All posts by admin

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ดูจิตจากเมตตาภาวนา #ถาม : เมตตาภาวนา สามารถดูจิตไปพร้อมกันได้หรือไม่? โปรดช่วยยกตัวอย่าง #ตอบ : เมตตาภาวนาดูจิตไปพร้อมกัน สามารถทำได้! เจริญเมตตาด้วย แล้วอาศัยการมีเมตตานั้นดูจิตไปด้วย คือเมตตาเนี่ยมีทั้งเมตตาตนเอง แล้วก็เมตตาผู้อื่น ถ้าเริ่มที่เมตตาตนเองก่อน “ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความสุข แล้วก็ปราศจากทุกข์ เป็นผู้ที่ไม่จองเวรใคร ไม่เบียดเบียนใคร” ตั้งใจไว้ ๔ อย่างนี้ก็ได้ มันเป็นการเจริญเมตตาที่เริ่มตั้งแต่ตนเอง คนทั่วไปเนี่ย เริ่มเมตตาตนเอง จะเกิดขึ้นง่าย เมื่อเมตตาตนเองขึ้นมาแล้วก็แผ่เมตตาให้กับคนอื่น เวลาพบกับใครแล้ว เจริญเมตตาด้วยการปารถนาให้เขามีความสุข ที่นี้โอกาสที่จะดูจิตมันจะดูตอนไหน? ก็ดูตอน.. มันไม่เมตตา! ปกติเราเจริญเมตตา ตัวที่มันจะทำให้ผิดเพี้ยนไป ก็คือกลายเป็นโทสะ มีโทสะทำให้ไม่เกิดเมตตา งั้นในการที่ตั้งใจที่จะเจริญเมตตาจะมีคำ ๒ คำ ที่บอกว่า “จะไม่จองเวรใคร จะไม่เบียดเบียนใคร ” ตัวที่จะไม่จองเวรใคร คือ ตัวจะไปดูว่าถ้ามีโทสะ แล้วจะรู้ทัน! ตอนรู้ทันโทสะ ก็คือ”ดูจิต”นั่นเอง! ถ้ามีโทสะแล้วไม่รู้ หรือ รู้ไม่ทัน มันจะมีโทสะแล้วจะคิดไปทั้ง ๆ ที่มีโทสะ คิดไปก็กลายเป็นผูกโกรธ เป็นจองเวร เป็นลำดับไป อีกคำหนึ่งคือ “จะไม่เบียดเบียน” ไม่เบียดเบียนเนี่ย ละเอียดยิ่งกว่าไม่จองเวร คือการเบียดเบียนสามารถเบียดเบียนด้วยกิเลสทั้ง ๓ ตัวเลย “โลภ โกรธ หลง” ทำให้เบียดเบียนได้ทั้งหมด มีความโลภแล้วไม่รู้ทัน! ก็เบียดเบียนคนได้ เบียดเบียนสัตว์ได้ มีความโกรธ แล้วไม่รู้ทัน! ก็สามารถเบียดเบียนคนได้ เบียดเบียนสัตว์ได้ หรือแม้หลง คือ ไม่รู้! เบียดเบียนแบบทั้งที่ไม่รู้ ไม่ได้โลภจัด ไม่ได้โกรธจัดอะไร ทำไปแบบไม่รู้ คิดว่าทำได้ ทำด้วยความเข้าใจผิด มีมิจฉาทิฏฐิ เช่น ไปตกปลา ไม่ได้โกรธปลา แล้วบางทีก็ไม่อยากได้ปลา ตกสนุกๆ แต่ทำไปด้วยความไม่รู้ เข้าใจผิดคิดว่าทำได้ คิดว่าปลามันคงไม่มีความรู้สึกอะไร หรือว่าทำไปเถอะไม่เป็นไร อันนี้เรียกว่า “เบียดเบียน” เบียดเบียนด้วยความไม่รู้ ไม่ได้อยากได้ปลา และไม่ได้โกรธปลา อย่างนี้เป็นตัวอย่าง “เบียดเบียนเพราะไม่รู้’ ไม่รู้ ก็คือมีโมหะนั่นเอง จะเจริญเมตตาได้ ในกรณีที่ตั้งใจว่าจะไม่เบียดเบียน การกระทำอะไรที่ไปทำให้เบียดเบียน รู้ทันตั้งแต่มีกิเลส ก็จะเป็นการป้องกันการเบียดเบียนผู้อื่นได้ คือเจริญสติ ดูกิเลสที่เกิดขึ้นในใจมีทั้งโลภ โกรธ หลง ดูได้ทั้งหมดเลย หลงนั้นดูยากหน่อย! หลงนั้นจะรู้ตอนที่เกิดการเบียดเบียนไปแล้ว ก็รู้สึกว่า “อ้าว…! นี่มันเบียดเบียน” รู้เลยว่า แม้การกระทำแบบนี้เบียดเบียนไปแล้ว ต่อไปจะไม่ทำ มันก็มีการมีสติเรียนรู้ข้อผิดพลาดในการแสดงออกทางกาย ทางวาจา ของตนเอง นอกจากนี้แล้วเมตตา กับโทสะตรงข้ามเห็นชัด ๆ เลย บางทีเมตตาก็พลิกนิดเดียว เรียกว่า “ศัตรูใกล้ โทสะเป็นศัตรูไกล” “ศัตรูใกล้” คือ เมตตาพลิกเป็นเสน่หา หรือเป็นราคะ อันนี้ต้องดูด้วย ไม่ใช่ว่าเมตตาคนอื่นไม่ใช่มีปรารถนาดีกับเขาอย่างเดียว แต่ปรารถนาให้เขามาบำเรอเราด้วย หรือมาดีกับเราด้วย ราคะไม่ใช่เมตตานะ บางทีเมตตาคนนี้เป็นพิเศษ อยากจะเมตตาเขา แต่มันไม่ใช่เมตตาแล้ว เป็นราคะไปแล้ว หรือเป็นเสน่หาไปแล้ว ลูกน้องคนนี้เรามีเมตตากับเขาเป็นพิเศษ คำว่า “เมตตากับเขาเป็นพิเศษ” เป็นการพูดบิดเบือน จริงๆ แล้วมีเสน่หาหรือมีราคะไปแล้ว ให้รู้ตรงนี้ไว้ด้วย รู้ตรงนี้ก็คือ ได้ดูจิตนั่นเอง ก็ดูว่าเมตตานั้นเมตตาบริสุทธิ์แค่ไหน เป็นเมตตาจริงๆ หรือเริ่มมีกิเลสไปแล้ว หรือว่ามันพลิกไปเป็นกิเลสแล้ว กิเลสแบบตรงข้ามโต้งๆ เลย คือ โทสะนั้นเห็นง่าย แต่ถ้ามันพลิกไปนิดนึงเป็นราคะ เหมือนมีเมตตานะ คล้ายๆ แต่มันไม่ใช่ มันพลิกไปแล้ว เรียกว่า “ศัตรูใกล้” ดูยาก แต่ถ้าดูได้จะทำให้เราพัฒนาทางใจ มีใจที่พัฒนาขึ้นมา แล้วก็เป็นผู้ที่จะสามารถภาวนาได้ละเอียดยิ่งขึ้น เพราะว่ามันพลิกไปนิดนึงก็จะเห็นเลย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ : https://youtu.be/TN00BWZf8b0?t=1002 (นาทีที่ 00:16:42 – 00:23:28)

