Category Archives: นิมฺมโลตอบโจทย์

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ดูจิตจากเมตตาภาวนา #ถาม : เมตตาภาวนา สามารถดูจิตไปพร้อมกันได้หรือไม่? โปรดช่วยยกตัวอย่าง #ตอบ : เมตตาภาวนาดูจิตไปพร้อมกัน สามารถทำได้! เจริญเมตตาด้วย แล้วอาศัยการมีเมตตานั้นดูจิตไปด้วย คือเมตตาเนี่ยมีทั้งเมตตาตนเอง แล้วก็เมตตาผู้อื่น ถ้าเริ่มที่เมตตาตนเองก่อน “ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความสุข แล้วก็ปราศจากทุกข์ เป็นผู้ที่ไม่จองเวรใคร ไม่เบียดเบียนใคร” ตั้งใจไว้ ๔ อย่างนี้ก็ได้ มันเป็นการเจริญเมตตาที่เริ่มตั้งแต่ตนเอง คนทั่วไปเนี่ย เริ่มเมตตาตนเอง จะเกิดขึ้นง่าย เมื่อเมตตาตนเองขึ้นมาแล้วก็แผ่เมตตาให้กับคนอื่น เวลาพบกับใครแล้ว เจริญเมตตาด้วยการปารถนาให้เขามีความสุข ที่นี้โอกาสที่จะดูจิตมันจะดูตอนไหน? ก็ดูตอน.. มันไม่เมตตา! ปกติเราเจริญเมตตา ตัวที่มันจะทำให้ผิดเพี้ยนไป ก็คือกลายเป็นโทสะ มีโทสะทำให้ไม่เกิดเมตตา งั้นในการที่ตั้งใจที่จะเจริญเมตตาจะมีคำ ๒ คำ ที่บอกว่า “จะไม่จองเวรใคร จะไม่เบียดเบียนใคร ” ตัวที่จะไม่จองเวรใคร คือ ตัวจะไปดูว่าถ้ามีโทสะ แล้วจะรู้ทัน! ตอนรู้ทันโทสะ ก็คือ”ดูจิต”นั่นเอง! ถ้ามีโทสะแล้วไม่รู้ หรือ รู้ไม่ทัน มันจะมีโทสะแล้วจะคิดไปทั้ง ๆ ที่มีโทสะ คิดไปก็กลายเป็นผูกโกรธ เป็นจองเวร เป็นลำดับไป อีกคำหนึ่งคือ “จะไม่เบียดเบียน” ไม่เบียดเบียนเนี่ย ละเอียดยิ่งกว่าไม่จองเวร คือการเบียดเบียนสามารถเบียดเบียนด้วยกิเลสทั้ง ๓ ตัวเลย “โลภ โกรธ หลง” ทำให้เบียดเบียนได้ทั้งหมด มีความโลภแล้วไม่รู้ทัน! ก็เบียดเบียนคนได้ เบียดเบียนสัตว์ได้ มีความโกรธ แล้วไม่รู้ทัน! ก็สามารถเบียดเบียนคนได้ เบียดเบียนสัตว์ได้ หรือแม้หลง คือ ไม่รู้! เบียดเบียนแบบทั้งที่ไม่รู้ ไม่ได้โลภจัด ไม่ได้โกรธจัดอะไร ทำไปแบบไม่รู้ คิดว่าทำได้ ทำด้วยความเข้าใจผิด มีมิจฉาทิฏฐิ เช่น ไปตกปลา ไม่ได้โกรธปลา แล้วบางทีก็ไม่อยากได้ปลา ตกสนุกๆ แต่ทำไปด้วยความไม่รู้ เข้าใจผิดคิดว่าทำได้ คิดว่าปลามันคงไม่มีความรู้สึกอะไร หรือว่าทำไปเถอะไม่เป็นไร อันนี้เรียกว่า “เบียดเบียน” เบียดเบียนด้วยความไม่รู้ ไม่ได้อยากได้ปลา และไม่ได้โกรธปลา อย่างนี้เป็นตัวอย่าง “เบียดเบียนเพราะไม่รู้’ ไม่รู้ ก็คือมีโมหะนั่นเอง จะเจริญเมตตาได้ ในกรณีที่ตั้งใจว่าจะไม่เบียดเบียน การกระทำอะไรที่ไปทำให้เบียดเบียน รู้ทันตั้งแต่มีกิเลส ก็จะเป็นการป้องกันการเบียดเบียนผู้อื่นได้ คือเจริญสติ ดูกิเลสที่เกิดขึ้นในใจมีทั้งโลภ โกรธ หลง ดูได้ทั้งหมดเลย หลงนั้นดูยากหน่อย! หลงนั้นจะรู้ตอนที่เกิดการเบียดเบียนไปแล้ว ก็รู้สึกว่า “อ้าว…! นี่มันเบียดเบียน” รู้เลยว่า แม้การกระทำแบบนี้เบียดเบียนไปแล้ว ต่อไปจะไม่ทำ มันก็มีการมีสติเรียนรู้ข้อผิดพลาดในการแสดงออกทางกาย ทางวาจา ของตนเอง นอกจากนี้แล้วเมตตา กับโทสะตรงข้ามเห็นชัด ๆ เลย บางทีเมตตาก็พลิกนิดเดียว เรียกว่า “ศัตรูใกล้ โทสะเป็นศัตรูไกล” “ศัตรูใกล้” คือ เมตตาพลิกเป็นเสน่หา หรือเป็นราคะ อันนี้ต้องดูด้วย ไม่ใช่ว่าเมตตาคนอื่นไม่ใช่มีปรารถนาดีกับเขาอย่างเดียว แต่ปรารถนาให้เขามาบำเรอเราด้วย หรือมาดีกับเราด้วย ราคะไม่ใช่เมตตานะ บางทีเมตตาคนนี้เป็นพิเศษ อยากจะเมตตาเขา แต่มันไม่ใช่เมตตาแล้ว เป็นราคะไปแล้ว หรือเป็นเสน่หาไปแล้ว ลูกน้องคนนี้เรามีเมตตากับเขาเป็นพิเศษ คำว่า “เมตตากับเขาเป็นพิเศษ” เป็นการพูดบิดเบือน จริงๆ แล้วมีเสน่หาหรือมีราคะไปแล้ว ให้รู้ตรงนี้ไว้ด้วย รู้ตรงนี้ก็คือ ได้ดูจิตนั่นเอง ก็ดูว่าเมตตานั้นเมตตาบริสุทธิ์แค่ไหน เป็นเมตตาจริงๆ หรือเริ่มมีกิเลสไปแล้ว หรือว่ามันพลิกไปเป็นกิเลสแล้ว กิเลสแบบตรงข้ามโต้งๆ เลย คือ โทสะนั้นเห็นง่าย แต่ถ้ามันพลิกไปนิดนึงเป็นราคะ เหมือนมีเมตตานะ คล้ายๆ แต่มันไม่ใช่ มันพลิกไปแล้ว เรียกว่า “ศัตรูใกล้” ดูยาก แต่ถ้าดูได้จะทำให้เราพัฒนาทางใจ มีใจที่พัฒนาขึ้นมา แล้วก็เป็นผู้ที่จะสามารถภาวนาได้ละเอียดยิ่งขึ้น เพราะว่ามันพลิกไปนิดนึงก็จะเห็นเลย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ : https://youtu.be/TN00BWZf8b0?t=1002 (นาทีที่ 00:16:42 – 00:23:28)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #การปฏิบัติธรรม #ถาม : การปฏิบัติธรรม คือ การพัฒนาจิต ใช่หรือไม่คะ? #ตอบ : การปฏิบัติธรรม คือ การพัฒนาจิตใช่หรือไม่?!? มันถูกส่วนหนึ่งนะ ถ้าพูดให้ครบครอบคลุม..มันไม่ใช่เฉพาะแค่พัฒนาจิต การปฏิบัติธรรมเนี่ย พัฒนาทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งจิต จิตที่ว่าเนี่ย..ก็ทั้งปัญญาด้วย การพัฒนาจิตเนี่ย มันไม่ใช่ความหมายเต็มของคำว่า “ปฏิบัติธรรม”! ปฏิบัติธรรม..ถ้าพูดเต็มความหมายก็คือ พัฒนากาย วาจา จิต และปัญญา เวลาเราจะมาปฎิบัติธรรม ก็ต้องมาฝึกในเรื่อง อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา นี่คือฝึกปฎิบัติธรรม ถ้าอยู่ในวงของฆราวาส การฝึกปฎิบัติธรรมก็จะอยู่ใน ๓ ข้อ คือ ทาน ศีล ภาวนา การให้ทาน ก็เป็นการปฏิบัติธรรม เป็นการฝึกจาคะ โดยการให้ทาน ให้วัตถุสิ่งของ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกับบุคคลอื่น อาจจะเป็นคนก็ได้ เป็นสัตว์ก็ได้ หรืออาจจะเป็นเทวดาก็ได้ หรืออุทิศบุญกุศลให้เปรตก็เป็นการให้ทานประเภทหนึ่ง การพัฒนาจิตจะอยู่ในเรื่องของจิตตภาวนา..เป็นเรื่องของการภาวนา เป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนย่อยของการปฏิบัติธรรม การพัฒนาจิต ก็คือ ทำจิตให้เหมาะควรแก่การเจริญปัญญา จุดมุ่งหมายก็ไปเจริญปัญญา ไม่ใช่เจริญจิตอย่างเดียว แต่ไปเจริญปัญญาต่อ การปฏิบัติธรรม คือการพัฒนาจิตใช่หรือไม่? มันใช่! แต่มันแคบไป มันไม่ครอบคลุม ต้องบอกว่า.. พัฒนากาย วาจา จิต และจิตในที่นี้หมายถึง ทั้งจิตในลักษณะความเพียร มีสติ มีสมาธิ แล้วก็มีปัญญาด้วย ต้องครอบคลุมถึงระดับนี้ ไม่งั้นจะบอกว่า “การปฏิบัติธรรมเป็นการพัฒนาจิต” จะกลายเป็นว่าความหมายแคบเกินไป พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ : https://youtu.be/vxfK6oYy4SU?t=1012 (นาทีที่ 00:16.52 – 00:19:47)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ความเป็นกลางของจิต #ถาม : ขออนุญาตสอบถามครับ ทำไมจิตใจไม่เคยเป็นกลางเลยครับ ตัดสินเสียหมดทุกอย่าง และทุกๆ อารมณ์ ที่เข้ามาเข้ากระทบไม่ว่าจะเป็นเรื่องดี หรือไม่ดี ความเป็นกลางจริง ๆ แล้วมันเป็นยังไงครับ? #ตอบ : ตอนจิตที่เป็นกลางจริงๆ คือ แค่รู้ ตอนแค่รู้เฉย ๆ จะเป็นกลางพอดี ตอนที่เห็นสภาวธรรมต่าง ๆ ถ้ารู้สภาวธรรมเหล่านั้นด้วยใจเป็นกลางก็จะกลางพอดีตรงนั้น ถ้าแค่รู้ แล้วถ้ามันไม่เป็นกลาง ก็แค่รู้ว่า.. เมื่อกี้รู้ว่าไม่เป็นกลางไปด้วยก็ยังได้ ยังอาศัยที่ว่า เมื่อกี้รู้แล้วว่าไม่เป็นกลาง คือ รู้แล้วแทรกแซง เผลอไปแทรกแซง เผลอไปหงุดหงิด เผลอไปไม่ชอบใจ ซ้ำไปอีกที ก็รู้ว่าเมื่อกี้เผลอไปอีกครั้งนึง มันสามารถรู้ตอนไหนก็ได้ ขอให้รู้เถอะ! ตอนรู้..ให้รู้ด้วยใจเป็นกลาง คือ รู้แล้วไม่แทรกแซง ถ้ารู้แล้วแทรกแซงเมื่อไหร่ ก็เมื่อกี้รู้แล้วไม่เป็นกลางก็ไม่เป็นไร ก็ฝึกไป! อย่างที่บอกแล้ว “มันจะเป็นกลางตอนรู้” ให้ฝึกรู้ จะเป็นกลางเมื่อรู้เฉย ๆ ไม่เข้าไปแทรกแซงอะไร จะเป็นกลางได้ง่ายขึ้น ถ้าเราตั้งใจเอาไว้ว่า “จะรู้” แปลกไหม? แสดงว่า.. คนส่วนใหญ่ที่รู้แล้วไม่เป็นกลาง ส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจจะรู้ ส่วนใหญ่จะตั้งใจเอาความสงบ ความนิ่ง หรือพยายามทำให้จิตมันดี “สงบ นิ่ง ดี” เป็นตัวหลอก ทำให้ไม่เป็นกลาง ทำไม..? เช่น ทำสมถะไปใจก็อยากสงบ ถ้าใจอยากสงบนำมาก่อน พอมันไม่สงบ เห็นความไม่สงบปุ๊บ! มันจะไม่ชอบใจ เพราะผิดไปจากที่เราปรารถนา เราปรารถนาสงบ แล้วเห็นความฟุ้งซ่าน เราจะไม่ชอบใจความฟุ้งซ่านเพราะมันไม่สงบ แล้วจะแทรกแซงทันที นึกออกไหม? เพราะอยากสงบ เห็นความไม่สงบเลยไม่สามารถรู้ด้วยใจเป็นกลาง อยากให้นิ่ง พอมันไม่นิ่ง เห็นความไม่นิ่งก็ทนไม่ได้ที่จะแทรกแซง เพราะอยากนิ่ง อยากให้จิตมันดี พอเผลอไป จิตนี้ไม่ดี นึกออกไหม? มันจะแทรกแซงทันที! ถ้าเราตั้งความปรารถนาก่อนปฏิบัติธรรม ด้วยการอยากให้สงบ อยากให้นิ่ง อยากให้ดี ทีนี้เอาใหม่..!! จะยังไงก็ตาม จิตจะเป็นยังไงต่อจากนี้ จะขอรู้ ต่อจากนี้ คือ ต่อจากที่เราทำสมถะ จะเป็นยังไงก็แล้วแต่ จะขอรู้ ดีก็จะรู้ ไม่ดีก็จะรู้ ตั้งใจจะเอารู้ ฉะนั้นเริ่มต้นปุ๊บ! จิตอยู่กับอารมณ์ของสมถะสักอย่าง เช่น อยู่กับ”พุทโธ” ก็มีผู้รู้ขึ้นมาได้ “พุทโธ” ถูกรู้ จิตเป็นผู้รู้ เผลอไป เห็นความเผลอ ความเผลอเป็นความจริงอย่างหนึ่ง เห็นแล้วก็รู้ ได้รู้ มันจะมีโอกาสที่จะรู้ด้วยใจเป็นกลางได้ เพราะตั้งใจแต่แรกว่า.. จะรู้! ดีก็รู้ ไม่ดีก็รู้ จิตที่เผลอไม่ดี ก็ได้รู้ แล้วก็ทำสมถะต่อ สมถะเป็นเพียงตัวเริ่มต้น ผิดจากนี้แล้วจะรู้อีก รู้อีกก็แค่รู้ เราได้รู้เสมอเลย ไม่ว่าจิตนั้นจะดีไม่ดี จะเป็นกุศลเป็นอกุศล ก็จะรู้ จะเรียนรู้เหมือนคนทำวิจัย ทำวิจัยเนี่ย ผลออกมาเป้นยังไงก็บันทึกไป ก็แค่บันทึก ไอ้นี่เหมือนกันเลย มีสมถะเอาไว้ จากนี้ต่อไปจะเป็นยังไงก็แค่รู้ เหมือนบันทึก มีอะไรเกิดขึ้นบันทึกเอาไว้ ก่อนจะบันทึก ก็รู้ว่า..มันคืออะไร เมื่อกี้ฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน เหมือนจดเอาไว้ จิตมันจดเอง มันจำเองว่าอันนี้ฟุ้งซ่าน ทำสมถะต่อ ฟุ้งซ่านอีก รู้ว่าฟุ้งซ่าน บันทึกเอาไว้เหมือนทำวิจัย ฟุ้งซ่านอีกแล้ว ทำสมถะต่อไป แล้วฟุ้งซ่านๆ หงุดหงิดๆ รำคาญใจ เห็นมันตอนรำคาญใจ รู้แล้วว่า.. เมื่อกี้รำคาญใจ อ้าว..ต่อไป ทำสมถะต่อ เหมือนทำวิจัย มีอะไรก็รู้ทัน แล้วก็จดบันทึกเอาไว้ แต่หน้าที่จดบันทึก เราไม่ต้องบันทึก จิตมันรู้อะไรก็บันทึกแล้วเรียบร้อย สัญญาทำงานของมันเอง เราไม่ต้องตั้งใจไปจดจำอะไร มันจำของมันเอง อย่างนี้แหละ มันจึงจะได้โอกาสที่จะ “รู้..ด้วยใจเป็นกลาง” คือ ตั้งใจจะรู้ ดีก็รู้ ไม่ดีก็รู้ อย่าไปอยากสงบ อยากนิ่ง อยากดี พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ : https://youtu.be/Iu_MJc3hTGc?t=5668 (นาทีที่ 01:34:28 – 01:40:18)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #เมตตาเขาเราทุกข์เอง #ถาม : ถ้าเมตตากับเขาแล้วเราทุกข์เอง ควรทำอย่างไรคะ? #ตอบ : ถ้าเมตตากับเขา แล้วเราทุกข์เอง แสดงว่า..