#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ชำระหนี้สงฆ์ #การใช้ของสงฆ์ #ทำของสงฆ์เสียหาย #ถาม: ล้างจานที่วัดแตกโดยไม่เจตนา.. จะ”ชำระหนี้สงฆ์”อย่างไร? #ตอบ: จริงๆ แล้วก็คือว่า.. เราทำของแตกที่วัดเนี่ยนะ! คำว่า “หนี้สงฆ์” เนี่ย มันเป็นศัพท์ใหม่ ! คือน่าจะมีในเฉพาะประเทศไทยนะ! ในพระไตรปิฎกไม่มีนะ..ไม่มีคำว่า “หนี้สงฆ์” เข้าใจว่า คำว่า”ชำระหนี้สงฆ์” นี้น่าจะมาจาก “ประเพณีขนทรายเข้าวัด” เป็นความละเอียดอ่อนของบรรพบุรุษของเรา ที่เมื่อจะทำบุญ ก็ดูว่าจะหาเหตุทำบุญนะ จะหาเหตุก็คือ “ขนทรายเข้าวัด” ก็มองไปที่ว่า.. หาเหตุผลที่ว่า เราเดินเข้าวัดแล้ว มีทรายติดเท้าเราออกจากวัดไป ก็ถึงปีหนึ่งก็ทำบุญด้วยการขนทรายเข้าวัด ในช่วงที่งานสงกรานต์ โดยการก่อเจดีย์ทราย กลายเป็นเทศกาล มีงานประกอบบุญกุศล และก็มีงานรื่นเริงด้วยนะ ถ้าในแง่ของความละเอียดอ่อน ก็ละเอียดอ่อน.. ละเอียดอ่อนในแง่ที่ว่า “เดินมาวัด แล้วมีทรายติดเท้าออกไป” เกรงว่าจะเป็นหนี้สงฆ์! ก็ชำระหนี้สงฆ์ ด้วยการขนทรายเข้าวัด แต่จริงๆไม่ถึงขนาดนั้น! แล้วก็ไม่ปรากฏว่า ในสมัยพุทธกาล ท่านจะตีความว่า.. คนเข้าวัดมาแล้ว เดินออกไปแล้วเอาทรายจากวัดไปด้วย เป็นบาปอะไร หรือเป็นหนี้สงฆ์อะไร ไม่ได้คิดขนาดนั้น! ส่วนการที่เราทำของวัดแตก เช่น ล้างจาน.. แล้วจานแตก! โดยเฉพาะไม่มีเจตนาด้วย อันนี้.. ก็ชดใช้ด้วยการซื้อของใหม่ก็ได้! หรือจะชดใช้เป็นมูลค่า ก็คือ ชำระเป็นเงินก็ได้! หรือแม้แต่บอกกล่าวกับเจ้าหน้าที่ของวัด ผู้ดูแลสมบัติ อาจจะเป็นเจ้าอาวาส หรือเป็นพระเจ้าหน้าที่ที่ดูแล ถ้าท่านเห็นว่า..ไม่เป็นไร! แตกไปใบเดียว แต่เรามีเยอะอยู่ตอนนี้ ยังไม่ต้องซื้อมาเสริม หรือว่าถ้าไม่สบายใจ จะซื้อมาชดใช้ก็ได้ “ของที่แตกได้..ได้แตกแล้ว” นะ ท่านไม่ได้ถือโทษ หรือว่าไม่ได้บอกว่าจะต้องซื้อมาชดใช้ และเห็นว่ายังไม่ต้องชดใช้.. ประมาณนี้นะ! ก็ไม่เป็นไร ก็คือไม่มีโทษอะไร! ส่วนที่ว่าจะ “เป็นหนี้” เนี่ย!.. คำว่า “ชำระหนี้สงฆ์” ก็คือ “เป็นหนี้” ก็คือ ต้องกู้ยืมมา.. แล้วมีความสมควรที่จะต้องใช้คืน เช่น “ยืมเงินมา ๕๐๐ ก็ต้องใช้คืน ๕๐๐” หรือว่ามีดอกเบี้ยด้วย ถือเป็นการชำระหนี้ แต่ถ้าทำของเสียหาย ก็แค่ชดใช้! “แค่ชดใช้” ก็น่าจะพอสมควร ถือว่าชำระหนี้สงฆ์แล้ว ชำระแล้ว.. เพียงพอแล้ว! แต่อยากจะพูด ถึงคำว่า”ชำระหนี้สงฆ์” นี่แหละ มันเป็นคำในยุคหลัง ซึ่งไม่มีในสมัยพุทธกาล ไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎก และแม้ในอรรถกถาคัมภีร์ ไม่มีเลย ก็เอาเป็นว่า.. อยากจะชี้แจงในเรื่องนี้มากกว่า