
#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๑๐ #การดูจิตเหมาะกับคนช่างคิด 🤔🤔 #ถาม : ขอให้พระอาจารย์ช่วยอธิบายถึงหลักการปฏิบัติที่ว่า “การรู้สึกตัว รู้ที่จิต” และ “รู้ถึงจิตที่รู้” ขั้นตอนการปฏิบัติในการเดินจิตค่ะ #ตอบ : การดูจิตนี่ เหมาะสำหรับคนที่เป็นประเภทพวกช่างคิด พวกช่างคิดนี่ จิตทำงานอยู่บ่อย ๆ จิตทำงานบ่อย ๆ นี่ คือมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตนี่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ก็เหมาะสำหรับคนที่พวกช่างคิดนี่จะมาดูจิต เพราะจิตมันทำงานเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่ใช่เป็นจิตนิ่ง ๆ ถ้าเป็นจิตนิ่งๆ ก็เป็นพวกทำสมาธิทำฌานได้ เขาจะมีจิตนิ่ง ๆ การดูจิตของคนจิตนิ่ง ๆ แล้วนี่นะ จิตไม่ได้แสดงไตรลักษณ์ให้ดู ไตรลักษณ์คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตขณะนั้นที่นิ่งอยู่ มันไม่ได้แสดงไตรลักษณ์ แต่จิตที่กำลังทำงาน เดี๋ยวคิดนู้นเดี๋ยวคิดนี่ เป็นคนช่างคิดนี่นะ เหมาะที่สำหรับจะมาเจริญสติปัฏฐานในแง่ของการดูจิต แต่อยู่ ๆ จะไปดูจิตเลยเนี่ย บางทีก็ยาก ก็ควรจะทำสมถะไว้ก่อน ให้สมถะเป็นเพียงเครื่องเทียบให้เห็นว่า จิตที่เผลอจากสมถะนั้นหรือองค์ภาวนานั้น เป็นจิตที่เผลอ เช่น ดูลมหายใจ หรือว่า หายใจเข้า-หายใจออก หรือว่า หายใจเข้า”พุท” หายใจออก”โธ”นี่นะ หายใจเข้า”พุท” หายใจออก”โธ”เนี่ย เป็นที่อยู่สำหรับทำสมถะของเรา แต่ทำสมถะครั้งนี้ ไม่ได้ทำสมถะเพื่อรักษาจิตให้อยู่กับองค์ภาวนาของเราไปตลอดเวลา เพราะจิตคนที่เหมาะสำหรับคนดูจิตนี่นะ เป็นจิตที่ชอบล่อกแล่ก ชอบคิดชอบนึก ช่างปรุงช่างแต่ง ฉะนั้นเวลาอยู่กับลมหายใจ หายใจเข้า”พุท” หายใจออก”โธ”นะ มันก็อยู่ได้ไม่นานหรอก มันทนไม่ได้ เดี๋ยวมันก็ต้องคิดนู้นคิดนี่อยู่เรื่อย ๆ นะ แต่การคิดหลังจากที่เรามีการภาวนาเป็นสมถะ คือหายใจเข้า”พุท” หายใจออก”โธ”นี่ เราจะมีข้อสังเกตุได้ว่า ถ้ามันผิดไปจาก”พุทโธ”เมื่อไหร่ เรียกว่า..เผลอ เพราะเราตั้งใจ ตั้งกติกาไว้เมื่อสักครู่นี้ว่า เราจะใช้”พุทโธ” หรือ”ลมหายใจ”นี่ เป็นเครื่องอยู่ของจิต ถ้ามันออกจากที่อยู่ตรงนี้ (พุทโธ หรือ ลมหายใจ) แสดงว่า มันเผลอ เราก็จะรู้ได้ง่ายว่า ทุกครั้งที่ลืม”พุทโธ” หรือ ลืม”ลมหายใจ”ไป ไปรู้เรื่องอื่น..ขณะนั้นเผลอแล้ว บางทีก็ไม่ได้รู้อะไรชัดเจน แค่เบลอ ๆ แค่เบลอ ๆ มันลืมที่อยู่ (พุทโธ หรือ ลมหายใจ) ก็เรียกว่าเผลอแล้วเหมือนกัน ใจมันจะมีการลอย ก็เห็นว่า..จิตมันลอย มันมีการเคลื่อน ก็เห็นว่า..จิตมันเคลื่อน หรือว่า มันดับจากตรงนี้ แล้วไปเกิดตรงนู้น ก็เห็นว่า..มันเกิด-ดับ ๆ จิตมันจะแสดงอาการของมันอย่างไร ก็รู้ไปตามจริง ว่ามันเป็นอย่างนั้น เรียกว่าเห็นจิตแสดงไตรลักษณ์ให้ดู เห็นจิตมันเกิดดับเปลี่ยนแปลง เห็นจิตมันเป็นไปเอง ตามเหตุ ตามปัจจัย เรียกว่า เห็นจิตแสดงไตรลักษณ์ให้ดู ตอนเห็นจิตแสดงไตรลักษณ์นี่ ถ้าเห็นตรงนี้ เรียกว่า “เจริญวิปัสสนา” ถ้าจิตอยู่กับที่นิ่ง ๆ อยู่ในอารมณ์นี้ เช่น ดูลมหายใจเข้า-หายใจออก แล้วอยู่กับมันนิ่ง ๆ นี่นะ ก็จะอาศัยลมหายใจนี้ เจริญสมถกรรมฐาน “สมถกรรมฐาน” แปลว่า งานฝึกจิตให้สงบ ให้จิตสงบอยู่กับอารมณ์ที่ต้องการ หรืออารมณ์ที่เราชอบหรือตั้งต้นเอาไว้ เช่นดูลมหายใจ ก็อยู่กับลมหายใจนาน ๆ อย่างนี้ ได้สมถะ แต่ถ้ามันไม่ยอมอยู่ ก็อาศัยที่มันไม่อยู่นี่แหละ ดูความจริงไปเลยว่า ความเผลอเกิดขึ้น ความเผลอเป็นความจริงที่เกิดขึ้นตอนนี้ แล้วรู้ทันความเผลอ..เห็นความเผลอดับไป ความจริงที่เราเห็นนี่นะ เห็น หนึ่ง คือ”เห็นความเผลอ ที่เกิดขึ้นจริงๆ” สอง เห็นความเผลอที่เกิดขึ้นเมื่อกี้นี้.. ดับไปแล้ว เห็นความจริงว่า “มันเกิด-ดับ” สาม เห็นความจริงว่าความเผลอที่มันเกิด-ดับเนี่ย..”ไม่ใช่เรา” เป็นเพียงสภาวะนึงที่เป็นนามธรรม..แล้วถูกรู้โดยจิตที่เป็น “ผู้รู้” นี้ เห็นมันแสดงความจริงอย่างนี้ สามระดับ บางคนเห็นระดับแรกอย่างเดียว คือว่าเห็นว่า..มีความเผลอเกิดขึ้น แต่ไม่เห็นว่า มันเกิด-ดับ ก็ให้ฝึกเห็นไปเรื่อย ๆ เจริญกรรมฐานไปเรื่อย ๆ เห็นความเผลอ..แล้วก็กลับมา อยู่ที่อารมณ์กรรมฐานเดิมใหม่ หายใจเข้า”พุท” หายใจออก”โธ”ต่อไป ก็เห็นความเผลออีก จิตมันเผลอ..ก็เห็นความเผลออีก เห็นไปบ่อย ๆ ก็จะเห็นว่ามันเกิด-ดับด้วย เพราะทันทีที่เห็นมัน..มันไม่เผลอแล้ว ความเผลอเกิดขึ้น เห็นความเผลอ..ความเผลอดับ ก็จะกลายจะเป็นว่า เริ่มเห็นความจริงในระดับที่สอง คือ มีความเผลอเกิดขึ้นจริง..แล้วความเผลอนั้นก็เกิด-ดับด้วย แต่ยังรู้สึกว่า..ไอ้ความเผลอที่ว่านี่เป็นเรา คือเราเป็นผู้เผลอ ดูไป ๆ ไอ้ผู้เผลอ..ไม่ใช่เรา ประมาณว่า..ความเผลอนั้นเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง ที่เมื่อกี้ เกิดขึ้นมา..แล้วก็ดับไป เกิดขึ้นมา..