All posts by gade

เก็บภาพประทับใจ

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๒๕

เก็บภาพประทับใจ

ทุกครั้งที่เราเสพโลกแล้วประทับใจ
ก็เก็บภาพประทับใจนั้นไว้

พอนึกถึงใหม่ ภาพนั้นเป็นอดีตแล้ว
ไอ้ปัจจุบันที่มีอยู่ขณะเดียวเนี่ย ! ไม่เคยไปรู้มันเลย

ไอ้ความชอบใจ.. ไม่ชอบใจ..
ที่เป็นปัจจุบันนิดหนึ่งตรงนั้นเนี่ย ! ไม่เคยรู้มันเลย
เราก็เลยหลงอยู่กับโลกนี้ ไม่เห็นของจริงสักที !

ธรรมบรรยายโดย
พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม ณ คอร์สอริยะ ๗
วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๖

ดาวน์โหลดและรับฟังได้ที่แผ่น CD อริยะ7
Track 15.แค่รู้ ระหว่างเวลา๐๖.๓๐-๐๘.๒๓
http://bit.ly/1QjukRb

ลิงก์เต็มแผ่น CD อริยะ๗ http://wp.me/p5bBOI-sU

ตัณหาเป็นต้นตอของการเพ่ง

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๒๔

ตัณหาเป็นต้นตอของการเพ่ง

การรวบ การเพ่ง (อารมณ์) มันไม่หาย ..เพราะอะไร ?
เพราะการรวบ การเพ่ง เป็นการทำสมาธิแบบหนึ่ง ..จึงเป็นกุศล

มีสติเห็นกุศล กุศลไม่ดับ
มีสติเห็นโทสะ.. โทสะเป็นอกุศล โทสะดับ

มีสติเห็นราคะ.. ราคะเป็นอกุศล ราคะดับ
มีสติไปเห็นสมาธิ ที่เป็นการเพ่ง การเพ่งไม่ดับ
มันจะดับต่อเมื่อมันเป็น ..อกุศล

…..

ติดเพ่งแล้วไม่หาย ทำยังไง ?
เพราะการเพ่งเป็นผล (เป็นวิบาก)
เราต้องดูถึงตัวต้นตอของการเพ่ง

ตัวต้นตอของการเพ่งคือ ความอยากดี
อยากเป็นนักปฏิบัติที่ดี จริง ๆ แล้วคือ มีตัณหา

ถ้าเราไปดูตัวตัณหาว่าอยากดี การเพ่งก็จะไม่มีปัญหา !
ถ้ารู้ทันเพียงว่า .. ‘เราเพ่งอยู่’
(การเพ่ง) มันเป็นผลจากตัณหาเมื่อกี้นี้

‘ผล’ ศัพท์เทคนิคเขาเรียกว่าเป็น ‘วิบาก’
ไปดูวิบาก.. วิบากไม่ดับ
ต้องไปดูตัวตั้งต้นต้นเหตุเลยคือ “ตัณหา”

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม ณ ฐณิชาฌ์รีสอร์ท อัมพวา
วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๘

รับฟังเสียงธรรมที่ CD วิถีธรรม๒
580419_พลิกอกุศลเป็นกุศล
แทรก 04. นั่งสบายกายตรง เวลา ๑๒.๐๙-๑๓.๒๓

ดาวน์โหลดเสียงธรรมได้ที่ http://bit.ly/2ubGkho
Link แผ่นCD วิถีธรรม๒ http://wp.me/p5bBOI-1jO

ย้ำรอยธรรม

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๒๓

ย้ำรอยธรรม

เวลาเรามีกิเลส แล้วละออกไปได้เนี่ยนะ !
เรารักษา ‘ร่องรอย’ ของผู้เดินทางไปสู่ ‘ทางพ้นทุกข์’

ให้ลูกหลาน ให้คนได้ตามรอยง่ายขึ้น
ว่ายังมีผู้ปฏิบัติอยู่ ยังมีผู้ทำอยู่
ทางเหล่านี้ไม่ได้ตกค้างอยู่เพียงในคัมภีร์ แล้วไม่มีผู้ทำตาม