เมตตาไม่ดีพอ เมตตาเนี่ยนะ มันจะตรงข้ามกับความโกรธหรือโทสะ ไอ้เราทุกข์เองเนี่ย..! แสดงว่ามีโทสะ ฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำต่อไป คือถ้าเมตตากับเขาไม่ขึ้นก็เมตตาตัวเองก่อน ใจที่ทุกข์.. แสดงให้เห็นว่า เมตตามันดับไปแล้ว ถ้ามีเมตตาอยู่จริงเมตตานั้นจะเป็นกุศล จิตจะโปร่งโล่งเบา สบาย เป็นสุข ฉะนั้นในบทอานิสงส์เมตตาท่านจะบอกว่า “หลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข” – ไม่ฝันร้าย – เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่รักของอมนุษย์ทั่วไป เทวดาก็รัก เทวดาคุ้มครอง – แล้วก็ไฟ ยาพิษ อาวุธทั้งหลาย ทำอันตรายไม่ได้ – จิตเป็นสมาธิได้รวดเร็ว – ผิวหน้าผ่องใส ผิวพรรณผ่องใส – ไม่หลงในคราวตาย ไม่ใช่ตายแบบหลงเลอะเลือน ไปเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือสัตว์ในอบาย แต่เป็นผู้ที่มีสติตาย ตายเป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ แต่การตายที่เราปรารถนากัน คือ ตายอย่างมีสติ แล้วถ้าไม่บรรลุคุณวิเศษอันยิ่ง ๆ ขึ้นไป ย่อมเข้าถึงพรหมโลก ไม่ธรรมดานะถึงเข้าเป็นพรหมโลกก็คือ เป็นพระพรหม เป็นเทวดาที่สูงกว่าเทวดากามาวจร ๖ ชั้น ในความเมตตาที่เกิดขึ้นมา ไม่ใช่ว่ามีเมตตาแล้วตัวเองเป็นทุกข์ เมตตาเนี่ยปรารถนาดี ท่านเริ่มให้เมตตาตัวเองก่อนด้วยซ้ำไป ในคำเมตตาตัวเองก็บอกว่า “อะหัง สุขิโต โหมิ” ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความสุข ถ้าเมตตาคนอื่น เมตตากับเขาแล้วเราทุกข์เอง ก็แสดงว่า.. ยังไม่ได้เมตตาตัวเอง ความเมตตานั้นบกพร่องในแง่ของไม่เมตตาตัวเอง ถ้าเกิดสภาวะอย่างนี้ขึ้นมา ให้กลับมาเมตตาตัวเองก่อน เมตตาตัวเองไม่ใช่ไปแช่งเขาด้วยนะ! เมตตาตัวเอง คือ มองแต่ตัวเองแล้วก็ปรารถนาให้เราเป็นผู้มีความสุข คล้าย ๆ เวลาเราปลอบแมว เราก็ปลอบใจตัวเองประมาณ ขอให้เรามีความสุข เหมือนลูบหัวตัวเอง ให้เรามีความสุข ให้ใจเราสงบ ให้ใจเราเย็นลง คำเมตตาคำที่ ๒ “นิททุกโข โหมิ” อย่าได้มีทุกข์ด้วย ฉะนั้นตอนที่เรามีทุกข์เองเนี่ยแสดงว่า.. เรามีความบกพร่องในการแสดงเมตตาตัวเองชัด ๆ ในคำที่ ๒ “อะหัง สุขิโต โหมิ” อันนี้คำแรก คำที่ ๒ “นิททุกโข โหมิ” นิททุกโข คือ ผู้ไม่มีทุกข์ ผู้ปราศจากทุกข์ ก็ต้องเตือนตัวเองในแง่นี้ด้วย ถ้าสองคำนี้มาแล้วเนี่ยนะ จะง่ายเลย ถ้าเรามุ่งจะเอาสุขอย่างเดียว หวังที่จะได้โลกธรรมในแง่ดีอย่างเดียว คือ หวังจะสุข แล้วสุขนั้นเป็นสุขแบบโลก ๆ หวังจะได้ลาภ ได้ยศ หวังจะได้คำสรรเสริญ หวังจะได้โลกธรรมในแง่ดี มีสุข มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ อย่างเนี่ยนะ ในคราวที่โลกแสดงอีกด้านนึงให้ดู คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เราก็จะเป็นทุกข์กับการที่โลกมันแสดงความจริงอีกด้านให้ดู สุขที่เราประสงค์ในคำเมตตาตนเองในคำแรกเนี่ย “อะหัง สุขิโต โหมิ” ไม่หวังเพียงสุขแบบโลก ๆ ต้องหวังสุขแบบพ้นโลกด้วย คือ สุขแบบเข้าใจความจริง โลกธรรมมากระทบแล้วไม่กระเทือน หรือกระเทือนแล้ว กระเทือนเล็กๆ น้อยๆ ก็พอมีสติรู้ทันได้ไว กระเทือนได้ แต่ให้รู้ให้ไว ถ้าโลกธรรมกระทบแล้วไม่กระเทือนอย่างสิ้นเชิงเมื่อไหร่ มันจะลงที่คำว่า “นิททุกโข โหมิ” ได้สมบูรณ์ “นิททุกโข โหมิ” ก็คือ มีโลกธรรมมากระทบแล้วไม่กระเทือน “นิททุกโข โหมิ” ถ้าพูดอีกแง่นึง ก็คือ พัฒนาความสุขให้เป็นลำดับขั้นไป ในแง่ของคนโลก ๆ ทั้งหลาย ก็หวังความสุขจากกาม ถ้าหวังแง่เดียวก็จะเป็นทุกข์ง่าย สุขจากกาม ก็คือ สุขจากโลกธรรมฝ่ายดีอย่างเดียว เทียบเคียงกันแล้ว สุขจากวัตถุ สุขจากบุคคล สุขจากการมีคู่ครอง สุขจากการมีทรัพย์สมบัติ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยง เสื่อมไปอยู่เรื่อย ๆ รวมทั้งร่างกายของเราที่จะเอาไว้เสพกามสุข ก็เสื่อมไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นถ้าหวังเพียงสุขจากกาม มันก็จะมีทุกข์รออยู่ เวลาเมตตาตัวเองจึงบอกว่าให้มันมี “นิททุกโข โหมิ” คือ สุขนั้นต้องพัฒนาไปจนถึงพ้นทุกข์ แต่มันจะมีระดับเป็นขั้นตอน มีสุขจากกาม มีสุขจากสมาธิ และมีสุขในพระนิพพาน สุขจากกาม ถ้าเป็นปุถุชนก็มีอยู่ แต่ก็ควรจะฝึกให้ได้มีสุขในสมาธิ สุขในสมาธิ คือ ฝึกสมถกรรมฐาน เอาจิตมาอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งด้วยใจสบาย ๆ ถ้าจิตอยู่ในอารมณ์นั้นได้นานแค่ไหนก็ได้สมถะนานแค่นั้น ที่มันฟุ้งซ่านนาน ๆ ก็ฝึกให้มันมีความสงบอยู่บ้าง ยังไม่เข้าฌานแต่มีความสงบอยู่เป็นขณะบ้าง หรือเป็นชั่วระยะหนึ่ง แล้วพัฒนาขั้นมา จะมีสมาธิ ๓ ระดับ – ขณิกสมาธิ – อุปปาจารสมาธิ – อัปปนาสมาธิ “อัปปนาสมาธิ” คือ ระดับเข้าฌาน “ขณิกสมาธิ” คือ แค่ชั่วขณะ ถ้ามากกว่าขณะแต่ไม่ถึงฌาน ก็เรียกว่า “อุปปาจาระ” ก็ฝึกไป ได้เท่าไหร่เอาเท่านั้น ได้ขณิกะก็เอาขณิกะ มากกว่าขณิกะ ได้อุปปาจาระก็เอา มันจะเข้าฌานไปเลยก็เข้าไป ฝึกอย่างนี้ด้วย “สุขในกาม” คือ หวังวัตถุ หรือหวังบุคคล ให้มาบำรุงบำเรอเรา ให้มีความสุข ซึ่งไม่เป็นอิสระ โดยเฉพาะกับคน คนมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย วัตถุก็มีการขโมยกันได้ วัตถุนั้นก็เสื่อมได้ด้วย แล้วอย่างที่บอก อวัยวะต่าง ๆ ร่างกายต่าง ๆ ของเราที่เอาไว้เสพสุข มันก็เสื่อมไป ตาก็ฝ้าฟาง ลิ้นกินอะไรก็ไม่อร่อย ร่างกายที่เคยสัมผัสอะไรได้ดี ๆ เคลื่อนไหวดี ๆ มันก็ไม่ดี ฉะนั้นมันต้องมีสุขในแง่ของการฝึกสมาธิมาทดแทน แล้วสุขในสมาธิเนี่ยดีตรงที่ว่า ไม่มีใครขโมยได้ ฝึกแล้วเราได้ แล้วไปชาติหน้าได้ด้วย เขาเรียกว่า เป็นนิสัยปัจจัยไป แต่สมาธิก็มีเสื่อม ฉะนั้นต้องให้ได้ถึงขั้นสุดท้าย คือ สุขในพระนิพพาน บรรลุมรรคผลแล้ว ตัดกิเลสไปแล้ว มันจะไม่กลับมาเกิดอีก สุขในสมาธิเหมือนไม่มีกิเลส แต่ตอนออกจากสมาธิมากิเลสก็กลับมาได้อีก ต่อให้เหาะเหินเดินอากาศได้ ถ้ายังไม่บรรลุมรรคผลอะไร มันเสื่อมได้นะ ในชาดกก็มีอยู่หลายเรื่องที่ว่าฤาษีเหาะไปเจอภาพหญิง เห็นผู้หญิงอาบน้ำ หรือเห็นผู้หญิงนุ่งห่มไม่เรียบร้อย ราคะก็กำเริบขึ้นมา ที่เหาะได้ก็ตกปุ๊…! ลงมาเลย มันไม่แน่นอน เสื่อมได้ ฉะนั้นที่จะเสื่อมไม่ได้ หรือตัดกิเลสได้แล้วตัดกิเลสเลย ต้องเป็นสุขในมรรคผล และสุดท้ายคือ เมื่อได้อรหัตผลแล้วสุขในนิพพานแบบสมบูรณ์์ เป็นพระโสดาบันก็มีสุขในนิพพาน สัมผัสมาแล้ว อย่างน้อย ๆ สองสามขณะ ตอนเป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ฉะนั้นถ้าเราจะเมตตาตนเองให้ได้ดี ต้องเมตตาถึงขนาดที่ว่าปรารถนาให้เราเป็นผู้มีความสุข แล้วสุขนั้นต้องพัฒนาจนถึงไม่มีทุกข์ด้วย ถ้ามียังมีทุกข์อยู่ ก็ให้รู้ว่าเมตตาเราตอนนั้น ดับไปแล้ว เมตตานั้นเสื่อมสภาพไปแล้ว ก็ต้องเมตตาเข้าไปใหม่ คนอื่นและเราทุกเองเนี่ยก็ต้องกลับมาเมตตาตนเองก่อน เมตตาตนเอง จนตนเองหายทุกข์นั้นแล้ว ดับจากทุกนั้นไปแล้ว จึงจะไปเมตตาคนอื่นเขาต่อ ถ้ามัวแต่มุ่งเมตตาคนอื่น บางทีมันอาจจะพลาดลืมเมตตาตัวเอง พอบอกว่าแผ่เมตตาคนทั่วไปมักจะนึกว่าจะ แผ่เมตตาให้คนนั้น คนนี้ สรรพสัตว์ทั้งหลาย อะไรประมาณนี้ “สัพเพสัตตา” ลืมตัวเอง เราก็เป็นหนึ่งในสรรพสัตว์ ซึ่งควรได้รับอนิสงค์เมตตานั้นด้วย อย่าลืมเมตตาตัวเองด้วยแล้วกัน เมตตาเขาก็อย่าลืมเมตตาเรา จริง ๆ แล้ว ควรเมตตาเราเองก่อนด้วยซ้ำไป!! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ : https://www.youtube.com/watch?v=Iu_MJc3hTGc&t=1902s (นาทีที่ 31.42 – 43:24)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ปัญญาในพุทธศาสนา #ถาม : พระพุทธศาสนาสอนเรื่องปัญญาไว้อย่างไร? #ตอบ : เรื่องใหญ่มากนะ เรื่อง”ปัญญา” พุทธศาสนาแตกต่างจากศาสนาอื่นด้วยเรื่องนี้เอง เรื่องปัญญานี้เอง ศาสนาอื่นก็สอนให้คนทำดี มีศีล โดยรายละเอียดอาจจะไม่เหมือนกันเป๊ะ แต่ก็สอนให้คนเป็นคนดี แล้วก็เรื่องการทำสมาธิเขาก็มี มีมาแล้วตั้งแต่ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมา ตัวแตกต่างคือปัญญานี่เอง! ปัญญาเห็นความจริง เห็นความจริงแล้วจึงรู้ว่า ศาสนาเก่าๆ หรือแม้แต่ศาสนาใหม่ๆ ที่ไม่เห็นความจริง ก็จะสอนกันไปฝึกกันไปอีกแบบหนึ่ง เชื่อกันไปอีกแบบหนึ่ง ยึดถือกันไปอีกแบบหนึ่ง ปัญญาในพุทธศาสนา..หมายถึงปัญญารู้แจ้ง บุคคลแรก..ที่พูดเป็นบุคคลนะ ก็คือ พระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาแจ่มแจ้ง ตอนที่พระองค์ตรัสรู้ มีความแจ่มแจ้งเห็นความจริงเป็นลำดับ ในวันที่พระองค์ตรัสรู้ ในตอนหัวค่ำ..ปฐมยาม มีปัญญา แต่ยังไม่ใช่ปัญญาตรัสรู้ แต่ก็เป็นญาณหยั่งรู้ รู้อดีตชาติของพระองค์เอง แต่พระองค์ก็เห็นว่าความรู้อย่างนี้ก็ยังไม่ใช่ความรู้ที่จะทำให้พ้นทุกข์ เห็นอดีตชาติระลึกไประลึกได้ถึงไหนก็ระลึกได้ ก็คงจะใช้เวลาสักพักหนึ่งล่ะนะ ระลึกแบบไม่มีที่สิ้นสุด รู้อยู่ว่าเคยเกิดเป็นอะไรๆ เวลาระลึกชาติคงไม่ได้ระลึกแบบทั้งชาติ แต่รู้ว่าเป็นอะไรๆ เหมือนเราระลึกตอนที่เป็นเด็กๆ ภาพก็ไม่ใช่ว่าทั้งวัน ตื่นเช้ามาทำอะไรจนนอน ไม่ใช่อย่างนั้น ก็เป็นเด็ก ตอนเรียนหนังสือเป็นยังไง? ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเป็นยังไง? ตอนทำงานเป็นยังไง? ประมาณอย่างนี้ เป็นอดีต เป็นภาพๆ ของท่านก็เห็นเป็นภาพๆ รู้ว่าเคยเกิดเป็นอะไร หลายครั้งแล้ว นับไม่ถ้วนเลย และทุกครั้งที่เกิดตายแล้วทั้งนั้น ไม่งั้นไม่มาเป็นพระองค์ตอนนี้ แล้วก็เห็นว่าความรู้นี้ยังไม่พอ ก็ทำสมาธิอีก ได้ความรู้ครั้งที่สองตอนมัชฌิมยาม ก่อนจะเกิดความรู้นี้ พระองค์เห็นความเกิดดับของพระองค์เอง เวียนว่ายตายเกิดในอดีตที่ผ่านมา น่าจะตั้งคำถามขึ้นมาว่า ‘แล้วสัตว์อื่นล่ะเป็นยังไง?’ แล้วก็ทำสมาธิ ก็ได้ญาณที่สอง เห็นความเกิดดับของบรรดาสัตว์ทั้งหลาย ตายจากนี่ไปเกิดเป็นนั่น แล้วรู้ด้วยว่าไอ้ที่เกิดมาเนี่ยมันมาจากอะไร ปัจจุบันที่ยังไม่ตายมาจากอะไร ท่านเปรียบเหมือนคนที่อยู่บนที่สูง และเห็นคนเดินออกจากบ้านนี้เข้าบ้านโน้น เดี๋ยวนี้ก็ต้องใช้คำใหม่ เปรียบเหมือนอยู่บนโดรน ลอยดู เฝ้าสังเกตเห็นคนเดินไปเดินมา ออกจากบ้านนี้ไปบ้านนู้น ออกจากบ้านนู้นมาบ้านนี้ คำว่าบ้านนู้นบ้านนี้ คือ จากเป็นคนเป็นเทวดา จากเทวดาไปเป็นสุนัข จากสุนัขไปเป็นแมว อะไรประมาณนี้นะ คือ เปลี่ยนบ้าน เปลี่ยนภพ เปลี่ยนชาติ เห็นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าประสงค์จะรู้ความเป็นไปของใครก็รู้ได้ ตอนที่ได้ความรู้อันแรกที่เป็นญาณแรกเนี่ย ความรู้ของท่านไม่ใช่เพียงแค่ว่าเห็นความเกิด-ดับอย่างเดียว ไม่ใช่เห็นว่าเคยเป็นอะไรอย่างเดียว แต่มันมีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า “ทุกชาติที่เกิด เกิดแล้วตายทุกชาติ” เพราะฉะนั้นทุกชาติ “เป็นทุกข์” ทุกชาติ เกิดทีไรเป็นทุกข์ทุกชาติ แล้วสัตว์อื่นเป็นยังไง? สัตว์อื่นก็เช่นเดียวกัน ได้ความรู้ในญาณที่สอง คือ สัตว์อื่นก็เกิดตายกันอย่างนี้เอง เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ไม่มีใครพ้น เข้าสมาธิใหม่จะพ้นอย่างไร? ปรากฏว่าได้ความรู้ขึ้นมาเป็น”อาสวักขยญาณ” ละกิเลสได้ ละอาสวะได้ เป็นกิเลสชั้นละเอียด อันนี้เป็นปัญญาในพุทธศาสนา “ปัญญาในพุทธศาสนา” ก็คือ เป็นปัญญาที่เป็นเครื่องทำลายกิเลส ไม่ใช่รู้เรื่องราวแบบโลกๆ ทั่วไป ไม่ใช่รู้แบบเอาไว้ทำมาหากินทั่วไป ไม่ใช่ปัญญาทั่วๆ ไป หรือปัญญาเอาไว้ทำมาหากิน รู้เอาไว้เป็นอาจารย์สอนเพื่อสร้างอาชีพ อะไรพวกนี้นะ หรือเขียนตำราเป็นศาสตราจารย์อะไรอย่างนี้ “ปัญญาในพระพุทธศาสนา” เน้นไปที่ทำลายกิเลส เปรียบเหมือนจุดไฟทำให้เกิดแสงสว่าง โลกนี้มืดไปด้วยอวิชชา มีปัญญาทำให้แจ่มแจ้ง มองเห็นความจริง..เข้าใจ !! ปัญญาอย่างนี้ไม่ได้มาโดยง่าย ต้องสร้างเหตุ คือ สั่งสมบารมี ถ้ายังไม่เคยฝึกเลย..ก็ต้องมาฝึกรักษาศีล แล้วก็ฝึกสมาธิที่ถูกต้อง ถ้าจะฝึกให้ได้ปัญญาในระดับพระพุทธเจ้า “ตรัสรู้เอง” ก็ต้องสร้างบารมี ๑๐ อย่าง ถ้าไม่มีกำลังใจมากพอขนาดนั้น เอาแค่เป็นพระสาวก ก็ฝึก ๓ เรื่อง คือ ๑. ฝึกศีล (ศีลสิกขา) ๒. ฝึกจิต (จิตตสิกขา) ๓. ฝึกปัญญา (ปัญญาสิกขา) ตัวที่เป็นสาเหตุจริงๆ ที่จะให้เกิดปัญญา คือ “สมาธิ” นี่คืออยู่ในจิตตสิกขา แต่สมาธิที่ดีต้องมาจากมีความประพฤติดีด้วย เพราะฉะนั้นต้องมีศีลด้วย ศีลดี.. ทำให้มีสมาธิดี สมาธิที่ถูกต้อง.. ทำให้เกิดปัญญา มีปัญญาแล้ว ปัญญาที่แท้จริง คือ รู้แจ้งแล้วทำลายกิเลสได้ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ทุกวันนี้เพราะยังมีกิเลสตัวสำคัญคือ “อวิชชา” คือ ความไม่รู้ พอพูดถึงเรื่องนี้ทำให้นึกถึงเรื่องเล่าที่ครูบาอาจารย์เล่าถึงโยมคนหนึ่ง ไปร้องไห้กับหลวงปู่เทสก์ เขามีทุกข์ในชีวิต แล้วมาคร่ำครวญกับหลวงปู่ คงจะเห็นทุกข์ในชีวิต แต่เป็นการเห็นทุกข์แบบจมทุกข์ ไม่ใช่เห็นทุกข์แบบมีจิตผู้รู้ เป็นการจมอยู่กับทุกข์ แล้วก็มาคร่ำครวญกับหลวงปู่เทสก์ว่า “หลวงปู่.. ทำไม? หนูต้องเกิดมา?!” ประมาณว่าเกิดมาแล้วทำไมมันทุกข์อย่างนี้ ทำไมต้องเกิดมา? หลวงปู่ก็ตอบไปว่า “เพราะไม่รู้” โยมได้ยินแค่ว่า’ไม่รู้’ จึงถามกลับไปทันทีว่า “หลวงปู่ไม่รู้แล้วใครจะรู้?!!” ประมาณโกรธหลวงปู่อีกนะ หลวงปู่ตอบว่า “เพราะไม่รู้” ถูกต้องเป๊ะเลย คือ ยังมีอวิชชาอยู่ ยังไม่มีปัญญาในพุทธศาสนา ถ้ามีปัญญาแบบในพุทธศาสนา ละอวิชชาได้ ก็จะไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ทีนี้ปัญญาในพระพุทธศาสนามีเป็นลำดับๆ ปัญญาลำดับแรกคือ รู้ถูกต้องตรงตามที่เป็นจริง ตรงตามความเป็นจริง นั่นคือ “สัมมาทิฏฐิ” “สัมมาทิฏฐิ” มีตั้งแต่ระดับโลกๆ เรียกว่าระดับโลกิยะ คือ เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธ์ุ ทำกรรมอะไรไว้ก็ได้รับผลของกรรมนั้น ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เชื่ออย่างนี้! เห็นอย่างนี้!! เรียกว่ามีปัญญาใน”ระดับโลกิยะ” นี่ก็สำคัญมากนะ บางคนไม่เชื่อนะ ไม่เชื่อว่าทำดีได้ดี เลยไม่ทำดี ! ไม่เชื่อว่าทำชั่วได้ชั่ว เลยทำชั่ว !มันโง่นะ พูดให้ดีหน่อย คือ ไม่มีปัญญา นอกจากนี้แล้ว สัมมาทิฏฐิในระดับโลกๆ ก็คือ เชื่อเรื่องบุญ เรื่องบาป เชื่อเรื่องความเป็นผู้มีคุณ คือ พ่อแม่มีคุณ ครูบาอาจารย์มีคุณ คนที่ทำบุญกับเรา มีบุญคุณกับเราก่อน ผู้เป็นบุพการีมีจริง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชาที่ดี ผู้ทรงธรรม แล้วบุคคลอื่นๆ มากมาย ผู้มีพระคุณมีจริง ถ้าว่าตามศัพท์บุพการีมีจริง แล้วเราก็ต้องมีหน้าที่ : – ต้องกตัญญู คือ รู้คุณ – และกตเวที คือ ตอบแทน ก็มีวิธีตอบแทนมากมายให้ตรงกับฐานะของผู้มีพระคุณของแต่ละคน โดยเฉพาะกับพ่อแม่ เชื่อเรื่องการเวียนว่าตายเกิด อันนี้ก็สอดคล้องกับเรื่องกฎแห่งกรรม ชาติหน้ามี ชาติที่แล้วมี ไม่ใช่ว่าตายแล้วสูญ มีการเวียนว่ายตายเกิด นี่เป็นปัญญาใน”ระดับโลกิยะ” คนที่ไม่เชื่อในการเวียนว่ายตายเกิดก็เสพสุขเต็มที่ เพราะเชื่อว่าชาตินี้เป็นชาติเดียว ทำเลวไปเลย เพราะว่าชาติหน้าไม่มี เพราะไม่กลัวนรก อันนี้ก็เสี่ยงมากเลย ถ้าเห็นผิด อย่างนี้เสี่ยงมาก ปัญญาในระดับนี้ยังมีคนไม่เชื่อ ก็น่าเห็นใจ พอไม่เชื่อ แม้ปัญญาในระดับโลกิยะก็ยังไม่ได้ เสี่ยงมากที่จะไปทำผิดในเรื่องต่างๆ คนที่เห็นว่ามีชาตินี้ชาติเดียว มักจะจ้องจะเสพสุขอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษ ไม่คำนึงถึงศีลธรรม อันนี้เป็นความเห็นระดับโลกๆ ระดับสูงขึ้นไปเรียกว่า ระดับ “โลกุตตระ” คือ เหนือโลก ก็มีปัญญาระดับเหนือโลก ขั้นแรกก็คือ “เห็นว่ากายนี้ ใจนี้ ไม่ใช่เรา” นี่เป็นปัญญาระดับพระโสดาบัน ตอนบรรลุมรรคผลเกิดปัญญาขึ้นมา “เห็นว่ากายนี้ ใจนี้ ไม่ใช่เรา” ละความเห็นผิดที่ว่า “สักกายทิฏฐิ” ลงได้ นี่เป็นหน้าที่ของปัญญาที่จะละกิเลสออกไป เป็นตัวตัดกิเลส เป็นตัวละกิเลส กิเลสที่จะพลอยละไปด้วยอีก ๒ ตัว ก็คือ “สีลัพพตปรามาส” กับ “วิจิกิจฉา” ก็กลายเป็นละสังโยชน์ได้สามตัว มีละ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส ปัญญาระดับต้น เรียกว่า “ปัญญาเล็กน้อย” พระโสดาบัน ท่านเทียบว่าปัญญาเล็กน้อย ถ้าเป็นปัญญาระดับปานกลาง จะเห็นว่ากามทั้งหลายมีแต่โทษ หรือเห็นว่าตัณหาเกิดขึ้นทีไรเนี่ยเป็นทุกข์ทุกที จะมีวิธีทำให้เกิดปัญญา ๒ แนว อย่างนี้ แนวแรกเห็นว่า…ร่างกายนี้เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ แล้วก็ไปเห็นโทษของกาม แบบนี้มักจะเป็นแนวที่ฝึกสมาธิมาอย่างมาก เป็นฝ่ายสมถยานิก ก็จะเห็นโทษของกาม แล้วบรรลุปัญญาในระดับที่สอง เป็นพระอนาคามี นี่เป็นปัญญาปานกลาง แนวที่ ๒ ในฝ่ายวิปัสสนายานิก มักจะเห็นว่า”ตัณหาเกิดขึ้นทีไรเป็นทุกข์ทุกที ” ปุถุชนกับพระโสดาบันยังรู้สึกว่ามีตัณหายังไม่รู้สึกเป็นทุกข์เท่าไหร่ ถ้ามีตัณหาแล้วไม่ได้รับการสนองจึงจะเป็นทุกข์ ถ้ามีตัณหาแล้วได้รับการสนองรู้สึกเป็นสุข หรือมีตัณหาขึ้นมาแล้วไม่รู้สึกว่าตัวตัณหาทำให้เกิดทุกข์ ก็มีตัณหาแล้วแสวงไป ได้รับการสนองก็เป็นสุข ชื่นใจ แต่ตอนที่กำลังแสวงหาอะไรไปสนองตัณหา ยังไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ ต่อเมื่อรู้สึกว่า..ปลงใจว่าไม่ได้ จึงเป็นทุกข์ เรียกว่า หวังแล้วไม่สมหวังจึงจะเป็นทุกข์ แต่จริงๆ ตัวตัณหาเนี่ยแหละ เกิดขึ้นปุ๊บ!..เป็นทุกข์ทันที!! อันนี้เป็นปัญญาระดับปานกลาง เป็นปัญญาของพระอนาคามี ดูซิ.. ปัญญาในพุทธศาสนาไม่ใช่ธรรมดาเลยนะ !! ส่วนปัญญาในระดับพระอรหันต์ ก็คือ ปัญญาระดับสูงสุด เห็นว่าจิตนี้เองเป็นทุกข์ ทีแรกเห็นว่าตัณหาเกิดขึ้นมาแล้วเป็นทุกข์ แต่ตอนนี้เห็นว่า ตัณหายังไม่เกิดเลย ตัวจิตนี่แหละเป็นทุกข์ !! “จิตผู้รู้” นี่แหละ! ที่เราฝึกจนมีจิตผู้รู้มาแล้ว สุดท้ายผู้รู้เองก็เป็นทุกข์ !! เปรียบเสมือนว่า อุตส่าห์สร้างเรือประกอบเรือข้ามจากฝั่งโน้นมาฝั่งนี้ ข้ามมาถึงแล้วไม่แบกเรือต่อไป ขึ้นฝั่งไปเลย จิตผู้รู้เหมือนเรือ ต้องมี ต้องฝึกให้มีขึ้นมา เป็นปุถุชนจะมาเป็นพระโสดาบัน ก็ต้องมีจิตผู้รู้ จาก”โสดาบัน”มาเป็น”สกิทาคามี” ก็ต้องมีจิตผู้รู้ จาก”สกิทาคามี” มาเป็น”อนาคามี” ก็ต้องมีจิตผู้รู้ แต่ถ้ายังคงประคองรักษาจิตผู้รู้อยู่ ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์ อันนี้เป็นหน้าที่เป็นงานของพระอนาคามี ปัญญาในระดับพระอนาคามีที่จะไปถึงพระอรหันต์ท่านต้องวางตัวนี้ อาการวาง.. ไม่ใช่วางตั้งแต่ยังไม่มีจิตผู้รู้ ถ้าไม่มีจิตผู้รู้ ก็เป็นผู้เอ๋อ!! ไม่ใช่เป็นปุถุชนที่ดีด้วยซ้ำไป ปุถุชนต้องสร้างจิตผู้รู้ขึ้นมาเพื่อให้เห็นความจริงว่า “กายนี้ไม่ใช่เรา และใจนี้ไม่ใช่เรา” เป็นโสดาบัน ปัญญาสุดท้ายเลยคือละกิเลสทั้งปวง เห็นว่าขันธ์ ๕ ทั้งหมดเป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่ว่ามีผู้รู้เป็นสุขอยู่ ไม่ใช่อย่างนั้น เห็นว่าขันธ์ทั้งหมดนี้เป็นทุกข์ แล้วจึงปล่อยวางได้ ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีก คือ ไม่เป็นทุกข์อีก ไม่มาเป็นทุกข์อีกต่อไป ชาตินี้เกิดมาแล้วก็มีทุกข์เฉพาะชาตินี้ ทุกข์ทางกาย แต่ใจไม่ทุกข์อีกเลย ความรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริงก็พัฒนาเป็นลำดับๆ อย่างนี้ นี่คือ “ปัญญาในพุทธศาสนา” ที่ต่อเนื่องจากปัญญาในพุทธศาสนาที่เห็นถูกอย่างนี้ ถ้าว่าในองค์มรรคแล้วมันต้องพูดถึงว่า”คิดถูก”ด้วย “เห็นถูก..แล้วต้องคิดถูกด้วย!” ตัวยืนยันว่ามีปัญญาจริงหรือเปล่า? ต้องคิดถูกด้วย ความเห็นถูกเป็นเหมือนเป็นเบื้องหลังอยู่ ตัวที่จะแสดงออกให้เห็นว่าเรามีปัญญาจริงไหม? อยู่ที่คิด! คิดผิดเป็นยังไง? คิดผิดนี่คิดมุ่งแต่กาม คิดพยาบาทเขา หรือคิดเบียดเบียนเขา คิดผิด ๓ อย่าง คิดถูกนี่คือ คิดแบบไม่มุ่งกาม เป็น”เนกขัมมวิตก” ไม่คิดที่จะทำร้ายใคร เป็น”อพยาปาทวิตก” ไม่คิดแม้จะเบียดเบียนใคร ต้องมีปัญญาอย่างมากเลยนะ ไม่เบียดเบียนใคร คำว่า”เบียดเบียน” บางคนเข้าใจว่าจะต้องมีความโกรธอย่างเดียว แท้จริงแล้ว..ไม่ต้องโกรธก็เบียดเบียนกันได้ !! เช่น คนตกปลา ไม่ได้โกรธปลาแต่คิดจะตกปลา ก็คือคิดเบียดเบียนปลา ปลาก็อยู่ในน้ำดีๆ หาเหยื่อเกี่ยวเบ็ดให้ปลาเจ็บตัวเล่น เจ็บปาก ดีไม่ดีไปฆ่ามันด้วย คิดตกปลาก็เป็นคิดเบียดเบียน แม้ว่าไม่ได้โกรธปลา จะละคิดเบียดเบียนจึงต้องมีปัญญาอย่างมาก คือ ไม่มีความคิดที่จะเบียดเบียนใครเลย คิดเบียดเบียนแบบโง่ๆ คือ อาจจะไม่ได้โกรธ ความโกรธไม่ได้เป็นเหตุเดียวที่ทำให้เกิดการเบียดเบียน ต้องมีปัญญา พุทธศาสนาสอนให้เจริญปัญญามาถึงขั้นนี้เลย จึงไม่ใช่ธรรมดา เวลาผู้ที่พัฒนาตนเองจนได้ปัญญาในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงกลายเป็นผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญที่ดี มีค่าอย่างยิ่งต่อโลกนี้ เพราะว่าเป็นเนื้อนาบุญที่ดีและเป็นผู้สั่งสอนได้มีปัญญาตาม ได้รู้ตามเห็นตาม บอกแนวทางวิธีที่จะฝึกหัดตนเองให้มีปัญญาตาม โดยนำปัญญาของพระพุทธเจ้ามาบอกต่อ แล้วเอาจากประสบการณ์ตัวเองมาเป็นตัวเสริม ดังนั้น”ปัญญาในพุทธศาสนา” ก็คือ เน้นไปเลยที่มีความรู้ที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นลำดับๆ ไป อย่างที่ได้แจกแจงมา พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ : ลิงค์รายการ : https://youtu.be/FHa8DX4_45I?t=2120 (นาทีที่ 35:20 – 57:29)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #หลับในสมาธิ #ถาม : ขณะนั่งเจริญสมาธิ เราอาจหลับโดยที่ยังมีสติ อยู่ได้ไหมค่ะ? #ตอบ : ถ้านั่งสมาธิเนี่ยนะ ไม่น่าจะเป็นแบบหลับที่ยังมีสติ แต่ถ้านอนหลับไปแล้ว ก็อาจจะมีความรู้สึกตัวว่า.. กายเนี่ยมันหลับอยู่ ใจเลยตื่นได้ แต่ถ้านั่งแล้วหลับ นั่งหลับโดยปกติมันไม่ใช่ท่าที่เราจะหลับ ถ้าจะมีก็คงยาก ส่วนใหญ่ถ้าจะหลับน่าจะเป็นหลับแบบขาดสติ หลับจริง ๆ หลับแบบทั่ว ๆ ไปเลย หลับทั้งกายและใจ หลับแบบจิตขาดสติไป ถ้านั่งในรูปแบบนะ ถ้าหลับคือหลับจริง พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ : https://youtu.be/VO91ktpRJmg?t=3485 (นาทีที่ 58:05 – 59:30)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #อะนีโฆ #นิททุกโข #ไม่ทุกข์กายทุกข์ใจ #ถาม : “อะหัง อะนีโฆ โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ” อยากทราบว่าความหมายคืออะไร? และต่างจาก “อะหัง นิททุกโข โหมิ” อย่างไร? #ตอบ : ก็แปลถูกแล้วนะ! “อะนีโฆ” แปลว่า เป็นผู้ไม่ทุกข์กายไม่ทุกข์ใจ มันเป็นคำศัพท์ที่แปลแบบนี้ “นิททุกโข” นี่คือ เป็นผู้ไม่มีทุกข์ มี ๒ คำ ก็เป็นการเอาคำมา”ย้ำ”นั่นเอง! เหมือนเวลาเราอยากจะอวยพรให้เขา “มีสุข ปราศจากทุกข์ อย่าได้มีทุกข์กายทุกข์ใจ” เป็นคำชุดที่มาด้วยกัน ความหมายของ “อะนีโฆ” ที่ว่าเป็นผู้ปราศจากทุกข์กายทุกข์ใจ กับ “นิททุกโข” คือ เป็นผู้ไม่มีทุกข์ ใน ๒ คำนี้ ความเห็นส่วนตัวชอบคำว่า “นิททุกโข” มากกว่า แล้วความหมายก็ครอบคลุมอยู่แล้ว ส่วน “อะนีโฆ” มาเสริม เหมือนเป็นคำไพเราะ แต่ถามว่า.. มันจะมาช่วยในแง่ของการภาวนา หรือพัฒนาจิตใจของเราได้มากน้อยแค่ไหนในคำ ๒ คำนี้ ? เวลาเราเจริญเมตตา..อันนี้เป็นคำเมตตาตัวเอง จะขึ้นด้วยว่า “อะหัง สุขิโต โหมิ” ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความสุข “สุขิโต” คือ ผู้มีความสุข แล้วตามด้วยคำว่า “นิททุกโข โหมิ” คือ เป็นผู้ไม่มีทุกข์ ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีทุกข์ อีก ๒ คำต่อมาจะใช้คำว่า “อะเวโร โหมิ” และ “อัพยาปัชโฌ โหมิ” ในความรู้สึกอาตมานั้น ๔ คำนี้ ครบแล้ว! ครบตามจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาจิตใจ และเป็นการเจริญเมตตาตนเองครบ อีก ๒ คำต่อมา.. เหมือนเป็นคำสร้อย “อะนีโฆ” เป็นผู้ไม่มีทุกข์กายทุกข์ใจ คือเป็นคำรวบอีกทีว่า ทั้งหมดเนี่ย..ไม่ให้ทุกข์กายทุกข์ใจ แล้วก็ “สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ” รักษาตนให้เป็นสุข พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหลาย คำสุดท้ายจะบอกว่า ให้มีปัญญารักษาตนให้เป็นสุข พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหลาย คำสุดท้ายก็สำคัญเหมือนกัน มี “อะนีโฆ” นี่แหละเหมือนเป็นคำสร้อยออกมา ที่บอกว่า ๔ คำนี้ครบแล้วนี่ มีอธิบายในความเห็นอย่างนี้ว่า “อะหัง สุขิโต โหมิ” ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข คำว่า “สุข” เป็นคำที่ปรารถนาของทุก ๆ คนอยู่แล้ว รวมทั้งตัวเอง เวลาเมตตา คือเป็นการตั้งความปรารถนาดี ประสงค์จะให้ผู้ที่ถูกปรารถนาดีนั้นมีความสุขนั่นเอง อันนี้เป็นคำพื้น ๆ เป็นคำตั้งต้นทั่ว ๆ ไป ทีนี้เราเมตตาตนเองก็ปรารถนาให้ตนเองมีความสุข คำที่ ๒ เป็นตัวบ่งบอกว่า สุขที่ว่าต้องเป็นสุขบริสุทธิ์ คือ ไม่มีทุกข์ด้วย ก็เลยมีคำว่า “นิททุกโข โหมิ” ขึ้นมา สุขทั้งหลายทั้งปวงมีมากมาย เช่น สุขในกาม “สุขในกาม” จะสุขแบบมีทุกข์เจืออยู่ด้วย มีทุกข์รออยู่ ในทุกๆ สุขในกามนั้น เพราะกามเป็นของไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นหวังสุขในกามก็จะได้สุขที่ไม่เที่ยง สุขที่ไม่เที่ยง แค่ได้แล้วมันไม่เที่ยง ตอนมันเปลี่ยนไปนี่แหละเป็นทุกข์ คำว่า “นิททุกโข โหมิ” เหมือนจะบอกว่า จะหวังสุขในกามอย่างเดียวไม่พอแล้วนะ มันไม่ตรงสเป๊ก(spec > specification = เกณฑ์)ที่บอกว่าไม่มีทุกข์.. เข้าใจไหม? แค่หวั่น ๆ ว่าตอนได้อะไรมาเป็นความสุขในกาม ได้วัตถุกามมา แล้วแอบหวั่น ๆ ว่ามันจะต้องเปลี่ยนไป ทั้ง ๆ ที่มีอยู่ แต่แอบหวั่น ๆ ว่าสักวันมันจะเปลี่ยนไป.. แค่นี้ก็ทุกข์แล้วใช่ไหม? แล้วไอ้ความจริงเนี่ย คือมันต้องเปลี่ยน! เพราะว่ามันอยู่ในความปกติของบรรดาสังขารทั้งหลายว่า มันไม่เที่ยง, มันถูกบีบคั้นให้เปลี่ยนแปลง และมันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วถ้าเราหวังเพียงสุขในกาม มันก็จะต้องมีทุกข์รออยู่ คำที่ ๒ เนี่ย เป็นคำที่บอกว่า.. คุณต้องพัฒนาสุข ไม่ใช่แค่หวังสุขในกาม สุขที่เราพัฒนาลำดับต่อมาคือ”เป็นสุขในสมาธิ” ไม่หวังพึ่งกาม แต่ทำสุขให้เกิดขึ้นเองจากการพัฒนาจิตใจให้เข้าสมาธิให้เป็น ทำสมาธิให้เป็น ทำสมถะด้วย และทำวิปัสสนาด้วย แม้สุขในสมาธิมันก็ไม่เที่ยง ก็ต้องให้ถึง”สุขในนิพพาน” จึงจะเป็นสุขที่ไม่มีทุกข์เจือปนแน่ ๆ ก็ต้องพัฒนาตนให้จากสุขในกาม แล้วเป็นสุขในฌาน แล้วเป็นสุขในนิพพาน จึงจะตอบโจทย์ในคำที่ ๒ คือ “นิททุกโข โหมิ” ได้บริบูรณ์ ทีนี้ใน “นิททุกโข โหมิ” ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีทุกข์นั้น ทุกข์ทั้งหลายก็มีทุกข์กายทุกข์ใจใช่ไหม? มาอยู่ในคำที่ว่า “อะนีโฆ” มันมีเรื่องทุกข์กายกับทุกข์ใจ ก็ปรารถนาให้ไม่ให้มีทุกข์กายและทุกข์ใจ แต่จริง ๆ แล้วกายเป็นรังของโรค และก็เป็นวิบาก ซึ่งมันก็ต้องมีทุกข์ของมัน แม้ในพระอรหันต์ จิตท่านจะพ้นทุกข์แล้ว แต่กายก็ยังมีทุกข์อยู่เป็นปกติ เพราะฉะนั้นคำว่า “อะนีโฆ” ที่ว่าไม่มีทุกข์กายทุกข์ใจ ที่มันทำได้จริงก็คือ..ไม่ทุกข์ใจ ไม่ทุกข์กายเนี่ยนะ มันจะมีทุกข์กายอยู่เสมอแหละ ตื่นเช้ามาต้องถ่าย ถ้าไม่ถ่ายก็เป็นทุกข์ มันถูกบีบคั้นให้ต้องถ่ายหนักถ่ายเบา ต้องล้างหน้าต้องแปรงฟัน เป็นทุกข์ประจำกาย คำว่า “อย่ามีทุกข์” เนี่ย คงจะหมายถึงทุกข์ใหญ่ ๆ เช่น ทุกข์จากความเจ็บป่วยไข้หรืออุบัติเหตุ หรือถูกทำร้ายร่างกายจากคนอื่น ประมาณอย่างนี้ ฉะนั้น คำสำคัญอยู่ที่คำว่า “นิททุกโข” ซึ่งเป็นคำรวมอยู่แล้ว “นิททุกโข” เนี่ย อย่างที่บอก คือมีทุกข์กายกับทุกข์ใจ ทุกข์กายเนี่ยมันเป็นวิบาก บังคับไม่ได้อยู่แล้ว แต่ทุกข์ใจเนี่ยมันมีสาเหตุ แล้วสามารถทำให้มันหมดไปได้ แล้วพุทธศาสนาก็สอนวิธีนี้แหละทำให้ทุกข์ใจมันหมดไป ตัวการสำคัญ(และเห็นง่าย) ที่ทำให้เกิดทุกข์ใจก็คือกิเลส ในกลุ่มที่เรียกว่า…โทสะ ทีนี้เราเป็นปุถุชน โทสะเรายังละไม่ได้ จะทำยังไงให้โทสะอยู่แค่โทสะ ก็คือ ให้มันโกรธขึ้นมา..แล้วรู้ไว ๆ อย่าพัฒนาให้กลายเป็น “จองเวร” หรือ “พยาบาท” จึงมี ๒ คำขึ้นมา คือ “อะเวโร” และ “อัพยาปัชโฌ” คือเราเป็นปุถุชนผู้ฝึกอยู่ ก็ฝึกในลักษณะที่ว่า ถ้าไม่โกรธเลยก็ดี จะไม่มีปัญหาเรื่องจองเวรหรือพยาบาท ถ้าไม่มีความโกรธเลย แต่ถ้ามีความโกรธขึ้นมาซึ่งมันเป็นธรรมดาเราเป็นปุถุชน โกรธมาแล้วให้รู้ไว ๆ รู้ทันความโกรธด้วยใจเป็นกลาง ไม่ให้มันเลยเถิดกลายเป็น “จองเวร” หรือ “พยาบาท” ฉะนั้น คำ ๒ คำนี้สำคัญ ตอนที่บอกว่า “จะไม่เป็นผู้จองเวรใครนะ จะไม่เป็นผู้พยาบาทใคร” บางทีคนแปล ๒ คำนี้ว่า “อย่าให้ใครมาจองเวรเรา อย่าให้ใครมาพยาบาทเรา” มันดูเหมือนง่ายดี คือ เราอย่าเป็นผู้ถูกใครจองเวร อย่าเป็นผู้ถูกใครพยาบาท ถามจริงๆ มันบังคับอะไรได้กับคนอื่น? มันเหมือนเป็นการขออ้อนวอน เหมือนศาสนาอ้อนวอนเทวดา มันไม่ลงมาการที่ฝึกตนเอง ฉะนั้น ถ้าจะแปลให้เป็นการฝึกตนเอง ก็คือ เรานี่เเหละ..จะไม่เป็นผู้จองเวร !เรานี่เเหละ..จะไม่เป็นผู้พยาบาท ! แต่มันยังมีโกรธอยู่ .. มันหงุดหงิดขึ้นมา..ให้รู้ทัน มันขุ่นใจขึ้นมา..ให้รู้ทัน ให้มันเป็นโกรธเล็ก ๆ มันโกรธนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วก็รู้ทัน ไม่ให้พัฒนาเป็นคิดจองเวร คือ ผูกใจเอาไว้จะเอาคืน พยาบาทก็คือจะทำร้ายร่างกายให้เขาถึงความพินาศ ก็คือมาจากความโกรธเล็ก ๆ นี่แหละ แล้วไม่ทันรู้ตัวก็คิดไป ๆ กลายเป็นจองเวร กลายเป็นพยาบาท ทุกครั้งที่จองเวร ทุกครั้งที่พยาบาท มีทุกข์ทันที เพราะฉะนั้น ผิดคอนเซ็ป(concept = ข้อคิดเห็น) ที่บอกว่า “อยากมีสุข” แต่คิดจองเวรเขา คิดพยาบาทเขา ก็ทุกข์ทุกครั้งที่คิด มันทุกข์ตั้งแต่โกรธแล้ว !! โกรธเกิดขึ้นกับจิตดวงไหน จิตดวงนั้นเป็นทุกข์ทันที เศร้าหมองทันที เพราะฉะนั้น เมตตาตนเองก็คือ ปรารถนาให้ตนเองมีความสุข แต่ถ้ายังไม่ละความโกรธ แถมยังเป็นจองเวรแล้วก็พยาบาท จะไม่พบความสุข ถ้าเมตตาตนเองจริง ต้องบอกกับตัวเองว่า “ฝึกนะ ฝึกรู้ทันความโกรธไว ๆ นะ อย่าให้มันเป็นความจองเวรนะ อย่าให้เป็นความพยาบาทนะ เพราะ ๒ ตัวนี้มันทำให้เราทุกข์และไม่มีสุขและที่ต้องการปรารถนาดีให้ตนเองมีความสุขตัวนี้เป็นตัวทำลายล้าง คิดทำร้ายเค้า แต่ทุกครั้งที่คิดนะ ทันทีที่คิดนะ ทำร้ายจิตตรงนี้ก่อนเลย ยังไม่ทันไปทำร้ายเค้าเลย มันทำร้ายจิตตรงนี้ก่อนเลย มันร้ายมากนะไอ้ความโกรธ ความโกรธ ความพยาบาท ความจองเวร มันร้ายมาก เกิดปุ๊บทำลายจิตดวงนั้นทันที” คนที่เราคิดจะทำร้ายเขา เขายังเป็นสุขอยู่ แต่เราเป็นทุกข์ทันที หรืออาจจะทำร้ายเขาได้ เขาอาจจะทุกข์กาย แต่ก็ไม่สามารถบังคับให้เขาทุกข์ใจได้ เหมือนพระเทวทัตมาทำร้ายพระพุทธเจ้า พระเทวทัตคิดจองเวร ทุกครั้งที่พระเทวทัตคิด ท่านก็ทุกข์นะ แต่ท่านไม่เห็น !! ท่านคิดว่า ‘ถ้าทำให้พระพุทธเจ้าพินาศฉิบหายไปซะได้ ท่านจะเป็นสุข’ แต่ทุกครั้งที่คิดนั้นท่านเป็นทุกข์ทุกครั้งเลย ยังไม่ทันลงมือก็เป็นทุกข์แล้ว พอลงมือไป คล้าย ๆ จะสำเร็จอยู่ครั้งเดียว คือตอนที่ผลักหินกลิ้งหิน มีสะเก็ดหินไปโดนหัวแม่เท้าทำให้ห้อพระโลหิต ถามว่า พระพุทธเจ้าเป็นทุกข์ไหม ? ทุกข์แค่กาย