อ่านต่อ

วันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๖ วันพระ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #จิตรู้ตรงข้ามจิตคิด “จิตรู้” กับ “จิตคิด” จึงตรงข้ามกันเลย จิตขณะที่รู้.. ไม่ได้คิด! จิตขณะที่คิด.. ไม่รู้! ทีนี้ไอ้ที่ไม่รู้นี่คือ.. ไม่มีความรู้ ในแง่ว่า.. มีสติรู้ทันจิต หรือรู้กาย มันจะกลายเป็นว่า.. รู้เรื่องราว ที่คนเขาบอกว่า “รู้นะๆ ฉันรู้นะ!” แต่มันรู้เรื่องราว! แต่ “รู้” ที่เราพูดถึงเนี่ย คือ “รู้กาย” หรือ “รู้ใจ” ในที่นี้จะบอกว่า “รู้ใจ” จิตที่มันรู้เรื่องราว คือ “เผลอคิด” แต่พอรู้ว่าเมื่อกี้เผลอคิด “จิตที่รู้” ก็กลายเป็น “จิตผู้รู้” ขึ้นมา ถ้ารู้ด้วยใจเป็นกลางนะ มันจะกลายเป็นว่า.. การรู้ครั้งนี้ มันมี”รู้” ประกอบด้วยสติ และสมาธิ ก็ตรงนี้จะเรียกอีกคำว่า “มีจิตตั้งมั่น” “มีจิตถึงฐาน” หรือ “จิตที่มีสัมมาสมาธิ” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ คลิกใจให้ธรรม ตอน “จิตผู้รู้” T.314 วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๖ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=322jjVjfFzc&t=868s (นาทีที่ 13.26 – 14:28) คลิกใจให้ธรรม_จิตผู้รู้ (พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล) T.314 15/01/66www.youtube.comรายการ คลิกใจให้ธรรม Dhamma on Hand ทางช่อง MVTV หมายเลข 75 ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 06.00-07.00 น. ติดตามความเคลื่อนไหวทางราย…..

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #การปฏิบัติธรรม #ถาม : การปฏิบัติธรรม คือ การพัฒนาจิต ใช่หรือไม่คะ? #ตอบ : การปฏิบัติธรรม คือ การพัฒนาจิตใช่หรือไม่?!? มันถูกส่วนหนึ่งนะ ถ้าพูดให้ครบครอบคลุม..มันไม่ใช่เฉพาะแค่พัฒนาจิต การปฏิบัติธรรมเนี่ย พัฒนาทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งจิต จิตที่ว่าเนี่ย..ก็ทั้งปัญญาด้วย การพัฒนาจิตเนี่ย มันไม่ใช่ความหมายเต็มของคำว่า “ปฏิบัติธรรม”! ปฏิบัติธรรม..ถ้าพูดเต็มความหมายก็คือ พัฒนากาย วาจา จิต และปัญญา เวลาเราจะมาปฎิบัติธรรม ก็ต้องมาฝึกในเรื่อง อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา นี่คือฝึกปฎิบัติธรรม ถ้าอยู่ในวงของฆราวาส การฝึกปฎิบัติธรรมก็จะอยู่ใน ๓ ข้อ คือ ทาน ศีล ภาวนา การให้ทาน ก็เป็นการปฏิบัติธรรม เป็นการฝึกจาคะ โดยการให้ทาน ให้วัตถุสิ่งของ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกับบุคคลอื่น อาจจะเป็นคนก็ได้ เป็นสัตว์ก็ได้ หรืออาจจะเป็นเทวดาก็ได้ หรืออุทิศบุญกุศลให้เปรตก็เป็นการให้ทานประเภทหนึ่ง การพัฒนาจิตจะอยู่ในเรื่องของจิตตภาวนา..เป็นเรื่องของการภาวนา เป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนย่อยของการปฏิบัติธรรม การพัฒนาจิต ก็คือ ทำจิตให้เหมาะควรแก่การเจริญปัญญา จุดมุ่งหมายก็ไปเจริญปัญญา ไม่ใช่เจริญจิตอย่างเดียว แต่ไปเจริญปัญญาต่อ การปฏิบัติธรรม คือการพัฒนาจิตใช่หรือไม่? มันใช่! แต่มันแคบไป มันไม่ครอบคลุม ต้องบอกว่า.. พัฒนากาย วาจา จิต และจิตในที่นี้หมายถึง ทั้งจิตในลักษณะความเพียร มีสติ มีสมาธิ แล้วก็มีปัญญาด้วย ต้องครอบคลุมถึงระดับนี้ ไม่งั้นจะบอกว่า “การปฏิบัติธรรมเป็นการพัฒนาจิต” จะกลายเป็นว่าความหมายแคบเกินไป พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ : https://youtu.be/vxfK6oYy4SU?t=1012 (นาทีที่ 00:16.52 – 00:19:47)

