#นิมฺมโลตอบโจทย์ #พูดส่อเสียด #พูดประชดประชัน #ถาม : การที่คนชอบพูดจา “ส่อเสียด หรือ ประชดประชัน” เพื่อรู้สึกสะใจตนเองนั้น! จะมีผลเสียต่อจิตใจของคนนั้น.. มากน้อยอย่างไร? #ตอบ : มันก็เป็นการสร้างวจีกรรมที่เป็นอกุศล เป็น”วจีทุจริต” ก็เรียกว่า..พูดส่อเสียด..ใช่ไหม? พูดส่อเสียด ประชดประชัน แล้วก็สะใจ! คือการพูดที่เป็นวจีทุจริต มี ๔ อย่าง ๑. พูดปด ๒. พูดส่อเสียด ๓. พูดคำหยาบ ๔. พูดเพ้อเจ้อ ไม่ว่าพูดอย่างไหน มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปนรก “ยิ่งถ้าพูดมาก” ทำจนเป็นนิสัย..ภาษาในพระคัมภีร์จะเรียกว่า “ทำให้มากเจริญให้มาก” ประมาณนี้นะ ก็จะเป็นปัจจัย ทำให้ผู้ที่พูดนั้นไปอบาย ก็มีทั้งนรก สัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต อย่างเบาที่สุด.. วิบากอย่างเบาที่สุดก็คือ ถ้าพูดส่อเสียดเนี่ยนะ มาเกิดทีไร.. ก็จะแตกจากมิตร! แรกๆ อาจจะคบกันได้ แต่อยู่ๆ ไปก็จะแตกกัน นี่เป็นวิบาก เพราะว่า “การพูดส่อเสียด” เป็นการพูดยุยง ยุแยง ให้คนที่รักกัน สามัคคีกัน ทะเลาะกัน! วิบากก็จะทำให้เราแตกจากเพื่อนแตกจากมิตร คบกันดีๆ ก็จะมีคนมายุยง หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด ถ้าเราเคยทำกรรมอันนี้เอาไว้นะวิบากก็จะส่งมา! บางทีก็ดูแล้ว.. เราก็ไม่เข้าใจ! ทำไมถึงทะเลาะกัน? งงๆ อยู่ว่า.. ทำไมความสัมพันธ์เป็นไปดีๆ แล้วก็ทำให้ถูกแยกออก แล้วก็แยกออกในลักษณะที่ว่า ไม่ชอบใจกัน เข้าใจผิดกัน ..นี่เป็นวิบาก! วิบากมาจากที่ว่า.. เราเคยไปพูดส่อเสียด แถมสะใจด้วย อันนี้เขาเรียกว่า.. การส่อเสียดผู้อื่นให้เขาแตกสามัคคีได้.. แล้วก็สะใจ! เรียกว่า.. ยังไม่สำนึก ก็จะยิ่งทำหนัก ยิ่งทำมาก ประมาณนี้ ถ้าคนที่เขาแตกกันมีคุณมาก ก็ยิ่งมีวิบากมาก หมายความว่า ถ้าไปทำให้โจรทะเลาะกันเนี่ย วิบากก็น้อยใช่ไหม ก็เรียกว่า คนเขาไม่ดีกันอยู่แล้ว เราให้เขาแตกสามัคคีกัน ไม่ค่อยเท่าไหร่ วิบากน่าจะน้อย แต่ถ้าทำให้คนดีๆ ทะเลาะกัน ก็จะมีวิบากมาก เช่น ทำให้พระที่อยู่สามัคคีกันในวัดทะเลาะกัน เคยมีนะ! เทวดาเห็นพระ ๒ รูป สนิทสนมกันดี ดูเป็นมิตรที่สนิทสนมกัน ก็อยากจะลองใจว่า พระ ๒ รูปนี้รักกันจริงไหม? เวลาไปไหนก็ไปด้วยกันนะ ไปจำพรรษาวัดนี้ก็ไปด้วยกัน เดินธุดงค์ เดินป่าก็ไปด้วยกัน วันหนึ่งเดินป่า เทวดาลองใจ! เทวดาก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นผู้ฉลาดเสมอไปนะ เทวดาที่คิดไม่ดี แล้วก็ไม่รู้ทันความคิดตนเองก็มีเยอะเหมือนกัน อย่างเช่นเรื่องนี้ เทวดาอยากจะลองใจพระ ๒ รูป ว่า รักกันมั่นคงดีไหม? มีความเป็นมิตรมั่นคงไหม? พระรูปหนึ่ง ก็ขอตัวไปทำธุระส่วนตัวหน่อย อาจจะไปถ่ายหนัก-ถ่ายเบา ก็ปลีกตัวไปข้างทาง เวลาถ่ายหนัก-ถ่ายเบา ก็ต้องแอบตามสุมทุมพุ่มไม้ เพื่อไม่ให้อุจาดตา ก็ใช้เวลาหน่อย ก็แสดงว่า.. น่าจะถ่ายหนัก พระอีกรูปท่านก็รอ ระหว่างที่รอ เทวดาก็ดู กะว่า.. ท่านจะเสร็จ หมายถึงว่าทำธุระจะเสร็จแล้ว ก็แปลงกายเป็นผู้หญิงเดินจัดเสื้อผ้า ทำกระเซอะกระเซิง ออกมาจากพุ่มไม้นั้นเจอพระที่รอก็ทำตกใจนิดนึง! แล้วก็รีบๆ เดินหลบเลี่ยงไป ทำทีคล้ายกับว่า มีอะไรกับพระรูปที่ไปถ่ายหนักหลังพุ่มไม้ พระที่รออยู่ก็เข้าใจผิดเลยว่า ‘โห! นี่แอบไป… ที่รอนานเนี่ยนะไม่ได้ไปถ่ายหนักหรอก ไปเสพสังวาชย์กับสตรีนี่เอง!’ พอพระที่ถ่ายหนักเสร็จเดินออกมา ชี้หน้าเลย “ท่านทุศีล” รูปที่ถ่ายหนักออกมาก็งง ‘อะไรไปถ่ายหนักแล้วทุศีลยังไง?..งง!’ “ห๊า! ผมทำอะไรผิด?” “อย่ามาทำไก๋ อย่าทำบิดเบือน เราเห็นอยู่กะตา มีผู้หญิงออกมาเมื่อกี้ เธอมีอะไรกันกับหญิงนั้นแล้วแน่ๆ” นี้เรียกว่า “ส่อเสียด” เป็นผลสำเร็จ ทำให้แตกกัน รูปที่ยืนรอ ก็ตัดความเป็นมิตรกับรูปที่ไปถ่ายหนัก เพราะว่า.. คิดว่ารูปที่ถ่ายหนักนั้นทำปาราชิกเสียแล้ว ขาดจากความเป็นพระแล้ว ก็ไม่คบ..เลิกคบ เทวดานั้น.. ต่อมาก็เวียนเกิดเวียนตาย มาเกิดเป็นคน ในคราวพุทธกาล มีจิตศรัทธาขอบวช พอจะเดินไปที่ไหนนะจะมีภาพผู้หญิงเดินตามอยู่เสมอเลย อันนี้เรียกว่า.. เป็นวิบากจากการที่ไปเนรมิตตัวเองให้เป็นผู้หญิง แม้ชาตินั้น ภายหลังจะมาสารภาพกับพระ ๒ รูปแล้วนะ เห็นพระท่านทะเลาะกัน แตกกันจริงๆ ก็รู้สึกว่า.. ตัวเองมีความผิด ก็ไปสารภาพว่า “ผมผิดเอง ผมเป็นเทวดา มาเนรมิตเพื่อลองใจท่านทั้งสอง จริงๆ ท่านที่ไปถ่ายหนักท่านนั้นบริสุทธิ์ ผมแกล้งลองใจ” เมื่อพระท่านเคยแตกกันแล้ว แม้จะรู้ความจริงในภายหลัง ท่านก็ไม่กลับมาสนิทกันเหมือนเดิม