ทั้งพระ ทั้งโยม ที่ปฏิบัติอยู่เนี่ย !
ไม่ได้ทำเพื่อพระ ไม่ได้ทำเพื่อโยม

แต่ทำเพื่อ ..คนรุ่นต่อ ๆ ไปได้มีเส้นทาง
มี ‘ร่องรอย’ ที่จะไปสู่ทางพ้นทุกข์ได้ง่ายขึ้น
เพราะสิ่งที่ในคัมภีร์เขียนบันทึกเอาไว้ ..มีคนทำได้จริง !

ธรรมบรรยายโดย
พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม ณ คอร์สปฏิบัติธรรม “รู้ธรรม”
วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๗

แผ่นซีดี รู้ธรรม ๒,๓,๔ Track 570411_เปิดฉากออกศึก
ระหว่างเวลา ๔๐.๓๖-๔๑.๓๐

สามารถดาวน์โหลดเสียงธรรมได้ที่
http://bit.ly/29jB2t3

สติกับจิต ต่างกันยังไง ?

ถาม : เคยได้ยินบางท่าน สอนว่า “ให้สติกับจิตอยู่ด้วยกัน อย่าให้แยกจากกัน” สติกับจิต มันต่างกันยังไงครับ ?

ตอบ : ถ้าเทียบในขันธ์ ๕ สติอยู่ในสังขารขันธ์ ส่วนจิตคือวิญญาณขันธ์

จิตเป็นนามธรรม ที่มีลักษณะ คือ รู้อารมณ์ เกิดดับสืบเนื่องกันไม่ขาดสาย

สติ ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิก คือเป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นกุศล ไม่เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลเลย

สติ แปลว่า ระลึกได้, ไม่เผลอ, ไม่หลงลืม

สติโดยทั่วไป จะหมายในแง่ว่า รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ ใช้รถใช้ถนนอย่าขาดสติ เป็นต้น

แต่สติที่ครูบาอาจารย์สายกรรมฐานสอน จะเน้นไปที่สติปัฏฐาน คือ การที่มีสติอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยมีฐานที่จะใช้สติไปคอยระลึกรู้อยู่ ๔ แห่ง (คือกาย, เวทนา, จิต, ธรรม) โดยรู้เท่าทันตามสภาวะของมัน โดยไม่ถูกครอบงำด้วยความยินดียินร้าย

ถ้าเทียบในไตรสิกขา สติที่ครูบาอาจารย์สอนก็จัดเข้าในอธิจิตตสิกขา ถ้าเทียบในมรรคมีองค์ ๘ ก็จะจัดเข้ามาที่สัมมาสติ

ในมหาสติปัฏฐานสูตร มีพุทธพจน์ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสติเป็นไฉน ? นี้เรียกว่าสัมมาสติ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. ตามเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ปลอดไร้อภิชฌาและโทมนัสในโลก
๒. ตามเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ปลอดไร้อภิชฌาและโทมนัสในโลก

๓. ตามเห็นจิตในจิต มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ปลอดไร้อภิชฌาและโทมนัสในโลก
๔. ตามเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ปลอดไร้อภิชฌาและโทมนัสในโลก”

ในคัมภีร์อภิธรรม มีอธิบายอีกว่า
“สัมมาสติ เป็นไฉน ?

สติ คือ การคอยระลึกถึงอยู่เนือง ๆ การหวนระลึก (ก็ดี) สติ คือ ภาวะที่ระลึกได้ ภาวะที่ทรงจำไว้ ภาวะที่ไม่เลือนหาย ภาวะที่ไม่ลืม (ก็ดี) สติ คือ สติที่เป็นอินทรีย์ สติที่เป็นพละ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ ที่เป็นองค์มรรค นับเนื่องในมรรค นี้เรียกว่า สัมมาสติ”

จิตที่ขาดสติ มีได้ (และมีมากด้วย) แต่สติต้องเกิดดับพร้อมกับจิตเท่านั้น มีสติโดยไม่มีจิตไม่ได้

