All posts by admin

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ปัญญาในพุทธศาสนา #ถาม : พระพุทธศาสนาสอนเรื่องปัญญาไว้อย่างไร? #ตอบ : เรื่องใหญ่มากนะ เรื่อง”ปัญญา” พุทธศาสนาแตกต่างจากศาสนาอื่นด้วยเรื่องนี้เอง เรื่องปัญญานี้เอง ศาสนาอื่นก็สอนให้คนทำดี มีศีล โดยรายละเอียดอาจจะไม่เหมือนกันเป๊ะ แต่ก็สอนให้คนเป็นคนดี แล้วก็เรื่องการทำสมาธิเขาก็มี มีมาแล้วตั้งแต่ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมา ตัวแตกต่างคือปัญญานี่เอง! ปัญญาเห็นความจริง เห็นความจริงแล้วจึงรู้ว่า ศาสนาเก่าๆ หรือแม้แต่ศาสนาใหม่ๆ ที่ไม่เห็นความจริง ก็จะสอนกันไปฝึกกันไปอีกแบบหนึ่ง เชื่อกันไปอีกแบบหนึ่ง ยึดถือกันไปอีกแบบหนึ่ง ปัญญาในพุทธศาสนา..หมายถึงปัญญารู้แจ้ง บุคคลแรก..ที่พูดเป็นบุคคลนะ ก็คือ พระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาแจ่มแจ้ง ตอนที่พระองค์ตรัสรู้ มีความแจ่มแจ้งเห็นความจริงเป็นลำดับ ในวันที่พระองค์ตรัสรู้ ในตอนหัวค่ำ..ปฐมยาม มีปัญญา แต่ยังไม่ใช่ปัญญาตรัสรู้ แต่ก็เป็นญาณหยั่งรู้ รู้อดีตชาติของพระองค์เอง แต่พระองค์ก็เห็นว่าความรู้อย่างนี้ก็ยังไม่ใช่ความรู้ที่จะทำให้พ้นทุกข์ เห็นอดีตชาติระลึกไประลึกได้ถึงไหนก็ระลึกได้ ก็คงจะใช้เวลาสักพักหนึ่งล่ะนะ ระลึกแบบไม่มีที่สิ้นสุด รู้อยู่ว่าเคยเกิดเป็นอะไรๆ เวลาระลึกชาติคงไม่ได้ระลึกแบบทั้งชาติ แต่รู้ว่าเป็นอะไรๆ เหมือนเราระลึกตอนที่เป็นเด็กๆ ภาพก็ไม่ใช่ว่าทั้งวัน ตื่นเช้ามาทำอะไรจนนอน ไม่ใช่อย่างนั้น ก็เป็นเด็ก ตอนเรียนหนังสือเป็นยังไง? ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเป็นยังไง? ตอนทำงานเป็นยังไง? ประมาณอย่างนี้ เป็นอดีต เป็นภาพๆ ของท่านก็เห็นเป็นภาพๆ รู้ว่าเคยเกิดเป็นอะไร หลายครั้งแล้ว นับไม่ถ้วนเลย และทุกครั้งที่เกิดตายแล้วทั้งนั้น ไม่งั้นไม่มาเป็นพระองค์ตอนนี้ แล้วก็เห็นว่าความรู้นี้ยังไม่พอ ก็ทำสมาธิอีก ได้ความรู้ครั้งที่สองตอนมัชฌิมยาม ก่อนจะเกิดความรู้นี้ พระองค์เห็นความเกิดดับของพระองค์เอง เวียนว่ายตายเกิดในอดีตที่ผ่านมา น่าจะตั้งคำถามขึ้นมาว่า ‘แล้วสัตว์อื่นล่ะเป็นยังไง?’ แล้วก็ทำสมาธิ ก็ได้ญาณที่สอง เห็นความเกิดดับของบรรดาสัตว์ทั้งหลาย ตายจากนี่ไปเกิดเป็นนั่น แล้วรู้ด้วยว่าไอ้ที่เกิดมาเนี่ยมันมาจากอะไร ปัจจุบันที่ยังไม่ตายมาจากอะไร ท่านเปรียบเหมือนคนที่อยู่บนที่สูง และเห็นคนเดินออกจากบ้านนี้เข้าบ้านโน้น เดี๋ยวนี้ก็ต้องใช้คำใหม่ เปรียบเหมือนอยู่บนโดรน ลอยดู เฝ้าสังเกตเห็นคนเดินไปเดินมา ออกจากบ้านนี้ไปบ้านนู้น ออกจากบ้านนู้นมาบ้านนี้ คำว่าบ้านนู้นบ้านนี้ คือ จากเป็นคนเป็นเทวดา จากเทวดาไปเป็นสุนัข จากสุนัขไปเป็นแมว อะไรประมาณนี้นะ คือ เปลี่ยนบ้าน เปลี่ยนภพ เปลี่ยนชาติ เห็นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าประสงค์จะรู้ความเป็นไปของใครก็รู้ได้ ตอนที่ได้ความรู้อันแรกที่เป็นญาณแรกเนี่ย ความรู้ของท่านไม่ใช่เพียงแค่ว่าเห็นความเกิด-ดับอย่างเดียว ไม่ใช่เห็นว่าเคยเป็นอะไรอย่างเดียว แต่มันมีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า “ทุกชาติที่เกิด เกิดแล้วตายทุกชาติ” เพราะฉะนั้นทุกชาติ “เป็นทุกข์” ทุกชาติ เกิดทีไรเป็นทุกข์ทุกชาติ แล้วสัตว์อื่นเป็นยังไง? สัตว์อื่นก็เช่นเดียวกัน ได้ความรู้ในญาณที่สอง คือ สัตว์อื่นก็เกิดตายกันอย่างนี้เอง เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ไม่มีใครพ้น เข้าสมาธิใหม่จะพ้นอย่างไร? ปรากฏว่าได้ความรู้ขึ้นมาเป็น”อาสวักขยญาณ” ละกิเลสได้ ละอาสวะได้ เป็นกิเลสชั้นละเอียด อันนี้เป็นปัญญาในพุทธศาสนา “ปัญญาในพุทธศาสนา” ก็คือ เป็นปัญญาที่เป็นเครื่องทำลายกิเลส ไม่ใช่รู้เรื่องราวแบบโลกๆ ทั่วไป ไม่ใช่รู้แบบเอาไว้ทำมาหากินทั่วไป ไม่ใช่ปัญญาทั่วๆ ไป หรือปัญญาเอาไว้ทำมาหากิน รู้เอาไว้เป็นอาจารย์สอนเพื่อสร้างอาชีพ อะไรพวกนี้นะ หรือเขียนตำราเป็นศาสตราจารย์อะไรอย่างนี้ “ปัญญาในพระพุทธศาสนา” เน้นไปที่ทำลายกิเลส เปรียบเหมือนจุดไฟทำให้เกิดแสงสว่าง โลกนี้มืดไปด้วยอวิชชา มีปัญญาทำให้แจ่มแจ้ง มองเห็นความจริง..เข้าใจ !! ปัญญาอย่างนี้ไม่ได้มาโดยง่าย ต้องสร้างเหตุ คือ สั่งสมบารมี ถ้ายังไม่เคยฝึกเลย..ก็ต้องมาฝึกรักษาศีล แล้วก็ฝึกสมาธิที่ถูกต้อง ถ้าจะฝึกให้ได้ปัญญาในระดับพระพุทธเจ้า “ตรัสรู้เอง” ก็ต้องสร้างบารมี ๑๐ อย่าง ถ้าไม่มีกำลังใจมากพอขนาดนั้น เอาแค่เป็นพระสาวก ก็ฝึก ๓ เรื่อง คือ ๑. ฝึกศีล (ศีลสิกขา) ๒. ฝึกจิต (จิตตสิกขา) ๓. ฝึกปัญญา (ปัญญาสิกขา) ตัวที่เป็นสาเหตุจริงๆ ที่จะให้เกิดปัญญา คือ “สมาธิ” นี่คืออยู่ในจิตตสิกขา แต่สมาธิที่ดีต้องมาจากมีความประพฤติดีด้วย เพราะฉะนั้นต้องมีศีลด้วย ศีลดี.. ทำให้มีสมาธิดี สมาธิที่ถูกต้อง.. ทำให้เกิดปัญญา มีปัญญาแล้ว ปัญญาที่แท้จริง คือ รู้แจ้งแล้วทำลายกิเลสได้ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ทุกวันนี้เพราะยังมีกิเลสตัวสำคัญคือ “อวิชชา” คือ ความไม่รู้ พอพูดถึงเรื่องนี้ทำให้นึกถึงเรื่องเล่าที่ครูบาอาจารย์เล่าถึงโยมคนหนึ่ง ไปร้องไห้กับหลวงปู่เทสก์ เขามีทุกข์ในชีวิต แล้วมาคร่ำครวญกับหลวงปู่ คงจะเห็นทุกข์ในชีวิต แต่เป็นการเห็นทุกข์แบบจมทุกข์ ไม่ใช่เห็นทุกข์แบบมีจิตผู้รู้ เป็นการจมอยู่กับทุกข์ แล้วก็มาคร่ำครวญกับหลวงปู่เทสก์ว่า “หลวงปู่.. ทำไม? หนูต้องเกิดมา?!” ประมาณว่าเกิดมาแล้วทำไมมันทุกข์อย่างนี้ ทำไมต้องเกิดมา? หลวงปู่ก็ตอบไปว่า “เพราะไม่รู้” โยมได้ยินแค่ว่า’ไม่รู้’ จึงถามกลับไปทันทีว่า “หลวงปู่ไม่รู้แล้วใครจะรู้?!!” ประมาณโกรธหลวงปู่อีกนะ หลวงปู่ตอบว่า “เพราะไม่รู้” ถูกต้องเป๊ะเลย คือ ยังมีอวิชชาอยู่ ยังไม่มีปัญญาในพุทธศาสนา ถ้ามีปัญญาแบบในพุทธศาสนา ละอวิชชาได้ ก็จะไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ทีนี้ปัญญาในพระพุทธศาสนามีเป็นลำดับๆ ปัญญาลำดับแรกคือ รู้ถูกต้องตรงตามที่เป็นจริง ตรงตามความเป็นจริง นั่นคือ “สัมมาทิฏฐิ” “สัมมาทิฏฐิ” มีตั้งแต่ระดับโลกๆ เรียกว่าระดับโลกิยะ คือ เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธ์ุ ทำกรรมอะไรไว้ก็ได้รับผลของกรรมนั้น ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เชื่ออย่างนี้! เห็นอย่างนี้!! เรียกว่ามีปัญญาใน”ระดับโลกิยะ” นี่ก็สำคัญมากนะ บางคนไม่เชื่อนะ ไม่เชื่อว่าทำดีได้ดี เลยไม่ทำดี ! ไม่เชื่อว่าทำชั่วได้ชั่ว เลยทำชั่ว !มันโง่นะ พูดให้ดีหน่อย คือ ไม่มีปัญญา นอกจากนี้แล้ว สัมมาทิฏฐิในระดับโลกๆ ก็คือ เชื่อเรื่องบุญ เรื่องบาป เชื่อเรื่องความเป็นผู้มีคุณ คือ พ่อแม่มีคุณ ครูบาอาจารย์มีคุณ คนที่ทำบุญกับเรา มีบุญคุณกับเราก่อน ผู้เป็นบุพการีมีจริง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชาที่ดี ผู้ทรงธรรม แล้วบุคคลอื่นๆ มากมาย ผู้มีพระคุณมีจริง ถ้าว่าตามศัพท์บุพการีมีจริง แล้วเราก็ต้องมีหน้าที่ : – ต้องกตัญญู คือ รู้คุณ – และกตเวที คือ ตอบแทน ก็มีวิธีตอบแทนมากมายให้ตรงกับฐานะของผู้มีพระคุณของแต่ละคน โดยเฉพาะกับพ่อแม่ เชื่อเรื่องการเวียนว่าตายเกิด อันนี้ก็สอดคล้องกับเรื่องกฎแห่งกรรม ชาติหน้ามี ชาติที่แล้วมี ไม่ใช่ว่าตายแล้วสูญ มีการเวียนว่ายตายเกิด นี่เป็นปัญญาใน”ระดับโลกิยะ” คนที่ไม่เชื่อในการเวียนว่ายตายเกิดก็เสพสุขเต็มที่ เพราะเชื่อว่าชาตินี้เป็นชาติเดียว ทำเลวไปเลย เพราะว่าชาติหน้าไม่มี เพราะไม่กลัวนรก อันนี้ก็เสี่ยงมากเลย ถ้าเห็นผิด อย่างนี้เสี่ยงมาก ปัญญาในระดับนี้ยังมีคนไม่เชื่อ ก็น่าเห็นใจ พอไม่เชื่อ แม้ปัญญาในระดับโลกิยะก็ยังไม่ได้ เสี่ยงมากที่จะไปทำผิดในเรื่องต่างๆ คนที่เห็นว่ามีชาตินี้ชาติเดียว มักจะจ้องจะเสพสุขอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษ ไม่คำนึงถึงศีลธรรม อันนี้เป็นความเห็นระดับโลกๆ ระดับสูงขึ้นไปเรียกว่า ระดับ “โลกุตตระ” คือ เหนือโลก ก็มีปัญญาระดับเหนือโลก ขั้นแรกก็คือ “เห็นว่ากายนี้ ใจนี้ ไม่ใช่เรา” นี่เป็นปัญญาระดับพระโสดาบัน ตอนบรรลุมรรคผลเกิดปัญญาขึ้นมา “เห็นว่ากายนี้ ใจนี้ ไม่ใช่เรา” ละความเห็นผิดที่ว่า “สักกายทิฏฐิ” ลงได้ นี่เป็นหน้าที่ของปัญญาที่จะละกิเลสออกไป เป็นตัวตัดกิเลส เป็นตัวละกิเลส กิเลสที่จะพลอยละไปด้วยอีก ๒ ตัว ก็คือ “สีลัพพตปรามาส” กับ “วิจิกิจฉา” ก็กลายเป็นละสังโยชน์ได้สามตัว มีละ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส ปัญญาระดับต้น เรียกว่า “ปัญญาเล็กน้อย” พระโสดาบัน ท่านเทียบว่าปัญญาเล็กน้อย ถ้าเป็นปัญญาระดับปานกลาง จะเห็นว่ากามทั้งหลายมีแต่โทษ หรือเห็นว่าตัณหาเกิดขึ้นทีไรเนี่ยเป็นทุกข์ทุกที จะมีวิธีทำให้เกิดปัญญา ๒ แนว อย่างนี้ แนวแรกเห็นว่า…ร่างกายนี้เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ แล้วก็ไปเห็นโทษของกาม แบบนี้มักจะเป็นแนวที่ฝึกสมาธิมาอย่างมาก เป็นฝ่ายสมถยานิก ก็จะเห็นโทษของกาม แล้วบรรลุปัญญาในระดับที่สอง เป็นพระอนาคามี นี่เป็นปัญญาปานกลาง แนวที่ ๒ ในฝ่ายวิปัสสนายานิก มักจะเห็นว่า”ตัณหาเกิดขึ้นทีไรเป็นทุกข์ทุกที ” ปุถุชนกับพระโสดาบันยังรู้สึกว่ามีตัณหายังไม่รู้สึกเป็นทุกข์เท่าไหร่ ถ้ามีตัณหาแล้วไม่ได้รับการสนองจึงจะเป็นทุกข์ ถ้ามีตัณหาแล้วได้รับการสนองรู้สึกเป็นสุข หรือมีตัณหาขึ้นมาแล้วไม่รู้สึกว่าตัวตัณหาทำให้เกิดทุกข์ ก็มีตัณหาแล้วแสวงไป ได้รับการสนองก็เป็นสุข ชื่นใจ แต่ตอนที่กำลังแสวงหาอะไรไปสนองตัณหา ยังไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ ต่อเมื่อรู้สึกว่า..ปลงใจว่าไม่ได้ จึงเป็นทุกข์ เรียกว่า หวังแล้วไม่สมหวังจึงจะเป็นทุกข์ แต่จริงๆ ตัวตัณหาเนี่ยแหละ เกิดขึ้นปุ๊บ!..เป็นทุกข์ทันที!! อันนี้เป็นปัญญาระดับปานกลาง เป็นปัญญาของพระอนาคามี ดูซิ.. ปัญญาในพุทธศาสนาไม่ใช่ธรรมดาเลยนะ !! ส่วนปัญญาในระดับพระอรหันต์ ก็คือ ปัญญาระดับสูงสุด เห็นว่าจิตนี้เองเป็นทุกข์ ทีแรกเห็นว่าตัณหาเกิดขึ้นมาแล้วเป็นทุกข์ แต่ตอนนี้เห็นว่า ตัณหายังไม่เกิดเลย ตัวจิตนี่แหละเป็นทุกข์ !! “จิตผู้รู้” นี่แหละ! ที่เราฝึกจนมีจิตผู้รู้มาแล้ว สุดท้ายผู้รู้เองก็เป็นทุกข์ !! เปรียบเสมือนว่า อุตส่าห์สร้างเรือประกอบเรือข้ามจากฝั่งโน้นมาฝั่งนี้ ข้ามมาถึงแล้วไม่แบกเรือต่อไป ขึ้นฝั่งไปเลย จิตผู้รู้เหมือนเรือ ต้องมี ต้องฝึกให้มีขึ้นมา เป็นปุถุชนจะมาเป็นพระโสดาบัน ก็ต้องมีจิตผู้รู้ จาก”โสดาบัน”มาเป็น”สกิทาคามี” ก็ต้องมีจิตผู้รู้ จาก”สกิทาคามี” มาเป็น”อนาคามี” ก็ต้องมีจิตผู้รู้ แต่ถ้ายังคงประคองรักษาจิตผู้รู้อยู่ ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์ อันนี้เป็นหน้าที่เป็นงานของพระอนาคามี ปัญญาในระดับพระอนาคามีที่จะไปถึงพระอรหันต์ท่านต้องวางตัวนี้ อาการวาง.. ไม่ใช่วางตั้งแต่ยังไม่มีจิตผู้รู้ ถ้าไม่มีจิตผู้รู้ ก็เป็นผู้เอ๋อ!! ไม่ใช่เป็นปุถุชนที่ดีด้วยซ้ำไป ปุถุชนต้องสร้างจิตผู้รู้ขึ้นมาเพื่อให้เห็นความจริงว่า “กายนี้ไม่ใช่เรา และใจนี้ไม่ใช่เรา” เป็นโสดาบัน ปัญญาสุดท้ายเลยคือละกิเลสทั้งปวง เห็นว่าขันธ์ ๕ ทั้งหมดเป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่ว่ามีผู้รู้เป็นสุขอยู่ ไม่ใช่อย่างนั้น เห็นว่าขันธ์ทั้งหมดนี้เป็นทุกข์ แล้วจึงปล่อยวางได้ ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีก คือ ไม่เป็นทุกข์อีก ไม่มาเป็นทุกข์อีกต่อไป ชาตินี้เกิดมาแล้วก็มีทุกข์เฉพาะชาตินี้ ทุกข์ทางกาย แต่ใจไม่ทุกข์อีกเลย ความรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริงก็พัฒนาเป็นลำดับๆ อย่างนี้ นี่คือ “ปัญญาในพุทธศาสนา” ที่ต่อเนื่องจากปัญญาในพุทธศาสนาที่เห็นถูกอย่างนี้ ถ้าว่าในองค์มรรคแล้วมันต้องพูดถึงว่า”คิดถูก”ด้วย “เห็นถูก..แล้วต้องคิดถูกด้วย!” ตัวยืนยันว่ามีปัญญาจริงหรือเปล่า? ต้องคิดถูกด้วย ความเห็นถูกเป็นเหมือนเป็นเบื้องหลังอยู่ ตัวที่จะแสดงออกให้เห็นว่าเรามีปัญญาจริงไหม? อยู่ที่คิด! คิดผิดเป็นยังไง? คิดผิดนี่คิดมุ่งแต่กาม คิดพยาบาทเขา หรือคิดเบียดเบียนเขา คิดผิด ๓ อย่าง คิดถูกนี่คือ คิดแบบไม่มุ่งกาม เป็น”เนกขัมมวิตก” ไม่คิดที่จะทำร้ายใคร เป็น”อพยาปาทวิตก” ไม่คิดแม้จะเบียดเบียนใคร ต้องมีปัญญาอย่างมากเลยนะ ไม่เบียดเบียนใคร คำว่า”เบียดเบียน” บางคนเข้าใจว่าจะต้องมีความโกรธอย่างเดียว แท้จริงแล้ว..ไม่ต้องโกรธก็เบียดเบียนกันได้ !! เช่น คนตกปลา ไม่ได้โกรธปลาแต่คิดจะตกปลา ก็คือคิดเบียดเบียนปลา ปลาก็อยู่ในน้ำดีๆ หาเหยื่อเกี่ยวเบ็ดให้ปลาเจ็บตัวเล่น เจ็บปาก ดีไม่ดีไปฆ่ามันด้วย คิดตกปลาก็เป็นคิดเบียดเบียน แม้ว่าไม่ได้โกรธปลา จะละคิดเบียดเบียนจึงต้องมีปัญญาอย่างมาก คือ ไม่มีความคิดที่จะเบียดเบียนใครเลย คิดเบียดเบียนแบบโง่ๆ คือ อาจจะไม่ได้โกรธ ความโกรธไม่ได้เป็นเหตุเดียวที่ทำให้เกิดการเบียดเบียน ต้องมีปัญญา พุทธศาสนาสอนให้เจริญปัญญามาถึงขั้นนี้เลย จึงไม่ใช่ธรรมดา เวลาผู้ที่พัฒนาตนเองจนได้ปัญญาในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงกลายเป็นผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญที่ดี มีค่าอย่างยิ่งต่อโลกนี้ เพราะว่าเป็นเนื้อนาบุญที่ดีและเป็นผู้สั่งสอนได้มีปัญญาตาม ได้รู้ตามเห็นตาม บอกแนวทางวิธีที่จะฝึกหัดตนเองให้มีปัญญาตาม โดยนำปัญญาของพระพุทธเจ้ามาบอกต่อ แล้วเอาจากประสบการณ์ตัวเองมาเป็นตัวเสริม ดังนั้น”ปัญญาในพุทธศาสนา” ก็คือ เน้นไปเลยที่มีความรู้ที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นลำดับๆ ไป อย่างที่ได้แจกแจงมา พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ : ลิงค์รายการ : https://youtu.be/FHa8DX4_45I?t=2120 (นาทีที่ 35:20 – 57:29)

