#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ดูจิตจากเมตตาภาวนา #ถาม : เมตตาภาวนา สามารถดูจิตไปพร้อมกันได้หรือไม่? โปรดช่วยยกตัวอย่าง #ตอบ : เมตตาภาวนาดูจิตไปพร้อมกัน สามารถทำได้! เจริญเมตตาด้วย แล้วอาศัยการมีเมตตานั้นดูจิตไปด้วย คือเมตตาเนี่ยมีทั้งเมตตาตนเอง แล้วก็เมตตาผู้อื่น ถ้าเริ่มที่เมตตาตนเองก่อน “ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความสุข แล้วก็ปราศจากทุกข์ เป็นผู้ที่ไม่จองเวรใคร ไม่เบียดเบียนใคร” ตั้งใจไว้ ๔ อย่างนี้ก็ได้ มันเป็นการเจริญเมตตาที่เริ่มตั้งแต่ตนเอง คนทั่วไปเนี่ย เริ่มเมตตาตนเอง จะเกิดขึ้นง่าย เมื่อเมตตาตนเองขึ้นมาแล้วก็แผ่เมตตาให้กับคนอื่น เวลาพบกับใครแล้ว เจริญเมตตาด้วยการปารถนาให้เขามีความสุข ที่นี้โอกาสที่จะดูจิตมันจะดูตอนไหน? ก็ดูตอน.. มันไม่เมตตา! ปกติเราเจริญเมตตา ตัวที่มันจะทำให้ผิดเพี้ยนไป ก็คือกลายเป็นโทสะ มีโทสะทำให้ไม่เกิดเมตตา งั้นในการที่ตั้งใจที่จะเจริญเมตตาจะมีคำ ๒ คำ ที่บอกว่า “จะไม่จองเวรใคร จะไม่เบียดเบียนใคร ” ตัวที่จะไม่จองเวรใคร คือ ตัวจะไปดูว่าถ้ามีโทสะ แล้วจะรู้ทัน! ตอนรู้ทันโทสะ ก็คือ”ดูจิต”นั่นเอง! ถ้ามีโทสะแล้วไม่รู้ หรือ รู้ไม่ทัน มันจะมีโทสะแล้วจะคิดไปทั้ง ๆ ที่มีโทสะ คิดไปก็กลายเป็นผูกโกรธ เป็นจองเวร เป็นลำดับไป อีกคำหนึ่งคือ “จะไม่เบียดเบียน” ไม่เบียดเบียนเนี่ย ละเอียดยิ่งกว่าไม่จองเวร คือการเบียดเบียนสามารถเบียดเบียนด้วยกิเลสทั้ง ๓ ตัวเลย “โลภ โกรธ หลง” ทำให้เบียดเบียนได้ทั้งหมด มีความโลภแล้วไม่รู้ทัน! ก็เบียดเบียนคนได้ เบียดเบียนสัตว์ได้ มีความโกรธ แล้วไม่รู้ทัน! ก็สามารถเบียดเบียนคนได้ เบียดเบียนสัตว์ได้ หรือแม้หลง คือ ไม่รู้! เบียดเบียนแบบทั้งที่ไม่รู้ ไม่ได้โลภจัด ไม่ได้โกรธจัดอะไร ทำไปแบบไม่รู้ คิดว่าทำได้ ทำด้วยความเข้าใจผิด มีมิจฉาทิฏฐิ เช่น ไปตกปลา ไม่ได้โกรธปลา แล้วบางทีก็ไม่อยากได้ปลา ตกสนุกๆ แต่ทำไปด้วยความไม่รู้ เข้าใจผิดคิดว่าทำได้ คิดว่าปลามันคงไม่มีความรู้สึกอะไร หรือว่าทำไปเถอะไม่เป็นไร อันนี้เรียกว่า “เบียดเบียน” เบียดเบียนด้วยความไม่รู้ ไม่ได้อยากได้ปลา และไม่ได้โกรธปลา อย่างนี้เป็นตัวอย่าง “เบียดเบียนเพราะไม่รู้’ ไม่รู้ ก็คือมีโมหะนั่นเอง จะเจริญเมตตาได้ ในกรณีที่ตั้งใจว่าจะไม่เบียดเบียน การกระทำอะไรที่ไปทำให้เบียดเบียน รู้ทันตั้งแต่มีกิเลส ก็จะเป็นการป้องกันการเบียดเบียนผู้อื่นได้ คือเจริญสติ ดูกิเลสที่เกิดขึ้นในใจมีทั้งโลภ โกรธ หลง ดูได้ทั้งหมดเลย หลงนั้นดูยากหน่อย! หลงนั้นจะรู้ตอนที่เกิดการเบียดเบียนไปแล้ว ก็รู้สึกว่า “อ้าว…! นี่มันเบียดเบียน” รู้เลยว่า แม้การกระทำแบบนี้เบียดเบียนไปแล้ว ต่อไปจะไม่ทำ มันก็มีการมีสติเรียนรู้ข้อผิดพลาดในการแสดงออกทางกาย ทางวาจา ของตนเอง นอกจากนี้แล้วเมตตา กับโทสะตรงข้ามเห็นชัด ๆ เลย บางทีเมตตาก็พลิกนิดเดียว เรียกว่า “ศัตรูใกล้ โทสะเป็นศัตรูไกล” “ศัตรูใกล้” คือ เมตตาพลิกเป็นเสน่หา หรือเป็นราคะ อันนี้ต้องดูด้วย ไม่ใช่ว่าเมตตาคนอื่นไม่ใช่มีปรารถนาดีกับเขาอย่างเดียว แต่ปรารถนาให้เขามาบำเรอเราด้วย หรือมาดีกับเราด้วย ราคะไม่ใช่เมตตานะ บางทีเมตตาคนนี้เป็นพิเศษ อยากจะเมตตาเขา แต่มันไม่ใช่เมตตาแล้ว เป็นราคะไปแล้ว หรือเป็นเสน่หาไปแล้ว ลูกน้องคนนี้เรามีเมตตากับเขาเป็นพิเศษ คำว่า “เมตตากับเขาเป็นพิเศษ” เป็นการพูดบิดเบือน จริงๆ แล้วมีเสน่หาหรือมีราคะไปแล้ว ให้รู้ตรงนี้ไว้ด้วย รู้ตรงนี้ก็คือ ได้ดูจิตนั่นเอง ก็ดูว่าเมตตานั้นเมตตาบริสุทธิ์แค่ไหน เป็นเมตตาจริงๆ หรือเริ่มมีกิเลสไปแล้ว หรือว่ามันพลิกไปเป็นกิเลสแล้ว กิเลสแบบตรงข้ามโต้งๆ เลย คือ โทสะนั้นเห็นง่าย แต่ถ้ามันพลิกไปนิดนึงเป็นราคะ เหมือนมีเมตตานะ คล้ายๆ แต่มันไม่ใช่ มันพลิกไปแล้ว เรียกว่า “ศัตรูใกล้” ดูยาก แต่ถ้าดูได้จะทำให้เราพัฒนาทางใจ มีใจที่พัฒนาขึ้นมา แล้วก็เป็นผู้ที่จะสามารถภาวนาได้ละเอียดยิ่งขึ้น เพราะว่ามันพลิกไปนิดนึงก็จะเห็นเลย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ : https://youtu.be/TN00BWZf8b0?t=1002 (นาทีที่ 00:16:42 – 00:23:28)

อ่านต่อ