เพราะสติเป็นเจตสิก คือเป็นธรรมที่ประกอบกับจิต เป็นคุณสมบัติของจิต ซึ่งเป็นคุณสมบัติฝ่ายดี คือเกิดกับจิตที่ดีงาม

ที่ว่า “จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์” นั้น อารมณ์ ในที่นี้หมายถึง สิ่งที่ถูกรู้โดยจิต มีทั้งที่เป็นบัญญัติ และที่เป็นปรมัตถ์ หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า รูป – นาม

จิตที่ขาดสติ ก็คือจิตรับรู้อารมณ์บัญญัติ คือที่เป็นเรื่องราว เช่น “ไอ้ปื้ด.. แกมันเลวมาก”

จิตที่มีสติ จะมารู้อารมณ์ที่เป็นรูป – นาม หรือเรียกง่าย ๆ ว่า กาย – ใจ เช่น โกรธไอ้ปื้ด แล้วเห็นความโกรธในจิต

คือมีโกรธเกิดขึ้นมาก่อน แล้วค่อยตามรู้ความโกรธ จิตขณะที่โกรธ ไม่มีสติ จิตขณะที่รู้ว่าโกรธ ขณะนั้นมีสติ

ที่อธิบายมา ไม่ทราบว่าจะทำให้ยิ่งงงหรือเปล่า ?

ถ้างง ก็เอาแค่สั้น ๆ คือ

สติ เป็นเจตสิก สติ อยู่ในสังขารขันธ์ จิต คือวิญญาณขันธ์

๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๐

เลี้ยงไก่ ส่งขาย ให้โรงฆ่า

ถาม : กระผม มีความคิดที่จะเลี้ยงไก่ เพื่อส่งขาย เป็นการเลี้ยงแบบปล่อย ให้เขาอยู่แบบธรรมชาติ ไม่ทารุณ แต่เมื่อน้ำหนักไก่ ได้ตามเป้าหมายแล้ว ก็จะส่งขายให้โรงฆ่า แบบนี้ กระผมจะบาปมากไหมครับ ?

ตอบ : ดูเหมือนผู้ถามก็ทราบอยู่ว่า การเลี้ยงสัตว์ไปขายเพื่อฆ่าเป็นอาหารอย่างนี้บาปแน่ เพียงแค่สงสัยว่าบาปมากไหม

เพราะรู้สึกว่า ระหว่างที่สัตว์ถูกเลี้ยง ถ้าสัตว์นั้นไม่ต้องอยู่อย่างลำบาก เช่นถูกขังอยู่ในที่คับแคบ หรือเบียดเสียดยัดเยียด ก็น่าจะบาปน้อยลง

หรือถ้าไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ หรือสารเคมีที่ตกค้างเป็นอันตรายกับผู้บริโภค ก็น่าจะบาปน้อยลง

แต่อย่างไรก็ตาม อาชีพนี้ก็จัดอยู่ใน “มิจฉาวณิชชา” คือเป็นการค้าขายที่อุบาสก – อุบาสิกาไม่ควรทำอยู่ดี

ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง เพราะมีโอกาสก่อเวรและเกิดอกุศลได้ง่าย เจอไข้หวัดนกระบาดมาทีนึง ก็ต้องฆ่าทิ้งทั้งหมด ใจคงจะเศร้าหมองอย่างมากเลย

เลี่ยงได้ก็เลี่ยงเถิด..

๘ สิงหาคม ๒๕๖๐

วิปัสสนา กับ สมาธิ เป็นอย่างเดียวกันไหมคะ ?

ถาม : วิปัสสนา กับ สมาธิ เป็นอย่างเดียวกันไหมคะ ?

ตอบ : ไม่ใช่อย่างเดียวกันนะ !

