All posts by gade

เหนือบุญ๖

ทิพยะวิลล่า เชียงใหม่

67_TIP

บ้านจิตสบาย ๑๒

01.จิตเป็นอย่างนี้แหละ 610128

02.นิทานพาไป 610225

03.อุปเลส ๑๖ 610325

04.แม้เคยร้าย 610422

05.เมตตาตน 610527

06.ให้คะแนนกับ ๓ วิชา 610624

#นิมฺมโลตอบโจทย์#๑๑๘ ??? ถาม : อ่านที่พระอาจารย์ตอบโจทย์ อ่านไปซ้ำ ๆ ก็พอจะเข้าใจบ้าง แต่เหมือนจะตายตอนจบ ตรง “มีที่อยู่ให้จิต” น่ะค่ะ โยมยังหาไม่เจอค่ะ

นิมฺมโลตอบโจทย์#๑๑๘

ถาม : อ่านที่พระอาจารย์ตอบโจทย์ อ่านไปซ้ำ ๆ ก็พอจะเข้าใจบ้าง แต่เหมือนจะตายตอนจบ ตรง “มีที่อยู่ให้จิต” น่ะค่ะ โยมยังหาไม่เจอค่ะ

ตอบ : คำว่า “มีที่อยู่ให้จิต” ในที่นี้ ก็มีความหมายเดียวกับคำว่า “ทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง”
คือ อะไรก็ได้ มีข้อแม้เพียงว่า ที่อยู่นั้น หรือกรรมฐานนั้น ต้องไม่ยั่วกิเลส และอยู่กับที่อยู่นั้นด้วยจิตสบาย ๆ

จะเริ่มที่ “สวดมนต์” ก็ได้ ท่อง “พุทโธ” ก็ได้ หรือ “หายใจ” ก็ได้ หรือ “กายที่เคลื่อนไหว” ก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น ใช้ “สวดมนต์” เป็นที่อยู่
๑. จิตรับรู้อยู่ที่บทสวดมนต์ ก็เรียกว่า จิตอยู่กับที่อยู่

๒. ถ้าจิตไปรับรู้เรื่องอื่น ที่นอกจากบทสวดมนต์ ก็เรียกว่า จิตเผลอ (จะเผลอไปมีราคะ, โทสะ, โมหะ, ฟุ้งซ่าน, หดหู่ ในที่นี้รวมเรียกว่า ‘เผลอ’ ทั้งหมด คือเผลอจากที่อยู่)

๓. ถ้าจิตเผลอ แล้วรู้สึกได้ว่าเมื่อกี้เผลอ ก็เรียกว่า มีสติเห็นจิตที่เผลอ

๔. มีสติเห็นจิตที่เผลอแล้ว จิตก็ได้เรียนรู้แล้วว่า ‘สภาวะเผลอ’ เป็นอย่างไร ก็ไม่ต้องแก้ไขอะไรกับความเผลอนั้น การเรียนรู้สภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อกี้นี้ก็สิ้นสุดลงแล้ว

จิตจำสภาวะได้ครั้งหนึ่งแล้ว เรียนรู้ความไม่เที่ยงของสภาวะไปครั้งหนึ่งด้วย

แล้วก็กลับไปทำข้อ ๑. ใหม่ เพื่อเรียนรู้อีก

๕. ถ้าเห็นว่าเผลอ แล้วไม่ชอบใจ ไม่อยากเผลอ แล้วรีบดึงจิตกลับมา หรือบังคับให้จิตนิ่ง ๆ หรือเพ่งเอาไว้..ฯลฯ.. ก็เรียกว่า มีการแทรกแซงจิต
แล้วก็กลับไปทำข้อ ๑ ใหม่ เพื่อเรียนรู้อีก

๖. ถ้ามีการแทรกแซงแบบบังคับจิต แล้วไม่รู้ว่าบังคับจิตอยู่ จิตก็จะเครียด แข็ง กระด้าง ตรงนี้เรียกว่า เป็นผลจากการแทรกแซง ก็ให้รู้ทัน โดยไม่ต้องไปแก้มัน ถ้าอยากแก้ ให้รู้ว่าอยาก คือมีตัณหาแล้ว !
แล้วก็กลับไปทำข้อ ๑ ใหม่ เพื่อเรียนรู้อีก

๗. ถ้ามีการแทรกแซงแบบโน้มน้อมให้จิตเคลิ้ม จิตก็จะซึม ๆ ทื่อ ๆ บางทีอาจจะรู้สึกไปเองว่า ‘จิตนิ่งดีจัง !’ ตรงนี้ก็เรียกว่า เป็นผลจากการแทรกแซง ก็ให้รู้ทัน เช่นเดียวกับข้อ ๖

ถ้านั่งอยู่ ก็ใช้ “กายนั่งหายใจ” เป็นที่อยู่
ถ้าเดินอยู่ ก็ใช้ “กายเคลื่อนไหวในท่าเดิน” เป็นที่อยู่

ถ้าทำงานที่ไม่ต้องใช้ความคิดมาก เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างจาน รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น ทำงานอะไรก็ใช้ “กายที่เคลื่อนไหวทำงานนั้น ๆ” เป็นที่อยู่

มีที่อยู่แล้ว.. ก็ดูจิตที่ออกจากที่อยู่
เผลอ.. แล้วรู้
เพ่ง.. แล้ว

ที่ว่า “ยังหา (ที่อยู่) ไม่เจอ” น่าจะเป็นเพราะโยมคิดว่า ‘ได้ที่อยู่แล้วต้องสงบ ต้องนิ่งได้นาน’ อย่างนั้นคิดผิดนะ

ที่จริงคือ
มีที่อยู่ เพื่อให้มีโอกาสได้เรียนรู้สภาวะต่าง ๆ ที่เกิดกับจิต
สภาวะนั้น.. จะดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้

จะอาศัยที่อยู่.. เพื่อให้เห็นสภาวะเหล่านั้นง่ายขึ้น
เพื่อเรียนรู้ว่า มีสภาวะเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง ๆ

หน้าที่เราคือเรียนรู้นะ
เรียนจากของจริง ดูจากของจริง ดูสภาวะจริง ๆ
จิตมันเผลอก็รู้ จิตมันแทรกแซงก็รู้

รู้เพื่อให้เกิดปัญญา
ปัญญาเข้าใจในแง่ที่ว่า จิตไม่เที่ยง เกิดดับเร็ว
จิตไม่ใช่เรา เป็นไปตามเหตุปัจจัย บังคับไม่ได้

๔ มิถุนายน ๒๕๖๑

อ่านบน Facebook

ศีล ๕ ข้อ​ ๔​

ถาม​ : หนูไม่กระจ่างในศีลข้อ​ ๔​ ค่ะ​ คือการงด..

