#นิมฺมโลตอบโจทย์ #อะนีโฆ #นิททุกโข #ไม่ทุกข์กายทุกข์ใจ #ถาม : “อะหัง อะนีโฆ โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ” อยากทราบว่าความหมายคืออะไร? และต่างจาก “อะหัง นิททุกโข โหมิ” อย่างไร? #ตอบ : ก็แปลถูกแล้วนะ! “อะนีโฆ” แปลว่า เป็นผู้ไม่ทุกข์กายไม่ทุกข์ใจ มันเป็นคำศัพท์ที่แปลแบบนี้ “นิททุกโข” นี่คือ เป็นผู้ไม่มีทุกข์ มี ๒ คำ ก็เป็นการเอาคำมา”ย้ำ”นั่นเอง! เหมือนเวลาเราอยากจะอวยพรให้เขา “มีสุข ปราศจากทุกข์ อย่าได้มีทุกข์กายทุกข์ใจ” เป็นคำชุดที่มาด้วยกัน ความหมายของ “อะนีโฆ” ที่ว่าเป็นผู้ปราศจากทุกข์กายทุกข์ใจ กับ “นิททุกโข” คือ เป็นผู้ไม่มีทุกข์ ใน ๒ คำนี้ ความเห็นส่วนตัวชอบคำว่า “นิททุกโข” มากกว่า แล้วความหมายก็ครอบคลุมอยู่แล้ว ส่วน “อะนีโฆ” มาเสริม เหมือนเป็นคำไพเราะ แต่ถามว่า.. มันจะมาช่วยในแง่ของการภาวนา หรือพัฒนาจิตใจของเราได้มากน้อยแค่ไหนในคำ ๒ คำนี้ ? เวลาเราเจริญเมตตา..อันนี้เป็นคำเมตตาตัวเอง จะขึ้นด้วยว่า “อะหัง สุขิโต โหมิ” ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความสุข “สุขิโต” คือ ผู้มีความสุข แล้วตามด้วยคำว่า “นิททุกโข โหมิ” คือ เป็นผู้ไม่มีทุกข์ ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีทุกข์ อีก ๒ คำต่อมาจะใช้คำว่า “อะเวโร โหมิ” และ “อัพยาปัชโฌ โหมิ” ในความรู้สึกอาตมานั้น ๔ คำนี้ ครบแล้ว! ครบตามจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาจิตใจ และเป็นการเจริญเมตตาตนเองครบ อีก ๒ คำต่อมา.. เหมือนเป็นคำสร้อย “อะนีโฆ” เป็นผู้ไม่มีทุกข์กายทุกข์ใจ คือเป็นคำรวบอีกทีว่า ทั้งหมดเนี่ย..ไม่ให้ทุกข์กายทุกข์ใจ แล้วก็ “สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ” รักษาตนให้เป็นสุข พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหลาย คำสุดท้ายจะบอกว่า ให้มีปัญญารักษาตนให้เป็นสุข พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหลาย คำสุดท้ายก็สำคัญเหมือนกัน มี “อะนีโฆ” นี่แหละเหมือนเป็นคำสร้อยออกมา ที่บอกว่า ๔ คำนี้ครบแล้วนี่ มีอธิบายในความเห็นอย่างนี้ว่า “อะหัง สุขิโต โหมิ” ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข คำว่า “สุข” เป็นคำที่ปรารถนาของทุก ๆ คนอยู่แล้ว รวมทั้งตัวเอง เวลาเมตตา คือเป็นการตั้งความปรารถนาดี ประสงค์จะให้ผู้ที่ถูกปรารถนาดีนั้นมีความสุขนั่นเอง อันนี้เป็นคำพื้น ๆ เป็นคำตั้งต้นทั่ว ๆ ไป ทีนี้เราเมตตาตนเองก็ปรารถนาให้ตนเองมีความสุข คำที่ ๒ เป็นตัวบ่งบอกว่า สุขที่ว่าต้องเป็นสุขบริสุทธิ์ คือ ไม่มีทุกข์ด้วย ก็เลยมีคำว่า “นิททุกโข โหมิ” ขึ้นมา สุขทั้งหลายทั้งปวงมีมากมาย เช่น สุขในกาม “สุขในกาม” จะสุขแบบมีทุกข์เจืออยู่ด้วย มีทุกข์รออยู่ ในทุกๆ สุขในกามนั้น เพราะกามเป็นของไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นหวังสุขในกามก็จะได้สุขที่ไม่เที่ยง สุขที่ไม่เที่ยง แค่ได้แล้วมันไม่เที่ยง ตอนมันเปลี่ยนไปนี่แหละเป็นทุกข์ คำว่า “นิททุกโข โหมิ” เหมือนจะบอกว่า จะหวังสุขในกามอย่างเดียวไม่พอแล้วนะ มันไม่ตรงสเป๊ก(spec > specification = เกณฑ์)ที่บอกว่าไม่มีทุกข์.. เข้าใจไหม? แค่หวั่น ๆ ว่าตอนได้อะไรมาเป็นความสุขในกาม ได้วัตถุกามมา แล้วแอบหวั่น ๆ ว่ามันจะต้องเปลี่ยนไป ทั้ง ๆ ที่มีอยู่ แต่แอบหวั่น ๆ ว่าสักวันมันจะเปลี่ยนไป.. แค่นี้ก็ทุกข์แล้วใช่ไหม? แล้วไอ้ความจริงเนี่ย คือมันต้องเปลี่ยน! เพราะว่ามันอยู่ในความปกติของบรรดาสังขารทั้งหลายว่า มันไม่เที่ยง, มันถูกบีบคั้นให้เปลี่ยนแปลง และมันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วถ้าเราหวังเพียงสุขในกาม มันก็จะต้องมีทุกข์รออยู่ คำที่ ๒ เนี่ย เป็นคำที่บอกว่า.. คุณต้องพัฒนาสุข ไม่ใช่แค่หวังสุขในกาม สุขที่เราพัฒนาลำดับต่อมาคือ”เป็นสุขในสมาธิ” ไม่หวังพึ่งกาม แต่ทำสุขให้เกิดขึ้นเองจากการพัฒนาจิตใจให้เข้าสมาธิให้เป็น ทำสมาธิให้เป็น ทำสมถะด้วย และทำวิปัสสนาด้วย แม้สุขในสมาธิมันก็ไม่เที่ยง ก็ต้องให้ถึง”สุขในนิพพาน” จึงจะเป็นสุขที่ไม่มีทุกข์เจือปนแน่ ๆ ก็ต้องพัฒนาตนให้จากสุขในกาม แล้วเป็นสุขในฌาน แล้วเป็นสุขในนิพพาน จึงจะตอบโจทย์ในคำที่ ๒ คือ “นิททุกโข โหมิ” ได้บริบูรณ์ ทีนี้ใน “นิททุกโข โหมิ” ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีทุกข์นั้น ทุกข์ทั้งหลายก็มีทุกข์กายทุกข์ใจใช่ไหม? มาอยู่ในคำที่ว่า “อะนีโฆ” มันมีเรื่องทุกข์กายกับทุกข์ใจ ก็ปรารถนาให้ไม่ให้มีทุกข์กายและทุกข์ใจ แต่จริง ๆ แล้วกายเป็นรังของโรค และก็เป็นวิบาก ซึ่งมันก็ต้องมีทุกข์ของมัน แม้ในพระอรหันต์ จิตท่านจะพ้นทุกข์แล้ว แต่กายก็ยังมีทุกข์อยู่เป็นปกติ เพราะฉะนั้นคำว่า “อะนีโฆ” ที่ว่าไม่มีทุกข์กายทุกข์ใจ ที่มันทำได้จริงก็คือ..