#วิปัสสนา แปลว่า ความเห็นแจ้ง คือเห็นความเป็นจริงของสภาวธรรม นั้นคือมีปัญญาเป็นไตรลักษณ์ เห็นแล้วก็สามารถถอนความหลงผิดต่าง ๆ ได้เป็นลำดับ

#สมาธิ แปลว่า ความมีใจตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน

ถ้าจัดเทียบลงในไตรสิกขา ก็จะเห็นความแตกต่างได้ง่ายขึ้น

(ไตรสิกขา คือ ข้อปฏิบัติที่เป็นหลักสำหรับศึกษา ฝึกหัด อบรม ให้ยิ่งขึ้นไปจนบรรลุมรรคผลนิพพาน ได้แก่

๑. อธิสีลสิกขา ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมความประพฤติ
๒. อธิจิตตสิกขา ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมจิต
๓. อธิปัญญาสิกขา ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมปัญญา)

สมาธิ อยู่ใน อธิจิตตสิกขา วิปัสสนา อยู่ใน อธิปัญญาสิกขา

แต่คำสองคำนี้ไม่ได้นำมาใช้คู่กันโดยตรง สมาธิ จะใช้คู่กับ ปัญญา ส่วนคำที่ใช้คู่กับวิปัสสนา คือ สมถะ

๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐

ขอให้พระอาจารย์อธิบาย “วิญญาณ”

ถาม : ขอให้พระอาจารย์อธิบายคำว่า “วิญญาณ” ครับ

ตอบ : พูดถึงวิญญาณ คนไทยทั่วไปมักนึกถึงผี ประมาณว่าตอนมีชีวิตก็อยู่ในกาย พอตายก็ล่องลอยออกไปหาที่เกิดใหม่

แต่ในทางพุทธศาสนา วิญญาณ แปลตามแบบว่า ความรู้แจ้งอารมณ์ อารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกรู้ หรือถูกรับรู้

คำว่า วิญญาณ กับ จิต ใช้แทนกันได้ จิต ก็หมายถึง ธรรมชาติที่รู้อารมณ์

แต่จะใช้คำว่า วิญญาณ เมื่อจะอธิบายว่า เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายใน (ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ) กับอายตนะภายนอก (รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ, ธรรมารมณ์) กระทบกัน ได้แก่

๑. รู้รูปด้วยตา = จักขุวิญญาณ
๒. รู้เสียงด้วยหู = โสตวิญญาณ
๓. รู้กลิ่นด้วยจมูก = ฆานวิญญาณ

๔. รู้รสด้วยลิ้น = ชิวหาวิญญาณ
๕. รู้โผฏฐัพพะด้วยกาย = กายวิญญาณ
๖. รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ = มโนวิญญาณ

วิญญาณ ๖ อย่างนี้ จึงแบ่งเรียกไปตามทางที่เกิด

ถ้าแยกแยะชีวิตออกเป็นส่วนประกอบต่างๆ ๕ ประเภท (ที่เรียกว่า ขันธ์ ๕) วิญญาณขันธ์ก็เป็นขันธ์หนึ่ง ในส่วนของนามขันธ์ ซึ่งทำงานไปด้วยกัน

เช่น

– เห็นมะม่วงที่ปอกเปลือกแล้ว หั่นเป็นชิ้น ๆ วางบนจาน มีสีเหลืองสวย น่ากิน กินแล้วผิดหวัง เพราะเปรี้ยวมาก

ตอนที่เห็นแสงสีต่าง ๆ ในที่นี้คือสีเหลืองเนื้อมะม่วง ตอนนี้วิญญาณขันธ์ในส่วนจักขุวิญญาณทำงาน แต่ยังไม่หมายรู้ว่าเป็นมะม่วง

การหมายรู้ว่าเป็นเนื้อมะม่วงเป็นส่วนของสัญญาขันธ์ ที่หมายรู้ได้อย่างนี้ก็เพราะเคยเห็นมาก่อน ว่ามะม่วงที่ปอกเปลือกแล้วเป็นอย่างนี้ แถมยังเคยกินแล้วด้วย ก็หมายรู้ซ้ำลงไปอีกว่า สีเหลืองอย่างนี้ต้องหวานแน่ ๆ