– คำหยาบ​ คือคำที่พูดให้ผู้อื่นโกรธเคืองใช่ไหมคะ ?
– คำเพ้อเจ้อ​ คือคำที่พูดไปไม่มีประโยชน์ใช่ไหมคะ ? คำจำกัดความนี้มันกว้างมาก แล้วการร้องเพลงถือเป็นการพูดเพ้อเจ้อรึเปล่าคะ ? ​และ​เพราะอะไร ?

– คำโกหก​ คือคำที่พูดไม่เป็นความจริงเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองใช่ไหมคะ ? แล้วถ้าพูดไม่จริงแต่ไม่ได้หวังผลประโยชน์ของตน​ จะเป็นคำโกหกไหมคะ ?
– คำส่อเสียด​ คือคำที่ยุยงให้เขาแตกกันใช่ไหมคะ ?

ตอบ​ : ถาม​มา​เป็น​ชุด​เลย !

มิจฉา​วาจา คือ​ วาจา​ที่​ผิด มี​ ๔​ ได้แก่

๑.​ มุสาวาท​ การ​พูด​เท็จ, พูด​โกหก, พูด​ไม่​จริง, หลอกลวง ๒.​ ปิสุณาวาจา​ การ​พูด​ส่อเสียด, พูด​ยุยง​ให้​เขา​แตกร้าว​กัน

๓.​ ผรุสวาจา​ การ​พูด​คำ​หยาบ, คำ​พูด​เผ็ดร้อน, คำ​ด่า ๔.​ สัมผัปปลาปะ​ การ​พูด​เพ้อเจ้อ, พูด​เหลวไหล, พูด​ไม่​เป็น​ประโยชน์​ ไม่มี​เหตุผล​ ไร้​สาระ​

มุสาวาท​ มี​องค์​ประกอบ​ของ​การ​ละเมิด​อยู่​ ๔​ (เรียก​สั้น ​ๆ​ ว่า​ มี​องค์​ ๔) ได้​แก่

๑.​ เรื่อง​ไม่จริง ๒.​ จิต​คิด​จะ​กล่าว​ให้​คลาดเคลื่อน ๓.​ มี​ความ​พยายาม​เกิด​จาก​จิต​ที่​คิด​จะ​กล่าว​ให้​คลาดเคลื่อน​นั้น

๔.​ ผู้อื่น​เข้าใจ​ความ​ที่​พูด​นั้น​ (ไม่​ว่า​จะ​เชื่อ​หรือ​ไม่​เชื่อ​ก็​ตาม)​

มุสา​ แปล​ว่า​ เท็จ​ ได้แก่​เรื่อง​ที่​ไม่​เป็น​จริง

วาท​ แปล​ว่า​ คำ​พูด​ ใน​ที่​นี้​หมายถึง​ กิริยา​ที่​ทำให้​ผู้อื่น​เข้าใจ​เรื่อง​ที่​ไม่​จริง​ ซึ่ง​อาจจะ​ไม่ได้​พูด​เป็น​เสียง​ออกจาก​ปากก็ได้​ เช่น​ พยักหน้า, บุ้ยใบ้, เขียน​หนังสือ, ส่ง​ไลน์, แชร์​ข้อมูล​ เป็นต้น

การ​โกหก​ แม้​ไม่​หวัง​ผลประโยชน์​ของ​ตน​ ก็​ย่อม​เป็น​การ​โกหก​อยู่​ดี​ บางที​ไม่ได้​มี​เจตนา​ทำลาย​ประโยชน์​เขา​ แต่​เพราะ​เรา​โกหก​ เขา​จึง​เข้าใจผิด​ และ​พลาด​จาก​ประโยชน์​ที่​พึง​ได้​รับ​ อย่างนี้​ก็​อาจจะ​เป็นไปได้

มุสาวาท​ มุ่ง​ที่​เจตนา​ทำลาย​ประโยชน์​ของ​บุคคล​อื่น​

ถ้า​ประโยชน์​ที่​ทำลาย​ไป​นั้น​มาก​ ก็​มี​โทษ​มาก ถ้า​ประโยชน์​ที่​ทำลาย​ไป​นั้น​น้อย​ ก็​มี​โทษ​น้อย

เช่น​ เป็น​พยาน​ให้​การ​เท็จ​ ก็​มี​โทษ​มาก พระ​อริยเจ้า​ทั้งหลาย​ไม่​พูด​มุสา​ แม้​ด้วย​เหตุ​แห่ง​ชีวิต

ปิสุณาวาจา มีองค์ ๔ คือ

๑. ผู้อื่นที่พึงให้แตกกัน

๒. มุ่งให้เขาแตกกัน​ โดย​คิดว่า คนเหล่านี้​จะ​แยกกัน​ ไม่​กลมเกลียว​กัน ด้วยอุบายอย่างนี้ หรือ ประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก​แทน​คน​ที่​เขา​เคย​รัก​ คิดว่า เรา​จะ​เป็นที่รัก เป็นที่ไว้วางใจ ยิ่ง​กว่า​คน​นั้น​ ด้วยอุบายอย่างนี้