ไม่ทุกข์ใจ ไม่ทุกข์กายเนี่ยนะ มันจะมีทุกข์กายอยู่เสมอแหละ ตื่นเช้ามาต้องถ่าย ถ้าไม่ถ่ายก็เป็นทุกข์ มันถูกบีบคั้นให้ต้องถ่ายหนักถ่ายเบา ต้องล้างหน้าต้องแปรงฟัน เป็นทุกข์ประจำกาย คำว่า “อย่ามีทุกข์” เนี่ย คงจะหมายถึงทุกข์ใหญ่ ๆ เช่น ทุกข์จากความเจ็บป่วยไข้หรืออุบัติเหตุ หรือถูกทำร้ายร่างกายจากคนอื่น ประมาณอย่างนี้ ฉะนั้น คำสำคัญอยู่ที่คำว่า “นิททุกโข” ซึ่งเป็นคำรวมอยู่แล้ว “นิททุกโข” เนี่ย อย่างที่บอก คือมีทุกข์กายกับทุกข์ใจ ทุกข์กายเนี่ยมันเป็นวิบาก บังคับไม่ได้อยู่แล้ว แต่ทุกข์ใจเนี่ยมันมีสาเหตุ แล้วสามารถทำให้มันหมดไปได้ แล้วพุทธศาสนาก็สอนวิธีนี้แหละทำให้ทุกข์ใจมันหมดไป ตัวการสำคัญ(และเห็นง่าย) ที่ทำให้เกิดทุกข์ใจก็คือกิเลส ในกลุ่มที่เรียกว่า…โทสะ ทีนี้เราเป็นปุถุชน โทสะเรายังละไม่ได้ จะทำยังไงให้โทสะอยู่แค่โทสะ ก็คือ ให้มันโกรธขึ้นมา..แล้วรู้ไว ๆ อย่าพัฒนาให้กลายเป็น “จองเวร” หรือ “พยาบาท” จึงมี ๒ คำขึ้นมา คือ “อะเวโร” และ “อัพยาปัชโฌ” คือเราเป็นปุถุชนผู้ฝึกอยู่ ก็ฝึกในลักษณะที่ว่า ถ้าไม่โกรธเลยก็ดี จะไม่มีปัญหาเรื่องจองเวรหรือพยาบาท ถ้าไม่มีความโกรธเลย แต่ถ้ามีความโกรธขึ้นมาซึ่งมันเป็นธรรมดาเราเป็นปุถุชน โกรธมาแล้วให้รู้ไว ๆ รู้ทันความโกรธด้วยใจเป็นกลาง ไม่ให้มันเลยเถิดกลายเป็น “จองเวร” หรือ “พยาบาท” ฉะนั้น คำ ๒ คำนี้สำคัญ ตอนที่บอกว่า “จะไม่เป็นผู้จองเวรใครนะ จะไม่เป็นผู้พยาบาทใคร” บางทีคนแปล ๒ คำนี้ว่า “อย่าให้ใครมาจองเวรเรา อย่าให้ใครมาพยาบาทเรา” มันดูเหมือนง่ายดี คือ เราอย่าเป็นผู้ถูกใครจองเวร อย่าเป็นผู้ถูกใครพยาบาท ถามจริงๆ มันบังคับอะไรได้กับคนอื่น? มันเหมือนเป็นการขออ้อนวอน เหมือนศาสนาอ้อนวอนเทวดา มันไม่ลงมาการที่ฝึกตนเอง ฉะนั้น ถ้าจะแปลให้เป็นการฝึกตนเอง ก็คือ เรานี่เเหละ..จะไม่เป็นผู้จองเวร !เรานี่เเหละ..จะไม่เป็นผู้พยาบาท ! แต่มันยังมีโกรธอยู่ .. มันหงุดหงิดขึ้นมา..ให้รู้ทัน มันขุ่นใจขึ้นมา..