#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ปัญญาในพุทธศาสนา #ถาม : พระพุทธศาสนาสอนเรื่องปัญญาไว้อย่างไร? #ตอบ : เรื่องใหญ่มากนะ เรื่อง”ปัญญา” พุทธศาสนาแตกต่างจากศาสนาอื่นด้วยเรื่องนี้เอง เรื่องปัญญานี้เอง ศาสนาอื่นก็สอนให้คนทำดี มีศีล โดยรายละเอียดอาจจะไม่เหมือนกันเป๊ะ แต่ก็สอนให้คนเป็นคนดี แล้วก็เรื่องการทำสมาธิเขาก็มี มีมาแล้วตั้งแต่ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมา ตัวแตกต่างคือปัญญานี่เอง! ปัญญาเห็นความจริง เห็นความจริงแล้วจึงรู้ว่า ศาสนาเก่าๆ หรือแม้แต่ศาสนาใหม่ๆ ที่ไม่เห็นความจริง ก็จะสอนกันไปฝึกกันไปอีกแบบหนึ่ง เชื่อกันไปอีกแบบหนึ่ง ยึดถือกันไปอีกแบบหนึ่ง ปัญญาในพุทธศาสนา..หมายถึงปัญญารู้แจ้ง บุคคลแรก..ที่พูดเป็นบุคคลนะ ก็คือ พระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาแจ่มแจ้ง ตอนที่พระองค์ตรัสรู้ มีความแจ่มแจ้งเห็นความจริงเป็นลำดับ ในวันที่พระองค์ตรัสรู้ ในตอนหัวค่ำ..ปฐมยาม มีปัญญา แต่ยังไม่ใช่ปัญญาตรัสรู้ แต่ก็เป็นญาณหยั่งรู้ รู้อดีตชาติของพระองค์เอง แต่พระองค์ก็เห็นว่าความรู้อย่างนี้ก็ยังไม่ใช่ความรู้ที่จะทำให้พ้นทุกข์ เห็นอดีตชาติระลึกไประลึกได้ถึงไหนก็ระลึกได้ ก็คงจะใช้เวลาสักพักหนึ่งล่ะนะ ระลึกแบบไม่มีที่สิ้นสุด รู้อยู่ว่าเคยเกิดเป็นอะไรๆ เวลาระลึกชาติคงไม่ได้ระลึกแบบทั้งชาติ แต่รู้ว่าเป็นอะไรๆ เหมือนเราระลึกตอนที่เป็นเด็กๆ ภาพก็ไม่ใช่ว่าทั้งวัน ตื่นเช้ามาทำอะไรจนนอน ไม่ใช่อย่างนั้น ก็เป็นเด็ก ตอนเรียนหนังสือเป็นยังไง? ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเป็นยังไง? ตอนทำงานเป็นยังไง? ประมาณอย่างนี้ เป็นอดีต เป็นภาพๆ ของท่านก็เห็นเป็นภาพๆ รู้ว่าเคยเกิดเป็นอะไร หลายครั้งแล้ว นับไม่ถ้วนเลย และทุกครั้งที่เกิดตายแล้วทั้งนั้น ไม่งั้นไม่มาเป็นพระองค์ตอนนี้ แล้วก็เห็นว่าความรู้นี้ยังไม่พอ ก็ทำสมาธิอีก ได้ความรู้ครั้งที่สองตอนมัชฌิมยาม ก่อนจะเกิดความรู้นี้ พระองค์เห็นความเกิดดับของพระองค์เอง เวียนว่ายตายเกิดในอดีตที่ผ่านมา น่าจะตั้งคำถามขึ้นมาว่า ‘แล้วสัตว์อื่นล่ะเป็นยังไง?’ แล้วก็ทำสมาธิ ก็ได้ญาณที่สอง เห็นความเกิดดับของบรรดาสัตว์ทั้งหลาย ตายจากนี่ไปเกิดเป็นนั่น แล้วรู้ด้วยว่าไอ้ที่เกิดมาเนี่ยมันมาจากอะไร ปัจจุบันที่ยังไม่ตายมาจากอะไร ท่านเปรียบเหมือนคนที่อยู่บนที่สูง และเห็นคนเดินออกจากบ้านนี้เข้าบ้านโน้น เดี๋ยวนี้ก็ต้องใช้คำใหม่ เปรียบเหมือนอยู่บนโดรน ลอยดู เฝ้าสังเกตเห็นคนเดินไปเดินมา ออกจากบ้านนี้ไปบ้านนู้น ออกจากบ้านนู้นมาบ้านนี้ คำว่าบ้านนู้นบ้านนี้ คือ จากเป็นคนเป็นเทวดา จากเทวดาไปเป็นสุนัข จากสุนัขไปเป็นแมว อะไรประมาณนี้นะ คือ เปลี่ยนบ้าน เปลี่ยนภพ เปลี่ยนชาติ เห็นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าประสงค์จะรู้ความเป็นไปของใครก็รู้ได้ ตอนที่ได้ความรู้อันแรกที่เป็นญาณแรกเนี่ย ความรู้ของท่านไม่ใช่เพียงแค่ว่าเห็นความเกิด-ดับอย่างเดียว ไม่ใช่เห็นว่าเคยเป็นอะไรอย่างเดียว แต่มันมีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า “ทุกชาติที่เกิด เกิดแล้วตายทุกชาติ” เพราะฉะนั้นทุกชาติ “เป็นทุกข์” ทุกชาติ เกิดทีไรเป็นทุกข์ทุกชาติ แล้วสัตว์อื่นเป็นยังไง? สัตว์อื่นก็เช่นเดียวกัน ได้ความรู้ในญาณที่สอง คือ สัตว์อื่นก็เกิดตายกันอย่างนี้เอง เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ไม่มีใครพ้น เข้าสมาธิใหม่จะพ้นอย่างไร? ปรากฏว่าได้ความรู้ขึ้นมาเป็น”อาสวักขยญาณ” ละกิเลสได้ ละอาสวะได้ เป็นกิเลสชั้นละเอียด อันนี้เป็นปัญญาในพุทธศาสนา “ปัญญาในพุทธศาสนา” ก็คือ เป็นปัญญาที่เป็นเครื่องทำลายกิเลส ไม่ใช่รู้เรื่องราวแบบโลกๆ ทั่วไป ไม่ใช่รู้แบบเอาไว้ทำมาหากินทั่วไป ไม่ใช่ปัญญาทั่วๆ ไป หรือปัญญาเอาไว้ทำมาหากิน รู้เอาไว้เป็นอาจารย์สอนเพื่อสร้างอาชีพ อะไรพวกนี้นะ หรือเขียนตำราเป็นศาสตราจารย์อะไรอย่างนี้ “ปัญญาในพระพุทธศาสนา” เน้นไปที่ทำลายกิเลส เปรียบเหมือนจุดไฟทำให้เกิดแสงสว่าง โลกนี้มืดไปด้วยอวิชชา มีปัญญาทำให้แจ่มแจ้ง มองเห็นความจริง..เข้าใจ !! ปัญญาอย่างนี้ไม่ได้มาโดยง่าย ต้องสร้างเหตุ คือ สั่งสมบารมี ถ้ายังไม่เคยฝึกเลย..