๓. ความพยายามที่เกิดแต่ความมุ่งให้เขาแตกกันนั้น ๔. ผู้นั้นรู้เรื่องนั้น

โดย​หลัก​คือ​ ดู​ที่​เจตนา​ เป็น​เจตนา​ของ​ผู้​ที่​มี​จิต​เศร้าหมอง​ ไม่​ต้องการ​ให้​มี​ความ​รัก​ความ​สามัคคี​ใน​กลุ่ม​คน​เหล่านั้น

ถ้า​ทำ​ความ​แตก​แยก​ใน​บุคคล​ผู้​มี​คุณ​น้อย​ ก็​มี​โทษ​น้อย ถ้า​ทำ​ความ​แตก​แยก​ใน​บุคคล​ผู้​มี​คุณ​มาก​ ก็​มี​โทษ​มาก

ผรุสวาจา​ มีองค์ ๓ คือ

๑.​ คนอื่นที่ตนด่า ๒.​ จิตโกรธ ๓.​ การด่า

โดย​หลัก​คือ​ เจตนา​หยาบ​คาย​ อัน​เนื่องมาจาก​ความ​โกรธ​ เป็น​เหตุ​ตัด​ความ​รัก​ของ​ผู้​อื่น​ คือ​มุ่ง​ให้​เจ็บ​ใจ​ มุ่ง​ร้าย​ บางที​ วาจา​หยาบ​ แต่​ใจ​ไม่​หยาบ​ ก็​มี

เช่น​ มี​เด็ก​คน​หนึ่ง​ อยาก​ไป​เที่ยวป่า​ แม่​ห้าม​ก็​ไม่​ฟัง​ ไม่​เอื้อเฟื้อ​ต่อ​ถ้อยคำ​ของ​แม่​ ดื้อ​เดิน​หนี​ไป​ แม่​ก็​ด่า​ไล่​หลัง​ไป​ว่า​ “ขอ​ให้​ควาย​ป่า​จง​ไล่​มึง !”

ทันใดนั้น​ ควาย​ป่า​ก็​ปรากฏ​แก่​เด็ก​นั้น​ เหมือน​อย่าง​คำ​ของ​แม่​ทีเดียว​ เด็ก​นั้น​ได้​ทำ​สัจจกิริยา​ว่า​

“สิ่ง​ที่​แม่​ของ​เรา​พูด​ด้วย​ปาก​ จง​อย่า​มี สอง​ที่​แม่​คิด​ด้วย​ใจ​ จง​มี​เถิด” ควาย​ป่า​นั้น​ก็​ได้​แต่​ยืน​นิ่ง​ เหมือน​เป็น​ควาย​เชื่อง ​ๆ​ ที่​ถูก​ผูก​ไว้​ใน​ป่า​นั่นเอง

คำ​พูด​ของ​แม่​อย่างนี้​ ไม่​เป็น​ผรุสวาจา​ เพราะ​มี​จิตใจ​อ่อนโยน บางที​เป็น​ผรุสวาจา​ ทั้ง​ที่​คำ​ดูเหมือนว่า​อ่อนหวาน​ เพราะ​ผู้​พูด​มี​เจตนา​ร้าย​ มี​จิต​หยาบ

กล่าวผรุสวาจา​กับ​ผู้​มี​คุณ​น้อย​ ก็​มี​โทษ​น้อย กล่าวผรุสวาจา​กับ​ผู้​มี​คุณ​มาก ก็​มี​โทษ​มาก

สัมผัปปลาปะ​ มี​องค์​ ๒​ คือ

๑.​ มุ่ง​แล้ว​ถ้อยคำ​ที่​ไร้​ประโยชน์​ ไร้​สาระ​ ๒.​ พูด​เรื่อง​นั้น​ออกมา

รู้​อยู่​ว่า​เป็น​เรื่อง​ไร้​สาระ​ ก็​ยัง​พูด​ ไม่​คำนึง​ว่า​ใคร​จะ​พอใจ​หรือ​ไม่​ พูด​มาก​ก็​มี​โทษ​มาก​ พูด​น้อย​ก็​มี​โทษ​น้อย

ไม่​ได้​มี​เจตนา​โกหก​ แต่​พูด​เพ้อเจ้อ​ไป​แล้ว​มี​คน​เชื่อ​ ก็​มี​โทษ​มาก​ ถ้า​ไม่​มี​ใคร​เชื่อ​ ก็​มี​โทษ​น้อย พูด​เจือ​กิเลส​มาก​ก็​มี​โทษ​มาก​ เจือ​กิเลส​น้อย​ก็​มี​โทษ​น้อย

การ​ร้องเพลง​ เป็น​มิจฉา​วาจา​ได้​ทั้ง​ ๔​ แบบ​ หรือ​อาจจะ​เป็น​สัมมา​วาจา​ก็ได้​ ขึ้น​อยู่​กับ​เนื้อหา​และ​เจตนา​ใน​การ​ร้อง​

ที่​แสดง​ไว้​ว่า​ พูด​อย่าง​นี้​มี​โทษ​น้อย​ พูด​อย่างนั้น​มี​โทษ​มาก​ ไม่ได้​หมายความ​ว่า​มี​โทษ​น้อย​แล้ว​พูด​ได้​นะ

แต่​ให้​เข้าใจ​ว่า​ ควร​เว้น​มิจฉา​วาจาทั้งหมด​ เพราะมี​โทษ​ทั้งนั้น​

ใน​ เวฬุทวารสูตร​ สังยุตตนิกาย​ มหา​วาร​วรรค​ พระพุทธเจ้า​ได้​ตรัสว่า

“… อริยสาวก​ย่อม​พิจารณา​ดังนี้​ว่า​ ถ้า​ใคร​จะ​ทำลาย​ประโยชน์​ของ​เรา​ด้วย​การ​กล่าว​เท็จ ​(มุสาวาท)​ ก็​จะ​ไม่​เป็น​ข้อ​ที่​ชื่นชอบ​ที่​พอใจ​แก่​เรา, ก็​ถ้า​เรา​จะ​ทำลาย​ประโยชน์​ของ​คนอื่น​ด้วย​การ​กล่าว​เท็จ​ ก็​จะ​ไม่​เป็น​ที่​ชื่นชอบ​ที่​พอใจ​แก่​คนอื่น​เหมือนกัน…

