#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ความเป็นกลางของจิต #ถาม : ขออนุญาตสอบถามครับ ทำไมจิตใจไม่เคยเป็นกลางเลยครับ ตัดสินเสียหมดทุกอย่าง และทุกๆ อารมณ์ ที่เข้ามาเข้ากระทบไม่ว่าจะเป็นเรื่องดี หรือไม่ดี ความเป็นกลางจริง ๆ แล้วมันเป็นยังไงครับ? #ตอบ : ตอนจิตที่เป็นกลางจริงๆ คือ แค่รู้ ตอนแค่รู้เฉย ๆ จะเป็นกลางพอดี ตอนที่เห็นสภาวธรรมต่าง ๆ ถ้ารู้สภาวธรรมเหล่านั้นด้วยใจเป็นกลางก็จะกลางพอดีตรงนั้น ถ้าแค่รู้ แล้วถ้ามันไม่เป็นกลาง ก็แค่รู้ว่า.. เมื่อกี้รู้ว่าไม่เป็นกลางไปด้วยก็ยังได้ ยังอาศัยที่ว่า เมื่อกี้รู้แล้วว่าไม่เป็นกลาง คือ รู้แล้วแทรกแซง เผลอไปแทรกแซง เผลอไปหงุดหงิด เผลอไปไม่ชอบใจ ซ้ำไปอีกที ก็รู้ว่าเมื่อกี้เผลอไปอีกครั้งนึง มันสามารถรู้ตอนไหนก็ได้ ขอให้รู้เถอะ! ตอนรู้..ให้รู้ด้วยใจเป็นกลาง คือ รู้แล้วไม่แทรกแซง ถ้ารู้แล้วแทรกแซงเมื่อไหร่ ก็เมื่อกี้รู้แล้วไม่เป็นกลางก็ไม่เป็นไร ก็ฝึกไป! อย่างที่บอกแล้ว “มันจะเป็นกลางตอนรู้” ให้ฝึกรู้ จะเป็นกลางเมื่อรู้เฉย ๆ ไม่เข้าไปแทรกแซงอะไร จะเป็นกลางได้ง่ายขึ้น ถ้าเราตั้งใจเอาไว้ว่า “จะรู้” แปลกไหม? แสดงว่า.. คนส่วนใหญ่ที่รู้แล้วไม่เป็นกลาง ส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจจะรู้ ส่วนใหญ่จะตั้งใจเอาความสงบ ความนิ่ง หรือพยายามทำให้จิตมันดี “สงบ นิ่ง ดี” เป็นตัวหลอก ทำให้ไม่เป็นกลาง ทำไม..? เช่น ทำสมถะไปใจก็อยากสงบ ถ้าใจอยากสงบนำมาก่อน พอมันไม่สงบ เห็นความไม่สงบปุ๊บ! มันจะไม่ชอบใจ เพราะผิดไปจากที่เราปรารถนา เราปรารถนาสงบ แล้วเห็นความฟุ้งซ่าน เราจะไม่ชอบใจความฟุ้งซ่านเพราะมันไม่สงบ แล้วจะแทรกแซงทันที นึกออกไหม? เพราะอยากสงบ เห็นความไม่สงบเลยไม่สามารถรู้ด้วยใจเป็นกลาง อยากให้นิ่ง พอมันไม่นิ่ง เห็นความไม่นิ่งก็ทนไม่ได้ที่จะแทรกแซง เพราะอยากนิ่ง อยากให้จิตมันดี พอเผลอไป จิตนี้ไม่ดี นึกออกไหม? มันจะแทรกแซงทันที! ถ้าเราตั้งความปรารถนาก่อนปฏิบัติธรรม ด้วยการอยากให้สงบ อยากให้นิ่ง อยากให้ดี ทีนี้เอาใหม่..!! จะยังไงก็ตาม จิตจะเป็นยังไงต่อจากนี้ จะขอรู้ ต่อจากนี้ คือ ต่อจากที่เราทำสมถะ จะเป็นยังไงก็แล้วแต่ จะขอรู้ ดีก็จะรู้ ไม่ดีก็จะรู้ ตั้งใจจะเอารู้ ฉะนั้นเริ่มต้นปุ๊บ! จิตอยู่กับอารมณ์ของสมถะสักอย่าง เช่น อยู่กับ”พุทโธ” ก็มีผู้รู้ขึ้นมาได้ “พุทโธ” ถูกรู้ จิตเป็นผู้รู้ เผลอไป เห็นความเผลอ ความเผลอเป็นความจริงอย่างหนึ่ง เห็นแล้วก็รู้ ได้รู้ มันจะมีโอกาสที่จะรู้ด้วยใจเป็นกลางได้ เพราะตั้งใจแต่แรกว่า.. จะรู้! ดีก็รู้ ไม่ดีก็รู้ จิตที่เผลอไม่ดี ก็ได้รู้ แล้วก็ทำสมถะต่อ สมถะเป็นเพียงตัวเริ่มต้น ผิดจากนี้แล้วจะรู้อีก รู้อีกก็แค่รู้ เราได้รู้เสมอเลย ไม่ว่าจิตนั้นจะดีไม่ดี จะเป็นกุศลเป็นอกุศล ก็จะรู้ จะเรียนรู้เหมือนคนทำวิจัย ทำวิจัยเนี่ย ผลออกมาเป้นยังไงก็บันทึกไป ก็แค่บันทึก ไอ้นี่เหมือนกันเลย มีสมถะเอาไว้ จากนี้ต่อไปจะเป็นยังไงก็แค่รู้ เหมือนบันทึก มีอะไรเกิดขึ้นบันทึกเอาไว้ ก่อนจะบันทึก ก็รู้ว่า..มันคืออะไร เมื่อกี้ฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน เหมือนจดเอาไว้ จิตมันจดเอง มันจำเองว่าอันนี้ฟุ้งซ่าน ทำสมถะต่อ ฟุ้งซ่านอีก รู้ว่าฟุ้งซ่าน บันทึกเอาไว้เหมือนทำวิจัย ฟุ้งซ่านอีกแล้ว ทำสมถะต่อไป แล้วฟุ้งซ่านๆ หงุดหงิดๆ รำคาญใจ เห็นมันตอนรำคาญใจ รู้แล้วว่า.. เมื่อกี้รำคาญใจ อ้าว..ต่อไป ทำสมถะต่อ เหมือนทำวิจัย มีอะไรก็รู้ทัน แล้วก็จดบันทึกเอาไว้ แต่หน้าที่จดบันทึก เราไม่ต้องบันทึก จิตมันรู้อะไรก็บันทึกแล้วเรียบร้อย สัญญาทำงานของมันเอง เราไม่ต้องตั้งใจไปจดจำอะไร มันจำของมันเอง อย่างนี้แหละ มันจึงจะได้โอกาสที่จะ “รู้..ด้วยใจเป็นกลาง” คือ ตั้งใจจะรู้ ดีก็รู้ ไม่ดีก็รู้ อย่าไปอยากสงบ อยากนิ่ง อยากดี พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ : https://youtu.be/Iu_MJc3hTGc?t=5668 (นาทีที่ 01:34:28 – 01:40:18)

อ่านต่อ