#นิมฺมโลตอบโจทย์ #เมตตาเขาเราทุกข์เอง #ถาม : ถ้าเมตตากับเขาแล้วเราทุกข์เอง ควรทำอย่างไรคะ? #ตอบ : ถ้าเมตตากับเขา แล้วเราทุกข์เอง แสดงว่า..เมตตาไม่ดีพอ เมตตาเนี่ยนะ มันจะตรงข้ามกับความโกรธหรือโทสะ ไอ้เราทุกข์เองเนี่ย..! แสดงว่ามีโทสะ ฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำต่อไป คือถ้าเมตตากับเขาไม่ขึ้นก็เมตตาตัวเองก่อน ใจที่ทุกข์.. แสดงให้เห็นว่า เมตตามันดับไปแล้ว ถ้ามีเมตตาอยู่จริงเมตตานั้นจะเป็นกุศล จิตจะโปร่งโล่งเบา สบาย เป็นสุข ฉะนั้นในบทอานิสงส์เมตตาท่านจะบอกว่า “หลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข” – ไม่ฝันร้าย – เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่รักของอมนุษย์ทั่วไป เทวดาก็รัก เทวดาคุ้มครอง – แล้วก็ไฟ ยาพิษ อาวุธทั้งหลาย ทำอันตรายไม่ได้ – จิตเป็นสมาธิได้รวดเร็ว – ผิวหน้าผ่องใส ผิวพรรณผ่องใส – ไม่หลงในคราวตาย ไม่ใช่ตายแบบหลงเลอะเลือน ไปเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือสัตว์ในอบาย แต่เป็นผู้ที่มีสติตาย ตายเป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ แต่การตายที่เราปรารถนากัน คือ ตายอย่างมีสติ แล้วถ้าไม่บรรลุคุณวิเศษอันยิ่ง ๆ ขึ้นไป ย่อมเข้าถึงพรหมโลก ไม่ธรรมดานะถึงเข้าเป็นพรหมโลกก็คือ เป็นพระพรหม เป็นเทวดาที่สูงกว่าเทวดากามาวจร ๖ ชั้น ในความเมตตาที่เกิดขึ้นมา ไม่ใช่ว่ามีเมตตาแล้วตัวเองเป็นทุกข์ เมตตาเนี่ยปรารถนาดี ท่านเริ่มให้เมตตาตัวเองก่อนด้วยซ้ำไป ในคำเมตตาตัวเองก็บอกว่า “อะหัง สุขิโต โหมิ” ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความสุข ถ้าเมตตาคนอื่น เมตตากับเขาแล้วเราทุกข์เอง ก็แสดงว่า.. ยังไม่ได้เมตตาตัวเอง ความเมตตานั้นบกพร่องในแง่ของไม่เมตตาตัวเอง ถ้าเกิดสภาวะอย่างนี้ขึ้นมา ให้กลับมาเมตตาตัวเองก่อน เมตตาตัวเองไม่ใช่ไปแช่งเขาด้วยนะ! เมตตาตัวเอง คือ มองแต่ตัวเองแล้วก็ปรารถนาให้เราเป็นผู้มีความสุข คล้าย ๆ เวลาเราปลอบแมว เราก็ปลอบใจตัวเองประมาณ ขอให้เรามีความสุข เหมือนลูบหัวตัวเอง ให้เรามีความสุข ให้ใจเราสงบ ให้ใจเราเย็นลง คำเมตตาคำที่ ๒ “นิททุกโข โหมิ” อย่าได้มีทุกข์ด้วย ฉะนั้นตอนที่เรามีทุกข์เองเนี่ยแสดงว่า.. เรามีความบกพร่องในการแสดงเมตตาตัวเองชัด ๆ ในคำที่ ๒ “อะหัง สุขิโต โหมิ” อันนี้คำแรก คำที่ ๒ “นิททุกโข โหมิ” นิททุกโข คือ ผู้ไม่มีทุกข์ ผู้ปราศจากทุกข์ ก็ต้องเตือนตัวเองในแง่นี้ด้วย ถ้าสองคำนี้มาแล้วเนี่ยนะ จะง่ายเลย