#คลิปแสดงธรรม #ชวนแม่สวดมนต์ #สวดมนต์อย่างไรให้ได้ปัญญา โดย..พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล ??? เดี๋ยวจะชวนสวดมนต์แบบที่อาตมาสอนกับโยมแม่ เอาไหม? ลองไหม? ที่อาตมาสอนโยมแม่เนี่ยนะ คือ สวด “อิติปิโส ๙ จบ” แล้วก็ต่อด้วย “สฺวากขาโตฯ” แล้วก็ “สุปะฏิปันโนฯ” อาตมาเวลาสวดกับโยมแม่เนี่ย ตอนที่สวดจริง ๆ มีพระ ๓ รูป กับโยมอีก ๑ คน เพราะฉะนั้น จะสวดแบบเว้นวรรค.. “อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ” เว้นวรรค “วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู” เว้นวรรค เพราะว่าถ้าสวดยาว ๆ ต้องมีพระหลายรูป แล้วแอบหยุดได้ ถ้าเราสวดคนเดียวนะ มันต้องหยุดแบบตั้งใจหยุดก็คือ หยุดแบบเว้นวรรค ใครไม่เคยสวดแบบเว้นวรรค ให้ฟังอาตมา สักรอบหนึ่งก่อน แล้วก็อีก ๘ รอบ ค่อยออกเสียง หลักเกณฑ์คือว่า ถ้าสามารถทำได้ก็คือ สวดไปเนี่ย “มีบทสวดถูกสวดอยู่ แล้วมีจิตผู้สวดอยู่ต่างหาก” อย่างนี้นะ ถ้าเริ่มต้นด้วยอย่างนี้ได้นะ..ดีมาก คือ สวดด้วยจิตตั้งมั่น ใจไม่ไหลไปหาบทสวด สวดก็สวดไปนะ บทสวดถูกสวด มีจิตเป็นผู้สวดอยู่ต่างหาก ถ้าเริ่มอย่างนี้ได้..ดีมาก แต่ถ้าไม่ได้ อนุโลมให้ใจไปรวมอยู่กับบทสวดก่อน อันนี้น่าจะง่ายกว่า คือ สวดไป ใจรวมอยู่กับบทสวด “อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ” เนี่ยนะ ใจรวมอยู่กับบทสวดนะ แล้วถ้าจิตผิดไปจากนี้เมื่อไหร่ คือผิดไปจากบทสวดนี้เมื่อไหร่ ให้รู้ทัน! บางทีมันจะผิดในลักษณะที่ว่า มันไปคิด บางทีก็ไปฟัง บางทีอาจจะฟังเสียงคนข้าง ๆ นี่แหละ ไปติเขา.. “หือ.. เสียงแปร๋นเชียว” อะไรอย่างนี้นะ “คนนี้สวดผิดจังหวะ เนี่ย..แสดงว่าไม่ค่อยได้ซ้อมเลย” อย่างนี้นะ จิตไปรับรู้สิ่งอื่นนอกจากบทสวดเมื่อไหร่ให้รู้ทัน หรือบางทีก็ “เสียงเพราะจังเลย” ไปชื่นชมเขาก็ได้นะ ชื่นชมมันก็ไม่ใช่บทสวดอยู่ดี นึกออกไหม? ไม่ว่าจะคิดนึก ดีหรือไม่ดีก็ตาม มันคือไม่ใช่บทสวด ให้รู้ทัน!! เพราะฉะนั้น ที่มันจะเผลอ ส่วนใหญ่ก็เผลอคิดนี่แหละ แต่มันก็อาจจะเผลออย่างอื่น คือ เผลอไปได้ยิน เผลอไปดู มีบ้างเหมือนกัน แต่ไม่มาก เผลอไปดมเนี่ย โอกาสน้อยมาก นอกจากคนข้าง ๆ ตั้งใจ กลั้นไม่ไหว แอบปล่อยกลิ่น เพราะฉะนั้น ความเผลอที่จะเกิดบ่อย ๆ ก็คือ จิตมันคิดนึกในระหว่างที่สวดมนต์ ให้รู้ทันจิตที่มันรับรู้สิ่งอื่น นอกจากบทสวดมนต์ โดยไม่บังคับ! มีบทสวดมนต์เป็นเพียงแค่ “เครื่องเทียบ” .. ว่า “จิตถ้าผิดจากนี้ จะรู้ทัน แล้วรู้เฉย