ทำให้เทวดานั้นมาเกิดเป็นคน มาบวชพระ พระด้วยกันไม่มีใครคบเลย เพราะเห็นว่าท่านเป็นพระ แล้วมีผู้หญิงเดินตาม ก็ดูว่าพระรูปนี้น่าจะศีลไม่ดี แล้วก็ไม่มีใครอยากคบ ที่คบอยู่บ้างก็จะพูดเสียดสีว่าท่านเป็นคนชั่วช้า ท่านก็โกรธ ใช้คำรุนแรงโต้กลับ คือ แตกจากมิตร ถ้ามาบวชในพุทธศาสนา ก็ยังมีโอกาสอยู่ มันมีวิบากก็จริง คือพระพุทธเจ้าทรงแสดงวิบากให้ดู ว่าก่อนหน้านั้นเคยทำกรรมอะไรมา อกุศลกรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำให้มีนิมิตรเป็นผู้หญิงเดินตามอยู่เสมอ โยมก็ไม่ใส่บาตรนะ โยมเห็นพระมีผู้หญิงเดินตามก็ “เอ๊ะ! พระรูปนี้ยังไง?” ก็ไม่ศรัทธา ไม่ใส่บาตร นานๆ จะมีใครมีใจกรุณาใส่ไปแล้วก็เกรงว่าหญิงคนนั้นจะอดด้วย ฝากให้ลูกศิษย์ท่านด้วย พระท่านก็บอก “ไม่มีนะ มารูปเดียว” “นั่นไง! ผมเห็นกันอยู่” ประมาณอย่างนี้ มันเป็นวิบาก วิบากที่มาเนี่ย ก็มาจากการที่ทำกรรมเอาไว้นั่นเอง ทีนี้เราเห็นคนอื่นทำ หรือได้ยินคนอื่นเขาพูด ระวังใจตัวเองด้วย! เขาพูด”ส่อเสียด” การพูดส่อเสียดนั้นจะสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ มันขึ้นอยู่กับเราเหมือนกันนะ สมมุติว่า.. มีคนอื่นเห็นว่าเรามีเพื่อน แล้วเขามาพูดส่อเสียด คือพยายามจะทำให้เราแตกจากเพื่อน ถ้าเรามีใจหนักแน่น หรือถ้าได้ยินอะไรมาก็สอบถามกัน เชื่อใจกัน ถามข้อมูล อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ!อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ จากคำที่คนอื่นเขาพูด นี่คือข้อปฏิบัติของเรา ขอแถมเอาไว้ด้วย วิบากของเขาเนี่ย ให้เขารับไป เจตนาเขาไม่ดี มีอกุศลเขาก็รับวิบากไป ทำกรรมแล้ว ก็รอรับวิบากได้ แต่สำหรับเรา ถ้าเราผู้ถูกยุแยง เราต้องมีใจหนักแน่น อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อกับคำที่คนอื่นเขาให้ข้อมูลมา ถ้าเราสนิทสนม รักใคร่กลมเกลียวกับใครก็ตาม แสดงว่าคนนั้นเขาน่าจะเป็นคนดี อันนี้เราเพียงได้ยินได้ฟังอะไรมาอย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ สอบสวนค้นคว้ากันก่อน สอบถามข้อมูลที่มาที่ไปเป็นอย่างไรกันก่อน อย่าเพิ่งไปตีตราว่า.. ผู้ที่ถูกเอ่ยถึงนั้นเป็นผู้ผิด! เหมือนเวลาเราอ่านข่าวนะ บุคคลในข่าว