“กูอยู่ไม่ได้แล้ว!”

วรรคทอง..วรรคธรรม #๔๖

“กูอยู่ไม่ได้แล้ว!”

กรรมไม่ดำไม่ขาว ให้วิบากไม่ดำไม่ขาว คือพ้นไป พ้นกรรม
มันก็คือที่เราทำอยู่นี่แหละ
ที่เรากำลังจะทำ และทำอยู่
บางคนทำอยู่ด้วย บางคนยังไม่ได้เริ่ม ก็ควรเริ่มซะนะ!
คือ กรรมไม่ดำไม่ขาว
หมายความว่ายังต้องทำกรรมอยู่นะ!
แต่เจตนา..เป็นไปเพื่อพ้นไป
ที่ทำก็คือทำอะไร?
..ทำกรรมฐาน
คือ สมถกรรมฐาน บ้าง วิปัสสนากรรมฐาน บ้าง
ยังต้องมีเจตนาในการทำอยู่
ต้องมีเจตนาในการระลึกรู้ว่า..
เมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น..คือเจตนาเจริญสติ
มีเจตนาที่จะทำสมถกรรมฐานในยามที่
จิตใจเราห่อเหี่ยว..หมดแรง..หมดกำลัง
มีเจตนาที่จะเจริญปัญญา คือมีความหวังอยู่ว่าไม่พอใจเพียงแค่ให้สงบนิ่งๆ..
ไม่พอใจเพียงแค่ให้จิตมีความสุข..สบาย
แล้วพอใจเพลิดเพลินในโลก..
ไม่ได้พอใจแค่นี้
เพราะว่ามันจะต้องเห็นความจริงของโลกนี้ว่า..
มันไม่เที่ยง..เป็นทุกข์..เป็นอนัตตา จึงจะมีปัญญาพ้นจากโลกนี้ไปได้
แต่ถ้าเห็นว่าโลกนี้..สงบดี ..นิ่ง..สบาย มีปีติ
อยู่แค่นี้นะ! ก็อยู่ในขั้นของสมถกรรมฐาน
แต่ถ้าเห็นว่าโลกนี้..มันเหมือน..เหมือนอะไร?
เหมือนไฟกำลังไหม้! หมายถึงอะไร?
..ทุกอย่างนี่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยเลย
เหมือนเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลาเลย
ไม่มีอะไรคงที่ได้เลยสักขณะเดียว
กายนี้ก็เปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ
แต่การที่จะเห็นกายนี้เปลี่ยนไปเรื่อยๆนี่นะ
ต้องใช้จิตที่มีกำลังสมถะเยอะๆ หรือกำลังของฌาน
ที่จะมาเห็นกายนี่เป็นทุกข์
คนช่างคิดอย่างอาตมานี่..ยาก
ยากที่จะมีขณะที่เห็นความจริงของกาย..ที่สามารถเจริญปัญญา
ก็ควรจะมาเห็นความจริงของจิต
จิตก็มีปกติที่เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา
ทุกข์ที่เราจะเริ่มเห็นจากการวิปัสสนาก็คือ
เห็นว่ามันเกิดดับ..เปลี่ยนแปลง..
ไอ้ความเกิดดับเปลี่ยนแปลง ..มันแสดงถึงว่า
สภาวะใดๆ ก็ตามที่เกิดมาเนี่ย
มันจะต้องถูกบีบคั้นให้เปลี่ยนไป
สติที่เกิดขึ้นมานี่นะ..
เมื่อกี้นี้รู้ทันว่ามีกิเลสอะไรเกิดขึ้น..
สติเองก็รักษาตัวสภาวะที่รู้ตัวนั้นเองไม่ได้..
เป็นธรรมดาที่จะถูกบีบคั้นให้ดับไป..
เปลี่ยนเป็นเผลอใหม่..
สิ่งต่างๆ ที่เราเห็นว่าดี พยายามรักษาไว้ ถ้ารักษาได้ก็จะไม่เห็นว่ามันเปลี่ยนแปลง
และไม่เห็นว่ามันมีทุกข์อะไรเกิดขึ้น
ท่านจึงไม่ให้ทำเพียงแค่สมถะ
ถ้าเราประคองไว้เมื่อไร..
ขณะนั้นจะกลายเป็นทำสมถะทันที
แต่ถ้าเราไม่ประคอง..ปล่อยมันไป…
ให้มันแสดงความจริง
ไอ้สิ่งดีทั้งหลาย..ดับ!
สิ่งที่ไม่ดี..ถ้าเรามีสติ..สิ่งไม่ดีนั้นก็ดับ!
…เข้าใจมั้ย? …
ทุกครั้งที่มีสติเห็นสภาวะนี่นะ ของที่ไม่ดีทั้งหลาย..จะดับ..
แล้วสิ่งที่ดีที่ว่าเนี่ย..ก็ดับด้วย
เราปล่อยมันนะ..
มันจะแสดงความจริงว่า ที่ว่าดีหรือไม่ดีต่างๆ มันมีธรรมชาติถูกบีบคั้นให้เปลี่ยนไป
ดับไปอยู่เสมอ..ไม่ว่าดีหรือไม่ดี
ฉะนั้นไม่ว่าจะ ‘ดี’ หรือ ‘ไม่ดี’ เราหวังพึ่งไม่ได้เลย เราคงไม่หวังพึ่งไอ้ไม่ดีหรอก..
แต่ไอ้ที่ดีก็หวังพึ่งไม่ได้..
ไอ้ตัวนี้ก็เจริญปัญญาว่า..”กูอยู่ไม่ได้แล้ว!”
..ไอ้ความคิดที่ว่า”กูอยู่ไม่ได้” นี่นะ ..จิตมันคิดขึ้นมาเอง
เพราะเห็นโทษภัยของวัฏฏสงสาร
เห็นว่า ..”เอ้า..ดูเอา! หวังพึ่งอะไรไม่ได้เลย” เพราะมันไม่มีสิ่งใดที่เที่ยงแท้..ที่จะหวังพึ่งได้เลย..มันมีแต่เปลี่ยนไป..เปลี่ยนไป ..
ตรงนี้เรียกว่า..เจริญปัญญานะ
แต่ถ้ามันไม่เจริญปัญญาเอง..อาจจะต้องมีการนำร่อง..ตรงนี้ต้องมีเจตนาใส่ไปหน่อย
คล้ายๆ เมื่อมันมีสมถะบ้างแล้ว มีสติบ้างแล้ว
แต่มันไม่เจริญปัญญาสักที..
ควรจะนำร่องให้มัน
..ตรงนี้มีเจตนานำมัน..คิดพิจารณาเทียบเคียง ระหว่างสภาวะนี้กับสภาวะที่ผ่านมาเมื่อกี้นี้..
..เมื่อกี้นี้เป็นอย่างนี้..ตอนนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง..
แสดงว่ามันไม่เที่ยง
เมื่อกี้เป็นอย่างนี้..ตอนนี้เหมือนเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน แต่รุนแรงมากขึ้น!
สิ่งเดียวกันนะ แต่ว่าความเข้มข้นไม่เหมือนกัน..ก็มีการเปลี่ยนแปลง..มีการเปรียบเทียบ
ให้เปรียบเทียบอย่างนี้ไปก่อน
แรกๆ อาจจะต้องใช้เปรียบเทียบ..
เป็นการเจริญปัญญาเหมือนกัน แต่ยังไม่ถึงขั้นวิปัสสนา เป็นการเจริญปัญญาเรียกว่า “สัมมสนญาณ”
(ญาณขั้นที่๓ ในโสฬสญาณหรือญาณ๑๖ ของการเจริญวิปัสสนา-ผู้ถอด)
ถ้าคิดเปรียบเทียบ..ทำได้ แต่ยังไม่ถึงขั้นวิปัสสนา ..
..วิปัสสนา จะแสดงความจริงให้เห็นเอง แล้วก็เกิดความเบื่อหน่ายคลายวาง
เพราะเห็นความเกิดดับ…
มันจะพัฒนาความเห็น ความรู้ของมันเองไปเรื่อยๆ เรียกว่าพัฒนาปัญญาไปเรื่อยๆ
การพัฒนาญาณเหล่านี้..ต้องทำ! ไม่ใช่ว่าให้มันเกิดเอง
ที่ต้องทำ..คือทำเหตุให้มันเกิด ขณะที่ทำเหตุให้มันเกิด..คือกำลังทำกรรม แต่เป็นกรรมที่ไม่ดำไม่ขาว
มีผลคือพ้นทุกข์ไป พ้นจากกรรมนี้ไป
ฉะนั้น ยังต้องทำกรรมอยู่นะ
ทำกรรมฐาน คือสมถกรรมฐานบ้าง วิปัสสนากรรมฐานบ้าง ..ทำเพื่อเป็นเหตุ ทำเพื่อเป็นเหตุนะ ไม่ใช่ทำเพื่อให้ตัวเอง…ดี….เก่ง..เลิศ ไม่ใช่เลย! แต่ทำให้จิตมันฉลาดรู้เท่าทันโลกว่า…หวังพึ่งไม่ได้
ที่เรายังอยากเกิดอยู่อีก เพราะว่า
…”เออ! โลกมันอร่อยดี..” หวังพึ่งได้! อยากอยู่ในสวรรค์
เพราะว่าพึ่งวิมานได้ พึ่งเทวดาได้..พึ่งเพื่อนผู้ใหญ่ได้..ประมาณนี้
มันก็เลยไม่เบื่อโลก …
เพราะรู้สึกว่า
“เออ..ถ้ากูอยู่ได้มีความสุขอย่างนี้ กูก็อยู่ต่อ!! ”

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล
เรียบเรียงจากการบรรยายธรรม ณ ฐนิชาฌ์รีสอร์ท อัมพวา
วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๘

สามารถดาวน์โหลดเพื่อรับฟังเสียงได้ที่ลิงค์ http://bit.ly/1QrOR6T