แล้วก็ดับไป “ไม่ใช่เรา” ถ้าเข้าใจตรงนี้ได้ ก็เริ่มพัฒนามากขึ้น ได้ “เจริญวิปัสสนา” เรียกว่า อาศัยสมถะเล็ก ๆ น้อย ๆ ตรงนี้ แล้วเจริญวิปัสสนาไปเรื่อย ๆ ใช้วิปัสสนานำสมถะ หรือเรียกอีกอย่างว่า ใช้ปัญญานำสมาธิ แล้วทำอย่างนี้แหละ มันจะทำให้มีสมาธิเกิดขึ้นง่าย สมาธิในแง่ที่ว่าเกิดขึ้นง่ายนี่ จะเป็นสมาธิที่เห็นจิตเคลื่อน พอจิตเคลื่อนไป..รู้ทัน จิตเคลื่อนไป..รู้ทันเนี่ย จิตเคลื่อน มันเป็นสภาวะที่จิตไม่ตั้งมั่น “สมาธิ” แปลว่า จิตตั้งมั่น อย่าแปล สมาธิ ว่าเป็นจิตสงบนะ! สมาธิ แปลว่า จิตตั้งมั่น จิตที่เคลื่อนไป แสดงความไม่ตั้งมั่น เห็นจิตที่เคลื่อน..ได้จิตตั้งมั่น แต่เป็นตั้งมั่นหนึ่งขณะ! การตั้งมั่นหนึ่งขณะเนี่ย เรียกว่าได้สมาธิหนึ่งขณะ ภาษาบาลีเรียกว่า “ขณิกสมาธิ” นี่เรียกว่า อาศัยเจริญปัญญาไปก่อน แล้วค่อยไปได้สมาธิภายหลัง เห็นความฟุ้งซ่าน.. เห็นความเผลอ เกิดขึ้นมา..แล้วก็ดับไป เห็นความเผลอเกิดขึ้นมา..แล้วก็ดับไป ขณะที่เห็นอยู่นี่..มันจะเห็นว่าจิตมัน “มีการเคลื่อน” ด้วย..ที่เผลอนี่ มันเคลื่อนจากตรงนี้ ประมาณว่าตรงปลายจมูกนี่..แล้วมันเคลื่อนไป อย่างนี้ก็ได้ เห็นความเคลื่อนเกิดขึ้น..ได้ความไม่เคลื่อน เห็นความเผลอ..ได้ความไม่เผลอ เห็นความเคลื่อน..ได้ความไม่เคลื่อน ความเคลื่อนของจิต คือ จิตไม่ตั้งมั่น เห็นจิตเคลื่อน.. จึงได้ “จิตตั้งมั่น” แล้วอาศัยสติและสมาธิที่ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมา แล้วก็พัฒนาปัญญาไปด้วย เห็นแม้กระทั่งว่า จิตที่เป็น “ผู้รู้” เนี่ย..ก็ไม่ใช่เรา! จากที่เคยเห็นว่า ไอ้ความเผลอ เกิดขึ้นมา..แล้วก็ดับไป เห็นความเผลอ เกิด-ดับ ก็จริง แต่รู้สึกว่า “เรา” เป็นผู้รู้ ดูไปๆ เนี่ย.. “ผู้รู้” ก็ “ไม่ใช่เรา” เพราะเดี๋ยวก็เป็น”ผู้รู้”..เดี๋ยวก็เป็น”ผู้คิด” เดี๋ยวก็เป็น”ผู้รู้”..เดี๋ยวก็เป็น”ผู้เผลอ” เห็นทั้งหมดนี่ แสดงไตรลักษณ์ให้ดู ความเผลอที่ถูกรู้..ก็แสดงไตรลักษณ์ ตัวรู้เอง..ก็แสดงไตรลักษณ์ด้วย ตัว “ผู้รู้” เดี๋ยวก็เกิด เดี๋ยวก็ไม่เกิด เดี๋ยวก็เกิดขึ้นมา แล้วก็ดับไป..มันก็ไม่ใช่เรา เดี๋ยวก็เป็น “ผู้รู้” ..เดี๋ยวก็เป็น “ผู้คิด” ทั้งหมดแล้วก็คือ มาเรียนรู้ความจริงของชีวิตนี้ ทางด้านรูปธรรมและนามธรรม แต่ถ้าเป็นพวกที่ช่างคิด ก็มาเรียนรู้เรื่องนามธรรมก่อน เพราะตัวหลักใหญ่ก็คือตัวนามธรรมนี่แหละ คนส่วนใหญ่ก็จะคิดว่า”จิต”..เนี่ย เป็นเรา และ”กายนี้”..เป็นเพียงแค่ของเรา ไอ้ตัวสำคัญ คือตัวจิต ถ้าเราเห็นความจริงของจิตว่า..ไม่ใช่เราแล้ว ไอ้ร่างกายก็พลอยเห็นว่า..มันไม่ใช่เรา ไปแล้วด้วย จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นประธาน ก็รู้ทันที่จิต ก็เข้าใจถึงชีวิตนี้ไปด้วย พอเห็นจิตนี้..ไม่ใช่เราแล้วเนี่ย ทั้งกายนี้ ใจนี้..ก็ไม่ใช่เราไป ถ้าเห็นความจริงว่าจิตนี้ไม่ใช่เรา ก็จะกลายเป็นพระโสดาบัน นี่คือวิธีการภาวนาของคนที่ เริ่มต้นจากทำสมถะไม่ค่อยได้.. แต่ว่าพัฒนาได้! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ”ธรรมะสว่างใจ” เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๒ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/clyuwC-c_JU (นาทีที่ 1:41:16 – 1:49:15 )
อ่านต่อ ...

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๐๙ #เดินจงกรมว่าพุทโธ #นอนว่าพุทโธ 🤔🤔 #ถาม : การเดินจงกรม”พุทโธ” กับ การนอนภาวนา”พุทโธ” ต้องทำอย่างไรครับ? #ตอบ : เดินจงกรม กับ นอน แล้วมีคำบริกรรม”พุทโธ”ด้วยนี่นะ เอาเดินก่อนนะ.. เดินส่วนใหญ่ ถ้าใช้คำบริกรรม”พุทโธ” ก็จะสัมพันธ์กับการใช้ขาก้าวไป จะใช้ขาซ้ายก้าวไป พูดในใจว่า “พุท” ขาขวาก้าวไป พูดในใจว่า “โธ” อย่างนี้ก็ได้ “พุทโธ พุทโธ” พร้อมกับจังหวะการเดิน.. ก็อาศัย”พุทโธ”นั้นเป็นเครื่องอยู่ และ “พุทโธ”นั้น ก็พร้อมกับการเดินด้วย เดินไป”พุทโธ พุทโธ”ไป เดินไปจนถึงปลายทาง ทีนี้ เวลาเดินจงกรมในรูปแบบนี่ มันจะต้องมีจุดเริ่มต้น จุดเริ่มต้นก่อนจะเดิน..ก็ต้องยืน ก็เริ่มด้วยยืน..แล้วทำความรู้สึกตัว ตอนยืน..ก็ไม่มี”พุทโธ”อะไร ทำความรู้สึกตัวว่า ตอนนี้รูปร่างกายเรากำลังอยู่ในท่ายืน.. เมื่อพอสมควรแล้ว ก็ทำไว้ในใจว่าจะเดินแล้ว จะเดิน..ก็ก้าวเท้า จะก้าวเท้าซ้ายก่อน หรือก้าวเท้าขวาก่อนก็ได้ ถ้าเราเริ่มด้วยเท้าซ้าย ก็พูดในใจว่า “พุท” ก้าวต่อไปเป็นเท้าขวา ก็พูดในใจว่า “โธ” ก็ “พุท”, แล้วก็ “โธ” สลับกันไปพร้อมกันกับการก้าวเดิน ถ้าจะเริ่มด้วยการก้าวเท้าขวาก่อน.. ก็พูดในใจว่า “โธ” ก่อน แล้วค่อยก้าวเท้าซ้าย “พุท” อย่างนี้ก็ได้ เดินไป ก็กลายเป็น “พุทโธ” ไปเอง ก็แล้วแต่ว่าใช้คำไหน? พร้อมกับการก้าวของขาไหน? แล้วแต่เราจะกำหนด อันนี้เป็นสมมุติเฉย ๆ อาศัยภาพ..คือร่างกายที่เคลื่อนไหว แล้วก็อาศัยเสียง..