อ่านต่อ

วันเสาร์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๖ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ธรรมชาติของความโกรธ ทุกครั้งที่จิต มีความโกรธ จิตขณะนั้นเป็นทุกข์ทันที! เศร้าหมองทันที! ทุกขณะจิตเลย ไม่มียกเว้นเลย นี่เป็นธรรมชาติของความโกรธ เกิดกับจิตดวงไหน จิตขณะนั้นเป็นทุกข์ทันที ฉะนั้น ถ้าทุกข์จากความโกรธ ให้รู้ทันว่า “ตอนนี้เรากำลังเป็นเจ้ากรรมนายเวรแล้ว” บอกตัวเองเลย “ให้อภัยเขา” “ให้อภัยเขา” หมายความว่าอย่างไร? เราเชื่อเรื่อง “กฎแห่งกรรม” “ใครทำดีได้ดี ใครทำชั่วได้ชั่ว” ไอ้คำว่า “ทำชั่วได้ชั่ว” ไม่ใช่ว่าเราไปเป็นกรรมการ คอยให้คะแนนคอยสั่งว่า “มึงจงได้รับกรรมชั่วเดี๋ยวนี้” ไม่ใช่! เข้าใจไหม? มันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าต้องมีเราไปให้คะแนน เร่งให้เขาได้รับผลกรรมชั่ว มันไม่ใช่อย่างนั้นนะ! มันไม่เป็นอย่างนั้น ไอ้ครั้งที่เราคิดโกรธ เราชั่วเอง! ที่เราไม่พอใจน่ะ เราชั่วเองนะ!! คำว่า”ชั่ว” ดูรุนแรงไปหน่อย ก็คือ “เราโกรธแล้ว” เป็น “อกุศลแล้ว” ในตอนนี้ เป็นทุกข์แล้ว! ให้รู้ให้ทันในตอนนี้ด้วย ดังนั้น เวลาเราคิดถึงใครแล้วหงุดหงิด คิดถึงใครแล้วไม่สบายใจ ให้นึกเลยว่า “นี่กูเป็นเจ้ากรรมนายเวรแล้ว” ให้อภัยเขา เราต้องการให้เจ้ากรรมนายเวรของเราให้อภัยกับเราอย่างไร.. เราให้อภัยก่อนเลย! ทำให้เป็นตัวอย่าง ทำให้เป็นตัวอย่างว่า..เนี่ย! เราให้อภัยแล้ว แล้วเราเองได้รับผลเลย รับผลเลยทันที เป็นสุขใจทันที ปลอดโปร่งโล่งใจทันที พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการบรรยายธรรม “เล่าเรื่องสอนแม่” ณ บ้านขนมนันทวัน วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=dRcTvYpZTOg&t=4313s (นาทีที่ 1:42:02 – 1:43:29)