… อริยสาวก​ย่อม​พิจารณา​ดังนี้​ว่า​ ถ้า​ใคร​จะ​ยุยง​ให้​เรา​แจก​จาก​มิตรด้วย​คำ​ส่อเสียด (ปิสุณา​วาจา)​ ก็​จะ​ไม่​เป็น​ข้อ​ที่​ชื่นชอบ​ที่​พอใจ​แก่​เรา, ก็​ถ้า​เรา​จะ​ยุยง​คนอื่น​ให้​แตก​จาก​มิตรด้วย​คำ​ส่อเสียด ก็​จะ​ไม่​เป็น​ที่​ชื่นชอบ​ที่​พอใจ​แก่​คนอื่น​เหมือนกัน…

… อริยสาวก​ย่อม​พิจารณา​ดังนี้​ว่า​ ถ้า​ใคร​จะ​พูดจา​กับ​เรา​ด้วย​คำหยาบ (ผรุสวาท​)​ ก็​จะ​ไม่​เป็น​ข้อ​ที่​ชื่นชอบ​ที่​พอใจ​แก่​เรา, ก็​ถ้า​เรา​จะ​พูดจา​กับ​คนอื่น​ด้วย​คำหยาบ
ก็​จะ​ไม่​เป็น​ที่​ชื่นชอบ​ที่​พอใจ​แก่​คนอื่น​เหมือนกัน…

… อริยสาวก​ย่อม​พิจารณา​ดังนี้​ว่า​ ถ้า​ใคร​จะ​พูดจา​กับ​เรา​ด้วย​ถ้อยคำ​เพ้อเจ้อ (สัมผัปปลาปะ)​ ก็​จะ​ไม่​เป็น​ข้อ​ที่​ชื่นชอบ​ที่​พอใจ​แก่​เรา, ก็​ถ้า​เรา​จะ​พูดจา​กับ​คนอื่น​ด้วย​ถ้อยคำ​เพ้อเจ้อ ก็​จะ​ไม่​เป็น​ที่​ชื่นชอบ​ที่​พอใจ​แก่​คนอื่น​เหมือนกัน,

สิ่งใด​ ตัวเรา​เอง​ไม่​ชื่นชอบ​ ไม่พอใจ​ ถึง​คนอื่น​ก็ไม่​ชื่นชอบ​ ไม่พอใจ​เหมือนกัน, สิ่งใด​ที่​ตัวเรา​เองไม่​ชื่นชอบ​ ไม่พอใจ​ ไฉน​จะ​พึง​เอา​ไป​ผูก​ใส่​คนอื่น​เล่า,

อริยสาวก​นั้น​ พิจารณา​เห็น​ดังนี้​แล้ว​ ย่อม​งดเว้น​จาก​การ​ (กล่าว​เท็จ, คำ​ส่อเสียด, คำหยาบ​ และ) ​พูด​เพ้อเจ้อ​ด้วย​ตนเอง​ด้วย ​(๑) ย่อม​ชักชวน​ผู้​อื่น​ให้งดเว้น​จาก​

การ ​(กล่าว​เท็จ, คำ​ส่อเสียด, คำหยาบ​ และ) ​พูด​เพ้อเจ้อ​ด้วย ​(๑) ย่อม​กล่าว​สรรเสริญ​คุณ​แห่ง​การ​งดเว้น​จาก​การ​ (กล่าว​เท็จ, คำ​ส่อเสียด, คำหยาบ​ และ) ​

พูด​เพ้อเจ้อ​ด้วย (๑), วจี​สมาจาร​ของ​อริยสาวก​นั้น​ ย่อม​บริสุทธิ์​ทั้ง​สาม​ด้าน​อย่างนี้​”

๑๔ กันยายน ๒๕๖๐

บุญ กับ บารมี ต่างกันอย่างไรคะ ?

ถาม : บุญ กับ บารมี ต่างกันอย่างไรคะ ?

ตอบ : บุญ หมายถึง ความดี, กรรมดี, ความประพฤติชอบทางกายวาจาและใจ

บางทีก็ใช้ตรงกับคำว่า “กุศล” ก็ได้ แต่โดยทั่วไปมักจะหมายถึง “โลกียกุศล” คือเป็นดีที่ยังประกอบไปด้วยสภาวะกลั้วกิเลส

พระพุทธเจ้าตรัสประมวลหลักการทำบุญที่พึงศึกษาไว้ เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ ๓” ได้แก่

๑. ทานมัย ทำบุญด้วยการให้
๒. สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีลและประพฤติดี
๓. ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา

ถ้าเทียบกันระหว่าง ๒ คำนี้ “บุญ” ก็จะมีความหมายที่กว้างกว่า “บารมี”

บารมี แปลว่า คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง

จุดหมายอันสูงยิ่ง ในทางพุทธศาสนาก็ได้แก่ ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า และความเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

บารมีที่จะต้องบำเพ็ญให้ครบบริบูรณ์เพื่อที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มี ๑๐ อย่าง

เรียกกันว่า บารมี ๑๐ ได้แก่ ทาน, ศีล, เนกขัมมะ, ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิษฐาน, เมตตา และ อุเบกขา

แม้ว่าบารมีจะมีมากมายหลายอย่าง แต่ก็สามารถมองเป็นองค์รวมได้ คือบารมีทั้งหมดนั้น

– มีการอนุเคราะห์ผู้อื่น เป็นลักษณะ
– มีการทำความอุปการะแก่ผู้อื่นอย่างไม่หวั่นไหว เป็นกิจ (คือเป็นหน้าที่)

– มีการแสวงหาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์, มีความตรัสรู้ เป็นผล
– มีมหากรุณา, มีปัญญาฉลาดในอุบาย เผยเหตุใกล้ให้เกิด

บารมีแต่ละอย่างก็แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ บารมี, อุปบารมี และ ปรมัตถบารมี
ขอประมวลเกณฑ์แบ่งบารมี ๓ ระดับ มาให้ดูคร่าว ๆ ดังนี้