ก็ต้องมาฝึกรักษาศีล แล้วก็ฝึกสมาธิที่ถูกต้อง ถ้าจะฝึกให้ได้ปัญญาในระดับพระพุทธเจ้า “ตรัสรู้เอง” ก็ต้องสร้างบารมี ๑๐ อย่าง ถ้าไม่มีกำลังใจมากพอขนาดนั้น เอาแค่เป็นพระสาวก ก็ฝึก ๓ เรื่อง คือ ๑. ฝึกศีล (ศีลสิกขา) ๒. ฝึกจิต (จิตตสิกขา) ๓. ฝึกปัญญา (ปัญญาสิกขา) ตัวที่เป็นสาเหตุจริงๆ ที่จะให้เกิดปัญญา คือ “สมาธิ” นี่คืออยู่ในจิตตสิกขา แต่สมาธิที่ดีต้องมาจากมีความประพฤติดีด้วย เพราะฉะนั้นต้องมีศีลด้วย ศีลดี.. ทำให้มีสมาธิดี สมาธิที่ถูกต้อง.. ทำให้เกิดปัญญา มีปัญญาแล้ว ปัญญาที่แท้จริง คือ รู้แจ้งแล้วทำลายกิเลสได้ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ทุกวันนี้เพราะยังมีกิเลสตัวสำคัญคือ “อวิชชา” คือ ความไม่รู้ พอพูดถึงเรื่องนี้ทำให้นึกถึงเรื่องเล่าที่ครูบาอาจารย์เล่าถึงโยมคนหนึ่ง ไปร้องไห้กับหลวงปู่เทสก์ เขามีทุกข์ในชีวิต แล้วมาคร่ำครวญกับหลวงปู่ คงจะเห็นทุกข์ในชีวิต แต่เป็นการเห็นทุกข์แบบจมทุกข์ ไม่ใช่เห็นทุกข์แบบมีจิตผู้รู้ เป็นการจมอยู่กับทุกข์ แล้วก็มาคร่ำครวญกับหลวงปู่เทสก์ว่า “หลวงปู่.. ทำไม? หนูต้องเกิดมา?!” ประมาณว่าเกิดมาแล้วทำไมมันทุกข์อย่างนี้ ทำไมต้องเกิดมา? หลวงปู่ก็ตอบไปว่า “เพราะไม่รู้” โยมได้ยินแค่ว่า’ไม่รู้’ จึงถามกลับไปทันทีว่า “หลวงปู่ไม่รู้แล้วใครจะรู้?!!” ประมาณโกรธหลวงปู่อีกนะ หลวงปู่ตอบว่า “เพราะไม่รู้” ถูกต้องเป๊ะเลย คือ ยังมีอวิชชาอยู่ ยังไม่มีปัญญาในพุทธศาสนา ถ้ามีปัญญาแบบในพุทธศาสนา ละอวิชชาได้ ก็จะไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ทีนี้ปัญญาในพระพุทธศาสนามีเป็นลำดับๆ ปัญญาลำดับแรกคือ รู้ถูกต้องตรงตามที่เป็นจริง ตรงตามความเป็นจริง นั่นคือ “สัมมาทิฏฐิ” “สัมมาทิฏฐิ” มีตั้งแต่ระดับโลกๆ เรียกว่าระดับโลกิยะ คือ เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธ์ุ ทำกรรมอะไรไว้ก็ได้รับผลของกรรมนั้น ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เชื่ออย่างนี้! เห็นอย่างนี้!! เรียกว่ามีปัญญาใน”ระดับโลกิยะ” นี่ก็สำคัญมากนะ บางคนไม่เชื่อนะ ไม่เชื่อว่าทำดีได้ดี เลยไม่ทำดี ! ไม่เชื่อว่าทำชั่วได้ชั่ว เลยทำชั่ว !มันโง่นะ พูดให้ดีหน่อย คือ ไม่มีปัญญา นอกจากนี้แล้ว สัมมาทิฏฐิในระดับโลกๆ ก็คือ เชื่อเรื่องบุญ เรื่องบาป เชื่อเรื่องความเป็นผู้มีคุณ คือ พ่อแม่มีคุณ ครูบาอาจารย์มีคุณ คนที่ทำบุญกับเรา มีบุญคุณกับเราก่อน ผู้เป็นบุพการีมีจริง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชาที่ดี ผู้ทรงธรรม แล้วบุคคลอื่นๆ มากมาย