วันจันทร์ที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีฉลู #พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #นิวรณ์…ตัวขัดขวาง “สมาธิ” นิวรณ์ ก็คือ ตัวขัดขวาง ที่ทำให้จิตไม่เจริญขึ้นไป โดยนัยยะก็คือ… มันไม่เข้าสมาธินั่นเอง มีอะไรบ้าง ? “กามราคะ” “พยาบาท” “ถีนมิทธะ” “อุทธัจจกุกกุจจะ” และ “วิจิกิจฉา” ๕ อย่าง ด้วยกัน “นิวรณ์” เป็นตัวขัดขวาง และท่านก็ยังเปรียบด้วยนะ ไหนๆ เปรียบเป็นน้ำ แล้วนะ… ๑) กามราคะ เปรียบเหมือนเป็นน้ำที่ผสมสี ดูสีสวยหวานนะ..แต่มันผิดความจริง ! เวลาเรามองไปก้นสระ มันเป็นภาพผิดความจริง สีมันผิดความจริง หรือถ้าเราใส่ในตู้ปลา มองไป.. สีของปลาก็จะผิดไปจากความจริง อาจจะหวาน..แต่หวานเกินจริง ! สีสวย..แต่สวยเกินจริง ! สีเพี้ยนน่ะ..สีเพี้ยน ลักษณะของ “กามราคะ” คือ ทำให้ไม่ได้เห็นความจริง ตัวนี้ทำให้ไม่ได้เห็นความจริง อาจจะคอยเคลิ้ม ทำให้ใจมันเคลิ้มเพลิน … แต่เพลินไปก็ทำให้ไม่ได้เห็นความจริงอยู่ดี ๒) พยาบาท พยาบาทเนี่ย ถ้าเปรียบเป็นน้ำ ก็คือ น้ำเดือดพล่าน เคยเห็นน้ำเดือดพล่านไหม? เดือดปุดๆ เคยต้มน้ำแล้วเดือดปุดๆ ก็จะไม่เห็นเลยว่าอะไรในหม้อ หรือก้นหม้อ มันเป็นยังไง ? น้ำใสก็จริง.. แต่มันเดือดปุดๆ ! ถ้ายิ่งน้ำขุ่น ยิ่งไม่รู้เรื่องเลย การเดือด คือ มันไม่นิ่ง ไม่มั่นคง มันไหว.. มันไหวในลักษณะที่เดือดและร้อนด้วย ๓) ถีนมิทธะ แปลว่า ความง่วงซึม ความง่วงซึม เนี่ย … ท่านเปรียบเหมือน น้ำในสระน้ำ… ที่มีจอก มีแหน มีพืชผิวน้ำ ปิดบังเอาไว้ มองอะไร ก็เห็นแต่จอก แหน ไม่เห็นว่าน้ำมีอะไรบ้าง ๓) อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ท่านเปรียบเหมือน น้ำที่มีลมพัด มีคลื่น ยิ่งฟุ้งมาก คลื่นก็ยิ่งมาก คลื่นจัด คลื่นจัดบางทีมีฟองด้วย สังเกต..ถ้าคนฟุ้งซ่านมาก ยิ่งออกมาทางคำพูด.. จะน้ำลายแตกฟอง ! คลื่นเนี่ยนะ ที่ซัดมาฟองฟอดเลย ! (อันนี้เป็นแค่หลักช่วยจำ) ฟุ้งซ่านเนี่ย เปรียบเหมือนน้ำที่ถูกลมพัด หรือเป็นน้ำที่เป็นคลื่น ก็ไม่เห็น(ความจริงใต้น้ำ) ไม่ราบเรียบ ถูกรบกวนด้วยลม ๕) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ท่านเปรียบเหมือน น้ำที่ขุ่น…ที่มัว ลองไปดู ตามท่อระบายน้ำ หรือตามคลองที่เน่าเหม็น มองไป..ไม่เห็นก้นคลอง มองไม่เห็นว่าพื้นใต้น้ำนั้นเป็นอะไร มองปุ๊ป! ก็เห็นแสงสะท้อนออกมาเลย ไม่เห็นแสงด้านล่างเลย คือ มันมืดดำ ด้วยความขุ่นมัวของน้ำ ถ้ายิ่งสงสัยมากก็ยิ่งขุ่นมาก ยิ่งมืดมาก…มัวมาก สงสัยนิดหน่อย..ก็ขุ่นนิดหน่อย แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้มองไม่เห็นความจริง อันนี้คือ สิ่งที่เปรียบกับน้ำ “สมาธิ” จะเป็นสภาวะที่ปลอดจากนิวรณ์ทั้ง ๕ และพอปลอดจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ก็จะกลับไปเป็น สภาวะที่ว่า สงบ ราบเรียบ และ มีพลัง ในความสงบราบเรียบนั้น ก็ใส กระจ่าง และความสงบ ราบเรียบ ใส กระจ่าง มีพลัง … ที่ว่าเนี่ยนะ ถ้าเป็นสมาธิ ที่ถูกต้อง.. มันจะเป็นกำลังในการแยกขันธ์ ! “การแยกขันธ์” ก็คือ เห็น.. – “สิ่งหนึ่ง” ถูกรู้ – “สิ่งหนึ่ง” เป็นผู้รู้ อันนี้คือ เหมาะควรแก่การงานที่จะเจริญ “ปัญญา” เจริญวิปัสสนาต่อไป เห็นว่า.. “สิ่งที่รู้นี้ไม่ใช่เรา และสิ่งนี้ที่ถูกรู้ก็ไม่ใช่เรา” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการคลิกใจให้ธรรม ออกอากาศวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/tDN_srPms4A?list=RDCMUCE7svrdSu8jeu16d9vx54Lg (นาทีที่ 10:50 – 16:18)

อ่านต่อ