ทาน
บารมี : บริจาค ทรัพย์ ภรรยา บุตร
อุปบารมี : บริจาคอวัยวะ
ปรมัตถบารมี : บริจาคชีวิต

ศีล
บารมี : ไม่ฆ่า ไม่ทำร้าย ผู้ทำร้ายบุตรภรรยาตน
อุปบารมี : ไม่ฆ่า ไม่ทำร้าย ผู้ทำร้ายร่างกายตนให้เสียอวัยวะ
ปรมัตถบารมี : ไม่ฆ่า ไม่ทำร้าย ผู้ทำอันตรายชีวิตตน

เนกขัมมะ
บารมี : เห็นโทษ ในราชสมบัติ, บุตรภรรยา แล้วบวช
อุปบารมี : เห็นโทษ ในกาย อันถูกฉันทราคะครอบงำ แล้วบวช
ปรมัตถบารมี : เห็นโทษ ในชาติ ชรา มรณะ แล้วบวช

ปัญญา
บารมี : ใช้ปัญญาเพื่อละตัณหาในทรัพย์และบุตร
อุปบารมี : ใช้ปัญญาเพื่อละตัณหาในร่างกายตน
ปรมัตถบารมี : ใช้ปัญญาเพื่อละตัณหาในชีวิต คือขันธ์

วิริยะ
บารมี : เพียรทำประโยชน์แก่บุตรภรรยา, มิตร
อุปบารมี : เพียรโดยไม่เห็นแก่อันตรายต่ออวัยวะ
ปรมัตถบารมี : เพียรโดยไม่เห็นแก่อันตรายต่อชีวิต

ขันติ
บารมี : ไม่โกรธผู้ล่วงเกินทรัพย์, บริวาร
อุปบารมี : ไม่โกรธแม้ถูกทำให้เสียอวัยวะ
ปรมัตถบารมี : ไม่โกรธแม้ถูกทำร้ายถึงชีวิต

สัจจะ
บารมี : ไม่กล่าวคำเท็จเพราะเหตุแห่งทรัพย์
อุปบารมี : ไม่กล่าวคำเท็จเพราะเหตุแห่งอวัยวะ
ปรมัตถบารมี : ไม่กล่าวคำเท็จเพราะเหตุแห่งชีวิต

อธิษฐาน
บารมี : ตั้งมั่นเพื่อโพธิญาณ แม้ต้องสละทรัพย์มาก
อุปบารมี : ตั้งมั่นเพื่อโพธิญาณ แม้ต้องสละอวัยวะ
ปรมัตถบารมี : ตั้งมั่นเพื่อโพธิญาณ แม้ต้องสละชีวิต

เมตตา
บารมี : เมตตาต่อสัตว์ผู้ทำลายทรัพย์ตน
อุปบารมี : เมตตาต่อสัตว์ผู้ทำร้ายร่างกายตน
ปรมัตถบารมี : เมตตาต่อสัตว์ผู้มุ่งฆ่าตน

อุเบกขา
บารมี : ต่อทั้งผู้ทำลาย / ไม่ทำลายทรัพย์ตน
อุปบารมี : ต่อทั้งผู้ทำลาย / ไม่ทำลายร่างกายตน
ปรมัตถบารมี : ต่อทั้งผู้ทำลาย / ไม่ทำลายชีวิตตน

ที่แจกแจงมา ไม่ได้หมายความว่าพวกเราต้องทำครบทั้งหมดนะ มรรคผลในขั้นแรก ๆ ไม่ต้องถึงขนาดนั้น ให้ทำเท่าที่ทำได้

แต่ถ้าเป็นขั้นสุดท้าย ครูบาอาจารย์ท่านมักจะใช้คำว่า “นิพพานอยู่ฟากตาย” นั่นคือ อย่างน้อย ๆ ก็ต้องยอม “สละชีวิตเพื่อธรรม”ได้

๘ กันยายน ๒๕๖๐

เรื่องความเชื่อที่ว่า พระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปี

ถาม : มีเพื่อนที่เรียนปริญญาโทเกี่ยวกับพุทธศาสตร์ท่านหนึ่ง กล่าวว่า “ตามที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ ศาสนาพุทธจะมีผู้ฉลาดพอจะเรียนรู้ได้ไปอีกเพียง ๕,๐๐๐ ปี หลังพุทธกาล หลังจากนั้นจะไม่มีผู้รู้อีกเลยจนกว่าจะมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นอีก

สองพันปีแรกยังมีผู้รู้ขั้นพระอรหันต์ พันปีที่สาม หมดพระอรหันต์ ผู้รู้อย่างเก่งก็เพียงพระอนาคามี ….ปีนี้ ๒๕๖๐ เป็นช่วงพันปีที่สามหลังพุทธกาล ไม่มีพระอรหันต์แล้ว พันปีที่สอง มีแค่พระสกทาคามี พันปีที่ห้า เหลือเพียงพระโสดาบัน …”

โยมจึงอยากขอคำอธิบายในเรื่องดังกล่าวจากพระอาจารย์ …จริงหรือที่เราควรไม่เชื่อในศักยภาพของปัจเจกบุคคล… ถ้าจริง.. นั่นแปลว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๐๐๑ เป็นต้นมา ไม่เคยมีพระอรหันต์อุบัติเลยอย่างนั้นหรือ ?

ตอบ : เรื่องความเชื่อที่ว่า พระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปี เท่าที่สำรวจดูในพระไตรปิฎก ไม่พบพุทธพจน์ที่ตรัสอย่างนั้นเลย !

