ตรวจทานแล้ว #นิมฺมโลตอบโจทย์ #ฝากคนอื่นไปทำบุญแทน #แข่งบุญกัน #ถาม : “การฝากเงินให้คนอื่นไปทำบุญแทน” อานิสงส์จะต่างจาก “เราไปทำเอง” หรือไม่? และบุญจะส่งถึงตัวเราก่อน หรือผู้ที่ได้รับฝากก่อน! #ตอบ : เอานะ! เราคิดจะทำบุญ แล้วฝากเงินไปกับเพื่อนให้ไปทำแทนให้ที อย่างนี้ใช่ไหม? “บุญ” เกิดกับเราก่อน “เกิดตั้งแต่คิดที่จะทำ” มีจิตคิดที่จะให้ บุญในที่นี้หมายถึงว่า.. ฝากเงินไป ก็คือ “ให้ทาน” ใช่ไหม? “จิตคิดจะให้” ยังไม่ทันฝากเงินไปเลย.. ได้บุญแล้ว จิตนั้นเป็นบุญแล้ว เพียงแต่ว่า.. กระบวนการยังไม่ครบบริบูรณ์ ใช่ไหม? มันต้องมีการให้ ให้ถึงมือผู้รับ ทีนี้.. เราอาจจะติดขัดอะไรบางอย่าง แล้วก็เลยฝากให้เพื่อนเอาไปให้.. ให้ทำแทนที! เพื่อน.. ถ้าดีใจที่ได้ช่วยเหลือให้บุญนี้สำเร็จ เขาก็ได้บุญ ตั้งแต่ได้รับรู้ ว่าเราประสงค์จะนำเงินนี้ไปทำทาน พอเขาขวนขวายช่วยเหลือ เขาก็ได้บุญในส่วนนั้นอีก ตอนดีใจ.. ได้บุญคือ “อนุโมทนาในกุศลจิตของเรา” แล้วก็ได้บุญอีกในแง่ “ขวนขวายช่วยเหลือ” คือเอาทรัพย์นั้นไปทำทานให้สำเร็จ ตัวเขาเนี่ย .. ถ้ามีใจพลอยยินดี มีจิตมุทิตา เขาก็ได้บุญตลอดกระบวนการนี้ แต่ใครได้ก่อน!? “เจ้าตัว” คือเจ้าของทรัพย์นั้นได้ก่อน เพราะคิดก่อน ใช่ไหม? ไม่ใช่ให้ก่อนแล้วค่อยคิด ใช่ไหม? เขาต้องคิดก่อน แล้วค่อยให้ ใช่ไหม? คิดก่อน.. แล้วค่อยเอาทรัพย์นั้นไปฝาก แต่ตอนที่ คนที่รับฝากเอาไปถวายเนี่ย มันก็มีองค์ประกอบมากมาย ทำให้ไม่แน่นอนว่า.. เจ้าของทรัพย์หรือคนที่ขวนขวายเอาทรัพย์นั้นไปให้ทานเนี่ย ใครจะได้บุญมากกว่ากัน มีองค์ประกอบมากมาย ทำให้ไม่แน่นอน ถ้าเจ้าของทรัพย์นั้นเต็มใจ อิ่มใจ นึกถึงภาพที่ทรัพย์ของเราจะไปเป็นประโยชน์อะไรอย่างนี้ แล้วรู้สึกเห็นภาพชัด แล้วก็ปลื้มใจ ปิติใจ อันนี้เจ้าของทรัพย์เขาได้บุญเต็มที่ แต่ถ้าเพื่อนเอาทรัพย์ไปแล้ว คิดว่า “เอ้! มันจะเอาไปใช้เองหรือเปล่า?” “มันจะเอาไปถวายพระหรือเปล่า?” หรือ “มันเอาไปถวายพระ แต่มันจะเอาไปถวายพระครบจำนวนไหม?” อะไรอย่างงี้นี้นะ หรือว่า “มันไปถวายพระที่ดีหรือเปล่า? ตามสเป็คที่เราต้องการไหม?” อะไรประมาณนี้นี่นะ! มีข้อสงสัยมากมาย ระแวงอยู่เรื่อย บุญก็ลดลง เพราะว่า “ความระแวง ความสงสัย เป็นตัวขัดขวาง เป็นนิวรณ์” นึกออกไหม? ก็คือ จะบอกระบุไปเลยว่า เจ้าของได้บุญมากกว่าแน่ หรือว่า คนช่วยเหลือได้บุญมากกว่าแน่ มันบอกไม่ได้!! มันมีเหตุ มีปัจจัยมากมายที่ทำให้บุญของแต่ละคนมีมากมีน้อยต่างกัน คนที่รับฝากมานี้เนี่ยนะ ตั้งแต่รับมา ดีใจกับเจ้าของทรัพย์นี่นะ เขาได้บุญแล้วตอนนั้น ทุกครั้งที่ขวยขวาย “โอ้ย! เราไม่มีทรัพย์ของเราเอง” หรือว่า.. อาจจะรู้สึกว่าทรัพย์เรามี แต่มีน้อย ก็เลยไม่สามารถจะเอามาทำทานแบบนี้ได้ แต่ก็ได้ขวนขวายช่วยเหลือ รู้สึกดีใจ เขาก็ได้บุญ หรือจะพลอยผสมไปด้วย “โอ้! ดีจังเลย อ้อ! แสดงว่าเพื่อนเราศรัทธาพระรูปนี้ ท่านอาจารย์องค์นี้ แล้วก็สงสัยท่านคงจะเป็นพระที่ปฏิบัติดีมั้ง? ขอไปดูหน่อยสิ โอ้! ดีจริงๆ ด้วย” เกิดศรัทธา กับครูบาอาจารย์ของเพื่อนเรา อย่างนี้นะ ก็พลอยถวายทานเติมเข้าไปอีก เขาก็ยิ่งได้บุญของเขาอีก คือมันอยู่กับว่า คนขวยขวายนั้นคิดอย่างไรด้วย? แล้วกระบวรการในการถวาย เขาเห็นทรัพย์ของเพื่อนที่ฝากมา เอาไปน่ะ เขาเห็นอยู่ แล้วก็อากัปกิริยาของพระภิกษุนั้น ชวนให้มีศรัทธาอย่างนี้นะ เขาก็ยิ่งมีความปลื้มใจ ปิติใจ บุญก็ได้มากขึ้น เจ้าของทรัพย์นั้น เจ้าของเงินนั้น ถ้ารู้อยู่แล้วว่า ผู้ที่เราจะไปถวายนั้น ท่านมีปฏิปทาอย่างไร เขาก็ปลื้มใจของเขาอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่เคยเห็นเหมือนกัน ประมาณว่า ทำบุญแบบได้ยินว่า.. ที่นั้นต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็ฝากทรัพย์ให้คนนี้เอาไปให้ที แต่ไม่เคยเห็นวัดนั้นเลย ไม่เคยไปเลย แต่ได้ยินข่าวว่า ที่วัดนั้นต้องการ ก็ทำบุญไป ไม่ได้ไปด้วยตนเองก็ฝากเขาไป แล้วก็วาดๆ ฝันๆ เอาว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ความปลื้มใจมันไม่เต็มที่ เพราะว่ามันไม่ได้เห็นด้วยตาตนเอง แต่คนที่เห็นด้วยตาตนเองนั้นปลื้มใจ เห็นไหม? คนรับฝากอาจจะได้มากกว่า ในแง่ที่ว่า เขาเห็นแล้วปลื้มใจมากกว่า มันก็ขึ้นอยู่กับว่า.. แต่ละคนเนี่ย มีความเต็มใจแค่ไหน? มีกิเลสเข้ามากวนแค่ไหน? มีความรับรู้ถึงคุณความดีของผู้รับแค่ไหน? มีองค์ประกอบเยอะแยะ จะฟันธงไปเลยว่าใครได้มากกว่าเนี่ย มันฟันยาก!! เพราะมันมีองค์ประกอบมากมายอย่างนี้นี่แหละ เคยมีคนหนึ่งนะ นั่งรถผ่านหมู่บ้าน เห็นโยมคนหนึ่งใส่บาตร คนที่นั่งรถเห็นนั่นนะปลื้มใจมากเลย ดีใจ ปลื้มใจ อนุโมทนากับคนใส่บาตรนั้นมากเลย มีครูบาอาจารย์ท่านนั่งในรถนั้นด้วย ท่านมองดูนะ ท่านดูแล้วเนี่ย คนใส่บาตรนะใส่ไปงั้นๆ แหละ ใจไม่ปลื้มอะไรเท่าไรหรอก ถามว่า.. คนใส่บาตรคนนั้นได้บุญมากน้อยแค่ไหน? เขาก็ได้บุญนะ แต่ไอ้คนอนุโมทนานั่นน่ะ ได้บุญมากเลย มากกว่าคนใส่บาตรอีก !! เพราะคนใส่บาตรนั้น ใส่แบบ… คืออาการกิริยาก็ใส่นะ ดูนอบน้อม แต่ใจเนี่ยไม่ได้ปลื้มอะไร แต่คนเห็นเนี่ย..ปลื้มมากเลย ดูสิ! มันไม่แน่นอนนะ! ไม่ใช่ว่าคนที่ทำมันจะต้องได้บุญมากกว่า .. ไอ้คนอนุโมทนา หรือคนที่พลอยยินดีเนี่ย จะต้องได้บุญน้อย .. มันไม่แน่นอนเหมือนกัน! มันขึ้นอยู่กับว่า ไอ้ตอนที่กระทำ หรือตอนที่อนุโมทนานั้น หรือตอนที่ขวนขวายช่วยเหลือนั้น.. มันมีกิเลสอะไรเข้ามาปนตรงนั้นบ้างไหม? ถ้าบริสุทธิ์ใจทั้งหมดนะ มันก็ได้บุญด้วยกันทั้งหมดแหละ แล้วก็ไม่ต้องแข่งกันว่า.. ใครได้บุญก่อน? ใครได้บุญหลัง? ใครได้บุญมาก? ใครได้บุญน้อย? มาดูที่ใจตัวเองว่า.. มันมีอะไรเศร้าหมอง ที่รบกวน ทำให้การทำบุญของเรามันบกพร่องไปบ้างหรือเปล่า? อย่างนั้นดีกว่า! ดีกว่าจะมาแข่งบุญกันนะ!! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม รายการธรรมสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=5oOmyEsRnuk&t=3071s (นาทีที่ 42:54 – 51:11)

อ่านต่อ