ความอยากกินเป็นตัณหา ถ้าจัดลงในกองกิเลส ก็เป็นโลภะ หรือราคะ ก็ได้ ส่วนนี้เป็นสังขารขันธ์

ตอนที่กินมะม่วง วิญญาณขันธ์ในส่วนชิวหาวิญญาณทำงาน รับรู้รสเปรี้ยว พร้อมกันนี้สัญญาก็จำไว้เป็นข้อมูลอีกว่า มะม่วงสีเหลืองก็เปรี้ยวได้

ความรู้สึกทุกข์ใจ เป็นเวทนาขันธ์ ความผิดหวัง, ไม่ชอบ, หงุดหงิด เหล่านี้เป็นส่วนของสังขารขันธ์

การรับรู้ของวิญญาณ ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญคือ คุณภาพของอายตนะ กับ สังขารคือความปรุงแต่งของจิต

คุณภาพของอายตนะที่มีผลต่อวิญญาณ ก็เช่น ตาไม่ดี สายตาสั้น, สายตายาว ฯลฯ การรับรู้รูป การเห็นก็ไม่ชัดเจน หรือหูตึง การได้ยินก็ไม่ชัดเจน เป็นต้น

สังขารที่มีผลต่อวิญญาณ ก็เช่น สมมุติว่ามีต้นมะม่วงใหญ่ร่มครึ้มอยู่กลางทุ่งโล่ง มีคน ๓ คน ผ่านมาเห็น

คนที่ ๑ หิวโซมา หวังว่าจะได้มะม่วงแก่หิวสักลูก มาถึงก็มองหาลูกมะม่วง ปรากฏว่าเห็นแต่ใบ (พันธุ์ดูใบ ! ? !) ไม่มีลูก ก็ผิดหวังกลับไป

คนที่ ๒ ตากแดดร้อนมาทั้งวัน เจอมะม่วงต้นนี้มีใบดกหนา ก็สมใจ นั่งเล่นเพลินไปเลย

คนที่ ๓ เป็นเถ้าแก่โรงเลื่อย ไม่สนใจใบไม่สนใจลูก มองแต่ลำต้น เห็นว่ามีขนาดใหญ่และตรงดี ก็พอใจ วางแผนเจรจาซื้อต้นไม้ไปแปรรูป

จะเห็นได้ว่า ต้นไม้ต้นเดียวกัน แต่เพราะสังขารปรุงแต่งไปต่างกัน วิญญาณคือการรับรู้ก็ต่างกันไปตามเจตจำนง พูดอีกอย่างหนึ่งว่า สุดแต่สังขารที่เป็นปัจจัยให้วิญญาณนั้นเกิดขึ้น

ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ ที่ว่า วิญญาณ แปลตามแบบว่า ความรู้แจ้งอารมณ์ นั้น หมายถึง ความรู้ประเภทรับรู้ยืนพื้น หรือความรับรู้ในขั้นแรก ไม่ใช่ปัญญา

ปัญญา คือ ความรอบรู้, เข้าใจ, รู้เท่าทัน ปัญญาตรงข้ามกับโมหะ แต่วิญญาณไม่ได้ตรงข้ามกับโมหะ

ปัญญา เป็นภาเวตัพพธรรม คือ ควรอบรมให้เจริญขึ้น วิญญาณ เป็นปริญไญยธรรม คือ ควรรู้

ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นเสมอไป วิญญาณทำงานอยู่ทุกขณะ

อธิบายมามาก ก็เป็นเพียงข้อมูลวิชาการเท่านั้น

พอถึงขั้นฝึกเจริญสติดูจิต เรากลับไม่ต้องไปดูวิญญาณโดยตรงแบบนี้ จะกลายเป็นการแสวงหาจิต เพราะวิญญาณ (ในขันธ์ ๕) ก็เท่ากับ จิต (ในปรมัตถธรรม ๔)