อ่านต่อ

#คลิปแสดงธรรม #เล่าเรื่องสอนแม่ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล ถ้าเรามีต้นทุนไว้ดี .. จะผ่านวิกฤตได้ง่าย แต่ถ้าเรามีต้นทุนไม่มาก .. ก็จะทุลักทุเลหน่อย! แล้ววิกฤตในชีวิตเรา จะมีหลายครั้งด้วยกัน แต่ช่วงวิกฤตโควิดนี้ พระอาจาย์ได้พลิกให้เป็นโอกาสกับแม่ของท่านอย่างไร? เรามาฟังท่านเล่าเรื่องสอนแม่ กันในคลิปวีดีโอนี้ https://youtu.be/dRcTvYpZTOg วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๕ เทศน์ ณ บ้านขนมนันทวัน เพชรบุรี 651223_บ้านขนมนันทวัน-เล่าเรื่องสอนแม่ ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโลyoutu.be651223_บ้านขนมนันทวัน-เล่าเรื่องสอนแม่ ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ความเป็นกลางของจิต #ถาม : ขออนุญาตสอบถามครับ ทำไมจิตใจไม่เคยเป็นกลางเลยครับ ตัดสินเสียหมดทุกอย่าง และทุกๆ อารมณ์ ที่เข้ามาเข้ากระทบไม่ว่าจะเป็นเรื่องดี หรือไม่ดี ความเป็นกลางจริง ๆ แล้วมันเป็นยังไงครับ? #ตอบ : ตอนจิตที่เป็นกลางจริงๆ คือ แค่รู้ ตอนแค่รู้เฉย ๆ จะเป็นกลางพอดี ตอนที่เห็นสภาวธรรมต่าง ๆ ถ้ารู้สภาวธรรมเหล่านั้นด้วยใจเป็นกลางก็จะกลางพอดีตรงนั้น ถ้าแค่รู้ แล้วถ้ามันไม่เป็นกลาง ก็แค่รู้ว่า.. เมื่อกี้รู้ว่าไม่เป็นกลางไปด้วยก็ยังได้ ยังอาศัยที่ว่า เมื่อกี้รู้แล้วว่าไม่เป็นกลาง คือ รู้แล้วแทรกแซง เผลอไปแทรกแซง เผลอไปหงุดหงิด เผลอไปไม่ชอบใจ ซ้ำไปอีกที ก็รู้ว่าเมื่อกี้เผลอไปอีกครั้งนึง มันสามารถรู้ตอนไหนก็ได้ ขอให้รู้เถอะ! ตอนรู้..ให้รู้ด้วยใจเป็นกลาง คือ รู้แล้วไม่แทรกแซง ถ้ารู้แล้วแทรกแซงเมื่อไหร่ ก็เมื่อกี้รู้แล้วไม่เป็นกลางก็ไม่เป็นไร ก็ฝึกไป! อย่างที่บอกแล้ว “มันจะเป็นกลางตอนรู้” ให้ฝึกรู้ จะเป็นกลางเมื่อรู้เฉย ๆ ไม่เข้าไปแทรกแซงอะไร จะเป็นกลางได้ง่ายขึ้น ถ้าเราตั้งใจเอาไว้ว่า “จะรู้” แปลกไหม? แสดงว่า.. คนส่วนใหญ่ที่รู้แล้วไม่เป็นกลาง ส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจจะรู้ ส่วนใหญ่จะตั้งใจเอาความสงบ ความนิ่ง หรือพยายามทำให้จิตมันดี “สงบ นิ่ง ดี” เป็นตัวหลอก ทำให้ไม่เป็นกลาง ทำไม..? เช่น ทำสมถะไปใจก็อยากสงบ ถ้าใจอยากสงบนำมาก่อน พอมันไม่สงบ เห็นความไม่สงบปุ๊บ! มันจะไม่ชอบใจ เพราะผิดไปจากที่เราปรารถนา เราปรารถนาสงบ แล้วเห็นความฟุ้งซ่าน เราจะไม่ชอบใจความฟุ้งซ่านเพราะมันไม่สงบ แล้วจะแทรกแซงทันที นึกออกไหม? เพราะอยากสงบ เห็นความไม่สงบเลยไม่สามารถรู้ด้วยใจเป็นกลาง อยากให้นิ่ง พอมันไม่นิ่ง เห็นความไม่นิ่งก็ทนไม่ได้ที่จะแทรกแซง เพราะอยากนิ่ง อยากให้จิตมันดี พอเผลอไป จิตนี้ไม่ดี นึกออกไหม? มันจะแทรกแซงทันที! ถ้าเราตั้งความปรารถนาก่อนปฏิบัติธรรม ด้วยการอยากให้สงบ อยากให้นิ่ง อยากให้ดี ทีนี้เอาใหม่..!! จะยังไงก็ตาม จิตจะเป็นยังไงต่อจากนี้ จะขอรู้ ต่อจากนี้ คือ ต่อจากที่เราทำสมถะ จะเป็นยังไงก็แล้วแต่ จะขอรู้ ดีก็จะรู้ ไม่ดีก็จะรู้ ตั้งใจจะเอารู้ ฉะนั้นเริ่มต้นปุ๊บ! จิตอยู่กับอารมณ์ของสมถะสักอย่าง เช่น อยู่กับ”พุทโธ” ก็มีผู้รู้ขึ้นมาได้ “พุทโธ” ถูกรู้ จิตเป็นผู้รู้ เผลอไป เห็นความเผลอ ความเผลอเป็นความจริงอย่างหนึ่ง เห็นแล้วก็รู้ ได้รู้ มันจะมีโอกาสที่จะรู้ด้วยใจเป็นกลางได้ เพราะตั้งใจแต่แรกว่า.. จะรู้! ดีก็รู้ ไม่ดีก็รู้ จิตที่เผลอไม่ดี ก็ได้รู้ แล้วก็ทำสมถะต่อ สมถะเป็นเพียงตัวเริ่มต้น ผิดจากนี้แล้วจะรู้อีก รู้อีกก็แค่รู้ เราได้รู้เสมอเลย ไม่ว่าจิตนั้นจะดีไม่ดี จะเป็นกุศลเป็นอกุศล ก็จะรู้ จะเรียนรู้เหมือนคนทำวิจัย ทำวิจัยเนี่ย ผลออกมาเป้นยังไงก็บันทึกไป ก็แค่บันทึก ไอ้นี่เหมือนกันเลย มีสมถะเอาไว้ จากนี้ต่อไปจะเป็นยังไงก็แค่รู้ เหมือนบันทึก มีอะไรเกิดขึ้นบันทึกเอาไว้ ก่อนจะบันทึก ก็รู้ว่า..มันคืออะไร เมื่อกี้ฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน เหมือนจดเอาไว้ จิตมันจดเอง มันจำเองว่าอันนี้ฟุ้งซ่าน ทำสมถะต่อ ฟุ้งซ่านอีก รู้ว่าฟุ้งซ่าน บันทึกเอาไว้เหมือนทำวิจัย ฟุ้งซ่านอีกแล้ว ทำสมถะต่อไป แล้วฟุ้งซ่านๆ หงุดหงิดๆ รำคาญใจ เห็นมันตอนรำคาญใจ รู้แล้วว่า.. เมื่อกี้รำคาญใจ อ้าว..ต่อไป ทำสมถะต่อ เหมือนทำวิจัย มีอะไรก็รู้ทัน แล้วก็จดบันทึกเอาไว้ แต่หน้าที่จดบันทึก เราไม่ต้องบันทึก จิตมันรู้อะไรก็บันทึกแล้วเรียบร้อย สัญญาทำงานของมันเอง เราไม่ต้องตั้งใจไปจดจำอะไร มันจำของมันเอง อย่างนี้แหละ มันจึงจะได้โอกาสที่จะ “รู้..ด้วยใจเป็นกลาง” คือ ตั้งใจจะรู้ ดีก็รู้ ไม่ดีก็รู้ อย่าไปอยากสงบ อยากนิ่ง อยากดี พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ : https://youtu.be/Iu_MJc3hTGc?t=5668 (นาทีที่ 01:34:28 – 01:40:18)

อ่านต่อ

วันศุกร์ที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๖ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีขาล #พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ละมานะด้วยฉันทะ ตัวนี้สำคัญนะ! ไม่ใช่อยากอย่างเดียวว่า.. “ทำไงเราจะเป็นโสดาบันอย่างท่านบ้าง?” แล้วก็อยากเฉยๆ ..ไม่ทำ! อย่างนี้เรียกว่าเทียบแล้ว ก็มีแต่”ตัณหา” แต่ถ้าเทียบแล้วให้เป็นประโยชน์ เทียบแล้วเกิด”ฉันทะ” อย่างนี้ได้ …. คำสอนของพระพุทธเจ้าเนี่ย ถ้าทำปฏิบัติตาม จะได้ผล เราก็จะเป็นอย่างนั้นบ้าง! เป็นปัจจัยให้เกิด”ฉันทะ” ฉันทะเนี่ย! ก็จะมาฝึกตน ให้มีการประพฤติปฏิบัติ ให้มีการแสดงออกทางกาย ทางวาจา อยู่ในศีล เป็นวินัย เขาเรียกว่า”สีลสิกขา” เป็นเหตุให้เราเนี่ยมาขวนขวายหา.. “วิธีพัฒนาจิตใจ” พัฒนาจิตใจคืออะไร? คือ “จิตตสิกขา” จะทำอย่างไร?.. ให้จิตมันมีกุศล ให้มีความเพียร มีศรัทธา มีเมตตา กรุณา มุทิตา อะไรประมาณนี้นะ! …. เพราะมีมานะ เอามานะมาใช้ ให้เป็นประโยชน์โดยการว่า.. เกิดเทียบเขาเทียบเรา แต่เห็นแล้วว่าท่านดี(โสดาบัน) เกิดฉันทะที่จะพัฒนาตนเอง จะเป็นอย่างท่านเนี่ยแหละ! พอสุดท้าย..จะเริ่มต้นด้วยการละมานะที่ผิดก่อน เห็นผิด เห็นไม่ตรงความเป็นจริง อันนี้แหละจะละไปก่อน แต่พอเป็นพระโสดาบันจะละได้หมด ไอ้ที่เห็นไม่ตรงจริง เหลือแต่มีมานะเทียบที่ตัวตน พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ “คลิกใจให้ธรรม” ตอน เราสำคัญตัวแบบไหน T.312 วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๖ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=19rayHTbjf8&t=2002s (นาทีที่ 31:00–33.54)