อ่านต่อ

วันพฤหัสบดีที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #เห็นแล้วเห็นอีก ขั้นตอนในการเห็นไตรลักษณ์เนี่ย มันต้องเห็นแล้ว.. เห็นอีก! เห็นแล้ว.. เห็นอีก!! เมื่อก่อนนี่นะ เข้าใจว่า.. ถ้าเห็นไตรลักษณ์สักครั้งหนึ่งแล้วนะ น่าจะบรรลุมรรคผลได้ แต่พอมาภาวนาจริงๆ มันไม่ใช่! มันต้องเห็นแล้ว.. เห็นอีก! เห็นแล้ว.. เห็นอีก!! เห็นจน.. ไม่ยินดี-ยินร้ายกับสิ่งที่ปรากฏ แรกๆ นี่นะ เวลาเห็นไตรลักษณ์ขึ้นมาที.. มันตื่นเต้น! เห็นไตรลักษณ์นะ! โอ้! อย่างนี้ก็มีหรือ? โอ้! มันเกิด-ดับ ประมาณนี้ ‘เฮ้ย! เห็นร่างกาย.. เฮ้ย! มันไม่ใช่เรานี่’ อะไรแบบนี้ เห็นไตรลักษณ์ของร่างกาย.. ไม่ใช่เรา! มันตื่นเต้น! บางทีทำใจไม่ได้นะ บางคนใจสั่นเลยนะ คล้ายๆ กับว่า.. ความเป็นเราเนี่ย ถูกสั่นสะเทือน ถูกสั่นคลอน มันก็จะสะเทือนใจ สะเทือนใจในแง่ว่า.. ‘ความเป็นเราจะต้องสูญสลายไปแล้วเหรอ? เรามีตั้งแต่เกิดมา ตอนนี้มันจะไม่มีเราแล้วเหรอ?’ อะไรประมาณนี้ มันจะสะเทือนใจ เพราะความจริงปรากฏ.. ถูกแฉ! ถูกแฉว่า.. ที่เคยเข้าใจว่า”มีเรา” มันไม่ใช่! ไม่ใช่!! คุณเข้าใจผิด!!! อะไรประมาณนี้ มันสะเทือนใจ! มันต้องเห็นแล้ว.. เห็นอีก! เห็นแล้ว.. เห็นอีก! จนใจเป็น”อุเบกขา” เป็นอุเบกขากับ “การเห็น” เห็นแล้ว.. ซ้ำแล้ว.. ซ้ำอีก! ซ้ำแล้ว.. ซ้ำอีก!! ตอนที่บรรลุมรรคผลจริงๆ เนี่ย มันจะเห็นซ้ำๆ กัน ต่อเนื่องกัน คนส่วนใหญ่.. ถ้าตอนนี้เห็นไตรลักษณ์ได้ จะเห็นแค่.. แว๊บหนึ่ง! ทีละแว๊บ! ทีละแว๊บ! ดังนั้นงานของเราคือ.. ทำให้เห็นถี่ๆ บ่อยๆ ก็คือ..ทำบ่อยๆ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการบรรยายธรรม บ้านสติ วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=LqlqWOyXbXs&t=1833s (นาทีที่ 31:13 – 33:12)

