บอกทางคนหลงทาง

ถาม : การบอกทางแก่คนหลงทางถือเป็นธรรมทานรึไม่ครับ ?

การบอกความจริงแก่คนอื่น ๆ ในทุกเรื่องราว แม้แต่เรื่องโลกียวิสัยที่เป็นสิ่งถูกต้องเพื่อการดำรงชีพที่ถูกต้อง ..ถือเป็นการให้ธรรมเป็นทานด้วยหรือไม่ ?

ธรรม แปลว่า อะไรแน่ ? ธรรม แปลว่า ความจริงครับ จริงแบบสมมติ กับ จริงแบบปรมัตถ์ ธรรมมีสองอย่าง

สัจจะ แปลว่า ถูกต้องดีงาม…

#ตอบ: เนื่องจากเป็นคำถามที่เนื่องมาจากตอบโจทย์ #๘๑ ซึ่งมีโจทย์มาว่า “ระหว่างให้ธรรมะเป็นทาน กับอภัยทาน สิ่งไหนที่สูงสุด ? ”

ประเด็นอยู่ที่ “สิ่งไหนสูงสุด ? ” ระหว่างธรรมทานกับอภัยทาน

เข้าใจว่า ผู้ที่ตั้้งโจทย์ก็ทราบอยู่ว่าเป็นสิ่งที่ดีทั้งคู่ แต่รู้สึกว่าก้ำกึ่งกัน คำอธิบายจึงมุ่งไปที่ความหมายสูงสุด ซึ่งเป็นจุดชี้ชัด เพื่อตัดสินว่า คำตอบควรจะเป็นสิ่งไหน

ทาน มี ๒ อย่าง คือ ๑. อามิสทาน การให้สิ่งของ ๒. ธรรมทาน การให้ธรรม, การให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน

อามิสทานช่วยค้ำจุนชีวิตผู้รับ ทำให้เขามีที่พึ่งที่อาศัย แต่ธรรมทานช่วยให้เขารู้จักพึ่งตนเองได้ต่อไป ธรรมที่จะให้เป็นทานก็มีทั้งระดับ “โลกียธรรม” และ “โลกุตรธรรม”

อภัยทานจัดอยู่ในธรรมทาน แต่ไม่เหนือกว่าธรรมทาน

จุดตัดสินเด็ดขาดก็อยู่ที่ธรรมทานมีการนำโลกุตรธรรมมาบอกมาสอน และผู้สอนพระองค์แรกก็คือพระพุทธเจ้า คำอธิบายจึงรวบรัดมาที่โลกุตรธรรมทีเดียว

คำว่า “ธรรม” มีความหมายกว้างขวางมาก จะแปลว่าสภาวะ, สิ่ง, ปรากฏการณ์, สิ่งทั้งหลายประดามี, ความดี, ความถูกต้อง, ความจริง, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ฯลฯ

และมีหลายหมวด เช่น รูปธรรม – อรูปธรรม, สังขตธรรม – อสังขตธรรม, โลกียธรรม -โลกุตรธรรม เป็นต้น

ธรรม ๓ ก็มี (กุศลธรรม, อกุศลธรรม, อัพยากตธรรม) ธรรม ๔ ก็มี (ปริญไญยธรรม, ปหาตัพพธรรม, สัจฉิกาตัพพธรรม, ภาเวตัพพธรรม)

เบญจธรรม (เมตตากรุณา, สัมมาอาชีวะ, กามสังวร, สัจจะ, สติสัมปชัญญะ) ก็เรียกว่า ธรรม ๕

ความหมายเต็มที่ของศัพท์ว่า “ธรรม” คือ สิ่งทั้งหลายประดามี สภาวะที่เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจก็เป็นธรรม เรียกว่า กุศลธรรม สภาวะที่ตรงข้ามกับกุศลก็เป็นธรรม เรียกว่า อกุศลธรรม

ทั้งกุศลธรรมและอกุศลธรรม ก็รวมลงในธรรมที่เรียกว่า สังขตธรรม เป็นธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง ธรรมที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งก็มี เรียกว่า อสังขตธรรม คือนิพพาน

แต่ศัพท์ “ธรรม” ในคำว่า “ธรรมทาน” ไม่กว้างเต็มที่อย่างนั้น

ในที่นี้เลือกอธิบายศัพท์ “ธรรม” ในคำว่า “ธรรมทาน” ในแง่ที่เป็นคำสั่งสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง.. คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และจับที่ธรรมหมวด ๒ คือ โลกียธรรม – โลกุตตรธรรม

– โลกียธรรม หมายถึง ธรรมอันเป็นวิสัยของโลก สภาวะเนื่องในโลก ได้แก่ ขันธ์ ๕ ที่ยังมีอาสวะทั้งหมด

– โลกุตรธรรม หมายถึง ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก สภาวะพ้นโลก ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

ส่วนที่แยกเป็น “สมมติ” กับ “ปรมัตถ์” อยู่ในหัวข้อ “สัจจะ” มีคำเต็มว่า สมมติสัจจะ – ปรมัตถสัจจะ

อนึ่ง คำว่า “ปรมัตถธรรม” เป็นศัพท์เฉพาะ ที่นิยมพูดกันมาเป็นหลักทางพระอภิธรรม แปลว่า สิ่งที่เป็นจริงโดยความหมายสูงสุด มี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน

๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๐