อ่านต่อ

#คลิปแสดงธรรม #เราสำคัญตัวแบบไหน? พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล มานะ คือ ความถือตัว สำคัญตน ซึ่งก็มีอยู่หลายแบบ พวกเรามีมานะแบบไหนกันบ้าง? ฟังคลิปนี้แล้วมาพัฒนาจิตกันต่อไป ลิงค์คลิปวีดีโอ https://youtube.com/watch?v=19rayHTbjf8&si=EnSIkaIECMiOmarE คลิกใจให้ธรรม_เราสำคัญตัวแบบไหน (พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล) T.312 01/01/66youtube.comรายการ คลิกใจให้ธรรม Dhamma on Hand ทางช่อง MVTV หมายเลข 75 ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 06.00-07.00 น. ติดตามความเคลื่อนไหวทางราย…..

อ่านต่อ

วันศุกร์ที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ทุกข์คือเครื่องเตือนใจ คน..มันเป็นภาวะที่เหมาะ! ยังมีคำสอนของพระพุทธเจ้า เรายังฟังได้! ยังเข้าใจ! แล้วก็.. ทุกข์มีอยู่ก็จริง แต่มันก็ไม่มาก จนขนาดที่จะทำให้เรา ทำอะไรไม่ได้เลย ไม่เหมือนสัตว์นรก.. สัตว์นรกทุกข์! แล้วก็ปฏิบัติธรรมไม่ได้ ทุกข์ของคนเนี่ย ทุกข์เหมือนกัน แต่ไม่มาก ถึงขนาดว่า จะเป็นเครื่องกั้นไม่ให้ปฏิบัติได้ กลายเป็นว่า.. มันเป็นเครื่องเตือนใจ ให้ไม่ประมาทได้ สุข.. ของความเป็นคน ก็ไม่ได้สุขมากมาย จนรู้สึกว่า.. มันยั่งยืนนิรันดร สุขของความเป็นคนเนี่ย พอดีๆ คือ สุขไม่นาน แต่ถ้าคนไม่เคยปฏิบัติธรรม ไม่เคยฟังธรรม ก็รู้สึกว่า.. ทำไมสุขแค่เนี่ย อยากสุขมากกว่านี้ ก็อยากเป็นเทวดาบนสวรรค์ รู้สึกเป็นเทวดา น่าจะสุขนาน แล้วก็น่าจะดีกว่า ความเป็นคน แต่พระพุทธเจ้า ตรัสว่า “เป็นคนน่ะดีกว่า เพราะสุขไม่นาน” แปลก!! สุขไม่นาน ทำให้เราไม่ประมาทอีกแล้ว มันเลยเห็นว่า สุขเนี่ย.. ก็อยากให้สุขนานๆ มันก็ไม่นานด้วย ทุกข์เนี่ย.. อยากให้หายไปเร็วๆ มันไม่เร็วด้วย แต่มันก็เพียงพอที่จะทำให้เราเห็นทุกข์ ของความเวียนวายตายเกิด ทุกข์ของชีวิตขึ้นมา เห็นทุกข์ของชีวิตขึ้นมาอย่างนี้ ก็เริ่มที่จะคิดที่จะพ้นไป และสามารถทำได้ในความเป็นมนุษย์นะ! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก ธรรมบรรยาย ณ บ้านจิตสบาย ตอน “เปิดกล่องของขวัญ” 651225 วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๕ ลิงค์คลิปวีดีโอ https://www.youtube.com/watch?v=N3w1PIoSKoo (นาทีที่ 26:25 – 28:11)

อ่านต่อ

#คลิปแสดงธรรม #เริ่มต้นอีกทีที่ปลายทาง พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล จะเห็นได้ว่า.. ทุกช่วงชีวิตที่คิดว่า”จบ” มันจบไม่จริงนี่! เราต้องไป “เริ่มต้น”ใหม่ตลอดเวลา ตั้งแต่เรียนหนังสือ กระทั่งถึงวันตาย ก็จะต้องไปเกิดอีก จะ”สุคติ” หรือ “ทุคติ” ก็ตาม ก็วนเวียนอย่างนี้ ถ้าเรายังสนุกสนานกับการเดินทางแบบนี้นะ! ก็จะต้องสร้างบุญเยอะๆ เพื่อที่ปลายทางตรงนี้ แล้วไปต่อ เพราะ.. บุญก็หมดอายุได้! รับชมธรรมบรรยายนี่ ที่ลิงค์คลิปวีดีโอ https://youtu.be/2OqhTvrdbPE 651218_เริ่มต้นอีกทีที่ปลายทาง ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโลyoutu.be651218_เริ่มต้นอีกทีที่ปลายทาง ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