ๆ” อย่าไปแก้ไข! อย่าไปดัดแปลง! อย่าไปดึงกลับมา! เพราะจิตที่รู้นั้น มันเป็นปัจจุบัน จิตที่เผลอเป็นอดีตไปแล้ว ไม่ต้องไปแก้ไขจิตอดีต แล้วจิตที่รู้นั้นก็ดับ แล้วเอาจิตปัจจุบันดวงใหม่มาสวดต่อ นึกออกไหม? ไม่ทำอะไรเลยนอกจาก “รู้” ถ้าทำเกินรู้ ให้รู้ทันด้วยว่า มัน “ทำเกินรู้” *** มีงาน ๒ งาน.. – งานแรก คือ สวดมนต์ แล้วพอจิตที่ผิดจากบทสวดมนต์ให้รู้ทัน – งานที่สอง คือ ถ้ามันรู้ แล้วมันรู้ไม่ใช่เฉยๆ ทำเกินรู้ ให้รู้ทันด้วยว่า อันนี้มันรู้ด้วยใจไม่เป็นกลาง *** ถ้ารู้ด้วยใจเป็นกลาง คือ รู้เฉย ๆ ไม่นาน จะเกิดปัญญาแน่นอน!! พร้อม ไหม? ไม่ต้องขึ้นนะโมนะ ขึ้นอิติปิโสเลยนะ ๙ จบ ต่อด้วย สฺวากขาโตฯ และ สุปะฏิปันโนฯ.. “อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ / วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู / อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ” (๙ จบ) “สฺวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม / สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก / โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ” (๑ จบ) “สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ / อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ / ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ / สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ / ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา / เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ / อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ” (๑ จบ) ใครไม่เผลอเลย มีไหม? ..ดีมาก ไม่ใช่ดีมากที่เผลอนะ ดีมากที่รู้ แล้วแต่จะเผลอนะ สารพัดเผลอ.. “เอ.. ท่านอาจารย์จะนับมั่วไหมเนี่ย ๙ จบ?” อะไรอย่างนี้นะ พอทำได้ไหม? อันนี้ก็เป็นรูปแบบหนึ่ง ในการที่จะภาวนา เป็นภาวนาในรูปแบบก็ได้ ถ้าใครนับเวลา ก็เอาเวลาสวดมนต์เนี่ยไปบวกได้ เป็นการภาวนาในรูปแบบ ถ้าสวดได้ถูกต้องมันจะเป็นการ “เพิ่มกำลังให้จิต” เพราะว่าสวดปุ๊บ! อย่างน้อย ๆ ระหว่างที่สวดเนี่ยนะ ถ้าจิตอยู่กับบทสวด ก็ได้สมถะในแง่ “อารัมมณูปนิชฌาน” จิตเผลอไป เห็นจิตเผลอ ถ้ารู้ทันด้วยใจเป็นกลาง ก็เป็น “ลักขณูปนิชฌาน” จิตตั้งมั่น เห็นจิตเคลื่อนไปจากบทสวดมนต์ ก็ได้จิตตั้งมั่นอีก ก็สวดมนต์ต่อ สวดมนต์ต่อได้ “อารัมณูปนิฌาน” ทำสมถกรรมฐานต่อ จะเห็นว่าตลอดเวลาที่สวดมนต์เนี่ย จะเติมกำลังอยู่ตลอด