ถ้าเรามุ่งจะเอาสุขอย่างเดียว หวังที่จะได้โลกธรรมในแง่ดีอย่างเดียว คือ หวังจะสุข แล้วสุขนั้นเป็นสุขแบบโลก ๆ หวังจะได้ลาภ ได้ยศ หวังจะได้คำสรรเสริญ หวังจะได้โลกธรรมในแง่ดี มีสุข มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ อย่างเนี่ยนะ ในคราวที่โลกแสดงอีกด้านนึงให้ดู คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เราก็จะเป็นทุกข์กับการที่โลกมันแสดงความจริงอีกด้านให้ดู สุขที่เราประสงค์ในคำเมตตาตนเองในคำแรกเนี่ย “อะหัง สุขิโต โหมิ” ไม่หวังเพียงสุขแบบโลก ๆ ต้องหวังสุขแบบพ้นโลกด้วย คือ สุขแบบเข้าใจความจริง โลกธรรมมากระทบแล้วไม่กระเทือน หรือกระเทือนแล้ว กระเทือนเล็กๆ น้อยๆ ก็พอมีสติรู้ทันได้ไว กระเทือนได้ แต่ให้รู้ให้ไว ถ้าโลกธรรมกระทบแล้วไม่กระเทือนอย่างสิ้นเชิงเมื่อไหร่ มันจะลงที่คำว่า “นิททุกโข โหมิ” ได้สมบูรณ์ “นิททุกโข โหมิ” ก็คือ มีโลกธรรมมากระทบแล้วไม่กระเทือน “นิททุกโข โหมิ” ถ้าพูดอีกแง่นึง ก็คือ พัฒนาความสุขให้เป็นลำดับขั้นไป ในแง่ของคนโลก ๆ ทั้งหลาย ก็หวังความสุขจากกาม ถ้าหวังแง่เดียวก็จะเป็นทุกข์ง่าย สุขจากกาม ก็คือ สุขจากโลกธรรมฝ่ายดีอย่างเดียว เทียบเคียงกันแล้ว สุขจากวัตถุ สุขจากบุคคล สุขจากการมีคู่ครอง สุขจากการมีทรัพย์สมบัติ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยง เสื่อมไปอยู่เรื่อย ๆ รวมทั้งร่างกายของเราที่จะเอาไว้เสพกามสุข ก็เสื่อมไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นถ้าหวังเพียงสุขจากกาม มันก็จะมีทุกข์รออยู่ เวลาเมตตาตัวเองจึงบอกว่าให้มันมี “นิททุกโข โหมิ” คือ สุขนั้นต้องพัฒนาไปจนถึงพ้นทุกข์ แต่มันจะมีระดับเป็นขั้นตอน มีสุขจากกาม มีสุขจากสมาธิ และมีสุขในพระนิพพาน สุขจากกาม ถ้าเป็นปุถุชนก็มีอยู่ แต่ก็ควรจะฝึกให้ได้มีสุขในสมาธิ สุขในสมาธิ คือ ฝึกสมถกรรมฐาน เอาจิตมาอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งด้วยใจสบาย ๆ ถ้าจิตอยู่ในอารมณ์นั้นได้นานแค่ไหนก็ได้สมถะนานแค่นั้น ที่มันฟุ้งซ่านนาน ๆ ก็ฝึกให้มันมีความสงบอยู่บ้าง ยังไม่เข้าฌานแต่มีความสงบอยู่เป็นขณะบ้าง หรือเป็นชั่วระยะหนึ่ง แล้วพัฒนาขั้นมา จะมีสมาธิ ๓ ระดับ – ขณิกสมาธิ – อุปปาจารสมาธิ – อัปปนาสมาธิ “อัปปนาสมาธิ” คือ ระดับเข้าฌาน “ขณิกสมาธิ” คือ แค่ชั่วขณะ ถ้ามากกว่าขณะแต่ไม่ถึงฌาน ก็เรียกว่า “อุปปาจาระ” ก็ฝึกไป ได้เท่าไหร่เอาเท่านั้น ได้ขณิกะก็เอาขณิกะ มากกว่าขณิกะ ได้อุปปาจาระก็เอา มันจะเข้าฌานไปเลยก็เข้าไป