อ่านต่อ

วันพุธที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบสอง(๑๒) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #สอนอย่างที่พูด ทำอย่างที่สอน ผู้ที่จะสอนเราได้ ควรจะเป็น.. ผู้ที่ปฏิบัติเองได้ด้วย! คนนั้น! ผู้นั้น! อาจารย์ท่านนั้น! ควรจะปฏิบัติเองได้ ปฏิบัติอยู่ แล้วก็”ปฏิปทา”ก็ยังเป็นตัวอย่างให้เราด้วย การที่ท่านปฏิบัติเองได้ แสดงว่า.. ท่านก็ต้องมีธรรมะที่ท่านถือปฏิบัติอยู่ แล้วธรรมะที่ท่านถือปฏิบัติอยู่ ในแง่ที่ว่าจะให้”พ้นทุกข์” ก็ไม่ได้มาจากใคร ก็มาจากพระพุทธเจ้านี่แหละ! เพราะไม่มีใครสอนให้พ้นทุกข์ได้ ก็มีเพียงพระพุทธเจ้ามาสอน แล้วก็พระสาวกทั้งหลายมาบอกต่อ นอกนั้นไม่ใช่คำสอนที่พ้นทุกข์ จึงไม่ใช่เรียกว่า “พุทธศาสนา” ….. ท่านที่สอนอย่างที่ทำ และทำอย่างที่สอน มีบ้างไหม? นี่คือประเด็นว่า.. เราควรหาอาจารย์แบบไหน? คือ”ท่านสอนอย่างที่ทำ ทำอย่างที่สอน” คือ “สิ่งที่ทำ กับสิ่งที่สอน ไม่ขัดแย้งกัน” มีบ้างไหม!? พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน “ทำได้อย่างที่พูด พูดได้อย่างที่ทำ” (T305) ออกอากาศวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=6EXLIw_ZyxM (ระหว่างนาทีที่ 5.5 – 8.40)

อ่านต่อ

วันพุธที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนสิบสอง(๑๒) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #สุขอะไรที่ไม่มีทุกข์เจือปน เวลาเราต้องการสุขเนี่ยนะ! เหมือนเราก็จะแสวงหาสุข แต่ลืมดูว่า.. สุขที่แท้!.. มันต้องไม่มีทุกข์เจือปน สุขอะไร.. ที่ไม่มีทุกข์เจือปน? คือ “สุขใน.. พระนิพพาน” ก็ต้องแสวงหาสุขแบบนั้น คือ เมตตาตัวเอง ก็จะมีเป้าหมาย เป้าหมายก็คือว่า.. ต้องไปถึง “สุขในระดับที่ไม่มีมลทิน” “ไม่มีความทุกข์เจือปน” มีอยู่อย่างเดียว คือ “พระนิพพาน” เพราะฉะนั้น.. ถ้าเราปรารถนาดีกับตนเอง ปรารถนาให้ตนเองมีความสุข ไม่ใช่! แสวงหาแต่”กามสุข” เพราะว่า.. “กามสุข” จะมีทุกข์เจือปนอยู่เสมอ ไม่ใช่หาสุขแบบ”สุขเวทนา” แบบเห็น-ฟัง-ดม อะไรเนี่ยนะ! ซึ่งเวทนามันเปลี่ยนไปเรื่อย มันจะให้มีสุขตลอดเวลา ลองดูเถอะ! ชีวิตนี้.. มันจะเป็นไปได้ไหม? ทุกครั้งที่ปรารถนาสุข และสุขเปลี่ยนไป เราจะทุกข์ทันที! หรือ.. ยังไม่ทันเปลี่ยน แต่ระแวงว่ามันจะเปลี่ยน ก็ทุกข์แล้ว ….. ดังนั้น สุขก็จริงเนี่ยนะ ถ้าสุขนั้น.. มันเปลี่ยนแปลงได้! มันคือ.. ทุกข์!! เพราะฉะนั้น เวลาปรารถนาดีกับตนเอง ปรารถนาให้มีสุข และปรารถนาว่า.. สุขแท้ๆ คืออย่ามีทุกข์ด้วย! นั่นคือ เป้าหมายของเรา “ให้ถึงพระนิพพาน” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ “คลิกใจให้ธรรม” ออกอากาศ วันที่๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/_SfWMFCbNQ8 (นาที 19:25 – 21:00 )

อ่านต่อ

วันอังคารที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบสอง ปีขาล (วันลอยกระทง) #พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ผ่านไปได้ด้วยใจเป็นกลาง ท่ามกลางความเหนื่อยยาก ก็ไปได้.. ! ที่ไปได้..เพราะจิตใจเข้มแข็ง มีต้นทุน มีความเพียร ความมีวิริยะ ความไม่ท้อถอย เหนื่อยยากแค่ไหน!.. วิกฤติยังไง!!.. ก็ยังภาวนา.. ผ่านไปได้ สบาย.. ก็อย่าเหลิง เหนื่อยหนัก.. ก็อย่าท้อแท้ “ความเป็นกลาง” คือยังไงก็ภาวนา สบาย.. ก็ภาวนา เหนื่อย.. ก็ภาวนา ชอบ.. ก็ภาวนา ไม่ชอบ.. ก็ภาวนา ภาวนา.. ให้มันจนเป็นนิสัย จนเป็น.. สิ่งที่ขาดไม่ได้กับชีวิตของเรา มันมีชีวิตแบบหนึ่งนะ! มีทุกข์.. จึงจะภาวนา พอมีสุขแล้วสบาย..เหลิง! ประมาณว่า.. เทวดาช่วยฉันแล้ว! ครูบาอาจารย์ช่วยฉันแล้ว สบายแล้ว.. หยุด! เสพสุข.. ตอนสุขก็หยุด! เสพสุขไปเรื่อย..อย่างนี้นะ! ถ้ามีทุกข์บ่อยๆ จะดี ถ้าหมดทุกข์ไปแล้วจะประมาท ถ้าเสวยบุญ ตายแล้วไปเป็นเทวดา ก็เป็นเทวดาที่ประมาท ไม่ทำบุญอะไรต่อบนสวรรค์ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก ธรรมบรรยาย ณ บ้านจิตสบาย วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๕ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/okRcX9TTEJs (ระหว่าง นาทีที่ 07:51-09:07)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #หลับในสมาธิ #ถาม : ขณะนั่งเจริญสมาธิ เราอาจหลับโดยที่ยังมีสติ อยู่ได้ไหมค่ะ? #ตอบ : ถ้านั่งสมาธิเนี่ยนะ ไม่น่าจะเป็นแบบหลับที่ยังมีสติ แต่ถ้านอนหลับไปแล้ว ก็อาจจะมีความรู้สึกตัวว่า.. กายเนี่ยมันหลับอยู่ ใจเลยตื่นได้ แต่ถ้านั่งแล้วหลับ นั่งหลับโดยปกติมันไม่ใช่ท่าที่เราจะหลับ ถ้าจะมีก็คงยาก ส่วนใหญ่ถ้าจะหลับน่าจะเป็นหลับแบบขาดสติ หลับจริง ๆ หลับแบบทั่ว ๆ ไปเลย หลับทั้งกายและใจ หลับแบบจิตขาดสติไป ถ้านั่งในรูปแบบนะ ถ้าหลับคือหลับจริง พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ : https://youtu.be/VO91ktpRJmg?t=3485 (นาทีที่ 58:05 – 59:30)