ส่วนการฝึกเจริญสติดูจิต (ในสติปัฏฐาน ๔) ขั้นต้น เราฝึกดูในส่วนที่เป็นสังขารขันธ์

(จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ มีสติตามรู้จิตที่มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ ฟุ้งซ่าน หดหู่ ฯลฯ ตามที่มันเป็นของมันอย่างนั้น)

เพราะราคะ, โทสะ, โมหะ, ฟุ้งซ่าน, หดหู่ หรือแม้แต่สมาธิ ก็จัดอยู่ในสังขารขันธ์

เมื่อฝึกจนชำนาญ มีอินทรีย์แก่กล้าขึ้น จนถึงขั้นอรหัตตมรรค จึงจะมารู้และเข้าใจเรื่องวิญญาณหรือเรื่องจิตนี้อย่างแจ่มแจ้งได้

๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐

ทำไมความคิดที่ไม่ดีมันมักเกิดขึ้น ?

ถาม : กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ ทำไมความคิดที่ไม่ดีมันมักเกิดขึ้น เช่น มีความไม่เคารพต่อพระสงฆ์ ต่อแม่ ต่อพระพุทธเจ้า เหมือนมันนอนเนื่องอยู่ในใจ
ทั้ง ๆ ที่ใจเราก็ไม่อยากจะคิด แต่มันก็เกิดขึ้นมาเองอยู่ตลอด เห็นอยู่ว่ามันเป็นบาปใหญ่ ผมจะทำอย่างไรครับ ? บางครั้งก็บอกใจตัวเองว่ามันเป็นสิ่งที่ได้ดีไม่ควรคิด มันก็ไม่จบเสียที ตั้งแต่เป็นเด็ก ๆ แล้วที่เป็นแบบนี้มาในสมัยเด็กผมก็บอกกับตัวเองเสมอว่ามันเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ควรคิด คิดแบบนี้มาจะ ๒๐ ปีแล้วก็ไม่หายครับ ?

ตอบ : พิจารณาไปเลยว่า เป็นอนัตตา !
ไม่ได้อยากคิด.. มันคิดเอง มันปรุงเอง

มันจะคิดก็คิดไป เพราะจิตมันทำงานเอง มันไม่ใช่เรา
แต่ก็อาศัยการทำงานของจิตนี่แหละมาฝึกเจริญสติได้

อยากให้ไม่คิด.. ก็คิดแล้วน่ะ !
ที่เราจะทำได้คือ รู้ทันว่า มี “ตัณหา” คือ “อยาก” ไม่คิด

คิดแล้วกังวล ก็รู้ว่ากังวล คิดแล้วหงุดหงิด ก็รู้ว่าหงุดหงิด

คิดแล้วบอกตัวเองว่า ‘ไม่ควรคิดอย่างนี้’ เพื่อให้หยุดคิด ก็ให้รู้ว่ากำลังแทรกแซง กำลังทำสมถะ

อย่าไปหลงปรุงแต่งความคิดเพื่อจะดับความคิด แต่ให้รู้

ตอนคิดไม่ดี ก็เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก แต่ขณะที่รู้ กลับเป็นดีพอดี

แต่ก็ไม่ได้ห้ามคิด เพียงคิดแล้วรู้

ดูเหมือนดูคนอื่น เห็นความคิดเป็นสิ่ง ๆ หนึ่งที่ถูกดู จิตผู้รู้ก็เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

ลองฝึกดูนะ !

25 กรกฎาคม 2560

เหนือบุญ๕

อามิสบูชาไม่เท่ากับการปฏิบัติบูชา

วรรคทอง..วรรคธรรม#๑๒๒

อามิสบูชาไม่เท่ากับการปฏิบัติบูชา

แม้เราบูชาพระพุทธองค์ด้วยดอกไม้ธูปเทียน
ที่เป็นอามิสบูชากองท่วมเท่าภูเขา

ก็ยังไม่เท่ากับการปฏิบัติบูชา
ฉะนั้น ถ้าเราไม่มีอามิสบูชามากมาย

พระองค์ก็ไม่ว่าอะไร
ขอเพียงให้มีสติรู้กาย – รู้ใจ

รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม มีสติรู้ตัว ไม่เผลอ
นี่เท่ากับเป็นการปฏิบัติบูชาแล้ว