ผู้มีพระคุณมีจริง ถ้าว่าตามศัพท์บุพการีมีจริง แล้วเราก็ต้องมีหน้าที่ : – ต้องกตัญญู คือ รู้คุณ – และกตเวที คือ ตอบแทน ก็มีวิธีตอบแทนมากมายให้ตรงกับฐานะของผู้มีพระคุณของแต่ละคน โดยเฉพาะกับพ่อแม่ เชื่อเรื่องการเวียนว่าตายเกิด อันนี้ก็สอดคล้องกับเรื่องกฎแห่งกรรม ชาติหน้ามี ชาติที่แล้วมี ไม่ใช่ว่าตายแล้วสูญ มีการเวียนว่ายตายเกิด นี่เป็นปัญญาใน”ระดับโลกิยะ” คนที่ไม่เชื่อในการเวียนว่ายตายเกิดก็เสพสุขเต็มที่ เพราะเชื่อว่าชาตินี้เป็นชาติเดียว ทำเลวไปเลย เพราะว่าชาติหน้าไม่มี เพราะไม่กลัวนรก อันนี้ก็เสี่ยงมากเลย ถ้าเห็นผิด อย่างนี้เสี่ยงมาก ปัญญาในระดับนี้ยังมีคนไม่เชื่อ ก็น่าเห็นใจ พอไม่เชื่อ แม้ปัญญาในระดับโลกิยะก็ยังไม่ได้ เสี่ยงมากที่จะไปทำผิดในเรื่องต่างๆ คนที่เห็นว่ามีชาตินี้ชาติเดียว มักจะจ้องจะเสพสุขอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษ ไม่คำนึงถึงศีลธรรม อันนี้เป็นความเห็นระดับโลกๆ ระดับสูงขึ้นไปเรียกว่า ระดับ “โลกุตตระ” คือ เหนือโลก ก็มีปัญญาระดับเหนือโลก ขั้นแรกก็คือ “เห็นว่ากายนี้ ใจนี้ ไม่ใช่เรา” นี่เป็นปัญญาระดับพระโสดาบัน ตอนบรรลุมรรคผลเกิดปัญญาขึ้นมา “เห็นว่ากายนี้ ใจนี้ ไม่ใช่เรา” ละความเห็นผิดที่ว่า “สักกายทิฏฐิ” ลงได้ นี่เป็นหน้าที่ของปัญญาที่จะละกิเลสออกไป เป็นตัวตัดกิเลส เป็นตัวละกิเลส กิเลสที่จะพลอยละไปด้วยอีก ๒ ตัว ก็คือ “สีลัพพตปรามาส” กับ “วิจิกิจฉา” ก็กลายเป็นละสังโยชน์ได้สามตัว มีละ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส ปัญญาระดับต้น เรียกว่า “ปัญญาเล็กน้อย” พระโสดาบัน ท่านเทียบว่าปัญญาเล็กน้อย ถ้าเป็นปัญญาระดับปานกลาง จะเห็นว่ากามทั้งหลายมีแต่โทษ หรือเห็นว่าตัณหาเกิดขึ้นทีไรเนี่ยเป็นทุกข์ทุกที จะมีวิธีทำให้เกิดปัญญา ๒ แนว อย่างนี้ แนวแรกเห็นว่า…ร่างกายนี้เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ แล้วก็ไปเห็นโทษของกาม แบบนี้มักจะเป็นแนวที่ฝึกสมาธิมาอย่างมาก เป็นฝ่ายสมถยานิก ก็จะเห็นโทษของกาม แล้วบรรลุปัญญาในระดับที่สอง เป็นพระอนาคามี นี่เป็นปัญญาปานกลาง แนวที่ ๒ ในฝ่ายวิปัสสนายานิก มักจะเห็นว่า”ตัณหาเกิดขึ้นทีไรเป็นทุกข์ทุกที ” ปุถุชนกับพระโสดาบันยังรู้สึกว่ามีตัณหายังไม่รู้สึกเป็นทุกข์เท่าไหร่ ถ้ามีตัณหาแล้วไม่ได้รับการสนองจึงจะเป็นทุกข์ ถ้ามีตัณหาแล้วได้รับการสนองรู้สึกเป็นสุข หรือมีตัณหาขึ้นมาแล้วไม่รู้สึกว่าตัวตัณหาทำให้เกิดทุกข์ ก็มีตัณหาแล้วแสวงไป ได้รับการสนองก็เป็นสุข ชื่นใจ แต่ตอนที่กำลังแสวงหาอะไรไปสนองตัณหา ยังไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ ต่อเมื่อรู้สึกว่า..ปลงใจว่าไม่ได้ จึงเป็นทุกข์ เรียกว่า หวังแล้วไม่สมหวังจึงจะเป็นทุกข์ แต่จริงๆ ตัวตัณหาเนี่ยแหละ เกิดขึ้นปุ๊บ!..เป็นทุกข์ทันที!! อันนี้เป็นปัญญาระดับปานกลาง เป็นปัญญาของพระอนาคามี ดูซิ.. ปัญญาในพุทธศาสนาไม่ใช่ธรรมดาเลยนะ !! ส่วนปัญญาในระดับพระอรหันต์ ก็คือ ปัญญาระดับสูงสุด เห็นว่าจิตนี้เองเป็นทุกข์ ทีแรกเห็นว่าตัณหาเกิดขึ้นมาแล้วเป็นทุกข์ แต่ตอนนี้เห็นว่า ตัณหายังไม่เกิดเลย ตัวจิตนี่แหละเป็นทุกข์ !! “จิตผู้รู้” นี่แหละ! ที่เราฝึกจนมีจิตผู้รู้มาแล้ว สุดท้ายผู้รู้เองก็เป็นทุกข์ !! เปรียบเสมือนว่า อุตส่าห์สร้างเรือประกอบเรือข้ามจากฝั่งโน้นมาฝั่งนี้ ข้ามมาถึงแล้วไม่แบกเรือต่อไป ขึ้นฝั่งไปเลย จิตผู้รู้เหมือนเรือ ต้องมี ต้องฝึกให้มีขึ้นมา เป็นปุถุชนจะมาเป็นพระโสดาบัน ก็ต้องมีจิตผู้รู้ จาก”โสดาบัน”มาเป็น”สกิทาคามี” ก็ต้องมีจิตผู้รู้ จาก”สกิทาคามี” มาเป็น”อนาคามี” ก็ต้องมีจิตผู้รู้ แต่ถ้ายังคงประคองรักษาจิตผู้รู้อยู่ ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์ อันนี้เป็นหน้าที่เป็นงานของพระอนาคามี ปัญญาในระดับพระอนาคามีที่จะไปถึงพระอรหันต์ท่านต้องวางตัวนี้ อาการวาง.. ไม่ใช่วางตั้งแต่ยังไม่มีจิตผู้รู้ ถ้าไม่มีจิตผู้รู้ ก็เป็นผู้เอ๋อ!! ไม่ใช่เป็นปุถุชนที่ดีด้วยซ้ำไป ปุถุชนต้องสร้างจิตผู้รู้ขึ้นมาเพื่อให้เห็นความจริงว่า “กายนี้ไม่ใช่เรา และใจนี้ไม่ใช่เรา” เป็นโสดาบัน ปัญญาสุดท้ายเลยคือละกิเลสทั้งปวง เห็นว่าขันธ์ ๕ ทั้งหมดเป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่ว่ามีผู้รู้เป็นสุขอยู่ ไม่ใช่อย่างนั้น เห็นว่าขันธ์ทั้งหมดนี้เป็นทุกข์ แล้วจึงปล่อยวางได้ ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีก คือ ไม่เป็นทุกข์อีก ไม่มาเป็นทุกข์อีกต่อไป ชาตินี้เกิดมาแล้วก็มีทุกข์เฉพาะชาตินี้ ทุกข์ทางกาย แต่ใจไม่ทุกข์อีกเลย ความรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริงก็พัฒนาเป็นลำดับๆ อย่างนี้ นี่คือ “ปัญญาในพุทธศาสนา” ที่ต่อเนื่องจากปัญญาในพุทธศาสนาที่เห็นถูกอย่างนี้ ถ้าว่าในองค์มรรคแล้วมันต้องพูดถึงว่า”คิดถูก”ด้วย “เห็นถูก..