อ่านต่อ

วันอังคารที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนสิบสอง(๑๒) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ระลึกถึงความตายเป็นยา ความตายนั้นเป็นยา ที่ให้ผลชะงัดกับคนขี้เกียจ คนท้อแท้ คนขี้เกียจ คนจิตตก ให้ระลึกถึงความตาย แต่ให้ระลึกถึงความตายแบบเตือนตัวเองให้ไม่ประมาท! ไม่ใช่นึกถึงความตายแล้วกลัว อันนี้.. คือนึกไม่เป็น! คนนึกถึงความตายแล้วลนลาน คือ นึกถึงความตายแบบไม่ใช่ชาวพุทธ ไม่ใช่นักทำกรรมฐาน นึกถึงความตายแบบกรรมฐาน คือ ให้ระลึกแล้วเตือนตัวเองให้ไม่ประมาท ชีวิตนี้น้อยนัก! ชีวิตนี้มีเวลาน้อยเหลือเกิน!! …. ให้ระลึกถึงความตายบ่อยๆ อายุมีน้อย ใช้สอยให้เป็นประโยชน์ ให้มา”รักษาศีล” ถ้าอยู่เป็นญาติโยม ก็ให้”ทาน”ด้วย ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ภาวนาก็ให้ครบทั้ง ๒ อย่าง คือ “สมถะ” และ “วิปัสสนา” อย่าปล่อยชีวิตให้ล่วงเลยไป! แล้วพอเวลาใกล้ตาย อย่ามาเสียดายกับตัวเองว่า.. “โอ้! เราประมาทไปแล้ว” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ “ธรรมะสว่างใจ” ออกอากาศ วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/VO91ktpRJmg (นาที 01:22:07 – 1:31:41)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #อะนีโฆ #นิททุกโข #ไม่ทุกข์กายทุกข์ใจ #ถาม : “อะหัง อะนีโฆ โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ” อยากทราบว่าความหมายคืออะไร? และต่างจาก “อะหัง นิททุกโข โหมิ” อย่างไร? #ตอบ : ก็แปลถูกแล้วนะ! “อะนีโฆ” แปลว่า เป็นผู้ไม่ทุกข์กายไม่ทุกข์ใจ มันเป็นคำศัพท์ที่แปลแบบนี้ “นิททุกโข” นี่คือ เป็นผู้ไม่มีทุกข์ มี ๒ คำ ก็เป็นการเอาคำมา”ย้ำ”นั่นเอง! เหมือนเวลาเราอยากจะอวยพรให้เขา “มีสุข ปราศจากทุกข์ อย่าได้มีทุกข์กายทุกข์ใจ” เป็นคำชุดที่มาด้วยกัน ความหมายของ “อะนีโฆ” ที่ว่าเป็นผู้ปราศจากทุกข์กายทุกข์ใจ กับ “นิททุกโข” คือ เป็นผู้ไม่มีทุกข์ ใน ๒ คำนี้ ความเห็นส่วนตัวชอบคำว่า “นิททุกโข” มากกว่า แล้วความหมายก็ครอบคลุมอยู่แล้ว ส่วน “อะนีโฆ” มาเสริม เหมือนเป็นคำไพเราะ แต่ถามว่า.. มันจะมาช่วยในแง่ของการภาวนา หรือพัฒนาจิตใจของเราได้มากน้อยแค่ไหนในคำ ๒ คำนี้ ? เวลาเราเจริญเมตตา..อันนี้เป็นคำเมตตาตัวเอง จะขึ้นด้วยว่า “อะหัง สุขิโต โหมิ” ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความสุข “สุขิโต” คือ ผู้มีความสุข แล้วตามด้วยคำว่า “นิททุกโข โหมิ” คือ เป็นผู้ไม่มีทุกข์ ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีทุกข์ อีก ๒ คำต่อมาจะใช้คำว่า “อะเวโร โหมิ” และ “อัพยาปัชโฌ โหมิ” ในความรู้สึกอาตมานั้น ๔ คำนี้ ครบแล้ว! ครบตามจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาจิตใจ และเป็นการเจริญเมตตาตนเองครบ อีก ๒ คำต่อมา.. เหมือนเป็นคำสร้อย “อะนีโฆ” เป็นผู้ไม่มีทุกข์กายทุกข์ใจ คือเป็นคำรวบอีกทีว่า ทั้งหมดเนี่ย..ไม่ให้ทุกข์กายทุกข์ใจ แล้วก็ “สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ” รักษาตนให้เป็นสุข พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหลาย คำสุดท้ายจะบอกว่า ให้มีปัญญารักษาตนให้เป็นสุข พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหลาย คำสุดท้ายก็สำคัญเหมือนกัน มี “อะนีโฆ” นี่แหละเหมือนเป็นคำสร้อยออกมา ที่บอกว่า ๔ คำนี้ครบแล้วนี่ มีอธิบายในความเห็นอย่างนี้ว่า “อะหัง สุขิโต โหมิ” ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข คำว่า “สุข” เป็นคำที่ปรารถนาของทุก ๆ คนอยู่แล้ว รวมทั้งตัวเอง เวลาเมตตา คือเป็นการตั้งความปรารถนาดี ประสงค์จะให้ผู้ที่ถูกปรารถนาดีนั้นมีความสุขนั่นเอง อันนี้เป็นคำพื้น ๆ เป็นคำตั้งต้นทั่ว ๆ ไป ทีนี้เราเมตตาตนเองก็ปรารถนาให้ตนเองมีความสุข คำที่ ๒ เป็นตัวบ่งบอกว่า สุขที่ว่าต้องเป็นสุขบริสุทธิ์ คือ ไม่มีทุกข์ด้วย ก็เลยมีคำว่า “นิททุกโข โหมิ” ขึ้นมา สุขทั้งหลายทั้งปวงมีมากมาย เช่น สุขในกาม “สุขในกาม” จะสุขแบบมีทุกข์เจืออยู่ด้วย มีทุกข์รออยู่ ในทุกๆ สุขในกามนั้น เพราะกามเป็นของไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นหวังสุขในกามก็จะได้สุขที่ไม่เที่ยง สุขที่ไม่เที่ยง แค่ได้แล้วมันไม่เที่ยง ตอนมันเปลี่ยนไปนี่แหละเป็นทุกข์ คำว่า “นิททุกโข โหมิ” เหมือนจะบอกว่า จะหวังสุขในกามอย่างเดียวไม่พอแล้วนะ มันไม่ตรงสเป๊ก(spec > specification = เกณฑ์)ที่บอกว่าไม่มีทุกข์.. เข้าใจไหม? แค่หวั่น ๆ ว่าตอนได้อะไรมาเป็นความสุขในกาม ได้วัตถุกามมา แล้วแอบหวั่น ๆ ว่ามันจะต้องเปลี่ยนไป ทั้ง ๆ ที่มีอยู่ แต่แอบหวั่น ๆ ว่าสักวันมันจะเปลี่ยนไป.. แค่นี้ก็ทุกข์แล้วใช่ไหม? แล้วไอ้ความจริงเนี่ย คือมันต้องเปลี่ยน! เพราะว่ามันอยู่ในความปกติของบรรดาสังขารทั้งหลายว่า มันไม่เที่ยง, มันถูกบีบคั้นให้เปลี่ยนแปลง และมันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วถ้าเราหวังเพียงสุขในกาม มันก็จะต้องมีทุกข์รออยู่ คำที่ ๒ เนี่ย เป็นคำที่บอกว่า.. คุณต้องพัฒนาสุข ไม่ใช่แค่หวังสุขในกาม สุขที่เราพัฒนาลำดับต่อมาคือ”เป็นสุขในสมาธิ” ไม่หวังพึ่งกาม แต่ทำสุขให้เกิดขึ้นเองจากการพัฒนาจิตใจให้เข้าสมาธิให้เป็น ทำสมาธิให้เป็น ทำสมถะด้วย และทำวิปัสสนาด้วย แม้สุขในสมาธิมันก็ไม่เที่ยง ก็ต้องให้ถึง”สุขในนิพพาน” จึงจะเป็นสุขที่ไม่มีทุกข์เจือปนแน่ ๆ ก็ต้องพัฒนาตนให้จากสุขในกาม แล้วเป็นสุขในฌาน แล้วเป็นสุขในนิพพาน จึงจะตอบโจทย์ในคำที่ ๒ คือ “นิททุกโข โหมิ” ได้บริบูรณ์ ทีนี้ใน “นิททุกโข โหมิ” ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีทุกข์นั้น ทุกข์ทั้งหลายก็มีทุกข์กายทุกข์ใจใช่ไหม? มาอยู่ในคำที่ว่า “อะนีโฆ” มันมีเรื่องทุกข์กายกับทุกข์ใจ ก็ปรารถนาให้ไม่ให้มีทุกข์กายและทุกข์ใจ แต่จริง ๆ แล้วกายเป็นรังของโรค และก็เป็นวิบาก ซึ่งมันก็ต้องมีทุกข์ของมัน แม้ในพระอรหันต์ จิตท่านจะพ้นทุกข์แล้ว แต่กายก็ยังมีทุกข์อยู่เป็นปกติ เพราะฉะนั้นคำว่า “อะนีโฆ” ที่ว่าไม่มีทุกข์กายทุกข์ใจ ที่มันทำได้จริงก็คือ..ไม่ทุกข์ใจ ไม่ทุกข์กายเนี่ยนะ มันจะมีทุกข์กายอยู่เสมอแหละ ตื่นเช้ามาต้องถ่าย ถ้าไม่ถ่ายก็เป็นทุกข์ มันถูกบีบคั้นให้ต้องถ่ายหนักถ่ายเบา ต้องล้างหน้าต้องแปรงฟัน เป็นทุกข์ประจำกาย คำว่า “อย่ามีทุกข์” เนี่ย คงจะหมายถึงทุกข์ใหญ่ ๆ เช่น ทุกข์จากความเจ็บป่วยไข้หรืออุบัติเหตุ หรือถูกทำร้ายร่างกายจากคนอื่น ประมาณอย่างนี้ ฉะนั้น คำสำคัญอยู่ที่คำว่า “นิททุกโข” ซึ่งเป็นคำรวมอยู่แล้ว “นิททุกโข” เนี่ย อย่างที่บอก คือมีทุกข์กายกับทุกข์ใจ ทุกข์กายเนี่ยมันเป็นวิบาก บังคับไม่ได้อยู่แล้ว แต่ทุกข์ใจเนี่ยมันมีสาเหตุ แล้วสามารถทำให้มันหมดไปได้ แล้วพุทธศาสนาก็สอนวิธีนี้แหละทำให้ทุกข์ใจมันหมดไป ตัวการสำคัญ(และเห็นง่าย) ที่ทำให้เกิดทุกข์ใจก็คือกิเลส ในกลุ่มที่เรียกว่า…โทสะ ทีนี้เราเป็นปุถุชน โทสะเรายังละไม่ได้ จะทำยังไงให้โทสะอยู่แค่โทสะ ก็คือ ให้มันโกรธขึ้นมา..แล้วรู้ไว ๆ อย่าพัฒนาให้กลายเป็น “จองเวร” หรือ “พยาบาท” จึงมี ๒ คำขึ้นมา คือ “อะเวโร” และ “อัพยาปัชโฌ” คือเราเป็นปุถุชนผู้ฝึกอยู่ ก็ฝึกในลักษณะที่ว่า ถ้าไม่โกรธเลยก็ดี จะไม่มีปัญหาเรื่องจองเวรหรือพยาบาท ถ้าไม่มีความโกรธเลย แต่ถ้ามีความโกรธขึ้นมาซึ่งมันเป็นธรรมดาเราเป็นปุถุชน โกรธมาแล้วให้รู้ไว ๆ รู้ทันความโกรธด้วยใจเป็นกลาง ไม่ให้มันเลยเถิดกลายเป็น “จองเวร” หรือ “พยาบาท” ฉะนั้น คำ ๒ คำนี้สำคัญ ตอนที่บอกว่า “จะไม่เป็นผู้จองเวรใครนะ จะไม่เป็นผู้พยาบาทใคร” บางทีคนแปล ๒ คำนี้ว่า “อย่าให้ใครมาจองเวรเรา อย่าให้ใครมาพยาบาทเรา” มันดูเหมือนง่ายดี คือ เราอย่าเป็นผู้ถูกใครจองเวร อย่าเป็นผู้ถูกใครพยาบาท ถามจริงๆ มันบังคับอะไรได้กับคนอื่น? มันเหมือนเป็นการขออ้อนวอน เหมือนศาสนาอ้อนวอนเทวดา มันไม่ลงมาการที่ฝึกตนเอง ฉะนั้น ถ้าจะแปลให้เป็นการฝึกตนเอง ก็คือ เรานี่เเหละ..จะไม่เป็นผู้จองเวร !เรานี่เเหละ..จะไม่เป็นผู้พยาบาท ! แต่มันยังมีโกรธอยู่ .. มันหงุดหงิดขึ้นมา..ให้รู้ทัน มันขุ่นใจขึ้นมา..ให้รู้ทัน ให้มันเป็นโกรธเล็ก ๆ มันโกรธนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วก็รู้ทัน ไม่ให้พัฒนาเป็นคิดจองเวร คือ ผูกใจเอาไว้จะเอาคืน พยาบาทก็คือจะทำร้ายร่างกายให้เขาถึงความพินาศ ก็คือมาจากความโกรธเล็ก ๆ นี่แหละ แล้วไม่ทันรู้ตัวก็คิดไป ๆ กลายเป็นจองเวร กลายเป็นพยาบาท ทุกครั้งที่จองเวร ทุกครั้งที่พยาบาท มีทุกข์ทันที เพราะฉะนั้น ผิดคอนเซ็ป(concept = ข้อคิดเห็น) ที่บอกว่า “อยากมีสุข” แต่คิดจองเวรเขา คิดพยาบาทเขา ก็ทุกข์ทุกครั้งที่คิด มันทุกข์ตั้งแต่โกรธแล้ว !! โกรธเกิดขึ้นกับจิตดวงไหน จิตดวงนั้นเป็นทุกข์ทันที เศร้าหมองทันที เพราะฉะนั้น เมตตาตนเองก็คือ ปรารถนาให้ตนเองมีความสุข แต่ถ้ายังไม่ละความโกรธ แถมยังเป็นจองเวรแล้วก็พยาบาท จะไม่พบความสุข ถ้าเมตตาตนเองจริง ต้องบอกกับตัวเองว่า “ฝึกนะ ฝึกรู้ทันความโกรธไว ๆ นะ อย่าให้มันเป็นความจองเวรนะ อย่าให้เป็นความพยาบาทนะ เพราะ ๒ ตัวนี้มันทำให้เราทุกข์และไม่มีสุขและที่ต้องการปรารถนาดีให้ตนเองมีความสุขตัวนี้เป็นตัวทำลายล้าง คิดทำร้ายเค้า แต่ทุกครั้งที่คิดนะ ทันทีที่คิดนะ ทำร้ายจิตตรงนี้ก่อนเลย ยังไม่ทันไปทำร้ายเค้าเลย มันทำร้ายจิตตรงนี้ก่อนเลย มันร้ายมากนะไอ้ความโกรธ ความโกรธ ความพยาบาท ความจองเวร มันร้ายมาก เกิดปุ๊บทำลายจิตดวงนั้นทันที” คนที่เราคิดจะทำร้ายเขา เขายังเป็นสุขอยู่ แต่เราเป็นทุกข์ทันที หรืออาจจะทำร้ายเขาได้ เขาอาจจะทุกข์กาย แต่ก็ไม่สามารถบังคับให้เขาทุกข์ใจได้ เหมือนพระเทวทัตมาทำร้ายพระพุทธเจ้า พระเทวทัตคิดจองเวร ทุกครั้งที่พระเทวทัตคิด ท่านก็ทุกข์นะ แต่ท่านไม่เห็น !! ท่านคิดว่า ‘ถ้าทำให้พระพุทธเจ้าพินาศฉิบหายไปซะได้ ท่านจะเป็นสุข’ แต่ทุกครั้งที่คิดนั้นท่านเป็นทุกข์ทุกครั้งเลย ยังไม่ทันลงมือก็เป็นทุกข์แล้ว พอลงมือไป คล้าย ๆ จะสำเร็จอยู่ครั้งเดียว คือตอนที่ผลักหินกลิ้งหิน มีสะเก็ดหินไปโดนหัวแม่เท้าทำให้ห้อพระโลหิต ถามว่า พระพุทธเจ้าเป็นทุกข์ไหม ? ทุกข์แค่กาย ใจพระพุทธเจ้าไม่ทุกข์ ไปพยาบาทเขาเนี่ยนะ จิตผู้พยาบาทเป็นทุกข์ ไปจองเวร.. จิตผู้จองเวรเป็นทุกข์ ลงมือกระทำแล้ว ดูเหมือนว่าดีใจสะใจ แต่เห็นเค้าไม่เป็นไปตามที่เราปรารถนา.. ก็ยิ่งทุกข์ ! ดูนะ.. จิตถูกทำร้ายถูกทำลายโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ !! จึงต้องย้อนกลับมาว่า ถ้าปรารถนาดีกับตนเอง ต้องการความสุขจริง ๆ ก็อย่าพยาบาทใคร อย่าไปจองเวรใคร การจองเวรทำสำเร็จแล้ว ก็ใช่ว่าตนเองจะมีสุข ทำไม่สำเร็จก็ยิ่งไม่มีสุข มันเป็นวงจรอุบาทว์แท้ ๆ เลย ทำเขาเจ็บได้ ไม่ใช่ว่าเขาจะทุกข์นะ ดูอย่างพระเทวทัตทำพระพุทธเจ้าห้อพระโลหิต ถามว่าเจ็บไหม? มีเวทนานะ มีทุกขเวทนา แต่ถามว่าจิตพระองค์ทุกข์ไหม? ไม่ทุกข์ !! เท่ากับว่าพระเทวทัตทุกข์ฟรี และทบต้นทบดอกทวีคูณ ยิ่งทำกับคนที่บริสุทธิ์เท่าไหร่ เป็นเนื้อนาบุญที่ดีเท่าไหร่ ไปทำบาปกับท่าน ก็ยิ่งบาปมากขึ้นเท่านั้น เป็นเนื้อนาบาปได้ด้วย ! ก็คือปลูกอะไรก็งอกงาม ปลูกข้าว ข้าวก็งาม ปลูกอุตพิด อุตพิดก็งาม ถ้าประโยคนี้ที่ว่าจะมาเมตตาตัวเองเนี่ยนะ เอาแค่ “นิททุกโข โหมิ” ก็น่าจะครบแล้ว ทุกข์มันมี ทุกข์กายและทุกข์ใจ ทุกข์กายเนี่ยเราก็บริหารร่างกายไปเท่าที่มันทำได้ มันก็มีทุกข์ประจำของกายมีอยู่เรื่อย แต่ทุกข์ใจ เราสามารถพัฒนาจนไม่มีทุกข์ไปได้ ก็คือพัฒนาด้วยการภาวนาตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาแล้ว สอนธรรมะมาให้สัตว์โลกทั้งหลาย ให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพื่อให้พ้นจากทุกข์ใจนั่นเอง เรื่องจะป่วย..ยังไงก็ป่วย ร่างกายก็ต้องเจ็บ ต้องแก่ ต้องตาย แต่จิตเมื่อพ้นทุกข์แล้ว ก็ไม่ทุกข์กับการแก่ เจ็บ ตายนั้นอีก ต้องลงลึกไปในความหมายแบบนี้ ถามว่า มีผลเสียอะไรไหมกับคำว่า “อะนีโฆ” ? ไม่มีผลเสียอะไร ! ก็เป็นการบอกว่าทุกข์มันมี ๒ อย่างนะ ทั้งกายและใจ แล้วก็ต้องมีปัญญาที่จะพ้นทุกข์ไป ก็คือรู้เท่าทันความจริง ดังนั้น บทที่ท่านให้ฝึกเมตตาตนเอง อะหัง สุขิโต โหมิ นิททุกโข โหมิ อะเวโร โหมิ อัพยาปัชโฌโหมิ อะนีโฆ โหมิ สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ มีความหมายที่ดีและควรจะฝึกเจริญ เป็นการย้ำเตือนตนเองว่า ที่ปรารถนาสุข ต้องเป็นสุขที่ไม่มีทุกข์ด้วย คือพัฒนาไป และทุกข์ทั้งหลายมีทุกข์ใจเป็นอย่างยิ่ง อย่าหาเหตุให้ทุกข์ใจ ด้วยการมีความโกรธแล้วคิดมาก กลายเป็นจองเวรหรือพยาบาท แค่นี้ก็ได้ใจความสำคัญ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศ วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/qQUcR5-SdEY (นาทีที่ 00:54:12- 01:12:15)

