#นิมฺมโลตอบโจทย์ #นอนมีสติ #ไม่ติดสุขกับการนอน #สีหไสยา #อุฏฐานสัญญา ?? #ถาม : เวลาทำสมาธิ มันหาวง่วงนอนมากเลยค่ะ ทำยังไงดีเจ้าคะ? #ตอบ : ลองศึกษาอุบายแก้ง่วง ที่พระพุทธเจ้าทรงแนะให้กับพระมหาโมคคัลลานะดูนะ เมื่อครั้งพระมหาโมคคัลลานะบวชได้ ๗ วัน ท่านได้เข้าไปภาวนาในป่าใกล้หมู่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ เดินจงกรมทำความเพียรอยู่ตลอด ๗ วัน มีความลำบากทางร่างกายบีบคั้น จึงนั่งโงกง่วงอยู่ในท้ายที่จงกรม พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เภสกฬามิคทายวัน เขตกรุงสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ ได้เห็นเหตุการณ์นี้ด้วยตาทิพย์ จึงไปปรากฏพระองค์ต่อหน้าท่านพระมหาโมคคัลลานะ แล้วถามว่า “เธอง่วงหรือ โมคคัลลานะ? เธอง่วงหรือ โมคคัลลานะ?” ตรัสถามถึงสองครั้ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลรับว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ๑. เมื่อเธอมีสัญญาอยู่อย่างไร ความง่วงนั้นย่อมครอบงำเธอได้ เธออย่า ได้มนสิการถึงสัญญานั้น อย่าได้ทำสัญญานั้นให้มาก เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น จะละความง่วงนั้นได้ ๒. ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น ยังละความง่วงนั้นไม่ได้ เธอพึงตรึกตรองพิจารณา ธรรมตามที่ได้สดับมา ได้เล่าเรียนมา เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น จะละความง่วง นั้นได้ ๓. ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น ยังละความง่วงนั้นไม่ได้ เธอพึงสาธยายธรรมตาม ที่ได้สดับมา ได้เล่าเรียนมาโดยพิสดาร เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น จะละความง่วง นั้นได้ ๔. ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น ยังละความง่วงนั้นไม่ได้ เธอพึงยอนช่องหูทั้ง ๒ ข้าง ใช้มือบีบนวดตัว เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น จะละความง่วงนั้นได้ ๕. ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น ยังละความง่วงนั้นไม่ได้ เธอพึงลุกขึ้นยืน ใช้น้ำลูบตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตร เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น จะละความ ง่วงนั้นได้ ๖. ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น ยังละความง่วงนั้นไม่ได้ เธอพึงมนสิการถึงอาโลก- สัญญา(ความกำหนดหมายแสงสว่าง) ตั้งสัญญาว่าเป็นกลางวันไว้ คือกลางวัน อย่างไร กลางคืนก็อย่างนั้น กลางคืนอย่างไร กลางวันก็อย่างนั้น มีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตให้โปร่งใส เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น จะละความง่วงนั้นได้ ๗. ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น ยังละความง่วงนั้นไม่ได้ เธอพึงอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ภายใน มีใจไม่คิดไปภายนอก เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น จะละความง่วงนั้นได้ ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น เธอยังละความง่วงนั้นไม่ได้ ก็พึงสำเร็จสีหไสยา(การ นอนดุจราชสีห์)โดยตะแคงข้างขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำอุฏฐานสัญญา(กำหนดหมายว่าจะลุกขึ้น)ไว้ในใจ พอตื่น ก็รีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า‘เราจักไม่ ประกอบความสุขในการนอน ไม่ประกอบความสุขในการเอกเขนก ไม่ประกอบ ความสุขในการหลับ’ โมคคัลลานะ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล (ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ จปลายมานสูตร อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต) ท่านพระมหาโมคคัลลานะคงจะหายง่วงตั้งแต่พระพุทธองค์เสด็จมาแล้วล่ะนะ แต่อุบายทั้ง ๗ ข้อนี้ก็นับว่าเป็นประโยชน์ต่อนักปฏิบัติในภายหลัง ขออธิบายด้วยสำนวนที่ง่ายขึ้นเท่าที่ปัญญาจะอำนวย ดังนี้ ๑. “เมื่อเธอมีสัญญาอยู่อย่างไร ความง่วงนั้นย่อมครอบงำเธอได้ เธออย่า ได้มนสิการถึงสัญญานั้น อย่าได้ทำสัญญานั้นให้มาก” นี่ก็คือ จิตเผลอ..