ใจพระพุทธเจ้าไม่ทุกข์ ไปพยาบาทเขาเนี่ยนะ จิตผู้พยาบาทเป็นทุกข์ ไปจองเวร.. จิตผู้จองเวรเป็นทุกข์ ลงมือกระทำแล้ว ดูเหมือนว่าดีใจสะใจ แต่เห็นเค้าไม่เป็นไปตามที่เราปรารถนา.. ก็ยิ่งทุกข์ ! ดูนะ.. จิตถูกทำร้ายถูกทำลายโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ !! จึงต้องย้อนกลับมาว่า ถ้าปรารถนาดีกับตนเอง ต้องการความสุขจริง ๆ ก็อย่าพยาบาทใคร อย่าไปจองเวรใคร การจองเวรทำสำเร็จแล้ว ก็ใช่ว่าตนเองจะมีสุข ทำไม่สำเร็จก็ยิ่งไม่มีสุข มันเป็นวงจรอุบาทว์แท้ ๆ เลย ทำเขาเจ็บได้ ไม่ใช่ว่าเขาจะทุกข์นะ ดูอย่างพระเทวทัตทำพระพุทธเจ้าห้อพระโลหิต ถามว่าเจ็บไหม? มีเวทนานะ มีทุกขเวทนา แต่ถามว่าจิตพระองค์ทุกข์ไหม? ไม่ทุกข์ !! เท่ากับว่าพระเทวทัตทุกข์ฟรี และทบต้นทบดอกทวีคูณ ยิ่งทำกับคนที่บริสุทธิ์เท่าไหร่ เป็นเนื้อนาบุญที่ดีเท่าไหร่ ไปทำบาปกับท่าน ก็ยิ่งบาปมากขึ้นเท่านั้น เป็นเนื้อนาบาปได้ด้วย ! ก็คือปลูกอะไรก็งอกงาม ปลูกข้าว ข้าวก็งาม ปลูกอุตพิด อุตพิดก็งาม ถ้าประโยคนี้ที่ว่าจะมาเมตตาตัวเองเนี่ยนะ เอาแค่ “นิททุกโข โหมิ” ก็น่าจะครบแล้ว ทุกข์มันมี ทุกข์กายและทุกข์ใจ ทุกข์กายเนี่ยเราก็บริหารร่างกายไปเท่าที่มันทำได้ มันก็มีทุกข์ประจำของกายมีอยู่เรื่อย แต่ทุกข์ใจ เราสามารถพัฒนาจนไม่มีทุกข์ไปได้ ก็คือพัฒนาด้วยการภาวนาตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาแล้ว สอนธรรมะมาให้สัตว์โลกทั้งหลาย ให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพื่อให้พ้นจากทุกข์ใจนั่นเอง เรื่องจะป่วย..ยังไงก็ป่วย ร่างกายก็ต้องเจ็บ ต้องแก่ ต้องตาย แต่จิตเมื่อพ้นทุกข์แล้ว ก็ไม่ทุกข์กับการแก่ เจ็บ ตายนั้นอีก ต้องลงลึกไปในความหมายแบบนี้ ถามว่า มีผลเสียอะไรไหมกับคำว่า “อะนีโฆ” ? ไม่มีผลเสียอะไร ! ก็เป็นการบอกว่าทุกข์มันมี ๒ อย่างนะ ทั้งกายและใจ แล้วก็ต้องมีปัญญาที่จะพ้นทุกข์ไป ก็คือรู้เท่าทันความจริง ดังนั้น บทที่ท่านให้ฝึกเมตตาตนเอง อะหัง สุขิโต โหมิ นิททุกโข โหมิ อะเวโร โหมิ อัพยาปัชโฌโหมิ อะนีโฆ โหมิ สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ มีความหมายที่ดีและควรจะฝึกเจริญ เป็นการย้ำเตือนตนเองว่า ที่ปรารถนาสุข ต้องเป็นสุขที่ไม่มีทุกข์ด้วย คือพัฒนาไป และทุกข์ทั้งหลายมีทุกข์ใจเป็นอย่างยิ่ง อย่าหาเหตุให้ทุกข์ใจ ด้วยการมีความโกรธแล้วคิดมาก กลายเป็นจองเวรหรือพยาบาท แค่นี้ก็ได้ใจความสำคัญ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศ วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/qQUcR5-SdEY (นาทีที่ 00:54:12- 01:12:15)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ชำระหนี้สงฆ์ #การใช้ของสงฆ์ #ทำของสงฆ์เสียหาย #ถาม: ล้างจานที่วัดแตกโดยไม่เจตนา.. จะ”ชำระหนี้สงฆ์”อย่างไร? #ตอบ: จริงๆ แล้วก็คือว่า.. เราทำของแตกที่วัดเนี่ยนะ! คำว่า “หนี้สงฆ์” เนี่ย มันเป็นศัพท์ใหม่ ! คือน่าจะมีในเฉพาะประเทศไทยนะ! ในพระไตรปิฎกไม่มีนะ..ไม่มีคำว่า “หนี้สงฆ์” เข้าใจว่า คำว่า”ชำระหนี้สงฆ์” นี้น่าจะมาจาก “ประเพณีขนทรายเข้าวัด” เป็นความละเอียดอ่อนของบรรพบุรุษของเรา ที่เมื่อจะทำบุญ ก็ดูว่าจะหาเหตุทำบุญนะ จะหาเหตุก็คือ “ขนทรายเข้าวัด” ก็มองไปที่ว่า.. หาเหตุผลที่ว่า เราเดินเข้าวัดแล้ว มีทรายติดเท้าเราออกจากวัดไป ก็ถึงปีหนึ่งก็ทำบุญด้วยการขนทรายเข้าวัด ในช่วงที่งานสงกรานต์ โดยการก่อเจดีย์ทราย กลายเป็นเทศกาล มีงานประกอบบุญกุศล และก็มีงานรื่นเริงด้วยนะ ถ้าในแง่ของความละเอียดอ่อน ก็ละเอียดอ่อน.. ละเอียดอ่อนในแง่ที่ว่า “เดินมาวัด แล้วมีทรายติดเท้าออกไป” เกรงว่าจะเป็นหนี้สงฆ์! ก็ชำระหนี้สงฆ์ ด้วยการขนทรายเข้าวัด แต่จริงๆไม่ถึงขนาดนั้น! แล้วก็ไม่ปรากฏว่า ในสมัยพุทธกาล ท่านจะตีความว่า.. คนเข้าวัดมาแล้ว เดินออกไปแล้วเอาทรายจากวัดไปด้วย เป็นบาปอะไร หรือเป็นหนี้สงฆ์อะไร ไม่ได้คิดขนาดนั้น! ส่วนการที่เราทำของวัดแตก เช่น ล้างจาน.. แล้วจานแตก! โดยเฉพาะไม่มีเจตนาด้วย อันนี้.. ก็ชดใช้ด้วยการซื้อของใหม่ก็ได้! หรือจะชดใช้เป็นมูลค่า ก็คือ ชำระเป็นเงินก็ได้! หรือแม้แต่บอกกล่าวกับเจ้าหน้าที่ของวัด ผู้ดูแลสมบัติ อาจจะเป็นเจ้าอาวาส หรือเป็นพระเจ้าหน้าที่ที่ดูแล ถ้าท่านเห็นว่า..ไม่เป็นไร! แตกไปใบเดียว แต่เรามีเยอะอยู่ตอนนี้ ยังไม่ต้องซื้อมาเสริม หรือว่าถ้าไม่สบายใจ จะซื้อมาชดใช้ก็ได้ “ของที่แตกได้..ได้แตกแล้ว” นะ ท่านไม่ได้ถือโทษ หรือว่าไม่ได้บอกว่าจะต้องซื้อมาชดใช้ และเห็นว่ายังไม่ต้องชดใช้.. ประมาณนี้นะ! ก็ไม่เป็นไร ก็คือไม่มีโทษอะไร! ส่วนที่ว่าจะ “เป็นหนี้” เนี่ย!.. คำว่า “ชำระหนี้สงฆ์” ก็คือ “เป็นหนี้” ก็คือ ต้องกู้ยืมมา.. แล้วมีความสมควรที่จะต้องใช้คืน เช่น “ยืมเงินมา ๕๐๐ ก็ต้องใช้คืน ๕๐๐” หรือว่ามีดอกเบี้ยด้วย ถือเป็นการชำระหนี้ แต่ถ้าทำของเสียหาย ก็แค่ชดใช้! “แค่ชดใช้” ก็น่าจะพอสมควร ถือว่าชำระหนี้สงฆ์แล้ว ชำระแล้ว.. เพียงพอแล้ว! แต่อยากจะพูด ถึงคำว่า”ชำระหนี้สงฆ์” นี่แหละ มันเป็นคำในยุคหลัง ซึ่งไม่มีในสมัยพุทธกาล ไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎก และแม้ในอรรถกถาคัมภีร์ ไม่มีเลย ก็เอาเป็นว่า.. อยากจะชี้แจงในเรื่องนี้มากกว่า ก็คือ “การใช้ของสงฆ์’ การใช้ของสงฆ์เนี่ย ถ้าเราไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้มันแตก ก็ไม่น่าจะมีความผิดอะไร ของสงฆ์ก็ไม่ใช่เฉพาะเรื่อง ถ้วย ชาม มันรวมไปถึงพวกที่นั่ง ที่นอน ฯลฯ ทุกอย่างนะ โดยเฉพาะ.. ถ้าเป็นพระก็ต้องดูแลของสงฆ์ให้ดีนะ ต้องช่วยกันดูแลของที่เป็นกองกลาง เรียกว่าเป็น “ของสงฆ์” ที่พูดเนี่ย มันมีตัวอย่างในพระสูตร อยู่พระสูตรหนึ่ง ที่พูดถึง “ยักษ์สองตน” “ยักษ์สองตน” นั้นมีอดีตชาติเป็นพระ ยักษ์ตนหนึ่งชื่อ “ขร” (ขะ-ระ) อีกตนหนึ่ง ชื่อว่า “สูจิโลม” (สู-จิ-โล-มะ) สูจิ แปลว่าเข็ม สูจิโลม ก็คือ “ขนแข็ง แหลมคม เหมือนเข็ม” เป็นยักษ์ที่มีขนแข็งแหลมคมเหมือนเข็ม ก็คือ มีผิวสัมผัสที่ไม่สบาย “ขร” (ขะ-ระ) มาเป็นภาษาไทยแปลว่า “ขรุขระ” ก็มีผิวขรุขระ แข็ง คม เปรียบเหมือนผิวจระเข้ ประมาณนี้นะ ผิวจระเข้ ด้านสันมันด้วย ที่มันมีนูน มีขอบคม ประมาณนี้ ยักษ์สองตนนี้ ในอดีตตนหนึ่งเป็นพระภิกษุในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า”กัสสปะ” เคยเป็นพระภิกษุในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า”กัสสปะ” วันหนึ่งเดินทางไกล เหงื่อไคลท่วมตัว แล้วก็ใช้เตียงของสงฆ์โดยที่ไม่ได้”ปูลาด” หมายความว่า การจะใช้เตียงต้องมีผ้าปู เพื่อไม่ให้ความสกปรกของร่างกายนี้ ไปเปื้อน ไม่ให้เหงื่อไคลไปโดนไม้ที่เป็นตัวเตียง สมัยนั้น พระรูปนั้นไม่เอื้อเฟื้อ ก็เอาร่างกายที่สกปรกนอนกับเตียงนั้นไปเลย ไม่มีผ้าปูเตียง ไม่มีผ้าปูลาด ศีลอื่นๆ รักษาดี แต่ตัวนี้.. พลาดไป!! ชาตินั้นก็ไม่สามารถทำคุณวิเศษอะไรให้เกิดขึ้นได้ เมื่อตาย.. มรณภาพแล้ว! ก็มาเกิดเป็นยักษ์ อาศัยอยู่ในที่ทิ้งขยะ มีทั้งขยะและมีทั้งซากศพ มีซากศพสารพัด มีศพสัตว์ ช้าง ม้า วัว ควาย นก หรือแม้แต่ศพคนก็มี (เขาบรรยาย สถานที่ที่อยู่ของยักษ์นั้น อย่างนี้เลย) ยักษ์อีกตนหนึ่งที่เป็นเพื่อนกัน ชื่อ “ขระ” ที่แปลว่า “ขรุขระ” นี่นะ ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า “กัสสปะ” เขาเป็นอุบาสก วันหนึ่งก็อย่างนี้ มาทำงานหนัก..เหนื่อย เหงื่อท่วมตัว แล้วก็มาใช้ของสงฆ์ มานอน โดยไม่ได้ปูลาด ไม่ได้ปูผ้านอน เป็นการทำของสงฆ์ให้เปื้อน แล้วก็ไม่ทำความสะอาดของสงฆ์นั้น อยู่ในวัดที่มีโยมทำบุญด้วยของดีๆ มันก็มีผ้าเหมือนกันนะ แต่เป็นผ้าแบบดูงดงาม สวยงาม ก็ไปนอนทับผ้า บางทีก็ไปนอนทับผ้าที่สวยๆ นั้น เขาเรียกว่า “ผ้าอันวิจิตร” อุบาสกนั้นมีเหงื่อไคลท่วมตัว ก็ไปนอนทับผ้าของสงฆ์.. แล้วก็ไม่ทำความสะอาด อันนี้ “ใช้ของสงฆ์” แบบประมาท..ไม่เอื้อเฟื้อ ท่านใช้คำว่า “ไม่เอื้อเฟื้อ” อย่างอื่นดีหมดนะ.. แต่ว่ามาเจอ “ไม่เอื้อเฟื้อในการใช้ของสงฆ์” ตายไปแล้วมาเป็นยักษ์ ยักษ์แบบไม่ดีด้วย! พระมาเป็นยักษ์ แบบที่มีขนแข็ง ชื่อ “สูจิโลมะ” (สูจิ ที่แปลว่า เข็ม เข็มแข็งๆ เป็นขนแข็งๆ อาจเหมือนแม่นก็ได้นะ!) ส่วนอุบาสกนั้น มาเป็นยักษ์ที่ผิวแบบขรุขระ เหมือนมีเกล็ดแข็งๆ แต่ว่า.. “ยังมีบุญเดิมๆ” ทำให้เข้าข่ายพระญาณของพระพุทธเจ้าของเรา เช้าวันหนึ่ง พระองค์เห็นว่าสูจิโลมยักษ์จะได้รับประโยชน์จากการแสดงธรรมของพระองค์.. ก็เสด็จไปโปรด แต่ว่าการไปนี่นะ ท่านบรรยายให้เห็นถึง “ความมหากรุณาของพระพุทธเจ้า” เสด็จออกจากพระคันธกุฎี คำว่า “พระคันธกุฎี” คือ กุฏิที่อยู่ที่หอม (คันธกุฎี กุฏิที่หอม มีกลิ่นหอมอยู่เสมอ) เสด็จออกจากพระคันธกุฎีไปพระองค์เดียว ไปที่กองขยะ เพื่อโปรดยักษ์ กองขยะเหม็นด้วยนะ! มีซากศพ..เต็มไปด้วยซากศพ ให้เห็นว่า.. พระองค์มีความกรุณา..เป็นมหากรุณา มุ่งประโยชน์ต่อยักษ์ มุ่งประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ ไม่ได้เลือกว่าที่นั้นจะมีสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร พระองค์ละจากที่หอมมาสู่ที่เหม็น เพื่อโปรดยักษ์สองตนนี้! ตอนแรกสูจิโลมยักษ์เนี่ย..หวงที่ ทั้งๆ ที่นั้นก็ที่ไม่ดี ที่เหม็น แต่ก็ยังหวงที่! ก็เห็นว่ามีพระภิกษุ มีสมณะนั่งอยู่ เพื่อนยักษ์ที่เคยเป็นอุบาสก สะกิดเรียก “สุจิโลมะ.. ดู! สมณะมานั่งในที่ของคุณ” สูจิโลมะก็หันไปดู! “อือ..