ที่เราพูดอยู่ในใจกำกับไปด้วย ทั้งภาพทั้งเสียงที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเคลื่อนไหวในท่าเดินนี่ ก็เป็นเครื่องอยู่ของจิตสำหรับทำความสงบ คือทำสมถะ ถ้าจิตมีความพอใจในการเคลื่อนไหว กับการบริกรรม”พุทโธ” มันก็จะเดินด้วยความสงบ ก็ได้สมถกรรมฐานกับการเดินครั้งนั้น ทีนี้ ถ้าเดินไป”พุทโธ”อยู่สองสามก้าว..แล้วเผลอคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือว่า แค่มีเสียงอะไรก๊อกแก๊กข้างๆ..แล้วมันก็เผลอไปฟัง จิตทำงานอย่างอื่นนอกจากเดิน แล้วก็มีคำบริกรรม อะไรก็ตามที่มันผิดไปจากนี้ เรียกว่า จิตมันทำงานนอกเหนือจากองค์กรรมฐาน ก็ให้รู้ว่ามันมี “ความเผลอ” เกิดขึ้น อาจจะเป็นเผลอคิด..เผลอเพลินไปเรื่องราวต่างๆ หรือจิตเผลอทำงาน.. เช่น หู..ไปได้ยินเสียง เราสนใจเสียงขึ้นมา มันก็กลายเป็น จิตทำงานผ่านหู การทำงานตรงนี้ เรียกว่า “โสตวิญญาณ” จากเดิมจิตมี “คำบริกรรม” เป็นอารมณ์ พร้อมกับมีท่าทางของการเดินเป็นเครื่องอยู่สำหรับทำสมถะ พอมีความเผลอเกิดขึ้น จิตมันออกจากการทำสมถะนี้ ก็ให้รู้ว่า จิตมีความเผลอเกิดขึ้น ก็เรียกว่าทำสมถะไป ถ้าออกจากสมถะ..ก็ให้รู้ทันจิตที่เผลอ อย่างนี้ก็ใช้ได้ เดินไป “พุทโธ”ไป..แล้วก็รู้ทันจิตที่เผลอ ตอนเผลอ..ถ้าเรารู้เฉย ๆ ว่ามีความเผลอเกิดขึ้น..ความเผลอก็ดับให้ดู เห็นความเกิด-ดับ อย่างนี้เรียกว่า เจริญวิปัสสนากรรมฐาน แต่ถ้าจิตอยู่กับการเดิน ขวา”พุท” ซ้าย”โธ”, ขวา”พุท” ซ้าย”โธ”..ไปเรื่อย ๆ นะ ถ้าอยู่แต่ตรงนี้ไม่เผลอไปไหน ก็เรียกว่า ได้ทำสมถะกรรมฐาน ทำจิตให้สงบอยู่กับอารมณ์”พุทโธ”พร้อมกับการเดิน ..นี่คือ เดิน”พุทโธ”นะ … ส่วนนอน”พุทโธ” ก็น่าจะใช้กายที่หายใจในอิริยาบถนอน รู้กายที่มีลมเข้ากับลมออก พร้อมกับมี “คำบริกรรม” กายมีอิริยาบถคือนอน ถ้ายังไม่ตายก็มีลมหายใจ ฉะนั้น เราก็เอาลมหายใจนี่ เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นอารมณ์สำหรับการทำสมถะกรรมฐาน ที่นี้ สำหรับคนบางคนนี่ ดูลมอย่างเดียวมันจะฟุ้งซ่านง่าย ก็อาศัยคำบริกรรมกำกับไปด้วย ก็คือ หายใจเข้า”พุท”, หายใจออก”โธ” มีอิริยาบถคือนอน แล้วมันไม่นอนนิ่งๆ กายนี้ยังไม่ตาย มันก็ทำงานก็หายใจ..ก็เห็นว่า กายนี้กำลังหายใจ กายหายใจเข้า ก็นึกบริกรรมในใจว่า “พุท” กายหายใจออก ก็นึกบริกรรมในใจว่า “โธ” ถ้าเผลอจากนี้ไป ให้รู้ทันว่าเผลอ นอนๆไป คิดเรื่องอื่น ก็ลืม “พุทโธ” คิดเรื่องอื่นเรียกว่า “เผลอ” ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไร ก็เรียกว่า “เผลอ” ทั้งหมด รู้ทันว่าเผลอ..ความเผลอก็ดับ ก็กลายเป็น ขณะที่รู้ทันนี่..ขณะที่รู้จิตเผลอ เป็นขณะที่มีกุศลเกิดขึ้นแล้ว รู้ทันว่าจิตเผลอ..ความเผลอ ก็ดับไป อันนี้ แทนที่เราจะรู้..แล้วปล่อยลอย ๆ เมื่อรู้แล้ว..ก็กลับมารู้ที่กายกำลังนอนและกำลังหายใจ กลับมา.. ถ้ากำลังหายใจออก..ก็”โธ”ไปเลย หายใจเข้า..ก็”พุท” คือจะรู้ตอนไหน..เราก็บังคับไม่ได้ เราจะกลับมารู้สึกตัวตอนที่หายใจออกก็ได้.. กลับมารู้สึกตัวตอนหายใจเข้าก็ได้.. แต่ตอนเริ่มต้นเนี่ย ครูบาอาจารย์จะแนะนำว่า ตอนเริ่มต้นให้เริ่มด้วยหายใจออกก่อน ให้เริ่มรู้ตัวตอนหายใจออก เพราะว่าถ้าเริ่มด้วยรู้ตัวตอนหายใจเข้านี่ มันมักจะเพ่ง! ตอนหายใจเข้าเนี่ย มันมักจะสูดลมเข้าไป แล้วก็รู้สึกว่าแน่น ๆ ลองเริ่มต้นด้วยการหายใจออกนะ หายใจออกแล้วก็รู้สึกตัว บริกรรมว่า “โธ” ไปก่อนก็ได้ หายใจเข้า ก็บริกรรม “พุท” หายใจไป ก็กลายเป็น “พุทโธ” ไปเอง “พุทโธ”ไป..แล้วก็รู้ทันจิตที่เผลอ ตอนเริ่มต้นด้วยหายใจออกเนี่ย ใจมันจะไม่หนักไม่แน่น เพราะมันเป็นการผ่อนคลาย การหายใจออก มันร่างกายผ่อนคลาย จิตใจก็ผ่อนคลายได้ง่าย เป็นเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการภาวนา ก็ปรับไปใช้กับอิริยาบถอื่นก็ได้ เช่น อิริยาบถนั่ง..ร่างกายอยู่ในท่านั่ง นั่งนิ่ง ๆ แต่มันไม่นิ่งจริง ร่างกายมันทำงานอยู่ มันมีการหายใจ ก็หายใจเข้า”พุท”, หายใจออก”โธ” “พุทโธ”ไป..แล้วก็รู้ทันจิตที่เผลอ อย่างนี้ก็ได้นะ ถ้าเผลอจาก “พุทโธ” นี้ไป ก็รู้ทันว่า..จิตทำงานอย่างอื่นแล้ว เห็นความเผลอ..ความเผลอดับ ไม่ต้องดูเรื่องที่คิด แต่เห็นว่ามีการทำสมถะอยู่ คือ เห็นกายหายใจ แล้วก็มีคำบริกรรม “พุทโธ” ไป เผลอจากสมถะนี้เมื่อไหร่ เรียกว่าเผลอ คือทำสมถะ เพื่อให้เห็นจิตที่เผลอ เผลอเนี่ย เผลอหลากหลายมาก เราไม่ต้องบอกเจาะจงว่า เผลอไปคิดเรื่องนั้น.. เผลอไปคิดเรื่องนี้.. เพราะพอจะคิดว่าเผลอไปคิดเรื่องอะไร..จะกลายเป็นฟุ้งซ่าน! แค่เรารู้ว่าเผลอ.. เมื่อกี้เผลอไป.. ไม่ต้องไปลงรายละเอียดว่าเผลอเรื่องอะไร.. อย่างนี้จะดีกว่า คือมันจะเห็นว่า มีสภาวะคือเผลอเกิดขึ้น..แล้วก็ดับไป มันจะเข้าวิปัสสนาได้ง่ายกว่า! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ”ธรรมะสว่างใจ” วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/xyVWwqKi7oo (นาทีที่13:55 – 21:00 )
อ่านต่อ ...