ให้รู้ทัน ให้มันเป็นโกรธเล็ก ๆ มันโกรธนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วก็รู้ทัน ไม่ให้พัฒนาเป็นคิดจองเวร คือ ผูกใจเอาไว้จะเอาคืน พยาบาทก็คือจะทำร้ายร่างกายให้เขาถึงความพินาศ ก็คือมาจากความโกรธเล็ก ๆ นี่แหละ แล้วไม่ทันรู้ตัวก็คิดไป ๆ กลายเป็นจองเวร กลายเป็นพยาบาท ทุกครั้งที่จองเวร ทุกครั้งที่พยาบาท มีทุกข์ทันที เพราะฉะนั้น ผิดคอนเซ็ป(concept = ข้อคิดเห็น) ที่บอกว่า “อยากมีสุข” แต่คิดจองเวรเขา คิดพยาบาทเขา ก็ทุกข์ทุกครั้งที่คิด มันทุกข์ตั้งแต่โกรธแล้ว !! โกรธเกิดขึ้นกับจิตดวงไหน จิตดวงนั้นเป็นทุกข์ทันที เศร้าหมองทันที เพราะฉะนั้น เมตตาตนเองก็คือ ปรารถนาให้ตนเองมีความสุข แต่ถ้ายังไม่ละความโกรธ แถมยังเป็นจองเวรแล้วก็พยาบาท จะไม่พบความสุข ถ้าเมตตาตนเองจริง ต้องบอกกับตัวเองว่า “ฝึกนะ ฝึกรู้ทันความโกรธไว ๆ นะ อย่าให้มันเป็นความจองเวรนะ อย่าให้เป็นความพยาบาทนะ เพราะ ๒ ตัวนี้มันทำให้เราทุกข์และไม่มีสุขและที่ต้องการปรารถนาดีให้ตนเองมีความสุขตัวนี้เป็นตัวทำลายล้าง คิดทำร้ายเค้า แต่ทุกครั้งที่คิดนะ ทันทีที่คิดนะ ทำร้ายจิตตรงนี้ก่อนเลย ยังไม่ทันไปทำร้ายเค้าเลย มันทำร้ายจิตตรงนี้ก่อนเลย มันร้ายมากนะไอ้ความโกรธ ความโกรธ ความพยาบาท ความจองเวร มันร้ายมาก เกิดปุ๊บทำลายจิตดวงนั้นทันที” คนที่เราคิดจะทำร้ายเขา เขายังเป็นสุขอยู่ แต่เราเป็นทุกข์ทันที หรืออาจจะทำร้ายเขาได้ เขาอาจจะทุกข์กาย แต่ก็ไม่สามารถบังคับให้เขาทุกข์ใจได้ เหมือนพระเทวทัตมาทำร้ายพระพุทธเจ้า พระเทวทัตคิดจองเวร ทุกครั้งที่พระเทวทัตคิด ท่านก็ทุกข์นะ แต่ท่านไม่เห็น !! ท่านคิดว่า ‘ถ้าทำให้พระพุทธเจ้าพินาศฉิบหายไปซะได้ ท่านจะเป็นสุข’ แต่ทุกครั้งที่คิดนั้นท่านเป็นทุกข์ทุกครั้งเลย ยังไม่ทันลงมือก็เป็นทุกข์แล้ว พอลงมือไป คล้าย ๆ จะสำเร็จอยู่ครั้งเดียว คือตอนที่ผลักหินกลิ้งหิน มีสะเก็ดหินไปโดนหัวแม่เท้าทำให้ห้อพระโลหิต ถามว่า พระพุทธเจ้าเป็นทุกข์ไหม ? ทุกข์แค่กาย ใจพระพุทธเจ้าไม่ทุกข์ ไปพยาบาทเขาเนี่ยนะ จิตผู้พยาบาทเป็นทุกข์ ไปจองเวร.. จิตผู้จองเวรเป็นทุกข์ ลงมือกระทำแล้ว ดูเหมือนว่าดีใจสะใจ แต่เห็นเค้าไม่เป็นไปตามที่เราปรารถนา.. ก็ยิ่งทุกข์ ! ดูนะ.. จิตถูกทำร้ายถูกทำลายโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ !! จึงต้องย้อนกลับมาว่า