วันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ วันพระ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ??? พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ตั้งใจเรียนรู้ความจริงของจิต เพื่อไม่ให้เป็นการผิดพลาด ก่อนจะทำกรรมฐาน ต้องตั้งใจไว้ว่า “ไม่ได้ทำความสงบ” แต่จะตั้งใจ “จะเรียนรู้ความจริงของจิต” ไม่ว่าจิตจะแสดงตัวอะไรมา?..ฉันจะรู้! เพราะถ้าตั้งใจทำความสงบนะ! พอมันไม่สงบ เราจะหงุดหงิดขึ้นมาเลย คล้าย ๆ ผิดหวัง เราหวังว่ามันจะสงบ แล้วมันไม่สงบ ก็จะผิดหวัง! เนี่ยมันผิดตั้งแต่ตั้งใจ ตั้งแต่ก่อนทำ พอเกิดสภาวะขึ้นมา ก็ไม่ดูสภาวะนั้นแบบด้วยใจเป็นกลาง ดูด้วยใจที่เป็นปฏิปักษ์กับสภาวะ คือไม่พอใจความไม่สงบ เมื่อไม่ชอบใจความไม่สงบ มีความไม่สงบปรากฏอยู่ตรงหน้าต่อ ก็รีบแก้ไขไอ้จิตที่ไม่สงบนั้นกลับมา ซึ่งทำไม่ได้! พอทำไม่ได้ มันก็ไปอีก พอดึงกลับมาก็กลับมาแบบเครียด ๆ วงจรมันเป็นวงจรอุบาทว์ เริ่มตั้งแต่ตั้งใจผิด คิดจะเอาแต่ความสงบ พอเผลอไปก็เห็นสภาวะแบบอย่างไม่เป็นกลาง มีการแก้ไขแทรกแซง รีบดึงกลับมา ตอนกลับมาก็กลับมาแบบเพ่ง ๆ เครียด ๆ เพราะพยายามบังคับ ยิ่งทำยิ่งเครียด พอออกแรงมาก ก็หมดแรง ตอนหมดแรง..ก็หลับ วงจรมันจึง เครียด-หลับ อยู่อย่างนี้เอง! ฉะนั้น อย่าอยากสงบ ! ถ้าจะอยากนะ ให้อยาก “แบบมีฉันทะ” อยากสงบ..เป็นตัณหา อยากแบบมีฉันทะ คือ อยากเรียนรู้ อยากเข้าใจ อันนี้เป็นฉันทะ มีความใฝ่รู้ ฉันทะ อีกแง่หนึ่งเป็นความใฝ่รู้ อยากเรียนรู้ความจริงของจิต เพราะฉะนั้น จิตมันดี..ก็จะรู้ จิตไม่ดี..ก็จะรู้ จะเรียนรู้มัน! การเรียนรู้เนี่ย ถ้าเป็น “การเรียนรู้แบบฉันทะ” มันจะไม่เข้าไปแทรกแซง จะเรียนรู้แบบนักวิจัย จิตดีก็รู้ จิตไม่ดีก็จะรู้ แล้วก็ไอ้จิตดี ก็ไม่ค่อยมีให้ดู มักจะมีจิตที่ไม่ดี..หลากหลายมาก! ธรรมบรรยาย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากธรรมบรรยายเรื่อง “จากกฐินสามัคคี สู่มรรคสามัคคี” บ้านจิตสบาย ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๓ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/FbPDhGcjlpE

อ่านต่อ