อาจจะไม่ใช่สมณะก็ได้นะ ดูเหมือนสมณะ แต่อาจไม่ใช่สมณะก็ได้ เดี่ยวจะดูว่าจะเป็นสมณะแท้หรือเปล่า? เดี๋ยวเราจะพิสูจน์!” วิธีพิสูจน์คือ.. เข้าไปข่มขู่!! ก็เข้าไปจะคว้าตัวพระพุทธเจ้า คล้ายๆกับว่า โน้มตัวมาจะจับ พระพุทธเจ้าก็ถอยไปหน่อยนึง คล้ายๆ ยักษ์ได้สัมผัสที่พระองค์ พระองค์ก็ถอยไปหน่อยนึง สูจิโลมะ ก็ถามว่า.. “กลัวเหรอ? เห็นถอยไป กลัวเหรอ?!!” เขาเรียกว่า ได้ทีก็ข่มเลย “กลัวใช่ไหม!!” พระพุทธเจ้า ตรัสว่า.. “ไม่ได้กลัว แต่สัมผัสของท่านมันเลว สัมผัสเลวทราม” (คือ สัมผัสไม่น่าสัมผัส ไม่ได้ด่าว่า ยักษ์เลวนะ แต่สัมผัสนั้นเลวทราม) สัมผัสนั้นหยาบกระด้าง ประมาณนี้..! พอได้ยินว่าสัมผัสของตนเลวทราม! ยักษ์ก็ยิ่งโกรธ! “เดี๋ยวเราจะฉีกหัวใจท่าน จับขาท่าน แล้วก็เหวี่ยงท่านข้ามแม่น้ำคงคาไปเลย” พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า.. “เราตรวจดูแล้ว ในสามโลกธาตุนี้ ไม่มีใครทำอย่างนั้นได้หรอก อย่าว่าแต่จับเท้าเราเหวี่ยงเลย เพียงแค่ทำจิตเราให้พลุ่งพล่าน ก็ไม่สามารถทำได้” ตรัสต่อไปว่า “แต่เอาอย่างนี้ดีกว่า! ท่านสงสัยอะไรก็ถามได้” คือ ยักษ์นั้นมีคำถามอยู่.. ถ้าคำถามนี้กับใคร ถ้าผู้นั้นตอบไม่ได้ ก็จะจับเท้าเหวี่ยงไป สุดท้ายยักษ์ก็ถาม.. ถามไปพระพุทธเจ้าก็ตอบได้ ยักษ์นั้นก็บรรลุเป็น “พระโสดาบัน” พอบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว อัตภาพที่ดูไม่ดีก็เปลี่ยน กลายเป็นดูผ่องใสขึ้นมา อันนี้ ที่เล่ามานี้ จะบอกว่า.. อดีตชาติของสูจิโลมยักษ์ และ ขรยักษ์ คือ เคยมาใช้ของของสงฆ์ “แบบไม่เอื้อเฟื้อ” แต่อย่างโยมไปล้างจาน ก็น่าจะช่วยงานวัดนั่นแหละ! ก็เอื้อเฟื้อนะ.. แต่มีพลาดได้! “ของแตกได้.. ได้แตกแล้ว”!! เหมือนอย่างพระ หลวงปู่ท่านหนึ่ง ที่ท่านได้รับแจกันมาจากโยม แล้วแจกันนั้นก็มีค่ามาก ท่านก็สั่งสามเณรว่า “ดูแลให้ดีนะ! อันนี้มีมูลค่ามากนะ” จะไปไหน ก็กังวลอยู่กับแจกันใบนั้น วันหนึ่ง.. เณรดูแลกุฏิ ด้วยความเป็นเณรนั่นแหละ ก็อาจจะดูแลไม่รอบคอบเท่าไหร่ ทำให้แจกันแตก! พอหลวงปู่กลับมา สามเณรรายงานสารภาพผิดว่า “ได้ทำแจกันแตกไปแล้วครับ!” หลวงปู่ก็บอกว่า “ของที่แตกได้..ได้แตกแล้ว” เณรนั้นก็ไม่ได้มีความผิดในระดับที่เรียกว่า.. จะต้องมา “ชำระหนี้สงฆ์” อะไร หลวงปู่ก็ไม่ได้คาดคั้นสามเณรว่า.. จะต้องหาแจกันใหม่มาชดใช้นะ ไม่ถึงขนาดนั้น! เพียงอุทานว่า.. “ของแตกได้..ได้แตกแล้ว” อันนี้ถ้าโยมมีความไม่สบายใจ จะชดใช้ด้วยจาน หรือด้วยมูลค่าก็ได้ จะใช้ศัพท์ว่า “ชำระหนี้สงฆ์” ก็ได้ แต่ก็ให้รู้ว่า คำว่า”ชำระหนี้สงฆ์” เป็นศัพท์ใหม่ น่าจะบัญญัติใช้ในประเทศไทยนี่แหละ! จริงๆแล้ว เราไม่ได้เป็นหนี้สงฆ์อะไร ทำของส่วนกลางเสียหายไป.. ถ้าจะให้ดีก็ชดใช้ แต่ถ้าของมันมีเหลือเฟือ ก็เพียงแค่ชำระเป็นมูลค่าก็ได้ หรือแม้เราไม่มีทรัพย์ไม่มีเงิน เรามาช่วยด้วยแรงกายนะ แล้วทำของวัดหรือของสงฆ์แตกเสียหายไป ก็ไปรายงานให้กับเจ้าหน้าที่ ไปรายงานกับท่านเจ้าอาวาส ก็ไม่น่าจะถึงขั้นที่ว่าจะต้องมาบังคับให้ชดใช้อะไร ถ้าเราไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะชดใช้ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนะ อันนี้ ถ้าโยมมีกำลังที่จะชดใช้ค่าเสียหายนั้น เมื่อจะชดใช้แล้ว ก็หมดภาระหรือหมดความกังวลออกไป ที่ตอบคำถามตรงนี้ ก็คือ จะมาชี้แจง ในเรื่องของคำว่า “ชำระหนี้สงฆ์”เท่านั้นเอง พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการ “ธรรมะสว่างใจ” ออกอากาศ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๕ คลิปลิงค์รายการ https://youtu.be/1vx-FTF7GxM (นาทีที่ 00:54-1:13)

อ่านต่อ

ตรวจทานแล้ว #นิมฺมโลตอบโจทย์ #ฝากคนอื่นไปทำบุญแทน #แข่งบุญกัน #ถาม : “การฝากเงินให้คนอื่นไปทำบุญแทน” อานิสงส์จะต่างจาก “เราไปทำเอง” หรือไม่? และบุญจะส่งถึงตัวเราก่อน หรือผู้ที่ได้รับฝากก่อน! #ตอบ : เอานะ! เราคิดจะทำบุญ แล้วฝากเงินไปกับเพื่อนให้ไปทำแทนให้ที อย่างนี้ใช่ไหม? “บุญ” เกิดกับเราก่อน “เกิดตั้งแต่คิดที่จะทำ” มีจิตคิดที่จะให้ บุญในที่นี้หมายถึงว่า.. ฝากเงินไป ก็คือ “ให้ทาน” ใช่ไหม? “จิตคิดจะให้” ยังไม่ทันฝากเงินไปเลย.. ได้บุญแล้ว จิตนั้นเป็นบุญแล้ว เพียงแต่ว่า.. กระบวนการยังไม่ครบบริบูรณ์ ใช่ไหม? มันต้องมีการให้ ให้ถึงมือผู้รับ ทีนี้.. เราอาจจะติดขัดอะไรบางอย่าง แล้วก็เลยฝากให้เพื่อนเอาไปให้.. ให้ทำแทนที! เพื่อน.. ถ้าดีใจที่ได้ช่วยเหลือให้บุญนี้สำเร็จ เขาก็ได้บุญ ตั้งแต่ได้รับรู้ ว่าเราประสงค์จะนำเงินนี้ไปทำทาน พอเขาขวนขวายช่วยเหลือ เขาก็ได้บุญในส่วนนั้นอีก ตอนดีใจ.. ได้บุญคือ “อนุโมทนาในกุศลจิตของเรา” แล้วก็ได้บุญอีกในแง่ “ขวนขวายช่วยเหลือ” คือเอาทรัพย์นั้นไปทำทานให้สำเร็จ ตัวเขาเนี่ย .. ถ้ามีใจพลอยยินดี มีจิตมุทิตา เขาก็ได้บุญตลอดกระบวนการนี้ แต่ใครได้ก่อน!? “เจ้าตัว” คือเจ้าของทรัพย์นั้นได้ก่อน เพราะคิดก่อน ใช่ไหม? ไม่ใช่ให้ก่อนแล้วค่อยคิด ใช่ไหม? เขาต้องคิดก่อน แล้วค่อยให้ ใช่ไหม? คิดก่อน.. แล้วค่อยเอาทรัพย์นั้นไปฝาก แต่ตอนที่ คนที่รับฝากเอาไปถวายเนี่ย มันก็มีองค์ประกอบมากมาย ทำให้ไม่แน่นอนว่า.. เจ้าของทรัพย์หรือคนที่ขวนขวายเอาทรัพย์นั้นไปให้ทานเนี่ย ใครจะได้บุญมากกว่ากัน มีองค์ประกอบมากมาย ทำให้ไม่แน่นอน ถ้าเจ้าของทรัพย์นั้นเต็มใจ อิ่มใจ นึกถึงภาพที่ทรัพย์ของเราจะไปเป็นประโยชน์อะไรอย่างนี้ แล้วรู้สึกเห็นภาพชัด แล้วก็ปลื้มใจ ปิติใจ อันนี้เจ้าของทรัพย์เขาได้บุญเต็มที่ แต่ถ้าเพื่อนเอาทรัพย์ไปแล้ว คิดว่า “เอ้! มันจะเอาไปใช้เองหรือเปล่า?” “มันจะเอาไปถวายพระหรือเปล่า?” หรือ “มันเอาไปถวายพระ แต่มันจะเอาไปถวายพระครบจำนวนไหม?” อะไรอย่างงี้นี้นะ หรือว่า “มันไปถวายพระที่ดีหรือเปล่า? ตามสเป็คที่เราต้องการไหม?” อะไรประมาณนี้นี่นะ! มีข้อสงสัยมากมาย ระแวงอยู่เรื่อย บุญก็ลดลง เพราะว่า “ความระแวง ความสงสัย เป็นตัวขัดขวาง เป็นนิวรณ์” นึกออกไหม? ก็คือ จะบอกระบุไปเลยว่า เจ้าของได้บุญมากกว่าแน่ หรือว่า คนช่วยเหลือได้บุญมากกว่าแน่ มันบอกไม่ได้!! มันมีเหตุ มีปัจจัยมากมายที่ทำให้บุญของแต่ละคนมีมากมีน้อยต่างกัน คนที่รับฝากมานี้เนี่ยนะ ตั้งแต่รับมา ดีใจกับเจ้าของทรัพย์นี่นะ เขาได้บุญแล้วตอนนั้น ทุกครั้งที่ขวยขวาย “โอ้ย! เราไม่มีทรัพย์ของเราเอง” หรือว่า.. อาจจะรู้สึกว่าทรัพย์เรามี แต่มีน้อย ก็เลยไม่สามารถจะเอามาทำทานแบบนี้ได้ แต่ก็ได้ขวนขวายช่วยเหลือ รู้สึกดีใจ เขาก็ได้บุญ หรือจะพลอยผสมไปด้วย “โอ้! ดีจังเลย อ้อ! แสดงว่าเพื่อนเราศรัทธาพระรูปนี้ ท่านอาจารย์องค์นี้ แล้วก็สงสัยท่านคงจะเป็นพระที่ปฏิบัติดีมั้ง? ขอไปดูหน่อยสิ โอ้! ดีจริงๆ ด้วย” เกิดศรัทธา กับครูบาอาจารย์ของเพื่อนเรา อย่างนี้นะ ก็พลอยถวายทานเติมเข้าไปอีก เขาก็ยิ่งได้บุญของเขาอีก คือมันอยู่กับว่า คนขวยขวายนั้นคิดอย่างไรด้วย? แล้วกระบวรการในการถวาย เขาเห็นทรัพย์ของเพื่อนที่ฝากมา เอาไปน่ะ เขาเห็นอยู่ แล้วก็อากัปกิริยาของพระภิกษุนั้น ชวนให้มีศรัทธาอย่างนี้นะ เขาก็ยิ่งมีความปลื้มใจ ปิติใจ บุญก็ได้มากขึ้น เจ้าของทรัพย์นั้น เจ้าของเงินนั้น ถ้ารู้อยู่แล้วว่า ผู้ที่เราจะไปถวายนั้น ท่านมีปฏิปทาอย่างไร เขาก็ปลื้มใจของเขาอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่เคยเห็นเหมือนกัน ประมาณว่า ทำบุญแบบได้ยินว่า.. ที่นั้นต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็ฝากทรัพย์ให้คนนี้เอาไปให้ที แต่ไม่เคยเห็นวัดนั้นเลย ไม่เคยไปเลย แต่ได้ยินข่าวว่า ที่วัดนั้นต้องการ ก็ทำบุญไป ไม่ได้ไปด้วยตนเองก็ฝากเขาไป แล้วก็วาดๆ ฝันๆ เอาว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ความปลื้มใจมันไม่เต็มที่ เพราะว่ามันไม่ได้เห็นด้วยตาตนเอง แต่คนที่เห็นด้วยตาตนเองนั้นปลื้มใจ เห็นไหม? คนรับฝากอาจจะได้มากกว่า ในแง่ที่ว่า เขาเห็นแล้วปลื้มใจมากกว่า มันก็ขึ้นอยู่กับว่า.. แต่ละคนเนี่ย มีความเต็มใจแค่ไหน? มีกิเลสเข้ามากวนแค่ไหน? มีความรับรู้ถึงคุณความดีของผู้รับแค่ไหน? มีองค์ประกอบเยอะแยะ จะฟันธงไปเลยว่าใครได้มากกว่าเนี่ย มันฟันยาก!! เพราะมันมีองค์ประกอบมากมายอย่างนี้นี่แหละ เคยมีคนหนึ่งนะ นั่งรถผ่านหมู่บ้าน เห็นโยมคนหนึ่งใส่บาตร คนที่นั่งรถเห็นนั่นนะปลื้มใจมากเลย ดีใจ ปลื้มใจ อนุโมทนากับคนใส่บาตรนั้นมากเลย มีครูบาอาจารย์ท่านนั่งในรถนั้นด้วย ท่านมองดูนะ ท่านดูแล้วเนี่ย คนใส่บาตรนะใส่ไปงั้นๆ แหละ ใจไม่ปลื้มอะไรเท่าไรหรอก ถามว่า.. คนใส่บาตรคนนั้นได้บุญมากน้อยแค่ไหน? เขาก็ได้บุญนะ แต่ไอ้คนอนุโมทนานั่นน่ะ ได้บุญมากเลย มากกว่าคนใส่บาตรอีก !! เพราะคนใส่บาตรนั้น ใส่แบบ… คืออาการกิริยาก็ใส่นะ ดูนอบน้อม แต่ใจเนี่ยไม่ได้ปลื้มอะไร แต่คนเห็นเนี่ย..ปลื้มมากเลย ดูสิ! มันไม่แน่นอนนะ! ไม่ใช่ว่าคนที่ทำมันจะต้องได้บุญมากกว่า .. ไอ้คนอนุโมทนา หรือคนที่พลอยยินดีเนี่ย จะต้องได้บุญน้อย .. มันไม่แน่นอนเหมือนกัน! มันขึ้นอยู่กับว่า ไอ้ตอนที่กระทำ หรือตอนที่อนุโมทนานั้น หรือตอนที่ขวนขวายช่วยเหลือนั้น.. มันมีกิเลสอะไรเข้ามาปนตรงนั้นบ้างไหม? ถ้าบริสุทธิ์ใจทั้งหมดนะ มันก็ได้บุญด้วยกันทั้งหมดแหละ แล้วก็ไม่ต้องแข่งกันว่า.. ใครได้บุญก่อน? ใครได้บุญหลัง? ใครได้บุญมาก? ใครได้บุญน้อย? มาดูที่ใจตัวเองว่า.. มันมีอะไรเศร้าหมอง ที่รบกวน ทำให้การทำบุญของเรามันบกพร่องไปบ้างหรือเปล่า? อย่างนั้นดีกว่า! ดีกว่าจะมาแข่งบุญกันนะ!! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม รายการธรรมสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=5oOmyEsRnuk&t=3071s (นาทีที่ 42:54 – 51:11)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #พูดส่อเสียด #พูดประชดประชัน #ถาม : การที่คนชอบพูดจา “ส่อเสียด หรือ ประชดประชัน” เพื่อรู้สึกสะใจตนเองนั้น! จะมีผลเสียต่อจิตใจของคนนั้น.. มากน้อยอย่างไร? #ตอบ : มันก็เป็นการสร้างวจีกรรมที่เป็นอกุศล เป็น”วจีทุจริต” ก็เรียกว่า..พูดส่อเสียด..ใช่ไหม? พูดส่อเสียด ประชดประชัน แล้วก็สะใจ! คือการพูดที่เป็นวจีทุจริต มี ๔ อย่าง ๑. พูดปด ๒. พูดส่อเสียด ๓. พูดคำหยาบ ๔. พูดเพ้อเจ้อ ไม่ว่าพูดอย่างไหน มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปนรก “ยิ่งถ้าพูดมาก” ทำจนเป็นนิสัย..ภาษาในพระคัมภีร์จะเรียกว่า “ทำให้มากเจริญให้มาก” ประมาณนี้นะ ก็จะเป็นปัจจัย ทำให้ผู้ที่พูดนั้นไปอบาย ก็มีทั้งนรก สัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต อย่างเบาที่สุด.. วิบากอย่างเบาที่สุดก็คือ ถ้าพูดส่อเสียดเนี่ยนะ มาเกิดทีไร.. ก็จะแตกจากมิตร! แรกๆ อาจจะคบกันได้ แต่อยู่ๆ ไปก็จะแตกกัน นี่เป็นวิบาก เพราะว่า “การพูดส่อเสียด” เป็นการพูดยุยง ยุแยง ให้คนที่รักกัน สามัคคีกัน ทะเลาะกัน! วิบากก็จะทำให้เราแตกจากเพื่อนแตกจากมิตร คบกันดีๆ ก็จะมีคนมายุยง หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด ถ้าเราเคยทำกรรมอันนี้เอาไว้นะวิบากก็จะส่งมา! บางทีก็ดูแล้ว.. เราก็ไม่เข้าใจ! ทำไมถึงทะเลาะกัน? งงๆ อยู่ว่า.. ทำไมความสัมพันธ์เป็นไปดีๆ แล้วก็ทำให้ถูกแยกออก แล้วก็แยกออกในลักษณะที่ว่า ไม่ชอบใจกัน เข้าใจผิดกัน ..