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๐๘ #มีความทะนงตัวว่าตนดีกว่าผู้อื่น 🤔🤔 #ถาม : น้องสาวของโยมอยู่กับแม่ แล้วก็ดูแลแม่อยู่ น้องสาวสวดมนต์เยอะมาก และมักคิดว่าเธอทำถูกแล้ว และตนเป็นคนดีกว่าคนอื่น น้องมักเอาความคิดของตัวเองพูดให้แม่เชื่อแต่ตัวเธอเอง และคนอื่นไม่ดีเท่าเธอ เราจะมีวิธีแก้ไขตัวเธอ?หรือว่ามีการปรับปรุงความคิดนี้ได้อย่างไรดีเจ้าคะ? #ตอบ : มันพูดยาก.. คือเจ้าตัวต้องมารู้ตัวเอง ตัวน้องสาวต้องเห็นความผิดพลาดของตัวเอง ในแง่ที่ว่า ตัวเองทำดีนะดีแล้ว แต่ถ้ามันเลยเถิดถึงขั้นมองคนอื่นไม่ดี เรียกว่าขณะนั้นมี “มานะ” มีความทะนงตัว มีความคิดในเชิงเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับผู้อื่น เป็น “อุปกิเลส” ตัวหนึ่ง คนที่จะมาดูตรงนี้ได้ ต้องเจริญสติสักหน่อย ก็คือ มีสติรู้ทันจิตใจตัวเอง กิเลสตัวนี้เป็นกิเลสที่พอรู้แล้วจะละอาย เจ้าตัวจะละอาย แต่ถ้ามีคนอื่นมาบอกนี่นะ..จะโกรธ เขาเองควรจะรู้ของเขาเอง ถ้าคนอื่นไปเตือนนี่นะ คนเตือนเนี่ยจะเสี่ยงมาก ครูบาอาจารย์เวลาเห็นลูกศิษย์มีมานะนี่นะ จะต้องดูก่อนว่าคนนี้ พร้อมจะรับฟังไหม? ถ้าพร้อมรับฟัง..ก็จะบอกได้ ถ้าไม่พร้อมจะรับฟังนี่นะ..บางทีท่านก็ปล่อยไปก่อน ยังไม่บอก ท่านบอกว่า “เปรียบเหมือนควาย มันอาจจะแว้งขวิดเราได้” อุปกิเลสที่เรียกว่ามานะถือตัว คือเห็นว่าตัวเองดีกว่าคนอื่นเนี่ยนะ.. .. ไอ้ความดีน่ะ.. ดี! แต่ตัวที่ถือว่า “ตัวเองดีกว่าคนอื่น” น่ะ..ไม่ดี! เพราะฉะนั้น เวลาเราเจอบุคคลที่มีมานะ จะทำอย่างไรให้เขารู้สึกตัวได้? ก็ต้องให้เขาลองเจริญสติ ลองหาซีดีธรรมะของครูบาอาจารย์ในแง่ของสอนเจริญสติดูจิต ให้เขาไปฝึก บางทีเขาฝึกๆไป เห็นความไม่ดีของตัวเอง.. อย่างนี้เริ่มง่ายล่ะ!.. แต่ถ้ายังเห็นความดีของตัวเองอยู่เรื่อยๆนี่นะ อย่างนี้ก็ยังเรียกว่าเป็นการยากอยู่ แม้เราจะไปเตือน.. พี่ไปเตือน.. พระไปเตือน ก็อันตรายทั้งคู่ ไม่ว่าจะเป็นพระหรือจะเป็นพี่ก็อาจจะถูกแว้งกัดเอาได้ ฉะนั้น คนที่มีมานะ ถือตัว ทะนงตัว บางทีอาจต้องได้รับบทเรียนแบบเจ็บๆ ประมาณว่าทำให้อายขายหน้า แล้วตัวเองก็จะรู้สึกว่า “โอโห้! บทเรียนครั้งนี้แพงมาก” เช่น มีอยู่คนหนึ่ง รู้สึกว่าตนเองเนี่ยภาวนาดีมากเลย ไปกราบเรียนกับครูบาอาจารย์ว่า “ดิฉันภาวนามาถึงขั้นที่ไม่โกรธแล้ว” ไม่โกรธแล้วเหมือนเป็นพระอนาคามีแล้ว! ครูบาอาจารย์ดูแล้วไม่ใช่..ท่านก็ด่าเลย “อีตอแหล!” อย่างนี้นะ อย่างนี้ครูบาอาจารย์ท่านทำได้ พอบอกโดนด่าว่า “อีตอแหล” เท่านั้น.. โยมคนนั้นโกรธเลย ทั้งๆที่เมื่อกี้บอกว่า.. ภาวนามาถึงขั้นที่ไม่โกรธแล้วนี่นะ มันโกรธเลย.. ลืมตัว ชี้หน้าว่าพระเลย..”พระอะไร.. พูดจาหยาบคาย!” แล้วก็เดินตึงตังๆออกนอกวัดไปเลย พ้นวัดไปแล้ว จึงรู้ตัวว่า “อ้าว! เมื่อกี้เราโกรธซะแล้ว” ก็เลยเห็นความไม่ดีของตัวเอง เห็นความผิดพลาดของตัวเอง แล้วจึงกลับไปกราบขอขมาและขอขอบคุณครูบาอาจารย์ที่่ท่านชี้ให้เห็นว่าเรายังมีกิเลส นี่โยมคนนี้ดีนะ ที่ยังเห็นกิเลสของตัวเอง แล้วกลับมาขอขมากับครูบาอารย์ท่านนั้น นี่เรียกว่า.. อาจจะต้องเจอครูบาอาจารย์ที่แบบโหดๆ อย่างนี้บ้าง ทีนี้ ถ้าเราไม่ถึงขั้นครูบาอาจารย์จะไปเตือนแบบนั้น คือเขาไม่ศรัทธาเรามากพอ เราก็รอรอจังหวะก่อน บางที่อาจจะยังไม่ถึงเวลาที่เขาจะมาเห็นกิเลสตัวนี้ของเขา อดทนหน่อย! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ”ธรรมะสว่างใจ” เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๒ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/apvXItStMqw (นาทีที่ 1:23:10 – 1:27:52)
อ่านต่อ ...

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๐๖ #ปิดวาจาไม่พูดแล้วยิ้มได้ไหม 🤔🤔 #ถาม : ไปวัดเขาบอกว่า “ให้ปิดวาจา ไม่พูด” แล้วเรามองกัน..คือไม่พูดแต่ก็เห็นหน้า ยิ้มให้กันได้ไหมค่ะ? #ตอบ : ได้ ๆ แต่จริง ๆ นี่นะ โดยหลักการนะ การปิดวาจาเนี่ย ไม่ใช่ปิดเพื่อที่จะเป็นใบ้ แต่ว่า ‘ปิด’ เนี่ย เพื่อให้รู้ความปรุงแต่งในใจให้ชัดเจนขึ้น เนี่ยมันปรุงอยู่ในใจนะ! แต่ปากไม่พูด ให้รู้ทันตัวที่มันปรุงแต่ง ไม่ใช่ว่าจะหาวิธียังไง ที่จะสื่อสารกับเขาให้ได้ โดยอาจจะเขียนอะไรอย่างนี้ อย่างนี้ก็พูดดีกว่า เข้าใจไหม? ยิ้มให้ได้ คืออยู่ด้วยกันแล้วก็ยิ้มให้กัน อย่างนี้ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าคิดจะสื่อสารอะไรกับเขาสักอย่าง อย่างนี้เราก็วุ่นวายใจอยู่ข้างใน #ถาม : คือหนูเข้าใจ แต่ทีนี้หนูเห็นทุกคนเขาหน้าบึ้งกันหมด ยิ้มก็ไม่ได้หรือเปล่า? หนูก็เลยสงสัยตรงนี้ #ตอบ : ยิ้มได้ ๆ “พุทธะ” แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ผู้บึ้ง ผู้นิ่ง ผู้เครียด ยิ้มให้ได้ แต่ถ้าเราสมาทานปิดวาจานะ ก็ไม่พูดเท่านั้นเอง ทีนี้ไม่พูดเพื่ออะไร? นี่ต้องดูด้วย ดูจุดมุ่งหมายด้วยนะ ไม่พูดเพื่ออะไร? ไม่พูดเพื่อที่จะดูความปรุงแต่ง คือดูจิตนั่นเอง เห็นสังขารที่มันปรุงแต่งอยู่ข้างใน มี “วจีสังขาร” คือ มันปรุงเป็นคำพูด #ถาม : อันนี้หนูเข้าใจค่ะ เรื่องไม่พูดหนูเข้าใจ แต่ไม่พูด ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเราต้องหน้าบึ้งใส่กันไปเลย ไม่ใช่นะ! #ตอบ : กลายเป็นผู้เครียดใช่ไหม? ต้องเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้ คือ รู้จิต รู้กิเลส รู้ความปรุงแต่ง ตื่น คือ รู้สึกตัวอยู่ ไม่ใช่หลับใหล หลับใหลในที่นี้ หมายถึงว่า มีโมหะ ลืมตาตื่นอยู่นะ แต่เป็นผู้หลับใหลได้ คือ มีโมหะ เราต้องเป็นผู้ตื่น คือ มีสติ รู้ทันกาย รู้ทันใจ ที่นี้สมมุติว่าไปเจอคนบึ้งนะ และเรานึก “แหม! ยายเนี่ย แสดงว่าไม่เข้าใจเลย” คิดตำหนิเขานะ นี่สมมุตินะ! คิดตำหนิเขา..ให้รู้ทันด้วยว่า เนี่ยเรามีความปรุงแต่งในแง่ตำหนิเขา ไอ้ความปรุงแต่งในแง่ตำหนิเขาเนี่ย..ไม่ดี เป็นอุปกิเลส ให้รู้ทันอุปกิเลสตัวนี้ เขาจะเป็นยังไง ก็เรื่องของเขานะ เขาจะหน้าบึ้ง เขาจะเครียด เขาจะอะไร ..ก็เรื่องของเขานะ แต่เราเนี่ย มีความเห็นอยู่ในใจเนี่ย..ให้รู้ทัน ความเห็นตรงนี้ด้วย เข้าใจไหม? #ถาม : ไอ้ที่ว่าทุกคนเขาอาจจะรู้อะไรกันมาไม่เหมือนกัน ในความคิดของแต่ละคน แต่ “เอ! เรายิ้มให้เขาเราผิดหรือเปล่า? นี่เขาห้ามยิ้มด้วยหรือเปล่า?” เราก็ไม่รู้ข้อปฏิบัติ #ตอบ : โอ้! ถ้าห้ามยิ้มด้วย ย้ายวัดเลย เปลี่ยนสำนักได้เลย เรียกว่า มีปราโมทย์อยู่ในใจ ปราโมทย์เนี่ยเป็นธรรมเริ่มต้นที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ซึ่งเป็นต้นทาง มีธรรมอยู่ชุดนึงที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้บ่อยมาก คือ มีปราโมทย์ มีปีติ มีปัสสัทธิ มีสุข แล้วจึงมีสมาธิ ปราโมทย์ ก็คือ ความเบิกบาน ร่าเริง ร่าเริงแล้ว ก็มีปีติ คือความอิ่มใจ ปัสสัทธิ นี่คือ ความไม่เครียด เป็นความปลอดโปร่งโล่งใจ ผ่อนคลายกายใจ แล้วค่อยมีสุข แล้วสุขนี่ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ ดังนั้น คนที่จะมีสมาธิให้ถูกต้องเนี่ย ต้องเริ่มด้วยปราโมทย์ ไม่ใช่บึ้งตึง เครียด ไม่ใช่อย่างนั้นนะ! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ “ธรรมะสว่างใจ” วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๒ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/xGwa3WUjc4Y (ระหว่างนาทีที่ 7:33 - 12:24)
อ่านต่อ ...