ถ้าปรารถนาดีกับตนเอง ต้องการความสุขจริง ๆ ก็อย่าพยาบาทใคร อย่าไปจองเวรใคร การจองเวรทำสำเร็จแล้ว ก็ใช่ว่าตนเองจะมีสุข ทำไม่สำเร็จก็ยิ่งไม่มีสุข มันเป็นวงจรอุบาทว์แท้ ๆ เลย ทำเขาเจ็บได้ ไม่ใช่ว่าเขาจะทุกข์นะ ดูอย่างพระเทวทัตทำพระพุทธเจ้าห้อพระโลหิต ถามว่าเจ็บไหม? มีเวทนานะ มีทุกขเวทนา แต่ถามว่าจิตพระองค์ทุกข์ไหม? ไม่ทุกข์ !! เท่ากับว่าพระเทวทัตทุกข์ฟรี และทบต้นทบดอกทวีคูณ ยิ่งทำกับคนที่บริสุทธิ์เท่าไหร่ เป็นเนื้อนาบุญที่ดีเท่าไหร่ ไปทำบาปกับท่าน ก็ยิ่งบาปมากขึ้นเท่านั้น เป็นเนื้อนาบาปได้ด้วย ! ก็คือปลูกอะไรก็งอกงาม ปลูกข้าว ข้าวก็งาม ปลูกอุตพิด อุตพิดก็งาม ถ้าประโยคนี้ที่ว่าจะมาเมตตาตัวเองเนี่ยนะ เอาแค่ “นิททุกโข โหมิ” ก็น่าจะครบแล้ว ทุกข์มันมี ทุกข์กายและทุกข์ใจ ทุกข์กายเนี่ยเราก็บริหารร่างกายไปเท่าที่มันทำได้ มันก็มีทุกข์ประจำของกายมีอยู่เรื่อย แต่ทุกข์ใจ เราสามารถพัฒนาจนไม่มีทุกข์ไปได้ ก็คือพัฒนาด้วยการภาวนาตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาแล้ว สอนธรรมะมาให้สัตว์โลกทั้งหลาย ให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพื่อให้พ้นจากทุกข์ใจนั่นเอง เรื่องจะป่วย..ยังไงก็ป่วย ร่างกายก็ต้องเจ็บ ต้องแก่ ต้องตาย แต่จิตเมื่อพ้นทุกข์แล้ว ก็ไม่ทุกข์กับการแก่ เจ็บ ตายนั้นอีก ต้องลงลึกไปในความหมายแบบนี้ ถามว่า มีผลเสียอะไรไหมกับคำว่า “อะนีโฆ” ? ไม่มีผลเสียอะไร ! ก็เป็นการบอกว่าทุกข์มันมี ๒ อย่างนะ ทั้งกายและใจ แล้วก็ต้องมีปัญญาที่จะพ้นทุกข์ไป ก็คือรู้เท่าทันความจริง ดังนั้น บทที่ท่านให้ฝึกเมตตาตนเอง อะหัง สุขิโต โหมิ นิททุกโข โหมิ อะเวโร โหมิ อัพยาปัชโฌโหมิ อะนีโฆ โหมิ สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ มีความหมายที่ดีและควรจะฝึกเจริญ เป็นการย้ำเตือนตนเองว่า ที่ปรารถนาสุข ต้องเป็นสุขที่ไม่มีทุกข์ด้วย คือพัฒนาไป และทุกข์ทั้งหลายมีทุกข์ใจเป็นอย่างยิ่ง อย่าหาเหตุให้ทุกข์ใจ ด้วยการมีความโกรธแล้วคิดมาก กลายเป็นจองเวรหรือพยาบาท แค่นี้ก็ได้ใจความสำคัญ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศ วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/qQUcR5-SdEY (นาทีที่ 00:54:12- 01:12:15)

อ่านต่อ