วันพุธที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๓ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ??? พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #จิตนี้ข่มยาก ทุนฺนิคฺคหสฺส ลหุโน ยตฺถ กามนิปาติโน จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ หมายความว่า จิตนี้ข่มยาก เบา เกิดดับตลอดเวลา ปลิวไปปลิวมาด้วยความเบา ลหุ แปลว่า เบา เบา ในที่นี้คือ อยู่ตรงนี้นะ..ถูกลมพัดก็ปลิวไปแล้ว ลมในที่นี้หมายถึง โลกธรรมทั้ง ๘ มีอะไรบ้าง? ได้ลาภ-เสื่อมลาภ ได้ยศ-เสื่อมยศ สรรเสริญ-นินทา สุข-ทุกข์ ไม่ว่าอะไรมากระทบ จิตมันจะปลิว ปลิวในที่นี้แปลได้อีกความหมายว่า เกิด-ดับ คนส่วนใหญ่ปลิวไปปลิวมาในโลก ปลิวไปทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ที่มากที่สุดคือปลิวไปทางความคิด เรียกว่า ฟุ้งซ่าน ยตฺถ กามนิปาติโน แปลว่า มีปกติตกไปในกาม จริง ๆ แล้วจิตมีปกติใฝ่หากาม คือใฝ่หาความสุขจากการเสพทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้าได้มา ก็เรียกว่าได้ตามที่มีกามราคะ (มีราคะในกาม) โทสะ มาจากอยากได้..แล้วมันไม่ได้ จิตที่ข่มได้ยาก เบา ปลิวไปปลิวมาไปตามกระแสของโลก มันไม่ได้ไปไหน มันตกอยู่ในโลกของกาม ๕ ประการ คือ อยากเสพรูปทางตา อยากเสพเสียงทางหู อยากเสพกลิ่นทางจมูก อยากเสพรสทางลิ้น อยากเสพสัมผัสทางกาย รวมแล้วเรียกว่าอยากเสพ “กาม” จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ แปลว่า การฝึกจิตเป็นการดี จิตฺตํ ทนฺตํ สุขา วหํ แปลว่า จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้ มันต้องฝึก ไม่ฝึกไม่ได้ เอาแต่ฟังอย่างเดียวไม่พอ หรือฝึก..แต่ว่าไม่ลงไปเห็นสภาวะ ก็ไม่ได้ ต้องเห็นจิตทำงาน เป็นเรื่องธรรมดาที่จิตมันจะวอกแวก อย่าไปลงโทษตัวเอง เพราะนั่นเป็นการปรุงแต่งทุกข์ไปทับถมตัวเอง ทุกข์ที่ไม่ควรเกิด..เกิดมาจากที่เราเห็นจิตไม่ได้ดังใจ คือเราอยากจะดี แล้วมันไม่ดีดั่งใจ ไอ้”ดี”เนี่ย มันไม่ได้มาด้วยอยาก “ดี” มันมาจากรู้ทันความจริง เข้าใจความจริง ว่าจิตทำงานอย่างนี้นี่เอง ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากบรรยายเรื่อง “จิตนี้ข่มยาก” กิจนิมนต์ ณ บ้านคุณมาลี ปาละวงศ์ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๓

อ่านต่อ