นี่เป็นวิบาก! วิบากมาจากที่ว่า.. เราเคยไปพูดส่อเสียด แถมสะใจด้วย อันนี้เขาเรียกว่า.. การส่อเสียดผู้อื่นให้เขาแตกสามัคคีได้.. แล้วก็สะใจ! เรียกว่า.. ยังไม่สำนึก ก็จะยิ่งทำหนัก ยิ่งทำมาก ประมาณนี้ ถ้าคนที่เขาแตกกันมีคุณมาก ก็ยิ่งมีวิบากมาก หมายความว่า ถ้าไปทำให้โจรทะเลาะกันเนี่ย วิบากก็น้อยใช่ไหม ก็เรียกว่า คนเขาไม่ดีกันอยู่แล้ว เราให้เขาแตกสามัคคีกัน ไม่ค่อยเท่าไหร่ วิบากน่าจะน้อย แต่ถ้าทำให้คนดีๆ ทะเลาะกัน ก็จะมีวิบากมาก เช่น ทำให้พระที่อยู่สามัคคีกันในวัดทะเลาะกัน เคยมีนะ! เทวดาเห็นพระ ๒ รูป สนิทสนมกันดี ดูเป็นมิตรที่สนิทสนมกัน ก็อยากจะลองใจว่า พระ ๒ รูปนี้รักกันจริงไหม? เวลาไปไหนก็ไปด้วยกันนะ ไปจำพรรษาวัดนี้ก็ไปด้วยกัน เดินธุดงค์ เดินป่าก็ไปด้วยกัน วันหนึ่งเดินป่า เทวดาลองใจ! เทวดาก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นผู้ฉลาดเสมอไปนะ เทวดาที่คิดไม่ดี แล้วก็ไม่รู้ทันความคิดตนเองก็มีเยอะเหมือนกัน อย่างเช่นเรื่องนี้ เทวดาอยากจะลองใจพระ ๒ รูป ว่า รักกันมั่นคงดีไหม? มีความเป็นมิตรมั่นคงไหม? พระรูปหนึ่ง ก็ขอตัวไปทำธุระส่วนตัวหน่อย อาจจะไปถ่ายหนัก-ถ่ายเบา ก็ปลีกตัวไปข้างทาง เวลาถ่ายหนัก-ถ่ายเบา ก็ต้องแอบตามสุมทุมพุ่มไม้ เพื่อไม่ให้อุจาดตา ก็ใช้เวลาหน่อย ก็แสดงว่า.. น่าจะถ่ายหนัก พระอีกรูปท่านก็รอ ระหว่างที่รอ เทวดาก็ดู กะว่า.. ท่านจะเสร็จ หมายถึงว่าทำธุระจะเสร็จแล้ว ก็แปลงกายเป็นผู้หญิงเดินจัดเสื้อผ้า ทำกระเซอะกระเซิง ออกมาจากพุ่มไม้นั้นเจอพระที่รอก็ทำตกใจนิดนึง! แล้วก็รีบๆ เดินหลบเลี่ยงไป ทำทีคล้ายกับว่า มีอะไรกับพระรูปที่ไปถ่ายหนักหลังพุ่มไม้ พระที่รออยู่ก็เข้าใจผิดเลยว่า ‘โห! นี่แอบไป… ที่รอนานเนี่ยนะไม่ได้ไปถ่ายหนักหรอก ไปเสพสังวาชย์กับสตรีนี่เอง!’ พอพระที่ถ่ายหนักเสร็จเดินออกมา ชี้หน้าเลย “ท่านทุศีล” รูปที่ถ่ายหนักออกมาก็งง ‘อะไรไปถ่ายหนักแล้วทุศีลยังไง?..งง!’ “ห๊า! ผมทำอะไรผิด?” “อย่ามาทำไก๋ อย่าทำบิดเบือน เราเห็นอยู่กะตา มีผู้หญิงออกมาเมื่อกี้ เธอมีอะไรกันกับหญิงนั้นแล้วแน่ๆ” นี้เรียกว่า “ส่อเสียด” เป็นผลสำเร็จ ทำให้แตกกัน รูปที่ยืนรอ ก็ตัดความเป็นมิตรกับรูปที่ไปถ่ายหนัก เพราะว่า.. คิดว่ารูปที่ถ่ายหนักนั้นทำปาราชิกเสียแล้ว ขาดจากความเป็นพระแล้ว ก็ไม่คบ..เลิกคบ เทวดานั้น.. ต่อมาก็เวียนเกิดเวียนตาย มาเกิดเป็นคน ในคราวพุทธกาล มีจิตศรัทธาขอบวช พอจะเดินไปที่ไหนนะจะมีภาพผู้หญิงเดินตามอยู่เสมอเลย อันนี้เรียกว่า.. เป็นวิบากจากการที่ไปเนรมิตตัวเองให้เป็นผู้หญิง แม้ชาตินั้น ภายหลังจะมาสารภาพกับพระ ๒ รูปแล้วนะ เห็นพระท่านทะเลาะกัน แตกกันจริงๆ ก็รู้สึกว่า.. ตัวเองมีความผิด ก็ไปสารภาพว่า “ผมผิดเอง ผมเป็นเทวดา มาเนรมิตเพื่อลองใจท่านทั้งสอง จริงๆ ท่านที่ไปถ่ายหนักท่านนั้นบริสุทธิ์ ผมแกล้งลองใจ” เมื่อพระท่านเคยแตกกันแล้ว แม้จะรู้ความจริงในภายหลัง ท่านก็ไม่กลับมาสนิทกันเหมือนเดิม ทำให้เทวดานั้นมาเกิดเป็นคน มาบวชพระ พระด้วยกันไม่มีใครคบเลย เพราะเห็นว่าท่านเป็นพระ แล้วมีผู้หญิงเดินตาม ก็ดูว่าพระรูปนี้น่าจะศีลไม่ดี แล้วก็ไม่มีใครอยากคบ ที่คบอยู่บ้างก็จะพูดเสียดสีว่าท่านเป็นคนชั่วช้า ท่านก็โกรธ ใช้คำรุนแรงโต้กลับ คือ แตกจากมิตร ถ้ามาบวชในพุทธศาสนา ก็ยังมีโอกาสอยู่ มันมีวิบากก็จริง คือพระพุทธเจ้าทรงแสดงวิบากให้ดู ว่าก่อนหน้านั้นเคยทำกรรมอะไรมา อกุศลกรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำให้มีนิมิตรเป็นผู้หญิงเดินตามอยู่เสมอ โยมก็ไม่ใส่บาตรนะ โยมเห็นพระมีผู้หญิงเดินตามก็ “เอ๊ะ! พระรูปนี้ยังไง?” ก็ไม่ศรัทธา ไม่ใส่บาตร นานๆ จะมีใครมีใจกรุณาใส่ไปแล้วก็เกรงว่าหญิงคนนั้นจะอดด้วย ฝากให้ลูกศิษย์ท่านด้วย พระท่านก็บอก “ไม่มีนะ มารูปเดียว” “นั่นไง! ผมเห็นกันอยู่” ประมาณอย่างนี้ มันเป็นวิบาก วิบากที่มาเนี่ย ก็มาจากการที่ทำกรรมเอาไว้นั่นเอง ทีนี้เราเห็นคนอื่นทำ หรือได้ยินคนอื่นเขาพูด ระวังใจตัวเองด้วย! เขาพูด”ส่อเสียด” การพูดส่อเสียดนั้นจะสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ มันขึ้นอยู่กับเราเหมือนกันนะ สมมุติว่า.. มีคนอื่นเห็นว่าเรามีเพื่อน แล้วเขามาพูดส่อเสียด คือพยายามจะทำให้เราแตกจากเพื่อน ถ้าเรามีใจหนักแน่น หรือถ้าได้ยินอะไรมาก็สอบถามกัน เชื่อใจกัน ถามข้อมูล อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ!อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ จากคำที่คนอื่นเขาพูด นี่คือข้อปฏิบัติของเรา ขอแถมเอาไว้ด้วย วิบากของเขาเนี่ย ให้เขารับไป เจตนาเขาไม่ดี มีอกุศลเขาก็รับวิบากไป ทำกรรมแล้ว ก็รอรับวิบากได้ แต่สำหรับเรา ถ้าเราผู้ถูกยุแยง เราต้องมีใจหนักแน่น อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อกับคำที่คนอื่นเขาให้ข้อมูลมา ถ้าเราสนิทสนม รักใคร่กลมเกลียวกับใครก็ตาม แสดงว่าคนนั้นเขาน่าจะเป็นคนดี อันนี้เราเพียงได้ยินได้ฟังอะไรมาอย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ สอบสวนค้นคว้ากันก่อน สอบถามข้อมูลที่มาที่ไปเป็นอย่างไรกันก่อน อย่าเพิ่งไปตีตราว่า.. ผู้ที่ถูกเอ่ยถึงนั้นเป็นผู้ผิด! เหมือนเวลาเราอ่านข่าวนะ บุคคลในข่าว บางทีถ้าเราอ่านไป แล้วเชื่อว่าคนนั้นผิดเนี่ยนะ บางทีคดีพลิก! ใช่ไหม? แล้วมีหลายครั้งใช่ไหม? แล้วก็บางทีก็ใส่ความเห็นแบบรุนแรง ถูกฟ้องกลับก็มี เรียกค่าเสียหายก็มี ก็ต้องระวังตัวเอง! “ใครจะส่อเสียดยังไง ก็เป็นกรรมของเขา” เราผู้ถูกส่อเสียดหรือคนอื่นถูกส่อเสียด ให้มามองเราในแง่ไม่ดี ต้องมีใจหนักแน่น และค่อยๆ หาข้อมูลกัน ค่อยๆ สอบถามกัน สอบถามที่มาที่ไปกัน อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อว่าเขาผิด ส่วนใครจะพูดไม่ดี เราห้ามเขาไม่ได้ แต่ความโกรธในใจเรารู้ทันได้ เราเองอย่าเพิ่งไปหลงโกรธกับคำพูดนั้นจนทำให้เราทำผิดไปด้วย พูดผิดไปด้วย หรือว่าคิดผิดไปด้วย คือไปเชื่อในสิ่งที่เขาพูดยุยงมา อันนี้คำพูดยุยงส่อเสียดกับคนที่มีคุณมากก็มีวิบากแรง แล้วถ้าไปยุยงคนหมู่มากให้แตกกันก็ยิ่งมีวิบากมาก เช่น ทำให้คนในหมู่บ้านแตกกัน ทำให้คนในจังหวัดนี้แตกกัน ทำให้คนในประเทศนี้แตกกันเนี่ยนะ ก็ยิ่งมีวิบากมากเป็นลำดับ ถ้าเป็นชาติ ๒ ชาติ เมือง ๒ เมือง เป็นศัตรูกันนะ วิธีจะรบชนะ หรือทำให้ได้ผลประโยชน์จากเมืองที่เป็นเป้าหมายโดยไม่ต้องใช้อาวุธหรือไม่ต้องเสียกำลังทหารมาก ก็คือเข้าไปยุให้เขาแตกกัน เหมือนกับ.. “วัสสการพราหมณ์” ไปยุให้กษัตริย์แคว้นวัชชี ทะเลาะกัน แตกกัน ขาดความสามัคคี เหมือนทำงานสำเร็จ เหมือนเป็นผลดี แต่จริงๆ แล้ว ทำอกุศลกรรมเอาไว้ เพราะจะว่าไป แคว้นวัชชี..กษัตริย์วัชชีก็เลี้ยงดูนะ จริงๆ มีบุญคุณนะ แต่ก็ไปทำลายเมืองเขา ก็เป็นการอกตัญญูแบบหนึ่งเหมือนกัน แถมไปสร้างกรรมแบบนั้นเอาไว้ ทำให้คนแตกกัน สุดท้ายก็ไปอบาย ที่พูดมา ก็อย่าไปแช่งเขา นี่ว่าไปตามหลักทฤษฎีว่า ”ผู้พูดไม่ดี คือทำเหตุไม่ดี ก็ย่อมได้รับผลไม่ดี” แต่เราเองเวลาเจอใครพูดไม่ดี ไม่ใช่ไปแช่งเขา ไม่ใช่ไปคิดโกรธ คิดให้ร้าย คิดอาฆาตพยาบาท จองเวรกับคนที่พูดไม่ดีนั้น ถ้าเราคิดไม่ดี ไอ้ตอนที่คิดไม่ดีนั้นเรากำลังทำมโนกรรมที่เป็นอกุศล ระวังตรงนี้ด้วย!! “ใครจะพูดอะไรไม่ดี เราก็รู้ว่าเขาพูดไม่ดี ก็อย่าไปเชื่อ อย่าไปทำตาม แล้วก็อย่าไปพูดตาม” ก็ประมาณนี้ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/4nFdbFbyZBY?t=68 (นาทีที่ 1:08 – 17.20)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #จิตสุดท้ายก่อนตาย #อาสันนกรรม #ถาม : “จิตสุดท้ายก่อนตาย” สำคัญที่สุดที่จะไปเกิดที่ไหน แล้วผลของกรรมที่กระทำตอนมีชีวิตอยู่จะไปให้ผลตอนไหน? #ตอบ : คือกรรมที่ว่า “จิตสุดท้าย” เนี่ย เรียกว่า “อาสันนกรรม” “อาสันนกรรม” เป็นกรรมข้อที่ ๓ ในกลุ่ม..ในชุดที่จำแนกตามความรุนแรง หรือความแรง (๑) ข้อแรกในกลุ่มนี้ เรียกว่า “ครุกรรม” กรรมหนัก ก็จะมีทั้งในแง่ดี และแง่ร้าย ก็คือ ในแง่ดีก็เป็น “สมาบัติ ๘” ในแง่ร้ายก็เป็น “อนันตริยกรรม” อันนี้คือแรงสุด.. ให้ผลก่อน ลำดับถัดมาก็คือ (๒) “อาจิณณกรรม” คือ กรรมที่ทำจนชิน เรียกว่า.. ถ้าไม่มีครุกรรม กรรมอันนี้จึงจะให้ผลก่อน กรรมที่ทำจนชิน ก็มีทั้งในแง่ดี-แง่ร้าย ถ้าไม่มีอะไรชิน.. ก็คือว่าชีวิตไม่มีดีเด่น ไม่มีเลวเด่น ชีวิตเรื่อยๆ เปื่อยๆ ก็มาตัดสินเอาตอนใกล้ตาย (๓) กรรมตอนใกล้ตาย เรียก “อาสันนกรรม” เรียกได้ว่า.. เมื่อไม่มีสองข้อแรกเนี่ย “อาสันนกรรม” ก็จะให้ผลก่อน หมายความว่า ถ้ามี “ครุกรรม” คือทำอะไรที่ร้ายแรงเอาไว้ ..เป็น “อนันตริยกรรม” เอาไว้นะ ก็ไม่ต้องมารอดูจิตตอนใกล้ตาย เพราะตัว “ครุกรรม” เนี่ยจะเป็นตัวตัดสินไปแล้ว คือตัดสินว่าให้ผลก่อนไปแล้ว หรือว่ามี “อาจิณณกรรม” ทำบาปมาตลอดชีวิต จะมาบอกทางสวรรค์ตอนใกล้ตาย..ไม่ไป! เพราะจิตไม่ชินที่จะคิดเรื่องดี ๆ ถึงเราจะพยายามบอก “สัมมาอะระหัง” นะ หรือว่า “ไปไหว้พระเกศแก้วจุฬามณีนะ” เขาก็จะถามกลับมาว่า “มันเป็นยังไง?!? คืออะไร? ไม่รู้จัก!!” เข้าใจไหม? มันช่วยไม่ได้! เพราะมันเคยชินที่จะคิดไม่ดีไปแล้ว บางทีมาโกรธเราด้วยนะ! “บอกอะไร? ฟุ้งซ่าน..! เพ้อเจ้อ!” อะไรอย่างนี้.. จิตสุดท้ายเนี่ย มันจะใช้ตอนที่ว่าไม่มีสองข้อแรก เรียกว่า “อาสันนกรรม” เนี่ย จะใช้ตอนไม่มีสองข้อแรก เป็นกรรมใกล้ตาย ซึ่งก็มีพุทธพจน์ที่เราเคยได้ยิน คุ้นๆ ก็คือ “ถ้าจิตเศร้าหมองแล้ว ก็เป็นอันหวังได้ว่า จะไปทุคติ ถ้าจิตไม่เศร้าหมอง ก็เป็นอันหวังว่าจะไปสุคติ” ก็คือจะมาใช้ในกรณีนี้ นี่คือเป็น “อาสันนกรรม” ทีนี้ ถ้าสมมติว่า.. เขาทำจิตตอนใกล้ตายได้ดี ไปเกิดในสุคติ แต่อกุศลกรรมที่ทำเอาไว้ ก็ยังให้ผลอยู่ เช่น มาเป็นคนแล้วสุขภาพไม่ดี อันนี้เป็นวิบากจากกรรมที่ทำในแง่ “ปาณาติบาต” หรือว่า ต้องมาผิดหวังในเรื่องของความรัก ก็เพราะว่า.. เป็นวิบากของการผิดศีลข้อ ๓ หรือว่าเกิดมายากจน หากินเท่าไหร่ มีเงินมาเป็นครั้งคราว ถูกเค้าโกงไป ถูกเค้าขโมยไป เนี่ยนะ เป็นวิบากจากข้อ “อทินนาทาน” เป็นคนมาแล้ว แต่ก็ภาวนาทีไรเนี่ยนะ ไม่รู้สึกตัวเลย เหม่อ.. หรือไม่ก็หลับไปเลย หรือว่ามานั่งแล้วก็มึนๆ ฟังอะไรไม่รู้เรื่อง แต่พอหลวงพ่อแสดงธรรมเสร็จ หรือว่าครูบาอาจารย์แสดงธรรมเสร็จ.. ตื่น!! อันนี้น่ามาจากวิบาก จากที่ไปเสพสิ่งมึนเมาในอดีตมา เรียกว่า ไม่ใช่ว่ามาเกิดในสุคติแล้ว วิบากที่ไม่ดีจะไม่ตามมาให้ผล …ไม่ใช่อย่างนั้น วิบากที่ไม่ดีก็ยังให้ผลอยู่ ก็เป็นเหตุให้ต้องระวังนั่นเอง! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/HBcRYGDYZlg?t=5669 (นาทีที่ 1:34:29 – 1:39:29)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #เดินจงกรม #เดินรู้สึกตัว #ถาม: “เดินจงกรมไม่เป็น” กำลังเริ่มฝึกเดินจงกรม เรายังใช้ลมหายใจ เป็นวิหารธรรมหรือไม่? หรือควรดูแค่กายเคลื่อนไหวเท่านั้น? #ตอบ : “จงกรม” แปลว่า “เดินไป-เดินมา” ภาษาบาลี ใช้คำว่า “จงฺกม” (อ่านว่า จัง-กะ-มะ) การเดินไป-เดินมา เดินด้วยความรู้สึกตัว ก็รู้ว่า.. ร่างกายนี้กำลังมีอิริยาบถ “เดิน” มีความเคลื่อนไหวในอิริยาบถ “เดิน” การที่จะดู“ลมหายใจ”ในตอนเดินเนี่ย แรกๆ มักจะไม่ค่อยมาดูลมหายใจกันหรอก เพราะว่า.. มันไม่เด่น! ความเด่น มันอยู่ที่.. การเคลื่อนไหวในท่าเดิน ที่เหมาะเลย ก็คือ เวลาเดิน.. ก็รู้ว่า ร่างกายนี้กำลังเดิน เห็นกายเคลื่อนไหวในท่าเดิน มันจะมารู้”ลมหายใจ” ประกอบเข้าไปด้วย ก็ตอนที่เดินทางไกล.. เดินทางไกลแล้ว เริ่มหายใจแรง.. บางที อาตมาใช้ตอนที่เดินทางไกล เดินป่าเนี่ยนะ เดินขึ้นเขาเนี่ย ก็จะใช้ทั้งความเคลื่อนไหวและลมหายใจประกอบกัน ซ้าย-หายใจเข้า, ขวา-หายใจออก มันจะมีอาการ ต้องการอากาศมาก การหายใจก็ชัดขึ้นมา ประมาณนี้ แต่ถ้าเดินธรรมดา ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน หรืออยู่ที่วัด ความเด่นมันอยู่ที่ “การเคลื่อนไหว” มันไม่ได้เด่นที่ “ลมหายใจ” เพราะฉะนั้น.. ถ้าเราจะมาดูลมหายใจ ตอนร่างกายกำลังเคลื่อนไหวในท่าเดินเนี่ย มันจะรู้สึก”ฝืน” ถ้าเอาที่มันเด่น ก็จะไม่ฝืน การเคลื่อนไหวของร่างกาย คือ มันมีความเคลื่อนไหวแบบนี้ ( พระอาจารย์ ใช้ท่าทางประกอบ ใช้นิ้วเดิน) รู้ไป! เห็นกายเดิน เอาง่ายๆ “เห็นกายเดิน” ระหว่างเห็นกายเดินเนี่ย บางทีมันไปสนใจว่า.. ไปเหยียบแล้ว! เจออะไร? หรือว่า เห็นเฉพาะที่ฝ่าเท้า ให้รู้ว่า.. จิตไหลไปแล้ว จิตเคลื่อนแล้ว แล้วก็มารู้กาย โดยภาพรวมต่อ บางทีก็.. เผลอไปเลย! เผลอไป.. ชมนก ชมไม้ ก็รู้ทันว่า เผลอ! ก็เห็นกายที่เดินต่อ ประมาณอย่างนี้ เผลอแล้วรู้! .. เผลอแล้วรู้! มันมี “เผลอ”สองแบบ ๑. เผลอออกไปข้างนอก ออกจากกายนี้ ไปเลย กับ ๒. เหมือนอยู่ในกายเนี่ย เช่นว่า.. ไปจดจ่ออยู่ที่ฝ่าเท้า อย่างนี้ก็คือ “จิตเคลื่อนแล้ว” จิตไปจดจ่อ จิตเคลื่อนแล้ว จิตเพ่งแล้ว มันมี “เผลอเพลิน” กับ “เผลอเพ่ง” ก็รู้ทันทั้งหมด แล้วก็.. พอรู้แล้วเนี่ย! กลับมาสู่.. การรู้เห็นกายในท่าเดินต่อ “วิหารธรรม” ก็คือ เห็นกายเดิน ส่วนที่เราจะรู้ แล้วเกิดเป็น “วิปัสนา” ก็คือ เห็น “จิตเผลอ” สองแบบ “เผลอเพลิน” กับ “เผลอเพ่ง” พอเห็นแล้วมันจะแสดง “ไตรลักษณ์” ที่ว่า.. เมื่อกี้ “มีอยู่จริง” และ “ดับแล้ว” คือ แสดงความไม่เที่ยงให้ดู หรือ.. บางทีก็ “มันทำงานเอง มันเผลอไปเอง” นกร้องปุ๊ป! จิตมันไปเลย ไปฟังเลย ไก่ขันปุ๊ป! ไปฟังเลย มันไปเอง มันทำงานเอง จะเห็นว่า มันแสดง “อนัตตา” ให้ดู อย่างนี้ก็ได้! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการ “ธรรมะสว่างใจ” ออกอากาศวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๕ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/09RxyDVqD7A (นาทีที่ 01:2:11-01:27:36)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #อิทธิบาท ๔ กับการทำงาน #ถาม: กราบเรียนถามพระอาจารย์ว่า.. “การทำงาน หรือ ชีวิตประจำวัน ถ้านำเอาอิทธิบาท ๔ มาใช้ จะเป็นประโยชน์ไหมครับ?” #ตอบ: เป็นสิ! โอ้!..ทำไมจะไม่เป็นประโยชน์ “อิทธิบาท” เป็นธรรมที่ “ทำให้การงานสำเร็จ” เพราะฉะนั้น “การทำงาน หรือชีวิตประจำวัน ควรเจริญอิทธิบาท” ไม่ว่าเราทำอะไร อิทธิบาท มีอะไรบ้าง? มี :- ฉันทะ, วิริยะ, จิตตะ, วิมังสา “ฉันทะ” คือ ความพอใจ พอใจใฝ่ใจที่จะทำสิ่งนั้น อยากจะทำให้ดี “วิริยะ” คือ มีความเพียร พอมีความพอใจ มีความเพียรแล้ว ก็มีความหมั่น ขยันทำ ก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้น..ใช่ไหม? “จิตตะ” คือ จิตจดจ่อฝักใฝ่ไม่ฟุ้งซ่าน “วิมังสา” คือ ใช้ปัญญาตรวจสอบ ไตร่ตรอง อาจมีการทดลอง ไม่ใช่ว่าจะทำแล้วได้ผลตามที่ต้องการทุกครั้งไป อาจจะมีการทำแล้วพลาด พลาดก็รู้ว่า.. พลาด! แล้วจะได้ไม่ทำอย่างนั้นอีก คิดปรับปรุงแก้ไข สมมุติว่า.. เราจะประดิษฐ์อะไรสักอย่างหนึ่ง ส่วนผสมตรงนี้ไม่ได้ ไม่ได้ก็อย่าผสมอย่างนี้อีก! ก็ลองทำอย่างอื่นต่อ มันอาจจะผิดร้อยครั้ง.. ก็ไม่เป็นไร ก็จะได้รู้ว่า วิธีทำผิดทั้งร้อยครั้งนั้น เราจะไม่ทำอย่างนั้นอีก มันจะทำผิดพันครั้ง ก็ไม่เป็นไร ก็ได้เรียนรู้ว่า.. ทำอย่างนี้ไม่ได้..ทำอย่างนี้ไม่ได้นะ! นักวิทยาศาสตร์ เวลาเขาจะทำอะไร ประสบความสำเร็จสักอย่าง ก็ใช้ “วิธีวิมังสา” นี่แหละ ทดลองไปเรื่อยๆ ได้ความรู้ไปเรื่อยๆ ยังไม่สำเร็จ ก็ไม่เป็นไร ก็ลองไป.. ลองต่อไป พอสำเร็จขึ้นมา ถ้าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ ก็จะเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั่วไป ก็ควรทำ ควรเจริญอิทธิบาทนะ ควรมี “ฉันทะ” ที่จะทำงานนั้น ถ้าเริ่มด้วยฉันทะได้ คือ มีความพอใจ เห็นประโยชน์ของงานนั้น มันก็จะมีฉันทะที่จะทำ ถ้ายังไม่เห็นประโยชน์ จะใช้ “วิธี ท้าทาย” ก็ได้นะ ท้าทายก็คือ เริ่มจาก”วิริยะ”ก่อน วิริยะนี้เป็นความกล้าทางใจ อาจใช้วิธีท้าทายว่า.. “เคยทำไหม? กล้าไหมล่ะ?!” ประมาณนี้ กล้าทำสิ่งนี้ไหมล่ะ?! กล้าในสิ่งที่ดีนะ ลองทำ! น่าจะเป็นตัว..แบบคล้ายๆ เป็นลักษณะท้าทาย “ท้าทายตัวเอง” “จิตตะ” คือใจจดจ่อ บางทียังไม่ได้เริ่มด้วยฉันทะ ยังไม่ได้เริ่มด้วยวิริยะ แต่สถานการณ์บังคับ งานนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย! จำเป็นต้องทำ และต้องจดจ่อ พลาดไม่ได้ อย่างนี้นี่นะ มันก็กลายเป็น”จิตตะ” เหมือนประมาณเจ้าหน้าที่ ที่เขาต้องไปปลดชนวนระเบิดประมาณนี้ ถามว่า..ชอบไหม? ที่ต้องไปทำ.. คงไม่ชอบหรอก ถามว่า.. กล้าไหม? ก็กล้านะ! กลัวไหม? ก็คงกลัวเหมือนกัน แต่ว่าต้องทำ! แล้วระหว่างทำเนี่ย ก็ใจจดจ่อ ความรู้ที่มีมาทั้งหมด ก็จดจ่ออยู่ตรงนั้น สติก็อยู่ตรงนั้น ปัญญาก็อยู่ตรงนั้น กับงานนั้น แบบนี้เรียกว่า “จิตตะ” จะตัดเส้นสีดำ หรือเส้นสีขาว หรือจะตัดเส้นสีแดง ประมาณนี้ จิตจดจ่ออยู่กับงานนะ มันจะเริ่มด้วยตัวไหนก่อนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มที่ “ฉันทะ” “อิทธิบาท ๔” นำมาใช้ประโยชน์ได้แน่นอน! มีประโยชน์แน่นอน!! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ลิงค์วีดีโอ URL: https://youtu.be/K1KruWusYRM” (นาทีที่ 40:58 – 45:30)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #โทสะซ้อนโทสะ #หนีไม่ใช่ว่าแพ้ #ถาม : เวลาโกรธ ก็จะรู้ตัวว่า ตอนนี้จิตมีโทสะ รู้สภาวะร่างกายว่าหัวใจเต้นแรง หน้าชา แต่โทสะไม่ยอมดับง่ายๆ หรือใช้เวลานาน กว่าจะระงับได้ ควรฝึกอย่างไรคะ? #ตอบ : คือ.. ต้องแยกให้ออก ระหว่าง”สภาวะที่เกิดกับกาย” กับสภาวะที่เป็นโทสะที่เป็นนามธรรม คือ “สภาวะทางจิต” เนี่ย สภาวะทางจิตเนี่ย คือ ความโกรธ ถ้ารู้ด้วยใจเป็นกลางนะ.. ดับเลย! ความโกรธดับเลย! แต่ไอ้ใจเต้นตึ้กๆ เนี่ยนะ มันเป็นรูปธรรม เป็นสภาวะทางกาย เป็นวิบาก ! มันไม่ใช่ว่าพอโกรธดับ! แล้วมันจะกลายเป็นปกติทันที ไม่!!.. หัวใจมันจะตึ้กๆ อยู่สักพักนึง มันเป็นวิบาก มันไม่เกิดดับเร็วเหมือนนามธรรม ต้องแยกให้ออก ฉะนั้น ไม่ใช่ว่ารู้ปุ๊บ! จิตที่เป็นโทสะดับไปแล้ว หัวใจต้องปกติทันที ไม่!!.. มันใช้เวลาหน่อยนะ กว่าจะปรับตัวให้เป็นปกติเนี่ย.. ช้า! แต่ถ้าโทสะไม่ดับด้วย อาจจะเป็นไปได้ว่า.. อยากให้มันดับ! ไม่ชอบโทสะนั้น มีโทสะซ้อนโทสะเข้าไปอีกที เช่น เห็นคนนี้แล้วโกรธ.. ดับไป! จิตดวงใหม่มาเห็นโทสะ แล้วไม่ชอบไอ้ความโกรธอันนี้ ไม่ชอบโทสะนี้ “เราไม่ควรมีโทสะนี้เลย” หรือ “โทสะนี้ไม่ควรเกิดเลย” เห็นโทสะ.. แต่ไม่ได้เห็นด้วยใจเป็นกลาง เห็นแล้ว.. มีโทสะกับโทสะอีกทีนึง เรียกว่า “มีโทสะซ้อนโทสะ” มันก็รู้สึกว่า.. ทำไมโทสะไม่ดับ? จริงๆ โทสะเดิมดับไปแล้ว แต่มีโทสะใหม่ คือ ไม่ชอบไอ้โทสะเมื่อกี้นี้ ไปลองสังเกตุดูนะ ส่วนร่างกายเนี่ยมันจะตึ้กๆ อยู่นานกว่าจิต ไม่ใช่ฝึกระงับโทสะ แต่ฝึกรู้ทันโทสะ รู้ด้วยใจเป็นกลาง อันนี้ในแง่ของวิปัสสนานะ แต่ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่บางทีเรารู้ทัน ประมาณว่า.. ถ้ารู้ทันได้มันดับไปได้.. ก็โอเค ผ่าน! แต่ถ้าตอนนั้นเจริญวิปัสสนาไม่ทัน คือ แค่รู้เนี่ย.. ไม่ไหว มันไม่ดับ โทสะยังค้างคาอยู่ แสดงว่าเมื่อกี้เนี่ยเจริญวิปัสสนาไม่สำเร็จ คือ ไม่ได้รู้ด้วยใจเป็นกลาง แล้วสถานการณ์มันคือ อันตราย! คือ เราอาจจะผิดศีลแล้ว ก็ควรจะเจริญสมถะ “สมถะ” คือ จิตไม่ดีทำให้มันดี (แก้ไข) ไม่เหมือนวิปัสสนานะ “วิปัสสนา” แค่รู้ (ไม่แก้) ถ้าแก้มันจะไม่ใช่วิปัสสนา แต่ถ้าสถานการณ์มันบีบบังคับแล้วว่า ถ้าตอนเนี่ยมันอันตรายแล้ว ถ้ายังมีโทสะอยู่เดี๋ยวจะไปผิดศีลแล้ว ก็แก้ไขได้ แต่ให้รู้ว่า.. ขณะนี้กำลังทำ”สมถกรรมฐาน” เช่นว่า ‘อย่าไปทำเค้าเลย จริงๆ เค้าก็มีข้อดีนะ’ หรือว่า ‘อย่าไปทำเค้าเลย ถ้าเราทำผิดศีลเรามีผลเสียเองนะ’ อะไรอย่างนี้นะ คิดอะไรก็ได้ คิดแล้วให้โทสะมันดับไป หรือว่า.. ระงับยับยั้ง ด้วยการเอาศีลมาข่มเอาไว้ ก็เป็นการตั้งใจป้องกันตัวเอง แก้ไขสถานการณ์ให้โทสะนั้นไม่มีอำนาจมา จนกระทั่งเราแสดงออกทางกาย-ทางวาจาผิดไป แล้วถ้าแย่ที่สุดเลย ก็คือว่า พยายามเต็มที่แล้วมันก็ไม่ไหวเนี่ยนะ ให้ออกจากสถานการณ์นั้น หลีกออกไปซะ! หลีกออกไปเนี่ย ไม่ใช่ว่า”แพ้” ถ้าอยู่แล้วทำผิดศีลเนี่ย..แพ้! ..แพ้กิเลส !! แต่ถ้าเราหลีกออกมาจากสถานการณ์นั้น คนอื่นอาจจะเห็นว่า เอ้ย! เราหนี หรือว่า เราแพ้! แต่เรารู้ตัวเองว่า.. “เราไม่แพ้หรอก” ก็คือ “เราไม่แพ้กิเลส” คือถ้าอยู่แล้วมันผิด อยู่แล้วต้องทำผิด อย่าไปอยู่เลยดีกว่า ก็ถอยออกมา ใครจะมองอย่างไรก็ช่างเขานะ เรารู้ตัวเองว่า “เรารักษาศีลได้” ก็พอแล้ว ไม่ถูกกิเลสครอบงำนะ! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/rGNtxlhiZ3c?t=2634 (นาทีที่ 43:54 – 48:51)

อ่านต่อ