เรื่องกรรม ไม่ใช่…แค่กฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว!

วรรคทอง…วรรคธรรม #๑๘
เรื่องกรรม ไม่ใช่…แค่กฎแห่งกรรม
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว!

เวลาเรานึกถึง “กรรม” มักจะนึกในแง่ของกฎแห่งกรรม
“ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว”
แต่ยังมีกรรมอีกประเภทหนึ่ง เป็นกรรมในทางสมมุติบัญญัติ คือ เป็นสิ่งที่บัญญัติที่จัดตั้งขึ้นมาให้ยอมรับร่วมกัน
ในทางพระจะเรียกว่า พุทธบัญญัติ
บัญญัติเป็นข้อๆ ก็เรียกว่า สิกขาบท
ส่วนทางโยมนั้นก็คือ กฏหมาย
หากทำผิดข้อบัญญัติ..ก็คือ ผิดเหมือนกัน!!
ไม่ใช่คนทำผิดแล้ว ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องรอกฎหมายจัดการ
ไม่ใช่ให้รอกฎแห่งกรรมจัดการอย่างเดียวนะ
พระพุทธเจ้าท่านไม่รอ…
เมื่อมีการทำผิด จะมีตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือน แล้วลงโทษ
เป็นกระบวนการการลงโทษในทางพระวินัย ก็เรียกว่าเป็นการ”ทำกรรม”

ใครที่สร้างบาปเอาไว้เยอะ ถ้ามัวแต่รอผลกฎแห่งกรรมแบบธรรมดา ที่ยังไม่ให้ผล
คนทั่วไปอาจเกิดความเข้าใจผิด ว่า…ทำชั่วแล้วไม่ได้รับผลชั่ว

ในสังคมที่อยู่ร่วมกัน เพื่อให้บรรยากาศเอื้อต่อการพัฒนาตนกันต่อไป
ใครทำผิด..ในสังคมควรจะลงโทษ!
เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งสังคมตัวอย่าง คือสังฆะหรือสงฆ์
ภิกษุสงฆ์อยู่ร่วมกัน ใครทำอะไรไม่เหมาะ พระองค์ก็บัญญัติสิกขาบท
ใครทำผิดร้ายแรง ก็ให้สงฆ์ลงโทษ“นิยสกรรม” คือถอดยศ
ถ้าร้ายแรงกว่านั้น ก็“ปัพพาชนียกรรม”ขับออกจากหมู่สงฆ์

กรรมไม่ใช่แค่ว่าปล่อยวาง ว่าให้กฎแห่งกรรมจัดการเอง
พระพุทธเจ้าท่านไม่รอ ถ้าปล่อยให้คนทำผิดวุ่นวาย ทำให้หมู่สงฆ์ปั่นป่วน
บรรยากาศแห่งการปฏิบัติธรรมจะไม่เอื้อเมื่อมีคนเลว’อายยาก’อยู่ด้วย
แล้วทำผิดไปเรื่อยๆ !!
ทางพระไม่ยอม ถ้ามีคนทำผิดแล้วไม่ตักเตือน ถือว่าไม่ทำตามคำพระพุทธเจ้า
ถ้าใครทำผิด พระพุทธเจ้าเห็นว่า เตือนได้ให้เตือน
เตือนแล้วไม่ฟังทำผิด ให้เตือนหนักๆ คือลงโทษ
ถ้าผิดแบบปราชิก..ต้องสึกอย่างเดียว

เรื่องกรรม…
จึงไม่ใช่…แค่กฎแห่งกรรม ทำดีได้ ทำชั่วได้ชั่ว
ไม่ใช่แค่นั้น มันมี”กรรมของคนอยู่ร่วมกัน”ด้วย
คนที่จะอยู่ร่วมกัน จะต้องมีการบัญญัติกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน
และผู้ที่จะเป็นผู้บัญญัติได้ดี..ก็ต้อง “รู้ธรรม”
เพราะข้อบัญญัติที่ไม่ตรงธรรม ก็จะเบียดเบียนสังคมที่อยู่ร่วมกัน
และ “ต้องบัญญัติเพื่อธรรม” ด้วย
ข้อกำหนด ข้อห้าม ระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆ นั้น เป็นไปเพื่อให้สังคมมีบรรยากาศที่ดี
เพื่อให้สมาชิกสังคมนั้นมีโอกาสที่ดีที่จะพัฒนาตนเองเพื่อจะ “เห็นธรรม”
“ธรรมะ” จึงเป็นทั้งพื้นฐาน และ เป้าหมาย
คนที่บัญญัติได้ดี ต้องรู้ธรรม และมีเป้าหมายที่เป็นไปเพื่อธรรม
เช่นเดียวกับที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบท..
โดยที่พระองค์รู้ธรรมอยู่แล้ว และบัญญัติเพื่อความเป็นไปแห่งธรรมะ

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล
เทศน์ ณ บ้านจิตสบาย
๒๕ มกราคม ๒๕๕๘