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๐๗ #บังคับให้คนบวชบาปไหม? 🤔🤔 #ถาม : ถ้าเราบังคับคนให้บวช เราจะบาปไหมคะ? คือเราเป็นพี่น้องกันนั่นแหละค่ะ ท่านก็จะโทรมาถามนู่นถามนี่ แล้วเวลาเราตอบไปเราก็เหมือนเป็นการสอนพระ โยมก็ไม่รู้ว่ามันบาปไหม? แต่ถ้าไม่บอกไม่กล่าว ท่านก็จะไม่รู้เรื่อง โยมก็มาคิดว่า ..โยมนี่จะบาปหนาหรือเปล่า? มาบังคับให้ท่านบวช ท่านก็ไม่ได้เต็มใจบวช แต่ท่านก็บวชให้ #ตอบ : แล้วเวลาท่านโทรมา เราบอกอะไรกับท่านบ้าง? #ถาม : บางทีก็คุยเรื่องธรรมะ แต่โยมก็ถามว่า “หลวงพี่โทรมาเนี่ย แล้วโยมจะบาปไหม?” เขาบอก “ไม่บาป เพราะเราพี่น้องกัน!” แล้วบางทีโยมน้องก็จะบอกว่า “หลวงพี่ต้องทำแบบนี้ ๆ สิ อย่างหลวงพี่ก็ไม่ต้องไปสนใจ หลวงพี่ก็ปฏิบัติ หลวงพี่ก็ฟังพระ” #ตอบ : ท่านมาบ่นเรื่องในวัดให้ฟังหรอ? #ถาม : ประมาณนั้นเจ้าค่ะ! โยมก็บอกว่า “หลวงพี่ก็ปล่อยวางสิ อย่าไปนู้นไปนี่” ท่านก็บอกว่า “อ้าว! อย่ามาสอนพระนะ เดี๋ยวจะเป็นบาปนะ” โยมน้องก็บอกว่า “อ้าว! ถ้าไม่สอน แล้วท่านจะรู้หรอ?” ว่าโยมน้องบาปอีก แต่เราก็เครียดว่าเราจะยังไง? แล้วตอนเป็นฆราวาส โยมน้องจะเป็นคนดูแลเขาทุกอย่างทั้งครอบครัวทั้งหมด นู่นนี่นั่น ดูแลทุกอย่าง แล้วเวลาท่านบวชไป โยมน้องก็บอกว่า “รับปากว่า จะไม่ทิ้ง” เวลาไปบวชปุ๊ป ท่านก็จะขอโน่นขอนี่ ขอทุกอย่างอย่างนี้ บางทีมันเกินไป เราก็จะบอกว่า “พระหลวงพี่ มันเกินไปแล้วนะ” ท่านก็จะบอกว่า “ไหนบอกว่าจะไม่ทิ้งกัน เนี่ยทำแบบนี้ บาป! โยมน้องจะบาปตลอด” อันนี้คือสิ่งที่โยมไม่สบายใจว่า คือเรารู้อยู่ว่าเราเป็นฆราวาส แล้วเราไปสอนพระ สอน บอก เราก็รู้มันเป็นบาป แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง? หาทางออกไม่ได้ บางทีเราก็เครียด บางอย่างก็รู้ว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ถูก อย่างเช่นว่า อย่างปัจจัยนี่! เราทราบอยู่ว่า พระไม่พกปัจจัยกัน แต่ท่านขอมา เราก็ต้องให้ เราก็เต็มใจให้อยู่แล้ว แต่เราไม่อยากให้ท่านผิดเรื่องศีล เราเป็นน้อง เราก็ไม่อยากบาปด้วย แล้วเราก็มาคิดว่า “เอ! จะทำอย่างไรดี ให้ถูกสองคน?” เราเป็นโยมน้อง เราก็ต้องปฏิบัติในส่วนของฆราวาสให้มันถูกต้อง ให้ไปด้วยกันแบบไม่บาปทั้งสองฝ่าย สิ่งที่โยมทำมันบาปไหม? บาปหรือไม่บาป? แล้วเราจะหาทางออกยังไงให้ถูกต้องดีคะ? #ตอบ : บังคับพี่ให้บวช บังคับคนให้ทำในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ ก็เรียกว่าเป็น ข่มขืนใจบุคคลนั้น! แล้วผลแห่งการที่บังคับให้เขาทำในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ ก็ส่งผลถึงความลำบากใจที่โยมกำลังได้รับอยู่นั่นเอง ทีนี้มาดูความแตกต่างระหว่าง ‘การชักชวนให้คนไปบวช’ กับ ‘การบังคับให้คนไปบวช’ จะเห็นว่าไม่เหมือนกัน การชักชวน ถ้าชักชวนได้สำเร็จ เขาเห็นประโยชน์จากการบวช หรือเห็นโทษของการอยู่ครองเรือนเป็นฆราวาส แล้วเขาเต็มใจบวชเอง มันควรจะเป็นแบบนี้! ทีนี้ถ้าเขาไม่เต็มใจบวช แล้วบังคับ บางทีมันก็จะส่งผลร้ายอย่างที่โยมกำลังได้รับอยู่ หรือ ถ้าเราสามารถจูงใจให้เขาไปอยู่ในสถานที่ ในสำนักที่มีครูบาอาจารย์ดี ๆ บางทีเหตุการณ์จะพลิกผัน ไปเห็นหมู่คณะที่มีการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีครูบาอาจารย์ที่รู้เท่าทันนิสัยหรือจริตของลูกศิษย์ มีคำสอนที่เหมาะกับลูกศิษย์ การบังคับครั้งแรกที่ดูมันไม่ดี กลับกลายเป็นส่งผลดี..อย่างนี้ก็มี เรียกว่า..ผลที่เกิดขึ้นนั้น บางทีถ้าเราต้องการจะให้ได้ผลดี ก็ต้องเลือกสถานที่ที่จะให้พี่เราไปอยู่ บางทีไปอยู่ในวัดที่เสี่ยงต่อการที่เขาเห็นภาพที่ไม่ดี หรือบรรยากาศในสังคมในวัดนั้นไม่ดี อย่างนี้นะ ก็เป็นการเสี่ยงที่ว่า เขาจะเกิดจิตที่เป็นอกุศลมากยิ่งขึ้น บางทีก็หมดศรัทธาในพระศาสนาไปเลย มันไม่เต็มใจมาตั้งแต่แรก แล้วพอไปอยู่ในสังคมที่ไม่เอื้อต่อการที่เจริญศรัทธาอีก ก็กลายเป็นว่า เข้าไปในมุมมองที่เป็นอคติอยู่แล้วก็ไม่พอใจอยู่แล้ว คนไม่พอใจเนี่ย..มุมมองของเขาจะเป็นอคติ เพราะใจถูกกิเลสห่อหุ้มอยู่ มุมมองนั้นมันจะมองอย่างเป็นอคติอยู่แล้ว ทีนี้ แต่ถ้าอยู่ในที่ที่หมู่คณะดี พระมีระเบียบวินัย แล้วครูบาอาจารย์ก็รู้เท่าทัน มีอุบายในการสั่งสอนลูกศิษย์ อย่างนี้ก็จะมีประโยชน์ อย่างเช่น พระนันทะ ตอนเป็นเจ้าชายอยู่ในงานแต่งงานของตัวเอง นิมนต์พระพุทธเจ้าไปทำบุญที่วัง พระพุทธเจ้าฉันเสร็จแล้ว เมื่อจะเสด็จกลับ ก็ยื่นบาตรให้เจ้าชายนันทะ เจ้าชายในฐานะน้องก็จำเป็นต้องไปส่ง รู้สึกว่าไม่กล้าปฏิเสธหลวงพี่คือพระพุทธเจ้า คือตอนอยู่เป็นฆราวาสก็เคารพเจ้าชายสิตธัตถะมาก เจ้าชายสิทธัตถะก็เป็นที่เคารพของบรรดาพี่น้องในตระกูล ดูน่าเคารพน่าเลื่อมใส เวลาออกบวชไปเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ยิ่งมีความเลื่อมใสศรัทธา เจ้าชายนันทะไม่กล้าที่จะคืนบาตรโดยพลการ ก็ตามไปส่ง สุดท้ายไปส่งถึงวัด แล้วพระพุทธเจ้าก็ถามเจ้าชายนันทะว่า “จะบวชหรือ?” ประมาณว่า ถือบาตรมาเนี่ย จะบวชหรือ? เจ้าชายนันทะไม่กล้าปฏิเสธ จึงตอบรับไป ก็จำเป็นจะต้องบวช แต่ตอนนั้นเนี่ย พระพุทธเจ้าไม่ได้บังคับ เพียงแต่ว่าพระนันทะบวชไปเพราะการหลุดปากไปว่า “บวชครับ” มันก็ไม่ถึงกับเป็นการบังคับขืนใจตรง ๆ ซะทีเดียว แต่ในลักษณะของพระพุทธเจ้าเป็นการใช้อุบาย โดยใช้คำถามนำ โดยที่เจ้าชายนันทะไม่กล้าปฏิเสธ พอบวชแล้วก็ไม่ได้เต็มใจบวช จึงมีความไม่สบายใจขัดเคืองใจ ใจก็ไม่เป็นกรรมฐานอะไรเลย ไม่ได้สงบอะไรเลย จนกระทั่งพระพุทธเจ้าผู้เป็นครูผู้สอนที่เป็นบรมครูผู้เลิศ พระองค์เห็นปัญหาตรงนี้ ก็พาพระนันทะไปดูสภาพป่าที่ถูกไฟไหม้ มีไฟไหม้ป่า ไปพบนางลิงตัวหนึ่ง ถูกไฟเผาขนหงิกงอไปแล้วนี่นะ เนื้อบางส่วนก็ถูกไฟไหม้บางส่วน แต่ยังไม่ตาย หนีรอดมาได้ มานั่งขดอยู่บนตอไม้ที่ถูกไฟไหม้เหมือนกัน ลองนึกภาพดูว่า ลิงถูกไฟไหม้ตัวนี้ดูน่ารังเกียจแค่ไหน? ดูน่าสมเพชแค่ไหน? พระองค์พาไปดูลิง พาไปดูสภาพของลิงตัวเมียที่นั่งแซ่ว นั่งซมอยู่ พระองค์ถามพระนันทะว่า “ถ้ายกให้ได้ จะเอาไหม? ให้เป็นเมีย” เพราะทราบว่าพระนันทะคิดถึงเจ้าสาวในกรุงกบิลพัสดุ์อยู่นะ.. “ให้ลิงตัวนี้ทดแทนเอาไหม?” พระนันทะตอบว่า “ไม่เอา!” ..