ก็คือ “การใช้ของสงฆ์’ การใช้ของสงฆ์เนี่ย ถ้าเราไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้มันแตก ก็ไม่น่าจะมีความผิดอะไร ของสงฆ์ก็ไม่ใช่เฉพาะเรื่อง ถ้วย ชาม มันรวมไปถึงพวกที่นั่ง ที่นอน ฯลฯ ทุกอย่างนะ โดยเฉพาะ.. ถ้าเป็นพระก็ต้องดูแลของสงฆ์ให้ดีนะ ต้องช่วยกันดูแลของที่เป็นกองกลาง เรียกว่าเป็น “ของสงฆ์” ที่พูดเนี่ย มันมีตัวอย่างในพระสูตร อยู่พระสูตรหนึ่ง ที่พูดถึง “ยักษ์สองตน” “ยักษ์สองตน” นั้นมีอดีตชาติเป็นพระ ยักษ์ตนหนึ่งชื่อ “ขร” (ขะ-ระ) อีกตนหนึ่ง ชื่อว่า “สูจิโลม” (สู-จิ-โล-มะ) สูจิ แปลว่าเข็ม สูจิโลม ก็คือ “ขนแข็ง แหลมคม เหมือนเข็ม” เป็นยักษ์ที่มีขนแข็งแหลมคมเหมือนเข็ม ก็คือ มีผิวสัมผัสที่ไม่สบาย “ขร” (ขะ-ระ) มาเป็นภาษาไทยแปลว่า “ขรุขระ” ก็มีผิวขรุขระ แข็ง คม เปรียบเหมือนผิวจระเข้ ประมาณนี้นะ ผิวจระเข้ ด้านสันมันด้วย ที่มันมีนูน มีขอบคม ประมาณนี้ ยักษ์สองตนนี้ ในอดีตตนหนึ่งเป็นพระภิกษุในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า”กัสสปะ” เคยเป็นพระภิกษุในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า”กัสสปะ” วันหนึ่งเดินทางไกล เหงื่อไคลท่วมตัว แล้วก็ใช้เตียงของสงฆ์โดยที่ไม่ได้”ปูลาด” หมายความว่า การจะใช้เตียงต้องมีผ้าปู เพื่อไม่ให้ความสกปรกของร่างกายนี้ ไปเปื้อน ไม่ให้เหงื่อไคลไปโดนไม้ที่เป็นตัวเตียง สมัยนั้น พระรูปนั้นไม่เอื้อเฟื้อ ก็เอาร่างกายที่สกปรกนอนกับเตียงนั้นไปเลย ไม่มีผ้าปูเตียง ไม่มีผ้าปูลาด ศีลอื่นๆ รักษาดี แต่ตัวนี้.. พลาดไป!! ชาตินั้นก็ไม่สามารถทำคุณวิเศษอะไรให้เกิดขึ้นได้ เมื่อตาย.. มรณภาพแล้ว! ก็มาเกิดเป็นยักษ์ อาศัยอยู่ในที่ทิ้งขยะ มีทั้งขยะและมีทั้งซากศพ มีซากศพสารพัด มีศพสัตว์ ช้าง ม้า วัว ควาย นก หรือแม้แต่ศพคนก็มี (เขาบรรยาย สถานที่ที่อยู่ของยักษ์นั้น อย่างนี้เลย) ยักษ์อีกตนหนึ่งที่เป็นเพื่อนกัน ชื่อ “ขระ” ที่แปลว่า “ขรุขระ” นี่นะ ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า “กัสสปะ” เขาเป็นอุบาสก วันหนึ่งก็อย่างนี้ มาทำงานหนัก..เหนื่อย เหงื่อท่วมตัว แล้วก็มาใช้ของสงฆ์ มานอน โดยไม่ได้ปูลาด ไม่ได้ปูผ้านอน เป็นการทำของสงฆ์ให้เปื้อน แล้วก็ไม่ทำความสะอาดของสงฆ์นั้น อยู่ในวัดที่มีโยมทำบุญด้วยของดีๆ มันก็มีผ้าเหมือนกันนะ แต่เป็นผ้าแบบดูงดงาม สวยงาม ก็ไปนอนทับผ้า บางทีก็ไปนอนทับผ้าที่สวยๆ นั้น เขาเรียกว่า “ผ้าอันวิจิตร” อุบาสกนั้นมีเหงื่อไคลท่วมตัว ก็ไปนอนทับผ้าของสงฆ์.. แล้วก็ไม่ทำความสะอาด อันนี้ “ใช้ของสงฆ์” แบบประมาท..