แต่มีปรากฏในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ดังที่เพื่อนโยมนำมาอ้าง ก็มาจากคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาอธิบายความในพระวินัยปิฎก ผู้เขียนคัมภีร์นี้คือท่านพระพุทธโฆสะ เขียนเมื่อประมาณ พ.ศ. ๙๒๗ – ๙๗๓ ซึ่งเรื่องนี้ ในทางวิชาการพุทธศาสนาถือว่าโต้แย้งได้ เพราะถ้าคำอธิบายในคัมภีร์อรรถกถาขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ ให้ถือตามพระพุทธพจน์เป็นที่สุด

และตามหลักฐานในพระไตรปิฎก คำที่เพื่อนโยมอ้างว่า “พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้” นั้น ไม่มีอยู่จริง เป็นแต่เพียงคำของพระอรรถกถาจารย์

พระพุทธพจน์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อยู่ใน “มหาปรินิพพานสูตร” ทีฆนิกาย มหาวรรค ตอนที่สุภัททปริพาชก เข้าไปทูลถามว่า เจ้าลัทธิอื่น ๆ (หมายถึงครูทั้ง ๖ มี ปูรณกัสสปะ เป็นต้น) เขาเหล่านั้นทั้งหมดตรัสรู้แล้วตามอ้างหรือไม่

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

“อย่าเลย สุภัททะ ข้อนั้นหยุดไว้ก่อน …

ธรรมวินัยใดไม่มีอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้นไม่มีสมณะที่ ๑ (คือพระโสดาบัน) สมณะที่ ๒ (คือพระสกทาคามี) สมณะที่ ๓ (คือพระอนาคามี) หรือแม้สมณะที่ ๔ (คือพระอรหันต์), ธรรมวินัยใดมีอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้นมีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔,

ดูก่อนสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้มีอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้นที่มีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔, ลัทธิอื่น ๆ ว่างจากสมณะผู้รู้.

ดูก่อนสุภัททะ ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย”

ถ้าถือตามพุทธพจน์นี้ ก็หมายความว่า ตราบใดที่ภิกษุทั้งหลายยังเป็นอยู่โดยชอบ โลกนี้ก็ยังมีพระอรหันต์อยู่เสมอ ไม่เพียงแต่พระอรหันต์เท่านั้น พระอนาคามี พระสกทาคามี และพระโสดาบัน ก็ย่อมต้องมีด้วยแน่นอน

เมื่อ ภิกษุทั้งหลายยังเป็นอยู่โดยชอบ และโลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลายแล้ว ก็หมายความว่าพระพุทธศาสนาก็ยังดำรงอยู่ได้เรื่อยไป ไม่จำกัดเวลาว่าจะต้อง

เป็น ๕,๐๐๐ ปี อาจจะเป็น ๕๐,๐๐๐ ปี หรือกว่านั้นก็ได้ เพราะเงื่อนไขอยู่ที่ “การเป็นอยู่โดยชอบของภิกษุทั้งหลาย” หรือถ้ามองในมุมกว้าง ก็คือ การเป็นอยู่โดยชอบของพุทธบริษัททั้งหลายนั่นเอง

ในทางตรงข้าม ถ้าพุทธบริษัททั้งหลายเป็นอยู่ไม่ชอบ พุทธศาสนาก็อาจจะดำรงอยู่ไมถึง ๕,๐๐๐ ปี ก็ได้ เพราะพุทธบริษัททั้งหลายไม่รักษาไว้เอง

ในหนังสือเรื่อง “สิ่งที่ควรทำความเข้าใจกันใหม่ เพื่อความถูกต้อง” อาจารย์วศิน อินทสระ ได้เล่าว่า

“เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้มีการจัดพิธีฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษขึ้นในประเทศไทย เป็นงานใหญ่ ทำพิธีที่สนามหลวงหลายวัน

ในครั้งนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่ประชุมพระเถระผู้ใหญ่รวมทั้งนักปราชญ์ได้ประชุมกันว่าจะใช้คำอย่างไร จะใช้คำว่า “ฉลองกึ่งพุทธกาล” หรือ “ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ” ถ้าใช้คำว่าฉลองกึ่งพุทธกาล ก็เป็นการยอมรับความคิดเรื่องพุทธศาสนา ๕,๐๐๐ ปี ว่าเป็นจริง

พระเถระในเมืองไทยตกลงใจว่าจะให้ใช้ “ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ” เป็นการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับความคิดที่ว่าพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ ๕,๐๐๐ ปี ยอมรับแต่เพียง

ว่า บัดนี้พุทธศาสนามาถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ คือ ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ตอนนี้ก็เป็นพุทธศตวรรษที่ ๒๖ ต้น ๆ จะมีต่อไปเท่าไรก็ไม่ทราบ แล้วแต่ความเป็นอยู่โดยชอบของพุทธบริษัทมีได้แค่ไหน”

สรุปว่า นักปราชญ์ท่านถกกันแล้ว ท่านไม่ยอมรับเรื่องพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ ๕,๐๐๐ ปี แต่ถือตามพุทธพจน์ในมหาปรินิพพานสูตรว่า “ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย”

ผู้ที่เชื่อเรื่องพุทธศาสนา ๕,๐๐๐ ปี อาจกลายเป็นผู้ที่ถือในสิ่งที่แย้งกับพุทธพจน์ และอาจจะพลาดไปล่วงเกินพระอรหันต์ได้

คำสอนในพุทธศาสนา พระองค์ทรงมุ่งหมายสั่งสอนเฉพาะสิ่งที่จะนำมาปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ในชีวิตจริง แก้ไขปัญหาชีวิต และดับทุกข์ได้จริง เห็นผลได้ในชาตินี้

พุทธบริษัททุกท่านจึงควรหันมาฝึกให้เป็นผู้อยู่โดยชอบ ด้วยการฝึกอบรมตนในอริยมรรคมีองค์ ๘ ฝึกหัดปฏิบัติจนกระทั่งเป็นพยานในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าด้วยใจตนเอง

พระพุทธศาสนาจะอยู่ไปอีกกี่พันปี เราคงไม่มีชีวิตยืนยาวไปเพื่อพิสูจน์ และถึงแม้จะดำรงอยู่นานเท่าไร แต่ใจเรายังไม่ได้น้อมนำมาปฏิบัติให้เห็นจริง เราก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรกับการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาเลย

๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๐

แสง หรือคำบริกรรม

ถาม : การทำในรูปแบบ จะใช้เวลาช่วงเช้าเป็นการสวดมนต์ และจะบริกรรม.. ไม่ได้ให้สงบนะคะ ปล่อยไปตามปกติ.. ฟุ้งไปก็กลับมาที่คำบริกรรม ไม่บังคับ ฟุ้งแล้วรู้ ฟุ้งแล้วรู้… สิ่งที่ตามมาคือ มันมีแสงและจิตมันก็ไหลไปจับและคลุกอยู่กับแสง ..รู้ว่ามันชอบและเพลิน.. แล้วมันก็สงสัยว่าจะให้มันไปอยู่กับแสง หรือให้มาอยู่ที่ความรู้สึกตัว ? เพราะอยู่กับแสงก็เพลินดี มันแบบอยู่แบบนี้พอเกิดแสงความสงสัยมันก็เกิด แบบนี้คือรู้ถูกไหม ? แล้วจะให้ความสำคัญกับตัวไหน ระหว่างไปอยู่กับแสง หรือให้กลับมารู้ที่คำบริกรรม ?

ตอบ : ถ้ามีแสงปรากฏ ก็ไม่ต้องกลับมาที่คำบริกรรมแล้วนะ ก็เห็นแสงไปด้วยใจสบาย ๆ ดูเล่น ๆ ไป มันสว่าง มันผ่องใส มันชอบและเพลิน เห็นแล้วมีความสุข ตอนนี้จิตมีนิมิตคือแสงเป็นอารมณ์ ไม่ได้ใช้คำบริกรรมเป็นอารมณ์แล้ว มันเปลี่ยนไปจับแสงเองโดยที่ไม่ได้เจตนา

รู้ต่อไป แสงนี้ย่อได้ ขยายได้ เห็นแล้วมีสุข มีปีติ

ภาวนาต่อไป จะเห็นได้ว่า นิมิตแสงนี้ก็เป็นของถูกรู้ถูกดู ขณะที่ดู ..จิตมันถลำออกไปเกาะอยู่กับแสง ถ้าสังเกตอาการอย่างนี้ได้ มันก็ถอนออกจากนิมิต กลายเป็นจิตผู้รู้ขึ้นมา

ก็ฝึกต่อไปนะ ฝึกให้ชำนาญ จะเจริญปัญญาก็มาดูกายมันทำงาน จะเห็นได้ง่าย ๆ เลยว่า กายไม่ใช่เรา

บางทีมันเสื่อมไป ก็ไม่ต้องไปอยากให้ดีเหมือนเดิมนะ ไม่ต้องไปประคองตัวรู้นี้ด้วย มันเสื่อมก็ทำเอาใหม่ แต่อย่าไปอยาก เพราะความอยากไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดผู้รู้

๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๐

ให้แบบไม่เสียตังค์

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๓๑

ให้แบบไม่เสียตังค์

ในสถานการณ์ ๓ สถานการณ์

? ถ้าอยู่ปกติ ก็ “พูดดี ..พูดปิยวาจา”

? ในสถานการณ์​ที่เขาตกต่่ำ เดือดร้อน หรือกำลังท้อแท้ หมดกำลังใจ
“พูดปลุกปลอบ” ให้เขามีกำลังใจมากขึ้น

? ในสถานการณ์ที่เขาประสบความสำเร็จ ไป ​”พูดแสดงความยินดี” กับเขา

น้ำใจ ..แสดงออกได้ด้วย​ทั้ง​ทางวาจา และการให้สิ่งของ…
(ที่​น่า​สังเกต​คือ)​
การให้ “คำพูด” เนี่ยไม่ต้องจ่ายตังค์เลย !

ธรรมบรรยายโดย…
พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากแผ่นซีดีเหนือบุญ 5
?04.ใครได้บุญมาก (570218)
คลิกลิงก์ http://bit.ly/2vO2u9B
นาทีที่ 11.15 – 12.29

ออกทุกงวด

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๓๐

ออกทุกงวด

ถ้ามีการรักษาทิฐิเมื่อไหร่ ..เนิ่นช้า !
มีตัณหาไม่รู้ว่ามีตัณหา ..เนิ่นช้า !

มีมานะไม่รู้ว่ามีมานะ ..เนิ่นช้า !
ธรรมที่เนิ่นช้า ๓ ตัว.. ออกทุกงวด

“ตัณหา มานะ ทิฐิ”
ดูให้ดี ๆ .. มีอยู่ทุกงวด !

ตอนที่อยากจะถูกหวยนั่นแหละ ..มีอะไร ?
..มีตัณหา

มีคนเตือน พระเตือน “อย่าเล่นเลยอบายมุข”
“เขาเล่นกันทั้งประเทศล่ะค่า .. ”

เนี่ยอะไร ?
..ทิฐิ ถือความเห็นว่าอย่างนี้ถูกต้อง

ความเห็นอย่างนี้ ..ใครมากระทบ (ก็จะเถียง)
“ไม่ใช่ ! ถูกต้องนะ !

เขาเล่นกันทั้งเมืองแหละ ไม่ผิดกฎหมายด้วย” …
มันหาเหตุผลเพื่อรักษาความคิดเห็นของตัวเอง

อย่าไปใส่ใจในธรรมที่เนิ่นช้า
ใส่ใจในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า

รู้ใช่ไหม ! ก็คือ ..ตรงข้ามกัน
เกิดมานะ ..รู้ทัน
เกิดตัณหา ..รู้ทัน

เกิดทิฐิขึ้นมา ..รู้ทัน
ไม่ใช่ไปไล่ดับนะ ..ให้รู้ทัน

ธรรมบรรยายโดย..
พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากซีดี ขยายผล ๓
Track ธรรมที่ไม่เนิ่นช้า นาทีที่ 11.18 – 13.12
กดตามลิงก์นี้ได้เลยค่ะ http://bit.ly/2wSLMtF

ยอมกับกิเลส

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๒๙

“ยอมกับกิเลส”

ถ้าแพ้กิเลส แล้วไม่ไปเบียดเบียนใคร
นึกฟุ้งซ่านอยู่คนเดียว ตัวเองก็เดือดร้อนใจนะ !
แต่ว่าเดือดร้อนอยู่คนเดียว

แต่ถ้ากิเลสครอบงำ แล้วเราไปเบียดเบียนคนอื่น
มันมีการสร้างกรรมกับคนอื่นด้วย

ก็กลายเป็นว่า.. ยอมกับกิเลส
ยอมอย่างนี้ใช้ไม่ได้นะ !