จะแตะ ยังไม่อยากแตะเลย รู้สึกว่าน่ารังเกียจ ถึงจะเป็นตัวเมียก็น่ารังเกียจ “ไม่เอา แทนไม่ได้ ไม่เอา!” พระองค์ก็พาไปขึ้นสวรรค์ ไปดูนางฟ้า “โอ้ย! นางฟ้าสวย สวยงามมาก” ..เห็นนางฟ้าแล้วเพลิน ถามพระนันทะว่า “ระหว่างนางฟ้า กับ นางรูปนันทาที่เป็นเจ้าสาวนี่ จะเลือกใคร?” พระนันทะ ตอบง่าย ๆ เลยว่า “ขอเลือกนางฟ้า” พระนันทะรู้สึกว่า นางรูปนันทาที่เป็นเจ้าสาวเนี่ย ถ้าเทียบกับนางฟ้าแล้ว ก็เหมือนนางลิงที่ถูกไฟไหม้นั่นเอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ถ้าต้องการนางฟ้า ให้ไปทำกรรมฐาน” ไม่ได้บอกว่าจะให้นางฟ้านะ! แต่ถ้าต้องการนางฟ้าให้ไปทำกรรมฐาน ให้ทำสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน พระนันทะตีความเองเลยว่า ถ้าทกรรมฐานแล้ว..เดี๋ยวจะได้นางฟ้า อาศัยอุบายในการสั่งสอนอย่างนี้ เจ้าชายนันทะทำสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เห็นร่างกายตนเองแสดงอสุภะ เห็นร่างกายตนเองแสดงไตรลักษณ์ให้ดู เห็นจิตใจแสดงไตรลักษณ์ให้ดู ปรากฎว่าก็ได้ผลจากการสั่งสอน ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง คราวนี้นางฟ้าก็ไม่เอา นางลิงก็ไม่เอา รวมทั้งนางรูปนันทาก็ไม่เอาด้วย อย่างกรณีพระนันทะนี้ แม้จะไม่เต็มใจบวช แต่ได้ครูบาอาจารย์ดี ก็สามารถทำให้จิตใจนี้เปลี่ยนได้ ก็เรียกว่า แม้จะต้องฝืนใจทีแรก ถ้าได้ครูบาอาจารย์ดี ก็จะได้รับผลจากการบวชนั้น แต่การที่โยมบังคับพี่บวชเนี่ย จะเป็นบุญเป็นบาป ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราพาไปที่ถูกไหม? และการที่แนะนำสั่งสอนพระ ถ้าเราไม่ได้ตั้งใจจะสั่งสอนในทางที่ผิด ถือว่าเป็นการแนะนำ หรือถวายความรู้ อย่างนี้ไม่เป็นบาปอะไร! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ “ธรรมะสว่างใจ” วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๒ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/ZKDjnBeK-k0 (นาทีที่ 1:43:30 – 1:56:34)
อ่านต่อ ...

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๐๔ #ปฏิจจสมุปบาท #ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ 🤔🤔 #ถาม : ปฏิจจสมุปบาท คืออะไรครับ? #ตอบ : ปฏิจจสมุปบาทนี่นะ เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ แล้วพระองค์เสวยวิมุตติสุขนี่นะ มีอยู่สัปดาห์หนึ่งพระองค์มาพิจารณาว่า พระองค์ตรัสรู้อะไร? ก็เห็นว่าพระองค์ตรัสรู้ความจริงของโลก คือ ปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาท ก็คือ เป็นความจริงที่ว่า “สิ่งนี้มี..ทำให้อีกสิ่งหนึ่งมี” เรียกว่า รู้ความเป็นเหตุปัจจัยของทุกข์ และรู้ความเป็นเหตุปัจจัยของความดับทุกข์ ปฏิจจสมุปบาทมี ๒ สาย สายหนึ่งคือสายที่ทำให้เกิดทุกข์ อีกสายหนึ่ง คือสายที่ทำให้ดับทุกข์ สายที่ทำให้เกิดทุกข์ พระองค์ก็เริ่มตั้งแต่มีอวิชชา อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิด สฬายตนะ สฬายตนะ หมายถึง อายตนะภายนอก และอายตนะภายใน อายตนะภายใน ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอก ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ คือ ความคิดนึกปรุงแต่ง สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ เพราะว่า อายตนะภายนอก กับอายตนะภายในก็มาเจอกัน ผัสสะนี่ ก็คือ ต้องมีตัวรับรู้ด้วยนะ ตา กระทบ แสง แล้วต้องมีตัวรับรู้ คือ ตัววิญญาณ วิญญาณ ก็คือ ทำให้ผัสสะนั้นสมบูรณ์ ถ้ามี ตา กับ แสง กระทบกัน ไม่มีวิญญาณ อย่างนี้ยังไม่เรียกว่า ผัสสะ เป็นเพียงแค่ ตา กระทบ รูป แต่ไม่มีความรับรู้เกิดขึ้น เช่น ตาของศพ ตายใหม่ ๆ ยังมีตาอยู่แสงก็มี แหกตาศพมา แสงก็เข้าตา แต่ไม่มีตัวรับรู้ คือ ไม่มีวิญญาณ สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา เวทนา คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ เวลาลมพัดมาก็มีผัสสะ เกิดขึ้นทางกาย ลมเย็น..ก็รู้ว่าเย็น เย็นแล้วก็เกิดสุข ก็รู้ว่า ไอ้เวทนาที่เป็นสุขนี่ เป็นผลมาจาก มีการสัมผัสหรือผัสสะกันระหว่าง ลม กาย และก็มีวิญญาณการรับรู้ ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา เวลามีเวทนาเป็นสุข ก็ปรารถนาให้มีอีก มีเวทนาที่เป็นทุกข์ ก็ปรารถนาที่จะไม่ให้มี ตัณหานี่ มีได้ถึง ๓ แง่ คือ กามตัณหา อยากได้ อยากมี ภวตัณหา คือ อยากเป็น วิภวตัณหา คือ อยากพ้นไปจากสิ่งนั้น เรียกว่า อยากได้ อยากที่จะไม่ได้ อยากมี อยากที่จะไม่มี อยากเป็น อยากที่จะไม่เป็น รวมเป็น ตัณหา ทั้งหมดนะ! อยากได้ คือมีตัณหา ขึ้นมาแล้วน่ะ ก็เป็นปัจจัยให้เกิด อุปทาน อุปทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่น เพราะอยากได้ แล้วก็อยากจะให้มันอยู่อย่างนี้ และเป็นของเราด้วย ก็ยิ่งยึดเอาไว้ แต่ความจริงของสิ่งทั้งหลาย คือ มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือความจริงมันฟ้องอยู่ว่า มันรักษาไว้ไม่ได้ เหมือนกับของมันจะต้องหลุดมือไป ต้องรีบยึดสิ่งนั้นเอาไว้ เพราะกลัวมันจะหลุดมือ กลัวมันจะไม่ได้เป็นของเรา แต่ความจริง คือ มันไม่ใช่ของเรา และมันไม่เป็นเราด้วย ก็เลยรีบยึดเอาไว้ ตัวอุปทาน คือ มันต่อต้านกับความจริง ต่อต้านความเป็นจริงของโลกนี้ ของชีวิตนี้ ของธรรมชาตินี้ พอมีอุปทาน อุปทานอีกอย่างนึง คือ มีการแทรกแซง อุปทาน เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ ภพ ก็คือ การแทรกแซง การทำกรรมต่างๆ การทำกรรมต่าง ๆ เนี่ย ภพ มันมี ๒ แง่น่ะ ภพ ก็คือ เป็นแดนเกิด เช่น รูปภพ อรูปภพ อะไรอย่างนี้นะ ก็เป็นเรื่องของแดนเกิด แต่ภพอีกอย่างหนึ่ง คือเป็น กรรมภพ คือ การแทรกแซงการกระทำต่าง ๆ ด้วยเจตนา เช่น จิตเผลอไป..