สวดมนต์ได้กำลังแบบหนึ่ง เผลอไปรู้ทันเผลอ ได้กำลังอีกแบบหนึ่ง เป็นกำลังพร้อมจะเดินปัญญา แล้วก็ได้พักกับการสวดมนต์ แล้วเดี๋ยวจิตทำงาน.. รู้ทันจิตทำงาน ได้เจริญปัญญา เพราะฉะนั้น สวดมนต์เพียงแค่นี้นะ กำลังอร่อยกับการภาวนา หยุดเสียแล้ว! ใจมันจะมีฉันทะที่จะทำอย่างนี้ต่อในคราวหน้า คราวหน้าที่ว่าเนี่ยอาจจะไม่ใช่วันพรุ่งนี้ก็ได้ เดี๋ยวสักพักหนึ่ง ถ้ามีเวลาอีกสักไม่กี่นาทีจะสวดอีกก็ได้ เมื่อกี้สวดแล้วกี่นาทีเนี่ย จับเวลาได้หรือเปล่า?” ..ไม่นานเลยนะ ประมาณไม่ถึง ๑๐ นาที ทีนี้เวลาว่างอีกไม่ถึง ๑๐ นาที เราสามารถจัดเพื่อมาสวดมนต์ได้ ซึ่งง่ายมาก ถ้าเกิดว่าจะต้องสวดต่อกันหลาย ๆ บท คราวนี้มันต้องจัดเวลานานใช่ไหม? เกิดว่างไม่ลงล็อกเนี่ย ทำไม่ได้แล้ว อย่างนี้ถ้าเกิดว่า เราอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ ก็เจียดเวลาได้ง่าย สมมติว่ามารอพระ แล้วก็นั่งสวดในใจไปก็ได้ นั่งสวดในใจ อิติปิโส ๙ จบ ต่อด้วย สฺวากขาโตฯ สุปะฏิปันโนฯ ได้ทำสมถกรรมฐานบ้าง วิปัสสนากรรมฐานบ้าง “วิปัสนา” ก็มาจากตอนที่ว่า เห็นจิตเผลอไป-จิตดับ (จิตที่เผลอดับ) เห็นจิตเผลอทีไร-จิตที่เผลอดับ คือกลายเป็นวิปัสสนาแล้ว ไม่ได้อยากเผลอเลย มันเผลอเอง อย่างนี้ก็ได้เจริญวิปัสสนา “โอ้.. จิตนี่มันร้ายจริง ๆ” อะไรอย่างนี้นะ ไอ้ตอนคิดว่า จิตร้ายจริง ๆ ..นี่ฟุ้งซ่าน ตอนเห็นจิตมันเผลอเองเนี่ยนะ เรียกได้ว่า ได้เห็นจิตมันแสดงอนัตตาให้ดู นี่ก็เกิดวิปัสนาแล้ว พอเห็นจิตมันแสดงวิปัสนาให้ดู เห็นจิตแสดงไตรลักษณ์ให้ดูเนี่ยนะ แล้วก็มาบ่นในใจว่า “แหม.. จิตมันช่างร้ายกาจ” ขึ้นมาอย่างนี้นะ ไอ้ตอนนี้กำลังฟุ้งซ่าน ก็รู้ทัน “โอ้..จิตมันเป็นอย่างนี้ ทำงานอย่างนี้ ๆ” เราก็จะเห็นลีลาของจิตมากมาย ในระหว่างที่สวดมนต์ ทั้ง ๆ ที่สวดแล้วฟุ้งซ่านแท้ ๆ เลย แต่ได้ความรู้ทุกครั้งเลย นั่นเป็นประโยช์อย่างหนึ่งของการสวดมนต์ แล้วมันก็เป็นกรรมฐานที่ไม่น่าเบื่อ วันนี้ก็มาแนะนำ กรรมฐานที่อาตมาสอนโยมแม่อยู่ทุก ๆ วัน วันไหนที่อยู่ที่สวนธรรม ก็จะใช้โอกาสนี้สอนแม่สวดมนต์ โดยการสวดแล้วได้ทั้งสมถะ และวิปัสสนา ในการสวดมนต์หนึ่งจบ หนึ่งคราว.. โยมก็สามารถทำได้ ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากธรรมบรรยายเรื่อง “วงเวียนควาย ๆ ช่วงถาม-ตอบ” บรรยาย ณ วัดพระธาตุโกฏิแก้ว เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ลิงค์แสดงธรรม https://bit.ly/3lkGdJk (นาทีที่ 1:20:52-1:34:27)

อ่านต่อ