อ่านต่อ

วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #หวังรู้ ถ้าเราตั้งเป้า “ต้องสุข ต้องสงบ ต้องนิ่ง” พอมัน “ไม่ดี ไม่สุข ไม่สงบ ไม่นิ่ง” เราก็เห็นแล้ว .. เหมือนเห็นนะ! เหมือนจะมีสติ .. แต่ไม่เป็นกลางสักที! ทำไมไม่เป็นกลาง? ผิดหวังไง! แล้วจะหวังยังไง? ก็ต้องมีหวังบ้างสิ! หวังอะไร? .. หวังรู้! “หวังรู้” คืออะไร? ทำสมถะไปนะ! นับจากนี้จะดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้.. จะรู้ ตั้งใจไว้ว่า.. จะรู้! จะดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้.. จะรู้! ไม่ว่าจะดี หรือไม่ดี เห็นอะไรที่มันผิดไปจากนี้ คือตั้งใจว่า.. จะรู้! ผิดจากนี้เป็นความผิดจากไหนได้บ้าง? มีผิดแบบ”เผลอเพลิน”ไปเลย คือไม่อยากเผลอเพลิน ก็เพ่งเอาไว้ มีสองแบบ “เผลอเพ่ง” ก็ต้องรู้ด้วย ถ้าเพ่งแล้วไม่รู้! มันไม่ไปต่อ มันจะไม่เห็นไตรลักษณ์ เพ่งเอาไว้ เหมือนนิ่งๆ แต่ไม่เห็นไตรลักษณ์ ถ้ารู้.. คือคะแนน จะได้คะแนนอยู่เสมอ แต่ถ้าตั้งใจจะเอาสุข เอาสงบ เอานิ่ง พอมันไม่สุข ไม่สงบ ไม่นิ่ง รู้สึกไม่ได้คะแนน.. ต้องแก้! แก้ได้! .. รู้สึกได้คะแนน แก้ไม่ได้!! .. รู้สึกเสียคะแนน แก้ได้! .. รู้สึกเก่ง แก้ไม่ได้!! .. รู้สึกแย่จัง นึกออกไหม? แล้วมันก็เป็นอย่างนี้ ถ้าเริ่มต้นด้วยการที่อยากดี อยากสุข อยากสงบ อย่างนิ่ง วงจรก็จะเป็นอย่างนี้! เห็นไม่ดี! ..แก้ เห็นไม่สุข! ..แก้ เห็นไม่สงบ! ..แก้ เห็นไม่นิ่ง! ..แก้ เพราฉะนั้น ไม่มีประโยคที่หลวงพ่อว่าไว้นะ “มีสติ รู้กาย รู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง” ไม่เกิด.. ประโยคนี้ไม่เกิด! ปัญญาไม่มา วิปัสสนาไม่มี เพราะฉะนั้น.. ก่อนจะมีประโยคนี้ขึ้นมา ต้องตั้งใจให้ถูก! ไม่ได้ตั้งใจที่จะเอาดี สุข สงบ นิ่ง แต่ต้องมีมัน! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการแสดงธรรม คอร์สจิตเกษม ๒ – เริ่มภาวนา (๖๕๑๒๐๓) ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=uKhYbz7XbV4&t=2465s (นาทีที่ 36.57– 39.39)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #เมตตาเขาเราทุกข์เอง #ถาม : ถ้าเมตตากับเขาแล้วเราทุกข์เอง ควรทำอย่างไรคะ? #ตอบ : ถ้าเมตตากับเขา แล้วเราทุกข์เอง แสดงว่า..เมตตาไม่ดีพอ เมตตาเนี่ยนะ มันจะตรงข้ามกับความโกรธหรือโทสะ ไอ้เราทุกข์เองเนี่ย..! แสดงว่ามีโทสะ ฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำต่อไป คือถ้าเมตตากับเขาไม่ขึ้นก็เมตตาตัวเองก่อน ใจที่ทุกข์.. แสดงให้เห็นว่า เมตตามันดับไปแล้ว ถ้ามีเมตตาอยู่จริงเมตตานั้นจะเป็นกุศล จิตจะโปร่งโล่งเบา สบาย เป็นสุข ฉะนั้นในบทอานิสงส์เมตตาท่านจะบอกว่า “หลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข” – ไม่ฝันร้าย – เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่รักของอมนุษย์ทั่วไป เทวดาก็รัก เทวดาคุ้มครอง – แล้วก็ไฟ ยาพิษ อาวุธทั้งหลาย ทำอันตรายไม่ได้ – จิตเป็นสมาธิได้รวดเร็ว – ผิวหน้าผ่องใส ผิวพรรณผ่องใส – ไม่หลงในคราวตาย ไม่ใช่ตายแบบหลงเลอะเลือน ไปเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือสัตว์ในอบาย แต่เป็นผู้ที่มีสติตาย ตายเป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ แต่การตายที่เราปรารถนากัน คือ ตายอย่างมีสติ แล้วถ้าไม่บรรลุคุณวิเศษอันยิ่ง ๆ ขึ้นไป ย่อมเข้าถึงพรหมโลก ไม่ธรรมดานะถึงเข้าเป็นพรหมโลกก็คือ เป็นพระพรหม เป็นเทวดาที่สูงกว่าเทวดากามาวจร ๖ ชั้น ในความเมตตาที่เกิดขึ้นมา ไม่ใช่ว่ามีเมตตาแล้วตัวเองเป็นทุกข์ เมตตาเนี่ยปรารถนาดี ท่านเริ่มให้เมตตาตัวเองก่อนด้วยซ้ำไป ในคำเมตตาตัวเองก็บอกว่า “อะหัง สุขิโต โหมิ” ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความสุข ถ้าเมตตาคนอื่น เมตตากับเขาแล้วเราทุกข์เอง ก็แสดงว่า.. ยังไม่ได้เมตตาตัวเอง ความเมตตานั้นบกพร่องในแง่ของไม่เมตตาตัวเอง ถ้าเกิดสภาวะอย่างนี้ขึ้นมา ให้กลับมาเมตตาตัวเองก่อน เมตตาตัวเองไม่ใช่ไปแช่งเขาด้วยนะ! เมตตาตัวเอง คือ มองแต่ตัวเองแล้วก็ปรารถนาให้เราเป็นผู้มีความสุข คล้าย ๆ เวลาเราปลอบแมว เราก็ปลอบใจตัวเองประมาณ ขอให้เรามีความสุข เหมือนลูบหัวตัวเอง ให้เรามีความสุข ให้ใจเราสงบ ให้ใจเราเย็นลง คำเมตตาคำที่ ๒ “นิททุกโข โหมิ” อย่าได้มีทุกข์ด้วย ฉะนั้นตอนที่เรามีทุกข์เองเนี่ยแสดงว่า.. เรามีความบกพร่องในการแสดงเมตตาตัวเองชัด ๆ ในคำที่ ๒ “อะหัง สุขิโต โหมิ” อันนี้คำแรก คำที่ ๒ “นิททุกโข โหมิ” นิททุกโข คือ ผู้ไม่มีทุกข์ ผู้ปราศจากทุกข์ ก็ต้องเตือนตัวเองในแง่นี้ด้วย ถ้าสองคำนี้มาแล้วเนี่ยนะ จะง่ายเลย ถ้าเรามุ่งจะเอาสุขอย่างเดียว หวังที่จะได้โลกธรรมในแง่ดีอย่างเดียว คือ หวังจะสุข แล้วสุขนั้นเป็นสุขแบบโลก ๆ หวังจะได้ลาภ ได้ยศ หวังจะได้คำสรรเสริญ หวังจะได้โลกธรรมในแง่ดี