รีบดึงกลับมา นี่ก็คือ การแทรกแซง.. เกิดภพแล้ว ภพของนักปฏิบัติอย่างเนี้ย มีภพ ก็เกิด ชาติ ..คือการเกิด ชาตินี่ ก็มีชาติ มีการเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมา เกิดทีไรก็แก่ เจ็บ ตาย มีชาติ จึงมีชรา มีมรณะ พอมีชาติ ชรา มรณะ ก็ขัดแย้งกับความรู้สึกของบุคคลทั้งหลาย ของสัตว์โลกทั้งหลาย ไม่อยากแก่ ไม่อยากตาย ก็เกิด โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส สรุปแล้วคือเป็นทุกข์ นี่ก็เป็นปัจจัยของสภาวะธรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อเนื่องกันมาจนกลายเป็นมีทุกข์ ส่วนปฏิจจสมุปบาทสายที่ทำให้ทุกข์ดับ ก็คือ เพราะอวิชชาดับ ทำให้สังขารดับ และก็ไล่ไปเรื่อย ๆ จนถึง เพราะภพดับ ชาติจึงดับ ชาติดับ ก็เป็นอันว่าทุกข์ดับ ความรู้อันนี้เป็นความรู้ที่ทำให้พระพุทธเจ้าปฏิญาณตนว่า..พระองค์ตรัสรู้แล้วเป็นพระพุทธเจ้า ในคราวที่พระองค์เคยเสวยวิมุตติสุข ก็คือพระองค์ปรารภ พิจารณาธรรมะโดยพระองค์เอง อยู่พระองค์เดียวตามลำพัง ปฏิจจสมุปบาทเนี่ย พอพระองค์พิจารณาถึงธรรมที่ทำให้ตรัสรู้ คือปฏิจจสมุปบาท พระองค์ก็ปรารภที่จะไม่สอน เพราะรู้สึกว่ายาก มันยากเกินไปที่สัตว์โลกจะมาทำความเข้าใจปฏิจจสมุปบาทอย่างนี้ ก็ปรารภที่จะไม่สอน แต่ต่อมาพระองค์ก็พิจารณาเห็นว่าสัตว์โลกทั้งหลายเนี่ย ที่มีธุลีในดวงตาน้อย ๆ ก็มี หมายความว่า มีกิเลสน้อย ๆ มีปัญญามากพอที่จะฟังคำสอนของพระองค์แล้วก็เข้าใจได้..มีอยู่! พระองค์พิจารณาอย่างนี้ โดยเปรียบกับบัวสามเหล่า เหล่าแรกก็คือ บัวที่พ้นน้ำแล้ว เพียงกระทบแดด ก็จะบาน บัวเหล่าที่สองก็คือ บัวอยู่ปริ่ม ๆ น้ำ รออีกไม่นาน ก็จะพ้นน้ำขึ้นมา แล้วก็กระทบแสงแดด ก็จะบาน บัวอีกเหล่านึงก็คือ อยู่ในน้ำ รออีกวันสองวัน ก็จะค่อย ๆ ชูดอกขึ้นมา แล้วก็พ้นน้ำ แล้วก็กระทบแดด แล้วก็บาน มีบุคคลสามประเภทนี้ ทำให้พระองค์ตัดสินใจที่จะออกมาแสดงธรรม บุคคลสามประเภทนี้ก็คือ เทียบกันกับบุคคลที่รู้ได้เร็ว ก็คือที่เป็นบัวพ้นน้ำแล้ว รู้ได้เร็วรองลงมา ก็เป็นประเภทที่อยู่ปริ่ม ๆ น้ำ คนที่ได้ยินได้ฟังธรรมะ แล้วก็ต้องฝึกฝนฝึกปรืออีกนานเลยนะ แต่ก็สามารถบรรลุธรรมได้ คนสามประเภทนี้ทำให้พระองค์ตัดสินใจที่จะแสดงธรรม ก็มองหาว่าควรจะแสดงให้ใครฟัง? เริ่มต้นก็ดูที่อาฬารดาบส อุทกดาบส ปรากฏว่าสองท่านนั้นสิ้นชีวิตแล้วไปเป็น “อรูปพรหม” ก็หมดโอกาสที่จะฟังธรรม เพราะไม่มีรูปแล้ว ก็หมายถึงว่า ไม่มีตา ไม่มีหู ไป..ก็ไม่เห็น พูด..ก็ไม่ได้ยิน เค้าเรียกว่าพูดง่าย ๆ ตามประสาปัจจุบัน เรียกว่า “ฟาว” หมดโอกาสที่จะมาฟังธรรม แล้วนึกถึงว่า “ใครล่ะ? ลำดับต่อไป” ก็นึกถึงปัญจวัคคีย์ พอไปแสดงธรรมกับปัญจวัคคีย์ “นี่เล่าแบบรัด ๆ นะ!” พอไปแสดงธรรมกับปัญจวัคคีย์ แทนที่พระองค์จะแสดงธรรมปฏิจจสมุปบาท พระองค์ปรับคำสอนของพระองค์ให้เหมาะกับผู้ฟัง เพราะพระองค์ปรารภตั้งแต่คราวแรกแล้วว่าปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องยาก ที่สัตว์โลกทั้งหลายจะมาฟังแล้วบรรลุธรรมได้ เวลาพระองค์แสดงธรรมกับปัญจวัคคีย์ พระองค์ไม่ได้แสดงปฏิจจสมุปบาทแบบที่พระองค์ปรารภตอนที่เสวยวิมุตติสุข ปรับหัวข้อในการแสดงธรรมเสียใหม่ เรียกว่า “อริยสัจ ๔ ” ที่ปรับเนี่ยไม่ได้ค้านกันกับปฏิจจสมุปบาท เพียงแต่ทำให้มันง่ายขึ้น โดยเอาจุดที่น่าสนใจมาเป็นการนำเสนอ เช่น ปฏิจจสมุปบาทสายให้เกิดทุกข์นี่ จะไล่มาตั้งแต่อวิชชาจนถึงทุกข์นี่นะ น่าจะทำให้ยากเกินไปสำหรับผู้ฟัง พระองค์ก็หยิบเอาตัวปัญหา คือ “ทุกข์” มาเป็นประเด็นขึ้นมา เอาปัญหาขึ้นมาว่า “เรามีปัญหาอย่างนี้นะ!” คนฟังก็จะรู้สึกว่า “เออ! เรามีปัญหาอย่างนี้” “แล้วปัญหานี้ มันมีเหตุนะ!” “เหตุ” มันก็คือ มันตั้งแต่ต้นสายเลย ตั้งแต่ “อวิชชา” มาจนถึงก่อนจะเกิดทุกข์เนี่ยก็เป็นสาเหตุ จะว่าให้ยาว ๆ อย่างนี้มันก็ดูยากไป พระองค์ก็จับเอาตัวเด่น ๆ หลัก ๆ ที่เข้าใจง่าย คือหยิบเอาตัว “ตัณหา” ขึ้นมา เป็นตัวบอกว่า นี่คือ “สมุทัย” เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ก็คือปฏิจจสมุปบาทนั้นแหละ แต่มันแยกให้เป็นสองข้อ เป็นข้อทุกข์ และก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ และก็ไม่ได้เอามาตลอดทั้งสาย เอาแต่ตัวเด่น ๆ มา เอาตัว “ตัณหา” ซึ่งทำความเข้าใจได้ง่ายหน่อย ส่วนปฏิจจสมุปบาทสายให้ดับทุกข์ พระองค์ก็ไม่ได้ว่าทั้งสาย หยิบเอาภาวะที่พ้นทุกข์คือปลายทาง มาเป็นตัวตั้งว่า..