อ่านต่อ

วันจันทร์ที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด(๑๑) ปีขาล #พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #จาคานุสสติ คิดในสิ่งที่เราได้เคยบริจาคออกไป แล้วก็มีความปลื้มใจปีติใจ คิดซ้ำ แล้วก็มีความปลื้มใจ เช่นว่า เราได้ไปถวายผ้ากฐิน ได้ถวายผ้าไตรจีวรครบท่ามกลางหมู่สงฆ์ ปลื้มใจ..ปลื้มใจ.. แม้ว่าเหตุการณ์นั้นผ่านมาแล้ว วันนี้.. เดือนนี้.. ผ่านมาเป็นเดือน.. หลายเดือนแล้ว.. แต่พอมาหวนคิดอีกที ก็ยังปลื้มใจอยู่ คิดแล้วก็มีความปลื้มใจ ใจที่มีความปลื้มใจนั้นเป็นกุศล ถ้าคิดถึงความที่เราได้ทำบุญ ได้บริจาค คิดแล้วใจไม่วอกแวกไปไหน คิดแต่เรื่องราวเรื่องนี้ กลายเป็นทำกรรมฐานตัวหนึ่งด้วยซ้ำไป เรียกว่า “จาคานุสติ” พอเราได้บริจาคอะไรไปแล้ว พอมาหวนคิดแล้วมีความสุข อย่างนี้มันจะมีกำลังใจที่จะบริจาคอีก อาจจะไม่บริจาคแบบเดิมก็ได้ อาจจะรู้สึกว่า ‘เนี่ยเราให้ แล้วมีความสุข’ ก็เลยมีความรู้สึกว่า เมื่อก่อนนี้.. เราคิดว่า ‘ต้องได้มาเท่านั้น จึงจะมีความสุข’ แต่ตอนนี้.. ‘การให้ การบริจาค ดูภาพรวมแล้ว มันเหมือนกับการที่เราเสียวัตถุ เสียสิ่งของ เสียทรัพย์ แต่พอมาคิดภายหลัง แล้วมันมีความสุขอย่างนี้’ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=Zkxh5aCG39g (นาทีที่ 17:58 – 25:15)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ชำระหนี้สงฆ์ #การใช้ของสงฆ์ #ทำของสงฆ์เสียหาย #ถาม: ล้างจานที่วัดแตกโดยไม่เจตนา.. จะ”ชำระหนี้สงฆ์”อย่างไร? #ตอบ: จริงๆ แล้วก็คือว่า.. เราทำของแตกที่วัดเนี่ยนะ! คำว่า “หนี้สงฆ์” เนี่ย มันเป็นศัพท์ใหม่ ! คือน่าจะมีในเฉพาะประเทศไทยนะ! ในพระไตรปิฎกไม่มีนะ..ไม่มีคำว่า “หนี้สงฆ์” เข้าใจว่า คำว่า”ชำระหนี้สงฆ์” นี้น่าจะมาจาก “ประเพณีขนทรายเข้าวัด” เป็นความละเอียดอ่อนของบรรพบุรุษของเรา ที่เมื่อจะทำบุญ ก็ดูว่าจะหาเหตุทำบุญนะ จะหาเหตุก็คือ “ขนทรายเข้าวัด” ก็มองไปที่ว่า.. หาเหตุผลที่ว่า เราเดินเข้าวัดแล้ว มีทรายติดเท้าเราออกจากวัดไป ก็ถึงปีหนึ่งก็ทำบุญด้วยการขนทรายเข้าวัด ในช่วงที่งานสงกรานต์ โดยการก่อเจดีย์ทราย กลายเป็นเทศกาล มีงานประกอบบุญกุศล และก็มีงานรื่นเริงด้วยนะ ถ้าในแง่ของความละเอียดอ่อน ก็ละเอียดอ่อน.. ละเอียดอ่อนในแง่ที่ว่า “เดินมาวัด แล้วมีทรายติดเท้าออกไป” เกรงว่าจะเป็นหนี้สงฆ์! ก็ชำระหนี้สงฆ์ ด้วยการขนทรายเข้าวัด แต่จริงๆไม่ถึงขนาดนั้น! แล้วก็ไม่ปรากฏว่า ในสมัยพุทธกาล ท่านจะตีความว่า.. คนเข้าวัดมาแล้ว เดินออกไปแล้วเอาทรายจากวัดไปด้วย เป็นบาปอะไร หรือเป็นหนี้สงฆ์อะไร ไม่ได้คิดขนาดนั้น! ส่วนการที่เราทำของวัดแตก เช่น ล้างจาน.. แล้วจานแตก! โดยเฉพาะไม่มีเจตนาด้วย อันนี้.. ก็ชดใช้ด้วยการซื้อของใหม่ก็ได้! หรือจะชดใช้เป็นมูลค่า ก็คือ ชำระเป็นเงินก็ได้! หรือแม้แต่บอกกล่าวกับเจ้าหน้าที่ของวัด ผู้ดูแลสมบัติ อาจจะเป็นเจ้าอาวาส หรือเป็นพระเจ้าหน้าที่ที่ดูแล ถ้าท่านเห็นว่า..ไม่เป็นไร! แตกไปใบเดียว แต่เรามีเยอะอยู่ตอนนี้ ยังไม่ต้องซื้อมาเสริม หรือว่าถ้าไม่สบายใจ จะซื้อมาชดใช้ก็ได้ “ของที่แตกได้..ได้แตกแล้ว” นะ ท่านไม่ได้ถือโทษ หรือว่าไม่ได้บอกว่าจะต้องซื้อมาชดใช้ และเห็นว่ายังไม่ต้องชดใช้.. ประมาณนี้นะ! ก็ไม่เป็นไร ก็คือไม่มีโทษอะไร! ส่วนที่ว่าจะ “เป็นหนี้” เนี่ย!.. คำว่า “ชำระหนี้สงฆ์” ก็คือ “เป็นหนี้” ก็คือ ต้องกู้ยืมมา.. แล้วมีความสมควรที่จะต้องใช้คืน เช่น “ยืมเงินมา ๕๐๐ ก็ต้องใช้คืน ๕๐๐” หรือว่ามีดอกเบี้ยด้วย ถือเป็นการชำระหนี้ แต่ถ้าทำของเสียหาย ก็แค่ชดใช้! “แค่ชดใช้” ก็น่าจะพอสมควร ถือว่าชำระหนี้สงฆ์แล้ว ชำระแล้ว.. เพียงพอแล้ว! แต่อยากจะพูด ถึงคำว่า”ชำระหนี้สงฆ์” นี่แหละ มันเป็นคำในยุคหลัง ซึ่งไม่มีในสมัยพุทธกาล ไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎก และแม้ในอรรถกถาคัมภีร์ ไม่มีเลย ก็เอาเป็นว่า.. อยากจะชี้แจงในเรื่องนี้มากกว่า ก็คือ “การใช้ของสงฆ์’ การใช้ของสงฆ์เนี่ย ถ้าเราไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้มันแตก ก็ไม่น่าจะมีความผิดอะไร ของสงฆ์ก็ไม่ใช่เฉพาะเรื่อง ถ้วย ชาม มันรวมไปถึงพวกที่นั่ง ที่นอน ฯลฯ ทุกอย่างนะ โดยเฉพาะ.. ถ้าเป็นพระก็ต้องดูแลของสงฆ์ให้ดีนะ ต้องช่วยกันดูแลของที่เป็นกองกลาง เรียกว่าเป็น “ของสงฆ์” ที่พูดเนี่ย มันมีตัวอย่างในพระสูตร อยู่พระสูตรหนึ่ง ที่พูดถึง “ยักษ์สองตน” “ยักษ์สองตน” นั้นมีอดีตชาติเป็นพระ ยักษ์ตนหนึ่งชื่อ “ขร” (ขะ-ระ) อีกตนหนึ่ง ชื่อว่า “สูจิโลม” (สู-จิ-โล-มะ) สูจิ แปลว่าเข็ม สูจิโลม ก็คือ “ขนแข็ง แหลมคม เหมือนเข็ม” เป็นยักษ์ที่มีขนแข็งแหลมคมเหมือนเข็ม ก็คือ มีผิวสัมผัสที่ไม่สบาย “ขร” (ขะ-ระ) มาเป็นภาษาไทยแปลว่า “ขรุขระ” ก็มีผิวขรุขระ แข็ง คม เปรียบเหมือนผิวจระเข้ ประมาณนี้นะ ผิวจระเข้ ด้านสันมันด้วย ที่มันมีนูน มีขอบคม ประมาณนี้ ยักษ์สองตนนี้ ในอดีตตนหนึ่งเป็นพระภิกษุในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า”กัสสปะ” เคยเป็นพระภิกษุในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า”กัสสปะ” วันหนึ่งเดินทางไกล เหงื่อไคลท่วมตัว แล้วก็ใช้เตียงของสงฆ์โดยที่ไม่ได้”ปูลาด” หมายความว่า การจะใช้เตียงต้องมีผ้าปู เพื่อไม่ให้ความสกปรกของร่างกายนี้ ไปเปื้อน ไม่ให้เหงื่อไคลไปโดนไม้ที่เป็นตัวเตียง สมัยนั้น พระรูปนั้นไม่เอื้อเฟื้อ ก็เอาร่างกายที่สกปรกนอนกับเตียงนั้นไปเลย ไม่มีผ้าปูเตียง ไม่มีผ้าปูลาด ศีลอื่นๆ รักษาดี แต่ตัวนี้.. พลาดไป!! ชาตินั้นก็ไม่สามารถทำคุณวิเศษอะไรให้เกิดขึ้นได้ เมื่อตาย.. มรณภาพแล้ว! ก็มาเกิดเป็นยักษ์ อาศัยอยู่ในที่ทิ้งขยะ มีทั้งขยะและมีทั้งซากศพ มีซากศพสารพัด มีศพสัตว์ ช้าง ม้า วัว ควาย นก หรือแม้แต่ศพคนก็มี (เขาบรรยาย สถานที่ที่อยู่ของยักษ์นั้น อย่างนี้เลย) ยักษ์อีกตนหนึ่งที่เป็นเพื่อนกัน ชื่อ “ขระ” ที่แปลว่า “ขรุขระ” นี่นะ ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า “กัสสปะ” เขาเป็นอุบาสก วันหนึ่งก็อย่างนี้ มาทำงานหนัก..เหนื่อย เหงื่อท่วมตัว แล้วก็มาใช้ของสงฆ์ มานอน โดยไม่ได้ปูลาด ไม่ได้ปูผ้านอน เป็นการทำของสงฆ์ให้เปื้อน แล้วก็ไม่ทำความสะอาดของสงฆ์นั้น อยู่ในวัดที่มีโยมทำบุญด้วยของดีๆ มันก็มีผ้าเหมือนกันนะ แต่เป็นผ้าแบบดูงดงาม สวยงาม ก็ไปนอนทับผ้า บางทีก็ไปนอนทับผ้าที่สวยๆ นั้น เขาเรียกว่า “ผ้าอันวิจิตร” อุบาสกนั้นมีเหงื่อไคลท่วมตัว ก็ไปนอนทับผ้าของสงฆ์.. แล้วก็ไม่ทำความสะอาด อันนี้ “ใช้ของสงฆ์” แบบประมาท..ไม่เอื้อเฟื้อ ท่านใช้คำว่า “ไม่เอื้อเฟื้อ” อย่างอื่นดีหมดนะ.. แต่ว่ามาเจอ “ไม่เอื้อเฟื้อในการใช้ของสงฆ์” ตายไปแล้วมาเป็นยักษ์ ยักษ์แบบไม่ดีด้วย! พระมาเป็นยักษ์ แบบที่มีขนแข็ง ชื่อ “สูจิโลมะ” (สูจิ ที่แปลว่า เข็ม เข็มแข็งๆ เป็นขนแข็งๆ อาจเหมือนแม่นก็ได้นะ!) ส่วนอุบาสกนั้น มาเป็นยักษ์ที่ผิวแบบขรุขระ เหมือนมีเกล็ดแข็งๆ แต่ว่า.. “ยังมีบุญเดิมๆ” ทำให้เข้าข่ายพระญาณของพระพุทธเจ้าของเรา เช้าวันหนึ่ง พระองค์เห็นว่าสูจิโลมยักษ์จะได้รับประโยชน์จากการแสดงธรรมของพระองค์.. ก็เสด็จไปโปรด แต่ว่าการไปนี่นะ ท่านบรรยายให้เห็นถึง “ความมหากรุณาของพระพุทธเจ้า” เสด็จออกจากพระคันธกุฎี คำว่า “พระคันธกุฎี” คือ กุฏิที่อยู่ที่หอม (คันธกุฎี กุฏิที่หอม มีกลิ่นหอมอยู่เสมอ) เสด็จออกจากพระคันธกุฎีไปพระองค์เดียว ไปที่กองขยะ เพื่อโปรดยักษ์ กองขยะเหม็นด้วยนะ! มีซากศพ..เต็มไปด้วยซากศพ ให้เห็นว่า.. พระองค์มีความกรุณา..เป็นมหากรุณา มุ่งประโยชน์ต่อยักษ์ มุ่งประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ ไม่ได้เลือกว่าที่นั้นจะมีสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร พระองค์ละจากที่หอมมาสู่ที่เหม็น เพื่อโปรดยักษ์สองตนนี้! ตอนแรกสูจิโลมยักษ์เนี่ย..หวงที่ ทั้งๆ ที่นั้นก็ที่ไม่ดี ที่เหม็น แต่ก็ยังหวงที่! ก็เห็นว่ามีพระภิกษุ มีสมณะนั่งอยู่ เพื่อนยักษ์ที่เคยเป็นอุบาสก สะกิดเรียก “สุจิโลมะ.. ดู! สมณะมานั่งในที่ของคุณ” สูจิโลมะก็หันไปดู! “อือ..อาจจะไม่ใช่สมณะก็ได้นะ ดูเหมือนสมณะ แต่อาจไม่ใช่สมณะก็ได้ เดี่ยวจะดูว่าจะเป็นสมณะแท้หรือเปล่า? เดี๋ยวเราจะพิสูจน์!” วิธีพิสูจน์คือ.. เข้าไปข่มขู่!! ก็เข้าไปจะคว้าตัวพระพุทธเจ้า คล้ายๆกับว่า โน้มตัวมาจะจับ พระพุทธเจ้าก็ถอยไปหน่อยนึง คล้ายๆ ยักษ์ได้สัมผัสที่พระองค์ พระองค์ก็ถอยไปหน่อยนึง สูจิโลมะ ก็ถามว่า.. “กลัวเหรอ? เห็นถอยไป กลัวเหรอ?!!” เขาเรียกว่า ได้ทีก็ข่มเลย “กลัวใช่ไหม!!” พระพุทธเจ้า ตรัสว่า.. “ไม่ได้กลัว แต่สัมผัสของท่านมันเลว สัมผัสเลวทราม” (คือ สัมผัสไม่น่าสัมผัส ไม่ได้ด่าว่า ยักษ์เลวนะ แต่สัมผัสนั้นเลวทราม) สัมผัสนั้นหยาบกระด้าง ประมาณนี้..! พอได้ยินว่าสัมผัสของตนเลวทราม! ยักษ์ก็ยิ่งโกรธ! “เดี๋ยวเราจะฉีกหัวใจท่าน จับขาท่าน แล้วก็เหวี่ยงท่านข้ามแม่น้ำคงคาไปเลย” พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า.. “เราตรวจดูแล้ว ในสามโลกธาตุนี้ ไม่มีใครทำอย่างนั้นได้หรอก อย่าว่าแต่จับเท้าเราเหวี่ยงเลย เพียงแค่ทำจิตเราให้พลุ่งพล่าน ก็ไม่สามารถทำได้” ตรัสต่อไปว่า “แต่เอาอย่างนี้ดีกว่า! ท่านสงสัยอะไรก็ถามได้” คือ ยักษ์นั้นมีคำถามอยู่.. ถ้าคำถามนี้กับใคร ถ้าผู้นั้นตอบไม่ได้ ก็จะจับเท้าเหวี่ยงไป สุดท้ายยักษ์ก็ถาม.. ถามไปพระพุทธเจ้าก็ตอบได้ ยักษ์นั้นก็บรรลุเป็น “พระโสดาบัน” พอบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว อัตภาพที่ดูไม่ดีก็เปลี่ยน กลายเป็นดูผ่องใสขึ้นมา อันนี้ ที่เล่ามานี้ จะบอกว่า.. อดีตชาติของสูจิโลมยักษ์ และ ขรยักษ์ คือ เคยมาใช้ของของสงฆ์ “แบบไม่เอื้อเฟื้อ” แต่อย่างโยมไปล้างจาน ก็น่าจะช่วยงานวัดนั่นแหละ! ก็เอื้อเฟื้อนะ.. แต่มีพลาดได้! “ของแตกได้.. ได้แตกแล้ว”!! เหมือนอย่างพระ หลวงปู่ท่านหนึ่ง ที่ท่านได้รับแจกันมาจากโยม แล้วแจกันนั้นก็มีค่ามาก ท่านก็สั่งสามเณรว่า “ดูแลให้ดีนะ! อันนี้มีมูลค่ามากนะ” จะไปไหน ก็กังวลอยู่กับแจกันใบนั้น วันหนึ่ง.. เณรดูแลกุฏิ ด้วยความเป็นเณรนั่นแหละ ก็อาจจะดูแลไม่รอบคอบเท่าไหร่ ทำให้แจกันแตก! พอหลวงปู่กลับมา สามเณรรายงานสารภาพผิดว่า “ได้ทำแจกันแตกไปแล้วครับ!” หลวงปู่ก็บอกว่า “ของที่แตกได้..ได้แตกแล้ว” เณรนั้นก็ไม่ได้มีความผิดในระดับที่เรียกว่า.. จะต้องมา “ชำระหนี้สงฆ์” อะไร หลวงปู่ก็ไม่ได้คาดคั้นสามเณรว่า.. จะต้องหาแจกันใหม่มาชดใช้นะ ไม่ถึงขนาดนั้น! เพียงอุทานว่า.. “ของแตกได้..ได้แตกแล้ว” อันนี้ถ้าโยมมีความไม่สบายใจ จะชดใช้ด้วยจาน หรือด้วยมูลค่าก็ได้ จะใช้ศัพท์ว่า “ชำระหนี้สงฆ์” ก็ได้ แต่ก็ให้รู้ว่า คำว่า”ชำระหนี้สงฆ์” เป็นศัพท์ใหม่ น่าจะบัญญัติใช้ในประเทศไทยนี่แหละ! จริงๆแล้ว เราไม่ได้เป็นหนี้สงฆ์อะไร ทำของส่วนกลางเสียหายไป.. ถ้าจะให้ดีก็ชดใช้ แต่ถ้าของมันมีเหลือเฟือ ก็เพียงแค่ชำระเป็นมูลค่าก็ได้ หรือแม้เราไม่มีทรัพย์ไม่มีเงิน เรามาช่วยด้วยแรงกายนะ แล้วทำของวัดหรือของสงฆ์แตกเสียหายไป ก็ไปรายงานให้กับเจ้าหน้าที่ ไปรายงานกับท่านเจ้าอาวาส ก็ไม่น่าจะถึงขั้นที่ว่าจะต้องมาบังคับให้ชดใช้อะไร ถ้าเราไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะชดใช้ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนะ อันนี้ ถ้าโยมมีกำลังที่จะชดใช้ค่าเสียหายนั้น เมื่อจะชดใช้แล้ว ก็หมดภาระหรือหมดความกังวลออกไป ที่ตอบคำถามตรงนี้ ก็คือ จะมาชี้แจง ในเรื่องของคำว่า “ชำระหนี้สงฆ์”เท่านั้นเอง พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการ “ธรรมะสว่างใจ” ออกอากาศ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๕ คลิปลิงค์รายการ https://youtu.be/1vx-FTF7GxM (นาทีที่ 00:54-1:13)