มีสุข มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ อย่างเนี่ยนะ ในคราวที่โลกแสดงอีกด้านนึงให้ดู คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เราก็จะเป็นทุกข์กับการที่โลกมันแสดงความจริงอีกด้านให้ดู สุขที่เราประสงค์ในคำเมตตาตนเองในคำแรกเนี่ย “อะหัง สุขิโต โหมิ” ไม่หวังเพียงสุขแบบโลก ๆ ต้องหวังสุขแบบพ้นโลกด้วย คือ สุขแบบเข้าใจความจริง โลกธรรมมากระทบแล้วไม่กระเทือน หรือกระเทือนแล้ว กระเทือนเล็กๆ น้อยๆ ก็พอมีสติรู้ทันได้ไว กระเทือนได้ แต่ให้รู้ให้ไว ถ้าโลกธรรมกระทบแล้วไม่กระเทือนอย่างสิ้นเชิงเมื่อไหร่ มันจะลงที่คำว่า “นิททุกโข โหมิ” ได้สมบูรณ์ “นิททุกโข โหมิ” ก็คือ มีโลกธรรมมากระทบแล้วไม่กระเทือน “นิททุกโข โหมิ” ถ้าพูดอีกแง่นึง ก็คือ พัฒนาความสุขให้เป็นลำดับขั้นไป ในแง่ของคนโลก ๆ ทั้งหลาย ก็หวังความสุขจากกาม ถ้าหวังแง่เดียวก็จะเป็นทุกข์ง่าย สุขจากกาม ก็คือ สุขจากโลกธรรมฝ่ายดีอย่างเดียว เทียบเคียงกันแล้ว สุขจากวัตถุ สุขจากบุคคล สุขจากการมีคู่ครอง สุขจากการมีทรัพย์สมบัติ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยง เสื่อมไปอยู่เรื่อย ๆ รวมทั้งร่างกายของเราที่จะเอาไว้เสพกามสุข ก็เสื่อมไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นถ้าหวังเพียงสุขจากกาม มันก็จะมีทุกข์รออยู่ เวลาเมตตาตัวเองจึงบอกว่าให้มันมี “นิททุกโข โหมิ” คือ สุขนั้นต้องพัฒนาไปจนถึงพ้นทุกข์ แต่มันจะมีระดับเป็นขั้นตอน มีสุขจากกาม มีสุขจากสมาธิ และมีสุขในพระนิพพาน สุขจากกาม ถ้าเป็นปุถุชนก็มีอยู่ แต่ก็ควรจะฝึกให้ได้มีสุขในสมาธิ สุขในสมาธิ คือ ฝึกสมถกรรมฐาน เอาจิตมาอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งด้วยใจสบาย ๆ ถ้าจิตอยู่ในอารมณ์นั้นได้นานแค่ไหนก็ได้สมถะนานแค่นั้น ที่มันฟุ้งซ่านนาน ๆ ก็ฝึกให้มันมีความสงบอยู่บ้าง ยังไม่เข้าฌานแต่มีความสงบอยู่เป็นขณะบ้าง หรือเป็นชั่วระยะหนึ่ง แล้วพัฒนาขั้นมา จะมีสมาธิ ๓ ระดับ – ขณิกสมาธิ – อุปปาจารสมาธิ – อัปปนาสมาธิ “อัปปนาสมาธิ” คือ ระดับเข้าฌาน “ขณิกสมาธิ” คือ แค่ชั่วขณะ ถ้ามากกว่าขณะแต่ไม่ถึงฌาน ก็เรียกว่า “อุปปาจาระ” ก็ฝึกไป ได้เท่าไหร่เอาเท่านั้น ได้ขณิกะก็เอาขณิกะ มากกว่าขณิกะ ได้อุปปาจาระก็เอา มันจะเข้าฌานไปเลยก็เข้าไป ฝึกอย่างนี้ด้วย “สุขในกาม” คือ หวังวัตถุ หรือหวังบุคคล ให้มาบำรุงบำเรอเรา ให้มีความสุข ซึ่งไม่เป็นอิสระ โดยเฉพาะกับคน คนมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย วัตถุก็มีการขโมยกันได้ วัตถุนั้นก็เสื่อมได้ด้วย แล้วอย่างที่บอก อวัยวะต่าง ๆ ร่างกายต่าง ๆ ของเราที่เอาไว้เสพสุข มันก็เสื่อมไป ตาก็ฝ้าฟาง ลิ้นกินอะไรก็ไม่อร่อย ร่างกายที่เคยสัมผัสอะไรได้ดี ๆ เคลื่อนไหวดี ๆ มันก็ไม่ดี ฉะนั้นมันต้องมีสุขในแง่ของการฝึกสมาธิมาทดแทน แล้วสุขในสมาธิเนี่ยดีตรงที่ว่า ไม่มีใครขโมยได้ ฝึกแล้วเราได้ แล้วไปชาติหน้าได้ด้วย เขาเรียกว่า เป็นนิสัยปัจจัยไป แต่สมาธิก็มีเสื่อม ฉะนั้นต้องให้ได้ถึงขั้นสุดท้าย คือ สุขในพระนิพพาน บรรลุมรรคผลแล้ว ตัดกิเลสไปแล้ว มันจะไม่กลับมาเกิดอีก สุขในสมาธิเหมือนไม่มีกิเลส แต่ตอนออกจากสมาธิมากิเลสก็กลับมาได้อีก ต่อให้เหาะเหินเดินอากาศได้ ถ้ายังไม่บรรลุมรรคผลอะไร มันเสื่อมได้นะ ในชาดกก็มีอยู่หลายเรื่องที่ว่าฤาษีเหาะไปเจอภาพหญิง เห็นผู้หญิงอาบน้ำ หรือเห็นผู้หญิงนุ่งห่มไม่เรียบร้อย ราคะก็กำเริบขึ้นมา ที่เหาะได้ก็ตกปุ๊…! ลงมาเลย มันไม่แน่นอน เสื่อมได้ ฉะนั้นที่จะเสื่อมไม่ได้ หรือตัดกิเลสได้แล้วตัดกิเลสเลย ต้องเป็นสุขในมรรคผล และสุดท้ายคือ เมื่อได้อรหัตผลแล้วสุขในนิพพานแบบสมบูรณ์์ เป็นพระโสดาบันก็มีสุขในนิพพาน สัมผัสมาแล้ว อย่างน้อย ๆ สองสามขณะ ตอนเป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ฉะนั้นถ้าเราจะเมตตาตนเองให้ได้ดี ต้องเมตตาถึงขนาดที่ว่าปรารถนาให้เราเป็นผู้มีความสุข แล้วสุขนั้นต้องพัฒนาจนถึงไม่มีทุกข์ด้วย ถ้ามียังมีทุกข์อยู่ ก็ให้รู้ว่าเมตตาเราตอนนั้น ดับไปแล้ว เมตตานั้นเสื่อมสภาพไปแล้ว ก็ต้องเมตตาเข้าไปใหม่ คนอื่นและเราทุกเองเนี่ยก็ต้องกลับมาเมตตาตนเองก่อน เมตตาตนเอง จนตนเองหายทุกข์นั้นแล้ว ดับจากทุกนั้นไปแล้ว จึงจะไปเมตตาคนอื่นเขาต่อ ถ้ามัวแต่มุ่งเมตตาคนอื่น บางทีมันอาจจะพลาดลืมเมตตาตัวเอง พอบอกว่าแผ่เมตตาคนทั่วไปมักจะนึกว่าจะ แผ่เมตตาให้คนนั้น คนนี้ สรรพสัตว์ทั้งหลาย อะไรประมาณนี้ “สัพเพสัตตา” ลืมตัวเอง เราก็เป็นหนึ่งในสรรพสัตว์ ซึ่งควรได้รับอนิสงค์เมตตานั้นด้วย อย่าลืมเมตตาตัวเองด้วยแล้วกัน เมตตาเขาก็อย่าลืมเมตตาเรา จริง ๆ แล้ว ควรเมตตาเราเองก่อนด้วยซ้ำไป!! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ : https://www.youtube.com/watch?v=Iu_MJc3hTGc&t=1902s (นาทีที่ 31.42 – 43:24)