นี่เป็นเป้าหมาย ที่เราจะต้องไปให้ถึง ไปแสดงให้กับปัญจวัคคีย์ ให้เห็นว่า “มีทุกข์นะ!” นี่อริยสัจข้อที่หนึ่ง “มีเหตุแห่งทุกข์นะ!” นี่อริยสัจข้อที่สอง คือ สมุทัย และข้อที่สามคือ ชี้ให้เห็นเป้าหมายว่า “ต้องให้ถึงทางดับทุกข์นะ!” ส่วนข้อที่สี่ อันนี้แหละเป็นพระปัญญาของพระองค์ ในปฏิจจสมุปบาทเนี่ย ยังไม่ได้บอกวิธีการปฏิบัตินะ แต่เวลาพระองค์จะแสดงธรรม เพื่อให้คนไปให้ถึงปลายทาง คือความพ้นทุกข์ให้ได้เนี่ย พระองค์ก็หยิบเอาความรู้ที่พระองค์รู้แล้วเนี่ยมาปรับ แล้วก็บอกสอนว่าควรทำอย่างไร? ก็กลายเป็นว่ามีแนวสำหรับให้คนได้ฝึก เพื่อให้ถึงปลายทางก็คือ มรรคมีองค์แปด มรรคมีองค์แปดเนี่ย สอนกับพระปัญจวัคคีย์ แต่เวลาสอนกับคนอื่นหรือบุคคลอื่นนี่นะ อาจจะสอนเป็นไตรสิกขาก็ได้ “ไตรสิกขา คงเคยได้ยินนะ!” ก็คือ สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา จริง ๆ ก็คือ มรรคมีองค์แปดที่ย่อเหลือสาม เวลาสอนกับพระภิกษุนักบวชก็สอนไตรสิกขา สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา เวลาสอนกับชาวบ้านก็ปรับใหม่ให้เหมาะกับผู้ฟัง ก็กลายเป็น ทาน ศีล ภาวนา ก็คือ เป็นการปรับมรรคมีองค์แปดเนี่ยมาเป็นสามข้อ ให้เหมาะกับชาวบ้าน สรุปแล้วคือ ปฏิจจสมุปบาท ถ้ารู้สึกว่ายาก “ไม่เป็นไร! ธรรมดามากนะ” ให้มาเรียนอริยสัจ ๔ ก็ได้ เรียนอริยสัจ ๔ ก็มาทำความเข้าใจว่า..กิจในอริยสัจ ๔ นี่ ควรทำอะไรบ้าง? ทุกข์..ควรรู้ สมุทัย..ควรละ นิโรธ..ควรทำให้แจ้ง มรรค..ควรเจริญ ถ้าเรียนอริยสัจ แล้วไม่มาถึงกิจในอริยสัจนี่นะ เรียกว่ายังไม่จบ มันไม่ได้ทางปฏิบัติ กิจในอริยสัจ คือ ทุกข์..ควรรู้ เวลาเกิดอะไรเกิดขึ้นในชีวิตนี้ กายนี้ ใจนี้..แค่ รู้ แต่ถ้ามันเริ่มเป็นตัณหา คือ มีแรงขับดันผลักดันให้เราต้องทำอะไร ด้วยเจตนาดีบ้างไม่ดีบ้างนี่นะ ส่วนใหญ่ตัวปัญหา คือ เจตนาไม่ดี เป็นตัวตัณหาขึ้นมาเนี่ย.. ให้รู้ ..ไม่ใช่ รู้ อย่างเดียว รู้แล้ว..ต้องละมันด้วย ไม่เอามัน ไม่ตาม ส่วนนิโรธ คือนิพพานเนี่ยไม่ใช่ไปปรุง(แต่ง) แต่ทำมรรคให้เจริญ แล้วก็ไปรู้ตัวนิโรธขึ้นมาเอง นี่ว่าคร่าว ๆ เทียบเคียงให้เห็นกันระหว่าง ปฏิจจสมุปบาท กับ อริยสัจ ๔ เพื่อให้เห็นแนวทางการปฏิบัติ ให้เข้าถึง ให้เป็นประโยชน์ต่อพุทธบริษัทด้วย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ “ธรรมะสว่างใจ” เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๒ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/J_UdRcRcHj0 (นาทีที่ 50:52 – 1:05:50 )
อ่านต่อ ...

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๐๕ #สมาทานศีลแปดฟังเพลงบรรเลงได้มั้ย? 🤔🤔 #ถาม : สมาทานศีลแปด สามารถฟังเพลงคลาสิคแบบเพลงบรรเลงฟังสบายๆ ได้หรือไม่? #ตอบ : เพลงบรรเลงก็คือเพลงนั้นแหละ มันก็คืออยู่ในข้อที่ขับร้องประโคมดนตรี ถึงแม้จะไม่มีเนื้อร้อง มันก็คือการประโคมดนตรี เป็นการฟังเพลงบรรเลงนี่นะ ถ้าเราจะถึอให้บริสุทธิ์ละก็อย่าไปฟัง ไม่จำเป็นจะต้องอาศัยเสียงมากล่อมในช่วงที่ถือศีลแปด ถือเนกขัมมะ ก็ต้องให้บริสุทธิ์ ไม่ต้องมีเสียงเพลงบรรเลงเราก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เอาไว้ลาศีลแล้วค่อยไปฟัง แผ่นก็คงยังอยู่ ไม่เป็นไรหรอก เอาไว้ไปเปิดฟังตอนที่ลาศีลแล้วดีกว่า เพื่อให้การรักษาศีลของเราบริสุทธิ์ แล้วก็ไม่ถูกตำหนิจากเพื่อนนักปฏิบัติด้วยกัน หรือไม่ถูกตำหนิจากครูบาอาจารย์ จริงๆ ก็คือว่าไม่ควรฟัง มันผิดศีลในข้อที่ ๗ “นัจจะ,คีตะ,วาทิตะ,วิสูกะทัสสะนาฯ” “นัจจะ” คือ การเต้นรำ ฟ้อนรำ “ทัสสะนา” ก็คือ ดูการละเล่น “วิสูกะ” แปลว่า เป็นข้าศึกของใจ “คีตะ” ก็คือ การขับร้อง “วาทิตะ” ก็คือ การประโคมดนตรี ประมาณนี้ รวมแล้วก็คือ การดูการละเล่น การเอนเตอร์เทน (Entertain) ทั้งหลาย คือความบันเทิงทั้งหลายนั่นเอง บันเทิงในที่นี้ก็คือว่า มีการขับร้อง ร้องรำทำเพลง ดูการละเล่น สมัยก่อนก็จะเป็นการละเล่นบนเวที เดี๋ยวนี้อยู่ในที่จอโทรทัศน์ จอโทรศัพท์ ถ้าดู ก็นับว่าเป็นการดูการเล่นด้วยกันหมดเลย ถ้าเราไปถือเนกขัมมะ เราก็ควรจะศึกษาข้อ ๗ นี้แหละ ซึ่งมันเป็นข้อที่ยาวมาก แล้วก็เป็นข้อที่คนมักจะไม่ค่อยเข้าใจ อาจจะเป็นเพราะมันยาวก็ได้ มีรายละเอียดเยอะ เช่นว่า การแต่งหน้าทาปากนี่นะ ไม่ควรจะไปแต่งหน้าทาปาก เว้นไว้แต่ปากแตก คือหน้าหนาวปากแห้ง ก็ใช้ลิปมันอย่างนี้ได้ ใช้เป็นยาเพื่อรักษาอาการป่วย หน้าแตกหน้าแห้งอย่างนี้นะ อาจจะลงโลชั่นได้อยู่ เพื่อที่จะรักษาผิวหรือรักษาร่างกายให้มันหายจากโรค บางคนเป็นผื่น ก็อาจจะต้องโรยแป้ง แต่ถ้าเวลาปกติ ไม่ได้ป่วยอะไร ไม่มีผื่นคันอะไรจะมาผลัดหน้าทาแป้งก็จะผิดข้อนี้ การร้องรำทำเพลง.. แม้แต่ผิวปาก ก็ไม่ควร บางคนไม่เข้าใจนึกว่า “อ่ะ! ผิวปากนี่ ก็ไม่ใช่เป็นการร้องเพลง!” แต่เป็นการประโคมดนตรีอย่างหนึ่งแล้ว เป็นการผิวปากบรรเลงเพลง.. อย่างนี้นะ ตอนบวชใหม่ๆ อาตมาไม่ค่อยเข้าใจตัวนี้เหมือนกัน ไปธุดงค์ในป่า แล้วก็ผิวปากเรียกเพื่อนพระด้วยกัน มีเณรมาเตือน “หลวงพี่ นี่ผิวปากไม่ได้นะ! ผิวปากก็ผิด” เป็นเณรก็จริง แต่มีประสบการณ์มากกว่า เราก็ต้องมาเรียน ทำความเข้าใจใหม่ว่า “อ้อ! ผิวปากก็ไม่ได้ด้วย!” กรณีนี้ก็นับว่า มีเณรเป็นอาจารย์ ก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้จากสิ่งที่ผิดนั่นแหละ เราพลาดอะไรไป แล้วถ้ามีคนมาตักเตือน เราก็ตรวจสอบแล้วจดจำ และเตือนตนว่าเราจะไม่ทำในสิ่งที่เคยผิดพลาดไป ถ้ามีคนเตือน เราก็ควรจะน้อมรับ รับฟังด้วยความเคารพในคำตักเตือนอันนั้น แม้ผู้เตือนนั้นจะเป็นผู้น้อย แล้วก็ระวังไม่ทำในสิ่งที่ผิดพลาดนั้นอีก พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ”ธรรมะสว่างใจ” เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๒ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/clyuwC-c_JU (นาทีที่ 43:26 – 49:20)
อ่านต่อ ...