อ่านต่อ

วันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด(๑๑) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ความโศกย่อมเกิดเพราะตัณหา พระพุทธเจ้าตรัสว่า.. ที่โศกเศร้า เพราะตัณหา “ความโศกย่อมเกิด เพราะตัณหา” พระองค์ชี้ให้เห็นสาเหตุนะ! เรามีความปรารถนา หรือมีตัณหา อยากให้มันเป็นอย่างหนึ่ง แต่มันเป็นอีกอย่างหนึ่ง อันนี้เขาเรียกว่า “เป็นทุกข์’ ทุกข์เพราะว่า.. ไม่สมปรารถนา มีตัณหาขึ้นมา แล้วก็ไม่เป็นไปที่ตัณหานั้นตั้งเอาไว้ ก็กลายเป็นทุกข์ขึ้นมา “ความโศก” ย่อมเกิดเพราะตัณหา “ภัย” ก็เกิดเพราะตัณหา (สองอย่างแล้วนะ!) “ตัณหายะ ชายะตี โสโก” ความโศก.. ย่อมเกิดเพราะตัณหา “ตัณหายะ ชายะตี ภะยัง” ภัย.. ก็ย่อมเกิดมาจากตัณหา ความโศก.. ย่อมไม่มีกับคนที่พ้นแล้วตัณหา ถ้าพ้นจากตัณหาแล้ว ภัยจะมีจากที่ไหน! ก็หมายถึงว่า.. คนที่ภาวนามา จนบรรลุมรรคผล จนถึงขั้นหมดตัณหาแล้ว ย่อมไม่โศก และไม่ได้รับผลเสียหายจากภัยอะไร หมายความว่า.. ความเสียหายอาจจะมี กุฏิ อาจจะพัง ข้าวของ อาจจะเสียหาย จีวร อาจจะถูกน้ำพัดจนเปอะเปื้อน หรือฉีกขาด อะไรอย่างนี้! แต่ไม่โศก!! ภัยนั้นไม่ถึงใจ เพราะว่า.. รู้อยู่ เข้าใจอยู่ ว่า.. โลกนี้มันเป็นอย่างนี้ โลกนี้มันไม่เที่ยง โลกนี้มันแปรปรวน และเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับของใคร เข้าใจ! พอมันแสดงความจริงมา.. ก็ “นี่ไง! มันแสดงความจริง ก็รู้อยู่ตั้งนานแล้ว” ประมาณแบบนี้ “นานแล้ว” หมายความว่า.. บรรลุมรรคผลขั้นสุดท้ายมานานแล้ว จึงเข้าใจแล้ว! หรือ แม้แต่เพิ่งบรรลุอยู่ตอนนี้ แล้วเกิดเหตุเภทภัย ท่านก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่เดือดร้อน เพราะเข้าใจ! เข้าใจธรรมชาติว่า.. มันต้องเปลี่ยนแปลง ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ ..ไม่เป็นทุกข์ “ความโศก” ก็ไม่มี เพราะหมดตัณหา “ภัย” ไม่ถึงใจ ภัยไม่สามารถทำอะไรกับจิตใจนี้ได้ เพราะ.. ไม่มีตัณหาแล้ว เพราะ.. พ้นจากตัณหาแล้ว พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ ธรรมะสว่างใจ ออกอากาศ วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/O47DaI47lb8 (นาที 00.11.55-00:14.57)

