วันอังคารที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีฉลู พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #เหตุแห่งปัญหา..เหตุแห่งทุกข์ “ปัญหา” กับ “เหตุแห่งปัญหา” มันไม่เหมือนกัน! “ทุกข์” กับ “สมุทัย” ก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเปรียบอย่างนี้! ตัวปัญหาเหมือนประมาณว่า… เป็นสภาวะที่มันปรากฏกับ “คน” เป็นสภาวะที่ปรากฏกับ “คน” กับ “มนุษย์” มันก็ … ตัวปัญหาจริงๆ ก็คือ “กาย” กับ “ใจ” เนี่ยนะ ที่มันเป็นปัญหาจริงๆ เพราะว่า… มันไม่เที่ยง มันถูกบีบคั้นให้เปลี่ยนแปลง และ มันไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจของความอยากของเรา คือ ถ้าโดยสภาพ รูป-นาม ถ้าบังคับได้ ก็ไม่มีปัญหา ถ้ามันเที่ยง ก็ไม่มีปัญหา ประมาณนี้… แต่มันไม่เที่ยง! และสภาพที่ไม่เที่ยงเนี่ย มันไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ได้เป็นไปตามความอยาก มันเลยเป็นปัญหา เพราะมนุษย์คุ้นเคยกับการใส่ตัณหาเข้าไป กลายเป็นว่า… ไอ้ตัว “ตัณหา” นั่นเอง เป็นตัวเหตุแห่งทุกข์ พอเข้าใจไหม? นึกออกไหม? จริงๆ แล้วถ้าเทียบกับ ทางวิทยาศาสตร์ ตอนนี้ก็เหมือนกับว่า…กำหนดตัวปัญหาให้ได้ก่อน ถ้าเรากำหนดตัวปัญหาไม่ได้เนี่ย วิธีการอะไรมันจะเพี้ยนไปหมดเลย ในทางพุทธศาสนา…พระพุทธเจ้ามารู้ความจริงตัวนี้ จริงๆ รู้ความจริงตอนแรกเนี่ย…พระองค์เห็นกระบวนการ ที่เรียกว่า “ปฏิจจสมุปปบาท” กระบวนการที่ให้เกิดทุกข์ ทุกข์ คือ สุดท้ายที่ปรากฏอยู่เนี่ย มันมาเป็นกระบวนการมายังไง? ตั้งแต่ “อวิชชา” เป็นปัจจัยให้เกิด “สังขาร” มาเรื่อยๆ … และก็..พอท่านตรัสรู้ เพราะว่าไปรู้ซะแล้วก็เลย… ดับอวิชชา กระบวนการต่างๆ ที่จะเกิดทุกข์…ก็ยุติลง แต่เรื่องนี้ถ้าจะไปอธิบายกับคนทั่วไปมันยาก พระองค์ก็ปรับคำสอนให้มันอยู่ในเรื่องของ “อริยสัจสี่” พอสอนอริยสัจสี่เนี่ย… สอนขั้นแรกเลย ก็สอนกับปัญจวัคคีย์ พระพุทธเจ้า ก็สอนว่า… “ทุกข์” คือ อะไร? “เหตุแห่งทุกข์” คือ อะไร? “สภาวะพ้นทุกข์” คืออะไร? “มรรค” คือ อะไร? ทุกข์เนี่ย โดยสภาพคนทั่วๆ ไปก็จะเข้าใจง่าย ๆ คือ … “ความเกิด” เป็น “ทุกข์” “ความแก่” เป็น “ทุกข์” “ความเจ็บ” เป็น “ทุกข์” “ความตาย” เป็น “ทุกข์” ประมาณนี้นะ! อยากอยู่กับใคร… แล้วไม่ได้อยู่กับคนนั้นก็เป็นทุกข์ ไม่อยากอยู่กับคนนี้… แต่ต้องอยู่ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใด…ไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ อันนี้เป็นทุกข์ที่ปรากฏง่ายๆ กับคนทั่วๆไป เห็นอยู่.. แต่ว่าเวลาคนทั่วไปเนี่ย..ไม่มามองมุมนี้ ไม่ค่อยมองมุมนี้ เมื่อไม่ได้มองมุมนี้เนี่ย พอจะไปบอกถึงสาเหตุของปัญหาเนี่ย ก็จะไปมองแบบอื่นอีก นี่สภาพที่เป็นมา ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะสอน “อริยสัจสี่” เวลาพูดถึง “เหตุแห่งทุกข์” เนื่องจากไม่ได้มองตัวปัญหาที่ตรง เวลามอง…เหตุแห่งทุกข์ ก็มองออกไปข้างนอก คือ… ถ้ามองปัญหาตรงนะ! มันก็จะเข้าใจว่า… ตัวตัณหานั้นแหละเป็นเหตุแห่งทุกข์ได้! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน “รู้จักอุปาทานขันธ์ ๕ ” วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/468nqMASyUM _ (นาทีที่ 6:25 – 10.25)

อ่านต่อ