อ่านต่อ

วันศุกร์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #สันโดษเป็นไปเพื่อความเจริญ คนที่เขา”สันโดษ”กันได้เนี่ย! จริงๆ (สันโดษ) เป็นไปเพื่อความเจริญ เพราะว่าสันโดษเนี่ย.. ทำให้ไม่เบียดเบียนกัน ความสามารถเท่าเดิม หาได้มากเท่าเดิม แต่ใช้น้อย ใช้เท่าที่จำเป็น ที่เหลือแบ่งปัน นี่คือ.. “สันโดษ” ได้มาก..! แต่ใช้เท่าที่ตัวเองต้องการ.. จำเป็น! คือ เท่าที่สมควร ไม่ได้ใช้ จนกลายเป็น.. หามาๆ แล้วก็ใช้ไม่ทัน แล้วก็เก็บหวงไว้ อันนี้.. “ไม่สันโดษ” สันโดษ คือ ความสามารถในการหาเท่าเดิม เท่ากับตอนที่ไม่มีความสันโดษนั่นแหละ แต่ใช้เท่าที่จำเป็น ที่เหลือแบ่งปัน ให้ทาน อย่างนี้สังคมจะร่มเย็น เป็นสุข ไม่ได้ลดความสามารถในการหานะ แต่ถ้าไม่ยอมสันโดษ จะเอาแต่ตัณหา ตัณหาคือ อยากได้ๆ พออยากได้แล้ว ไม่ยอมแบ่งปัน เพราะรู้สึกว่า..ได้มาแล้วไม่พอ! เพราะตัณหามันถมไม่เต็ม “ตัณหา” พระพุทธเจ้าตรัสว่า.. แม้จะมีฤทธิ์เสกเขาทั้งลูกให้เป็นทองคำ ก็ไม่พอสำหรับตัณหาของคนคนเดียว พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการแสดงธรรม ณ บ้านจิตสบาย – ภาวนาแบบยอมรู้ (๖๕๑๑๒๗) วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=pO3IQoekqvg&t=1435s (นาทีที่ 22:40 – 24:05)

อ่านต่อ

วันพฤหัสบดีที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #พิจารณาธรรมโดยชอบตามกาล ถ้าฟุ้งซ่าน.. เป็นเวลาของสมถะ ถ้าจิตตั้งมั่นแล้ว.. เป็นเวลาของวิปัสสนา พูดภาษาง่ายๆ อย่างนี้นะ! ถ้าภิกษุนั้นทำอย่างนี้นะ เรียกว่า “พิจารณาธรรมโดยชอบตามกาล” เรียกว่า.. มันเป็นศิลปะ ในการภาวนาเนี่ย มันเป็นศิลปะ คือต้องพิจารณา ต้องคอยประเมินตนเอง ไม่ใช่ดุ่ยๆๆ ทำแต่สมถะ หรือ..ดุ่ยๆๆ จะเจริญวิปัสสนา เรามีเหตุอะไร ที่จะไปเจริญสมถะ? มีเหตุอะไร ที่จะไปเจริญวิปัสสนา? เราทำถูกเวลาไหม? เราฟุ้งซ่านอยู่..ทำสมถะ! ทำสมถะจนจิตตั้งมั่นแล้ว พอจิตตั้งมั่นแล้ว..ทำวิปัสสนา อย่างนี้นะ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ คลิกใจให้ธรรม ตอน “ถ้าไม่รู้จุดเริ่มต้น จะไปต่อได้อยางไร” (T.307) วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=gMAVsKkvlDo&t=1575s (นาทีที่ 25:24 – 26:17)

อ่านต่อ