ฝึกอย่างนี้ด้วย “สุขในกาม” คือ หวังวัตถุ หรือหวังบุคคล ให้มาบำรุงบำเรอเรา ให้มีความสุข ซึ่งไม่เป็นอิสระ โดยเฉพาะกับคน คนมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย วัตถุก็มีการขโมยกันได้ วัตถุนั้นก็เสื่อมได้ด้วย แล้วอย่างที่บอก อวัยวะต่าง ๆ ร่างกายต่าง ๆ ของเราที่เอาไว้เสพสุข มันก็เสื่อมไป ตาก็ฝ้าฟาง ลิ้นกินอะไรก็ไม่อร่อย ร่างกายที่เคยสัมผัสอะไรได้ดี ๆ เคลื่อนไหวดี ๆ มันก็ไม่ดี ฉะนั้นมันต้องมีสุขในแง่ของการฝึกสมาธิมาทดแทน แล้วสุขในสมาธิเนี่ยดีตรงที่ว่า ไม่มีใครขโมยได้ ฝึกแล้วเราได้ แล้วไปชาติหน้าได้ด้วย เขาเรียกว่า เป็นนิสัยปัจจัยไป แต่สมาธิก็มีเสื่อม ฉะนั้นต้องให้ได้ถึงขั้นสุดท้าย คือ สุขในพระนิพพาน บรรลุมรรคผลแล้ว ตัดกิเลสไปแล้ว มันจะไม่กลับมาเกิดอีก สุขในสมาธิเหมือนไม่มีกิเลส แต่ตอนออกจากสมาธิมากิเลสก็กลับมาได้อีก ต่อให้เหาะเหินเดินอากาศได้ ถ้ายังไม่บรรลุมรรคผลอะไร มันเสื่อมได้นะ ในชาดกก็มีอยู่หลายเรื่องที่ว่าฤาษีเหาะไปเจอภาพหญิง เห็นผู้หญิงอาบน้ำ หรือเห็นผู้หญิงนุ่งห่มไม่เรียบร้อย ราคะก็กำเริบขึ้นมา ที่เหาะได้ก็ตกปุ๊…! ลงมาเลย มันไม่แน่นอน เสื่อมได้ ฉะนั้นที่จะเสื่อมไม่ได้ หรือตัดกิเลสได้แล้วตัดกิเลสเลย ต้องเป็นสุขในมรรคผล และสุดท้ายคือ เมื่อได้อรหัตผลแล้วสุขในนิพพานแบบสมบูรณ์์ เป็นพระโสดาบันก็มีสุขในนิพพาน สัมผัสมาแล้ว อย่างน้อย ๆ สองสามขณะ ตอนเป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ฉะนั้นถ้าเราจะเมตตาตนเองให้ได้ดี ต้องเมตตาถึงขนาดที่ว่าปรารถนาให้เราเป็นผู้มีความสุข แล้วสุขนั้นต้องพัฒนาจนถึงไม่มีทุกข์ด้วย ถ้ามียังมีทุกข์อยู่ ก็ให้รู้ว่าเมตตาเราตอนนั้น ดับไปแล้ว เมตตานั้นเสื่อมสภาพไปแล้ว ก็ต้องเมตตาเข้าไปใหม่ คนอื่นและเราทุกเองเนี่ยก็ต้องกลับมาเมตตาตนเองก่อน เมตตาตนเอง จนตนเองหายทุกข์นั้นแล้ว ดับจากทุกนั้นไปแล้ว จึงจะไปเมตตาคนอื่นเขาต่อ ถ้ามัวแต่มุ่งเมตตาคนอื่น บางทีมันอาจจะพลาดลืมเมตตาตัวเอง พอบอกว่าแผ่เมตตาคนทั่วไปมักจะนึกว่าจะ แผ่เมตตาให้คนนั้น คนนี้ สรรพสัตว์ทั้งหลาย อะไรประมาณนี้ “สัพเพสัตตา” ลืมตัวเอง เราก็เป็นหนึ่งในสรรพสัตว์ ซึ่งควรได้รับอนิสงค์เมตตานั้นด้วย อย่าลืมเมตตาตัวเองด้วยแล้วกัน เมตตาเขาก็อย่าลืมเมตตาเรา จริง ๆ แล้ว ควรเมตตาเราเองก่อนด้วยซ้ำไป!! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ : https://www.youtube.com/watch?v=Iu_MJc3hTGc&t=1902s (นาทีที่ 31.42 – 43:24)

อ่านต่อ