มีความรู้ตัวจริง ๆ แม้เพียงครู่เดียว
มีสติพร้อมสมบูรณ์ในหนึ่งขณะ

กิเลสทั้งหลายดับไปเห็น ๆ
อย่างนี้ก็เท่ากับว่าเราได้ปฏิบัติบูชา

จิตเกิดปัญญา เห็นความเกิด – ดับ ของสิ่งทั้งหลาย
กิเลสเกิดมาแล้วก็ดับไป

ความรู้ตัวนั้นเองก็ดับด้วย
เกิดเห็นความเกิด – ดับ ของสิ่งทั้งหลาย

ก็เท่ากับเราได้ปฏิบัติบูชา
(บูชาด้วยสิ่งที่มีค่ายิ่งขึ้น)

ด้วยการนำคำสอนของพระองค์ มาปฏิบัติตามให้เห็นจริง
ให้เห็นกับจิต ไม่ใช่ท่องจำ

ธรรมบรรยายโดย
พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๘

ดาวน์โหลดและรับฟังได้ที่แผ่นCD เหนือบุญ๔ Track 12.วันวิสาขบูชาโลก ระหว่างเวลา ๐๙.๓๓ – ๑๐.๓๒ http://bit.ly/2p9DiuZ

ลิงก์เต็มแผ่นCD เหนือบุญ ๔ http://wp.me/s5bBOI-nueboon4

ตัดตอนความหลง

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๒๑

ตัดตอนความหลง

เตือนตัวเองอยู่เสมอว่า “เราจะต้องรู้สภาวะบ่อย ๆ ”
กว่าจะรู้สภาวะได้ ต้องมีที่อยู่ก่อน

ถ้าใจยังล่องลอยอยู่ แล้วจะให้รู้ตัวขึ้นมา ก็จะรู้ยาก เพราะว่าไม่มีอะไรเปรียบเทียบ
การมี “ที่อยู่” ขึ้นมาก็เพื่อจะเปรียบเทียบได้ว่า “เผลอ” เป็นอย่างไร

เพราะมีที่อยู่ … พอจิตลืมที่อยู่ ก็คือ เผลอ

พอเผลอจากที่อยู่ตรงนั้น
ผิดจากที่อยู่เมื่อไหร่ ก็คือเผลอทั้งหมดเลย

ดูอะไรไม่เป็น ก็ดูแค่ “รู้” กับ “เผลอ” นี่.. ใช้ได้เลย

“รู้” กับ “เผลอ” เนี่ย มีผลทำให้ เมื่อก่อนนี้ที่เคยเผลอยาว พอมี “รู้” มาคั่น.. ไอ้ความที่มี “รู้” มาคั่นเนี่ยนะ “สติ” ที่มาคั่นเนี่ย ทำให้ความเผลอทั้งหมดที่เป็นโมหะยาว ๆ หรือว่าความฟุ้งซ่านยาว ๆ หรือว่ารวมแล้วทั้งหมดเป็นความเผลอยาว ๆ เนี่ยนะ มัน “ถูกตัดตอน”

ธรรมบรรยายโดย
พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม ณ คอร์สเนยยะ
วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๙

แผ่น Cd ขยายผล ๓ ไฟล์ 590402_ตัดตอนความหลง ระหว่างเวลา ๕๕.๕๙ – ๕๗.๑๖
สามารถดาวน์โหลดเพื่อรับฟังได้ที่ http://bit.ly/1TTknfp
Link แผ่น CD ขยายผล ๓ http://wp.me/s5bBOI-expand3

เอาทุกข์มาทับถมตัวเอง

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๒๐

เอาทุกข์มาทับถมตัวเอง

เป็นมนุษย์เนี่ยดีที่สุดแล้ว
จงเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์นะ !

จงรักษาชีวิตเอาไว้นะ !
เดิน ๆ อยู่มอง ๆ ด้วยนะ !