ก็รู้ว่าเผลอ เห็นสภาวะเผลอก็หายง่วง ถ้าไม่เห็น จิตก็จะไปจมในเรื่องราวที่เผลอคิด เห็นความเผลอ..จิตก็ตื่นขึ้นมา ก็มาเริ่มที่กรรมฐานตั้งต้นใหม่ จิตไหลไป..ก็รู้ว่าจิตไหลไป ถ้าไม่เห็น บางทีมันก็ไหลเคลิ้มไปเลย ถ้าเห็นจิตที่ไหล..จิตก็ตื่นตั้งมั่นขึ้นมา ๒. “พึงตรึกตรองพิจารณาธรรมตามที่ได้สดับมา ได้เล่าเรียนมา” ก็คือ แทนที่จะปล่อยให้เคลิ้ม ก็เปลี่ยนอารมณ์ เป็นคิดพิจารณาธรรมที่ได้ยินได้ฟังมา ได้ทบทวนธรรมในใจ บางทีได้ความเข้าใจมากขึ้น แม้จะเป็นปัญญาในระดับคิดเอา ก็ยังดีกว่านั่งหลับ ๓. “พึงสาธยายธรรมตามที่ได้สดับมา ได้เล่าเรียนมาโดยพิสดาร” คราวนี้ไม่ใช่แค่คิดแล้ว พระองค์ให้สวดออกเสียงเลย ๔. “พึงยอนช่องหูทั้ง ๒ ข้างใช้มือบีบนวดตัว” สวดมนต์นานๆ บางทีชักชิน มีแอบหลับ ก็ต้องคอยขยับบ้าง ใช้มือตนเองลูบแขนลูบตัว ใครผมยาวก็ลองเอาผมมาแหย่หู มันจะจั๊กจี้ชนิดสะดุ้งตื่นขึ้นมาได้ ๕. “พึงลุกขึ้นยืน ใช้น้ำลูบตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตร” แสดงว่าทนนั่งต่อไปไม่ได้แล้วนะ ต้องเปลี่ยนอิริยาบถเป็นท่ายืน หรือเอามือตนเองลูบก็ชักจะไม่พอ ต้องใช้น้ำมาช่วยกระตุ้น ๖. “พึงมนสิการถึงอาโลกสัญญา(ความกำหนดหมายแสงสว่าง) ตั้งสัญญาว่าเป็นกลางวันไว้ คือกลางวันอย่างไร กลางคืนก็อย่างนั้น กลางคืนอย่างไร กลางวันก็อย่างนั้น มีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตให้โปร่งใส” อันนี้พระองค์ใช้เป็นโอกาสพลิกมาทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง คือ กำหนดหมายแสงสว่าง ทำความสำคัญในแสงสว่าง แม้เปลือกตาจะปิดอยู่ แต่ตาข้างในก็ยังเห็นเป็นแสงสว่าง จะเป็นกลางวันหรือกลางคืนก็ไม่รู้สึกแตกต่าง หลับตาก็เห็นความสว่าง ลืมตาขึ้นมาก็ยังรู้สึกว่าสว่าง อันนี้ใครทำได้ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับทิพยจักขุญาณ ๗. “พึงอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ภายใน มีใจไม่คิดไปภายนอก” คือข้อ ๑-๔ ยังอยู่ในท่านั่งอยู่กับที่ ข้อ ๕ ลุกขึ้นยืน แต่ก็ยังยืนนิ่งๆ มาข้อ ๗ นี้พระองค์ให้เดิน แสดงว่าง่วงมากนะ ประมาณว่ายืนยังเซ ก็เดินจงกรม คำบาลีว่า จงฺกม อ่านว่า จัง-กะ-มะ แปลว่า เดินกลับไปกลับมา และไม่ใช่เดินใจลอย เดินด้วยความรู้สึกตัว ถ้าทำตามลำดับมา ๗ ข้อดังกล่าวแล้วยังง่วง พระองค์ก็ให้นอน แต่เป็นการนอนที่ยังไม่ทิ้งกรรมฐาน นอนอย่างมีสติ มีลีลาอย่างนักปฏิบัติ คือหมายใจไว้ว่า ‘เราจักไม่ประกอบความสุขในการนอน ไม่ประกอบความสุขในการเอกเขนก ไม่ประกอบความสุขในการหลับ’ ไม่ใช่ว่าตื่นแล้วแต่ขอต่ออีกหน่อย ต่อไปต่อมา..ตะวันโด่ง และขอทำความเข้าใจว่า นอนท่า “สีหไสยา” ไม่ใช่ท่านอนแบบพระนอนวัดโพธิ์(พระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร) ท่าตั้งแขนชันขึ้นมานั้นเป็น”ปางโปรดอสุรินทราหู” ท่าที่เป็นแบบอย่าง ได้แก่ พระนอนเมืองกุสินารา แขนวางราบ มือมาหนุนที่ข้างแก้ม นอนท่า “สีหไสยา” คือการนอนดุจราชสีห์ ราชสีห์เมื่อจะนอนเขาจะเตรียมที่นอนอย่างดี เวลานอนจะนอนในท่าตะแคง สำรวจท่านอนของตนเองก่อนจะหลับ ถ้าตื่นมาไม่อยู่ในท่าเดิม เขาจะเสียใจว่านอนขาดสติ ขยับพลิกแล้วไม่รู้สึกตัว วันนั้นจะไม่ออกหากิน สำหรับนักปฏิบัติ โดยความหมายคือให้นอนอย่างมีสติ จะนอนตะแคงหรือนอนหงายก็ไม่ว่านะ แต่ตื่นมาให้สำรวจท่าด้วยว่า อยู่ในท่าเดิมหรือไม่ ถ้าผิดไปก็แสดงว่ายังไม่ผ่าน และที่สำคัญคือ ทำอุฏฐานสัญญา(กำหนดหมายว่าจะลุกขึ้น)ไว้ในใจ ซึ่งช่วยให้เราไม่ติดสุขในการนอน และเอื้อให้ไม่ประมาท พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล ๘ กันยายน ๒๕๖๓

อ่านต่อ