อ่านต่อ

ตรวจทานแล้ว #นิมฺมโลตอบโจทย์ #ฝากคนอื่นไปทำบุญแทน #แข่งบุญกัน #ถาม : “การฝากเงินให้คนอื่นไปทำบุญแทน” อานิสงส์จะต่างจาก “เราไปทำเอง” หรือไม่? และบุญจะส่งถึงตัวเราก่อน หรือผู้ที่ได้รับฝากก่อน! #ตอบ : เอานะ! เราคิดจะทำบุญ แล้วฝากเงินไปกับเพื่อนให้ไปทำแทนให้ที อย่างนี้ใช่ไหม? “บุญ” เกิดกับเราก่อน “เกิดตั้งแต่คิดที่จะทำ” มีจิตคิดที่จะให้ บุญในที่นี้หมายถึงว่า.. ฝากเงินไป ก็คือ “ให้ทาน” ใช่ไหม? “จิตคิดจะให้” ยังไม่ทันฝากเงินไปเลย.. ได้บุญแล้ว จิตนั้นเป็นบุญแล้ว เพียงแต่ว่า.. กระบวนการยังไม่ครบบริบูรณ์ ใช่ไหม? มันต้องมีการให้ ให้ถึงมือผู้รับ ทีนี้.. เราอาจจะติดขัดอะไรบางอย่าง แล้วก็เลยฝากให้เพื่อนเอาไปให้.. ให้ทำแทนที! เพื่อน.. ถ้าดีใจที่ได้ช่วยเหลือให้บุญนี้สำเร็จ เขาก็ได้บุญ ตั้งแต่ได้รับรู้ ว่าเราประสงค์จะนำเงินนี้ไปทำทาน พอเขาขวนขวายช่วยเหลือ เขาก็ได้บุญในส่วนนั้นอีก ตอนดีใจ.. ได้บุญคือ “อนุโมทนาในกุศลจิตของเรา” แล้วก็ได้บุญอีกในแง่ “ขวนขวายช่วยเหลือ” คือเอาทรัพย์นั้นไปทำทานให้สำเร็จ ตัวเขาเนี่ย .. ถ้ามีใจพลอยยินดี มีจิตมุทิตา เขาก็ได้บุญตลอดกระบวนการนี้ แต่ใครได้ก่อน!? “เจ้าตัว” คือเจ้าของทรัพย์นั้นได้ก่อน เพราะคิดก่อน ใช่ไหม? ไม่ใช่ให้ก่อนแล้วค่อยคิด ใช่ไหม? เขาต้องคิดก่อน แล้วค่อยให้ ใช่ไหม? คิดก่อน.. แล้วค่อยเอาทรัพย์นั้นไปฝาก แต่ตอนที่ คนที่รับฝากเอาไปถวายเนี่ย มันก็มีองค์ประกอบมากมาย ทำให้ไม่แน่นอนว่า.. เจ้าของทรัพย์หรือคนที่ขวนขวายเอาทรัพย์นั้นไปให้ทานเนี่ย ใครจะได้บุญมากกว่ากัน มีองค์ประกอบมากมาย ทำให้ไม่แน่นอน ถ้าเจ้าของทรัพย์นั้นเต็มใจ อิ่มใจ นึกถึงภาพที่ทรัพย์ของเราจะไปเป็นประโยชน์อะไรอย่างนี้ แล้วรู้สึกเห็นภาพชัด แล้วก็ปลื้มใจ ปิติใจ อันนี้เจ้าของทรัพย์เขาได้บุญเต็มที่ แต่ถ้าเพื่อนเอาทรัพย์ไปแล้ว คิดว่า “เอ้! มันจะเอาไปใช้เองหรือเปล่า?” “มันจะเอาไปถวายพระหรือเปล่า?” หรือ “มันเอาไปถวายพระ แต่มันจะเอาไปถวายพระครบจำนวนไหม?” อะไรอย่างงี้นี้นะ หรือว่า “มันไปถวายพระที่ดีหรือเปล่า? ตามสเป็คที่เราต้องการไหม?” อะไรประมาณนี้นี่นะ! มีข้อสงสัยมากมาย ระแวงอยู่เรื่อย บุญก็ลดลง เพราะว่า “ความระแวง ความสงสัย เป็นตัวขัดขวาง เป็นนิวรณ์” นึกออกไหม? ก็คือ จะบอกระบุไปเลยว่า เจ้าของได้บุญมากกว่าแน่ หรือว่า คนช่วยเหลือได้บุญมากกว่าแน่ มันบอกไม่ได้!! มันมีเหตุ มีปัจจัยมากมายที่ทำให้บุญของแต่ละคนมีมากมีน้อยต่างกัน คนที่รับฝากมานี้เนี่ยนะ ตั้งแต่รับมา ดีใจกับเจ้าของทรัพย์นี่นะ เขาได้บุญแล้วตอนนั้น ทุกครั้งที่ขวยขวาย “โอ้ย! เราไม่มีทรัพย์ของเราเอง” หรือว่า.. อาจจะรู้สึกว่าทรัพย์เรามี แต่มีน้อย ก็เลยไม่สามารถจะเอามาทำทานแบบนี้ได้ แต่ก็ได้ขวนขวายช่วยเหลือ รู้สึกดีใจ เขาก็ได้บุญ หรือจะพลอยผสมไปด้วย “โอ้! ดีจังเลย อ้อ! แสดงว่าเพื่อนเราศรัทธาพระรูปนี้ ท่านอาจารย์องค์นี้ แล้วก็สงสัยท่านคงจะเป็นพระที่ปฏิบัติดีมั้ง? ขอไปดูหน่อยสิ โอ้! ดีจริงๆ ด้วย” เกิดศรัทธา กับครูบาอาจารย์ของเพื่อนเรา อย่างนี้นะ ก็พลอยถวายทานเติมเข้าไปอีก เขาก็ยิ่งได้บุญของเขาอีก คือมันอยู่กับว่า คนขวยขวายนั้นคิดอย่างไรด้วย? แล้วกระบวรการในการถวาย เขาเห็นทรัพย์ของเพื่อนที่ฝากมา เอาไปน่ะ เขาเห็นอยู่ แล้วก็อากัปกิริยาของพระภิกษุนั้น ชวนให้มีศรัทธาอย่างนี้นะ เขาก็ยิ่งมีความปลื้มใจ ปิติใจ บุญก็ได้มากขึ้น เจ้าของทรัพย์นั้น เจ้าของเงินนั้น ถ้ารู้อยู่แล้วว่า ผู้ที่เราจะไปถวายนั้น ท่านมีปฏิปทาอย่างไร เขาก็ปลื้มใจของเขาอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่เคยเห็นเหมือนกัน ประมาณว่า ทำบุญแบบได้ยินว่า.. ที่นั้นต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็ฝากทรัพย์ให้คนนี้เอาไปให้ที แต่ไม่เคยเห็นวัดนั้นเลย ไม่เคยไปเลย แต่ได้ยินข่าวว่า ที่วัดนั้นต้องการ ก็ทำบุญไป ไม่ได้ไปด้วยตนเองก็ฝากเขาไป แล้วก็วาดๆ ฝันๆ เอาว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ความปลื้มใจมันไม่เต็มที่ เพราะว่ามันไม่ได้เห็นด้วยตาตนเอง แต่คนที่เห็นด้วยตาตนเองนั้นปลื้มใจ เห็นไหม? คนรับฝากอาจจะได้มากกว่า ในแง่ที่ว่า เขาเห็นแล้วปลื้มใจมากกว่า มันก็ขึ้นอยู่กับว่า.. แต่ละคนเนี่ย มีความเต็มใจแค่ไหน? มีกิเลสเข้ามากวนแค่ไหน? มีความรับรู้ถึงคุณความดีของผู้รับแค่ไหน? มีองค์ประกอบเยอะแยะ จะฟันธงไปเลยว่าใครได้มากกว่าเนี่ย มันฟันยาก!! เพราะมันมีองค์ประกอบมากมายอย่างนี้นี่แหละ เคยมีคนหนึ่งนะ นั่งรถผ่านหมู่บ้าน เห็นโยมคนหนึ่งใส่บาตร คนที่นั่งรถเห็นนั่นนะปลื้มใจมากเลย ดีใจ ปลื้มใจ อนุโมทนากับคนใส่บาตรนั้นมากเลย มีครูบาอาจารย์ท่านนั่งในรถนั้นด้วย ท่านมองดูนะ ท่านดูแล้วเนี่ย คนใส่บาตรนะใส่ไปงั้นๆ แหละ ใจไม่ปลื้มอะไรเท่าไรหรอก ถามว่า.. คนใส่บาตรคนนั้นได้บุญมากน้อยแค่ไหน? เขาก็ได้บุญนะ แต่ไอ้คนอนุโมทนานั่นน่ะ ได้บุญมากเลย มากกว่าคนใส่บาตรอีก !! เพราะคนใส่บาตรนั้น ใส่แบบ… คืออาการกิริยาก็ใส่นะ ดูนอบน้อม แต่ใจเนี่ยไม่ได้ปลื้มอะไร แต่คนเห็นเนี่ย..ปลื้มมากเลย ดูสิ! มันไม่แน่นอนนะ! ไม่ใช่ว่าคนที่ทำมันจะต้องได้บุญมากกว่า .. ไอ้คนอนุโมทนา หรือคนที่พลอยยินดีเนี่ย จะต้องได้บุญน้อย .. มันไม่แน่นอนเหมือนกัน! มันขึ้นอยู่กับว่า ไอ้ตอนที่กระทำ หรือตอนที่อนุโมทนานั้น หรือตอนที่ขวนขวายช่วยเหลือนั้น.. มันมีกิเลสอะไรเข้ามาปนตรงนั้นบ้างไหม? ถ้าบริสุทธิ์ใจทั้งหมดนะ มันก็ได้บุญด้วยกันทั้งหมดแหละ แล้วก็ไม่ต้องแข่งกันว่า.. ใครได้บุญก่อน? ใครได้บุญหลัง? ใครได้บุญมาก? ใครได้บุญน้อย? มาดูที่ใจตัวเองว่า.. มันมีอะไรเศร้าหมอง ที่รบกวน ทำให้การทำบุญของเรามันบกพร่องไปบ้างหรือเปล่า? อย่างนั้นดีกว่า! ดีกว่าจะมาแข่งบุญกันนะ!! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม รายการธรรมสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=5oOmyEsRnuk&t=3071s (นาทีที่ 42:54 – 51:11)