ไม่เอื้อเฟื้อ ท่านใช้คำว่า “ไม่เอื้อเฟื้อ” อย่างอื่นดีหมดนะ.. แต่ว่ามาเจอ “ไม่เอื้อเฟื้อในการใช้ของสงฆ์” ตายไปแล้วมาเป็นยักษ์ ยักษ์แบบไม่ดีด้วย! พระมาเป็นยักษ์ แบบที่มีขนแข็ง ชื่อ “สูจิโลมะ” (สูจิ ที่แปลว่า เข็ม เข็มแข็งๆ เป็นขนแข็งๆ อาจเหมือนแม่นก็ได้นะ!) ส่วนอุบาสกนั้น มาเป็นยักษ์ที่ผิวแบบขรุขระ เหมือนมีเกล็ดแข็งๆ แต่ว่า.. “ยังมีบุญเดิมๆ” ทำให้เข้าข่ายพระญาณของพระพุทธเจ้าของเรา เช้าวันหนึ่ง พระองค์เห็นว่าสูจิโลมยักษ์จะได้รับประโยชน์จากการแสดงธรรมของพระองค์.. ก็เสด็จไปโปรด แต่ว่าการไปนี่นะ ท่านบรรยายให้เห็นถึง “ความมหากรุณาของพระพุทธเจ้า” เสด็จออกจากพระคันธกุฎี คำว่า “พระคันธกุฎี” คือ กุฏิที่อยู่ที่หอม (คันธกุฎี กุฏิที่หอม มีกลิ่นหอมอยู่เสมอ) เสด็จออกจากพระคันธกุฎีไปพระองค์เดียว ไปที่กองขยะ เพื่อโปรดยักษ์ กองขยะเหม็นด้วยนะ! มีซากศพ..เต็มไปด้วยซากศพ ให้เห็นว่า.. พระองค์มีความกรุณา..เป็นมหากรุณา มุ่งประโยชน์ต่อยักษ์ มุ่งประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ ไม่ได้เลือกว่าที่นั้นจะมีสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร พระองค์ละจากที่หอมมาสู่ที่เหม็น เพื่อโปรดยักษ์สองตนนี้! ตอนแรกสูจิโลมยักษ์เนี่ย..หวงที่ ทั้งๆ ที่นั้นก็ที่ไม่ดี ที่เหม็น แต่ก็ยังหวงที่! ก็เห็นว่ามีพระภิกษุ มีสมณะนั่งอยู่ เพื่อนยักษ์ที่เคยเป็นอุบาสก สะกิดเรียก “สุจิโลมะ.. ดู! สมณะมานั่งในที่ของคุณ” สูจิโลมะก็หันไปดู! “อือ..อาจจะไม่ใช่สมณะก็ได้นะ ดูเหมือนสมณะ แต่อาจไม่ใช่สมณะก็ได้ เดี่ยวจะดูว่าจะเป็นสมณะแท้หรือเปล่า? เดี๋ยวเราจะพิสูจน์!” วิธีพิสูจน์คือ.. เข้าไปข่มขู่!! ก็เข้าไปจะคว้าตัวพระพุทธเจ้า คล้ายๆกับว่า โน้มตัวมาจะจับ พระพุทธเจ้าก็ถอยไปหน่อยนึง คล้ายๆ ยักษ์ได้สัมผัสที่พระองค์ พระองค์ก็ถอยไปหน่อยนึง สูจิโลมะ ก็ถามว่า.. “กลัวเหรอ? เห็นถอยไป กลัวเหรอ?!!” เขาเรียกว่า ได้ทีก็ข่มเลย “กลัวใช่ไหม!!” พระพุทธเจ้า ตรัสว่า.. “ไม่ได้กลัว แต่สัมผัสของท่านมันเลว สัมผัสเลวทราม” (คือ สัมผัสไม่น่าสัมผัส ไม่ได้ด่าว่า ยักษ์เลวนะ แต่สัมผัสนั้นเลวทราม) สัมผัสนั้นหยาบกระด้าง ประมาณนี้..! พอได้ยินว่าสัมผัสของตนเลวทราม! ยักษ์ก็ยิ่งโกรธ! “เดี๋ยวเราจะฉีกหัวใจท่าน จับขาท่าน แล้วก็เหวี่ยงท่านข้ามแม่น้ำคงคาไปเลย” พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า.. “เราตรวจดูแล้ว ในสามโลกธาตุนี้ ไม่มีใครทำอย่างนั้นได้หรอก อย่าว่าแต่จับเท้าเราเหวี่ยงเลย เพียงแค่ทำจิตเราให้พลุ่งพล่าน ก็ไม่สามารถทำได้” ตรัสต่อไปว่า “แต่เอาอย่างนี้ดีกว่า! ท่านสงสัยอะไรก็ถามได้” คือ ยักษ์นั้นมีคำถามอยู่.. ถ้าคำถามนี้กับใคร ถ้าผู้นั้นตอบไม่ได้ ก็จะจับเท้าเหวี่ยงไป สุดท้ายยักษ์ก็ถาม.. ถามไปพระพุทธเจ้าก็ตอบได้ ยักษ์นั้นก็บรรลุเป็น “พระโสดาบัน” พอบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว อัตภาพที่ดูไม่ดีก็เปลี่ยน กลายเป็นดูผ่องใสขึ้นมา อันนี้ ที่เล่ามานี้ จะบอกว่า.. อดีตชาติของสูจิโลมยักษ์ และ ขรยักษ์ คือ เคยมาใช้ของของสงฆ์ “แบบไม่เอื้อเฟื้อ” แต่อย่างโยมไปล้างจาน ก็น่าจะช่วยงานวัดนั่นแหละ! ก็เอื้อเฟื้อนะ.. แต่มีพลาดได้! “ของแตกได้.. ได้แตกแล้ว”!! เหมือนอย่างพระ หลวงปู่ท่านหนึ่ง ที่ท่านได้รับแจกันมาจากโยม แล้วแจกันนั้นก็มีค่ามาก ท่านก็สั่งสามเณรว่า “ดูแลให้ดีนะ! อันนี้มีมูลค่ามากนะ” จะไปไหน ก็กังวลอยู่กับแจกันใบนั้น วันหนึ่ง.. เณรดูแลกุฏิ ด้วยความเป็นเณรนั่นแหละ ก็อาจจะดูแลไม่รอบคอบเท่าไหร่ ทำให้แจกันแตก! พอหลวงปู่กลับมา สามเณรรายงานสารภาพผิดว่า “ได้ทำแจกันแตกไปแล้วครับ!” หลวงปู่ก็บอกว่า “ของที่แตกได้..ได้แตกแล้ว” เณรนั้นก็ไม่ได้มีความผิดในระดับที่เรียกว่า.. จะต้องมา “ชำระหนี้สงฆ์” อะไร หลวงปู่ก็ไม่ได้คาดคั้นสามเณรว่า.. จะต้องหาแจกันใหม่มาชดใช้นะ ไม่ถึงขนาดนั้น! เพียงอุทานว่า.. “ของแตกได้..ได้แตกแล้ว” อันนี้ถ้าโยมมีความไม่สบายใจ จะชดใช้ด้วยจาน หรือด้วยมูลค่าก็ได้ จะใช้ศัพท์ว่า “ชำระหนี้สงฆ์” ก็ได้ แต่ก็ให้รู้ว่า คำว่า”ชำระหนี้สงฆ์” เป็นศัพท์ใหม่ น่าจะบัญญัติใช้ในประเทศไทยนี่แหละ! จริงๆแล้ว เราไม่ได้เป็นหนี้สงฆ์อะไร ทำของส่วนกลางเสียหายไป.. ถ้าจะให้ดีก็ชดใช้ แต่ถ้าของมันมีเหลือเฟือ ก็เพียงแค่ชำระเป็นมูลค่าก็ได้ หรือแม้เราไม่มีทรัพย์ไม่มีเงิน เรามาช่วยด้วยแรงกายนะ แล้วทำของวัดหรือของสงฆ์แตกเสียหายไป ก็ไปรายงานให้กับเจ้าหน้าที่ ไปรายงานกับท่านเจ้าอาวาส ก็ไม่น่าจะถึงขั้นที่ว่าจะต้องมาบังคับให้ชดใช้อะไร ถ้าเราไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะชดใช้ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนะ อันนี้ ถ้าโยมมีกำลังที่จะชดใช้ค่าเสียหายนั้น เมื่อจะชดใช้แล้ว ก็หมดภาระหรือหมดความกังวลออกไป ที่ตอบคำถามตรงนี้ ก็คือ จะมาชี้แจง ในเรื่องของคำว่า “ชำระหนี้สงฆ์”เท่านั้นเอง พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการ “ธรรมะสว่างใจ” ออกอากาศ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๕ คลิปลิงค์รายการ https://youtu.be/1vx-FTF7GxM (นาทีที่ 00:54-1:13)

อ่านต่อ