป/นามย่อยๆ มาประชุมกัน 5. เห็นเป็นสภาพที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย องค์ประกอบทั้งหลายต่างก็สัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กัน มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ 6. แย้งต่ออัตตา มีสภาวะตามที่มันเป็นอย่างนั้นเอง การที่โยมเห็นการเกิดดับของสภาวะ ก็นับว่าเห็นไตรลักษณ์แล้ว คือเห็นในแง่ว่ามัน “ไม่เที่ยง” และที่โยมเห็นว่า จิตทำงานของมันเอง ก็นับว่าเห็นไตรลักษณ์ได้เหมือนกัน คือเห็นในแง่ของ “อนัตตา” แต่มีข้อสังเกตนิดหนึ่งว่า ที่ว่า “เห็น” นั้น เป็นการเห็นจริงๆ ไม่ใช่คิดเทียบเคียง การคิดเทียบเคียง จะเป็นการเอาสภาวะอดีตมาเทียบกับปัจจุบัน เช่น “เมื่อกี้โกรธ ตอนนี้ไม่โกรธ” อย่างนี้คือคิดเทียบเคียง เป็นปัญญาเหมือนกัน แต่ยังไม่ถึงขั้นวิปัสสนา เพราะยังเจือความคิด การเห็นไตรลักษณ์ขั้นวิปัสสนา ก็ต้องเป็นการ “เห็น” ไม่ใช่ “คิด” คือจะต้องเห็นสภาวะปัจจุบันนั้นเองดับไป แปรไป ต่อหน้าต่อตาตรงนี้เลย การที่จิตจะเห็นไตรลักษณ์ได้ จึงต้องมีสัมมาสติ และสัมมาสมาธิ พูดง่ายๆ ก็คือ ฝึกให้รู้สึกตัว และมีจิตผู้รู้ขึ้นมา เมื่อมีจิตผู้รู้ ก็จะเห็นว่า สิ่งที่ถูกรู้นั้นไม่ใช่เรา ดูไปมากเข้า จิตผู้รู้นั้นเองก็ไม่ใช่เราด้วย ในระหว่างการฝึกรู้เท่าทันธรรมดาของโลก เห็นไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕ ขึ้นมา ก็มักจะเกิดความเบื่อหน่าย รังเกียจ อยากจะหนีให้พ้นไปจากสภาวะเหล่านี้ไปเสีย เมื่อรู้สึกอย่างนี้ ก็ต้องรู้เท่าทันอีกว่า นี่เป็น “ความไม่เป็นกลาง” เมื่อความเบื่อหน่าย รังเกียจ อยากจะหนีให้พ้นนั้นดับหายไปแล้ว จิตมีความเป็นกลางต่อความปรุงแต่งทั้งหลาย จิตจึงจะพร้อมที่จะเข้าถึงความหยั่งรู้อริยสัจ และบรรลุมรรคผลไปเป็นลำดับ การเห็นไตรลักษณ์จะเป็นตัวเร่งให้เกิดความไม่ประมาท – เมื่อเห็นอยู่ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ก็ต้องเร่งรัดปฏิบัติให้ทัน มิฉะนั้นเมื่อถึงเวลา มันย่อมแตกดับสลาย การเห็นไตรลักษณ์จึงกระตุ้นเตือนให้เร่งพัฒนาจิต เพื่อบรรลุภูมิธรรมที่สูงยิ่งๆขึ้นไป จนกว่าจะหลุดพ้นเป็นอิสระ – เมื่อเห็นทุกข์บีบคั้นอยู่ เหมือนเห็นภัยมาถึงตัว ท่าทีของใจก็ไม่มัวเมา – เมื่อรู้อยู่ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็ย่อมเร่งสร้างเหตุที่ดี ไม่เผลอทำเหตุที่ชั่ว โดยเฉพาะจะเร่งเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อเป็นเหตุปัจจัยให้บรรลุมรรคผล พ้นทุกข์พ้นภัยไป จิตนี้ยึดอะไร จึงเกิดมิจฉาทิฏฐิว่านี่เป็นเรา/ของเรา ก็ยึดขันธ์ ๕ นี้แหละ ดังนั้น พึงเร่งเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน โดยมีขอบเขตอยู่ที่ขันธ์ ๕ นี้ ให้เห็นไตรลักษณ์ในขันธ์​ ๕ นี้ เร่งภาวนาให้เห็นจริง เพราะชีวิตนี้ไม่เที่ยง และทุกข์ก็กำลังบีบคั้นอยู่นี่แหละ ให้สมกับคำเตือน อันเป็นปัจฉิมโอวาทของพระพุทธองค์ว่า “สิ่งทั้งหลายที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ย่อมมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ที่มุ่งหวังให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาท” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล ๕ มิถุนายน ๒๕๖๓

อ่านต่อ