บางทีถ้าเราอ่านไป แล้วเชื่อว่าคนนั้นผิดเนี่ยนะ บางทีคดีพลิก! ใช่ไหม? แล้วมีหลายครั้งใช่ไหม? แล้วก็บางทีก็ใส่ความเห็นแบบรุนแรง ถูกฟ้องกลับก็มี เรียกค่าเสียหายก็มี ก็ต้องระวังตัวเอง! “ใครจะส่อเสียดยังไง ก็เป็นกรรมของเขา” เราผู้ถูกส่อเสียดหรือคนอื่นถูกส่อเสียด ให้มามองเราในแง่ไม่ดี ต้องมีใจหนักแน่น และค่อยๆ หาข้อมูลกัน ค่อยๆ สอบถามกัน สอบถามที่มาที่ไปกัน อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อว่าเขาผิด ส่วนใครจะพูดไม่ดี เราห้ามเขาไม่ได้ แต่ความโกรธในใจเรารู้ทันได้ เราเองอย่าเพิ่งไปหลงโกรธกับคำพูดนั้นจนทำให้เราทำผิดไปด้วย พูดผิดไปด้วย หรือว่าคิดผิดไปด้วย คือไปเชื่อในสิ่งที่เขาพูดยุยงมา อันนี้คำพูดยุยงส่อเสียดกับคนที่มีคุณมากก็มีวิบากแรง แล้วถ้าไปยุยงคนหมู่มากให้แตกกันก็ยิ่งมีวิบากมาก เช่น ทำให้คนในหมู่บ้านแตกกัน ทำให้คนในจังหวัดนี้แตกกัน ทำให้คนในประเทศนี้แตกกันเนี่ยนะ ก็ยิ่งมีวิบากมากเป็นลำดับ ถ้าเป็นชาติ ๒ ชาติ เมือง ๒ เมือง เป็นศัตรูกันนะ วิธีจะรบชนะ หรือทำให้ได้ผลประโยชน์จากเมืองที่เป็นเป้าหมายโดยไม่ต้องใช้อาวุธหรือไม่ต้องเสียกำลังทหารมาก ก็คือเข้าไปยุให้เขาแตกกัน เหมือนกับ.. “วัสสการพราหมณ์” ไปยุให้กษัตริย์แคว้นวัชชี ทะเลาะกัน แตกกัน ขาดความสามัคคี เหมือนทำงานสำเร็จ เหมือนเป็นผลดี แต่จริงๆ แล้ว ทำอกุศลกรรมเอาไว้ เพราะจะว่าไป แคว้นวัชชี..กษัตริย์วัชชีก็เลี้ยงดูนะ จริงๆ มีบุญคุณนะ แต่ก็ไปทำลายเมืองเขา ก็เป็นการอกตัญญูแบบหนึ่งเหมือนกัน แถมไปสร้างกรรมแบบนั้นเอาไว้ ทำให้คนแตกกัน สุดท้ายก็ไปอบาย ที่พูดมา ก็อย่าไปแช่งเขา นี่ว่าไปตามหลักทฤษฎีว่า ”ผู้พูดไม่ดี คือทำเหตุไม่ดี ก็ย่อมได้รับผลไม่ดี” แต่เราเองเวลาเจอใครพูดไม่ดี ไม่ใช่ไปแช่งเขา ไม่ใช่ไปคิดโกรธ คิดให้ร้าย คิดอาฆาตพยาบาท จองเวรกับคนที่พูดไม่ดีนั้น ถ้าเราคิดไม่ดี ไอ้ตอนที่คิดไม่ดีนั้นเรากำลังทำมโนกรรมที่เป็นอกุศล ระวังตรงนี้ด้วย!! “ใครจะพูดอะไรไม่ดี เราก็รู้ว่าเขาพูดไม่ดี ก็อย่าไปเชื่อ อย่าไปทำตาม แล้วก็อย่าไปพูดตาม” ก็ประมาณนี้ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/4nFdbFbyZBY?t=68 (นาทีที่ 1:08 – 17.20)

อ่านต่อ