อ่านต่อ

วันจันทร์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด(๑๑) ปีขาล (วันปวารณา) พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ความปรารถนาในใจลึกๆ ถ้าเราคิดว่า.. ‘เราก็ทำบุญมาเยอะนะ หรือว่า ภาวนามามาก แล้วทำไมไม่บรรลุมรรคผลสักที’ ลองพิจารณาตัวเอง ลองดูว่า จริงๆ แล้วปรารถนาอะไร? “เราปรารถนาสุข” หรือ “ปรารถนาพ้นทุกข์” ถ้าปรารถนาสุข ก็ไม่ได้ว่าอะไร ก็ขอให้วนเวียนด้วยความปลอดภัย ก็คือ.. สร้างบุญเยอะๆ แต่ถ้าปรารถนาพ้นทุกข์ คราวนี้เราจะมาดู.. เราจะมาดู.. – ความผันแปร, ความเปลี่ยนแปลง – ความไม่เที่ยง – ความอยู่นอกเหนือการบังคับ ในบรรดาสภาวะต่างๆ เพราะฉะนั้น.. เวลาเราทำสมถะขึ้นมาเนี่ย! ไม่ใช่ให้มันนิ่ง หรือให้มันว่าง หรือให้มันสุขสงบ แน่วแน่นานๆ แต่เราจะทำ เพียงแค่ว่า.. มันเป็นตัวเปรียบเทียบ ว่า.. เดี๋ยวมันก็ไม่เที่ยง! เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป! เดี๋ยวมันก็เผลอไป นั่นเอง! เผลอไป.. เห็นความเผลอ ความเผลอแสดงความจริงอีกด้วยซ้ำไปว่า พอถูกรู้.. ความเผลอจะดับไป เพราะขณะที่รู้ “มันไม่เผลอ” และที่ “รู้” มันคือ “มีสติ รู้จิต” จิตที่เผลอเมื่อกี้นี้ สดๆ ร้อนๆ เนี่ย พอ “รู้” แล้ว ปัจจุบันมันก็กลายเป็น “รู้!.. ไม่ใช่เผลอ” แล้วก็มาทำสมถะต่อ แล้วสมถะก็ไม่เที่ยง คือ “มันเผลอไป” รู้ทัน”ความเผลอ” “ความเผลอ” แสดงความไม่เที่ยงอีกที ทำอย่างนี้.. จึงจะเรียกว่า “ทำแบบปรารถนาพ้นทุกข์” ไม่ได้อยากให้สุขนานๆ ไม่ได้อยากให้ทำสมถะ เพื่อให้มันสุขนาน นิ่งนาน สงบนาน คนที่อยากให้สุขนาน สงบนาน นิ่งนาน ด้วยการทำสมถะเนี่ยนะ เวลามันเผลอไป! จะไม่ชอบความเผลอทันที เพราะอยากให้สุข อยากให้นิ่ง ไม่อยากเผลอ พอมันเผลอ.. จะไม่ชอบความเผลอ และทันทีที่ไม่ชอบ มันจะแก้เลยทันที! มันจะแก้โดยการ “ดึงกลับมา” จะแก้ไขให้มัน.. จากไม่ดี.. ให้มันดี จากเผลอ.. ให้มันไม่ผลอ จากมีกิเลส.. ให้มันไม่มีกิเลส นึกออกไหม? เพราะฉะนั้น.. มันอยู่ที่ตัวปรารถนานั่นเอง ความปรารถนาในใจลึกๆ ของเราเนี่ย “ปรารถนาสุข” หรือ “ปรารถนาพ้นทุกข์” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากธรรมบรรยาย จากการสนทนาธรรม กับพระอาจารย์กฤช นิมฺมโล จัดโดยบ้านสติ (650814) ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ ลิงค์วีดีโอ https://www.youtube.com/watch?v=pdg_bm3ojuk&t=2270s (ระหว่าง นาทีที่ 29:48-32:32)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #พูดส่อเสียด #พูดประชดประชัน #ถาม : การที่คนชอบพูดจา “ส่อเสียด หรือ ประชดประชัน” เพื่อรู้สึกสะใจตนเองนั้น! จะมีผลเสียต่อจิตใจของคนนั้น.. มากน้อยอย่างไร? #ตอบ : มันก็เป็นการสร้างวจีกรรมที่เป็นอกุศล เป็น”วจีทุจริต” ก็เรียกว่า..พูดส่อเสียด..ใช่ไหม? พูดส่อเสียด ประชดประชัน แล้วก็สะใจ! คือการพูดที่เป็นวจีทุจริต มี ๔ อย่าง ๑. พูดปด ๒. พูดส่อเสียด ๓. พูดคำหยาบ ๔. พูดเพ้อเจ้อ ไม่ว่าพูดอย่างไหน มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปนรก “ยิ่งถ้าพูดมาก” ทำจนเป็นนิสัย..ภาษาในพระคัมภีร์จะเรียกว่า “ทำให้มากเจริญให้มาก” ประมาณนี้นะ ก็จะเป็นปัจจัย ทำให้ผู้ที่พูดนั้นไปอบาย ก็มีทั้งนรก สัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต อย่างเบาที่สุด.. วิบากอย่างเบาที่สุดก็คือ ถ้าพูดส่อเสียดเนี่ยนะ มาเกิดทีไร.. ก็จะแตกจากมิตร! แรกๆ อาจจะคบกันได้ แต่อยู่ๆ ไปก็จะแตกกัน นี่เป็นวิบาก เพราะว่า “การพูดส่อเสียด” เป็นการพูดยุยง ยุแยง ให้คนที่รักกัน สามัคคีกัน ทะเลาะกัน! วิบากก็จะทำให้เราแตกจากเพื่อนแตกจากมิตร คบกันดีๆ ก็จะมีคนมายุยง หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด ถ้าเราเคยทำกรรมอันนี้เอาไว้นะวิบากก็จะส่งมา! บางทีก็ดูแล้ว.. เราก็ไม่เข้าใจ! ทำไมถึงทะเลาะกัน? งงๆ อยู่ว่า.. ทำไมความสัมพันธ์เป็นไปดีๆ แล้วก็ทำให้ถูกแยกออก แล้วก็แยกออกในลักษณะที่ว่า ไม่ชอบใจกัน เข้าใจผิดกัน ..นี่เป็นวิบาก! วิบากมาจากที่ว่า.. เราเคยไปพูดส่อเสียด แถมสะใจด้วย อันนี้เขาเรียกว่า.. การส่อเสียดผู้อื่นให้เขาแตกสามัคคีได้.. แล้วก็สะใจ! เรียกว่า.. ยังไม่สำนึก ก็จะยิ่งทำหนัก ยิ่งทำมาก ประมาณนี้ ถ้าคนที่เขาแตกกันมีคุณมาก ก็ยิ่งมีวิบากมาก หมายความว่า ถ้าไปทำให้โจรทะเลาะกันเนี่ย วิบากก็น้อยใช่ไหม ก็เรียกว่า คนเขาไม่ดีกันอยู่แล้ว เราให้เขาแตกสามัคคีกัน ไม่ค่อยเท่าไหร่ วิบากน่าจะน้อย แต่ถ้าทำให้คนดีๆ ทะเลาะกัน ก็จะมีวิบากมาก เช่น ทำให้พระที่อยู่สามัคคีกันในวัดทะเลาะกัน เคยมีนะ! เทวดาเห็นพระ ๒ รูป สนิทสนมกันดี ดูเป็นมิตรที่สนิทสนมกัน ก็อยากจะลองใจว่า พระ ๒ รูปนี้รักกันจริงไหม? เวลาไปไหนก็ไปด้วยกันนะ ไปจำพรรษาวัดนี้ก็ไปด้วยกัน เดินธุดงค์ เดินป่าก็ไปด้วยกัน วันหนึ่งเดินป่า เทวดาลองใจ! เทวดาก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นผู้ฉลาดเสมอไปนะ เทวดาที่คิดไม่ดี แล้วก็ไม่รู้ทันความคิดตนเองก็มีเยอะเหมือนกัน อย่างเช่นเรื่องนี้ เทวดาอยากจะลองใจพระ ๒ รูป ว่า รักกันมั่นคงดีไหม? มีความเป็นมิตรมั่นคงไหม? พระรูปหนึ่ง ก็ขอตัวไปทำธุระส่วนตัวหน่อย อาจจะไปถ่ายหนัก-ถ่ายเบา ก็ปลีกตัวไปข้างทาง เวลาถ่ายหนัก-ถ่ายเบา ก็ต้องแอบตามสุมทุมพุ่มไม้ เพื่อไม่ให้อุจาดตา ก็ใช้เวลาหน่อย ก็แสดงว่า.. น่าจะถ่ายหนัก พระอีกรูปท่านก็รอ ระหว่างที่รอ เทวดาก็ดู กะว่า.. ท่านจะเสร็จ หมายถึงว่าทำธุระจะเสร็จแล้ว ก็แปลงกายเป็นผู้หญิงเดินจัดเสื้อผ้า ทำกระเซอะกระเซิง ออกมาจากพุ่มไม้นั้นเจอพระที่รอก็ทำตกใจนิดนึง! แล้วก็รีบๆ เดินหลบเลี่ยงไป ทำทีคล้ายกับว่า มีอะไรกับพระรูปที่ไปถ่ายหนักหลังพุ่มไม้ พระที่รออยู่ก็เข้าใจผิดเลยว่า ‘โห! นี่แอบไป… ที่รอนานเนี่ยนะไม่ได้ไปถ่ายหนักหรอก ไปเสพสังวาชย์กับสตรีนี่เอง!’ พอพระที่ถ่ายหนักเสร็จเดินออกมา ชี้หน้าเลย “ท่านทุศีล” รูปที่ถ่ายหนักออกมาก็งง ‘อะไรไปถ่ายหนักแล้วทุศีลยังไง?..งง!’ “ห๊า! ผมทำอะไรผิด?” “อย่ามาทำไก๋ อย่าทำบิดเบือน เราเห็นอยู่กะตา มีผู้หญิงออกมาเมื่อกี้ เธอมีอะไรกันกับหญิงนั้นแล้วแน่ๆ” นี้เรียกว่า “ส่อเสียด” เป็นผลสำเร็จ ทำให้แตกกัน รูปที่ยืนรอ ก็ตัดความเป็นมิตรกับรูปที่ไปถ่ายหนัก เพราะว่า.. คิดว่ารูปที่ถ่ายหนักนั้นทำปาราชิกเสียแล้ว ขาดจากความเป็นพระแล้ว ก็ไม่คบ..เลิกคบ เทวดานั้น.. ต่อมาก็เวียนเกิดเวียนตาย มาเกิดเป็นคน ในคราวพุทธกาล มีจิตศรัทธาขอบวช พอจะเดินไปที่ไหนนะจะมีภาพผู้หญิงเดินตามอยู่เสมอเลย อันนี้เรียกว่า.. เป็นวิบากจากการที่ไปเนรมิตตัวเองให้เป็นผู้หญิง แม้ชาตินั้น ภายหลังจะมาสารภาพกับพระ ๒ รูปแล้วนะ เห็นพระท่านทะเลาะกัน แตกกันจริงๆ ก็รู้สึกว่า.. ตัวเองมีความผิด ก็ไปสารภาพว่า “ผมผิดเอง ผมเป็นเทวดา มาเนรมิตเพื่อลองใจท่านทั้งสอง จริงๆ ท่านที่ไปถ่ายหนักท่านนั้นบริสุทธิ์ ผมแกล้งลองใจ” เมื่อพระท่านเคยแตกกันแล้ว แม้จะรู้ความจริงในภายหลัง ท่านก็ไม่กลับมาสนิทกันเหมือนเดิม ทำให้เทวดานั้นมาเกิดเป็นคน มาบวชพระ พระด้วยกันไม่มีใครคบเลย เพราะเห็นว่าท่านเป็นพระ แล้วมีผู้หญิงเดินตาม ก็ดูว่าพระรูปนี้น่าจะศีลไม่ดี แล้วก็ไม่มีใครอยากคบ ที่คบอยู่บ้างก็จะพูดเสียดสีว่าท่านเป็นคนชั่วช้า ท่านก็โกรธ ใช้คำรุนแรงโต้กลับ คือ แตกจากมิตร ถ้ามาบวชในพุทธศาสนา ก็ยังมีโอกาสอยู่ มันมีวิบากก็จริง คือพระพุทธเจ้าทรงแสดงวิบากให้ดู ว่าก่อนหน้านั้นเคยทำกรรมอะไรมา อกุศลกรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำให้มีนิมิตรเป็นผู้หญิงเดินตามอยู่เสมอ โยมก็ไม่ใส่บาตรนะ โยมเห็นพระมีผู้หญิงเดินตามก็ “เอ๊ะ! พระรูปนี้ยังไง?” ก็ไม่ศรัทธา ไม่ใส่บาตร นานๆ จะมีใครมีใจกรุณาใส่ไปแล้วก็เกรงว่าหญิงคนนั้นจะอดด้วย ฝากให้ลูกศิษย์ท่านด้วย พระท่านก็บอก “ไม่มีนะ มารูปเดียว” “นั่นไง! ผมเห็นกันอยู่” ประมาณอย่างนี้ มันเป็นวิบาก วิบากที่มาเนี่ย ก็มาจากการที่ทำกรรมเอาไว้นั่นเอง ทีนี้เราเห็นคนอื่นทำ หรือได้ยินคนอื่นเขาพูด ระวังใจตัวเองด้วย! เขาพูด”ส่อเสียด” การพูดส่อเสียดนั้นจะสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ มันขึ้นอยู่กับเราเหมือนกันนะ สมมุติว่า.. มีคนอื่นเห็นว่าเรามีเพื่อน แล้วเขามาพูดส่อเสียด คือพยายามจะทำให้เราแตกจากเพื่อน ถ้าเรามีใจหนักแน่น หรือถ้าได้ยินอะไรมาก็สอบถามกัน เชื่อใจกัน ถามข้อมูล อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ!อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ จากคำที่คนอื่นเขาพูด นี่คือข้อปฏิบัติของเรา ขอแถมเอาไว้ด้วย วิบากของเขาเนี่ย ให้เขารับไป เจตนาเขาไม่ดี มีอกุศลเขาก็รับวิบากไป ทำกรรมแล้ว ก็รอรับวิบากได้ แต่สำหรับเรา ถ้าเราผู้ถูกยุแยง เราต้องมีใจหนักแน่น อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อกับคำที่คนอื่นเขาให้ข้อมูลมา ถ้าเราสนิทสนม รักใคร่กลมเกลียวกับใครก็ตาม แสดงว่าคนนั้นเขาน่าจะเป็นคนดี อันนี้เราเพียงได้ยินได้ฟังอะไรมาอย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ สอบสวนค้นคว้ากันก่อน สอบถามข้อมูลที่มาที่ไปเป็นอย่างไรกันก่อน อย่าเพิ่งไปตีตราว่า.. ผู้ที่ถูกเอ่ยถึงนั้นเป็นผู้ผิด! เหมือนเวลาเราอ่านข่าวนะ บุคคลในข่าว บางทีถ้าเราอ่านไป แล้วเชื่อว่าคนนั้นผิดเนี่ยนะ บางทีคดีพลิก! ใช่ไหม? แล้วมีหลายครั้งใช่ไหม? แล้วก็บางทีก็ใส่ความเห็นแบบรุนแรง ถูกฟ้องกลับก็มี เรียกค่าเสียหายก็มี ก็ต้องระวังตัวเอง! “ใครจะส่อเสียดยังไง ก็เป็นกรรมของเขา” เราผู้ถูกส่อเสียดหรือคนอื่นถูกส่อเสียด ให้มามองเราในแง่ไม่ดี ต้องมีใจหนักแน่น และค่อยๆ หาข้อมูลกัน ค่อยๆ สอบถามกัน สอบถามที่มาที่ไปกัน อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อว่าเขาผิด ส่วนใครจะพูดไม่ดี เราห้ามเขาไม่ได้ แต่ความโกรธในใจเรารู้ทันได้ เราเองอย่าเพิ่งไปหลงโกรธกับคำพูดนั้นจนทำให้เราทำผิดไปด้วย พูดผิดไปด้วย หรือว่าคิดผิดไปด้วย คือไปเชื่อในสิ่งที่เขาพูดยุยงมา อันนี้คำพูดยุยงส่อเสียดกับคนที่มีคุณมากก็มีวิบากแรง แล้วถ้าไปยุยงคนหมู่มากให้แตกกันก็ยิ่งมีวิบากมาก เช่น ทำให้คนในหมู่บ้านแตกกัน ทำให้คนในจังหวัดนี้แตกกัน ทำให้คนในประเทศนี้แตกกันเนี่ยนะ ก็ยิ่งมีวิบากมากเป็นลำดับ ถ้าเป็นชาติ ๒ ชาติ เมือง ๒ เมือง เป็นศัตรูกันนะ วิธีจะรบชนะ หรือทำให้ได้ผลประโยชน์จากเมืองที่เป็นเป้าหมายโดยไม่ต้องใช้อาวุธหรือไม่ต้องเสียกำลังทหารมาก ก็คือเข้าไปยุให้เขาแตกกัน เหมือนกับ.. “วัสสการพราหมณ์” ไปยุให้กษัตริย์แคว้นวัชชี ทะเลาะกัน แตกกัน ขาดความสามัคคี เหมือนทำงานสำเร็จ เหมือนเป็นผลดี แต่จริงๆ แล้ว ทำอกุศลกรรมเอาไว้ เพราะจะว่าไป แคว้นวัชชี..กษัตริย์วัชชีก็เลี้ยงดูนะ จริงๆ มีบุญคุณนะ แต่ก็ไปทำลายเมืองเขา ก็เป็นการอกตัญญูแบบหนึ่งเหมือนกัน แถมไปสร้างกรรมแบบนั้นเอาไว้ ทำให้คนแตกกัน สุดท้ายก็ไปอบาย ที่พูดมา ก็อย่าไปแช่งเขา นี่ว่าไปตามหลักทฤษฎีว่า ”ผู้พูดไม่ดี คือทำเหตุไม่ดี ก็ย่อมได้รับผลไม่ดี” แต่เราเองเวลาเจอใครพูดไม่ดี ไม่ใช่ไปแช่งเขา ไม่ใช่ไปคิดโกรธ คิดให้ร้าย คิดอาฆาตพยาบาท จองเวรกับคนที่พูดไม่ดีนั้น ถ้าเราคิดไม่ดี ไอ้ตอนที่คิดไม่ดีนั้นเรากำลังทำมโนกรรมที่เป็นอกุศล ระวังตรงนี้ด้วย!! “ใครจะพูดอะไรไม่ดี เราก็รู้ว่าเขาพูดไม่ดี ก็อย่าไปเชื่อ อย่าไปทำตาม แล้วก็อย่าไปพูดตาม” ก็ประมาณนี้ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/4nFdbFbyZBY?t=68 (นาทีที่ 1:08 – 17.20)

อ่านต่อ