แล้วต้องคิดถูกด้วย!” ตัวยืนยันว่ามีปัญญาจริงหรือเปล่า? ต้องคิดถูกด้วย ความเห็นถูกเป็นเหมือนเป็นเบื้องหลังอยู่ ตัวที่จะแสดงออกให้เห็นว่าเรามีปัญญาจริงไหม? อยู่ที่คิด! คิดผิดเป็นยังไง? คิดผิดนี่คิดมุ่งแต่กาม คิดพยาบาทเขา หรือคิดเบียดเบียนเขา คิดผิด ๓ อย่าง คิดถูกนี่คือ คิดแบบไม่มุ่งกาม เป็น”เนกขัมมวิตก” ไม่คิดที่จะทำร้ายใคร เป็น”อพยาปาทวิตก” ไม่คิดแม้จะเบียดเบียนใคร ต้องมีปัญญาอย่างมากเลยนะ ไม่เบียดเบียนใคร คำว่า”เบียดเบียน” บางคนเข้าใจว่าจะต้องมีความโกรธอย่างเดียว แท้จริงแล้ว..ไม่ต้องโกรธก็เบียดเบียนกันได้ !! เช่น คนตกปลา ไม่ได้โกรธปลาแต่คิดจะตกปลา ก็คือคิดเบียดเบียนปลา ปลาก็อยู่ในน้ำดีๆ หาเหยื่อเกี่ยวเบ็ดให้ปลาเจ็บตัวเล่น เจ็บปาก ดีไม่ดีไปฆ่ามันด้วย คิดตกปลาก็เป็นคิดเบียดเบียน แม้ว่าไม่ได้โกรธปลา จะละคิดเบียดเบียนจึงต้องมีปัญญาอย่างมาก คือ ไม่มีความคิดที่จะเบียดเบียนใครเลย คิดเบียดเบียนแบบโง่ๆ คือ อาจจะไม่ได้โกรธ ความโกรธไม่ได้เป็นเหตุเดียวที่ทำให้เกิดการเบียดเบียน ต้องมีปัญญา พุทธศาสนาสอนให้เจริญปัญญามาถึงขั้นนี้เลย จึงไม่ใช่ธรรมดา เวลาผู้ที่พัฒนาตนเองจนได้ปัญญาในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงกลายเป็นผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญที่ดี มีค่าอย่างยิ่งต่อโลกนี้ เพราะว่าเป็นเนื้อนาบุญที่ดีและเป็นผู้สั่งสอนได้มีปัญญาตาม ได้รู้ตามเห็นตาม บอกแนวทางวิธีที่จะฝึกหัดตนเองให้มีปัญญาตาม โดยนำปัญญาของพระพุทธเจ้ามาบอกต่อ แล้วเอาจากประสบการณ์ตัวเองมาเป็นตัวเสริม ดังนั้น”ปัญญาในพุทธศาสนา” ก็คือ เน้นไปเลยที่มีความรู้ที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นลำดับๆ ไป อย่างที่ได้แจกแจงมา พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ : ลิงค์รายการ : https://youtu.be/FHa8DX4_45I?t=2120 (นาทีที่ 35:20 – 57:29)

อ่านต่อ