ว่าจะตกหลุมหรือเปล่า
อย่าเดินจนเพลินเกินไป

อย่าทำร้ายตัวเอง
อย่าเอาทุกข์มาทับถมตนเองโดยที่ไม่จำเป็น

คนเราจะเอาทุกข์ทับถมตนเองแบบไม่น่าทำ
คือคิดซ้ำซาก ทุกข์เพราะคิด

“ทุกข์เพราะคิดเอง เอาทุกข์มาทับถมตนเอง”

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม
ณ คอร์สเสียดายตายไปไม่รู้ธรรม
วันที่ ๖-๘ เมษายน ๒๕๕๙

แผ่นซีดี เสียดายฯ๑ แทรก ๐๗.นาทีทอง ระหว่างเวลา ๔๖.๒๓ – ๔๖.๕๗
สามารถดาวน์โหลดรับฟังได้ที่ http://bit.ly/1nrd9BN

ตกเป็นทาส

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๑๙

ตกเป็นทาส

ถ้าความสุขยังขึ้นอยู่กับคนอื่น ขึ้นกับสิ่งอื่น
ยังขาดอิสระ พูดง่าย ๆ คือ ‘ยังตกเป็นทาส’

ความสุขที่จะเกิดขึ้นเอง
คือทำสมาธิให้เกิดขึ้น ทำสติให้เกิดขึ้น
อันนี้ เป็นสมาธิ เป็นสติ ทำให้เกิดความสุขขึ้นมา

ความสุขจากการตัดความทุกข์ชั่วคราว
ความสุขจากการรู้ทันกิเลสชั่วคราว

ก็ยังเป็นความสุขอยู่
พัฒนาขึ้นมาครั้งหนึ่ง ก็เป็นความสุขครั้งหนึ่ง

ถ้ามีความฉลาดขึ้นมาด้วย คราวนี้เริ่มเป็นอิสระแท้จริง
‘ฉลาด’ คือ เห็นว่า กายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา

ฉะนั้น เป้าหมายต้องไปให้ถึง ที่ว่า “พ้นทุกข์ให้ได้”
อย่าเพียงพอใจแค่ว่า ..

จะทำความสงบแล้วพอใจ สงบแล้วก็เสื่อมได้

สงบแล้วก็ฟุ้งซ่านได้ แล้วก็ “ถูกทิ้งไว้กลางทาง”

แล้วยังคงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ไม่มีวันจบ

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

แสดงธรรม ณ คอร์สกลุ่มธรรมทาน วันที่๘ มีนาคม ๒๕๖๐

รับฟังเสียงธรรมได้ที่ลิงก์ 600308_รู้จุดหมาย แล้วไปให้ถึง ระหว่างเวลา ๐๑.๐๕.๓๘ – ๐๑.๐๖.๒๔
http://bit.ly/2swxUCO

สุขเราแต่ทุกข์เขา

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๑๘

สุขเราแต่ทุกข์เขา

การกระทำของเราจะคำนึงถึงสุขส่วนตัว
อยากให้ตัวเองมีสุขอยู่เสมอ

แต่การกระทำของเรา เมื่อเรามีสุขแล้ว
สุขนั้นไม่ควรกระทบไปเกิดความทุกข์ให้กับผู้อื่น

เราอยากได้สุขควรเป็นสุขในทางที่ดีที่ชอบด้วย
คือเป็นสุขที่ไม่ผิดศีล

ศีล ๕ ข้อ โดยรวมแล้ว ก็คือ
ไม่แสดงออกทางกาย วาจา ไปกระทบ

หรือไปทำให้ผู้อื่นเขาเดือดร้อน
ไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่นนั่นเอง

ข้อคิดจากละครธรรมนำชีวิต โดย
พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากละครธรรมนำชีวิต ตอน สุขเราแต่ทุกข์เขา
ไฟล์วีดีโอจาก www.nimmalo.com

สามารถดาวน์โหลดรับฟังได้ที่ bit.ly/1V6Zaja นาทีที่ 2.50 – 3.20