ธรรมบรรยายโดย..
พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรมรายการธรรมปทีป วัดยานนาวา
วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๐

ดาวน์โหลดและรับฟังเสียงธรรมที่
ไฟล์ 600805 ยอม ธรรมปทีป วัดยานนาวา http://bit.ly/2vatIYm
ระหว่างเวลา ๒๑. ๔๖ – ๒๓.๐๓

เก็บข้อมูล

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๒๘

เก็บข้อมูล

สิ่งที่เราต้องการเห็นความไม่เที่ยง คือ “ความเป็นเรา”
“ความเป็นเรา” นั้น ..มันอยู่ที่ไหน ?
มันอยู่ที่กาย – ที่ใจนี้ ที่เราเข้าใจผิดว่า “เป็นเรา”

พูดภาษาชาวบ้านก็คือ มาดู “เรา”
มา “ดูกาย – ดูใจ” ดูความเป็นเรา
ดูแล้วมันไม่เห็น “เรา” !

มาดูกาย ..ก็เห็นแต่กาย
มาดูใจ ..ก็เห็นแต่ใจ
ไม่มีเราในกาย ในใจ

ไม่ใช่ว่าไปดูอย่างอื่น (ที่ไม่ใช่กายใจ) ว่าไม่เที่ยง
เห็นคนอื่น เห็นสิ่งอื่น นอกจากความเป็นเรา

ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
อย่างนั้นยังใช้ไม่ได้ !

เพราะว่ามันไม่ส่งผลถึงความเข้าใจในแง่ที่ว่า ..ไม่มีเรา

ต้องเห็นความไม่เที่ยง คือเห็นกิเลส
แล้วกิเลสแสดงตัวว่า ..มันไม่เที่ยง มันดับไป

เพราะทันทีที่เห็นเนี่ย ! มันเป็นกุศล
กุศลเกิดขึ้น เห็นอกุศลเมื่อกี้ดับไป !

อย่างนี้จึงจะเกิดเป็นข้อมูล
ให้มิจฉาทิฐิค่อย ๆ หายไป

ธรรมบรรยายโดย
พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการธรรมบรรยาย กลุ่มบ้านอริยะ ๗ ณ บ้านธาริณี
อาทิตย์ที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๐

ดาวน์โหลดและรับฟังเสียงธรรมได้ที่ ไฟล์ 600814 แค่เก็บข้อมูล
https://youtu.be/M4ojp1QwxEc
นาทีที่ 11.40 – 13.17

ยอมรับความผิดตน

วรรคทอง วรรคธรรม #๑๒๗

ยอมรับความผิดตน

เรามักจะมีความรู้สึกว่า..
“ฉันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล”

แล้วก็มีสิทธิ์ที่จะไปตักเตือนคนอื่น
แล้วก็ไปตัดสินคนอื่น

เราพร้อมที่จะไปตัดสิน แล้วตักเตือนคนอื่น
แต่ไม่ค่อยพร้อมที่จะให้คนอื่นมาตักเตือนตัวเอง

ฉะนั้น ในทางพุทธศาสนา..
พระพุทธเจ้าจะให้ธรรมเนียมสำหรับพระภิกษุ

เพื่อที่จะ ลด ละ กิเลสของแต่ละท่าน
ด้วยการปวารณา – ให้โอกาส

“ให้โอกาสกับคนอื่นมาตักเตือนเรา”

ความผิดนั้นเราอาจจะยังไม่เห็น
แต่พอคนเขาตักเตือนมา อ้าว ! เอ่อ ! ใช่ผิด !!!
อย่างนี้ยอมรับความผิดที่ตัวเองเป็นอยู่

พอเห็นว่าตัวเองผิด
ถ้าผิดในเรื่องของศีล ให้ไปปลงอาบัติ หรือไปแก้ไขตามลักษณะอาบัตินั้น ๆ

ถ้าผิดในเรื่องของธรรม ก็แก้ไขใหม่ คือทำให้มันถูกซะ !
ถ้าผิดต่อคน​ เช่นล่วงเกินกันด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจอย่างไร ..ก็ไปขอขมากัน

ธรรมบรรยายโดย
พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม
ในรายการ ธรรมปทีป วัดยานนาวา
วัน​เสาร์ที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๐

ดาวน์โหลดและรับฟังเสียงธรรมได้ที่ลิงก์
ไฟล์ 600805 ยอม ธรรมปทีป วัดยานนาวา
http://bit.ly/2vatIYm
ระหว่างเวลา ๐๕.๕๗- ๐๗.๓๒

ไปคนเดียว เหมือนนอแรด

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๒๖

ไปคนเดียว เหมือนนอแรด

เสน่หาเกิดขึ้น
เพียงแค่เกี่ยวข้องกันนิดเดียว
แล้วทุกข์ก็ตามมา เพราะมีเสน่หา

ถ้าเห็นโทษเห็นทุกข์ของเสน่หาได้แล้ว
ก็ควรจะไปคนเดียว เหมือนนอแรด

…..

ไปคนเดียว เหมือนนอแรด หมายความว่า..
ไป.. โดยไม่เอาตัณหาไปด้วย

ไปผู้เดียว เอาใจไป แต่ไม่เอาตัณหาไป
เพราะตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์ !

ธรรมบรรยายโดย
พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรมเรื่อง “สาราณียธรรม ๖”
ณ บ้านจิตสบาย ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐
นาทีที่ 22.35-23.59 คลิกลิงก์ https://youtu.be/K1OsvXx1JtA